Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
8 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

เงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 8 เดือน

...





“เงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 8 เดือน ก่อนลดช่วงบวกลง
ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปิดปรับตัวขึ้น ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ”


โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ตลาดเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัว ท่ามกลางภาวะสภาพคล่องในตลาดเงินที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยมีการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำงวดสิ้นปี 2551 เข้าบัญชีภาครัฐในช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ก็มีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลังสิ้นเดือน ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) มีระดับหนาแน่นตลอดทั้งสัปดาห์ที่ระดับ 1.15% เช่นเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะ 1, 7 และ 14 วัน ปรับตัวอยู่ในกรอบ 1.2457-1.25% เทียบกับ 1.2443-1.25% ในสัปดาห์ก่อนหน้า

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 2.85% ในวันศุกร์ ขยับลงเล็กน้อยจาก 2.86% ในวันศุกร์ก่อนหน้า โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและระยะกลางส่วนใหญ่ปรับขึ้น ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ (ธนาคารพาณิชย์ไทยเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาวไปในช่วงต้นสัปดาห์) แรงกดดันเงินเฟ้อ ตลอดจนแนวโน้มของปริมาณอุปทานพันธบัตรที่อาจสูงขึ้น ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวขยับลงจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หลังจากที่ตัวเลข GDP หดตัวสูงถึง 7.1% ในไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งถลำลึกลงจากการหดตัวที่ 4.2% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ส่งผลให้มีความต้องการลงทุนในตราสารระยะยาว ด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 3.72% ในวันพฤหัสบดี ปรับขึ้นจาก 3.46% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว โดยในวันจันทร์ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวขึ้น หลังการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สดใส หนุนแรงซื้อในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ลดความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ยังมีปัจจัยหนุนจากความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้ออีกด้วย หลังจากนั้นในวันอังคารและวันพุธ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯขยับลงจากแรงซื้อทางเทคนิคของนักลงทุน ตลอดจนความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ออกมาดีอย่างที่คาด อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับขึ้นอีกในวันพฤหัสบดี จากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Continued Claims) ที่ปรับลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ทยอยขึ้นติดต่อกันในช่วงกว่าสี่เดือนที่ผ่านมา


เงินบาทในประเทศ (Onshore) แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนก่อนลดช่วงบวกลงในช่วงปลายสัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินในภูมิภาค การทะยานขึ้นของตลาดหุ้นไทยโดยมีนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ และแรงเทขายดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 34.00 ในช่วงกลางสัปดาห์ ขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทถูกจำกัดโดยแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เป็นการเข้าดูแลเสถียรภาพเงินบาทของธปท. ตลอดจนแรงขายเงินบาทเพื่อทำกำไรของนักลงทุนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทอ่อนค่ามาที่ระดับประมาณ 34.18 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 พฤษภาคม)

หมายเหตุ เป็นระดับปิดตลาดในประเทศจาก Reuters

ในสัปดาห์นี้ (8-12 มิถุนายน 2552) อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินน่าจะทรงตัวใกล้เคียงระดับ 1.25% อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการตัดจ่ายเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบธนาคารในช่วงกลางสัปดาห์
ส่วนเงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 34.00-34.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ สัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท. ทิศทางของตลาดหุ้น และการปรับตัวของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ อาจขึ้นอยู่กับการเปิดเผยเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่สามารถคืนเงินให้กับโครงการลดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของรัฐบาลสหรัฐฯ (TARP) ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ สต็อกสินค้าภาคค้าส่ง-ภาคธุรกิจเดือนเมษายน ยอดค้าปลีก ดุลการคลัง ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออกเดือนพฤษภาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จัดทำโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนมิถุนายน (ขั้นต้น) และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินเยนร่วงลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนพ.ค. และรายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนเม.ย.) ที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด เงินเยนสามารถลดช่วงติดลบลงบางส่วนจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงต่อมา หลังจากประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟของรัสเซียกล่าวว่า โลกต้องการสกุลเงินสำรองที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ได้ทำให้มุมมองที่มีต่อเงินดอลลาร์ฯ เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม เงินเยนกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ โดยความเห็นจากเจ้าหน้าที่การเงินเอเชียที่สะท้อนว่า ธนาคารกลางในเอเชียจะยังคงซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ต่อไปแม้อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จะถูกปรับลดลงนั้น ได้ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้น ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากรายงานล่าสุดที่ระบุว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับในวันศุกร์ เงินเยนอ่อนค่ามายืนที่ระดับประมาณ 96.76 (ตลาดยุโรป) เทียบกับระดับ 95.29 ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 พฤษภาคม) ตลาดจับตาการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงตลาดนิวยอร์ก

