Group Blog
 
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
13 มกราคม 2552
 
All Blogs
 

ครม.อนุมติงบกลางปี 1.15 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ 18 โครงการ


. . .


ครม.อนุมติงบกลางปี 1.15 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ 18 โครงการ


นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่ม เติมประจำปีงบประมาณ 52 (งบกลางปี) วงเงินเบื้องต้น 115,000 ล้านบาท แยกเป็น 2 รายการ คือ งบประมาณเพื่อดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 96,000 ล้านบาท และงบชดเชยเงินคงคลัง 19,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นให้มีการนำเงินงบประมาณดังกล่าวจัดสรรให้ถึงมือประชาชนโดย เร็วเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยคาดว่างบประมาณจะถึงมือประชาชนโดยเร็ว และไม่เกิน 2-3 เดือนนี้จะเห็นผลต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดการณ์ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูงขึ้น ซึ่งหลายหน่วยงานคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 2.5% ซึ่งรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว

ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 14 ม.ค. จะมีการหารือในรายละเอียดต่างๆ ของการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการภาษีและมาตรการอื่นๆ ที่เตรียมประกาศใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และจะสรุปทั้งหมดในการประชุมครม.วันที่ 20 ม.ค.นี้ ก่อนจะเสนอสภาฯ พิจารณา ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เงินได้ประมาณกลางเดือนถึงปลายเดือนมีนาคม

"งบกลางปีที่ออก 1.15 แสนล้านบาท เป็นกรอบเบื้องต้น แต่ กำหนดเพดานสูงสุดที่ไม่ควรทำเกิน 1.167 แสนล้านบาท ตามที่ ผอ.สำนักงบประมาณเสนอ ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดต่อไป" นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังพิจารณาเรื่องการท่องเที่ยว มีแผนปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว 18 แห่ง บุคลากรด้านการท่องเที่ยว 160,000 คน และเพื่อเป็นการช่วยลดภาระผู้ประกอบการ แต่จะไม่ใช้งบประมาณ โดยเป็นมาตรการลดค่าธรรมเนียม และการให้ส่วนราชการมาช่วยเหลือ เช่น การส่งเสริมให้ข้าราชการจัดสัมมนาในต่างจังหวัด

รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาในเรื่องของการปรับลดราคาสินค้า และค่าบริการให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง หลังจากมีการร้องเรียนการปรับลดราคาสินค้า และบริการยังไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าที่ควร และจะต้องนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

. . .


โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน และผู้มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 14,000 บาท จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ 2,000 บาท หลังจากนั้น 6 เดือนจะพิจารณาอีกครั้ง

ตามโครงการข้อ 1. “โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ วงเงิน 18,970.4 ล้านบาท”

นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่าการนำเงินงบประมาณกว่า 18,000 ล้านบาท จ่ายเป็นค่าช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง ข้าราชการประจำ และผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่ำกว่า 14,000 บาทต่อเดือน จะจ่ายให้คนละ 2,000 บาท เพียงครั้งเดียว

โดยแบ่งเป็นบุคลากรของภาครัฐ 1.235 ล้านคน ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 14,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท หลังจากผ่านไป 6 เดือน แล้วถึงจะพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยในส่วนของภาครัฐจะใช้เงินงบประมาณ 2,328 ล้านบาท

ส่วนผู้ประกันตน ที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม 8 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือรวม 16,000 ล้านบาท

ส่วนการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานจะต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคมก่อนจะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

. . .



การจัดสรรงบกลางปี 52 แยกเป็น 18 รายการ ประกอบด้วย

1. โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ วงเงิน 18,970.4 ล้านบาท
2. โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน เบื้องต้นกำหนดการยกเว้นการเก็บค่าไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย และค่าน้ำไม่เกิน 30 หน่วย ใช้งบประมาณ 11,409.2 ล้านบาท(ไม่รวมประปาท้องถิ่น)
3. โครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเกษตรกร 2,000 ล้านบาท
4. โครงการก่อสร้างภายในหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 1,500 ล้านบาท
5. โครงการด้านพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน 1,000 ล้านบาท
6. โครงการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว 1,000 ล้านบาท
7. โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก 760 ล้านบาท
8. โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาด ย่อม 500 ล้านบาท
9. โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ 325 ล้านบาท
10. โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษา ไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี วงเงิน 19,000 ล้านบาท
11. โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน 15,200 ล้านบาท
12. โครงการสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน 9,000 ล้านบาท
13. โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน 6,900 ล้านบาท
14. โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 3,000 ล้านบาท
15. โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจชั้นประทวน 1,808 ล้านบาท
16. โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย 1,095.8 ล้านบาท
17. เงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน 2,391 ล้านบาท
18. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 19,139.5 ล้านบาท


