Group Blog
 
All blogs
 
Flags of our Fathers ยุทธภูมินรกอิโวจิมา - เกียรติศักดิ์อันลือลั่นคือสามัญแห่งวินัย

JAMES BRADLEY with Ron Powers เขียน

ฉัตรนคร องคสิงห์ แปล

The # 1 New York Times Bestseller


นาวิกโยธินปักธงเหนือยอดซือริบาฉิ

"ภาพนั้น" ฉายแสงเจิดจ้าลงขับไล่ความรู้สึกเหนื่อยหน่าย เศร้าโศก เป็นทุกข์ กลัดกลุ้มกับสงคราม ออกจากใจชาวอเมริกันนับหมื่นๆ และได้กลายเป็นเครื่องรางศักดิ์ศิทธิ์อันรวมเอาความหวัง เรื่องลี้ลับ ความกล้าหาญ และประวัติศาสตร์แห่งชาติไว้ในที่แห่งเดียว

และเพราะเป็นเช่นนั้น ชาวอเมริกัน พร้อมใจกันมองข้ามความจริงของผืนธง

ใช่ละ ... ภาพนั้นสวย สง่างาม ให้กำลังใจและเต็มไปด้วยความรู้สึก

เป็นภาพที่ได้รับการอัดซ้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์

กลายเป็นอนุสาวรีย์บรอนซ์ที่สูงใหญ่ตระหง่านง้ำที่สุดของโลก

กระนั้นก็ยังเป็นที่เข้าใจผิด ...

เข้าใจผิดกันอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ต้น!


ภาพการยกพลขึ้นบกของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เกาะอิโวจิมา

 (ด้านหลังคือยอดเขาซือริบาฉิ)    ที่มา – iwojima.com


Stephen Ambrose ผู้เขียน Band of Brothers

นี่คือหนังสือสงครามเล่มดีที่สุดที่ผมเคยอ่าน เรื่องราวทั้งหมดของหนุ่มทั้งหก นับแต่วันถูกเรียกเข้าประจำการ ผ่านการฝึกบ้าเลือด กระทั่งฝ่าพายุกระสุนยกพลขึ้นบก จนถึงวัน "ปักธง" ลงเหนือดินแดนอิโวจิมานั้น "สุดๆ"

The New York Times

บอกได้เลยว่าอ่านเรื่องที่บรรจุอยู่ในนี้แล้วยากจะลืม ตัวหนังสือที่ลุกขึ้นยกพลแทนเหล่าทหารช่างทรงพลัง เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่น่าสะเทือนใจ เรื่องนี้ใกล้เคียงกับ Saving Private Ryan ในแง่ของความน่าตระหนก รวมทั้งความเป็น "ประวัติศาสตร์" ที่ยังอยู่ใกล้ตัวเราเหลือเกิน

USA Today

หนังสือหลายพันเล่มเอ่ยถึงการยกพลขึ้นบกของทหารอเมริกันสู่ฐานที่มั่นสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในครั้งนั้น แต่ "ยุทธภูมินรกอิโวจิมา" ให้ภาพครบสมบูรณ์ของทั้งสมรภูมิโชกเลือก และ "ตัวตนที่แท้จริง" ของคอหนังอเมริกันชุด "ผู้ปักธง"

Chicago Sun-Times

"ยุทธภูมินรกอิโวจิมา" คืนชีวิตและเลือดเนื้อแก่ผู้ปักธงทั้งหก ทำให้เราได้รู้จักคอหนังหนุ่มที่เดินลงจากอนุสาวรีย์ไร้นาม เพื่อมาเล่าเรื่องจริงเกี่ยวกับสงครามสุดโหดครั้งนั้น

Library Journal

วิธีการเล่าอย่างตรงไปตรงมาหากน่าเร้าใจและให้ภาพอันเต็มไปด้วยลมหายใจ ทำให้ "ยุทธภูมินรกอิโวจิมา" ของเจมส์ แบรดลีย์ เต็มไปด้วยพลังแห่งความห้าวหาญ ความถ่อมตัว และเรื่องสะเทือนใจ นี่คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมด้วยอรรถรส

