ผ่านทะเลเห็นน้ำไร้ความหมาย
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
3 มีนาคม 2548
 
All Blogs
 
ลอว์เรนซ์ ออฟ อาราเบีย:ราชาแห่งทะเลทราย 2

ความขัดแย้งระหว่างเขากับทหารในกองทัพอังกฤษเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นอกจากนี้นายทหารอังกฤษก็ยังวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ในเรื่องที่ลอว์เรนซ์แต่งกายชุดอาหรับ ซึ่งลอว์เรนซ์เห็นว่าไร้สาระ เขาบอกว่าแต่งกายแบบอาหรับทำให้สะดวกเวลาขี่อูฐ และเขาก็คุ้นเคยกับชุดอาหรับมาเมื่อสมัยยังเป็นนักโบราณคดี ไฟซาลได้ทรงประทานชุดอาหรับทำด้วยไหมสีขาวและคัฟตัน ที่ถักด้วยด้ายทองให้แก่ลอว์เรนซ์เพื่อแสดงมิตรภาพ ชุดนี้ยิ่งทำให้นายทหารอังกฤษเหม็นหน้าเขากันมากขึ้น

ชัยชนะที่เวจฮ์ยิ่งเพิ่มความฮึกเหิมให้ขบวนการกู้ชาติอาหรับ ไม่นานพวกเขาก็เริ่มหิวโหยต่อชัยชนะครั้งใหม่ อัคบาร์เมืองท่าใหญ่ที่ห่างไปหนึ่งร้อยไมล์เป็นเป้าหมายต่อไป หากพวกเขาได้อัคบาร์จะทำให้เติร์กในแถบนี้ระส่ำระสายมากขึ้น เพราะเส้นทางรถไฟสายฮิจาซอยู่ใกล้ ๆบริเวณนั้น รถไฟสายนี้เชื่อมระหว่างเมดินาและดามัสกัส ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของเติร์ก

ปี 1917 กองกำลังอาหรับยึดอัคบาร์ได้ ลอว์เรนซ์วางแผนการรบเอง และยังนำกำลังบางส่วนเดินผ่านทะเลทรายร้อนร้าย บุกเข้าตีอัคบาร์ ร่วมกับกองกำลังที่เดินทางไปโอบล้อมทิศอื่นไว้ด้วย การบุกอัคบาร์ทางทะเลทรายนี้ทำให้พวกเติร์กแตกกระเจิง เพราะไม่มีใครคิดว่าจะมีกองกำลังใดบ้าบิ่นฝ่าความร้อนและพายุทะเลทราย เพื่อบุกประชิดตัวเมืองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

ยังจำภาพลอว์เรนซ์ ที่แสดงโดย ปีเตอร์ โอ ทูล ติดตา ช่วงที่เขาวางแผน เขาเดินเข้าไปนั่งในทะเลทรายทั้งวันทั้งคืน แบ็คกราวนด์ทะเลทรายเปลี่ยนแปรไปมา แทนความคิดอันวิ่งวุ่นของเขา เช้าอีกวันหนึ่งลอว์เรนซ์ยังคงก้มหน้าก้มตานั่งคิดนิ่งสงบอยู่ พอแสงแรกของตะวันจับที่หน้าเขา ลอว์เรนซ์ค่อย ๆเงยหน้าแล้วพูดว่า "Akabar. Akabar by land"


จากภาพยนตร์ Akaba is that way: It's only a matter of going

ชัยชนะที่อัคบาร์หนุนฐานะผู้นำของเจ้าชายไฟซาลให้มั่นคงยิ่งขึ้น อังกฤษเริ่มมองกองกำลังอาหรับในฐานะกองกำลังร่วมรบมากกว่าเดิม พลเอกเซอร์เอ็ดมุนด์ อัลเลนบี้ ผู้บัญชาการทหารภูมิภาคนี้คนใหม่เรียกลอว์เรนซ์เข้าพบเพื่อรับทราบสถานการณ์ต่าง ๆ ลอว์เรนซ์เข้าพบอัลเลนบี้ในชุดอาหรับและไม่ใส่รองเท้า และขอกำลังเพิ่มพร้อมทองคำมูลค่า 200,000 ปอนด์ หลังจากคิดอยู่พักหนึ่ง อัลเลนบี้ก็บอกว่า "ผมจะทำเท่าที่จะทำได้" แล้วลอว์เรนซ์ก็ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการต่อไปตามแต่ที่เขาจะเห็นสมควรโดยไม่ต้องรายงาน