การจัดสรรงบกลางปี 52 แยกเป็นรายกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ

การจัดสรรเป็นงบกลาง 12,000 ล้านบาท
สำนักนายกรัฐมนตรี 15,200 ล้านบาท
กระทรวงการต่างประเทศ 325 ล้านบาท
กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา 550 ล้านบาท
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,000 ล้านบาท
กระทรวงคมนาคม 1,500 ล้านบาท
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 760 ล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์ 1,000 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทย 12,557 ล้านบาท
กระทรวงแรงงาน 16,058 ล้านบาท
กระทรวงวัฒนธรรม 21 ล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการ 18,258 ล้านบาท
กระทรวงสาธารณสุข 1,095 ล้านบาท
กระทรวงอุตสาหกรรม 489 ล้านบาท
ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1,972 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจต่างๆ 11,874 ล้านบาท
การชดเชยเงินคงคลัง 19,000 ล้านบาท

. . .



มุมมองภาคเอกชน ขานรับการอนุมัติงบกลางปี 1.15 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ


ประธาน ส.อ.ท.เชื่องบกลางปีช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้า

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พอใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้เพิ่มงบกลางปีอีก 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวเน้นช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและผู้ว่างงาน
นายสันติ กล่าวว่า กลุ่มคนดังกล่าวเมื่อได้เงินหรือมีเงินเพิ่มจะนำมาใช้จ่ายเพิ่มเติม จะเป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้พอสมควร ขณะที่มาตรการจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดสามารถช่วยประชาชนได้ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินมาตรการโดยเร็วและพร้อมกันทั่วประเทศ และต้องรอให้มาตรการเดินหน้าไปก่อน 3 เดือน จากนั้นจึงประเมินว่า งบประมาณเพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอสามารถเพิ่มงบประมาณอีกได้
“ส่วนโครงการเมกะโปรเจกต์ยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ แต่โครงการดังกล่าว หากจะเห็นผลต้องใช้เวลา 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ต่อไป” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว

. . .


ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฯ ระบุรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯ

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีทิศทางดีขึ้น จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย เนื่องจากความต้องการในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผูกติดอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ได้แก่ เพิ่มการนำดอกเบี้ยเงินกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาหักลดหย่อนภาษีได้จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท รวมถึงแผนการกระตุ้นการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ซื้อบ้านที่มีรายได้น้อย นางสุพินท์ กล่าวว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการซื้อให้กับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และเร่งให้ผู้ที่สนใจซื้อตัดสินใจได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการนี้จะไม่มีผลมากนัก เนื่องจากเวลานี้ปัญหาที่แท้จริง คือ ผู้ซื้อขาดความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากปัญหาความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ และตราบใดที่ผู้บริโภคยังรู้สึกขาดความมั่นใจในสภาวะการว่าจ้างงานและรายได้ ในอนาคต ผู้บริโภคจะยังไม่กล้าสร้างภาระหนี้สินใดๆ ในเวลานี้ รวมถึงการกู้เงินซื้อที่อยู่อาศัย
นางสุพินท์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลควรเน้นที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม โดยหาวิธีบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและคิดโครงการใหม่ๆที่จะช่วยสร้างงาน และเพิ่มกำลังซื้อในทุกภาคส่วน การเร่งช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจส่งออกและฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเพิ่มแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในระดับ ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ขณะเดียวกันควรเร่งผลักดันโครงการลงทุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคด้วย

. . .


