Group Blog
 
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
5 มกราคม 2552
 
All Blogs
 

เงินเฟ้อปี 51 - 5.5% --- หุ้นวันแรกบวก 28 จุด -- ตรึงราคาก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวี. . .

. . .


กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.51 ขยายตัว 0.4% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่เงินเฟ้อปี 51 อยู่ที่ 5.5% และคาดการณ์เงินเฟ้อปี 52 จะลดลงอยู่ที่ 0 - 1.2%


นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปประจำเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัว 0.4% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2545 ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2551 อยู่ที่ 5.5%

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักยังคงมาจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศลดลง
นอกจากนี้ ยังมาจากการลดลงของค่าโดยสารรถประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั้น 1 และ 2 ในต่างจังหวัดตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2551 รวมทั้งค่าโดยสารรถเมล์เล็ก และค่าโดยสารเครื่องบิน ส่งผลให้ดัชนีหมวดค่าโดยสารสาธารณะปรับลดลง 0.9%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 อยู่ที่ 5.5% ซึ่งใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ในกรอบ 5.3-5.9% แต่หากเปรียบเทียบกับปี 2550 ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.3% ถือว่าสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงของครึ่งปีแรกของปี 2551 ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารสาธารณะและต้นทุนของสินค้าและบริการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในหลายประเทศลดลง ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลได้ใช้ 6 มาตรการ 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มขยายตัวในอัตรา 1.7% ซึ่งชะลอตัวลง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2552 ลงเหลือ 0 - 1.2% จากประมาณการเดิมซึ่งอยู่ที่ 2.5-3.5% เนื่องมาจากการปรับลดสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีลงอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ราคาสินค้าปรับลดลงตาม จึงทำให้มีการปรับลดเป้าเงินเฟ้อลง แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าหากรัฐบาลมีการยกเลิก 6 มาตรการ 6 เดือนในอนาคต อาจผลักดันให้เงินเฟ้อในปี 2552 ปรับสูงขึ้นได้

ขณะที่ความกังวลในเรื่องของภาวะเงินฝืดนั้น ต้องติดตามอีกหลากหลายประเด็น แต่ยืนยันว่า ยังไม่เกิดสัญญาณเงินฝืดในระยะนี้
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับปรุงจำนวนรายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จากเดิมอยู่ที่ 378 รายการ เพิ่มขึ้นเป็น 418 รายการ เพื่อให้การคำนวณสะท้อนอัตราเงินเฟ้อให้มากที่สุด
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ของเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสูงขึ้น 1.8% และเฉลี่ยทั้งปีสูงขึ้น 2.4%

. . .



นายกฯเตรียมสรุปนโยบายพลังงานสัปดาห์หน้า คาดตรึงราคาก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่วนก๊าซเอ็นจีวี สั่งตรึงราคาที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท


เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับแนวนโยบายด้านพลังงาน โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาก๊าซแอลพีจีเปลี่ยนไป ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงจะไปดูว่าควรเป็นอย่างไร เพราะแผนเดิมที่เคยกำหนดไว้ อยู่บนสมมติฐานราคาในตลาดโลกที่ต่างจากปัจจุบันมาก

ส่วนกรณีของก๊าซเอ็นจีวี ที่เกรงว่าจะมีการขึ้นราคานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ไม่มีความคิดที่จะขึ้นราคา
“สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งผมจะเป็นประธาน จะได้ข้อสรุปในเรื่องนโยบายด้านพลังงานและการกระจายอำนาจ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายแพทย์ (นพ.) วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี ออกเป็น 2 ตลาด ได้แก่ ภาคครัวเรือน และภาคขนส่งและอุตสาหกรรม โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงพลังงานกลับไปทบทวนแผนใหม่ และนำกลับมาเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในสัปดาห์หน้า

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า สำหรับก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคครัวเรือน คงจะตรึงราคาไปก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน
ส่วนภาคขนส่งและอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานจะพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนจริง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก โดยจะมีการหารือในที่ประชุมบอร์ด กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในสัปดาห์หน้า เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ กพช.ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้แยกโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีเป็น 2 ตลาด คือ ภาคขนส่งและอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน พร้อมกับอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม อีก 6 บาทต่อกิโลกรัม ในระยะเวลา 3 เดือน หรือปรับขึ้นเดือนละ 2 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมติดังกล่าว ยังไม่มีผลบังคับใช้ในขณะนี้ เพราะต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาก่อนว่า ควรจะดำเนินการตามนั้นหรือไม่

รมว.พลังงาน ยังคาดว่า ราคาก๊าซแอลพีจีที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ น่าจะทำให้ระดับราคาก๊าซแอลพีจี ในเดือนมกราคม 2552 ลดลงมาอยู่ที่ 350 ดอลลาร์ต่อตัน จากที่เคยปรับตัวขึ้นไปสูงถึงระดับ 950 ดอลลาร์ต่อตัน ในช่วงกลางปีก่อน

ส่วนการปรับราคาก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ที่เดิมวางแผนจะปรับขึ้นจาก 8.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นไม่เกิน 12 บาทต่อกิโลกรัม หรือไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาดีเซล

ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นสอดคล้องกันว่า ให้ตรึงราคาที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ไปก่อนเนื่องจากไม่ต้องการเพิ่มภาระของประชาชน

. . .



