Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
12 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

การนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้

...

การนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ ...
ควรต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านให้รอบคอบ

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เนื่องจากปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังเผชิญข้อจำกัดทางการคลัง หลังจากที่การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายรับจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อประคับประคองและเยียวยาเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ ขณะที่ ทางออกเพื่อลดข้อจำกัดทางการคลังแบบยั่งยืนในรูปแบบของการปฏิรูประบบภาษี อาจจะยังคงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพราะอาจส่งผลซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางสูง ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการก่อหนี้สาธารณะนั้น แม้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ แต่ก็อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือในระดับประเทศที่ถูกสั่นคลอนลงไปบ้าง โดยหนี้สาธารณะประมาณ 1 ใน 3 เป็นผลจากการดำเนินการแก้ไขภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการลดภาระดังกล่าวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐยังคงเป็นกลจักรสำคัญที่จะประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ได้ นักวิชาการและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้เสนอแนวคิดในการนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่ามกลางภาวะที่ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศดังกล่าว เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันมีจำนวนสูงนับแสนล้านดอลลาร์ฯ แล้วทางการไทยเอง ก็กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด ถึงความเป็นไปได้ในการนำทุนสำรองระหว่างประเทศ มาใช้พัฒนาประเทศในทางปฏิบัติ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้

 การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบัน อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ชัดเจน ขณะที่ ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีจำนวนสูงกว่าธนบัตรออกใช้มาก ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย (ทุนสำรองฯ) ซึ่ง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 มีจำนวน 1.21 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ไม่รวมฐานะ Forward) นั้น แม้ว่าจะถูกเก็บรักษาและดูแลโดยองค์กรเดียว อันได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็อยู่ในรูปสินทรัพย์ต่างประเทศที่กระจายอยู่หลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ฝ่ายการธนาคาร (ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและบริหารนโยบายการเงิน ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยน) และฝ่ายออกบัตรธนาคาร (ตามกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ซึ่งเน้นหน้าที่ในการบริหารและจัดการธนบัตรที่นำออกใช้หมุนเวียนในประเทศ) โดยมีกฎหมายดูแลการจัดการและบริหารงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน กล่าวคือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่นับเป็นทุนสำรองฯ ของฝ่ายการธนาคาร จะอยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ขณะที่ทุนสำรองฯ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายออกบัตรธนาคาร จะอยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501

ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.เงินตรา กำหนดให้ ธปท.ต้องแยกทุนสำรองเงินตราออกจากสินทรัพย์อื่นๆ ที่เป็นของ ธปท. ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ธปท.จึงจัดทำงบการเงิน 3 งบด้วยกัน ได้แก่ (1) งบการเงินของ “ฝ่ายการธนาคาร” (2) งบการเงินของ “ฝ่ายออกบัตรธนาคาร” (ปัจจุบัน สะท้อนเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกบัตรและโรงพิมพ์) และ (3) งบการเงินของ “ทุนสำรองเงินตรา” โดยงบทุนสำรองเงินตรานั้น ประกอบไปด้วย 3 บัญชีย่อย ได้แก่ (3.1) บัญชีทุนสำรองเงินตรา เพื่อหนุนหลังการออกใช้ธนบัตร (3.2) บัญชีผลประโยชน์ประจำปี ซึ่งเทียบได้กับงบกำไรขาดทุนของกิจการ โดยจะสะท้อนรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละปี (3.3) บัญชีสำรองพิเศษ ซึ่งเทียบเคียงได้กับบัญชีกำไรสะสมของกิจการ


ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปี 2550 ธปท. และศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้ พ.ร.บ.เงินตรา ได้กำหนดทำหน้าที่ดูแลและจัดการทุนสำรองเงินตราในทั้ง 3 บัญชีย่อยดังกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนจุดประสงค์และความตั้งใจของผู้ร่างกฎหมายที่ต้องการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับการบริหารทุนสำรองของประเทศ โดยเน้นไปที่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก เช่นเดียวกับการกำหนดกรอบและแนวทางการบริหารจัดการเงินตราและกลไกในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทในภาพรวม

