ศักยภาพ..ความสามารถที่รอการกระตุ้นและพัฒนา
บทความของผมนี้ ผมได้รับเกียรติจากทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้นำไปลงในจดหมายข่าว "ใบมะกอก" ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๕๒ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้อ่านในอีกหนึ่งแง่มุม เลยนำมาฝากกัน - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - ศักยภาพ ความสามารถที่รอการกระตุ้นและพัฒนา
เมื่อวันที่ 9 – 10 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาศักยภาพหัวหน้างานและผู้ชำนาญการของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บริหารคณะวิชาด้วยมีความคิดที่ว่าการพัฒนาองค์กรจำเป็นต้องพัฒนาคนและเห็นควรต้องพัฒนาคนในระดับหัวหน้าหรือผู้นำเพื่อให้มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งในด้านความเข้าในคนและงานเพื่อนำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์
ศักยภาพ คือ ภาวะแฝง, อํานาจหรือ คุณสมบัติที่มีแฝงอยู่ในสิ่งต่าง ๆ อาจทําให้พัฒนาหรือให้ปรากฏ เป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ) ซึ่งเมื่อทราบความหมายของศักยภาพแล้วนั้นก็เชื่อได้ว่าคนทุกคนล้วนมีศักยภาพด้วยกันทั้งสิ้น แต่การที่จะทำให้บุคคลใดใดแสดงออกในด้านพฤติกรรมและความคิดที่ถูกต้องพึงประสงค์จนเป็นศักยบุคคลนั้น คงมาจากปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่หลากหลายเพื่อการกระตุ้นให้บุคคลนั้นๆ แสดงความสามารถออกมาเป็นที่ประจักษ์และยอมรับของสังคมและการกระตุ้นดังกล่าวต้องเป็นไปตามธรรมชาติโดยปราศจากการบังคับหรือตีขอบเขตอาจแตกต่างไปตามบุคคลและสภาพแวดล้อมซึ่งผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาควรเข้าใจและตระหนักรู้ เพื่อพร้อมที่จะยอมรับความแตกต่างและสนับสนุนชี้นำหรือเป็นแบบอย่างที่ดี
กว่า 25 ปี ของการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนของผมนั้นได้ถูกจัดวางให้รับผิดชอบในฐานะหัวหน้างานทุกที่ ซึ่งในแต่ละองค์กรก็มีการบริหารจัดการและเครื่องมือสำหรับการดำเนินการนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง เอกชน ในยุคเมื่อยี่สิบปีก่อนจะเน้นในการกำกับควบคุมคนให้ปฏิบัติงานโดยเอาตัวงาน และเงินเป็นรางวัลจูงใจ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นพอ ส่วนราชการนั้นจะให้ความสำคัญกับระเบียบและขั้นตอนจนเป็นที่มาของคำว่า เต่าล้านปี ในวงเสวนาของคนในแวดวงของคนทำงานเอกชน
ปัจจุบัน นี้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญกับคน โดยมีแนวความคิดที่ว่า งานที่มีคุณภาพมาจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพภายใต้ศักยภาพของคน การกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย ด้วยความสุข กล่าวคือ ได้ทั้งคนและงาน
เมื่อศักยภาพถูกกระตุ้นและพัฒนาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง บุคคลนั้นๆ ก็จะเต็มไปด้วยความเข้าใจในการกิจที่ตนมีส่วนในการรับผิดชอบ และสานต่อถ่ายทอดเพื่อให้บุคคลรอบข้างเข้าใจในบริบทของตนและองค์กร เพื่อนำพาไปสู่การสร้างเครือข่ายแห่งการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพต่อไป
Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2553 |
Last Update : 29 มีนาคม 2553 19:20:08 น. |
|
16 comments
|
Counter : 1280 Pageviews. |
 |
|
|