กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
เมษายน 2564
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
space
space
8 เมษายน 2564
space
space
space

แยก สมมุติ กับ สภาวะให้ชัด



       สมมุติ, สมมติ   การรู้ร่วมกัน, การตกลงกัน,  การมีมติร่วมกัน หรือ ยอมรับร่วมกัน;  การที่สงฆ์ประชุมกันตกลงมอบหมายหรือแต่งตั้งภิกษุให้ทำกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่ในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง   เช่น  สมมติภิกษุเป็นผู้ให้โอวาทภิกษุณี  สมมติภิกษุเป็นภัตตุตเทศน์ เป็นต้น    ในภาษาไทย ใช้ในความหมายว่า  ตกลงกันว่า ต่างว่า

       บัญญัติ    การตั้งขึ้น,  ข้อที่ตั้งขึ้น,  การกำหนดเรียก,  การเรียกชื่อ,  การวางเป็นกฎไว้, ข้อบังคับ

       “มุติ”  ในสมมุติ  (เขียน “มติ” เป็นสมมติ ก็ได้)  แปลว่า  ความรู้  เมื่อใส่  “สํ => สม” เข้าข้างหน้า  เป็นสมมุติ  หรือ สมมติ  (คัมภีร์บาลีของไทย นิยมเขียน สมฺมติ  แต่ของพม่านิยมใช้  สมฺมุติ ก็แปลว่า  รู้ร่วมกัน  ยอมรับ หรือตกลงกัน  คือรู้กัน  ตกลงกันว่า อันนั้นอันนี้  คนนั้นคนนี้  เรียกชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้  จนกระทั่งว่า  สภาวะ นี้ เรียกว่า จิต ธรรมนี้ เรียกว่า ฌาน ตลอดจนในเชิงสังคม หรือในการอยู่ร่วมกัน  เราจะทำเรื่องนี้กันอย่างนี้ๆ ให้ของ  ให้คน ให้หมู่ชนนั้นๆ  ได้ชื่อ  ได้สถานะเป็นอย่างนี้ๆ  เป็นต้น
      
       เมื่อสมมุติ  คือรู้กัน หรือตกลงกันว่าอย่างไรแล้ว  ก็บัญญัติจัดตั้งวางตราลงไปอย่างนั้น   ไปๆมาๆ  สองคำนี้  คือ สมมุติ  และบัญญัติ เลยบางทีกลายเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ ใช้คู่เคียงกันไป หรือปนๆกันไป   (แต่ที่จริง สมมุติเน้นด้านความหมายเชิงสังคม)
 
      การที่เราสื่อสารกันได้   และพูดกันรู้เรื่อง  มีเครื่องกำหนดหมายในการคิด  พูด  และทำการต่างๆ ก็เพราะสมมุตินี่แหละ
 
      สมมุตินั้น  มันไม่ใช่ของจริงอยู่แล้ว   คือ  คนตกลงกันเรียกขาน  หรือ ให้เป็นอย่างนั้นขึ้นมา จะสมมุติบนสิ่งที่มีจริงก็ได้  บนสิ่งที่ไม่มีจริงก็ได้  แต่เมื่อสมมุติแล้ว  คนส่วนใหญ่ก็ไปติดอยู่ที่สมมุตินั้นเสีย หลงเอาสมมติเป็นตัวของจริงไป  เลยอยู่กันแค่สมมุติ  แล้วก็คิดปรุงแต่งไปบนฐานแห่งสมมติ   เลยวิจิตรพิสดารไปกันใหญ่   ลืมมองของจริงที่เหมือนกับว่าอยู่ข้างหลังสมมุตินั้น
 
      พูดสำนวนอุปมาว่า  เอาสมมุติมาบังตาตัวเอง  หรือหลงสมมุติไป  ทั้งที่ของจริงมันก็อยู่ของมันอย่างนั้น

   393 พูดให้ง่ายๆสะดวกๆว่า  สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ก็แค่รูปธรรมและนามธรรม  แล้วบนรูปธรรมและนามธรรมนั้นๆ  เช่น  ที่ประกอบกันเข้าเป็นสัดส่วนในลักษณะอาการที่มีความเป็นไปอย่างนี้ๆ  เราก็สมมุติเรียกว่าเป็น “สัตว์”  เป็น “คน” เป็น  “บุคคล”  เป็น  “ตัว”  “ตน”  หรือ “ตัวตน”  (อัตตา, อาตุมา, อาตมา)     เป็น  “เรา”  เป็น “เขา”  เป็น “ท่าน”   ฯลฯ
 