นักวิชาการหวั่นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลไม่เต็มที่

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นกรณีที่รัฐบาลอนุมัติงบกลางปี 115,000 ล้านบาท ว่าหลายโครงการที่รัฐบาลนำมาใช้ ยังไม่เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ เช่น การอัดฉีดเงิน 2,000 บาท ให้กับข้าราชการและพนักงานบริษัทที่มีรายได้ต่ำ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และไม่สามารถวัดผลจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ เพราะประชาชนที่มีรายได้ต่ำ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการตกงานมากที่สุด และในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน คนกลุ่มนี้อาจนำเงินที่ได้มาออมมากกว่าการนำออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอย
“การเลือกใช้มาตรการลดหย่อนภาษีที่ได้ผลมากที่สุด จะต้องเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่จากสถานการณ์ขณะนี้ที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างชัดเจน มีคนตกงานจำนวนมาก การลดหย่อนภาษีก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้ หรือแม้แต่การแจกเงิน 2,000 บาท ให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ หากรัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้ คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่กล้าใช้จ่ายเงินแน่นอน” นายมนตรี กล่าว
นายมนตรีเสนอว่า ภาครัฐควรลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้า การก่อสร้างถนน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากกว่า
สำหรับภาคการเงิน การดำเนินนโยบายการคลังเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ ภาครัฐควรใช้นโยบายทางด้านการเงินควบคู่กันไป ซึ่งมีความเป็นได้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.5-1.0 จากเดิมร้อยละ 2.75 และคาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือร้อยละ 1 ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ และดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป อีกทั้งยังป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนเพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 0.25 และธนาคารกลางอังกฤษได้ปรับลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1.5

. . .




 

Create Date : 13 มกราคม 2552
4 comments
Last Update : 13 มกราคม 2552 19:26:48 น.
Counter : 876 Pageviews.

 

 

โดย: ดราก้อนวี 14 มกราคม 2552 11:08:21 น.  

 

 

โดย: loykratong 14 มกราคม 2552 14:43:09 น.  

 

. . .

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 เวลา 21:33:11 น. มติชนออนไลน์


เปิดโพย "งบฯแสนล้าน" กระตุ้นเศรษฐกิจ "ครม.มาร์ค" ควักภาษีแจก "คนไทย" ทั่วหน้า

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม อนุมัติรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2552 วงเงิน 115,000 ล้านบาท

หมายเหตุ : คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม อนุมัติรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2552 วงเงิน 115,000 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้


1.โครงการการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชนและบุคลากรภาครัฐที่มีรายได้ต่ำ ประกอบด้วยผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จำนวน 8,009,200 ราย และข้าราชการ ลูกจ้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล จำนวน 1,476,623 ราย โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าครองชีพให้รายละ 2,000 บาท


2.โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน
เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเกี่ยวกับการเดินทางและการใช้บริการด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า และน้ำประปา ที่ประชาชนได้รับประโยชน์เป็นจำนวนมาก จึงสมควรดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน โดยปรับมาตรการเดิมให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และอยู่บนหลักการของการใช้และบริโภคอย่างประหยัด เช่น ปรับจำนวนการใช้น้ำประปาลงเหลือ 30 ลูกบาศก์เมตร/เดือน และการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน เป็นต้น


3.โครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการบริการทางการเกษตร รวมทั้งขยายระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ชลประทานให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีน้ำสำหรับการเกษตร และการอุปโภคบริโภค


4.โครงการก่อสร้างทางในหมู่บ้าน
เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นชนบท สามารถเดินทางและขนส่งผลิตผลทางการเกษตรได้ตลอดฤดูกาลด้วยความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากฝุ่นละออง กระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนก่อสร้างทางประมาณ 490 กิโลเมตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน


5.โครงการด้านพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน
เพื่อให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ มีราคาที่เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนอย่างเหมาะสมและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ภายใต้ โครงการธงฟ้าลดค่าครองชีพŽ รวมทั้งจ้างบัณฑิตเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในทุกจังหวัดทั่วประเทศ


6.โครงการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยรัฐบาลจึงมีโครงการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ 18 แห่ง พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในชุมชน 160,000 คน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น


7.โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการจัดการน้ำ
เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการจัดการน้ำโดยเน้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำในระดับชุมชน ช่วยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร


8.โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี
จัดตั้งงบฯเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและการพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการ


9.โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ
เพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและแก้ไขฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ ในมิติด้านเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และการมีนิติรัฐในลักษณะบูรณาการ เพื่อสร้างความมั่นใจจากประเทศคู่ค้า นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาลงทุนและท่องเที่ยวในประเทศโดยเร็ว


10.โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี
เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครอง และขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็ก เยาวชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค รัฐบาลจึงเพิ่มการสนับสนุนปัจจัยด้านการศึกษาในลักษณะให้เปล่าเพิ่มเติมเดิม ได้แก่ อุปกรณ์/หนังสือเรียน ชุดนักเรียน และการพัฒนาโรงเรียน ครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลาย รวม 15 ปี ให้กับโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและสังกัดหน่วยงานอื่น ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โรงเรียน ตชด.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และเมืองพัทยา


