Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
กันยายน 2567
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
9 กันยายน 2567

ป้อมยุทธนาวีทั้ง 25 : เมืองท่าสมุทรปราการ

 
ป้อมวิทยาคม

ป้อมวิทยาคม 

เมื่อเราอยากทราบอะไรสักอย่าง ก็ไม่ยากที่จะค้นข้อมูล
เช่น เรื่องป้อมอันเป็นที่มาของชื่อเมืองสมุทรปราการ
ใน Wikipedia บอกว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 25 ป้อม
อันใช้เวลาสร้างเกือบร้อยปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง 5 
 
ชื่อป้อมนั้นก็ตาม Wikipedia แต่ว่าป้อมไหนสร้างก่อนสร้างหลัง
สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร และจะมีใครไหมที่จะไปตามหาป้อมเหล่านั้น
เรานั่นเองที่ใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปี ที่ค่อยๆ รวบรวมภาพเหล่านี้มา
แม้ว่าอาจจะไม่ครบทั้งหมด แต่เชื่อว่าน่าจะตอบคำถามข้างต้นได้
 
ทำไมต้องสร้างป้อม

เราจะเริ่มต้นในสมัยอยุธยาที่เมืองพระประแดง ตั้งอยู่ที่คลองเตย
ความสำคัญที่สุดคือ คือคุมคลองสำโรงที่เชื่อมต่อไปเมืองฉะเชิงเทรา
เมื่อเสียกรุงทำให้ประชากรเบาบางลง
เมืองพระปะแดงที่เคยเป็นเมืองหน้าด่านถูกรื้ออิฐไปทำกำแพงเมืองธนบุรี
สมัยนั้นก็คงไม่คิดอะไรมาก เพราะสงครามพม่าที่มาทางบกสำคัญกว่า
 
ถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อบ้านเมืองมั่นคงมากขึ้น
ทางกรุงเทพก็รู้สึกว่า เมืองหลวงย้ายลงมาใกล้ปากอ่าวมากขึ้น
ป้อมสำคัญที่เคยควบคุมเส้นทางอย่างป้อมวิไชเยนทร์
กลายเป็นป้อมที่อยู่ตรงข้ามพระบรมมหาราชวังแทน
 

ป้อมปีศาจสิง

จึงจำเป็นต้องมีป้อมใหม่ที่ไว้ป้องกัน
และเมืองพระประแดงเดิม ก็ร้างราลงไปแล้ว  
โดยหลังเหตุการณ์สำคัญคือ การที่องเชียงสือหลบหนีจากกรุงทพไป
สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ทรงไล่ตามไปแต่ไม่ทัน

จึงได้กราบบังคมทูลว่า องเชียงสือรู้เรื่องภายในกรุงเทพดี
วันข้างหน้าจะกลับมาสร้างความลำบากให้ลูกหลาน
จึงขอพระราชทานทำเมืองใหม่ขึ้นที่ปากลัด บริเวณปากคลองลัดโพธิ์
แต่ยังไม่สำเร็จเพราะเกิดศึกพม่าเสียก่อน
 
แต่มีการสร้างป้อมแรกของเมืองไว้บนฝั่งตะวันออกตรงข้ามกับเมืองปากลัด
คือ
ป้อมวิทยาคม ปัจจุบันถูกรื้อถอนเพื่อสร้างอาคารอาชีวเวชศาสตร์
สถาบันราชประชาสมาสัย เหลือเพียงซากกำแพง
แต่ย้อนไปดูรูปเก่า ก็ยังเห็นซุ้มประตูที่ปัจจุบันเป็นทางเข้าของสถาบันฯ อยู่
 
พ.ศ.2352 ท้าวไชยอุปฮาด อุปราชเมืองนครพนม พาครัว 2000 คน
มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้อยู่ที่คลองมหาวงษ์
เหตุผลคือ น่าจะให้ช่วยกันรักษาป้อมวิทยาคมที่อยู่ฝั่งนั้น