ภาคเอกชนขานรับการตรึงราคาก๊าซ และเสนอให้ขยายเวลาดำเนิน 6 มาตรการ 6 เดือน


นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นด้วยที่รัฐบาลจะชะลอหรือทบทวนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี เพราะหากปรับขึ้นราคาก็จะมีส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน รัฐบาลไม่ควรเพิ่มภาระให้กับประชาชน

ส่วนภาคอุตสาหกรรม เห็นว่าก่อนที่จะขยับขึ้นราคาแอลพีจี จะต้องศึกษาต้นทุนที่แท้จริง เพื่อขยับราคาให้เหมาะสม เพราะหากราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมปรับขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วน 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติฯ ที่รัฐบาลจะขยายเวลาและอาจมีการปรับปรุงรายละเอียดบางมาตรการ นายสันติ ระบุว่าเห็นด้วย เพราะแม้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง แต่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ก็ควรใช้มาตรการนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้น หากภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นก็อาจจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลยังไม่ปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ก็จะเป็นภาระต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พอสมควรที่จะต้องรับภาระส่วนต่างราคา แต่ในอนาคตคงจะต้องมีการปรับราคาให้สอดคล้องกับภาวะตลาด เพราะหากมีการชดเชยราคาก๊าซอย่างต่อเนื่องจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาก็จะต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม และต้องมีการแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้เวลาประชาชนปรับตัว โดยนายประมนต์ไม่เห็นด้วยที่จะแยกราคาก๊าซออกเป็น 2 ตลาด เพราะอาจจะมีปัญหาการรั่วไหล มีการนำก๊าซภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม

ส่วนการที่รัฐบาลจะขยายระยะเวลา 6 มาตรการฯ นั้น นายประมนต์ กล่าวว่า จะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งบางมาตรการไม่จำเป็นก็ควรยกเลิก เช่น ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และควรออกมาตรการอื่นทดแทน เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัว

. . .



กกร. เตรียมสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอนายกฯ ภายในสัปดาห์นี้


นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2552 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ และจะมีการนัดหมายเพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว โดยจะมีการเสนอให้ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล การยกเว้นภาษีบางประเภทเพื่อลดภาระให้ผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น

นอกจากนี้ กกร.จะจัดเวทีเพื่อให้ภาครัฐและเอกชนหารือร่วมกันในลักษณะ “ไทยดินเนอร์ทอล์ก” ปลายเดือนนี้ โดยจะเป็นเวทีให้นายกรัฐมนตรีพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ และให้รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเสนอแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับนักลงทุน ส่วนการจัดประชุมอาเซียนซัมมิตปลายเดือน ก.พ.นี้ ที่กรุงเทพฯ ทาง กกร.ก็พร้อมสนับสนุนการจัดประชุมดังกล่าว

นายประมนต์ กล่าวว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจยังจะไม่ฟื้น โดยยังชะลอตัวต่อไป สิ่งที่ภาคเอกชนควรทำ คือ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อรองรับการถดถอยของภาคการส่งออก ซึ่งเป็นห่วงว่าอาจจะถึงขั้นติดลบ
โดยในวันที่ 7 ม.ค.นี้ ทางภาคเอกชนจะไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อประเมินตลาดการส่งออก โดยจะเสนอมาตรการเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อชดเชยตลาดเดิมที่ชะลอตัวลง ซึ่งหากภาคการส่งออกปีนี้ไม่ติดลบหรือโตเท่ากับปี 2551 ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวลดลงประมาณร้อยละ 20-30 คงจะมีแต่กลุ่มอาหารที่เติบโตและน่าจะช่วยภาคการส่งออกได้

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าอายุของรัฐบาลนี้อย่างน้อยควรทำงานได้ 1 ปี - 1 ปีครึ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะหากอายุรัฐบาลน้อยกว่านี้ก็อาจจะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนได้ โดยระยะเวลา 3 เดือนแรกเป็นช่วงทดลองงาน ดังนั้น ต้องให้เวลารัฐบาลทำงาน เพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่จะเสนอนายกรัฐมนตรี คือ เสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งผ่านสถาบันการเงิน และกองทุนเอสเอ็มอี เพราะเชื่อว่าเอสเอ็มอี ที่มีหลักประกันน้อยอาจมีปัญหาการกู้เงิน ดังนั้น ควรจัดตั้งกองทุนเอสเอ็มอี เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจเหล่านี้

ส่วนภาคการส่งออกปีนี้ ยอมรับน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถรักษามูลค่าการส่งออกได้ 180,000-190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าน่าพอใจแล้ว และหากอัตราการขยายตัวของการส่งออกโตร้อยละ 5 ก็จะเป็นเรื่องดี จึงอยากให้รัฐบาลมีอายุการทำงานยาวนาน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลมีผลงานดีเป็นที่น่าพอใจของประชาชน น่าจะอยู่ได้นานขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำนายของโหร

. . .