หมายเหตุ เป็นระดับปิดตลาดนิวยอร์กจาก Reuters

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินยูโรปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนที่ได้รับแรงหนุนอย่างแข็งแกร่งจากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (มีสัญญาณเชิงบวกจากภาคการผลิตในสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และจีน ขณะที่ ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายของสหรัฐฯ ทะยานขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 ปีครึ่ง) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังถูกกดดันจากความเห็นเกี่ยวกับความหลากหลายของสกุลเงินสำรองของโลกจากประธานาธิบดีรัสเซียอีกด้วย ทั้งนี้ เงินยูโรทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดของปีนี้ที่ระดับ 1.4337 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร อย่างไรก็ตาม เงินยูโรต้องลดช่วงบวกทั้งหมดลงในช่วงกลางสัปดาห์ ภายหลังจากรายงานฉบับหนึ่งระบุว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จะไม่ทำให้จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้เปลี่ยนนโยบายทุนสำรอง นอกจากนี้ เงินดอลาร์ฯ ยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลการปรับลดตำแหน่งงานในภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่มากเกินคาดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับโอกาสของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย กระนั้นก็ดี เงินยูโรดีดตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.00% พร้อมกับระบุว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะไม่ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในระยะถัดไป สำหรับในวันศุกร์ เงินยูโรปรับตัวอยู่ที่ระดับ 1.4181 (ตลาดยุโรป) เทียบกับระดับ 1.4151 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 พฤษภาคม) ตลาดรอการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในช่วงตลาดนิวยอร์ก

หมายเหตุ เป็นระดับปิดตลาดนิวยอร์กจาก Reuters

ภาวะตลาดทุน

 ตลาดหุ้นไทย “ดัชนี SET ปิดปรับตัวขึ้น ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 604.57 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.88% จาก 560.41 จุดในสัปดาห์ก่อน และพุ่งขึ้น 34.36% จากสิ้นปี 2551 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 63.88% จาก 91,018.71 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 149,160.49 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นจาก 18,203.74 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 29,832.10 ล้านบาท โดยนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันขายสุทธิที่ 8,020.07 ล้านบาท และ 732.18 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 8,743.26 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 179.31 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.97% จาก 174.13 จุดในสัปดาห์ก่อน และพุ่งขึ้น 10.05% จากสิ้นปีก่อน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แรงซื้อที่มีเข้ามาอย่างหนาแน่นในหุ้นกลุ่มหลักอย่างพลังงานและธนาคาร หนุนให้ดัชนีหุ้นไทยปิดปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นถึง 3.49% ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 8 เดือนในวันจันทร์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบและค่าระวางเรือเป็นปัจจัยหนุนต่อหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นเดินเรือ ส่วนในวันอังคาร ดัชนีปิดลบ 0.98% ท่ามกลางแรงขายทำกำไร โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร และรับเหมาก่อสร้างเข้ามาช่วยพยุงตลาด จึงทำให้ดัชนีปรับตัวลงไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยปิดปรับตัวขึ้นอีกในวันพุธ โดยดัชนีปรับขึ้นกว่า 2% ในช่วงเช้า ก่อนจะมีแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาในภาคบ่าย แต่แรงซื้อที่มีเข้ามาอย่างหนาแน่นในหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังโบรกเกอร์ต่างชาติหลายแห่งออกมาให้น้ำหนักการลงทุนพร้อมเพรียงกัน ได้ช่วยหนุนให้ดัชนีทำสถิติปิดสูงสุดในรอบ 8 เดือน และปิดปรับตัวขึ้นต่อในวันพฤหัสบดี ขณะที่ในวันศุกร์ ดัชนียังคงปิดบวก ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ดีดตัวขึ้น โดยแรงซื้อที่มีเข้ามาอย่างหนาแน่นในหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร ช่วยหนุนให้ดัชนีสามารถปิดยืนเหนือระดับ 600 จุดได้เป็นครั้งแรกในปีนี้ ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารยังได้ปัจจัยหนุนจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจคลังกู้เงินเพิ่ม 4 แสนล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อีกด้วย ขณะที่ การปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันสิ้นปีของโบรกเกอร์ต่างชาติ ได้ช่วยหนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน
สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (8-12 มิ.ย. 52) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีอาจผันผวนขึ้นต่อได้ จากแรงหนุนการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งทำให้นักลงทุนอาจยังมีความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยต้องจับตา ได้แก่ การรายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ในวันที่ 11 มิ.ย. โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ส่วนปัจจัยในต่างประเทศที่สำคัญ คงจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการปรับตัวของตลาดหุ้นภูมิภาค ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 585 และ 570 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 620 และ 666 จุด ตามลำดับ



