มหาลัยวัยซน (งานตะพาบครั้งที่ 280)


ต้องเท้าความก่อนว่าจุดเริ่มต้นในการเลือกมาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี เอกภาษาไทย มันมีที่มาที่ไปอย่างไร

มันเริ่มต้นจากการที่ครูภาษาไทยอยากให้เราลองเขียนเรียงความส่งเข้าประกวดของกรมสุขภาพจิตเมื่อตอนม.ปลาย เราก็ลองเขียนส่งดู แล้วปรากฏว่าเราได้รางวัลที่ 1 เราจึงคิดว่าเราน่าจะไปได้กับทางภาษาไทย เราเลยมาทางนี้ ตอนแรกเรายังไม่รู้จักคณะโบราณคดีหรอก ไม่รู้ด้วยว่าเขามีเอกภาษาไทย ที่เรารู้จักในตอนนั้น และคิดอยากเข้า คือ คณะมนุษยศาสตร์ ของมศว ซึ่งมีทั้งเอกภาษาไทย และเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก ซึ่งเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก เขามีเปิดสอบตรง เราก็ไปสอบ เมื่อเข้าไปสอบ ทำให้เรารู้ว่ามันไม่ง่ายเลย เพราะมันมีสอบวาดรูปด้วย ถ้าใครเขียนเรื่องได้ วาดรูปไม่ได้ คุณก็ไม่ผ่านนะ ซึ่งเราวาดรูปไม่ได้เลยจ้า ก็รู้เลยว่าไม่ผ่านแล้วแน่นอน ใจก็เบนไปทางเอกภาษาไทย แต่เอกภาษาไทย เขาไม่มีเปิดสอบตรง ก็ต้องไปสอบเอนทรานซ์ แล้วเลือกคณะเอา

ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการสอบเอนทรานซ์ ก็จะมีการมาออกบูธของคณะต่าง ๆ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เราก็ได้ไปเดินและเก็บรายละเอียดมา ที่นั่นทำให้เรารู้จักกับคณะโบราณคดี ทำให้รู้ว่ามีหลายเอก และมีเอกภาษาไทยด้วย เราก็ตัดสินใจว่าจะเลือกที่นี่เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือมศว

และก็ปรากฏว่าเราก็สอบติดที่นี่ ที่เราเลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง เราไม่ได้เลือกจุฬา ธรรมศาสตร์ เพราะรู้ว่าคะแนนไม่ถึง ยังไงก็ไม่มีทางติด (ในตอนนั้นเวลาเลือกคณะใช้เกณฑ์ดูคะแนนของปีที่แล้ว แล้วก็ดูว่าคะแนนของเรา พอจะเข้าที่ไหนได้บ้าง)

เมื่อติดแล้ว ด่านต่อมา คือ ตรวจสุขภาพ และสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเรามีปัญหาเรื่องการได้ยิน เราเพิ่งรู้ตัวเมื่อตอนไปตรวจสุขภาพเพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยนี่แหละ ซึ่งเราก็เป็นกังวลว่าเราจะได้เข้าเรียนไหมเนี่ย ถ้าสอบได้ แต่ไม่ผ่านเรื่องตรวจสุขภาพ ก็คงรู้สึกแย่ แต่สุดท้ายหลังจากสอบสัมภาษณ์ ซึ่งไม่ถามเรื่องการตรวจสุขภาพ เราก็ผ่านมาได้

เราได้มาเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี เอกภาษาไทย อย่างที่ใจเราเลือกไว้

เราได้รู้จักเพื่อนใหม่ตอนที่รับน้อง ได้เพื่อนสนิท เพื่อนในกลุ่มตอนที่รับน้องนี่แหละ

มันจะมีรับน้องแบบโดยรวมทั้งมหาวิทยาลัยกับรับน้องแต่ละคณะ

การรับน้องโดยรวมทั้งมหาวิทยาลัย จะเป็นการรับน้องแรกเริ่ม คือ เราจะรับน้องกันที่วังท่าพระ แล้วก็ไปที่ทับแก้ว ไปค้างที่นั่นหนึ่งคืน จุดประสงค์ของการรับน้องแบบนี้ คือ เพื่อที่จะให้เรารู้จักทับแก้ว (วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์) อีกแห่ง ซึ่งเราก็ได้ไปที่นี่ก็ตอนช่วงรับน้อง และตอนจบรับปริญญา

ส่วนรับน้องแต่ละคณะ ก็จะมีความโหดที่แตกต่างกันไป โดยรวมแล้วก็จะรับน้องกันประมาณหนึ่งเดือน คณะจิตรกรรมก็จะโหดสุด เพราะนักศึกษาผู้ชายจะต้องโกนผม หัวเกรียนกันทุกคน ที่เขาให้ไว้ทรงนี้เหมือนเราเคยได้ยินมาว่าเพื่อที่เวลาผมยาวจะได้ยาวพร้อม ๆ กัน ส่วนนักศึกษาผู้หญิงก็ต้องมาแต่เช้าเพื่อที่จะครีเอททรงผมตัวเอง เราจะเห็นทรงผมของนักศึกษาผู้หญิงไม่ซ้ำเลยในแต่ละวัน

ส่วนคณะโบราณคดี เราไม่โหดขนาดนั้น แต่ถามว่าโหดไหม มันก็โหดอยู่ ในช่วงระหว่างรับน้อง เราจะไม่มีสิทธิ์เดินผ่านหน้าคณะ หรือนั่งหน้าคณะเลย ที่ที่เรานั่งได้ และสิงสถิตกันอยู่ คือ หน้าหอประชุม