เมื่อกลับมาถึงฮิจาซ ลอว์เรนซ์ก็เริ่มสงครามกองโจร ก่อกวนเส้นทางรถไฟให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อาหรับทั้งวางระเบิดรางรถไฟและตัวรถไฟ แม้ว่าลอว์เรนซ์จะไม่ได้เป็นคนต้นคิดเรื่องวางระเบิด แต่ในไม่ช้าเขาเริ่มรับเอามาใช้ และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการโจมตีเส้นทางคมนาคมไป ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นายทหารอังกฤษในทะเลทรายต้องศึกษาสิ่งที่ลอว์เรนซ์เขียน เกี่ยวกับการวางแผนสงครามกองโจรในหนังสือ Seven Pillars of Wisdom นี้ทุกคน เพื่อนำเอาไปปฏิบัติ

ความแข็งแกร่งและความกล้าหาญของลอว์เรนซ์ทำให้พวกอาหรับนับถือเขาจนหมดหัวใจ แม้จะร่างเล็กกว่า แต่เขาทำทุกอย่างได้ดีกว่าพวกอาหรับไม่ว่าจะเป็นการขี่อูฐหรือการยิงปืน นอกจากนี้ยังสามารถทนทานความร้อนราวกับ "นรกสันดาป" ของทะเลทรายได้เป็นอย่างดี

การโจมตีแบบนี้ดำเนินไปและทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ อารมณ์อันอ่อนไหวของลอว์เรนซ์ เริ่มถูกย้อมด้วยเลือดและความรุนแรง เขาเขียนจดหมายไปบอกเพื่อนที่อังกฤษว่า "...nerves and temper going....The killing and killing of Turks is horrible" ช่วยกันนึกเป็นภาษาไทยหน่อยนะคะ แหะแหะ นึกให้มันสวยๆ ไม่ออกอ่ะ...

ความรู้สึกนี้ทำให้เขาเกิดสภาพล้าทางใจ แต่ก็ยังคงปฏิบัติการอย่างบ้าบิ่นต่อไป ปลายปี 1917 ขณะที่เขาปลอมตัวเข้าไปในเมืองดีรา ตอนใต้ของดามัสกัส ทหารเติร์กจับเขาได้ขณะที่กำลังจะออกจากเมือง ลอว์เรนซ์ถูกนำตัวไปหาผู้ว่าการที่เป็นเติร์ก เขาถูกผู้ว่าการและทหารหลายคนข่มขืนและเฆี่ยนตีอย่างทารุณ อย่างไรก็ตามลอว์เรนซ์สามารถหนีออกมาจากเมืองได้เมื่อรุ่งสาง และได้พบกับคนของเขาในที่สุด

ความเจ็บปวดครั้งนี้ได้ทิ้งแผลเป็นไว้ให้แก่ลอวเรนซ์ทั้งกายและใจ...

ลอว์เรนซ์กำหนดแผนการขึ้นเองในใจ หากว่าเขาเข้าเมืองดามัสกัสได้ก่อนใคร และสถาปนาไฟซาลขึ้นเป็นประมุชาติอาหรับในเขตซีเรียอย่างเป็นทางการแล้วไซร้ พันธมิตรอื่นๆอาจจะไม่ฉวยโอกาสยึดดินแดนอาหรับหลังสงครามเลิก

เมื่อตีดามัสกัสได้ ลอว์เรนซ์ลิ่วเข้าเมืองเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามก็ยังช้ากว่ากองกำลังอาหรับกลุ่มหนึ่งที่มีผู้นำชื่อ ซาอิด และคาดีร์ ซึ่งลอว์เรนซ์ชิงชังอย่างยิ่งเพราะคิดว่าสองคนนี้หักหลังเขาที่ดีรา ลอว์เรนซ์ตั้งคนของตัวเองเป็นผู้ว่าการดามัสกัสแทนซาอิด หลังจากนั้นก็ได้เปิดเมืองให้กองกำลังอาหรับทั้งหมดเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะทั้งเมืองตกอยู่ใต้สภาพวุ่นวายจากการปล้นสะดมและความขัดแย้งทางการเมือง