กระทรวงการคลังหารือแบงก์ชาติเรื่องการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลน-การลดดอกเบี้ยนโยบาย และการเสริมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ


เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้หารือกันใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การแก้กฎหมาย ธปท. เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟท์ โลน) ให้ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา, 2. การเพิ่มปริมาณเงินในระบบให้เพียงพอ และ 3. การลดดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้เคยออกสินเชื่อซอฟท์โลนอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับสถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ วงเงิน 40,000 ล้านบาท แต่ในขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายฉบับใหม่ไม่ให้ดำเนินการ ดังนั้น จึงต้องหารือร่วมกันว่ามีปัญหาติดขัดอย่างไร จะแก้กฎหมายได้หรือไม่

ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่ามีความจำเป็นต้องปล่อยกู้แบบซอฟท์โลนให้กับระบบ เมื่อหารือร่วมกันแล้วหากแก้ไขกฎหมายไม่ได้ กระทรวงการคลัง ก็จะระดมเงินด้วยการออกพันธบัตรเพื่อปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนแทน

นอกจากนี้ มีการหารือเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) เพราะล่าสุด ธปท.ได้ประเมินปัญหาเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกับกระทรวงการคลัง จึงเชื่อว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ในการประชุมเดือน ม.ค.นี้ แต่จะลดลงเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

นายกรณ์กล่าวว่า ต้องมีการเพิ่มปริมาณเงิน เพื่อให้มีสภาพคล่องในระบบอย่างเพียงพอ ซึ่งหากเงินของรัฐบาลที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องให้ ธปท.พิจารณาแนวทางดังกล่าวไว้ด้วย โดยปัญหาสำคัญอยู่ที่การหาเงินมาใช้ เพราะ ธปท.มีหน้าที่ในการดูแลปริมาณเงินในระบบให้เพียงพอผ่านทางเครื่องมือต่างๆ และจะใช้สถาบันการเงินของรัฐเป็นเครื่องมือในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด ซึ่งทุกแห่งเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คาดว่าในการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 14 ม.ค. จะมีการลดดอกเบี้ยอาร์พีลง รวมถึงการประชุมในครั้งถัดไปน่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังถดถอย

สำหรับการปล่อยสินเชื่อตามโครงการของรัฐแม้จะเป็นของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถ้าสามารถช่วยเหลือรายย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ธนาคารประชาชน ก็ควรเดินหน้าต่อไป แต่หากโครงการใดมีปัญหาก็จะนำมาพิจารณาทบทวน

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบในปี 52 ยังใช้เป้าหมายเดิม 60,000 ล้านบาท เป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยร้อยละ 80 ของวงเงินทั้งหมด อีกทั้งคาดว่าในงานวันเด็กปีนี้ออมสินจะรับเปิดบัญชีเงินฝากได้ประมาณ 800,000 บัญชี มากกว่าปีก่อนที่มีการเปิดบัญชีใหม่ 700,000 บัญชี โดยทางออมสินไม่ได้เน้นจำนวนยอดเงินฝาก แต่ต้องการสนับสนุนให้เด็กรู้จักการออม

. . .



รมว.คลัง คาดต้องใช้งบรวม 700,000 ล้านบาทภายในปีนี้และปีหน้า เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ


นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนา “การกอบกู้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย” ว่า ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า จะเห็นวิธีการเตรียมรับมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยในวันที่ 13 ม.ค. จะนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเสนอ ครม.พิจารณา โดยเฉพาะการใช้งบกลางปี 100,000 ล้านบาท เพื่อมุ่งส่งผ่านเงินไปยังประชาชนผู้มีรายได้น้อย และส่วนที่สามารถใช้เงินได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้เวลาพิจารณาโครงการนาน เช่น โครงการเรียนฟรี, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และอาสาสมัครสาธารณสุข เพราะจะทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีรายได้ใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบได้ รวมถึงมาตรการแก้ปัญหาการว่างงาน โดยจะมีแนวทางเข้าไปยับยั้งไม่ให้บริษัทปลดคนงานมากขึ้น อีกส่วนจะให้สถาบันการเงินรัฐเข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบ สำหรับเงินทุนรองรับให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

รมว.คลังระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มรุนแรงในขณะนี้ คงต้องใช้เงินงบประมาณกว่า 700,000 ล้านบาท ในการฟื้นเศรษฐกิจ โดยเป็นเงินงบประมาณขาดดุลปี 2552 ซึ่งขาดดุลอยู่ 250,000 ล้านบาท รวมงบกลางปี 100,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2553 ยังต้องขาดดุลต่อไปประมาณ 350,000 ล้านบาท ทำให้อาจต้องใช้งบประมาณขาดดุลเยียวยาเศรษฐกิจรวมถึง 700,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าเมื่อมีการจัดประชุมอาเซียนซัมมิท เพื่อให้ผู้นำแต่ละประเทศเข้ามาร่วมประชุมในประเทศไทยจะเป็นจุดสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยวที่เคยตื่นตระหนกจากปัญหาการปิดสนามบินกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง

นายดีพัค เจน คณบดีวิทยาลัยการจัดการ เคลลอกนอร์ธเวสเทิร์น กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพด้านเกษตรกรรม ควรใช้ศักยภาพดังกล่าว พัฒนาและแปรรูปทางการเกษตรป้อนอาหารสู่ตลาดโลก เพราะจะเป็นการดึงศักยภาพที่ตรงจุดในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ ความร่วมมือของส่วนต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ และการแข่งขันจะต้องควบคู่กับความมั่นใจเมื่อประเทศจะก้าวไปข้างหน้าต้องทำให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจ เชื่อมั่น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุทธ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องเผเชิญอยู่ หากมองในแง่ร้ายในปีนี้การส่งออกอาจชะลอตัวติดลบถึงร้อยละ 10 จากสัญญาณเศรษฐกิจติดลบในไตรมาส 4 ของปี 2551 ทำให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับกับความจริง หลังจากทั่วโลกได้เผชิญกับปัญหากันไปมากแล้ว แต่ของไทยเพิ่งจะเริ่มเครียดกับปัญหาต่างๆ เท่านั้น เพราะผู้ประกอบการจะเริ่มมีปัญหาและเริ่มเกิดหนี้เสีย ดังนั้นต้องมีแผนฉุกเฉินที่ดีในการรองรับปัญหา โดยเฉพาะการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินขนาดเล็ก

สำหรับเงินที่ใช้ในการฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มองว่า การใช้เงินนอกงบประมาณ เป็นสิ่งที่มีความคล่องตัวมากกว่า เพราะสามารถนำออกมาใช้แก้ปัญหาต่างๆได้ทันท่วงที สอดคล้องกับปัญหาในปัจจุบัน เพราะการใช้เงินผ่านระบบงบประมาณมีความล่าช้ามาก เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนระบบราชการ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้เงินงบประมาณถูกนำออกไปช่วยเหลือส่วนต่าง ๆ ได้ช้า

. .. .



หุ้นไทยวันแรกของปี บวกกว่า 28 จุด พุ่งขึ้นตามตลาดหุ้นต่างประเทศ


ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในวันที่ 5 ม.ค. ซึ่งเปิดทำการซื้อขายเป็นวันแรกของปี บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก โดยมีแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มพลังงาน เนื่องจากเป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปิดบวกกันทั่วหน้า โดยดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดที่ระดับสูงสุดของวันที่ 478.69 จุด ขยับขึ้น 28.73 จุด หรือร้อยละ 6.39 ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 18,596 ล้านบาท

นายวรุฒม์ ศิวะศริยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันซ่า กล่าวว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นในวันแรกที่เปิดทำการในปี 2552 เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานที่ได้รับแรงผลักดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ดีดตัวขึ้น

รวมทั้งได้รับแรงขับเคลื่อนจากตลาดหุ้นต่างประเทศ นักลงทุนทั่วโลกเข้าซื้อเก็งกำไรจากประเด็นการหารือของนายบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ กับทีมเศรษฐกิจ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะเพิ่มวงเงินช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง หรือภาคอุตสาหกรรมจากเดิม 7.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดนายโอบามา ยังเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีให้ชาวอเมริกันลงอีก เพื่อลดภาระของผู้บริโภคในสหรัฐ

รวมถึงการคาดหวังว่า หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.นี้ รัฐบาลสหรัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เพิ่มเติม ประกอบกับในช่วงต้นปี จะมีปรากฏการณ์ January Effect ที่มีเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้น

“ที่ผ่านมากองทุนลดความเสี่ยงจากตลาดหุ้น โดยหันไปถือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำและราคาหุ้นที่ลดลงมาก ทำให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นขณะนี้ถือว่าสูงกว่าตราสารชนิดอื่น จึงเป็นสาเหตุให้มีเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นในช่วงต้นปีนี้ โดยประเมินว่าในเดือน ม.ค.นี้ ดัชนีมีโอกาสทะยานขึ้นไปถึง 500 จุด จากนั้นจะอ่อนตัวลงในเดือน ก.พ. ตามแนวโน้มของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกในไตรมาส 4 ปี 2551 จะออกมาย่ำแย่” นายวรุฒม์ กล่าว

. . .



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ปรับตัวฝ่ามรสุมวิกฤติอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและลดต้นทุนวัตถุดิบ


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ตลาดรถยนต์ทั้งไทยและต่างประเทศขณะนี้กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก สืบเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก ยอดขายรถยนต์ของผู้ผลิตรายใหญ่หลายบริษัทเดือนล่าสุดลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 30 ทรุดตัวต่ำสุดในรอบประมาณ 20 ปี
สำหรับประเทศไทย ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกต่างชะลอลง โดยยอดส่งออกรถยนต์ชะลอลงต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน พ.ย. ก็หดตัวอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 20.2 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และคาดว่าตลาดรถยนต์จะชะลอลงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552

โดยยอดผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยเดือนพฤศจิกายน 2551 เริ่มหดตัวถึงร้อยละ 4.9 และคาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่อง จากการที่ค่ายรถต่างๆ ได้ออกมาประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าจะลดกำลังการผลิตลงประมาณร้อยละ 20-30 และบางรายถึงขั้นปิดโรงงานระยะหนึ่ง