สำหรับประเด็นด้านการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทนั้น พ.ร.บ.เงินตรา กำหนดให้ธนบัตรที่นำออกใช้หมุนเวียนจะต้องหนุนหลังด้วยทุนสำรองเงินตราในค่าที่เท่ากัน ขณะที่ สินทรัพย์ที่ประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินตรา ประกอบด้วย ทองคำ เงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์ต่างประเทศ รวมถึงใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรอง ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน ตลอดจนหลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือเป็นบาท เป็นต้น โดยสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศต่างๆ ดังกล่าว จะต้องดำรงไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนธนบัตรออกใช้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ จำนวนธนบัตรที่หมุนเวียนออกใช้ที่มีจำนวน 8.94 แสนล้านบาท (จากรายงานฐานะการเงินของ ธปท. ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2552) นั้น มีสินทรัพย์หนุนหลังเท่ากับร้อยละ 100 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด/เกือบทั้งหมด ขณะที่หลักทรัพย์ของรัฐบาลไทยในงบทุนสำรองเงินตรา มีจำนวนเพียง 87 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้ หากเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 29 พ.ค.52 ที่มีจำนวนทั้งสิ้นสูงถึง 4.17 ล้านล้านบาท (1.21 แสนล้านดอลลาร์ฯ) นั้น จะพบว่ามีจำนวนมากกว่าธนบัตรออกใช้ถึงกว่า 4 เท่าตัว

 แม้จะดูเหมือนว่า ทุนสำรองฯ ของไทยอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอที่น่าจะสามารถดึงมาใช้ประโยชน์ได้ แต่การคำนวณระดับ “ทุนสำรองฯ ส่วนเกิน” เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน ขณะที่ ทุนสำรองฯ ที่หักภาระผูกพันในลักษณะอนุรักษ์นิยมนั้น อาจเหลือไม่ถึงแสนล้านบาท โดยนอกจากข้อจำกัดด้านกฎหมายแล้ว การใช้ประโยชน์จากทุนสำรองฯ ได้มากน้อยขนาดไหน จะขึ้นอยู่กับจำนวน “ทุนสำรองฯ ส่วนเกิน” ซึ่งคงเป็นประเด็นที่ซับซ้อน มีความเห็นที่หลากหลายในการคำนวณ และต้องอาศัยการประเมินโดยใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพราะมีนัยต่อความมั่นคงทางการเงินในระดับประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การมองภาพของทุนสำรองฯ ควรพิจารณาจากมิติของระดับทุนสำรองฯ สุทธิ ที่หักภาระผูกพัน (Net International Reserves) มากกว่าจำนวนทุนสำรองทั้งสิ้น (Gross International Reserves) โดยภาระผูกพันดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่ หนี้ต่างประเทศ จำนวนธนบัตรออกใช้ทั้งในปัจจุบันและการรองรับโอกาสการเพิ่มจำนวนของธนบัตรในอนาคตตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการสำรองไว้เผื่อนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งหากหักรายการต่างๆ ดังกล่าว จะได้ว่าทุนสำรองฯ สุทธิล่าสุดของไทยที่ประเมินในลักษณะที่อนุรักษ์นิยม (Conservative) มีจำนวนเหลือเพียง 6.96 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับจำนวนทุนสำรองฯ ทั้งสิ้นที่ 1.21 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 29 พ.ค.52) ซึ่งแม้ว่าปริมาณทุนสำรองฯ ส่วนเกินดังกล่าว น่าจะเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ควรจะใช้อย่างระมัดระวัง และเหลือไว้รองรับกรณีฉุกเฉินด้วย


 การใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีหลายทางเลือก แต่ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ในกรณีที่ทางการต้องการนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ประโยชน์ ก็สามารถดำเนินการได้หลายแนวทางในทางปฏิบัติ ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เรียงจากแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ง่ายไปหายาก ดังนี้

