Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
27 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

...วิกฤตการณ์ทางการเงินของโลก : เงินทุนต่างชาติชะลอตัว... ผลต่ออสังหาริมทรัพย์ไทย...

...


วิกฤตการณ์ทางการเงินของโลก : เงินทุนต่างชาติชะลอตัว...
ผลต่ออสังหาริมทรัพย์ไทย

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ขยายผลกระทบลุกลามไปยังสถาบันการเงินทั่วโลกหลายแห่ง จนก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 หดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2551 ซึ่งภาคธุรกิจไทยต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคธุรกิจการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนรถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยที่พัฒนาสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งในขณะนี้เริ่มประสบกับปัญหากำลังซื้อจากชาวต่างชาติที่เริ่มชะลอตัว และในบางทำเลถึงกับหยุดชะงักลง นอกจากนี้เม็ดเงินจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งนี้การลงทุนและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ นอกจากการพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินในประเทศแล้ว บางโครงการโดยเฉพาะการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก (เช่น การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม รีสอร์ท โครงการคอนโดมิเนียม เป็นต้น) มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างประเทศ การขายหุ้นกู้ให้แก่สถาบันการเงินต่างประเทศ หรือการร่วมทุนกับนักลงทุนต่างประเทศ แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างรุนแรงทำให้เม็ดเงินการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้หดหายไปอย่างมาก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงที่ส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลกนี้ต่อแนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ดังนี้


การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ...เงินทุนจากต่างชาติชะลอตัว

ทั้งนี้วิกฤตการณ์ทางการเงินที่มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินทั่วโลก บริษัทวาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นแหล่งระดมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบกิจการของภาคธุรกิจให้อ่อนแอลงอย่างหนัก ทำให้เกิดสถานการณ์ตึงตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลก สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ รวมถึงในประเทศยุโรป หลายแห่งต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ประกาศขายกิจการ และจำเป็นต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน จากผลกระทบที่ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยนั้นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ คือ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านการชะลอของเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในธุรกิจนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติต่างให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยอย่างมาก โดยมีการเข้ามาลงทุนในหลากหลายรูปแบบ เช่น


 การเข้ามาร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยรูปแบบของการลงทุนนั้น จะเป็นการเข้ามาซื้อหุ้นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย การเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาจะมีการเข้ามาลงทุนของกลุ่ม Hedge Fund ต่างๆ เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์จากต่างชาติ ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเข้ามาลงทุนในโรงแรม บ้านพักตากอากาศ ประเภทวิลล่า ในจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม โครงการบ้านจัดสรร ในกรุงเทพมหานครย่านใจกลางเมือง แหล่งธุรกิจ ซึ่งเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างมากและสามารถปิดโครงการขายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติเริ่มให้ความสนใจในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยมากขึ้น

 การเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยของกลุ่มนักลงทุน หรือกลุ่มลูกค้ารายย่อยชาวต่างชาติทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยประเภท บ้านพักตากอากาศ คอนโดมิเนียม ในจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต หัวหิน พัทยา กระบี่ เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์ของการซื้อนั้น เพื่อการพักผ่อน หรือเพื่อการลงทุน เช่น การปล่อยให้เช่า หรือขายต่อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน สถานภาพทางการเงินของกลุ่มทุนบางกลุ่มที่เข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทยได้รับผลกระทบ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มทุนต่างชาติได้ชะลอการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทยออกไป ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่ากว่า 7,037.96 ล้านบาท หดตัวลงถึงร้อยละ 49.2 หรือเกือบครึ่งหนึ่งจากมูลค่า 13,862.91 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2551



ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติหดตัว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติในทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิเช่น ภูเก็ต หัวหิน สมุย พัทยา เป็นต้น มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อโครงการที่อยู่อาศัยที่พัฒนาออกมาแล้วเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ และเมื่อได้รับผลตอบแทนสูง ก็ทำให้เกิดผู้ประกอบการหรือนักเก็งกำไรรายใหม่เข้ามาในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติจึงประสบกับภาวะที่ชะลอตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ท และโครงการคอนโดมิเนียมที่สร้างขึ้นตามสถานที่ท่องเที่ยวของไทย ที่มักจะพึ่งกำลังซื้อของชาวต่างชาติเป็นหลัก หรือนักลงทุนรายย่อย กำลังได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวที่ลดลงจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกที่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายให้ชะลอตัวลง เช่น จากการเปิดเผยของชมรมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต พบว่า กำลังซื้อชาวต่างชาติในจังหวัดภูเก็ตหดหายไปกว่าร้อยละ 50 ของยอดขายปกติ และจากการสำรวจของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรับบริหารการขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ พบว่า โครงการบ้านพักตากอากาศในเมืองพัทยา กำลังประสบกับภาวะชะลอลงอย่างมาก โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานั้น อสังหาริมทรัพย์บางโครงการต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำยอดขาย ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหยุดการก่อสร้าง เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

ทั้งนี้ผลกระทบจากวิกฤตการเงินที่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ร่วมทุนกับนักลงทุนรายย่อยจากต่างประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการชาวไทยบางรายอย่างหนัก โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่มีความชำนาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และขาดประสบการณ์ในการทำการตลาดในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงประสบกับปัญหามากที่สุด ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่วนใหญ่ยังสามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้

 การชะลอตัวของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหม่

วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ยังคงส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางการเงินของสถาบันการเงิน และ กองทุนไพรเวท ฟันด์ ในต่างประเทศที่ยังคงมีความอ่อนแอ ทำให้เม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยชะลอตัวลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งผลประกอบการของธุรกิจของบริษัทแม่ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาทำให้ต้องลดขอบเขตการลงทุน นอกจากนี้ประเทศไทยเองก็เผชิญปัจจัยลบภายในประเทศ ซึ่งที่สำคัญ คือ สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจนรัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเดือน เมษายนที่ผ่านมา แม้พระราชกำหนดดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้วแต่ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงรอดูความชัดเจนทั้งในด้านเสถียรภาพและนโยบายของรัฐบาล

 การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มทุนในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่พึ่งแหล่งทุนจากต่างประเทศ

วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงและพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศในการลงทุนโครงการ โดยโครงการที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติในทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนต่างชาติรายย่อยที่เข้ามาลงทุนโครงการที่มูลค่าไม่สูงนัก ซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของนักลงทุนบางกลุ่ม ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหากลุ่มนี้ต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก โดยผู้ประกอบการบางรายจำต้องคืนเงินให้แก่ลูกค้า ในขณะที่บางโครงการที่ยังมีศักยภาพในการทำตลาดนั้น ก็ยังเป็นที่สนใจของกลุ่มทุนบางกลุ่มที่จะเข้าซื้อโครงการต่อ

สำหรับแนวโน้มการลงทุนของชาวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวในหลายประเทศจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อนักลงทุนในการกลับเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยเฉพาะการเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการที่เป็นทรัพย์สินที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคต แต่เจ้าของเดิมอาจขาดสภาพคล่องทางการเงิน และต้องการพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนหรือเข้ามาซื้อโครงการ แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะเสถียรภาพของสถาบันการเงินหลายแห่งยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ภายใต้สถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง และยังคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกยาวนานกว่าที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวในระดับศักยภาพอีกครั้ง ทำให้กระแสความสนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้อาจยังไม่ฟื้นตัวขึ้นได้รวดเร็วนัก สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติยังคงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางการเมืองและบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2552 น่าจะลดลงร้อยละ 30-40 จากมูลค่า 45,240.46 ล้านบาท ในปี 2551