      “สัตว์”  “บุคคล”  “ตัวตน”  “เราเขา”  เป็นต้น  ที่สมมุติขึ้นมานี้ ไม่มีจริง เมื่อเอาชื่อหรือคำเรียกออกไป หรือมองผ่านทะลุคำเรียกชื่อนั้นไป ก็มีเพียงรูปธรรมและนามธรรม  (ที่จัดแยกเป็นประเภทหรือเป็นพวกๆ  เรียกว่า  ขันธ์  ๕  หรือ จะแยกแยะละเอียดลงไปกว่านั้นก็ได้) 
 
      “รูปธรรม-นามธรรม”   แม้จะเป็นคำเรียกที่บัญญัติขึ้นมา  แต่ก็เป็นคำที่สื่อถึงสิ่งที่มีอยู่จริง   (ใช้คำอย่างบาลีว่า “สภาวะ”  หรือ  “สภาวธรรม”  คือสิ่งที่มีภาวะของมันเอง   หรือสิ่งที่มีความเป็นจริงของมัน)   ดังเช่น  “เตโชธาตุ”   “ชีวิตินทรีย์”    “จักขุวิญญาณ”   “ผัสสะ”  “สุข”   “ทุกข์”   "โทสะ”   “เมตตา”   “สมาธิ”   “ปัญญา”  ฯลฯ  จนถึง “วิมุตติ”   “สันติ”   “นิพพาน”  เป็นต้น 
 
      ส่วน “สัตว์”  “บุคคล”  “ตัวตน/อัตตา/อาตมา/อาตมัน”  “เรา”  “เขา”  เป็นต้น  ไม่สื่อถึงสภาวะ คือ สิ่งที่มีอยู่จริงนั้น   แต่เป็นชื่อที่สมมุติซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง    บนของจริงที่เป็นสภาวะของมัน   ที่สัมพันธ์กันอยู่  เช่น  เป็นเหตุปัจจัยแก่กันในลักษณะอาการต่างๆ  พอระบบสัมพันธ์นั้นแปรหรือสลาย  องค์ประกอบวิบัติกระจัดกระจาย “สัตว์”  “บุคคล”  “ตัวตน,อัตตา,อาตมา,อาตมัน” ฯลฯ นั้นๆ  ก็หายไป  มีแต่สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นไปตามวิถีทางของมัน
 
      เหมือนอย่างเมื่อองค์ย่อย หรือชิ้นส่วนหลากหลายที่เขาสร้าง หรือจัดรูปแต่งร่างขึ้น   ถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกันให้ปรากฏในรูปลักษณ์ที่จะใช้ทำการสนองความมุ่งหมายแห่งเจตจำนงในการขนส่งเดินทาง   ก็เกิดเป็นสิ่งที่มีชื่อเรียกว่า  “รถ”   366
    
      ในตัวอย่างนี้   “รถ”   เป็นสมมุติ   ที่เป็นเพียงการประกอบกันเข้าของชิ้นส่วนทั้งหลาย   ไม่มีรถที่เป็นตัวของมันต่างหากจากชิ้นส่วนเหล่านั้น   ที่เรียกว่าเป็นส่วนประกอบของมัน
 
      ไม่มีตัว  “รถ” ที่เป็นเจ้าของส่วนประกอบเหล่านั้นจริง  พอชิ้นส่วนที่ประกอบกันนั้นสลายแยกกระจายออกไป   สมมุติที่เรียกว่า “รถ”   ก็หายไปเอง
 
       ที่ว่าไม่มีอัตตา  ไม่เป็นอัตตา  ก็มองได้จากอุปมาอย่างนี้
 
       นอกจากสมมุติที่ไม่มีจริงซ้อนขึ้นมาบนสภาวะที่เป็นของจริงแล้ว   มนุษย์ยังสมมุติชนิดไม่มีจริงซ้อนสมมุติที่ไม่มีจริงนั้นต่อขึ้นไปอีกๆ   บางทีมากมายหลายชั้น   เช่น  จากสมมติว่า “คน” ก็สมมุติว่า  คนนั้นเป็น “นายมี” “นายหมด” “รถของนายมี” “รถยี่ห้อมิลเลียนของคนไทยที่เป็นเศรษฐีใหญ่ชื่อว่านายมี”   ฯลฯ
 