ด้วยภาวะกดดันต่างๆ ที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะต้องเผชิญ จึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางปรับกลยุทธ์เพื่อหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติ โดยปรับปรุงโครงสร้างและเทคโนโลยีการผลิตในโรงงาน เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพสินค้า ลดต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนที่มีคุณภาพสูงโดยเฉพาะ และรักษาระดับคุณภาพและความเชื่อถือของตัวสินค้าที่ผลิต สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียฐานลูกค้าให้คู่แข่งอย่างจีน การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของสินค้าในระยะยาว การขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพอยู่ การพิจารณาใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น

ส่วนการลงทุนในโครงการอีโคคาร์นั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีค่ายรถบางค่ายได้ส่งสัญญาณที่จะชะลอการลงทุนออกไปบ้าง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มกำลังซื้อที่อาจหดตัว แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมกับตลาดรถยนต์ในอนาคต จึงเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ตลาดรถยนต์เริ่มดีขึ้นภายหลังปี 2552 แนวโน้มการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน และรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทน จะกลับมาโดดเด่นและเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยต่อไป โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันกลับมาฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกหลังปี 2552 ตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย

. . .



เผยราคาที่ดินสยามพารากอนแพงสุด ตารางวาละ 8 แสนบาท

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ของ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ได้วิเคราะห์ราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นราคาตลาดในปี 2551 พบว่า บริเวณสยามพารากอนนับว่ามีราคาแพงสุดตารางวาละ 800,000 บาท
สำหรับอันดับ 2 คือ บริเวณสีลม ตารางวาละ 700,000 บาท ซึ่งสาเหตุที่ที่ดินบริเวณสีลมราคาต่ำกว่าสยามพารากอน เพราะสีลมเป็นพื้นที่ที่เหมาะจะพัฒนาเป็นสำนักงานมากกว่าศูนย์การค้า ขณะที่ศูนย์การค้าให้ผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่า
อันดับที่ 3 คือ เยาวราช ตารางวาละ 650,000 บาท ลดลงจากปี 2539 ซึ่งเคยประเมินไว้ถึงตารางวาละ 750,000 บาท เพราะเยาวราชเป็นย่านการค้าเดิมที่ถดถอยลงในปัจจุบัน
อันดับ 4 มี 2 ทำเล คือ ถนนวิทยุ และถนนสาทร มีราคาตารางวาละ 600,000 บาทเช่นกัน อันดับถัดมาคือ สุขุมวิท แถวไทม์แสควร์ ตารางวาละ 500,000 บาท
ทั้งนี้ ในรอบปี 2551 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.5 และคาดว่าปี 2552 ราคาเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.5 จากสมมติฐานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ยังจะเติบโตประมาณร้อยละ 2.0




. . .




 

Create Date : 05 มกราคม 2552
3 comments
Last Update : 5 มกราคม 2552 19:48:04 น.
Counter : 1431 Pageviews.

 

 

โดย: loykratong 6 มกราคม 2552 14:35:10 น.  

 

. . .

เงินฝืดญี่ปุ่น … บทเรียนในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มต้องเผชิญกับภาวะที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงจนมีค่าติดลบในบางเดือนของปี 2552 หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ลดลงอย่างรวดเร็วมาที่ร้อยละ 0.4 ในเดือนธันวาคม 2551 (Year-on-Year) ต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 ปี และเทียบกับที่เคยขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคม 2551 อีกทั้ง จากสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินโลกในปัจจุบัน ที่นานาประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ต่างกำลังประสบชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรง และการชะลอตัวของแรงกดดันเงินเฟ้อจนอาจถึงขั้นเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ในขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังก็เป็นไปในเชิงที่ผ่อนคลายลงอย่างมากเพื่อรับมือกับความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุด อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ถูกปรับลดลงมาจนแตะหรือใกล้ระดับร้อยละ 0.00 ในขณะที่อีกหลายๆ ประเทศก็อาจจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การศึกษาถึงประสบการณ์ของญี่ปุ่นในอดีตที่เศรษฐกิจตกต่ำและเผชิญกับภาวะเงินฝืดเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษนับจากปี ค.ศ. 1990 ซึ่งแม้ว่าโครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็น่าที่จะเป็นประโยชน์ รวมถึงอาจจะสามารถนำบทเรียนในสมัยดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เพื่อวางแนวทางให้สามารถรอดพ้นจากวิกฤตในรอบนี้ไปได้โดยประเทศได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปข้อสังเกตในยุคที่ญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ถึง 2000 รวมถึงข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่ทางการของแต่ละประเทศพึงดำเนินการไว้ดังต่อไปนี้ :-