11.โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน
เพื่อให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงบประมาณของภาครัฐอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทั่วถึง และมุ่งขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนในหมู่บ้านและชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของตนเองที่มีอยู่เดิมให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น สร้างงาน สร้างรายได้ ลดต้นทุนและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยจะจัดสรรงบประมาณตามขนาดของประชากรให้ครบทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนจะได้รับเงินเป็น 2 เท่าของที่ได้รับจากโครงการเดิม


12.โครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ
เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพหรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ จึงได้จัดเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน ที่แสดงความจำนงโดยขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการสงเคราะห์ อีก 3,000,000 คน


13.โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน
เพื่อรองรับปัญหาแรงงานว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมและนักศึกษาที่จบใหม่ โดยจัดฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานตามกลุ่มความถนัด ศักยภาพและรองรับแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่วิสากิจและธุรกิจชุมชน กำหนดเป้าหมาย 240,000 คน


14.โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุก
เพื่อส่งเสริมบทบาท อสม. ทั่วประเทศให้ปฏิบัติการเชิงรุก ในการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นและชุมชน การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วย และเฝ้าระวังโรคในชุมชน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของ อสม. ทั่วประเทศ 834,075 คน


15.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจชั้นประทวน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีข้าราชการตำรวจที่ยังขาดแคลนที่พักอาศัย 32,530 หน่วย จึงจัดสรรงบฯก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ขาดแคลน 532 แห่ง แห่งละ 3.4 ล้านบาท


16.โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย
เป็นการเพิ่มพื้นที่ในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนพิการ โดยปรับปรุงพื้นที่อาคารสถานีอนามัยทั่วประเทศ 2,609 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถมาเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในชุมชน


17.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
เพื่อสำรองไว้สำหรับจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น


18.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
เพื่อชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้วตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 มาตรา 7 (1) รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และรายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ

. . .

 

โดย: loykratong 14 มกราคม 2552 14:44:00 น.  

 

. . .

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล … เน้นบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้า
ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย

ตามที่รัฐบาลได้มีการเปิดเผยแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีรายละเอียดชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ โดยมาตรการที่จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในระยะอันใกล้นี้ จุดสนใจอยู่ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ชุด ชุดแรก คือ มาตรการด้านงบประมาณ โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) สำหรับปีงบประมาณ 2552 จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 1.835 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม หลังจากนั้นจะเสนอสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 มกราคม ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่สอง คือ มาตรการด้านภาษียังอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายละเอียด โดยมีกำหนดจะนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 มกราคมต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ และผลที่จะมีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

เปิดแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ … เน้นบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ

หลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มถดถอยลงต่อไปอีก รวมทั้งแก้ไขผลกระทบที่ตามมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเนื้อหาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีแนวทางที่จะมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ การใช้มาตรการจูงใจทางภาษี และมาตรการสนับสนุนสภาพคล่อง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีดังนี้

 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางปีวงเงิน 115,000 ล้านบาท
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 มกราคม 2551 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 (งบกลางปี) วงเงิน 115,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่จัดสรรสำหรับยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสังคมในระยะเร่งด่วน 16 โครงการ วงเงิน 93,469.2 ล้านบาท เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 2,391.3 ล้านบาท และรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง 19,139.5 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

แผนงาน-โครงการ/รายการ งบประมาณ (ล้านบาท)
รวมทั้งสิ้น 115,000.0
1. แผนงานฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ
1.1 โครงการการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ
1.2 โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน
1.3 โครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร
1.4 โครงการก่อสร้างทางในหมู่บ้านเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน
1.5 โครงการด้านพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน
1.6 โครงการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
1.7 โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการจัดการน้ำ
1.8 โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
1.9 โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ 37,464.6
18,970.4
11,409.2
2,000.0
1,500.0
1,000.0
1,000.0
760.0
500.0
325.0
2. แผนงานเสริมสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคม
2.1 โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี
2.2 โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน
2.3 โครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ
2.4 โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน
2.5 โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
2.6 โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจชั้นประทวน
2.7 โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย 56,004.6
19,000.0
15,200.0
9,000.0
6,900.0
3,000.0
1,808.8
1,095.8
3. แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
3.1 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2,391.3
2,391.3
4. แผนงานรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
4.1 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 19,139.5
19,139.5