Milwaukee Journal Sentinel

หนังสือเล่มนี้ "ไม่ธรรมดา" เพราะบอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดาๆ ที่มีพฤติกรรมเยี่ยงวีรบุรุษท่ามกลางสถานการณ์โหดสยองของสงคราม

The Boston Globe

ตัวอักษรทรงพลังที่บอกเล่าถึงพฤติกรรมหาญกล้าท้าความตายในหนังสือนี้ จะไม่ทำให้ผู้อ่านคนไหนลืม "ยุทธภูมินรกอิโวจิมา" ลงได้ง่ายๆ ทั้งข้อเท็จจริงและลีลาการเล่าเรื่องเป็นไปอย่างสอดผสานกลมกลืน

National Reveiw

หัวใจต้องถอนสะอื้นเมื่อโลกได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของ "วีรบุรุษทั้งหก" ของชาวอเมริกัน "ยุทธภูมินกอิโวจิมา" ทำให้ภาพอันโด่งดังภาพนั้นฟื้นคืนชีวิต เฉกที่ผู้เป็น "พ่อ" ยังคง "อยู่" ในหัวหัวใจของลูกชายซึ่งเป็นผู้ประพันธ์

สำนักพิมพ์มติชน

นี่คือยุทธภูมิที่ถึงเลือดถึงเนื้อที่สุดแห่งหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารหนึ่งแสนคนฟาดฟันกันชนิดตาต่อตาฟันต่อฟันนานหนึ่งเดือน หนุ่ม ๆ อเมริกัน 80,000 นาย รุกไล่อยู่ด้านบน ส่วนหนุ่มญี่ปุ่นอีก 20,000 รับมืออยู่ด้านล่าง ภายในอุโมงค์ซึ่งขุดเจาะทะลุถึงกันไปทั่วเกาะ นาวิกโยธินสหรัฐหลายต่อหลายนาย ไม่เคยเห็นหน้าทหารญี่ปุ่นตอนยังเป็น ๆ บนเกาะอิโวจิมาเลยด้วยซ้ำ ต่อสู้กันฆ่าฟันกันทั้ง ๆ ไม่เคยเห็นหน้า เสี้ยวหนึ่งของสงครามบนเกาะนั้น ทหารหนุ่ม 6 คน ขึ้นปักธงบนยอดเขาซือริบาฉิบนเกาะอิโวจิมา และต่อมาปรากฏเป็นภาพประวัติศาสตร์อเมริกา ประวัติศาสตร์โลก

แต่ขณะเดียวกันมันได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของความจริงบางด้าน จนเป็นที่มาของการตามรอยวีรบุรุษ

เด็กหนุ่ม 6 คน ที่มอบภาพประวัติศาสตร์แก่อเมริกาในปี 1945 กรรมกรหนุ่มจากนิวอิงแลนด์ เกษตรกรยาสูบจากเคนตั๊กกี้ ลูกชายคนทำเหมืองจากเพนซิลวาเนีย หนุ่มจากทุ่งน้ำมันเท็กซัส หนุ่มจากทุ่งวัวนมแห่งวิสคอนซิน และอินเดียนแดงจากอริโซน่า

3 คน เท่านั้นที่รอดชีวิต โดยอีก 2 คน สามารถเดินออกจากเกาะแห่งนี้ ในขณะที่อีกคนถูกหามออกไปพร้อมเศษกระสุนปืนใหญ่ที่ผังอยู่แน่นตามสีข้าง

ที่เหลืออีก 3 คน ไม่มีโอกาสกลับบ้าน

เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากการตามรอยวีรบุรุษครั้งนั้น เจมส์ แบรดลีย์ ผู้เขียน ซึ่งเป็นลูกชายคนหนึ่งของ ด็อค แบรดลีย์ หนึ่งในวีรบุรุษ "ผู้ปักธง" จากยุทธภูมิอิโวจิมา เขาเป็นวีรบุรุษคนสุดท้าย แต่กลับเป็นคนที่ไม่เคยปริปากเรื่องการปักธงกับใครเลย แม้กระทั่งคนในครอบครัว