      ทีนี้   หันไปทางด้านสภาวะหรือสภาวธรรม   ที่เป็นสิ่งมีอยู่จริง   สภาวธรรมก็มีมากมาย และมีภาวะ  มีคุณสมบัติ   มีอาการในการสัมพันธ์กับสภาวะอย่างอื่น   เป็นต้น   ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวบ้าง   เหมือนกันหรือร่วมกันเป็นพวกๆ  หรือ เป็นประเภทๆ บ้าง   ดังที่สื่อโดยบัญญัติเรียกให้มีชื่อต่างๆ  เช่น  เป็นรูปธรรม หรือเป็นนามธรรม  อย่างที่พูดถึงมาแล้วบ้าง    เป็นโลกียธรรม หรือเป็นโลกุตรธรรมบ้าง   เป็นสังขตธรรม  หรืออสังขตธรรมบ้าง เป็นต้น
 
       ยกนิพพานเป็นตัวอย่าง    นิพพานเป็นนามธรรม  แต่ก็ต่างจากนามธรรมส่วนมากในแง่ที่ว่านิพพานเป็นโลกุตรธรรม   และพร้อมกันนั้นนิพพานก็ต่างจากโลกุตรธรรมอื่นทั้งหมด  ในแง่ที่นิพพานเป็นอสังขตธรรม  ไม่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยในระบบสัมพันธ์
 


235 สมมุติ  ไม่มีใครหลุด  ไม่ต้องไปพ้น  เอาแค่รู้ทันและใช้มันให้เป็น
 
       พึงสังเกตด้วยว่า “สมมุติ”  หรือ “สมมติ”   นี้ เป็นคำที่นิยมใช้มากในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา  ส่วนในพระไตรปิฎก   ก็มีใช้บ้าง  แต่โดยมากมาในคำกล่าวของพระสาวก  โดยเฉพาะพระสารีบุตร   (เช่นในสังคีติสูตร    ทสุตตรสูตร   ในนิทเทส  และปฏิสัมภิทามัคค์) ส่วนท่านอื่นก็มีพระวชิราภิกษุณี  เป็นตัวอย่าง   แล้วในพระอภิธรรมปิฎก   ได้เกิดคำว่า  สมมติสัจจะ/สมมุติสัจจะ  ในสมัยคัมภีร์กถาวัตถุแห่งสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓  (ประมาณ  พ.ศ.๒๕๐)  
 
       แต่สำหรับพระพุทธเจ้าเอง  ตามปกติ ทรงใช้คำว่า “สมมุติ”  หรือ “สมมติ”  ในพระวินัย  ซึ่งเป็นเรื่องทางสังคม  คือ  การที่ภิกษุสงฆ์ตกลงกันตั้งพระภิกษุ หรือภิกษุณีสงฆ์ตกลงกันตั้งพระภิกษุณี   ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในกิจการต่างๆ  (เช่น  ภัตตุทเทสกสมมุติ คือ การที่สงฆ์ประชุมกันตั้งพระเป็นภัตตุเทศก็  ได้แก่พระเจ้าหน้าที่จัดแจกอาหาร,   คล้ายกับที่ประชาชนมาลงคะแนนสมมุติคือเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) หรือ ตกลงกันกำหนดบริเวณหนึ่งให้เป็นเขตที่ประชุมทำกิจการของสงฆ์  ดังที่เรียกว่าสมมติสีมา (บาลีใช้ว่า  สีมาสมฺมติ หรือ   สีมาสมฺมุติ) ตลอดจนกำหนดสถานที่นั้นๆ ให้เป็นที่ทำการนั้นๆ  (เช่น  ภัณฑาคารสมมุติ คือ การที่สงฆ์ประชุมกันตกลงกำหนดให้ใช้ที่นั้นเป็นโรงเก็บของ)  
 