เป็นที่สังเกตได้ว่ามาตรการที่มีการตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมขึ้นมานี้ นับเป็นมาตรการที่ดีที่พยายามอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เน้นมาตรการเชิงรับต่อปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้เกิดผลได้ด้วยความรวดเร็ว โดยมุ่งเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม คือให้ความช่วยเหลือต่อภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง เช่น ประชาชนผู้มีรายได้น้อย แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ให้ประคองตัวอยู่ได้ ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้มีเงินรายได้จำกัดและไม่มีเงินออม จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพ โดยรวมแล้ว ด้วยการออกแบบมาตรการให้ลงไปสู่ผู้ที่ประสบปัญหาโดยตรง จึงอาจกล่าวได้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเพื่อบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลคงจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างในระยะยาวตามมา

 มาตรการด้านอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากโครงการที่รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินรายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 2552 แล้วดังรายละเอียดข้างต้น ถ้าวิเคราะห์จากแนวคิดที่รัฐบาลเปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะยังมีแนวทางอื่นๆ ที่อาจจะดำเนินการประกอบกันไปด้วย อาทิ

 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การสร้างงานรองรับในภาคเกษตรกรรม การพัฒนาความรู้และการบริหารจัดการระบบการเกษตร เป็นต้น

 มาตรการด้านแรงงานและการจ้างงาน เช่น การปรับลดเงินสมทบประกันสังคมเพื่อลดภาระของแรงงานและสถานประกอบการ โครงการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพสำหรับแรงงาน เป็นต้น

 มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเอกชน เช่น มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (การขยายอายุมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการขยายวงเงินในการนำดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านมาหักลดหย่อนภาษี) มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ทั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ที่มีงบประมาณคงค้างอยู่กว่า 100,000 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนในปีงบประมาณ 2552 ประมาณ 300,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลเริ่มเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ ให้มีความคืบหน้าชัดเจน ก็คาดว่าจะมีผลกระตุ้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนได้

 มาตรการด้านสภาพคล่องทางการเงิน เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท แนวทางให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟท์โลน) แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี และการสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตว่า ด้วยเหตุผลที่การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางการคลัง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการ โดยเลือกใช้มาตรการที่มีความจำเป็นเฉพาะหน้า มากกว่าที่จะใช้มาตรการที่อาจจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพกว้างได้แต่สูญเสียรายได้งบประมาณมูลค่าสูง เช่น การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรืออัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ขณะเดียวกัน ในประเด็นเรื่องสภาพคล่อง อุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความขาดแคลนสภาพคล่องในระบบ แต่อยู่ที่ความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยกู้


ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ... ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นตัวถ่วง

จากการที่รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น อันเป็นผลจากการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา รวมทั้งจากการที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบในภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาได้ โดยปัจจัยบวกเหล่านี้ น่าที่จะช่วยให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยในปี 2552 ไม่ติดลบอย่างที่กังวลกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดกันไว้ การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศของไทยในปี 2552 จึงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำหรืออาจติดลบได้ ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2552 จะยังคงต่ำกว่าในปี 2551 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ท่ามกลางแนวโน้มที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องชี้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำที่ทยอยประกาศออกมาสะท้อนสัญญาณที่น่าวิตกมากขึ้นในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ทั้งภาวะการผลิต การจ้างงานและผลประกอบการของธุรกิจ ซึ่งจะมีผลทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามีโอกาสถดถอยลงลึกมากขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ อาจต้องอาศัยระยะเวลายาวนานออกไปอีก ขณะเดียวกัน จากมรสุมเศรษฐกิจที่รุมเร้าภายในประเทศ ส่งผลให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคเอกชนทั้ง 3 ด้าน คือการบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ อ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในประมาณการครั้งก่อน