เราจะมีการฝึกร้องเพลงคณะในห้องมืดตอนกลางวันก่อนจะไปทานข้าว และรับน้องหรือที่เราเรียกกันว่าขึ้นซ่อมตอนเย็นหลังเลิกเรียนที่ดาดฟ้าของคณะ เวลาจะไปขึ้นซ่อมเราจะต้องเรียงแถวและนับจำนวน ถ้ามีใครมาเพิ่มในระหว่างทาง เราก็ต้องบวกเพิ่ม เพื่อที่ว่าเมื่อขึ้นไปถึงจะได้แจ้งรุ่นพี่ถูก วันไหนนับผิด จะโดนลงโทษ บทลงโทษก็คือกอดคอกันลุกนั่ง พวกผู้ชายถ้าทำผิด บางทีก็จะมีวิดพื้นบ้าง แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะโดนลุกนั่ง

ถึงดูเหมือนจะโหด แต่ช่วงเวลานี้ก็ทำให้เรายิ้มได้อยู่บ้าง จากของเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือจดหมายจากสายรหัส เราจะเฝ้ารอจดหมายจากสายรหัสทุกวัน บางวันก็มี บางวันก็ไม่มี

หลังจากจบสิ้นการรับน้อง เราก็ได้เจอสายรหัสของเรา สายรหัสของเราเป็นผู้หญิงหมด และเรียนคนละเอกกับเรา สายรหัสของเราทั้งสามคนเรียนเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งการที่เรียนคนละเอก เราก็จะไม่ได้ตำราจากสายรหัสเรามาเลย

ส่วนตัวเราเมื่อขึ้นปี 2 สายรหัสของเราที่เป็นรุ่นน้องปี 1 เขาเอกเดียวกับเรา เราก็จะส่งมอบตำรา หรือที่เราเลคเชอร์เอาไว้แล้วเราให้ได้ เราก็ให้เขาไป

ในมหาวิทยาลัยที่เรารู้สึกว่าขาดไปสำหรับเรา มันหายไปสำหรับเรา คือ ความรัก ความรักในแบบของหนุ่มสาว มันไม่มีเลย มีแต่ความรักระหว่างเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง เราไม่รู้สึกว่าชอบใครเป็นพิเศษ และก็ไม่มีใครมาชอบเราด้วย ต่างจากสมัยมัธยมที่มีความรัก

ในมหาวิทยาลัย เราไม่ค่อยมีวีรกรรมอะไรเท่าไหร่หรอก แต่มีอยู่ครั้งเอาลูกอมเข้าไปกินในห้องเรียน แล้วฉีกห่อออก ลูกอมกระจายเต็มพื้น ตอนนั้นเป็นอะไรที่อายที่สุดแล้ว

ในส่วนของการเรียนวิชาการนั้น ก็เรียกว่านับหนึ่งใหม่กันทุกคน เพราะส่วนใหญ่วิชาที่เรียนในเอกสมัยนั้นจะเป็นวิชาที่เราไม่เคยเรียนกันมาก่อน อย่างการเรียนวิชาภาษาเขมร ซึ่งเป็นวิชาที่ทุกคนต้องเรียน เพื่อที่จะได้ไปเรียนอ่านใบลานได้ แล้วยังมีภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาถิ่นภาคต่าง ๆ เราได้เรียนวิชาภาษาถิ่นกันครบทุกภาคจากอาจารย์ที่เป็นคนจากภาคนั้น ๆ นี่น่าจะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องเรียนการอ่านศิลาจารึก นอกจากนั้นแล้วก็น่าจะคล้าย ๆ คณะอักษรศาสตร์ที่เรียนด้านสัทศาสตร์ ไวยากรณ์ วรรณกรรม แต่วรรณคดี เราไม่ค่อยได้เรียน แต่ไม่รู้ว่าปัจจุบันหลักสูตรใหม่เป็นอย่างไร
 
ตอนปี 4 ก็มีทำสารนิพนธ์ส่ง เราต้องไปจองตัวอาจารย์ที่จะมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ก็แล้วแต่ว่าเราจะทำในเรื่องอะไร ส่วนใหญ่แล้วจะทำทางด้านวรรณกรรม น้อยคนนักที่จะไปทำด้านไวยากรณ์ ด้านสัทศาสตร์ (ด้านสัทศาสตร์ไม่ค่อยมีใครทำ เพราะมันยาก)
 
สุดท้ายแล้วเราก็รู้สึกดีใจที่เราได้เลือกเรียนคณะนี้ และเรียนจนจบได้ แต่เราก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเราเชี่ยวชาญภาษาไทย เพราะบางทีบางคำเราก็ยังใช้ผิด ๆ ถูก ๆ เอาเป็นว่าเราก็เรียนรู้กันต่อไป 'การเรียนรู้ ไม่มีวันสิ้นสุด'

และนี่ก็เป็นมหาลัยวัยซนในแบบฉบับของเราค่ะ



Create Date : 24 มิถุนายน 2564
Last Update : 28 มิถุนายน 2564 13:39:37 น.
Counter : 622 Pageviews.

0 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtoor36, คุณเริงฤดีนะ, คุณจันทราน็อคเทิร์น


comicclubs
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]



Group Blog
All Blog
  •  Bloggang.com