หนังสือเล่มนี้กำลังเผยผลพวงจากบาดแผลสงครามจากก้นของจิตใจผู้ถูกเรียกว่าวีรบุรุษ

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันได้ดูหนังเรื่อง Flags of our Fathers ถ้าเพียงแต่หนังยังดีอย่างน่าจดจำ (ดู Awards ได้ที่  IMDB) ที่ไม่ใช่เพราะฉากแอคชั่นสู้รบ แต่เป็น "เนื้อหา" และ "ความรู้สึก" น่าสะเทือนใจกับความจริงที่อยู่เบื้องหลังภาพประวัติศาสตร์นี้ ตามประสาคนย้ำคิดย้ำทำที่เชื่อว่าหนังไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่่อยู่ในหนังสือได้ทั้งหมด ไม่ว่ารายละเอียดเหตุการณ์ หรือความรู้สึกนึกคิด ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยุทธภูมินรกอิโวจิมา จึงต้องหามาอ่าน

ใช่เลยล่ะ มันคือ ยุทธภูมิ "นรก" ของแท้

...นี่จะเป็นการฆ่าฟันชนิดเอาเลือดล้างเกาะ เป็นการรบอันปราศจากแนวหน้าและแนวหลัง มีแต่ผู้บุกรุกที่ลุยเข้ามาในที่โล่ง ส่วนผู้ตั้งรับก็แอบอยู่ตามป้อม หลุมหลบภัย หรือ "บ้านใต้ดิน" ฝ่ายญี่ปุ่นย่องเงียบรุกคืบเข้าหาในยามดึก หินทุกก้อน หล่มทุกหล่ม แนวกั้นทุกแนวอาจมีศัตรูซุกซ่อนอยู่พร้อมระเบิดติดตัวอย่างพร้อมยอมสละชีพ ส่วนเหล่าคอหนังที่ใจหาญที่ผ่านการฝึกก็รุกคืบไปข้างหน้าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร แต่ละหลาที่ได้มาแลกด้วยเลือดและเนื้อสดๆ ที่ขาดรุ่งริ่งของหนุ่มอเมริกัน...

...ตัวเลขของกองพันที่ 2 ของพันเอกจอห์นสัน

ทหารยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์ (19 กุมภาพันธ์ 1945) 1,400 นาย

กำลังสับเปลี่ยนระหว่างการบ 288 นาย (รวมเป็น 1,688 นาย)

เสยชีวิตระหว่างรบหรือได้รับบาดเจ็บ 1,511 นาย

มีเพียง 177 นาย ได้กลับออกจากอิโวจิมา

...ในจำนวน 1,364 วัน นับจากวันเกิดเหตุที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ จนถึงวันที่ทหารญี่ปุ่นคนสุดท้ายยอมวางอาวุธ มีทหารอเมริกันนับล้านๆ ต่อสู้ในสมรภูมิต่างๆ ทั่วโลก แต่มีเพียง 353 นายที่ได้รับ "เหรียญกล้าหาญ" อันเป็นอิสริยาภรณ์สูงสุดของประเทศ ในจำนวนี้ 84 เหรียญ เป็นของเหล่านาวิกโยธิน แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นก็คือ เหล่านาวิกโยธินได้รับเหรียญ 27 เหรียญจากปฏิบัติการเพียงหนึ่งเดือนบนเกาะอิโวจิมา นั่นเป็นสถิติที่ยังไม่เคยมีทหารจากสมรภูมิที่อเมริกาเข้าร่วมรบสมรภูมิไหนทำลายได้...