        พุทธพจน์ที่ตรัสใช้คำว่า  “สมมุติ”   ในทางธรรม   พบในพระสูตรเดียว  เป็นคาถาในสุตตนิบาต  (ขุ.สุ.25/420/509-521) และทรงใช้ในความหมายอย่างเดียวกับทิฏฐิ
 
        ถ้าจะใช้คำตามอย่างพุทธพจน์  คำที่ทรงใช้ในความหมายอย่างนี้  ก็คือ  “โวหาร (การแลกเปลี่ยนข่าวสาร, การโต้ตอบ, การสื่อภาษา, ถ้อยคำที่สื่อสารกัน)   และคำอื่นๆที่มักมาด้วยกันเป็นชุด  (คือ  สมัญญา  นิรุตติ บัญญัติ เป็นต้น) 
 
        อ่านพุทธพจน์เพียงสั้นๆต่อไปนี้   ก็จะมองเห็นความหมายและแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้พอสมควร   ขอยกมาดู  ดังนี้
 
       ภิกษุทั้งหลาย...ไม่พึงยึดแน่นติดคากับภาษาถิ่น  ไม่พึงแล่นเลยเถิดข้ามถ้อยคำที่ชาวโลกรู้เข้าใจกัน (...ชนปทนิรุตฺตึ  นาภินิเวเสยฺย   สมญฺญํ   นาติธาเวยฺย)...ในถิ่นแดนนั้นๆ ชนทั้งหลายรู้จักสิ่งนั้นกันอย่างไรๆ  ว่า  ‘ดังที่ทราบมาว่า  ที่ท่านเหล่านี้พูดหมายถึงสิ่งนี้’  ภิกษุก็พูดจากล่าวขานไปอย่างนั้นๆ โดยไม่ยึดติดถือมั่น   (ม.อุ.14/662/429)
 
       ดูกรจิตตะ  การได้ตัวตน  (อัตตา)  เหล่านี้แล  เป็นถ้อยคำที่รู้เข้าใจกันของชาวโลก (โลกสมัญญา)  เป็นภาษาของชาวโลก  (โลกนิรุตติ)   เป็นคำสื่อสารกันของชาวโลก  (โลกโวหาร)   เป็นบัญญัติของชาวโลก  (โลกบัญญัติ)  ที่ตถาคตก็ใช้พูดจา  โดยมิได้ถือมั่นยึดติด  (อิมา  โข  จิตฺต  โลกสมญฺญา  โลกนิรุตฺติโย  โลกโวหารา   โลกปญฺญตฺติโย  ยาหิ  ตถาคโต   โวหรติ  อปรามสนฺโต)  (ที.สี.9/302-321/241-257)
 
       ถึงแม้คำว่า “สมมุติ”  จะเป็นคำที่นิยมใช้ในชั้นรอง และชั้นหลังตั้งแต่อรรถกถาลงมา  ก็มิได้น่ารังเกียจอะไร   แต่กลับน่าใช้ในแง่เป็นคำที่สื่อสารได้ง่าย  คนไทยคุ้นกันดี   แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ควรระวังทั้งในแง่ที่จะใช้ให้สื่อสารความหมายถูกต้อง ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด   และถูกตรงตามระบบของธรรม  ไม่ให้เกิดความสับสนไขว้เขว  เพราะว่า ธรรมอะไรๆ  ก็เป็นอยู่ตามสภาวะของมันอย่างนั้นๆ  เป็นเรื่องของคนต่างหากที่จะหลุดพ้น  คือ จิตใจหลุดพ้น และก็ไม่ใช่หลุดพ้นจากสมมุติ  แต่หลุดพ้นจากกิเลสที่ทำให้หลงผิดแล้วก็ยึดติดในสมมุติ
 
      พูดสั้นๆว่า  ไม่ต้องพ้นจากสมมุติ  แต่พ้นจากการติดสมมุติ

      หลุดพ้นด้วยปัญญาที่รู้ความจริง  ก็หลุดพ้นจากโมหะของตัวเอง  ไม่ใช่หลุดพ้นจากสมมุติหรอก   ส่วนสมมุตินั้นก็ไม่ต้องไปหลุดพ้น  มีแต่ให้รู้เท่าทันมัน
 
      สมมุติไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปหลุดพ้น คือ สิ่งทั้งหลายที่มีจริงก็เป็นสภาวะที่มีอยู่ของมันอย่างนั้นๆ  สิ่งที่ไม่มีจริง  ก็ไม่เป็นสภาวะที่มีอยู่   สมมุติเป็นเรื่องของมนุษย์ที่พยายามสื่อสารกัน  ถ้าใช้มันเป็น  ก็คือเอามันมาช่วยให้เรารู้ต่อไปถึงหรือไปเข้าถึงสภาวะ   สมมุติก็เหมือนมาซ้อนอยู่เท่านั้น
 
  145 เมื่อรู้ถึงสภาวะแล้ว  เรารู้ว่าสมมุติเป็นสมมติ   ก็ใช้มันต่อไป   เรียกว่าใช้มันอย่างรู้เท่าทัน   ไม่ยึดติดถือมั่น   ไม่ตกเป็นทาสของมัน  มันก็เป็นประโยชน์ไปตามฐานะที่แท้จริงของมัน
 
      เพราะฉะนั้น   ท่านจึงสอนเตือนไว้ให้รู้เท่าทันสมมติ  คือรู้จักสมมติว่าเป็นสมมติ  แล้วก็ใช้มันอย่างรู้เข้าใจ  ไม่ติดค้างถือคาอยู่กับมัน  พูดจาไปตามสมมุติ    แต่ปัญญาหยั่งไปถึงสภาวะโน่น  อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสดังที่ยกมาให้ดูข้างบนนั้น  ก็หมดปัญหา
 
  393 แต่ถ้าไม่รู้เข้าใจตามเป็นจริง   เอาสมมติเป็นตัวความจริง  ก็ติดอยู่กับสมมตินั้น   มองไม่ถึงสภาวะ  เหมือนกับว่าสมมติมาบังตาไว้  ทำให้ไม่เห็นความจริง เรียกว่าหลงสมมติ   ไม่รู้เท่าทันมัน  สมมุติกลายเป็นทิฏฐิ  แล้วก็ยึดติดถือมั่นไปตามสมมติ     ใช้สมมติไม่เป็น ก็กลายเป็นโทษไป
 
     เป็นอันว่า  เรื่องสมมตินี่  ไม่ต้องพ้นมันหรอก  ไม่ต้องไปหลุดพ้นจากสมมติหรอก    ธรรมไหนๆ  ก็อยู่ตามสภาวะของมัน   ไม่ต้องหลุดพ้นจากสมมติ   คนรู้เข้าใจธรรมไปตามสภาวะ  คือ  เกิดปัญญารู้ทันมัน   ถึงความจริงของมัน   ก็จบ   ไม่ต้องไปหลุดจากสมมติ  เรามีหน้าที่เพียงรู้เท่าทัน   อย่ายึดติดอยู่กับมัน และไปให้ถึงสภาวะ  (สภาวะในแง่นี้  มาถึงยุคหนึ่ง ได้นิยมใช้คำเรียกให้มีความหมายจำเพาะและหนักแน่นมากขึ้นว่า “ปรมัตถ์”)
 
     เราสมมติขึ้นมาบนสภาวะบ้าง   สมมติซ้อนต่อกันขึ้นไปบนสมมติบ้าง  เป็นสมมติลอยๆ  โดยไม่มีสภาวะบ้าง   แล้วในที่สุด   เมื่อเรารู้ทันสมมติ  และรู้ถึงสภาวะ   ก็ปฏิบัติต่อมัน  อยู่กับมันได้ด้วยดีโดยชอบ  อย่างเป็นอิสระทั้งสองอย่าง.   



235 เสริมคำสมมุติที่วชิราภิกษุณีกล่าว

       ความหมายของอนัตตาที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากองค์ประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า   สัมพันธ์กันเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ว่างเปล่าจากตัวตน   ที่เป็นแกนอันยืนยงคงตัว   ปราศจากตัวการที่สร้างสรรค์บันดาลนี้   เป็นความหมายพื้นฐาน ที่อาจจะอ้างความในคัมภีร์มาช่วยเสริมความเข้าใจได้  เช่น พระบาลีว่า 

       “อาศัยเครื่องไม้  เถาเชือก  ดินฉาบ และหญ้ามุง มีช่องว่างแวดล้อม  ย่อมเรียกกันว่า เป็นเรือน ฉันใด  อาศัยกระดูก เส้นเอ็น เนื้อ หนัง  มีช่องว่างแวดล้อม  ย่อมเรียกกันว่าเป็นตัวฅน (รูป) ฉันนั้น”  (ม.ม.12/346/358)


235 มารถามพระวชิราภิกษุณีว่า

       “สัตว์นี้ (ตัวบุคคลนี้) ใครสร้าง  ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน  สัตว์เกิดที่ไหน  สัตว์ดับที่ไหน?” 