โดยสรุป กระแสวิกฤตการณ์การเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ที่ตามมาด้วยการล้มละลายและความอ่อนแอของสถานภาพทางการเงินของสถาบันการเงิน และกองทุนต่างๆ ทั่วโลกนั้น ได้ส่งผ่านมาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะเห็นได้จากเงินลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่ากว่า 7,037.96 ล้านบาท หดตัวลงถึงร้อยละ 49.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาสำหรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของชาวต่างชาติ หรือนักลงทุนรายย่อยชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมายังตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติตามทำเลที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของไทย ที่ในขณะนี้กำลังเผชิญกับภาวะยอดขายที่ลดลงอย่างมาก ทั้งนี้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะเน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับบน โดยราคาสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านบาท ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลุ่มนี้จึงกำลังประสบกับภาวะยอดขายที่ชะลอตัว เนื่องจากลูกค้าชาวต่างชาติชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยตากอากาศในไทยออกไป ขณะที่กำลังซื้อของคนในประเทศที่จะสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาระดับนั้นมีจำนวนที่จำกัด ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความยากลำบากในการระบายสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เช่น การขายโครงการต่อให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น การปรับลดราคาขายลง เพื่อจูงใจลูกค้า ในขณะที่ผู้ประกอบการบางรายได้ปรับกลยุทธ์หันมาเน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียมที่มีระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก โดยอยู่ระหว่าง 3-10 ล้านบาท ซึ่งระดับราคานี้เป็นระดับราคาที่พอที่จะมีกำลังซื้อของคนในประเทศ

สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเภทอื่นๆ นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า โดยภาพรวมแล้วธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการที่พึ่งพาแหล่งทุนจากสถาบันการเงินที่มีปัญหายังเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก อย่างไรก็ดีหากสถาบันการเงินเหล่านั้นจำเป็นต้องขายทรัพย์สินหรือถอนการลงทุนกลับไปก็อาจมีกลุ่มทุนรายใหม่เข้าไปถือหุ้นแทน โดยเฉพาะกลุ่มทุนไทยที่ยังคงมีสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งที่ยังคงรอจังหวะการเข้าซื้อ หรือเข้าไปถือหุ้นแทน เนื่องจากทรัพย์สินที่สถาบันการเงินต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่มีโอกาสในการสร้างรายได้ค่อนข้างดี

สำหรับแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในอสังหาริมทรัพย์ไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวในหลายประเทศจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อนักลงทุนในการกลับเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยเฉพาะการเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการที่เป็นทรัพย์สินที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคต เนื่องจากในสายตาของนักลงทุนต่างชาติยังมองว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเดียวกัน เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งจะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูง และการที่ประเทศไทยสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่เป็นที่รู้จักในสายตาของนานาประเทศ จึงเป็นสิ่งจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เพื่อรองรับตลาดชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือต้องการเข้ามาพำนักในประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง และยังคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกยาวนานกว่าที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวในระดับศักยภาพอีกครั้ง ทำให้กระแสความสนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้อาจยังไม่ฟื้นตัวขึ้นได้รวดเร็วนัก สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติยังคงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางการเมืองและบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2552 น่าจะลดลงร้อยละ 30-40 จากมูลค่า 45,240.46 ล้านบาท ในปี 2551 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวในระดับศักยภาพอีกครั้ง และการเมืองไทยเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะกลับเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทย เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน ซึ่งปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนหรือชาวต่างชาติให้เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในไทย อาทิเช่น ความพร้อมในด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย และระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมที่จะรองรับการเจริญเติบโต การที่ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักในสายตาของนานาประเทศ และปัจจัยด้านราคาของที่อยู่อาศัยที่ยังสามารถแข่งขันได้ เป็นต้น

...




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2552
4 comments
Last Update : 27 มิถุนายน 2552 0:43:13 น.
Counter : 939 Pageviews.

 

...

.

ตะวันออกกลาง : ทางเลือก...พยุงการส่งออกเครื่องประดับตกแต่งบ้านไทยปี’52

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทย อันประกอบด้วย สินค้ากรอบรูปไม้ รูปแกะสลักไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ ของชำร่วยที่ทำด้วยเซรามิก รวมถึงประทีปโคมไฟ และของใช้ในเทศกาลและงานรื่นเริง ต้องเผชิญกับการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าในตลาดโลกที่ต่างหดหายไปด้วยพิษวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์การแข่งขันอย่างรุนแรงจากสินค้าราคาถูกของจีน ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2552 การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยเติบโตลดลงถึงร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่มีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 73 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าว ปรับตัวลดลงรวมกันถึงร้อยละ 13.7 ซึ่งเป็นการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2551 ที่มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 6.9 ดังนั้น การแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพหรือที่มีกำลังซื้อสูงสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซาเช่นปัจจุบัน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนและพยุงไม่ให้การส่งออกสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในปี 2552 ทรุดตัวลงเลวร้ายจนเกินไปนัก