วันที่ 3 ตุลาคม อัลเลนบีและไฟซาลมาถึงเมือง ทั้งสองได้พบกัน มันเป็นการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ แต่ไม่น่าสนุกเอาเสียเลยสำหรับไฟซาล อัลเลนบีบอกเจ้าชายว่า ภายใต้ข้อตกลงที่อังกฤษทำกับฝรั่งเศสนั้น หลังจากที่ไล่เติร์กออกไปได้ ซีเรียจะเป็นเขตอิทธิพลของฝรั่งเศส เจ้าชายไฟซาลสามารถปกครองดินแดนแถบนี้ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส นอกจากนี้อาหรับยังไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์เหนือเลบานอน และปาเลสไตน์ได้ด้วยว่าอังกฤษและฝรั่งเศสได้แบ่งกันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ลอว์เรนซ์เสียใจมากกับเรื่องที่เกิดขึ้น เขาออกจากดามัสกัสกลับอังกฤษในคืนนั้นเลย ลอว์เรนซ์กลับถึงลอนดอนเมื่อวันที 24 ตุลาคม 1918 สิบแปดวันหลังจากการลงนามสงบมหาสงครามที่มีผู้ล้มตายนับล้านครั้งนี้ แต่สำหรับลอว์เรนซ์แล้ว สงครามยังไม่สงบจนกว่าอาหรับจะได้เอกราช ในช่วงเวลาสามปีนับจากนี้ ลอว์เรนซ์ทุ่มเทเวลาเพื่อจะโน้มน้าวสภาให้เห็นด้วยกับเขาเรื่องอิสรภาพของอาหรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามิสามารถทำได้ด้วยอาวุธเมื่อครั้งรบอยู่ในทะเลทราย

เขาได้เข้าไปรายงานต่อหน้ากรรมาธิการตะวันออกซึ่งอยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรีสงคราม เกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง พร้อมกันนั้นเขาก็ได้เสนอทฤษฏีของเขาไปด้วย นั่นคือการให้อำนาจแก่ลูกชายคนต่าง ๆของฮุสเซน อับดุลลาจะได้แบกแดดและเมโลไปเตเมียตอนล่าง เซอิดจะได้เมโลโปเตเมียตอนบน และไฟซาลจะครองซีเรีย

เขาได้เข้าเฝ้ากษัตริย์แห่งอังกฤษ เพื่อรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลอว์เรนซ์ได้กราบทูลพระองค์อย่างสุภาพว่าเขามิอาจรับได้ เพราะกษัตริย์แห่งอังกฤษได้ผิดสัญญากับเจ้าชายแห่งอาหรับ ตลอดเวลาที่เขาอยู่ที่นั่นเขาทำทุกอย่างใต้พระนามของพระองค์ ... ลอว์เรนซ์ปล่อยให้กษัตริย์แห่งเกาะอังกฤษถือกล่องเครื่องราชย์เก้อ พระองค์ทรงเล่าให้คนอื่นฟังภายหลังว่า "(ขณะฟังเขาว่า)...ฉันก็ถือกล่องค้างเติ่งอยู่ตรงนั้น"

ในการเจรจาเรียกค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมันและพันธมิตรอันประกอบด้วย ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรียและเติร์กที่ปารีส อาหรับในฐานะสหายร่วมรบของอังกฤษและพวก ก็จะมีสิทธิ์ได้เข้าประชุมด้วย ปัญหาก็คือ ใครจะมาเป็นตัวแทนของอาหรับ ลอว์เรนซ์ได้ส่งโทรเลขไปยังฮุสเซนว่าควรจะส่งไฟซาลมาประชุม