"ใครอยู่ที่นั่นแล้วไม่โดนกระสุน ก็เหมือนอยู่กลางห่าฝนแล้วพยายามไม่ให้เปียกนั่นแหละ"

หมายเหตุ : ไม่ว่าทหารกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือหน่วยนาวิกโยธิน  สำหรับคอหนังแล้ว พวกเขาต่างเป็น "นาวิกโยธิน" ดังนั้น  บ่อยครั้งที่นาวิกโยธินในหนังสือเรื่องนี้ถูกเรียกว่า "คอหนัง"

Flags of our Fathers อ่านแล้วเร้าอารมณ์สุดอินไปกับเรื่องราว เข้าใจว่าสิ่งกระตุ้นหนึ่งนั้นคือการได้มีโอกาสดูหนังก่อนการอ่านหนังสือ ภาพสงครามสุดโหดบนเกาะอิโวจิมา ปากกระบอกปืนที่โผล่ขึ้นมาจากปากอุโมงค์ใต้ดินอย่างเงียบเชียบนั้นยังชัดเจนติดตา การวางแผนอย่างหลักแหลมของฝ่ายญี่ปุ่นที่รอสังหารหมู่ทหารอเมริกันอย่างเยือกเย็น .. เหมือนต้องต่อสู้กับภูติผี บนเกาะกำมะถันอันว่างเปล่า ไร้เงาทหารญี่ปุ่นให้เห็น  

นี่คือเรื่องราวของ"  "ผู้ปักธง" กับภาพประวัติศาสตร์อันลือลั่น ที่ทำให้ทหารหนุ่มทั้ง 6 คน กลายเป็นวีรบุรุษในสมรภูมิอิโวจิมา และ 3 คน ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ของการเป็น "วีรบุรุษ" ของชาติ โดยที่ในหัวใจของพวกเขา "ปฏิเสธ" คำนั้น

คนส่วนใหญ่เรียกเราว่า "วีรบุรุษ" แต่ความจริงแล้วไม่ใช่

เราไม่ใช่วีรบุรุษอย่างแน่นอน

มันมีเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น และรอคอยให้คุณค้นหาคำตอบ (ถ้าสนใจ) 

เป็นคนที่ชอบเรื่องสงคราม แต่ไม่เคยสนใจจะมองหาเรื่องราวของวีรบุรุษสงครามระดับนายพล หรือผู้นำระดับโลก ที่จะต้องมองในภาพรวมของนโยบาย วางแผนกลยุทธิ์ระดับกองทัพของประเทศเพื่อเอาชนะศัตรูของชาติ เพราะมันก็มีเรื่องของมุมองต่อสงครามและอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง  สงครามที่คลาสสิคของเรา คือ การออกรบของชีวิตทหารเล็กๆ โนเนม  ที่หลั่งเลือดนองสมรภูมิ บาดเจ็บ พิการ ล้มตายอย่างไร้การจดจำยกย่อง  ทหารที่เป็นคนธรรมดามีคนที่รักที่รออยู่ข้างหลัง มีความรักตัวกลัวตาย แต่ก็ต้องทำหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทำตามจิตสำนึกที่ดีของการเป็นผู้ปกป้อง ทำอย่างที่คนอื่นออกไปทำ ไม่ได้ทำเพราะต้องการแสวงหาความเป็นวีรบุรุษหรือเกียรติยศชื่อเสียง 

แค่..สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องทำ มันเป็นเรื่องสามัญธรรมดาแค่นั้นเอง  

ทว่าการปักธงลงเหนือสมรภูมิก่อให้เกิด "ภาพนั้น"  ที่มาพร้อมกับน้ำหนักของ มงกุฏเกียรติยศ "วีรบุรุษ" ที่่ยิ่งตอกย้ำบาดแผลความเจ็บปวดจากสงคราม  นานเท่านานกว่าที่พวกเขาจะข้ามผ่านเส้นกั้นพรมแดนแห่งความเป็นปถุชน มาเป็น "ตัวแทนแห่งอุดมคติ"  ที่ประกาศให้โลกรู้ถึงความภาคภูมิ ณ อิโวจิมา และต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ชั่วกาลนานของประเทศ