ตะวันออกกลาง : ตลาดใหม่...ที่ยังมีโอกาสดี
ทั้งนี้ อุปสงค์สินค้าเครื่องประดับตกแต่งในกลุ่มตลาดใหม่ๆที่ผู้ประกอบการไทยพยายามบุกเบิกเปิดตลาดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าหลายประเทศมีทิศทางการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน รัสเซีย ยุโรปตะวันออก หรือตลาดตะวันออกกลาง ตลอดจนประเทศที่ไทยเปิดเจรจาการค้าเสรีในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นชิลี หรือออสเตรเลีย ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ถึงแม้ว่าตลาดใหม่ดังกล่าวข้างต้นจะมีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 15.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยในปี 2551 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่พบว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสูงถึงร้อยละ 17.6 โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางที่มีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในบรรดากลุ่มตลาดใหม่ อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 14.5 ในปี 2551 ซึ่งสวนทางกับอัตราการเติบโตโดยรวมของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยที่เติบโตลดลงร้อยละ 2.2 ด้วย ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2552 ท่ามกลางการหดตัวของตลาดหลัก(สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) รวมถึงภาพรวมการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทย ในระดับอัตราการเติบโตติดลบร้อยละ 13.7 และร้อยละ 17.8 ตามลำดับ การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปตลาดตะวันออกกลางยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มตลาดใหม่ และมีอัตราการเติบที่เพิ่มขึ้นด้วย แม้จะเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน ด้วยระดับการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนก็ตาม ทำให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดใหม่ที่ยังอาจจะมีโอกาสทางการตลาดดีกว่าตลาดอื่นๆโดยเปรียบเทียบสำหรับการส่งออกเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในปี 2552 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2552 ไทยน่าจะสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดตะวันออกกลางได้เพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 4-7 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 780-800 ล้านบาท ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
 ตลาดตะวันออกกลาง เป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่มากนักเมื่อเทียบกับนานาประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ถึงแม้ว่าล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากอัตราการเติบโตร้อยละ 5.9 ในปี 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2552 เนื่องจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันได้ลดลง เพราะความต้องการน้ำมันในตลาดโลกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงก็ตาม แต่ก็ยังนับเป็นเพียงกลุ่มประเทศไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้ในปี 2552 ท่ามกลางภาวะการหดตัวของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยผู้ประกอบการไทยควรจะมุ่งเน้นไปยังประเทศที่กำลังขยายโครงการก่อสร้างพื้นฐาน และอาคารบ้านเรือนเป็นสำคัญ รวมถึงประเทศที่ภาครัฐมีนโยบายเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน คูเวต และโอมาน เป็นต้น เพราะน่าจะช่วยกระตุ้นให้ความต้องการใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้านและอาคารมีโอกาสขยายตัวตามไปด้วยได้
 ตลาดตะวันออกกลางไม่มีวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับตกแต่งบ้านอย่างเพียงพอ ทำให้ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก และด้วยกำลังซื้อที่สูงจากรายได้การส่งออกน้ำมัน ที่แม้ว่าความต้องการน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และราคาน้ำมันในปัจจุบันจะค่อนข้างผันผวนพอสมควร แต่ทุกประเทศในตลาดตะวันออกกลางก็ยังมีรายได้ที่ดี ประกอบกับพฤติกรรมที่นิยมตกแต่งบ้านใหม่ประมาณปีละ 1 ครั้งในช่วงหลังเดือนเราะมะฎอน (เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม) รวมถึงจำนวนคู่แต่งงานหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่เครื่องประดับตกแต่งบ้านยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ทั้งนี้กลุ่มผู้บริโภคในตลาดตะวันออกกลางกลุ่มที่มีรายได้สูงมักจะนิยมสินค้าที่มีคุณภาพสูงซึ่งเป็นสินค้าแบรนด์เนมจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง และชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในตลาดตะวันออกกลาง มักนิยมสินค้าที่มีคุณภาพรองลงมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน อินเดีย รวมถึงไทยด้วย โดยสินค้ากลุ่มนี้ของไทยจะมีความโดดเด่นที่ความสวยงาม และความประณีตของชิ้นงาน ภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสม ทำให้โอกาสในการขยายตัวของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยจึงน่าจะมีแนวโน้มที่ดีพอสมควร
 ความต้องการใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้านของตลาดตะวันออกกลางในปี 2552 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าของตลาดตะวันออกกลางอาจจะชะลอการก่อสร้างลงบ้างในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีโครงการในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ทยอยเปิดใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2550 และบางโครงการในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ในดูไบ ก็กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จึงน่าจะส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับตกแต่งบ้านในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยรวมยังขยายตัวได้บ้าง นอกจากนี้ รัฐบาลซาอุดิอาระเบียยังมีการระดมทุนพัฒนาประเทศเพื่อสร้างเมืองใหม่ และเคหะสถานเพื่อคนจนทั่วประเทศ รองรับการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความเป็นไปได้ว่าความต้องการใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้านของตลาดตะวันออกกลางในปี 2552 ก็น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับประเทศในแถบตะวันออกกลางหลายประเทศต่างหันมาให้ความสนใจในการตกแต่งอาคารภายใต้แนวคิดอิงธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ของไทยหลายรายการก็มีการพัฒนารูปแบบที่สามารถสอดรับแนวคิดดังกล่าวได้ดีพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นกรอบรูปไม้ที่มีการนำวัสดุธรรมชาติมาตกแต่ง หรือดอกไม้ประดิษฐ์ของไทยที่สามารถผลิตได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากขึ้น เป็นต้น
 เครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยได้รับความนิยมในตลาดตะวันออกกลางมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จากมูลค่า 336.7 ล้านบาทในปี 2545 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 747.7 ล้านบาทในปี 2551 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งแม้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกปี 2552 สินค้ากลุ่มนี้ของไทยจะสามารถส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางเป็นมูลค่า 164.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2551 แต่เมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นที่ล้วนหดตัวแล้ว ก็นับว่าเป็นตลาดที่มีสถานการณ์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ การเติบโตของมูลค่ายังเป็นไปในทิศทางที่สวนกระแสอย่างชัดเจนกับมูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ที่เติบโตลดลงถึงร้อยละ 17.8 ด้วย สำหรับประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยม หรือมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดคือ ประทีปโคมไฟ ตามมาด้วยรูปแกะสลักไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ ของใช้ในเทศกาลและงานรื่นเริง กรอบรูปไม้ และของชำร่วยเซรามิก ขณะที่สินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าวคือ กรอบรูปไม้ ตามมาด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ และ รูปแกะสลักไม้ โดยประเทศคู่ค้าหลักในตลาดตะวันออกกลางสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ของไทย คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล และอิหร่าน ที่มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 85.5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดตะวันออกกลางโดยรวม
 สินค้าจากจีนได้รับความเชื่อถือลดลงในด้านคุณภาพ การที่สินค้าจากจีนหลายประเภทเริ่มได้รับความเชื่อถือลดน้อยลงในด้านคุณภาพ และความปลอดภัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางให้ความสำคัญค่อนข้างสูงในด้านคุณภาพสินค้า ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยซึ่งมีศักยภาพในเกณฑ์ที่ดี ด้วยความโดดเด่นด้านความหลากหลายของสินค้า และฝีมือการผลิตที่ประณีต อีกทั้งยังมีการปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะมีโอกาสที่ดีในการเจาะตลาดตะวันออกกลางได้มากขึ้นนับจากนี้ นอกจากนี้ สินค้าบางประเภทของไทยก็ยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 1 ใน 10 ของผู้ส่งออกรายสำคัญในตลาดโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรอบรูปไม้ รูปแกะสลักไม้ หรือดอกไม้ประดิษฐ์ อันสะท้อนถึงการเป็นที่ยอมรับในระดับสากลพอสมควร ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ซื้อในแถบตะวันออกกลางหันมาซื้อสินค้าจากไทยทดแทนได้บ้างในระดับหนึ่ง
 การสนับสนุนจากภาครัฐ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีแนวคิดที่ชัดเจนในการกระจายความเสี่ยงของภาคการส่งออกไทย จากตลาดหลักเดิมไปยังตลาดใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของการบุกเจาะตลาดตะวันออกกลางนั้น ภาครัฐได้มีการจัดงานแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะดูไบ กาตาร์ และบาห์เรน เพื่อนำเสนอสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงซัพพลายเออร์ในประเทศแถบตะวันออกกลาง อันหมายรวมถึงสินค้ากลุ่มเครื่องประดับตกแต่งบ้านด้วย ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีโอกาสทางการค้าในตลาดตะวันออกกลางพบว่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากภาคเกษตรกรรม และอัญมณีเครื่องประดับ รวมถึงสินค้างานฝีมือต่างๆ เนื่องจากสินค้าไทยมีข้อได้เปรียบในด้านความประณีตสวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ต้นทุนสูง&ข้อจำกัดด้านข้อมูล : ปัญหาและอุปสรรค...ที่ต้องเร่งแก้ไข
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยระยะทางที่ค่อนข้างไกลระหว่างประเทศไทยและตลาดตะวันออกกลาง ทำให้การขนส่งสินค้าไม่สะดวกเท่าที่ควร รวมถึงต้นทุนการขนส่งก็สูงตามไปด้วย อีกทั้งค่าดำเนินการในการเข้าแสดงสินค้าในตลาดตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ หรือโอมานต่างมีมูลค่าค่อนข้างสูง ถึงแม้รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในระดับหนึ่งก็ตาม ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปซึ่งมีเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้ ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการออกร้านจัดแสดงสินค้าได้มากนัก ประกอบกับความพร้อมของผู้ประกอบการที่ค่อนข้างจำกัดในข้อมูลด้านรสนิยม และความต้องการของตลาด รวมถึงความเข้าใจที่ถ่องแท้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจกับชาวตะวันออกกลางที่ยังไม่ครอบคลุมมากนัก อีกทั้งการเข้าถึงซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่จะเป็นผู้กระจายสินค้าให้แก่สินค้าไทยนั้นก็ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร ทำให้การสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับตลาดตะวันออกกลางในปัจจุบันจึงยังมีอุปสรรคพอสมควร นอกจากนี้ แนวโน้มการแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะคู่แข่งแต่ละรายต่างก็หวังที่จะช่วงชิงกำลังซื้อผู้บริโภคในตลาดตะวันออกกลางเพื่อทดแทนตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอนของจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคู่แข่งที่สำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในตลาดตะวันออกกลาง ประกอบด้วยสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป ที่ล้วนมีจุดเด่นด้านการออกแบบ และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย อีกทั้งยังมีตราสินค้าเป็นของตนเองด้วยในตลาดระดับกลางและบน ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มชนชั้นสูงหรือผู้มีรายได้สูง(High Worth Income Group) และกลุ่มชนชั้นกลาง-บน(Upper Middle Class) นอกจากนี้ ยังมีตลาดระดับกลางถึงล่างที่มีจีนเป็นคู่แข่งสำคัญ ดังนั้น การบุกตลาดตะวันออกกลางของผู้ประกอบการสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านไทยในปี 2552 ที่แม้จะมีโอกาสขยายตัวได้ แต่ก็อาจจะต้องเผชิญกับงานหนักพอสมควร