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1919 ไฟซาลโดยความช่วยเหลือของลอว์เรนซ์ ได้ยกเรื่องความเป็นเอกราชของอาหรับในซีเรียขึ้นมาในที่ประชุมของสิบชาติพันธชาติที่ชนะสงคราม ลอว์เรนซ์ซึ่งแต่งกายด้วยชุดทหารอังกฤษแต่มีผ้าโพกแบบอาหรับ ได้เแปลคำกล่าวของไฟซาล เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งทำความซึ้งใจให้กับผู้แทนชาติต่างๆมาก พวกเขาลืมผลประโยชน์ของชาติชั่วขณะ ตบมือให้กับสุนทรพจน์สามภาษาอย่างนับถือสุดหัวใจ

อย่างไรก็ตาม ไฟซาลและลอว์เรนซ์ก็ไม่สามารถทำให้อาหรับเป็นเอกราชได้ ฝรั่งเศสค้านหัวชนฝาต่อข้อเสนอที่จะให้ไฟซาลเป็นกษัตริย์แห่งซีเรีย ลอว์เรนซ์กลับไปด้วยความผิดหวัง เขานั่งซึมอยู่ในห้องตลอดเวลา ช่วงเวลาแห่งความซึมเศร้าผ่านไปเป็นเดือนและก็เป็นปี และมันก็ถูกซ้ำด้วยความตายของพ่อของเขาที่อยู่ที่ปารีส หลังจากนั้นลอว์เรนซ์ก็กลับไปไคโร แต่เครื่องบินที่เขาบินไปตกก่อนถึง ลอว์เรนซ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ในขณะพักฟื้นเขาก็เริ่มเขียนหนังสือจากความทรงจำในสงครามอาเรเบีย Seven Pillars of Wisdom



ผู้แทนกลุ่มชาติอาหรับ ในปี 1919 จากซ้ายไปขวา : Rustum Haidar (secretary), Nuri Said, Pisani, Emir Feisal, Lawrence, Feisal's servant. และ Hassan Kadri

ในปี1919 นี้เองที่ชื่อเสียงของลอว์เรนซ์เริ่มขจรขจายไปในชนหมู่มาก ก่อนหน้านี้เขามีชื่อเสียงอยู่ก็ในหมู่พวกทหารและวงการการทูตระหว่างประเทศ แต่เมื่อโลเวลล์ โทมัส นักสร้างหนังชาวอเมริกันทำหนังสารคดีเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในส่วนการรบทะเลทรายขึ้น ในตอนแรกเขาจะให้ชื่อว่า With Allenby in Palestine แต่เมื่อเขาพบกับลอว์เรนซ์ที่เจรูซาเล็มในปี 1918 ชื่อก็เปลี่ยนมาเป็น and Lawrence in Arabia หนังฉายในเดือนมีนาคม ปี 1919 ที่นิวยอร์ค และอีก 6 เดือนต่อมาก็เข้าฉายในลอนดอน หลังจากปี 1920 ก็ออกฉายทั่วโลก

โทมัสบอกว่าลอว์เรนซ์ไปดูหนังเรื่องนี้หลายครั้ง และเมื่อถูกคนทัก เขาก็หน้าแดงและเดินหนีไปอย่างรวดเร็ว….

ถ้าเป็นเรื่องกำลังภายในต้องบรรยายว่า นกสิ้นเกาฑัณท์ซ่อน (หมาล่าเนื้อหมดความหมายเมื่อพรานเลิกล่าสัตว์) กรกฏาคมปี 1920 ฝรั่งเศสทิ้งระเบิดดามัสกัส และขับไฟซาลที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์แห่งซีเรียหมาด ๆออกไป ที่อิรัก อังกฤษปราบปรามกองกำลังกู้ชาติอาหรับอย่างหนัก ทำให้ทั้งสองเสียไพร่พลกันไปเป็นจำนวนมาก วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องการให้เกิดสันติภาพในแถบนี้โดยเร็ว เขาจึงแต่งตั้งลอว์เรนซ์ให้มาทำหน้าที่ที่ปรึกษา และให้เงิน 1200 ปอนด์ต่อปี ลอว์เรนซ์ซึ่งกำลังจนกรอบอยู่รับตำแหน่งนี้ด้วยความยินดีสองชั้น ปี 1921 เดือนมีนาคม เขากลับไปไคโรในฐานะที่ปรึกษาของเชอร์ชิลในการประชุมครั้งสำคัญ ผลก็คือ ลอว์เรนซ์ทำให้ไฟซาลได้เป็นกษัตริย์แห่งอิรัก อับดุลลา อามีร์ได้เป็นใหญ่ในเขตจอร์แดน

