Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
21 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

การส่งออกไม่รวมทองคำในเดือนพฤษภาคมหดตัว 27.3%

...

การส่งออกไม่รวมทองคำในเดือนพฤษภาคมหดตัวสูง 27.3% …
แต่แนวโน้มครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 19 มิถุนายน 2552 การส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2552 ยังคงหดตัวในอัตราที่สูงใกล้เคียงกับในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ในช่วงเดือนต่อๆ ไป แม้คาดว่ามูลค่าการส่งออกน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของทิศทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นช่วงฤดูกาลที่มีการส่งมอบสินค้าไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในด้านอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอาจจะยังคงหดตัวในระดับสูงอยู่มาก เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

 การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2552 มีมูลค่า 11,656 ล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่ามูลค่าจะสูงขึ้นกว่าระดับ 10,429 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน แต่อัตราการหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยังคงสูงอยู่ที่ร้อยละ 26.6 ใกล้เคียงกับเดือนเมษายนที่หดตัวร้อยละ 26.1 โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และถ้าไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกในเดือนนี้หดตัวลงร้อยละ 27.3 หดตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 26.5 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนในด้านการนำเข้าในเดือนพฤษภาคมยังคงหดตัวสูงร้อยละ 34.7 มีมูลค่า 9,251 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งลดลงจากระดับ 9,834 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน (หดตัวร้อยละ 36.3) สำหรับดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมเกินดุล 2,405 ล้านดอลลาร์ฯ สูงขึ้นจาก 595 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า โดยภาพรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกมีมูลค่า 55,873 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 22.9 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 45,817 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 36.8 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 10,054 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551 และจากการส่งออกที่หดตัวสูงอย่างต่อเนื่องนี้ ก็ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกตลอดทั้งปี 2552 ลงเป็นหดตัวร้อยละ 15.0-19.0 จากเดิมคาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 0.0-3.0 แต่ก็ระบุว่าจะพยายามหาแนวทางทำให้ติดลบน้อยที่สุด

 เมื่อพิจารณารายสินค้า การส่งออกสินค้าสำคัญยังคงหดตัวสูงต่อเนื่อง อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 41.7 (จากร้อยละ 48.2 ในเดือนก่อน) ข้าว หดตัวร้อยละ 38.1 (จากร้อยละ 32.6 ในเดือนก่อน) ยางพารา หดตัวร้อยละ 56.0 (จากร้อยละ 54.3 ในเดือนก่อน) และอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำ หดตัวร้อยละ 31.4 (จากร้อยละ 28.6 ในเดือนก่อน) เครื่องใช้ไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 27.0 (จากที่หดตัวร้อยละ 24.1 ในเดือนก่อน) เป็นต้น สำหรับสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอสิกส์ที่เริ่มหดตัวชะลอลงในเดือนก่อนหน้า ก็รักษาอัตราการติดลบใกล้เคียงกับเดือนก่อน เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวลงร้อยละ 24.4 (จากร้อยละ 24.7 ในเดือนก่อน) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 20.3 (จากที่หดตัวร้อยละ 21.4 ในเดือนก่อน) สำหรับสินค้าที่ขยายตัวเป็นบวกในเดือนนี้ เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์

 สำหรับในด้านตลาดส่งออก พบว่าตลาดหลักลดลงในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 34.5 ขณะที่ตลาดใหม่หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ 17.8 สำหรับตลาดจีนหดตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยติดลบร้อยละ 10.9 จาก ร้อยละ 13.2 ในเดือนก่อน ส่วนตลาดที่หดตัวชะลอลงมาก เช่น เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่ตลาดที่มีการขยายตัวเป็นบวกส่วนใหญ่เป็นตลาดใหม่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย พม่า สวิตเซอร์แลนด์ (จากการส่งออกทองคำ) บังคลาเทศ เซเนกัล ไนจีเรีย และมาดากัสการ์ ซึ่งในกรณีมาดากัสการ์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 3800 (จากการส่งออกเหล็กและผลิตตภัณฑ์เหล็ก)

 ในด้านสินค้านำเข้า เป็นที่สังเกตว่าสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าทุนหดตัวชะลอลง โดยสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวร้อยละ 24.9 ต่ำกว่าที่หดตัวร้อยละ 54.3 ในเดือนก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวตัวร้อยละ 23.3 จากที่หดตัวร้อยละ 26.8 ในเดือนก่อน แต่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปกลับหดตัวสูงขึ้นจากที่ติดลบน้อยลงมาในเดือนก่อนหน้า โดยลดลงร้อยละ 45.6 จากร้อยละ 34.6 ในเดือนก่อน ซึ่งการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่กลับมาหดตัวเพิ่มขึ้นนี้ อาจสะท้อนได้ว่าอุปสงค์ในตลาดอาจจะยังไม่กลับมาดีขึ้นได้มากนักในระยะอันใกล้ ผู้ประกอบการไทยจึงยังไม่มั่นใจที่จะสั่งซื้อสินค้าปัจจัยการผลิตมาไว้ในสต็อกล่วงหน้า ขณะที่การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสินค้าหลายรายการในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นเพียงผลของการที่ประเทศคู่ค้ามีการสั่งซื้อเพื่อปรับสต็อกสินค้าให้มาอยู่ในระดับเหมาะสม

