Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
1 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2552 อาจยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

...

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2552 ... แม้จะเห็นสัญญาณเชิงบวกในภาคอุตสาหกรรม แต่การใช้จ่ายในประเทศยังคงอ่อนแอ

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนเมษายน 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า การใช้จ่ายในประเทศทั้งทางด้านการลงทุนและการบริโภคยังคงหดตัวตามสภาวะซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศ และบรรยากาศที่กดดันในเดือนเม.ย. ขณะที่ การส่งออกที่หดตัวมากขึ้นได้ส่งผลให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เริ่มมีความต่อเนื่องของสัญญาณเชิงบวกจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งดิ่งลงในอัตราที่ลดลง 4 เดือนติดต่อกัน

 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องท่ามกลางบรรยากาศซบเซาเดือนเม.ย.

 การบริโภคภาคเอกชนหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงอีกร้อยละ 5.3 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2552 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 4.9 ในเดือนมี.ค. โดยองค์ประกอบหลักส่วนใหญ่ของดัชนีปรับตัวแย่ลงกว่าเดือนมี.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ การนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค (หดตัวร้อยละ 17.2 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 10.5 ในเดือนก่อนหน้า) และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (หดตัวร้อยละ 16.5 ใกล้เคียงกับที่หดตัวร้อยละ 16.3 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับตัวลงของรายได้เกษตรกร และแม้ว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งจะสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในเดือนนี้ แต่ก็เป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ (ขยายตัวร้อยละ 5.4 พลิกจากที่หดตัวร้อยละ 22.4 ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ยังคงซบเซา และความกังวลต่อปัญหาการเมืองในประเทศในช่วงเดือนเม.ย. ได้สะท้อนต่อเนื่องมายังดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 72.1 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 72.8 ในเดือนมี.ค.

 การลงทุนภาคเอกชนดิ่งลงในอัตราที่รุนแรงขึ้น
ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงอีกร้อยละ 16.4 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2552 ซึ่งนับเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 (ข้อมูลของธปท.ย้อนหลังได้ถึงปี 2543) และนับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน หลังจากที่หดตัวร้อยละ 16.2 ในเดือนมี.ค. องค์ประกอบหลักของดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือนเม.ย. ยังคงสะท้อนภาพที่ซบเซาของการลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนของบรรยากาศการเมืองในประเทศ นำโดย การนำเข้าสินค้าทุนซึ่งหดตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบ 8 ปี (หดตัวลงร้อยละ 21.7 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 18.0 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยปรับตัวลงอีกร้อยละ 11.0 และลดลงร้อยละ 39.6 ในเดือนเม.ย.ตามลำดับ บรรยากาศที่ซบเซาของการลงทุนในประเทศท่ามกลางปัญหาการเมืองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้สะท้อนผ่านมายังดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 39.2 ในเดือนเม.ย. 2552 จากระดับ 40.0 ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 (ซึ่งสะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการ) มาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

 การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณเชิงบวก สวนทางกับการชะลอตัวของรายได้เกษตรกร

 การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่ลดลง
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 9.7 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2552 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 14.9 ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวมหดตัวในอัตราที่ลดลงในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (หดตัวร้อยละ 7.0 ในเดือนเม.ย. เทียบกับที่หดตัวถึงร้อยละ 13.8 ในเดือนก่อนหน้า) นำโดย Hard Disk Drive (หดตัวเพียงร้อยละ 3.2 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 9.7 ในเดือนก่อนหน้า) อาหารทะเลแช่แข็ง (หดตัวร้อยละ 9.5 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 16.9 ในเดือนก่อนหน้า) โทรทัศน์สี (หดตัวร้อยละ 27.0 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 40.1 ในเดือนก่อนหน้า) และแผงวงจรรวม (หดตัวร้อยละ 6.2 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 22.2 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวมหดตัวน้อยลงเช่นกัน (หดตัวร้อยละ 8.0 ในเดือนเม.ย. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 11.2 ในเดือนก่อนหน้า) นำโดย ยาสูบ (ขยายตัวร้อยละ 56.3 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.9 ในเดือนก่อนหน้า) และรถยนต์นั่ง (หดตัวร้อยละ 26.3 หลังจากที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 48.2 ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ สัญญาณเชิงบวกของการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้สะท้อนผ่านมายังอัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) ซึ่งขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.7 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 58.5 ในเดือนมี.ค.

 ภาคเกษตรหดตัวแรงขึ้น...กดดันรายได้เกษตรกร
รายได้เกษตรกรดิ่งลงถึงร้อยละ 11.1 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2552 ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวของรายได้เกษตรกรที่มากที่สุดในรอบ 9 ปี โดยเป็นผลมาจากการหดตัวทั้งทางด้านปริมาณและราคาของภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ ดัชนีราคาพืชผลร่วงลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยปรับตัวลงถึงร้อยละ 8.8 ในเดือนเม.ย. ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 9 ปี หลังจากที่ลดลงร้อยละ 6.3 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ ดัชนีผลผลิตพืชผลหดตัวในอัตราที่รุนแรงที่สุดในรอบ 19 เดือน (นับตั้งแต่ก.ย.2550) โดยหดตัวร้อยละ 2.6 ในเดือนเม.ย. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 0.8 ในเดือนมี.ค.