ลอว์เรนซ์พอใจผลงานครั้งนี้มากและคิดว่าตัวเองได้ตอบแทนแก่สหายอาหรับเรียบร้อยแล้ว เมื่อจบประชุม ลอว์เรนซ์จึงขอลาออกจากตำแหน่ง แต่เชอร์ชิลได้ขอให้เขาอยู่ต่อไปอีก แต่ปีต่อมาลอว์เรนซ์ก็ลาออกจากตำแหน่งในที่สุด

หลังจากเขาประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือไฟซาลและพวกอาหรับแล้ว ลอว์เรนซ์ก็เหมือนได้สิ้นสุดหน้าที่อันเดิม วิถีใหม่ของเขาก็ได้เริ่มขึ้น เพื่อนฝูงพากันประหลาดใจเมื่อเขาสมัครรับราชการในกองทัพอากาศภายใต้ชื่อ John Hume Ross นักบินชั้นที่สอง หมายเลขประจำตัว 352087...

ลอว์เรนซ์เข้าโรงเรียนทหารอากาศเมื่อมีอายุ 34 การฝึกเป็นความทรมานสำหรับเขามาก เนื่องจากวัยและอาการบาดเจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามมันเป็นการพักผ่อนทางจิตสำหรับเขา

ในหนังสือชื่อ the mint ลอว์เรนซ์เขียนบรรยายว่า ชีวิตในกงอทัพเป็นรูปแบบใหม่ของการถือบวช เขาต้องการพักผ่อนจากชื่อเสียง, ความขัดแย้งทางความคิดของเขาเอง และความรับผิดชอบอื่นๆ ที่นี่ทำให้เขาสามารถ พักผ่อนสมอง brain sleep)ได้อย่างเต็มที่

แต่ช่วงสมองหลับนี้เป็นไปได้ไม่นานนัก หลังจากจบการฝึก รอสส์ (ลอว์เรนซ์) ก็ถูกส่งไปยังโรงเรียนการถ่ายภาพ ของกองทัพที่ฟาร์นโบโรก์ ในเดือนพฤศจิกายน 1922 และหลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็มีคนจดจำเขาได้ หนังสือพิมพ์พากันเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉบับหนึ่งพาดหัวตัวโต "ราชาซ่อนตัวในคราบไอ้เณร:วีรบุรุษสงครามชื่อดังใข้ชีวิตพลทหารแสวงความสงบ" (ปล.นี่เป็นการฝึกวิชาพาดหัวข่าวที่ลืมไปนานแล้ว ของจริงเขาว่า UNCROWNED KING AS PRIVATE SOLDIER/famous was hero becomes a private/SEEKING PEACE) ซึ่งทำให้ลอว์เรนซ์ถูกปลดออกจากกองทัพอากาศ เพราะผู้ใหญ่ไม่อยากให้สื่อมาวุ่นวายกับกองทัพมากนัก

เขาไม่ยอมแพ้ จากรอสส์กลายเป็น ที อี ชอว์แห่งหน่วยรถถัง กองทัพบก หมายเลขประจำตัว 7875698 เขาขอยืมนามสกุลชอว์มาจากนักเขียนชื่อดังจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์และชาร์ลอตต์ภรรยา ซึ่งได้รับลอว์เรนซ์เป็นบุตรบุญธรรม

พลทหารชอว์ถูกส่งไปประจำการยังหน่วยรถถังที่โบวิงตันในดอร์เซ็ทต้นปี 1923 ตอนนี้เขาเริ่มอึดอัดกับกองทัพยามสงบเสียแล้ว เขาเริ่มละเลยกับยศตำแหน่งกฏเกณฑ์ต่าง ๆเหมือนตอนที่เป็นลอว์เรนซ์แห่งอาเรเบีย และไม่นานเพื่อนร่วมชั้นก็เริ่มเดาออกว่าเขาเป็นใคร

