กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
31 ตุลาคม 2566
space
space
space

พุ ท ธ พ จ น์ แสดงวิธีปฏิบัติ



ข) พุทธพจน์แสดงวิธีปฏิบัติ

       เบื้องแรก  พึงทราบวิธีปฏิบัติตามแนวพุทธพจน์ ดังนี้

        "ภิกษุทั้งหลาย   อานาปานสติ   เจริญอย่างไร   ทำให้มากอย่างไร   จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ? 

            ภิกษุในธรรมวินัยนี้

       ก. ไปสู่ป่า ก็ดี ไปสู่โคนไม้ ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง ก็ดี*

       ข. นั่งคู้บัลลังก์  ตั้งกายตรง  (นั่งตัวตรง)  ดำรงสติเฉพาะหน้า  (= เอาสติมุ่งต่อกรรมฐาน คือ ลมหายใจที่กำหนด)

       ค. เธอมีสติหายใจเข้า  มีสติหายใจออก

     หมวดสี่ ที่ ๑ ใช้บำเพ็ญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานได้

        ๑) เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว

             เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว

        ๒) เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น

             เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น

        ๓) สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมด หายใจออก

             สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมด หายใจเข้า

        ๔) สำเหนียกว่า จักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจออก

             สำเหนียกว่า จักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจเข้า

     หมวดสี่ ที่ ๒ ใช้บำเพ็ญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้

        ๕) สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ชัดปีติ หายใจออก

             สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ชัดปีติ หายใจเข้า

        ๖) สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งสุข หายใจออก

             สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งสุข หายใจเข้า

        ๗) สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งจิตสังขาร หายใจออก

             สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งจิตสังขาร หายใจเข้า

        ๘) สำเหนียกว่า  จักเป็นผู้ระงับจิตสังขาร หายใจออก

            สำเหนียกว่า จักเป็นผู้ระงับจิตสังขาร หายใจเข้า

    หมวดสี่ ที่ ๓ ใช้บำเพ็ญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้

        ๙) สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งจิต หายใจออก

             สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งจิต หายใจเข้า

        ๑๐) สำเหนียกว่า จักยังจิตให้บันเทิง หายใจออก

              สำเหนียกว่า จักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า

        ๑๑) สำเหนียกว่า จักตั้งจิตมั่น หายใจออก

              สำเหนียกว่า จักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า

        ๑๒) สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิต หายใจออก

              สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิต หายใจเข้า

     หมวดสี่ ที่ ๔ ใช้บำเพ็ญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้

        ๑๓) สำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก

               สำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า

       ๑๔) สำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นความคลายออก หายใจออก

               สำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นความคลายออก หายใจเข้า

        ๑๕) สำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก

              สำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า

        ๑๖) สำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นความสลัดเสียได้ หายใจออก

               สำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นความสลัดเสียได้ หายใจเข้า *


     ในที่นี้   จักชี้แจงประกอบโดยย่อ  เฉพาะภายในขอบเขตที่เป็นสมถะ  ของจตุกกะแรก คือ หมวดสี่ที่ ๑ เท่านั้น*


    ค) วิธีปฏิบัติภาคสมถะ

     - เตรียมการ

     ก. สถานที่

     เริ่มต้น   ถ้าจะปฏิบัติอย่างจริงจัง   พึงหาสถานที่สงบสงัด* ไม่ให้มีเสียง และอารมณ์อื่นรบกวน  เพื่อให้บรรยากาศแวดล้อมช่วยเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ  โดยเฉพาะผู้เริ่มใหม่  เหมือนคนหัดว่ายน้ำ  ได้อาศัยอุปกรณ์ช่วย หรือเริ่มหัดในน้ำสงบ  ไม่มีคลื่นลมแรงก่อน  แต่ถ้าขัดข้องโดยเหตุจำเป็น หรือ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์จำเพาะสถานการณ์  ก็จำยอม


     ข. ท่านั่ง

     หลักการอยู่ที่ว่า  อิริยาบถใดก็ตาม   ที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายสบายที่สุด แม้ปฏิบัติอยู่นานๆ ก็ไม่เมื่อยล้า และทั้งช่วยให้การหายใจคล่องสะดวก  ก็ใช้อิริยาบถนั้น