ทางเลือกต่างๆ ในการใช้ทุนสำรองฯ
ทางเลือก สถานะ ทางกฎหมาย หมายเหตุ
1. การใช้ช่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ซึ่งใช้หนุนหลังธนบัตรออกใช้ในปัจจุบัน โดยธปท.ซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง และนำพันธบัตรไปรองรับการพิมพ์ธนบัตรใหม่ ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย - อาจมีข้อจำกัดด้านวงเงินที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยในเบื้องต้นประมาณว่าจะมีจำนวนไม่เกิน 3.6 แสนล้านบาท
- มีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบ
2. การขยายขอบเขตการลงทุนของสินทรัพย์ ธปท. เพื่อให้ครอบคลุมสินทรัพย์อื่นๆ นอกเหนือจากการลงทุนในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ ทองคำ เงินตราต่างประเทศ พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ อาจต้องแก้ไขกฎหมาย - มีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบ
3. การนำสินทรัพย์ต่างประเทศจากบัญชีสำรองพิเศษ ออกมาใช้ อาจต้องแก้ไขกฎหมาย - การแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา มีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวค่อนข้างมาก
- มีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบ
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 ทางเลือกที่ 1: การใช้ช่องของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ในปัจจุบัน หนุนหลังด้วยสินทรัพย์ต่างประเทศเกือบทั้งหมด/ทั้งหมดร้อยละ 100 ขณะที่ พ.ร.บ.เงินตรากำหนดไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งปัจจุบัน คาดว่า ธปท.ไม่ได้ใช้พันธบัตรรัฐบาลในการหนุนหลังธนบัตรออกใช้เลย ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงอาจพิจารณาออกพันธบัตรรัฐบาลขายให้ฝ่ายการธนาคาร เพื่อนำส่งเข้าสู่บัญชีทุนสำรองเงินตรา ซึ่งจะทำให้มีการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ในจำนวนเท่ากัน ทางเลือกนี้ มีข้อดีตรงที่รัฐบาลสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำ (ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่เสนอขายให้ ธปท.) อีกทั้งไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย แต่ก็มีข้อด้อย คือ จะมีผลในการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ อีกทั้ง จำนวนเงินที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น อาจมีข้อจำกัด หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท เทียบกับวงเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2552-2555 จำนวนทั้งสิ้นถึง 1.43 ล้านล้านบาท

 ทางเลือกที่ 2: การขยายขอบเขตการลงทุนของสินทรัพย์ ธปท. ทางการอาจพิจารณาขยายขอบเขตการลงทุนของสินทรัพย์ ธปท. ซึ่งอยู่ในงบฝ่ายการธนาคาร ให้มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม โดยอาจรวมถึงตราสารทางการเงินเพื่อไฟแนนซ์การลงทุนในโครงการลงทุนของภาครัฐโดยตรง แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่อาจต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 เนื่องจากในมาตราที่ 35 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดว่า “ธปท. มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. ซึ่งรวมถึงการนำสินทรัพย์นั้นไปลงทุนหาประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ” ทำให้คาดว่าการลงทุนในตราสารที่ไฟแนนซ์โครงการขนาดใหญ่ หรือสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในลักษณะเฉพาะเจาะจงที่อาจมีความเสี่ยงสูงกว่า หรือสภาพคล่องต่ำกว่ากรอบกฎหมายดังกล่าวนั้น อาจไม่เข้าข่ายขอบเขตการลงทุนตามกฎหมาย ขณะที่ทางเลือกนี้ ก็มีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทเข้าสู่ระบบเช่นกัน เนื่องจาก ธปท.อาจต้องแปลงสินทรัพย์ของตน ซึ่งอาจอยู่ในสกุลเงินตราต่างประเทศ มาเป็นเงินบาทเพื่อลงทุนในโครงการของภาครัฐ หรือพิมพ์เงินเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มจำนวนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย

 ทางเลือกที่ 3: การใช้สินทรัพย์ต่างประเทศจากบัญชีสำรองพิเศษ โดยในกรณีที่รัฐบาลต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นด้านปริมาณเงินทุนสำรองฯ ที่สามารถนำออกมาใช้ได้นั้น ก็อาจต้องพึ่งพิงทางเลือกสุดท้าย นั่นคือ การใช้ทุนสำรองฯ ในบัญชีสำรองพิเศษ ซึ่ง ณ วันที่ 21 พ.ค. 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.78 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา ดังเช่นที่เคยดำเนินการมาแล้วในปี 2545 ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวอย่างยิ่ง และรัฐบาลชุดก่อนหน้า เคยประสบอุปสรรคในการผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าธปท. จะนำสินทรัพย์จากงบทุนสำรองเงินตราไปใช้ในกิจการของตน, ใช้ล้างผลขาดทุนสะสมจากการแทรกแซงค่าเงินบาท, ทำให้ ธปท.มีอิสระมากเกินไปในการบริหารทุนสำรองเงินตรา หรือจะกระทบเงินบริจาคของหลวงตามหาบัว เป็นต้น ขณะเดียวกัน การนำสินทรัพย์ต่างประเทศจากบัญชีสำรองพิเศษมาใช้ ก็จะมีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เคยหมุนเวียนในระบบมาก่อน

 แม้ว่าในหลักการอาจมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ ตามแนวทางต่างๆ ข้างต้น แต่การนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ที่หนุนหลังธนบัตรให้โน้มเอียงมาที่พันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น หรือการนำสินทรัพย์ต่างประเทศออกมาใช้นั้น ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการด้วยกัน ได้แก่

 การเพิ่มประมาณเงินในประเทศและสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ การนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด ก็จะมีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบทั้งสิ้น ทั้งนี้ แม้ว่า ธปท.สามารถบริหารจัดการไม่ให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการให้ฝ่ายการธนาคารขายพันธบัตรรัฐบาล หรือซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในตลาดฟอร์เวิร์ดกับสถาบันการเงินในประเทศ (Onshore) แต่การดำเนินการดังกล่าว ก็อาจมีผลในการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับ ธปท. ขณะเดียวกัน ปริมาณเงินในระบบที่เพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นตามไปด้วย อันอาจผลักดันให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยในระบบขยับสูงขึ้น จนมีผลย้อนกลับมาเพิ่มต้นทุนในการระดมทุนในประเทศของทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้จำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้

 ปัญหาวินัยทางการคลัง ทางออกในการลดข้อจำกัดทางการคลังด้วยการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนในการลงทุนของภาครัฐนั้น ย่อมจะสร้างคำถามถึงการรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลไทย อันอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ แม้หลายฝ่ายจะมองว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีระดับทุนสำรองฯ ทั้งสิ้นที่อยู่ในระดับสูงถึงเกือบ 14 เดือนของการนำเข้า ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติที่เพียง 3 เดือนของการนำเข้ามาก และการนำทุนสำรองฯ มาใช้ น่าจะไม่มีต้นทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุนสำรองฯ ดังกล่าว ไม่ใช่ทุนสำรองที่ปราศจากภาระผูกพัน อีกทั้ง ต้นทุนทางอ้อมจากการใช้ทุนสำรองฯ ดังกล่าว จะตกอยู่ที่ ธปท.ที่จะต้องบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งจะตกอยู่กับระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

 ปัญหาด้านความโปร่งใส เนื่องจากการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำทุนสำรองฯ ส่วนไหนมาใช้ ซึ่งตามความตั้งใจเดิมของผู้ร่างกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เงินตรานั้น ต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเงินและค่าเงินของประเทศ ด้วยการสร้างกลไกที่รัดกุมให้กับการบริหารทุนสำรองฯ ในลักษณะที่ป้องกันไม่ให้ผู้ดูแลทุนสำรองอย่าง ธปท. ตลอดจน รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารของประเทศ สามารถนำทุนสำรองฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนได้ ดังนั้น การแก้กฎหมายดังกล่าว จึงอาจตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาลตามมาได้