 สำหรับแนวโน้มของการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อาจจะยังคงติดลบเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 25 เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 ที่การส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งในด้านมูลค่าและอัตราการขยายตัว โดยมูลค่าการส่งออกสูงถึง 17,371 ล้านดอลลาร์ฯ อัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 45.1 เช่นเดียวกับในด้านการนำเข้าสูงถึง 17,984 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 55.1 โดยที่สำคัญเป็นผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยส่งออกทะยานสูงขึ้น ทั้งน้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ ข้าว ยางพารา เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ดังนั้น จึงเป็นการยากที่การส่งออกในสภาวะตลาดเช่นปัจจุบันจะสามารถขึ้นไปได้สูงใกล้ระดับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการหดตัวของการส่งออกหลังจากนั้นจะค่อยๆ ชะลอลงมาอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 20 แต่ยังเป็นตัวเลข 2 หลัก และเริ่มเป็นตัวเลขหลักเดียวในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี

 ปัจจัยที่จะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฎชัดขึ้น จนกระทั่งเริ่มมีการพูดถึงการตระเตรียมแผนการในการถอยออกจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ในที่ประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ หรือ G-8 เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สมาชิกประเทศ G-8 ยืนยันว่าจะยังไม่หยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ จนกว่าจะมั่นใจกว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างมั่นคง เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมของโลกยังคงมีความไม่แน่นอน ท่าทีดังกล่าวจึงน่าจะเป็นสิ่งที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไป ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาล่าสุดก็ส่งสัญญาณดีขึ้น ทั้งในด้านการจ้างงาน กิจกรรมในภาคการผลิต ตัวเลขคำสั่งซื้อใหม่ และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ซึ่งสัญญาณทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

 แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จะผลักดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และมีผลต่อผู้ส่งออกไทย แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์ที่แท้จริง ซึ่งจะบั่นทอนอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค การตัดสินใจของกลุ่มประเทศชั้นนำของโลกต่อแนวทางลดหรือหยุดดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความรุนแรงของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) โดยประเด็นที่ควรติดตามคือพัฒนาการของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่นี้ที่เริ่มพบการกลายพันธุ์ที่บราซิล แม้การกลายพันธุ์ในระดับนี้ยังไม่มีความหมายในเชิงการระบาดของโรค ซึ่งหมายถึงการดื้อยาหรือการแพร่เชื้อง่ายขึ้น แต่เชื้ออาจมีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ปรับเพิ่มระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคขึ้นมาสู่ระดับ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด หมายถึงการแพร่ระบาดในระดับโลก (Pandemic) โดยล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นมาถึง 39,620 ราย จาก 88 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 167 ราย ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2552