 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ “ดัชนี DJIA ปิดปรับตัวขึ้นต่อ ”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2552 ดัชนี DJIA ปิดที่ 8,750.24 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.94% เมื่อเทียบกับ 8,500.33 จุด เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน แต่ขยับลง 0.30% จากสิ้นปี 2551 ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 1,850.02 จุด ขยับขึ้น 4.27% เมื่อเทียบกับ 1,774.33 จุด ปลายสัปดาห์ก่อน และพุ่งขึ้น 17.31% จากสิ้นปีก่อนหน้า โดยในวันจันทร์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดปรับตัวขึ้น นำโดยดัชนี S&P 500 ซึ่งทะยานขึ้นปิดตลาดที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยมีแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่การยื่นล้มละลายของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส ได้ยุติความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของทางบริษัท หลังจากนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดปรับตัวขึ้นเป็นวันทำการที่ 4 ติดต่อกันในวันอังคาร โดยตัวเลขยอดบ้านรอปิดการขายที่ดีเกินคาด ได้หนุนความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และส่งผลหนุนหุ้นในกลุ่มบริษัทก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงในวันพุธ โดยราคาน้ำมันที่ร่วงลงได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ได้ทำให้ตลาดกังวลว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจจะไม่รวดเร็วอย่างที่เคยหวังกันไว้ หลังจากนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอีกในวันพฤหัสบดี โดยได้รับแรงหนุนจากความเห็นในเชิงบวกของโบรกเกอร์เกี่ยวกับธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งหนุนหุ้นกลุ่มการเงิน ขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้หนุนหุ้นกลุ่มทรัพยากร


 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น “ดัชนี NIKKEI ปิดพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน”

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2552 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 9,768.01 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.58% จากปิดตลาดที่ 9,522.50 จุด เมื่อสัปดาห์ก่อน และพุ่งขึ้น 10.25% จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นโตเกียวดีดตัวขึ้นแข็งแกร่งในวันจันทร์ เนื่องจากความหวังต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์จากจีนได้หนุนหุ้นกลุ่มเดินเรือ ขณะที่ข่าวการยื่นล้มละลายของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ช่วยขจัดความไม่แน่นอนของตลาดและหนุนหุ้นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น หลังจากนั้น ดัชนี NIKKEI ปรับตัวขึ้นต่อในวันอังคาร โดยปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่หุ้นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ปรับตัวขึ้น หลังการยื่นล้มละลายของจีเอ็ม ที่นักลงทุนมองว่า ทำให้ความไม่แน่นอนหมดไป ขณะที่ในช่วงกลางสัปดาห์ ตลาดหุ้นโตเกียวปิดขยับขึ้นอีก โดยหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและแผงวงจรไฟฟ้าดีดตัวขึ้น หลังการพุ่งขึ้นเกินคาดของยอดบ้านรอปิดการขาย (Pending Home Sales) ของสหรัฐฯ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก่อนที่ดัชนี NIKKEI จะปิดปรับตัวลงในวันพฤหัสบดี โดยหุ้นในกลุ่มเดินเรือร่วงลงหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาไม่ดีอย่างที่คาด ทั้งภาคบริการที่หดตัวลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันในเดือนพ.ค. และการลดการจ้างงานในภาคเอกชนลง 532,000 ตำแหน่งในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำให้เกิดความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นโตเกียวปิดพุ่งขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มทรัพยากร และกลุ่มพลังงาน ท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วยหนุนความหวังที่ว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกำลังบรรเทาลง


-------------------------------




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2552
2 comments
Last Update : 8 มิถุนายน 2552 0:37:43 น.
Counter : 584 Pageviews.

 

ขอติดตามอ่านตลอดไปนะคะ ^^

 

โดย: aor (indulge corner ) 8 มิถุนายน 2552 9:43:00 น.  

 

...

ยินดีต้อนรับจ้า young PAD

...

 

โดย: loykratong IP: 202.5.83.125 9 มิถุนายน 2552 1:39:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.