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในปี 2551 และปี 2552 ลง จากร้อยละ 4.0-4.3 เป็นร้อยละ 3.6 สำหรับปี 2551 และจากร้อยละ 2.5-3.5 เป็นร้อยละ 1.5-2.5 สำหรับปี 2552 โดยแม้คาดหมายว่าการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐน่าจะมีโอกาสขยายตัวในระดับที่สูงขึ้น จากการขยายวงเงินงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดทางการคลังอาจเป็นสาเหตุให้มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสร้างผลในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนได้ในวงกว้าง แนวโน้มในระยะไตรมาสข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจึงคงจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคไปได้ยาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 จะมีอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ที่หดตัวลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักหน่วงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในตลาดภูมิภาคหลัก รวมทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงนี้จะยังคงต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 1/2552
สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะมีอัตราการเติบโต (YoY) โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่างหดตัวร้อยละ 0.2 ถึงหดตัวร้อยละ 1.0 ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไปคงขึ้นอยู่การขับเคลื่อนของกลไกภาครัฐ ว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเป็นแรงส่งให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ เดินเครื่องไปสู่การฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ สมมติฐานกรอบบนของประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะบริหารประเทศให้เกิดการผลักดันนโยบายรวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องพอสมควร ทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปช่วยภาคเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหา เช่น ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว พยุงสถานการณ์การจ้างงาน และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่กรอบล่างของประมาณการ เป็นกรณีที่การเบิกจ่ายของภาครัฐอาจมีความล่าช้า ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านสถานการณ์ในภาคธุรกิจ การจ้างงาน ตลอดจนการใช้จ่ายของผู้บริโภคของไทยอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น

ภายใต้กรอบประมาณการเศรษฐกิจข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะขยายตัวในระดับต่ำ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5-1.2 จากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2551 ส่วนการลงทุนโดยรวมอาจจะหดตัวระหว่างร้อยละ 1.4 ถึงร้อยละ 3.4 จากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2551 การส่งออกอาจจะหดตัวระหว่างร้อยละ 3.0 ถึงร้อยละ 7.0 จากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 17.2 ในปี 2551 แต่การนำเข้ามีแนวโน้มลดลงในอัตราที่รุนแรงกว่าด้านการส่งออก เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงอย่างมาก จึงส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะพลิกกลับมาเกินดุล จากที่ขาดดุลเล็กน้อยในปี 2551

โดยสรุป จากแนวคิดของรัฐบาลในการเร่งรัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจที่รายล้อมรอบด้านอยู่ในขณะนี้ นับว่าเป็นแนวทางที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะเข้ามาแก้ไขเยียวยาปัญหาให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดีที่มีการผลักดันมาตรการใหม่ๆ ออกมาจัดการปัญหาเฉพาะหน้าในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้สภาวการณ์เศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ในแทบทุกด้าน นอกจากนี้ ภาพที่สะท้อนออกไปสู่ต่างประเทศน่าจะสร้างความมั่นใจต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยได้มากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถ้าบรรยากาศการเมืองมีความสงบเรียบร้อยอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นผลดีต่อโอกาสการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุน

ทั้งนี้ รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงขึ้น จากผลของการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าน่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบในภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาได้ รวมทั้งน่าจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยตลอดปี 2552 ไม่ติดลบอย่างที่เคยมีผู้กังวล

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการออกมาตรการมาบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าจากรัฐบาล แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณความอ่อนแอที่น่าวิตกมากขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม และข้อจำกัดทางด้านงบประมาณของไทย ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในปี 2551 และปี 2552 ลง โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคเอกชนทั้ง 3 ด้าน คือการบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการล้วนแล้วอยู่ในสภาพที่อ่อนแรง แม้คาดหมายว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจสุดท้ายที่เหลืออยู่ คือการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐนั้น น่าจะมีโอกาสขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นจากการขยายวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ตาม ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสข้างหน้า จะยังคงเผชิญความเสี่ยงจากภาวะถดถอย โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จะเริ่มติดลบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2551 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 1/2552 ซึ่งจะเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งแรกของประเทศไทยนับตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 จะมีอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ที่หดตัวลงร้อยละ 0.5 ซึ่งสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงนี้จะยังคงต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 1/2552 สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะมีอัตราการเติบโต (YoY) โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่างหดตัวร้อยละ 0.2 ถึงหดตัวร้อยละ 1.0 ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสถัดๆ ไป คงขึ้นอยู่การขับเคลื่อนของกลไกภาครัฐ ในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี

โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 1.5-2.5 ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.6 (จากประมาณการเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-4.3 และในปี 2552 จะขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 2.5-3.5) 

. . .

 

โดย: loykratong 14 มกราคม 2552 19:56:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.