อย่างไรก็ตามเพื่อนก็เริ่มยอมรับพลทหารชอว์มากขึ้นเรื่อย ๆ และเรียกเขาว่า Broughie Shaw ซึ่งมาจากรถมอเตอร์ไซค์ Brough Superior ที่ชอว์ชอบซิ่งด้วยความเร็วสูงสุดบนถนนใกล้ ๆเขตทหารยามพักผ่อน

เขายังคงเขียนหนังสือเรื่อง Seven Pillars of Wisdom ต่อไปแต่ก็มักมีเรื่องทำให้สมาธิแตกซ่านเสียก่อน ดังนั้นเขาจึงพยายามหาที่ที่เขาจะสามารถเขียนหนังสือได้โดยสะดวก เขาจึงเช่าบ้านหลังเล็กห่างจากค่ายทหารไปหนึ่งไมล์บนClouds Hillด้วยราคาไม่แพงเพื่อใช้เป็นที่พัก นี่นับเป็นบ้านแห่งแรกของลอว์เรนซ์ (ไม่นับบ้านพ่อแม่ที่โพล สตีด, อ๊อกซ์ฟอร์ด) เขาอยู่ที่นี่จนถึงวาระสุดท้ายของเขา

ลอว์เรนซ์จ้างจอ์หน บรูซ เพื่อนร่วมกองทหารให้มาที่บ้านทุกบ่อยและเฆี่ยนเขา การเฆี่ยนเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่กระทำกันในสมัยกลาง โดยพวกนักบุญทั้งหลายที่ให้คนอื่นมาเฆี่ยนตีทรมานตัวเองเพื่อลดความต้องการทางเพศ และลอว์เรนซ์ก็เชื่อเช่นนั้นด้วย เขาเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์จะดึงเอาพลังงานส่วนใหญ่ของชีวิตไป เป็นการใช้ไปในทางอันไม่เป็นประโยชน์ ด้วยการเฆี่ยนตีจะทำให้เขาลดความต้องการลง

แม้ว่าจะถูกไล่ออกจากกองทัพอากาศ เขาก็ยังมีความปรารถนาอยู่เสมอที่จะทำงานเกี่ยวกับการบิน ลอว์เรนซ์พยายามสมัครกลับเข้าไปอีก แต่ทุกครั้งกองทัพก็ปฏิเสธ ในปี 1925 ลอว์เรนซ์บอกว่าเขาจะฆ่าตัวตายถ้ากองทัพอากาศไม่ยอมรับเชากลับเข้าไป ด้วยการขู่นี้ประกอบกับอิทธิพลของเพื่อนผู้ยิ่งใหญ่หลายคนรวมทั้งเบอร์นาร์ด ชอว์ ก็ทำให้เขาได้รับการยอมรับกลับเข้าไปในกองทัพอากาศ

พลทหารชอว์ย้ายไปยังโรงเรียนนายเรืออากาศที่แครนวอลล์ เขาทำงานเป็นเสมียนและช่างเครื่อง

ลอว์เรนซ์นั้นรักการบินอย่างจริงจัง เขามักจะแอบเข้าไปในโรงเก็บเครื่องบิน และนั่งดูยามที่นักบินนำเครื่องเข้าออกด้วยความสุขลึกซึ้ง (คือลอว์เรนซ์นะที่มีความสุขลึกซึ้ง ไม่ใช่นักบิน)

ที่แครนวอลล์นี้เอง ที่หนังสือ Seven Pillars of Wisdomgเสร็จสิ้นลง ปกในหนังสือเล่มนี้พิมพ์ว่า "อุทิศให้แก่ S.A" ซึ่งใครต่อใครก็เดากันเอาว่าเป็น Selim Ahmed หรือ ดาอูด เด็กหนุ่มที่เคยอยู่กับลอว์เรนซ์ในทะเลทราย (ไหนว่าไม่ได้เป็นอะไรกันไงยะ.....)