 ปัญหาด้านความเสี่ยงจากการลงทุน โดยตามกรอบกฎหมายปัจจุบัน กรอบการลงทุนของทุนสำรองฯ ภายใต้ พ.ร.บ.เงินตรานั้น เน้นไปที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงทำให้อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย ซึ่งก็ถือว่ามีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง เพราะตั้งอยู่บนหลักการที่ไม่ต้องการให้นำความมั่งคั่งของประเทศ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป จนอาจสร้างความเสียหายต่อเงินต้นได้ อย่างไรก็ตาม การนำทุนสำรองฯ ไปลงทุนในโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์นั้น อาจไม่สามารถตอบโจทย์ด้านความมั่นคงจากการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มักมีประเด็นในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุน และมีระยะเวลาความคุ้มทุนที่ค่อนข้างนาน โดยในกรณีที่เกิดความเสียหายจากการลงทุนขึ้น ก็จะนำมาสู่ประเด็นคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบท้ายที่สุด

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าข้อเสนอในการนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ในการลงทุนพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทุนสำรองฯ ส่วนที่เกินความจำเป็น นับเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ ในภาวะที่รัฐบาลกำลังประสบกับปัญหาข้อจำกัดทางการคลัง แต่การดำเนินการดังกล่าวในบางแนวทาง ก็อาจต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ขนาดของทุนสำรองฯ ที่สามารถนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ ขึ้นกับการประเมิน “ทุนสำรองฯ ส่วนเกิน” ซึ่งควรจะวัดจากทุนสำรองที่ปราศจากภาระผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ต่างประเทศ การหนุนหลังธนบัตรออกใช้ และการนำเข้า โดยจากการคำนวณเบื้องต้นในลักษณะอนุรักษ์นิยม (Conservatives) แล้วจะพบว่า ทุนสำรองฯ ส่วนเกินที่หักภาระต่างๆ ดังกล่าว จะมีจำนวนเพียงประมาณ 6.96 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับจำนวนทุนสำรองฯ ทั้งสิ้นที่ 1.21 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 29 พ.ค.52) ซึ่งแม้ว่าปริมาณทุนสำรองฯ ส่วนเกินดังกล่าว น่าจะเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ควรจะใช้อย่างระมัดระวัง และเหลือไว้รองรับกรณีฉุกเฉินด้วย

ขณะเดียวกัน ทางการไทยคงต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจตามมาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มปริมาณเงินในระบบ อันจะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ตลอดจนต้นทุนการดำเนินธุรกิจของทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ก็อาจสร้างคำถามถึงปัญหาวินัยทางการคลัง ความโปร่งใสในการบริหารประเทศของรัฐบาล ตลอดจน ปัญหาความเสี่ยงจากการนำทุนสำรองฯ ไปลงทุน ซึ่งอาจสูงเกินไป จนผิดไปจากความตั้งใจในการร่างกฎหมายเริ่มแรกที่ต้องการให้ทุนสำรองฯ เป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งและสร้างเสริมเสถียรภาพทางการเงินระยะยาวของประเทศ ดังนั้น ทางการไทยและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คงต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังกล่าวอย่างรอบคอบ และรัดกุม เพื่อนำมาสู่การหาทางออกในการลดข้อจำกัดทางการคลังที่เหมาะสมต่อไป 

...




 

Create Date : 12 มิถุนายน 2552
3 comments
Last Update : 12 มิถุนายน 2552 1:33:03 น.
Counter : 718 Pageviews.

 

...

ลิงนั่งเล่นไพ่ หรือคนตะกายไปดวงจันทร์
ล้วนแต่ฝัน ของคน ลิง ใครกำหนด...
แค่ฝืนธรรมชาติบ้าง ด้วยเลี้ยวลด...
แค่แอบคด บดบิดเบือน เลื่อนเดือนวัน...

จะฝ่าฝืน จะขืนไป ไร้กำหนด...
จะประชด ธรรมชาติ ตามที่หวัง...
จะเป็นซุปเปอร์พาวเวอร์ เมลืองมลัง...
สุดท้ายฝัง ร่างอยู่ดี หนีไม่เป็น...