     การปรากฏว่า อิริยาบถที่ท่านผู้สำเร็จนับจำนวนไม่ถ้วน  ได้พิสูจน์กันมาตลอดกาลนานนักหนาว่า ได้ผลดีที่สุดตามหลักการนั้น ก็คือ อิริยาบถนั่งในท่าที่เรียกกันว่า "ขัดสมาธิ" หรือที่พระเรียกว่า "นั่งคู้บัลลังก์"

     ตั้งกายตรง คือ ให้ร่างกายท่อนบนตั้งตรง กระดูกสันหลัง ๑๘ ข้อ มีปลายจดกัน ท่านว่านั่งอย่างนี้ หนังเนื้อและเอ็นไม่ขด ลมหายใจก็เดินสะดวก เป็นท่านั่งที่มันคง เมื่อเข้าที่ดีแล้ว จะมีดุลยภาพอย่างยิ่ง กายจะเบา ไม่รู้สึกเป็นภาระ นั่งอยู่ได้แสนนาน โดยไม่มีทุกขเวทนารบกวน ช่วยให้จิตเป็นสมาธิง่ายขึ้น กัมมัฏฐานไม่ตก แต่เดินหน้าได้เรื่อย

     ตามที่สอนสืบกันมา  ยังมีเพิ่มว่า ให้ส้นเท้า เอาขาขวาทับขาซ้าย (หรือเอาขาซ้ายทับขาขวาก็ได้ไม่ห้าม) ฯลฯ รายละเอียดเหล่านี้  ขึ้นต่อดุลยภาพแห่งร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย

     ผู้ที่ไม่เคยนั่งท่านี้   หากทนหัดทำได้   ก็คงดี   แต่ถ้าไม่อาจทำได้  ก็อาจนั่งบนเก้าอี้ ให้ตัวตรงสบาย หรืออยู่ในอิริยาบถอื่นที่สบายพอดี

     มีหลักการสำทับอีกว่า   ถ้ายังนั่งไม่สบาย   มีอาการเกร็ง หรือเครียด พึงแก้ไขเสียให้เรียบร้อยก่อนปฏิบัติต่อไป ส่วนตาจะหลับหรือลืมก็ได้ สุดแต่สบาย และใจไม่ซ่าน ถ้าลืมตา ก็อาจทอดลง หรือมองที่ปลายจมูกให้เป็นที่สบาย*

     เมื่อนั่งเข้าที่สบายดีพร้อมแล้ว  ก่อนจะเริ่มปฏิบัติ   ปราชญ์บางท่านแนะนำว่า ควรหายใจยาวลึกๆ และช้าๆเต็มปอด สัก ๒-๓ ครั้ง พร้อมกับตั้งความรู้สึกให้ตัวโล่ง และสมองโปร่งสบายเสียก่อน แล้วจึงหายใจโดยกำหนดนับตามวิธีการ


     - ขั้นปฏิบัติ คือ ลงมือกำหนดลมหายใจ

       พระอรรถกถาจารย์   ได้เสนอวิธีการเพิ่มเติม   เช่น   การนับ  เข้ามาเสริมการปฏิบัติตามพุทธพจน์ที่ยกมาแสดงข้างต้นแล้วด้วย  มีความที่ควรทราบ ดังนี้


ก. การนับ (คณนา)

     เริ่มแรก ในการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ยาว-สั้นนั้น  ท่านว่าให้นับไปด้วย เพราะการนับจะช่วยตรึงจิตได้ดี  การนับแบ่งเป็น ๒ ตอน

     235 ช่วงแรก   ท่านให้นับช้าๆ  การนับมีเคล็ดหรือกลวิธีว่า  อย่านับต่ำ กว่า ๕ แต่อย่าให้เกิน ๑๐ และให้เลขเรียงลำดับ อย่าโจนข้ามไป   (ถ้าต่ำกว่า ๕ จิตจะดิ้นรนในโอกาสอันแคบ ถ้าเกิน ๑๐ จิตจะไปพะวงที่การนับ แทนที่จะจับอยู่กับกรรมฐาน คือลมหายใจ ถ้านับขาดๆ ข้ามๆ จิตจะหวั่นจะวุ่นไป)

     ให้นับที่หายใจเข้า-ออกอย่างสบายๆ เป็นคู่ๆ คือ ลมเข้าว่า ๑ ลมออก ว่า ๑ ลมเข้าว่า ๒ ลมออกว่า ๒ อย่างนี้เรื่อยไป จนถึง ๕,๕ แล้วตั้งต้นใหม่ ๑,๑ จน ถึง ๖,๖ แล้วตั้งต้นใหม่ เพิ่มทีละคู่ไปจนครบ ๑๐ คู่ แล้วกลับย้อนที่ ๕ คู่ใหม่ จนถึง ๑๐ คู่ อย่างนั้นเรื่อยไป
  