คือ ชัยชนะที่ได้มาจากเลือดเนื้อของทหารกล้าทุกคน

ไป .. อย่างที่ได้รับการฝึกมา

ไป.. เพราะความกล้าหาญอยู่เหนือหวาดสยอง

ไป.. ทั้งที่หวาดกลัวจนตัวสั่นงันงกแต่ยังยึดมั่นในระเบียบวินัย

ไป..เพราะท่าทีของรุ่นพี่ที่เคยผ่านสมรภูมิทำให้พวกเขาคลายใจ

ความโหดเหี้ยมของสมรภูมิอิโวจิมา  ใช่แต่จะแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและเสียสละของทหารอเมริกันเท่านั้น แต่รวมถึงทหารญี่ปุ่นที่พร้อมยอมสละชีพเพื่อชาติเป็นราชพลี เกียรติภูมิแห่งชายชาติทหารที่ไม่มีคำว่ายอมแพ้ แต่จะต่อสู้เพื่อปกป้องชาติจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

"ต้องตายแล้วเท่านั้น จึงจะนับว่าเป็นวีรบุรุษ"

"ห้ามทหารคนใดตาย จนกว่าจะได้ฆ่าอเมริกันอย่างน้อย 10 คน"

"เราจะเข้ารังควานศัตรูด้วยยุทธวิธีแบบกองโจรจนกว่าชีวิตสุดท้ายจะสูญสิ้น"

"อิโวจิม่าคือแนวหน้าของญี่ปุ่น ข้าพเจ้าขอสละชีวิตที่นี่"

....

"พ่อครับ โลกเรากำลังมีสงคราม คนหนุ่มๆ ต่างก็รบอยู่ในสงครามนั่น และพวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากผม"

"แด่ 'เพื่อน' ที่มีแต่เกื้อกูลให้แก่ชีวิตผม คนเดียวที่พร้อมจะฟังทุกข์สุขทุกอย่าง ต่อให้ผมตามหาไปจนสุดโลก ก็จะไม่มีวันพบใครเสมอเหมือน แม่ของผมเอง .. รักแม่สุดหัวใจ"

"ไม่ต้องห่วงนะครับแม่ ..ผมต้องได้กลับบ้านแน่นอน"

----

แต่ด้วยเหตุแห่งความกล้าหาญ  วีรบุรุษมากมาย ไม่ได้กลับบ้าน

นี่คือหนึ่งในหนังสือสงครามที่อยากแนะนำ

---

 และก็ตามธรรมเนียมที่ต้องมีพาดพิงถึงหนังกันสักเล็กน้อย

จอห์น แบรดลีย์ หรือที่เพื่อนทหารเรียกเขาว่า ด็อค แบรดลีย์  เขาคือ เสนารักษ์ผู้อุตสาหะทุ่มเทแบบไม่ห่วงชีวิตตัวเอง   ตอนดูหนังสงสัยว่าทำไมไม่มีเครื่องหมายกากบาทสีแดงบนท่อนแขนอันเป็นสัญลักษณ์ของเสนารักษ์  เพิ่งมีคำตอบจากหนังสือ (เห็นมั้ยล่ะว่าบางอย่างหนังตอบไม่ได้)  ทหารญี่ปุ่นมีกติกาที่แตกต่างจากทหารในสมรภูมิยุโรป  ในซีรีย์ Band of Brothers  มีอยู่ฉากหนึ่งที่ทหารเยอรมันไม่ยิงทหารอเมริกันเพราะเข้าใจผิดคิดว่าร่างที่ก้มๆ เงยๆ อยู่กับศพทหารคือเสนารักษ์  เข้าใจว่าทหารในสมรภูมิยุโรปไม่ยิงเสนารักษ์เพราะพวกเขาเปรียบเสมือนแพทย์ (จริยธรรมในสนามรบมั้งนะ) แต่ทหารญี่ปุ่นจะมีกฏพิเศษสำหรับเสนารักษ์ คือต้องสังหารพวกเขา (ตายก่อนเลยได้ยิ่งดี) โดยขั้นแรกจะต้องยิงให้เพียงบาดเจ็บ  เพราะเสนารักษ์มีความสำคัญต่อชีวิตและเป็นขวัญกำลังใจของเพื่อนทหาร  หากเสนารักษ์ล้มลง  เพื่อนทหารจะต้องรีบกรูเข้ามาช่วย แล้วค่อยสังหารรวมทีเดียว (โหดจัง)    นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสมรภูมินี้ไม่มีเครื่องหมายเสนารักษ์