ให้ท้าวงอินทสาร บุตรพระยาอุปราชเป็นพระยาปลัดเมือง
พวกนี้ได้ชื่อว่าอาสาลาวปากน้ำ ต่อมาบางส่วนขอไปอยู่ที่พนัสนิคม
ส่วนชื่อเมืองนั้นน่าจะใช้ว่าพระประแดง โดยนำชื่อย้ายมาจากบริเวณคลองเตย
 

ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย
 
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 1 เข้าสู่ช่วงรัชกาลที่ 2 พวกญวนก็หมดความเกรงใจ
พ.ศ.2353 ไทยยกเมืองปันทายมาศ (ฮาเตียน) ให้แก่ญวน
เพราะโดนอ้างว่าเจ้าเมืองที่เป็นคนไทยได้ข่มเหงรังแกชาวเมือง
แม้เป็นเมืองสำคัญ แต่ก็ยากที่กรุงเทพจะรักษาได้
จึงเป็นเหตุให้กรุงเทพต้องเตรียมการสร้างป้อมทางปากน้ำเจ้าพระยา
 
พ.ศ. 2357 รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ลงไปทำเมืองปากลัดต่อจากสมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งขึ้นเป็นเมืองนครเขื่อนขันธ์
 ให้มอญพวกเจ้าพระยามหาโยธา (พญาเจ่ง) มาเป็นพลประจำเมือง
 
พ.ศ. 2358 มีการพระราชพิธีฝังอาถรรพณ์ยกเสาประตู
ตั้งป้อมที่ปากลัด มีมอญจากเมาะตะมะอพยพเข้ามา 3 ทาง คือ
กาญจนบุรี อุทัยธานี และตาก จึงให้ส่วนหนึ่งมาสมทบที่นครเขื่อนขันธ์
ป้อมที่สร้างในสมัยนี้มี 3 ป้อม ในบริเวณเดียวกับป้อมวิทยาคมเดิม
ได้แก่
ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง และป้อมราหูจร
 
ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดนี้ เหลืออยู่เพียงป้อมเดียวคือ ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย
โดยป้อมปีศาจสิงมีซากกำแพง ตั้งอยู่ที่ตรงโรงซักฟอก
และป้อมราหูจรไม่เหลือหลักฐาน กลายเป็นชุมชนหลังป้อมปู่เจ้าสมิงพราย
 

ป้อมมหาสังหาร
 
และสร้างทางฝั่งตะวันตกตรงเมืองนครเขื่อนขัณธ์อีก 5 ป้อมคือ

ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ
ป้อมจักรกรด และป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์
ทั้งหมดชักปีกกาถึงกัน ข้างหลังเมืองทำกำแพงล้อมรอบ ตั้งยุ้งฉางตึกดิน

และศาลาไว้เครื่องศาสตรา ที่ริมแม่น้ำทำลูกหุ่นสายโซ่สำหรับขึงกับแม่น้ำ
ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดนี้ เหลือเพียงบางส่วนของกำแพงของป้อมแผลงไฟฟ้า
ตรงสวนสาธารณะ และป้อมมหาสังหารตรงโรงเรียนวิสุทธิกษัตรี  
 
ป้อมศัตรูพินาศ ปัจจุบันเป็นที่ว่าการ อำเภอพระประแดง
ป้อมจักกรด ปัจจุบันเป็นเทศบาล อำเภอพระประแดง
ป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์ อยู่ที่ใดที่หนึ่งอันเป็นสวนสาธารณะ
ด้านทิศตะวันตกของบริเวณป้อมแผลงไฟฟ้าในปัจจุบัน
 
 

ป้อมแผลงไฟฟ้า

พ.ศ. 2362 รัชกาลที่ 2 ทรงทราบข่าวว่าองต๋ากุน เจ้าเมืองญวนที่ไซ่ง่อน
จะทําการขุดคลองลัดขนาดใหญ่ จากทะเลสาปเขมรมาออกที่บันทายมาศ
ถ้าญวณขุดคลองลัดนี้สําเร็จ ก็สามารถจะยกกองทัพเรือมารุกรานกรุงเทพฯ ได้