ข้อสังเกตจากประสบการณ์ทศวรรษเงินฝืดของญี่ปุ่นในอดีต

ธนาคารกลางญี่ปุ่นลังเลในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลาย โดยก่อนที่วัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นจะเริ่มขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสมัยนั้น (Discount Rate) อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 จากร้อยละ 2.50 มาที่ร้อยละ 6.00 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1990 เพื่อรับมือกับการปรับขึ้นของราคาสินทรัพย์ ทั้งราคาที่อยู่อาศัยและดัชนีราคาหุ้น และเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ต่อมา ถึงแม้ว่าฟองสบู่ของราคาที่อยู่อาศัยและราคาหุ้นจะได้แตกตัวลงในช่วงปลายทศวรรษ 1990 แต่บีโอเจก็ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว ซึ่งกว่าที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแรงและต่อเนื่องจะเกิดขึ้น ก็ล่วงเลยมาจนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1991 โดยวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยได้ดำเนินไปจนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลงสู่ร้อยละ 0.50 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1995 เพื่อประคับประคองภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบีโอเจจะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ดูเหมือนผ่อนปรนอย่างมากเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นก็ยังมีระดับที่ค่อนข้างสูงหากนำไปเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของจีดีพี ณ ราคาประจำปี (Nominal GDP) ในช่วง ค.ศ. 1991-2001 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.0 เท่านั้น รวมทั้งในบางปี Nominal GDP ก็หดตัวลงและมีระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกด้วย ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือเผชิญกับการตกต่ำลงของราคาสินค้าทั่วไปแล้ว

 การรับรู้ความเสียหายและเพิ่มทุนของสถาบันการเงินใช้เวลาในการสะสางนานเกินไป นับจากการร่วงลงของราคาที่อยู่อาศัยในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันของสินเชื่อที่สถาบันการเงินและความมั่งคั่งของภาคครัวเรือน นำมาสู่การเสื่อมถอยลงของคุณภาพหนี้ และปัญหาการขาดสภาพคล่องที่ลุกลามจากภาคสถาบันการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ในขณะที่ การรับรู้ความเสียหายและการดำเนินการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเนื่องจากทางการไม่ได้ใช้นโยบายเชิงรุกมากเท่าที่ควร ทำให้การเปิดเผยฐานะการเงินของสถาบันการเงินขาดความโปร่งใส โดยต้องรอจนกระทั่งถึงช่วงปี ค.ศ. 2001 ที่บีโอเจประกาศใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing policy) ซึ่งเน้นการดูแลเป้าหมายปริมาณเงินแทนเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย และเร่งให้สถาบันการเงินดำเนินการเพิ่มทุนโดยเร็ว ปัญหาภาคสถาบันการเงินจึงทยอยคลี่คลายลงตามลำดับหลังจากนั้น ทั้งนี้ การสะสางปัญหาที่เป็นไปด้วยความล่าช้านี้เองได้ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องประสบกับภาวะตกต่ำยาวนานถึงกว่าทศวรรษ

 การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เกิดประสิทธิผลเต็มที่เท่าที่คาดหวัง กอปรกับเศรษฐกิจยิ่งบอบช้ำมากขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราภาษีที่คิดจากฐานการบริโภคเร็วเกินไป ในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำลง แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะได้มีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมูลค่ารวมสูงถึงประมาณ 118.2 ล้านล้านเยนในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1992-1999 ซึ่งรวมถึงการปรับลดภาษีที่คิดจากฐานรายได้ลงเป็นการชั่วคราว แต่ประสิทธิผลของนโยบายการคลังกลับมีไม่มากเท่าที่คาดหวัง เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่ทุ่มลงไปในโครงการสาธารณะที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากนักและเน้นไปที่การสนับสนุนสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้มีส่วนมากนักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขณะที่สถาบันการเงินยังคงอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ

นอกจากนี้ ความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองโกเบในปี ค.ศ. 1995 กอปรกับภาวะเงินฝืด ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราภาษีที่คิดจากฐานการบริโภค (consumption tax) จากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5 ในเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1997 เพื่อชดเชยภาระทางการคลังของรัฐบาล ก็ยิ่งสร้างความบอบช้ำให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในขณะที่ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นและขาดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต การหลุดพ้นออกจากปัญหาดังกล่าวจึงใช้เวลาในการเยียวยานานกว่าทศวรรษจึงบรรลุผล

บทเรียนจากญี่ปุ่น ... ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่พึงปฏิบัติ

จากบทเรียนที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอดีต การรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ทางการควรจะมีแนวทางในการดำเนินการเชิงนโยบายตามข้อเสนอแนะดังนี้


 ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากความลังเลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของบีโอเจในอดีต เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะเงินฝืดเป็นเวลากว่าทศวรรษ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในกรณีที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ผู้กำหนดนโยบายของประเทศที่ตระหนักถึงสัญญาณดังกล่าว จึงควรที่จะเร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยเร็ว (pre-emptive) ก่อนที่ปัญหาจะขยายวงกว้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เพื่อรับมือกับวิกฤตในรอบนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงแรงและรวดเร็วตั้งแต่แรกเริ่มที่ปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ปะทุขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางชาติอื่นที่พากันทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนลงตามลำดับ ซึ่งวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดก็ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งล่าสุดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds แตะระดับร้อยละ 0.0-0.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา อีกทั้งเฟดยังระบุว่าพร้อมที่จะดำเนินการเพิ่มเติมต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯรอดพ้นจากภาวะถดถอยที่ลึกและยาวนานด้วย ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางชาติอื่นๆ ก็มีการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนมากขึ้นเช่นกัน รวมถึงมีการพร้อมใจกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างฉุกเฉินในเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมาด้วย