สร้างพันธมิตร&เน้นนำเสนอสินค้าคุณภาพเยี่ยม : จุดขายบุกตะวันออกกลาง
ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงมาก และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์การแข่งขันในตลาดก็มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่สูงสวนกระแสเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปบุกตลาดตะวันออกกลางจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนา และปรับตัวหลากหลายด้าน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อันได้แก่
การพัฒนาด้านการผลิต
 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนการผลิต เพื่อพยุงกำไรไว้ให้ได้ท่ามกลางภาวะที่ไทยยังคงเสียเปรียบคู่แข่งทางด้านต้นทุนการผลิต ด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงให้ได้มากที่สุด เช่น ลดการสต็อกวัตถุดิบเกินกำลังการผลิต และลดความผิดพลาดในกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดของเสีย เป็นต้น
 การรักษามาตรฐานคุณภาพสินค้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการรักษาระดับความสม่ำเสมอของคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ควบคู่กับการที่จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันที่คาดว่าคู่แข่งจะเน้นด้านคุณภาพมากขึ้น
 รวมกลุ่มกันเป็นCluster อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หรือแม้กระทั่งการรวมกลุ่มกันกับสินค้าในกลุ่มสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านด้วยกันเอง หรือการหาพันธมิตรในทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างอำนาจการต่อรอง และการประหยัดต้นทุนต่อหน่วยในการขนส่งสินค้า เป็นต้น
 สร้างความแตกต่างของสินค้า ผู้ประกอบการสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านไทยจำเป็นต้องเร่งยกระดับสินค้าสู่ตลาดระดับกลาง-บนให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง และเน้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งอาจจะมีการนำวัสดุธรรมชาติหรือวัตถุดิบที่มีในประเทศมาตกแต่ง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
 สร้างความหลากหลายในส่วนของประเภทสินค้า ในการนำเสนอสินค้าควรให้มีความหลากหลายมากขึ้น หรือมีสินค้าให้เลือกมากประเภทขึ้นภายใต้แนวคิดเดียวกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอขายในลักษณะของ Collection ได้
 พัฒนาทางด้านหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ ควรเพิ่มความสำคัญต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ควบคู่กับรูปแบบสินค้า เพื่อสร้างความดึงดูดให้แก่สินค้า นอกจากนี้ ผู้ผลิตจำเป็นต้องคิดแทนผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าสินค้าไปวางจำหน่ายว่าจะนำเสนอสินค้าโดยใช้บรรจุภัณฑ์แบบใดให้ดูน่าสนใจ และสะดวกต่อการนำเสนอขายสินค้า
การพัฒนาด้านการตลาด
 การกำหนดภาพลักษณ์และสถานภาพสินค้าที่ชัดเจน ปัจจุบันสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยหลายประเภทยังไม่ได้มีการกำหนดภาพลักษณ์ให้ชัดเจนว่า ต้องการผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อเน้นการจำหน่ายแก่ลูกค้าผู้มีรายได้ระดับสูง หรือผลิตสินค้าราคาถูกเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้ระดับต่ำ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลางเท่าที่ควร ดังนั้น จึงควรกำหนดให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 ศึกษาพฤติกรรมการตกแต่งบ้านหรือการซื้อของขวัญให้ถ่องแท้ เพื่อประโยชน์ต่อการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การโฆษณา และการตั้งราคาให้เหมาะสมกับสินค้า โดยจำเป็นต้องเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือบาห์เรน เพื่อจะได้รับทราบถึงรสนิยม หรือความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคจากการสนทนากับผู้เข้าร่วมงานด้วย ทั้งนี้ชาวตะวันออกกลางไม่นิยมมอบของขวัญที่เป็นรูปสุนัขและสุกรให้แก่กัน
 พัฒนาตราสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดแทนการรับจ้างผลิต โดยเฉพาะการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดใหม่ๆอย่างตลาดตะวันออกกลางที่คุ้นเคยกับสินค้าแบรนด์เนมจากประเทศสหรัฐฯและยุโรปเป็นส่วนใหญ่
พัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษและความต่อเนื่องในการสื่อสาร เพื่อประโยชน์ต่อการติดต่อสื่อสารให้มีความชัดเจนมากขึ้น และยังเป็นการหลีกเลี่ยงในการสื่อสารที่ผิดได้ด้วย
 ผูกมิตรให้ยั่งยืนกับซัพพลายเออร์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพราะปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นศูนย์กลางการส่งออกต่อ (Re-export) ที่สำคัญไปยังหลายประเทศ ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทย หรืออาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐสามารถสานความสัมพันธ์ที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าไทยสามารถขยายตัวในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