 ภาคต่างประเทศ ... ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง

 การส่งออกหดตัวด้วยอัตราตัวเลขสองหลักเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 25.2 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2552 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 22.7 ในเดือนมี.ค. และหากหักมูลค่าการส่งออกทองคำการส่งออกจะหดตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 25.6 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 24.1 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ปริมาณสินค้าส่งออกหดตัวลงร้อยละ 22.8 (มากกว่าที่หดตัวเพียงร้อยละ 21.0 ในเดือนมี.ค.) ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม (ลดลงอีกร้อยละ 3.1 จากที่ปรับลงร้อยละ 2.1 ในเดือนมี.ค.) เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การส่งออกในเดือนเม.ย.หดตัวมากขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยหมวดสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 38.5 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 32.7 ในเดือนก่อนหน้า) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 24.7 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 22.0 ในเดือนก่อนหน้า) หมวดสินค้าใช้แรงงานหดตัวร้อยละ 22.9 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 6.0 ในเดือนก่อนหน้า) และหมวดสินค้าใช้เทคโนโลยีสูงหดตัวร้อยละ 28.2 (ใกล้เคียงกับที่หดตัวร้อยละ 28.0 ในเดือนก่อนหน้า)

 การนำเข้ายังคงหดตัวมากกว่าการส่งออก
การนำเข้าหดตัวลงอีกร้อยละ 36.4 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2552 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 35.1 ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ เศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกที่ซบเซาได้ฉุดให้การนำเข้าหดตัวลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2551 โดยในเดือนเม.ย.ปริมาณสินค้านำเข้าหดตัวร้อยละ 31.5 (ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 30.7 ในเดือนก่อนหน้า) ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อีกร้อยละ 7.2 (หลังจากที่ติดลบร้อยละ 6.3 ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ การนำเข้าในหมวดหลักหดตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกัน นำโดย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวร้อยละ 19.5 หมวดวัตถุดิบหดตัวร้อยละ 36.9 หมวดสินค้าทุนหดตัวลงร้อยละ 27.1 และหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นหดตัวลงร้อยละ 54.3

 ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลที่ลดลง
ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลเพียง 618.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. 2552 หลังจากที่เกินดุล 2,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. เนื่องจากการส่งออกในเดือนเม.ย.ลดลงสวนทางกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเมื่อรวมยอดเกินดุลการค้าเข้ากับดุลบริการฯ ซึ่งพลิกมาบันทึกยอดขาดดุล 192.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. ตามรายได้ที่หายไปจากการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลเพียง 425.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. เทียบกับที่เกินดุลสูงถึง 2,404.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค.

ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเดือนเมษายน 2552 ของธปท.แสดงถึงความอ่อนแอของการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งยังคงรอแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและสภาวะที่ผ่อนคลายของระบบการเงินในประเทศ ในขณะที่การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้ปรับตัวสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคยังคงมีความจำเป็นต่อภาคส่งออกของไทย เนื่องจากสัญญาณเชิงบวกจากเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยนั้น ไม่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะฉุดให้การส่งออกกลับมามีทิศทางที่สดใสมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงเดือนถัดๆ ไปอาจจะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกจากเครื่องชี้เศรษฐกิจบางตัว โดยเฉพาะส่วนที่อาจมีความเกี่ยวโยงกับการใช้จ่ายของภาครัฐจากแรงกระตุ้นของนโยบายเศรษฐกิจ และ/หรือการเพิ่มระดับการผลิตและการใช้จ่ายของภาคเอกชน ทยอยกลับเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เครื่องชี้ที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเหล่านั้น ยังคงต้องถูกประเมินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความเพียงพอของแรงกระตุ้นของสัญญาณบวกเหล่านั้นต่อเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป ในขณะที่ เสถียรภาพทางการเมืองและความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศ ตลอดจนความไม่แน่นอนของช่วงจังหวะเวลาการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของเศรษฐกิจต่างประเทศ ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพในเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2552 อาจยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องแต่จะมีความรุนแรงน้อยกว่าการหดตัวที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1/2552 โดยคาดการณ์อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2552 ไว้ในกรอบติดลบร้อยละ 5.6-7.0 เทียบกับที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 1/2552 ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี 

...




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2552
2 comments
Last Update : 1 มิถุนายน 2552 14:37:11 น.
Counter : 749 Pageviews.

 

ขอบคุณค่ะ กำลังหาอยู่พอดี

 

โดย: Hipoteam 1 มิถุนายน 2552 17:18:01 น.  

 

good day ^_^

it's so good....to...hear...that

U pass ..ssss ei ei ei

love me ...

SAY SO !!!!

 

โดย: mah-dump rose IP: 58.8.229.203 2 มิถุนายน 2552 18:53:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.