235 วชิราภิกษุณีตอบว่า

       “นี่แน่ะมาร  ท่านเชื่อหรือว่าเป็นสัตว์ (เป็นตัวบุคคล) ท่านมีความเห็นอย่างนั้นหรือ? นี้คือกองแห่งสังขารล้วนๆ จะหาตัวสัตว์ในนี้ไม่ได้เลย   เพราะประชุมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ย่อมมีศัพท์เรียกว่ารถ  ฉันใด  เมื่อขันธ์  (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม) ทั้งหลายมีอยู่  ก็มีสมมุติเรียกว่าสัตว์ ฉันนั้น  แท้จริง  ทุกข์  (สภาพไม่คงตัว)  เท่านั้น   เกิดมี   และทุกข์ก็ตั้งอยู่   และเสื่อมสลายไป นอกจากทุกข์  ไม่มีอะไรเกิด  นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ”  (สํ.ส.15/553/198)


235 พระเสลาภิกษุณีตอบว่า

      “ร่างนี้  ไม่มีใครสร้าง ตัวนี้ไม่มีใครบันดาล  อาศัยเหตุมันก็เกิดมี  เพราะเหตุสลายมันก็ดับ    เม็ดพืชอย่างใดอย่างหนึ่ง  ที่เขาหว่านในนา อาศัยรสในแผ่นดินและยางในเมล็ดพืชทั้งสองอย่างนี้ ก็ย่อมงอกงามขึ้นได้   ฉันใด  ฉันนั้นเหมือนกัน  ประดาขันธ์  ธาตุทั้งหลาย และอายตนะทั้ง 6 เหล่านี้  อาศัยเหตุ   ย่อมเกิดมี  เพราะเหตุสลาย   ก็ย่อมดับไป” (สํ.ส.15/551/197)

   393 อย่างที่ว่าพุทธธรรมโยงถึงกันหมด   นี่ก็โยงถึงสังขารอีก  สังขาร มี สอง  คือ สังขารขันธ์ที่เป็นเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมอย่างเดียว  กับ สังขารที่รวมหมดทั้งกายและจิตใจ คือ ทั้งรูปธรรมนามธรรม              



 235 มีนิทานประกอบ 

  - นาย ก. กับนาย ข. เป็นเพื่อนสนิทกัน  นาย  ข.  จบอภิธรรมบัณฑิต   นาย ก.  จบพระสูตร  วันหนึ่ง  ได้ชวนกันเข้าป่าหาฟืน  ขณะที่ทั้ง ๒  เก็บฟืนอยู่นั้น  เสือตัวหนึ่งเดินตามกลิ่นมา  แลเห็นจึงคำรามลั่น  สองสหายวิ่งหนี  เสือก็ไล่ตาม  พวกเขาวิ่งมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง  เมื่อหนีไปทางไหนไม่ได้แล้ว   เอาไงดีเพื่อน  ขืนอยู่ฝั่งนี้ถูกเสือกินแน่   เราหาทางข้ามไปฝั่งโน้นได้ก็รอด  เหลียวไปเห็นเรือลำหนึ่งจอดอยู่  "มีทางรอดแล้วเพื่อน"   นาย ก. พูด

   “อะไร” นาย ข. สงสัย

   “เรือๆ” นาย ก. ตอบ นี้เขาเรียกว่า   เรือ  เราจะแจวเรือข้ามไปฝั่งโน้นกัน

   “แล้วนั่นล่ะอะไร” นาย ข. ถามอีก

   “อ๋อ...นั่นแจว” เขาเรียก  แจว  ใช้แจวเพื่อให้เรือเคลื่อนที่   ไปเถอะเดี๋ยวเสือทัน ได้ตายกันหมด

   นาย ข. กล่าวแย้งว่า “เรือ”  ไม่มี   “แจว”  ก็ไม่มี ปรมัตถ์  ไม่มีเรือ ไม่มีแจว

   “เดี๋ยวเสือกัดตายนะเพื่อน” นาย ก. ย้ำอีก

   “ปรมัตถ์ไม่มีวันตายเพื่อน”  นาย ข. พูดเน้นด้วยความมั่นใจแล้วเดินหลีกไป.