หนังสือSeven Pillars ฯที่ออกมานั้นมีสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นที่สั้นกว่าชื่อว่า Revolt in the Desert ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1927 ลอว์เรนซ์นั้นกังวลว่าหนังสือจะทำให้ประชาชน และสื่อกลับมาสนใจในตัวเขาอีกครั้ง เขาก็เลยขอย้ายตัวเองไปประจำการที่ต่างประเทศ และเดือนธันวาคมปี 1926 เขาก็เดินทางไปอินเดีย

ลอว์เรนซ์อยู่ที่อินเดียเป็นเวลาเกือบสองปี ตอนแรกเขาก็ประจำอยู่ที่ฐานทัพในการาจี แต่ว่านายทหารระดับสูงหลายคนไม่อยากให้เขาอยู่เกะกะนัยน์ตาก็เตะโด่งลอว์เรนซ์ไปที่มิรันชาห์ ในวาซิริสถาน ซึ่งอยู่ใกล้อาฟกานิสถานมาก เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ที่นั่นแปลโอดิสซีของโฮเมอร์ ให้กับสำนักพิมพ์อเมริกัน นอกจากนี้สิ่งที่เขาทำเสมอๆ แม้ว่าจะไม่ค่อยชอบนักก็คือเขียนจดหมาย จดหมายนับร้อยๆฉบับถูกส่งถึงเพื่อนๆ บางทีก็คนแปลกหน้าที่เขาพบเพียงครั้งเดียว แต่ขอให้ลอว์เรนซ์เขียนไปถึง

ช่วงเวลาที่อยู่ในอินเดียของเขาจบลงเพราะชนเผ่าต่าง ๆในอัฟกานิสถานเริ่มต่อสู้เพื่ออิสระภาพ ด้วยภูมิหลังของพันเอกลอว์เรนซ์ ทำให้พวกกระหายเลือดที่ฟลีตสตรีท (ถนนที่เป็นที่ตั้งของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายรายของอังกฤษ) เริ่มละเลงข่าวความเกี่ยวข้องระหว่างเขากับกบฏในอัฟกานิสถาน รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจว่าลอว์เรนซ์ควรจะกลับบ้านเสียที ในมกราคม 1927 ลอว์เรนซ์ก็ลงเรือเดินทางกลับสู่อังกฤษ และสามารถหลบเลี่ยงช่างภาพที่มารอกันอยู่เต็มได้ สิ่งที่ ช่างภาพได้ก็เพียงภาพเบลอ ๆไม่กี่ภาพของ "ลอว์เรนซ์แห่งอาเรเบีย"

ลอว์เรนซ์ถูกสั่งให้ไปประจำการที่เมาท์ แบทเท่น และเป็นที่ที่เขาอยู่อย่างมีความสุขมาก ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญแก่เขาและให้ทำงานตามความสามารถ ลอว์เรนซ์ทำหน้าที่เป็นช่างเครื่องและทดสอบเครื่องยนต์ใหม่ ๆ ให้กับหน่วยงานอุปกรณ์ทางทะเลของกองทัพอากาศ

ลอว์เรนซ์ได้รับหน้าที่รับปรับปรุงเรือเร็วช่วยชีวิตนักบินที่ประสบอุบัติเหตุตกลงไปในทะเล เพราะวีรกรรมของเขาที่ได้ช่วยชีวิตนักบินและช่างเครื่อง 6 รายจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกจากการชนกันกลางอากาศ และสิ่งที่ลอว์เรนซ์ปรับปรุงดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อช่วยชีวิตนักบินในสงครามโลกครั้งที่สอง



ปี 1935 ลอว์เรนซ์ถูกกองทัพอากาศลอยแพ เขาอายุ 46 แล้ว และก็รู้สึกเศร้ากับความแก่ชรา มันเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาไม่หลงเหลือลักษณะของความเป็นเด็กอีกต่อไป นอกเหนือไปจากความฝันดั้งเดิมที่จะตั้งสำนักพิมพ์แล้ว ลอว์เรนซ์ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรอีก เพื่อนๆก็ได้แต่หวังว่าเขาจะได้งานที่รับกับความสามารถอันเปี่ยมล้นของเขา อย่างไรก็ตามลอว์เรนซ์ก็ไม่สนใจที่จะทำงานที่ได้ถูกเสนอมาหลายอย่าง แต่ความว่างเปล่าอย่างไร้จุดหมายในชีวิตของเขาก็สิ้นสุดลงไม่นานนัก หลังจากออกจากกองทัพอากาศ พร้อมๆกับชีวิตของเขา