 การขยายช่องทางจำหน่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของร้านเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการเจาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่อย่างศูนย์การค้า เพราะผู้บริโภคทั้งชาวซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ของไทยนิยมเลือกซื้อสินค้าต่างๆในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ควรคัดเลือกและสรรหาตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ที่มีศักยภาพและน่าเชื่อถือ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงทางการค้าลงมาได้
 ผู้ประกอบการควรดำเนินธุรกิจในเชิงรุกมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปขอพบปะพูดคุยด้วยตนเองกับซัพพลายเออร์หรือลูกค้า พร้อมนำสินค้าตัวอย่างไปนำเสนอ และไม่ควรใช้การติดต่อทาง E-mail เพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนัดหมายในช่วงฤดูร้อน (ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวตะวันออกกลางนิยมลาหยุดพักผ่อนเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงในช่วงเดือนเราะมะฎอน ซึ่งในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน เนื่องจากบริษัทจะปิดทำการเร็วขึ้น ทั้งนี้ ชาวตะวันออกกลางโดยส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับบุคคลที่คุ้นเคยและเป็นที่เคารพ ดังนั้นการใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดก่อนเจรจาธุรกิจจึงเป็นเรื่องจำเป็น หรือหากมีจดหมายแนะนำจากผู้ที่รู้จักกับคู่เจรจาการค้า ก็จะทำให้คู่เจรจาเกิดความวางใจมากขึ้น
บทสรุป
แม้ว่าปริมาณความต้องการเครื่องประดับตกแต่งบ้านและอาคารในตลาดตะวันออกกลางในปี 2552 ยังน่าจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งจากความต้องการของประชากรในตลาดตะวันออกกลางเอง และนักลงทุน รวมถึงแรงงานชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศแถบตะวันออกกลาง ประกอบกับเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกสวนกระแสเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก ที่อาจจะเป็นแรงหนุนให้การขยายการส่งออกเครื่องประดับตกแต่งบ้านและอาคารของไทยในตลาดตะวันออกกลางเป็นไปในทิศทางที่ดีตามไปได้ แต่ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูงทั้งในส่วนของต้นทุนค่าดำเนินการในการเข้าแสดงสินค้า และต้นทุนค่าขนส่งเพราะระยะทางที่ไกล ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปซึ่งมีเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้มากนัก ประกอบกับความพร้อมของผู้ประกอบการที่ค่อนข้างจำกัดในข้อมูลด้านรสนิยม และความต้องการของตลาด รวมถึงความยากในการเข้าถึงซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่จะเป็นผู้กระจายสินค้าให้แก่สินค้าไทย ตลอดจนสถานการณ์การแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะคู่แข่งแต่ละรายต่างก็หวังที่จะช่วงชิงกำลังซื้อผู้บริโภคในตลาดตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอนของจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการส่งออกสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางในปี 2552 อาจจะไม่คึกคักมากนักเมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2552 ไทยน่าจะสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดตะวันออกกลางคิดเป็นมูลค่าประมาณ 780-800 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4-7
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปบุกตลาดตะวันออกกลางจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนา และปรับตัวหลากหลายด้านควบคู่กันไป เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินธุรกิจในเชิงรุกให้มากขึ้น การสร้างพันธมิตรทั้งทางด้านการผลิตและการจัดจำหน่าย รวมถึงการรักษาระดับความสม่ำเสมอของคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ตลอดจนการไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันจากบรรดาประเทศคู่แข่งที่คาดว่า จะหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านคุณภาพของสินค้าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนการผลิต เพื่อพยุงกำไรไว้ให้ได้ท่ามกลางภาวะที่ไทยยังคงเสียเปรียบคู่แข่งทางด้านต้นทุนการผลิต

-----------------------------------


...

 

โดย: loykratong 27 มิถุนายน 2552 0:48:40 น.  

 

คุณเป็นใครเหรอคะ
ทำไมถึงเอางานของศูนย์วิจัยฯ มาลงแบบนี้
ขออนุญาตเค้ายังอ่ะ???

 

โดย: ผู้สงสัย IP: 203.148.162.194 27 มิถุนายน 2552 11:13:51 น.  

 

...

เป็น loykratong จ่ะ
เป็นข้อมูล ความรู้ที่มีประโยชน์ เลยเอามาลงให้เพื่อนๆได้อ่านกันจ่ะ

อืมม... ข้อสุดท้าย ไม่ได้ขออนุญาต แต่ก็ อ้างอิงที่มาทุกครั้งว่ามาจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จ่ะ...

ขออำภัยที่ไม่ได้ล็อกอินนะ...

...

 

โดย: ลอยกระทง IP: 202.57.173.143 28 มิถุนายน 2552 2:54:51 น.  

 

ขอบคุณครับ มีความรู้จิงๆๆๆๆ

 

โดย: owen IP: 10.0.1.137, 110.164.240.190 28 กุมภาพันธ์ 2554 9:27:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.