จึงโปรดให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 
ตรงข้ามกับเมืองนครเขื่อนขันธ์ โดยให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
กับเจ้าพระยาคลัง (ดิส) เป็นแม่กองไปควบคุมการก่อสร้าง
 
พ.ศ. 2363 ระหว่างการสร้างเมืองใหม่ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้าง
ป้อมเพชรหึง
เพิ่มเติมบนฝั่งตะวันตก เป็นป้อมใหญ่ประจำเมืองนครเขื่อนขันธ์
โดยชักปีกกาต่อมาจากป้อมศัตรูพินาศ

ปัจจุบันเหลือแนวกำแพงตั้งอยู่ในสถานคุ้มครอง
และพัฒนาคนพิการพระประแดง เพราะเป็นสถานที่ราชการ  
คนที่ถ่ายภาพมา เค้าขึ้นไปยิงภาพมาจากบนสะพานภูมิพล
ก็ไม่ไหวนะ ความพยายามสูงเกิน ขออนุญาตเอา link มาลงแทน
 

ป้อมประโคนชัย

พ.ศ. 2364 จอห์น ครอฟอร์ด ผู้แทนผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่เบงกอล
ได้เข้ามาเจรจาขอแก้ไขสัญญาและปัญหาเรื่องเมืองไทรบุรี ได้บันทึกว่า
เรือสามารถแล่นผ่านปากน้ำ เข้าไปได้สะดวกทุกฤดูกาล
อีกทั้งไม่อันตรายจากการนำร่อง อาจจะเป็นเพราะหวาดกลัวต่อการก่อกบฏ
หรือเพราะความเกียจคร้านไม่สนใจ จึงไม่มีปืนใหญ่คอยคุ้มกันเมืองหลวง


พ.ศ. 2365 การดำเนินการสร้างเมืองใหม่ที่ปากน้ำใช้เวลาอยู่ 3 ปีจึงแล้วเสร็จ
มีการฝังเสาหลักเมือง และการป้อมปราการที่สร้างขึ้นมาใหม่รวม 6 ป้อม 
ป้อมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ได้แก่ 

ป้อมประโคนชัย ป้อมปราการ ป้อมนารายณ์ปราบศึก และป้อมกายสิทธิ์
ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงชื่อถนนบริเวณใกล้ศาลากลางจังหวัด
 
และป้อมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ 2 ได้แก่

ป้อมนาคราชและป้อมผีเสื้อสมุทร
ป้อมผีเสื้อสมุทร อยู่แถวพระสมุทรเจดีย์ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ในเขตของกองทัพเรือ ไปเที่ยวกันไม่ยาก ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก
 
และป้อมนาคราชที่อาจจะต้องขออนุญาตเข้าไป
เพราะตั้งอยู่ในโรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์
เป็นป้อมที่มีความสำคัญ เพราะเป็นสถานที่ติดตั้งปืนใหญ่
และคลังกระสุน ปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาที่กองทัพเรือ
 

ป้อมผีเสื้อสมุทร
 
พ.ศ. 2366 รัชกาลที่ 2 เสด็จมาทอดกฐินทรงเห็นว่า
มีหาดทรายที่ท้ายป้อมผีเสื้อสมุทรได้ทรงมีพระราชดำริ
ที่จะสร้างพระมหาเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์
จึงได้โปรดเกล้า ฯให้ถมพื้นที่เกาะดังกล่าว

และให้พระราชทานนามพระมหาเจดีย์ที่สร้างนั้นว่า
พระสมุทรเจดีย์เป็นการล่วงหน้า แต่ยังสร้างไม่ทันเสร็จพระองค์ก็เสด็จสวรรคต
 
พ.ศ. 2368 ปีแรกในรัชกาลที่ 3 เฮนรี่ เบอร์นี่ เข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญา
ทางกรุงเทพก็ได้ข่าวจากทางตรังกานูว่า อังกฤษจะส่งกองทัพเรือเข้าโจมตี
รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้ซ่อมแซมป้อมทั้งที่ตรงเมืองใหม่ที่ปากน้ำ
และเมืองเดิมที่ตรงปากลัด
 