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 1935 ลอว์เรนซ์นัดเฮนรี่ วิลเลี่ยมสัน นักเขียนชื่อดังไว้ เขาออกเดินทางจากคลาวด์สฮิลล์ตอนเช้าเพื่อส่งโทรเลขยืนยันการนัดหมาย ในขณะที่กลับมาจากการส่งโทรเลข ลอว์เรนซ์ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยความเร็วสูง หักหลบเด็กสองคนที่ปรากฏตัวกระทันหันบนถนน ร่างของเขาถูกเหวี่ยงจากที่นั่ง กระแทกเข้ากับพื้นถนนเบื้องหน้าอย่างแรง กระโหลกร้าวและสลบไสล

เขาโคม่าอยู่ 6 วันและตายที่โรงพยาบาลในค่ายโบวิงตัน ปิดฉากชีวิตที่ทั้งลึกลับ และเต็มไปด้วยสีสันเมื่ออายุได้ 46 ปี

หลายประเทศทั่วโลกไว้อาลัยให้กับการจากไปของเขา ยกเว้นที่ตุรกี หนังสือพิมพ์ที่นั่นพาดหัวอย่างมีนัยของการเฉลิมฉลอง กับความตายของ"สายลับผู้ร้ายกาจ" ซึ่งเคยได้สมญาว่าเป็น "ราชาแห่งทะเลทราย"

ว่างๆ เลยไปค้นquote ของลอว์เรนซ์มาให้อ่าน อันนี้เด็ด

"All men dream: but not equally. Those who dream by night in the dusty recesses of their minds wake in the day to find that it was vanity: but the dreamers of the day are dangerous men, for they may act their dreams with open eyes, to make it possible. This I did."

T.E.L.
From "The Seven Pillars of Wisdom" suppressed introductory chapter, first published 1939, Penguin edition p.23

อันนี้คงเป็นตอนที่กำลังเหนื่อยล้ามาก ท้อแท้เพราะการต่อสู้ให้พวกอาหรับไม่สำเร็จ

"On the whole I believe not doing is better than doing, . . .I have done with politics, I have done with the Orient, and I have done with intellectuality. O Lord, I am so tired! I want so much to lie down and sleep and die. Die is best because there is no reveille. I want to forget my sins and the world's weariness." (pg. 349). TEL

แนะนำหนังสือน่าอ่านเกี่ยวกับLawrence

นอกจาก Seven Pillars of Wisdom ของเขาเองแล้วก็ยังมี John E. Mack's ชื่อ " A Prince of our Disorder" หนังสือเล่มนี้ได้พูลิตเซอร์ไพรซ์ด้านหนังสือชีวประวัติ เป็นการวิเคราะห์ลอว์เรนซ์โดยอาศัยทฤษฏีทางจิตวิทยา โดยเฉพาะทฤษฏีของฟรอยด์




Create Date : 03 มีนาคม 2548
Last Update : 4 มีนาคม 2548 9:50:57 น. 3 comments
Counter : 1460 Pageviews.

 
ขอบคุณมากมาก สำหรับความรู้ อ่านแล้ว...พูดไม่ออก
ขอบคุณมากๆ


โดย: PJ IP: 124.121.113.86 วันที่: 25 มิถุนายน 2551 เวลา:15:08:00 น.  

 
โอ้ ขอบคุณนะคะ ที่ยังเข้ามาอ่าน


โดย: ดาหาชาดา วันที่: 23 ธันวาคม 2552 เวลา:21:08:49 น.  

 
ดูหนังเมื่อคืนนี้ไม่จบเพราะง่วงมาก เอาลง you tube ให้ป้าหน่อยได้ใหม เรื่องน่าสนใจมาก ฉากสวย



โดย: ป้าเรียม IP: 101.51.60.242 วันที่: 20 พฤษภาคม 2555 เวลา:20:32:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ดาหาชาดา
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ดาหาชาดา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.