ความแตกต่างอีกประการคือ ทหารอเมริกันต่างหวังจะรอดชีวิตกลับบ้าน แต่ทหารญี่ปุ่นทุกคนมีสูตรสำเร็จตายตัวฝังหัว  พวกเขาต้องพร้อมพลีชีพในสนามรบ  หากถูกปิดล้อมทหารเยอรมันจะยอมแพ้ ทหารญี่ปุ่นจะลุยต่อ หากได้รับบาดเจ็บทหารอังกฤษจะยอมถูกจับเป็นเชลย แต่ทหารญี่ปุ่นจะคอยจนกว่าผู้เข้าจับกุมจะเข้ามาใกล้ จากนั้นระเบิดซะให้แหลกไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย คำพูดที่ว่า  "ผมอยากรบกับพวกนาซีมากกว่าทหารญี่ปุ่น" นั่นจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ 

จำเขาได้ไหม Barry Pepper  พลแม่นปืน (สไนเปอร์) จาก Saving Private Ryan  เรื่องนี้เขารับบท สิบเอกไมค์ สแตรงค์   หรือ จ่าไมค์ ผู้มีฉายาว่า "ไมค์ ผู้พิทักษ์"  "สุดยอดนาวิกโยธิน"   พร้อมคำบอกเล่าจากอดีตเพื่อนร่วมหมวด " เป็นคนดีที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จัก"   "ดีที่สุด เท่าที่ คน จะดีได้  "  " นี่แหละแบบฉบับของนาวิกโยธินที่เขาเอาไปเขียนในหนังสือ แบบที่เอาไปสร้างหนัง  แบบไมค์นี่แหละ"   คือความเป็น "ผู้นำ" กับ "ความรัก" ที่แท้จริง ที่ทำให้เพื่อนนาวิกโยธินยังคงจดจำเขาได้แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 50 ปี

คิดว่าเห็น  พอล วอล์คเกอร์  แต่ไม่ค่อยแน่ใจ  เพราะขมุกขมอมซะขนาดนั้น  แต่ตรวจสอบรายชื่อแล้ว ใช่เขาจริงๆ  พอล วอร์คเกอร์ ร่วมแสดงอยู่ในหนังเรื่องนี้  รับบท แฮงค์ แฮนเซน หนึ่งในผู้ปักธงผืนแรก

ไอรา เฮย์ส  หนุ่มอินเดียนเผ่าพีม่าจากรัฐอริโซน่า

เรนี แก็กนอน  หนึ่งใน "ผู้ปักธง"

ชื่อหนัง ภาษาไทย  ตั้งได้โดนใจจริงๆ  "ยุทธภูมิศักดิ์ศรี ปฐพีวีรบุรุษ"   ความสำคัญของเกาะอิโวจิมา ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นยุทธภูมิศักดิ์สิทธิ์  ความหาญกล้าของทหารทั้งสองฝ่าย ญี่ปุ่น-อเมริกัน ฝ่ายตั้งรับที่ไม่ยอมแพ้  และฝ่ายรุกที่ไม่ยอมถอย  ดุเดือดเลือดล้างเกาะ  เมื่ออ่านหนังสือแล้วจึงคิดว่า ปฐพีวีรบุรุษ ไม่ได้หมายถึงแค่ฝ่ายอเมริกา และไม่ได้แทนค่าด้วยการปักธง






Create Date : 16 มิถุนายน 2557
Last Update : 19 มิถุนายน 2557 1:29:14 น. 6 comments
Counter : 8913 Pageviews.