 ควรเร่งให้สถาบันการเงินรับรู้ความเสียหายและเพิ่มทุนให้เร็วที่สุด ความล่าช้าในการผลักดันให้สถาบันการเงินรับรู้ความเสียหายที่เกิดจากการด้อยค่าลงของมูลค่าสินทรัพย์และดำเนินการเพิ่มทุนเพื่อให้กลไกในภาคการเงินสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของประสบการณ์อันเลวร้ายของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ทางการควรที่จะสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการตั้งสำรองเพื่อรับรู้ความเสียหายตามสภาพความเป็นจริงเมื่อเกิดการเสื่อมถอยลงของมูลค่าสินทรัพย์และเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจอย่างทันท่วงที เพื่อจำกัดการลุกลามของปัญหา ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนในการดำเนินงานหรือเป็นภาระทางการคลังของภาครัฐก็ตาม เพราะเมื่อใดที่สถาบันการเงินอ่อนแอหรือสูญเสียความน่าเชื่อถือไป กลไกทางการเงิน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ จะไม่ทำงานหรือติดกับดัก ส่งผลกระทบลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจจริงให้เกิดภาวะสภาพคล่องตึงตัวหรือขาดสภาพคล่อง ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการ ต้นทุนในการเยียวยาปัญหาจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเมื่อเวลาผ่านไป

ทั้งนี้ ในวิกฤตรอบนี้ จะเห็นว่า สถาบันการเงินสหรัฐฯได้มีการรับรู้ส่วนสูญเสียของหนี้และเพิ่มทุนไปแล้วพอสมควร แต่ขณะนี้กลไกในตลาดการเงินก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เพราะความเสี่ยงด้านเครดิตยังคงมีอยู่ในระดับค่อนข้างสูง หลังจากที่ปัญหาได้ขยายขอบเขตไปถึงสินเชื่อหลากหลายประเภทไม่เพียงแต่สินเชื่อซับไพร์มและไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพียงในสหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่กลไกในตลาดการเงินจะฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ แต่ก็มีการประเมินกันว่าคงจะไม่ยาวนานเท่ากับประสบการณ์ของญี่ปุ่นในอดีต

 ควรเลือกกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายที่เหมาะสม จากบทเรียนของญี่ปุ่น การอัดฉีดเงินของภาครัฐลงไปสู่โครงการที่ไม่เกิดประสิทธิผล อาจไม่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นเร็วเท่าที่คาดหวัง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านการใช้นโยบายการคลังระหว่างนโยบายด้านภาษีและการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ คงจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านประสิทธิผลของนโยบาย รวมถึงภาระทางการคลัง โดยการลดภาษีอาจมีข้อดีคือ เป็นการลดภาระให้กับผู้เสียภาษีอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง ดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ และมีความโปร่งใส แต่มีข้อเสียคือ ประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่ประสบผลขาดทุนย่ำแย่อยู่แล้วอาจมีจำกัด ในขณะที่การใช้จ่ายมีข้อดีคือ การเข้าช่วยเหลือกลุ่มผู้เสียหายได้อย่างตรงจุด แต่มีข้อเสียคือ อาจมีความล่าช้าในการอนุมัติและดำเนินโครงการ และประเด็นด้านความโปร่งใส

ดังนั้น การเลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมซึ่งไม่กระทบกรอบวินัยทางการคลังในระยะยาว แม้อาจเป็นภาระทางการคลังในระยะสั้น แต่ประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีมากกว่า ย่อมเป็นทางเลือกที่มีความสมเหตุสมผลและควรเร่งดำเนินการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทางการของแต่ละประเทศก็ได้มีแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน อาทิ รัฐบาลสหรัฐฯใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกมูลค่า 1.68 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการคืนภาษีให้กับประชาชน และยังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงกลางเดือนมกราคม 2552 ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่กำลังจะถูกผลักดันออกมาโดยว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบารัค โอบามา ในขณะที่ รัฐบาลอังกฤษมีการใช้นโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนทางการจีนใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน ผ่านการใช้จ่ายตามโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น นอกจากการใช้จ่ายผ่านงบกลางปีจำนวน 1.0-1.8 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2552 แล้ว รัฐบาลยังมีแผนจะใช้มาตรการด้านภาษีสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ และการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบในระยะข้างหน้าด้วย

 ควรดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืด เพราะหากประสบกับภาวะเงินฝืด หรือการหดตัวลงของราคาสินค้าและการด้อยค่าลงของมูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ แล้ว ประชาชนจะขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต ในขณะที่ภาคธุรกิจก็จะประสบกับภาวะที่ย่ำแย่และขาดแรงจูงใจในการผลิตและขายสินค้า ซึ่งท้ายที่สุดย่อมนำมาสู่การหดตัวลงของภาวะเศรษฐกิจและต้องใช้เวลานานกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจยังมีแนวโน้มลดลงและมีค่าติดลบในบางเดือนของปี 2552 จึงนับเป็นความท้าทายของทางการไทยในการวางแนวทางเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจตกเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