และสร้าง
ป้อมพับสมุทรเป็นปีกกาขึ้นที่ข้างๆ ป้อมนาคราช
ผมได้ลายแทงป้อมพับสมุทรมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปเลย
 
พ.ศ.2371 หลังการปราบปรามขบถเจ้าอนุวงศ์
ไทยอาจจะต้องทําสงครามกับญวนรัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระราชดําริว่า
ควรจะได้สร้างป้อมป้องกันกรุงเทพเพิ่มเติมอีก
จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นแม่กอง

ไปขยายเมืองปากน้ำ แล้วสร้างป้อมที่เมืองปากน้ำ อีก 2 ป้อม
คือ
ป้อมปีกกาต่อกับป้อมประโคนชัย และป้อมตรีเพชรที่ตำบลบางนางเกรง

  

ป้อมนาคราช

ป้อมปีกกาเป็นป้อมที่ผมยังไม่เคยไป เล่ากันว่าอยู่ตรงท้ายซอยโรงหมู
ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงศาลเจ้าพ่อลอย ยังมีร่องรอยกำแพงอยู่
น่าสนใจที่ใกล้ๆ มีสวนสาธารณะที่มีหลุมหลบภัย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรงนี้เป็นที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่น
ส่วนป้อมตรีเพชรไม่เหลือร่องรอย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี 
 
พ.ศ. 2377  รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมขุนเดชอดิศรพร้อมด้วยกรมหมื่นเสพสุนทร และกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์
สร้างป้อมฝั่งตรงข้ามตรงบริเวณปากคลองบางปลากด
ที่เคยเป็นโกดังของเนอเธอแลนด์ในสมัยปลายอยุธยาอีกสองป้อม

ซึ่งคือ
ป้อมนารายณ์กางกร และป้อมคงกระพัน
ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นบ้านคน มีการสำรวจโดยกรมศิลปากรตาม link

และโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก
ทำป้อมใหญ่ขึ้นที่บางนางเกรง ใต้ลงมาจากป้อมป้อมตรีเพชร
แล้วพระราชทานชื่อว่า
ป้อมเสือซ่อนเล็บ และโปรดให้ขุดคลองหลังป้อม
สำหรับไปมาเมื่อเกิดมีสงคราม จะได้ไม่ต้องเดินตามลำแม่น้ำ



ป้อมเสือซ่อนเล็บ

ปัจจุบันยังเหลือแนวกำแพงของป้อมป้อมเสือซ่อนเล็บ
อยู่ที่โรงเรียนนายเรือ สมุทรปราการ
เราใช้โอกาสวันเด็ก 2567 ทำตัวเนียนๆ เข้าไปถ่ายรูปมา
 
พ.ศ. 2388 รัชกาลที่ 3 โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
รื้อชั้นบนของป้อมผีเสื้อสมุทรออก แล้วสร้างปีกกาขยายป้อมออกไปทั้ง 2 ข้าง
พ.ศ. 2405 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ญวนพ่ายแพ้ฝรั่งเศส
ต้องทำสนธิสัญญายกภาคใต้ให้

พ.ศ. 2406 พระนโรดมทำสนธิสัญญายอมเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส
พ.ศ. 2421 สมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้หลวงชลยุทธโยธิน ชาวเดนมาร์ก
ออกแบบป้อมตามแบบของตะวันตก แต่ก็ยังขาดงบประมาณแผ่นดิน
พ.ศ. 2426 ฝรั่งเศสเริ่มเข้าควบคุมกัมพูชาและส่วนที่เหลือของญวนได้หมด

พ.ศ. 2427 รัชกาลที่ 5 พระราชทานเงินส่วนพระองค์จํานวน 10,000 ชั่ง
จึงได้เริ่มสร้าง
ป้อมพระจุล แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2436
นอกจากนี้ได้สั่งปีนเสือหมอบจากอังกฤษมาจำนวน 10 กระบอก
ติดตั้งที่ป้อมพระจุล 7 กระบอก และป้อมผีเสื้อสมุทรจำนวน 3 กระบอก
 
 