-  ทั้งสองคนสื่อสารไม่ตรงกัน  นาย ก. พูดแนวบัญญัติ  (พระสูตร)  นาย ข. พูดแนวปรมัตถ์ (อภิธรรม) 

   ควรทำความเข้าใจก่อนว่ากำลังสื่อกันในแง่ใด  แง่ปรมัตถ์หรือบัญญัติ เวลาคิด (โดยเฉพาะนักคิด)  แยกให้ออกไม่พึงคิดปนกัน   ไม่พึงอธิบายบัญญัติ  กับ  ปรมัตถ์ปนกัน  ไม่อย่างนั้นแล้วจะเกิดความผิดพลาด สื่อสารกับมนุษย์ในสังคมไม่รู้เรื่อง

   สภาวะ (ปรมัตถ์) กับ  สมมุติ (บัญญัติ) เป็นสิ่งจำเป็น   สภาวะเป็นสิ่งสำหรับรู้เข้าใจ

   ส่วนสมมติบัญญัติ เราคิดชื่อเรียก  ใช้สื่อสารหมายรู้กัน  เช่น  เรือ  แจว  คน  บัญญัติซ้อนเข้าไปอีกก็   คนคนนี้ชื่อ  นาย ก. คนคนนั้นชื่อ นาย ข. เป็นต้น   ถ้าพูดในแง่ปรมัตถ์   แจว  เรือ  ไม่มี  ภาษาทางธรรมเรียกว่า รูป  เพราะมองเห็น   นาม   (ความรู้สึกนึกคิด)  มองไม่เห็น (ถ้า พูด  "คน"  ในแง่ปรมัตถ์  ส่วนที่มองเห็น เรียก  รูป  ที่มองไม่เห็น (จิตใจ) เรียกว่า นาม)  ทำความเข้าใจแค่นี้ให้ชัดก่อน  (จะพูดให้ลึกอีกก็ได้  รูป  กับ  นาม  ก็ยังเป็นบัญญัติ (ชื่อเรียกเพื่อให้รู้กัน) ล้วนๆ มันคือ  "สภาวะ"  "สภาวธรรม"  ได้แก่  "สิ่งที่มีภาวะของมันเอง"  สภาวะอย่างนี้ๆ  เรียกรูป  สภาวะอย่างนี้ๆ เรียกนาม  สภาวะอย่างนี้ๆ เรียก สติ สภาวะอย่างนี้ๆ เรียก โทสะ  สภาวะอย่างนี้ เรียกปัญญา เป็นต้น   
 




พอพูดว่า รูปคนแจวเรือ  ผู้ฟังเข้าใจเลย 


นิทานพื้นบ้าน เรื่องคนแจวเรือจ้างกับนักศึกษา - Nitan Story



235 ตัวอย่างนี้   แยกสมมุติกับสภาวะไม่ออก 450

> ผมสงสัยนะครับ  นอกจากขันธ์  ​5 และ จิต แล้ว ที่ไม่ใช่เรา  คำถามคือ แล้วคำว่า  เรา หรือ เรา มีด้วยหรอครับ

https://www.facebook.com/groups/934684070024209


235 ผู้สอนชอบเอาหลักธรรมระดับสูงมาพูดแต่พูดไม่เคลีย  ผู้ฟังก็เป็นลักษณะนั้น  คนพูดเองก็สับสน


 
235 กระทู้ถกกันเรื่องสมมติ + ปรมัตถ์ อีก  450
 
> ผู้ใดจะให้คำนิยามแบบย่อยของคำว่า สมมุติ - ปรมัตถ์..ได้บ้างครับ ? ผมเห็นว่าเป็นภายนอกศาสนา..ครับ

https://pantip.com/topic/41044773

 




 

Create Date : 08 เมษายน 2564
0 comments
Last Update : 31 ธันวาคม 2566 23:57:00 น.
Counter : 1355 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space