 ไม่ควรปรับขึ้นภาษีหากเศรษฐกิจยังมีสัญญาณอ่อนแอ ในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน การรีบร้อนปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อชดเชยภาระทางการคลังที่ใช้ไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่อ่อนแอนั้น อาจส่งผลลดทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้กลับดิ่งตัวลงไปอีก ดังเช่นบทเรียนจากการปรับขึ้นภาษีที่คิดจากฐานการบริโภคของรัฐบาลญี่ปุ่นตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น ทางการควรตระหนักว่าการเยียวยาเศรษฐกิจที่ถดถอยลงนั้น เป็นเรื่องปกติที่ภาระหนี้ของประเทศย่อมมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ก็คงไม่น่าจะมีผลต่อเสถียรภาพของประเทศในระยะยาว

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การนำประสบการณ์ของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษของการตกต่ำลงทางเศรษฐกิจและการเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับทางการประเทศต่างๆ น่าที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในรอบนี้ ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ได้มีการดำเนินนโยบายทั้งการเงินและการคลังเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นนี้ไปแล้วในระดับหนึ่งโดยเลือกปรับใช้นโยบายตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจตน แต่จนกระทั่งขณะนี้ สถานการณ์ความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังมีอยู่ และตลาดการเงินโลกที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็เป็นที่คาดการณ์กันว่าคงจะต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าคงจะไม่นานเท่ากับระยะเวลาที่ญี่ปุ่นใช้ในการเยียวยาปัญหาในอดีต

สำหรับข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายจากบทเรียนในอดีตของญี่ปุ่นเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินได้ว่า องค์ประกอบของการฟื้นเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จนั้น น่าที่ประกอบด้วย การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็วและมากพอ เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นชัดเจน ในขณะเดียวกัน นโยบายการคลังที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐและการใช้นโยบายภาษี ก็เป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการด้วยความรอบคอบ แต่ก็ไม่ควรเร่งรีบปรับขึ้นอัตราภาษีหากเศรษฐกิจยังไม่พ้นขีดอันตราย เพียงเพื่อจะรักษากรอบวินัยทางการคลัง เพราะการดำเนินการดังกล่าวอาจยิ่งลดทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและทำให้เศรษฐกิจยิ่งบอบช้ำลงไปอีก

นอกจากนี้ ควรที่จะสนับสนุนให้สถาบันการเงินรับรู้ความเสียหายและเพิ่มทุนเร็วที่สุดเพื่อสะสางปัญหาการด้อยค่าลงของสินทรัพย์ และจำกัดขอบเขตของผลกระทบที่มีต่อภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงเพื่อรักษากลไกทางการเงินให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ และท้ายสุด ความเชื่อมั่นของประชาชนในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและไม่อาจละเลยได้ โดยทางการควรที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อระมัดระวังไม่ให้เศรษฐกิจเกิดภาวะเงินฝืด มิเช่นนั้นประชาชนและภาคธุรกิจจะขาดความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต และย่อมเป็นผลร้ายลงไปอีกต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การรับมือกับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น คงจะไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัวสำหรับทุกๆ ประเทศ และทุกๆ รอบของวิกฤต รวมทั้งคงจะไม่สามารถใช้องค์ประกอบใดเพียงองค์ประกอบหนึ่งโดยลำพังเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่การฟื้นเศรษฐกิจจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทางการของประเทศมีการดำเนินการผ่านองค์ประกอบต่างๆ ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งคงจะต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญด้วย

ในส่วนการดำเนินนโยบายของทางการไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รัฐบาลก็ได้มีการวางแนวทางรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มาถูกทางแล้ว เพราะมีทั้งมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อการเรียกฟื้นความเชื่อมั่น การต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน และการดูแลปัญหาราคาสินค้าพืชผลที่ตกต่ำลง ตลอดจนมาตรการระยะกลางและยาวเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ การปรับโครงสร้างระบบภาษี และการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์

อย่างไรก็ตาม กระบวนการของการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มีกรอบเวลาและต้องการความโปร่งใส เป็นอีกปัจจัยที่รัฐบาลควรต้องคำนึงถึงนอกเหนือจากประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของแต่ละมาตรการ นอกจากนี้ การพิจารณาปรับลดอัตราภาษีแบบถาวรอาจจะมีประสิทธิผลในการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนได้มากกว่าการลดภาษีแบบชั่วคราว โดยเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ ก็คือ การผ่านงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2552 เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 1.0 แสนล้านบาท การเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ และการออกมาตรการรองรับปัญหาการว่างงานที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มนายจ้างและลูกจ้าง

สำหรับในด้านนโยบายการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง คงจะเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีพื้นที่มากพอสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในระยะข้างหน้าเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังมีสูงในช่วงปีข้างหน้า ซึ่งคงจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้มีอย่างเพียงพอในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนการดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกตลาดและไม่เสียเปรียบในเชิงการแข่งขันสำหรับภาคการส่งออก

. . .

 

โดย: loykratong 6 มกราคม 2552 14:46:45 น.  

 

หวัดดีปีใหม่พี่ อยู่ดีมีแฮงเด้อ..

 

โดย: แม่มด (GreenWitch ) 6 มกราคม 2552 16:27:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.