ได้อีกหนึ่งปรัชญา จากที่มอง
ด้วยสมองที่เหนื่อยเฉื่อย แต่ตาเห็น...
อยู่อย่างไร ให้ชาวบ้าน ได้ร่มเย็น...
แม้ยากเข็ญ ไม่เบียดเบียน หัวใจใคร...

ไม่ฆ่าฟัน ไม่ล้มล้าง ไม่สร้างก่อ...
สะกดคำ ว่าพอ ออ ยากแค่ไหน...
ป่าส่วนป่า รีสอร์ตอย่า เข้าไปไกล...
รักษาไว้ ให้เป็นป่า ที่ชุ่มเย็น...

...

ไดโนเสาร์ เขากินพืช แลเนื้อสัตว์...
อัตคัด อาจมีบ้าง ไม่หลีกเร้น...
วนเวียนว่าย เป็นวัฏฏะ-จักรที่เป็น...
มีทุกข์เข็ญ มีดิ้นรน ปนกันไป...

แต่มนุษย์ สุดแสน จะประเสริฐ
ก้าวล้ำนำ ความเลิศ มาฝากไว้...
สรรประดิษฐ์ จิตบรรเจิด ได้มากมาย...
แต่สุดท้าย คือทำลาย... หรืออะไร...

ฝนหล่นมา มีน้ำป่า ไหลทะลัก...
คนใช่ไหม ที่ไปกัก ลำน้ำไว้....
สร้างขุมเขื่อน ผลิตไฟฟ้า กำลังใหญ่...
จะถามใคร ใช่น้ำป่า หรือว่าคน...

ดูดน้ำมัน มาเร่งเผา เอาไปใช้...
ใส่รถยนต์ ไปได้ ทุกแห่งหน...
พระเจ้าบอก แกอ่ะ...เป็นแค่คน...
ต้องอดทน ใช้เท้าเดิน อย่าเหินไว...

...

ขี้เกียจเขียนต่อละ...แต่ยังจะสงสัยต่อ...
คนสมัยก่อนเค้าอยู่กันได้ยังไงมาจนป่านนี้...
เอาล่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นมา อาจแก้ไขไม่ได้....
จริงๆเหรอ ถ้าถามเธอจากหัวใจ....

ถ้าแก้ไม่ได้ ก็รอน้ำท่วมโลกกัน...

แล้วลิงน้อย จะยังคง นั่งเล่นไพ่...
คนไปไหน?... ปีนต้นไม้ เป็นไหมนั่น...
บ้านก็เปียก ถูกน้ำท่วม ท้นชีวัน...
จดจำฝัน วันที่ฉัน นั่งละเมอ...

เธอคนนั้น ไปอยู่ ณ ที่ใด...
จะรู้บ้างมั๊ย ว่าคิดถึงเธอเสมอ...
น้ำก็ท่วมบ้าน แต่ใจยังจะคิดถึงเธอ...
ก็จะ... เฮ้อออ... รอเธอที่ ต้นมะยม...

...

 

โดย: loykratong 12 มิถุนายน 2552 2:26:55 น.  

 

 

โดย: CrackyDong 12 มิถุนายน 2552 11:40:56 น.  

 

โอ้หนอประเทศที่ได้รัฐบาลคิดแค่สั้นๆ ที่จะนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ โดยไม่คำนึงถึงความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ แล้วประเทศจะเสียหายขนาดไหน น่าที่จะมีสมองมากกว่านี้ว่าเราจะสร้างรายได้อย่างไร อย่ามองแค่ส่วนไหนมีเงินฉันจะแก้กฏหมายนำเงินส่วนนั้นมาใช้ อย่ามักง่าย คิดว่าฉันนำมาใช้แล้วไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะผู้ที่รับผิดชอบคือประชาชนทั้งประเทศ กรรมของประชาชนไทยที่ได้รัฐบาลที่โง่และโกงเก่งแถมปากดีตื่นมาพูดแต่ความดีเข้าตัวใช้ปากทำงาน

 

โดย: ประชิต IP: 125.24.149.41 12 มิถุนายน 2552 16:26:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.