 สำหรับแนวทางกลยุทธ์ในการขยายการส่งออก ทั้งในส่วนของทางการไทยและในด้านผู้ประกอบการเอง นอกเหนือจากการรอคอยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าแล้ว อาจต้องใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้อุปสงค์ของสินค้าหลายประเภทเพิ่มขึ้น เช่น การขยายตัวของตลาดรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศจีน จะทำให้มีความต้องการยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และโลหะพื้นฐานเพิ่มขึ้น ขณะที่โครงการสนับสนุนพลังงานสีเขียวในญี่ปุ่นหรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จะทำให้ความต้องการสินค้า เช่น อุปกรณ์โซลาร์เซลล์ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การได้ประโยชน์โดยตรงจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐอาจมีข้อจำกัดเนื่องจากรัฐบาลส่วนใหญ่มีแนวทางรณรงค์ใช้สินค้าภายในประเทศ เช่น ทางการจีนเองมีแนวทางให้โครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้สินค้าภายในประเทศเป็นหลัก และจะใช้สินค้านำเข้าก็ต่อเมื่อไม่มีภายในประเทศ ดังนั้น ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้อาจเป็นในส่วนของผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนประกอบ ที่อาจหาช่องทางทำตลาดขายให้แก่ผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปในประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ ธุรกิจยังควรหาทางพลิกวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้เป็นโอกาส ซึ่งสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก โดยมีการตื่นตัวในการรักษาสุขภาพและการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงหรือลดการทำกิจกรรมนอกบ้านในสถานที่ปิด ซึ่งมีผู้คนแออัดรวมกันอยู่จำนวนมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ และน้ำยาฆ่าเชื้อโรค รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานและสินค้าที่จัดส่งถึงบ้าน (Home Delivery) ก็อาจเป็นที่ต้องการมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าที่มีโอกาสได้รับอานิสงส์เหล่านี้จึงควรมองหาโอกาสในการขยายการส่งออกตลอดจนช่องทางการทำตลาดที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจรวมไปถึงการใช้ช่องทางการขายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือระบบ e-Commerce มากขึ้น เนื่องจากคู่ค้าอาจจะลดความถี่ในการเดินทางมาเจรจาธุรกิจโดยตรงลงเมื่อเทียบกับในกรณีสถานการณ์ปกติ สำหรับการแสวงหาโอกาสส่งออกไปยังตลาดใหม่ก็เป็นแนวทางที่สำคัญ ดังที่เห็นได้จากการส่งออกของไทยไปยังตลาดใหม่หลายประเทศยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะเดือนต่อๆ ไป ของปี 2552 น่าจะมีมูลค่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้น ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ส่วนใหญ่ผ่านช่วงจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสแรก แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะยังคงมีความเสี่ยงอยู่พอสมควรก็ตาม สำหรับในด้านอัตราการขยายตัวของการส่งออกในเดือนถัดๆ ไป คาดว่าในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม การส่งออกอาจจะยังคงติดลบสูงอยู่ โดยอาจสูงกว่าร้อยละ 25 เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หลังจากนั้นน่าจะหดตัวชะลอลงต่ำกว่าร้อยละ 20 และเริ่มหดตัวเป็นตัวเลขหลักเดียวในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี

สำหรับแนวทางกลยุทธ์ในการขยายการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งทางการและผู้ประกอบการควรต้องดำเนินกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งการพลิกวิกฤตการแพร่ระบาดของโลกไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) ให้เป็นโอกาส ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวและสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อหาช่องทางการขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับแนวทางช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐหลักๆ น่าจะเป็นการสนับสนุนด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งปัญหาสภาพคล่องเป็นปัญหาสำคัญที่ธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ และการดำเนินกิจกรรมการตลาดเชิงรุก เพื่อหาตลาดใหม่ๆ รวมทั้งให้ข้อมูลโอกาสช่องทางในตลาดที่มีศักยภาพ จะช่วยเสริมโอกาสให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2552 ว่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 14.5-19.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 15.5 ในปีก่อนหน้า 

...




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2552
2 comments
Last Update : 21 มิถุนายน 2552 0:54:05 น.
Counter : 600 Pageviews.

 

...
 ตลาดหุ้นไทย “ดัชนี SET ปรับตัวลดลง จากแรงขายทำกำไร”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 588.98 จุด ปรับตัวลดลง 6.30% จาก 628.55 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่พุ่งขึ้น 30.90% จากสิ้นปี 2551 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 26.81% จาก 141,217.82 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 103,358.00 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงจาก 28,243.56 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 20,671.60 ล้านบาท

โดยนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิที่ 9,272.97 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 7,209.50 ล้านบาท และ 2,063.47 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 189.72 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.65% จาก 188.50 จุดในสัปดาห์ก่อน และพุ่งขึ้น 16.44% จากสิ้นปีก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไร ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงท้ายสัปดาห์ จากแรงซื้อกลับหุ้นในกลุ่มพลังงาน ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหุ้นไทยปิดปรับตัวลงในวันจันทร์ ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงาน และธนาคาร ซึ่งฉุดให้ดัชนีปิดต่ำสุดในรอบเกือบ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้น ดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องตลอดในช่วง 3 วันถัดมา (ในวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี) จากแรงเทขายทำกำไร โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มพลังงาน ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงท้ายสัปดาห์ ซึ่งเป็นการดีดกลับในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค หลังตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาตลอดตั้งแต่ต้นสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มหลักๆ ที่ปรับตัวลงแรงในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งพลังงาน ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น และราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น


สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (22-26 มิ.ย. 52) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีน่าจะอยู่ในช่วงของการปรับฐาน โดยอาจปรับตัวขึ้นได้ในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากนั้น อาจจะมีแรงขายทำกำไรจากความกังวลเกี่ยวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายดอกเบี้ยของเฟดในวันที่ 23-24 มิ.ย. ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน และการปรับตัวของตลาดหุ้นภูมิภาค ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.ในวันพุธ และจีดีพี (ทบทวนครั้งสุดท้าย) ไตรมาส 1/2552 ในวันพฤหัสบดี ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 566 และ 530 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 600 และ 608 จุด ตามลำดับ




...

 

โดย: loykratong 21 มิถุนายน 2552 0:57:15 น.  

 

แวะมาทักทายค่ะ

 

โดย: CrackyDong 21 มิถุนายน 2552 1:28:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.