 


ดูเรื่องนั้นแล้ว ต้องตามด้วยเรื่องนี้ Letter from Iwo Jima เรื่องราวจากมุมของผู้พ่ายแพ้-ฝ่ายญี่ปุ่นบ้าง เป็นผลงานของผู้กำกับคนเดียวกัน Clint Eastwood ซึ่งได้เกิดไอเดียที่จะถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในตอนที่ยังถ่ายทำ Flags of our fathers แต่ "จดหมายจากอิโวจิมา" หรือ "ยุทธภูมิสู้แค่ตาย" ใช้นักเขียนบทภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น นักแสดงชาวญี่ปุ่น และใช้ภาษาญี่ปุ่นในการถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง ทราบว่าเป็นหนังมีหน้ามีตาที่ประสบความสำเร็จกว่า Flags of our fathers เสียอีก แต่ส่วนตัวชอบเรื่องธงมากกว่าค่ะ เพราะว่าคิดว่ามันเป็นชัยชนะที่แฝงรอยอัปยศ มันลดทอนความเป็นฮีโร่โอเว่อร์ของอเมริกา ผิดแผกไปจากหนังเชิดชูวีรกรรมสงครามอื่นๆ .. ก็เลยชอบมากกว่า

ส่วนที่ปลื้มเป็นพิเศษกับ Letter from Iwo Jiwa คือ "นิโนมิยะ คาซึนาริ" ได้เล่นเป็นตัวละครเด่นในหนังดีๆ อย่างนี้ (ถูกใจแม่ยกจริงๆ)


โดย: prysang วันที่: 17 มิถุนายน 2557 เวลา:15:23:53 น.  

 
น่าสนใจมากค่ะ เป็นคนนึงที่ดูหนังแนวนี้ได้ ชอบด้วย แต่ไม่ค่อยเชื่อในวีรกรรมของวีรชนเหล่านี้สักเท่าไหร่ เหมือนเราได้รู้ในมุมมองของฝั่งอเมริกันฝ่ายเดียว เรื่องนี้เก๋มากที่เอามาเล่าในมุมมองของอีกฝ่าย

จดๆทั้งชื่อหนัง และหนังสือค่ะ


โดย: kunaom วันที่: 18 มิถุนายน 2557 เวลา:11:59:14 น.  

 
@ คุณ kunaom คะ...ดีใจ มีคนเมนท์ให้ด้วย หาคนสนใจยากนะคะ แนว สารคดีสงครามแบบนี้ เป็นธรรมดาว่าเรื่องเล่าจากฝั่งใครก็มองจากฝั่งนั้น เหมือนที่พม่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตคู่ประวัติศาสตร์ชาติไทย เราอาจไม่เชื่อเรื่องเล่าประชาสัมพันธ์ของอเมริกันซะทั้งทั้งหมด เรื่อง Flags of our Fathers นับเป็นตัวอย่างได้อย่างดีเลย กับ "ความจริง" เบื้องหลังการโปรโมท "ภาพประวัติศาตร์" ซึ่งเป็นเหตุผลให้เราชอบหนังสือเล่มนี้ แต่เพราะเป็นคนชอบดูหนังฮีโร่ โดยเฉพาะฮีโร่ทหาร จึงไม่รังเกียจ ที่อเมริกันจะทำหนังแนวนี้ให้ดู


โดย: prysang วันที่: 18 มิถุนายน 2557 เวลา:19:10:31 น.  

 
ปกติเราเป็นคนที่ขยาด หนังสือ และภาพยนต์ ที่เกี่ยวกับสงคราม ... คือเสพแล้วมันหดหู่น่ะคะ

แต่

อ่านรีวิวแล้ว....อยากอ่านจัง ทั้งสองเวอร์ชั่นเลย


โดย: Serverlus วันที่: 18 มิถุนายน 2557 เวลา:21:35:36 น.  

 
เป็นหนังที่ผมดูไม่จบ แล้วก็ดูไม่รู้เรื่องเลยครับ


โดย: คนขับช้า IP: 1.47.1.201 วันที่: 30 มิถุนายน 2557 เวลา:22:32:08 น.  

 
letters from iwojima มันมี feeling ของคนญี่ปุ่นแบบแนวคิดตะวันตกอยู่เยอะ แต่เราชอบนะ like like


โดย: ประวัติศาสตร์คือรากฐานของปัจจุบัน IP: 27.55.136.141 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2557 เวลา:23:49:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.