ป้อมพระจุล

10 เมษายน พ.ศ. 2436 เสด็จมาทอดพระเนตการยิงปืนเสือหมอบ
เย็นวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 หมู่เรือรบของฝรั่งเศส จํานวน 2 ลํา
แล่นเรือล่วงล้ำอ่าวไทยเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
ทหารที่ป้อมพระจุลจึงระดมยิงถูกเรือฝรั่งเศส
จนเรือนําร่องทะลุไปเกยตื้นที่แหลมลําพูราย
เรือฝรั่งเศสได้ชักธงรบ และระดมยิงมายังป้อมพระจุล
ป้อมพระจุลยิงโต้ตอบด้วยปืนใหญ่

แต่เรือรบทั้ง 2 ลำ ยังคงแล่นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ
และจอดทอดสมออยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส
และนั่นคือเหตุการณ์วิกฤติการณ์ รศ 112 ที่ทำให้สยามเสียพื้นที่
ลาว และกัมพูชาพร้อมด้วยค่าปรับ 3 ล้านฟรังก์ 

ใน Wikipedia ยังมีอีกป้อมหนึ่งคือ
ป้อมแหลมฟ้าผ่า
แต่อันนี้ไม่มีข้อมูลให้สืบค้นเลย แค่รู้ว่าปัจจุบันได้สร้างเป็น
อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้าตรงกับกับอีกฝั่งคลองของป้อมพระจุล
และปัจจุบันไม่มีซากปรากฏให้เห็นแล้ว



สรุปว่า ป้อมถูกสร้างเพียง 1 ป้อม ในสมัยรัชกาลที่ 1
เพราะญวนนั้นถือว่า ติดหนี้บุญคุณสยาม
ป้อมถูกสร้างเป็นจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 2
และสร้างเพื่อทดแทนของเก่าอย่างต่อเนื่องตลอดรัชกาลที่ 3
จากความขัดแย้งในสงครามอานัมสยามยุทธิ์ 

นั่นเพราะสยามรู้ดีว่าพวกเค้ารบเก่งเพียงทางบก
แต่สู้ญวนไม่ได้เลยเมื่อเกิดสงครามทางยุทธนาวี
เมื่อญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 4
ป้อมใหม่จึงถูกเลิกสร้าง ยกเว้นป้อมผีเสื้อสมุทรที่สำเร็จลงในรัชกาลนี้

แต่ภัยใหม่จากตะวันตกมาพร้อมกับเรือที่ใช้กลจักรไอน้ำและปืนเรือที่ทันสมัย
ป้อมเมืองปากน้ำจึงต้องถูกปรับปรุงให้สอดรับในสมัยรัชกาลที่ 5
แต่พวกเค้าก็เชี่ยวชาญเกินกว่าชาติตะวันออกในสมัยนั้น
ทั้งแผนที่และการนำร่องที่เชี่ยวชาญ

ทำให้สยามที่เพิ่งเริ่มพัฒนาวิทยาการไม่อาจต่อกรได้
นั่นนำไปสู่การจ่ายค่าปรับครั้งยิ่งใหญ่ด้วยเงินถุงแดง ...ใน


เส้นทางแห่งเงินตรา : ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์



Create Date : 09 กันยายน 2567
Last Update : 17 กันยายน 2567 10:59:37 น. 3 comments
Counter : 344 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณทนายอ้วน, คุณปัญญา Dh, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณหอมกร, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณnewyorknurse, คุณดอยสะเก็ด, คุณtuk-tuk@korat


 
ดูเก่าแก่มากจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 9 กันยายน 2567 เวลา:15:21:38 น.  

 
รู้จักชื่อป้อมในสมุทรปราการไม่กี่ป้อมเองครับ ไม่นึกว่าจะมีถึง 25 ป้อม ขอเซฟไว้เผื่อว่างๆจะไปตามรอยนะครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 9 กันยายน 2567 เวลา:20:03:56 น.  

 
เคยอยากรู้มากว่า ป้อมยุทธนาวีอยู่ไหนบ้าง
ขอบคุณค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 15 กันยายน 2567 เวลา:12:47:39 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

BlogGang Popular Award#20


 
ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]