     พอจะเขียนให้ดูได้   ดังนี้ *

๑,๑ ๒,๒ ๓,๓ ๔,๔ ๕,๕

๑,๑ ๒,๒ ๓,๓ ๔,๔ ๕,๕ ๖,๖

๑,๑ ๒,๒ ๓,๓ ๔,๔ ๕,๕ ๖,๖ ๗,๗

๑,๑ ๒,๒ ๓,๓ ๔,๔ ๕,๕ ๖,๖ ๗,๗ ๘,๘

๑,๑ ๒,๒ ๓,๓ ๔,๔ ๕,๕ ๖,๖ ๗,๗ ๘,๘ ๙,๙

๑,๑ ๒,๒ ๓,๓ ๔,๔ ๕,๕ ๖,๖ ๗,๗ ๘,๘ ๙,๙ ๑๐,๑๐

๑,๑ ๒,๒ ๓,๓ ๔,๔ ๕,๕

๑,๑ ๒,๒ ๓,๓ ๔,๔ ๕,๕ ๖,๖

ฯลฯ

     235 ช่วงสอง ท่านให้นับเร็ว กล่าวคือ เมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏแก่ใจชัดเจนดีแล้ว (จิตอยู่กับลมหายใจ โดยลมหายใจช่วยตรึงไว้ได้ ไม่ส่าย ฟุ้งไปภายนอก) ก็ให้เลิกนับช้าอย่างข้างต้นนั้นเสีย เปลี่ยนเป็นนับเร็ว

     คราวนี้ ไม่ต้องคำนึงถึงลมเข้าใน หรือออกนอก กำหนดลมที่มาถึงช่องจมูก นับเร็วๆ จาก ๑ ถึง ๕ แล้วขึ้นใหม่ ๑ ถึง ๖ เพิ่มทีละหนึ่งเรื่อยไป จน ๑ ถึง ๑๐ แล้วเริ่ม ๑ ถึง ๕ ใหม่อีก จิตจะแน่วแน่ด้วยกำลังการนับ เหมือนเรือตั้งลำแน่วในกระแสน้ำเชียวด้วยอาศัยถ่อ

     เมื่อนับเร็วอย่างนั้น กรรมฐานก็จะปรากฏต่อเนื่อง เหมือนไม่มีช่องว่าง พึงนับเร็วๆ อย่างนั้นเรื่อยไป ไม่ต้องกำหนดว่าลมเข้าในออกนอก เอาสติกำหนด ณ จุดที่ลมกระทบ คือที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากบน (แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วแต่ที่ใดรู้สึกชัด) เท่านั้น

     เขียนให้ดูกันได้ ดังนี้

๑ ๒ ๓ ๔ ๕

๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖

๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗

๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘

๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙

๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐

๑ ๒ ๓ ๔ ๕

๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖

ฯลฯ

     กำหนดนับอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าเมื่อใด แม้ไม่นับแล้ว สติก็ยังตั้งแน่วอยู่ได้ในอารมณ์ คือ ลมหายใจเข้าออกนั้น (วัตถุประสงค์ของการนับ ก็เพื่อให้สติตั้งแน่วอยู่ได้ในอารมณ์ ตัดความคิดฟุ้งซ่านไปภายนอกได้นั่นเอง)


     ข. การติดตาม (อนุพันธนา)

     เมื่อสติอยู่ที่แล้ว คือ จิตอยู่กับลมหายใจโดยไม่ต้องนับแล้ว ก็หยุดนับเสีย แล้วใช้สติติดตามลมหายใจ ไม่ให้ขาดระยะ ที่ว่าติดตามนี้ มิใช่หมายความว่าตามไปกับลมที่เดินผ่านจมูก เข้าไปจุดกลางตรงหัวใจ ลงไปสุดแถวสะดือ แล้วตามลมจากท้องขึ้นมาที่อก แล้วออกมาที่จมูก เป็นต้นลม กลางลม ปลายลม ถ้าทำอย่างนั้น ทั้งกายใจจะปั่นป่วนวุ่นวาย เสียผล

     วิธีตามที่ถูกต้อง คือ ใช้สติตามลมอยู่ตรงจุดที่ลมกระทบ (ปลายจมูก หรือริมฝีปากบน) นั่นแหละ

     เปรียบเหมือนคนเลื่อยไม้ ตั้งสติไว้ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้เท่านั้น จะได้ใส่ใจฟันเลื่อยที่มาหรือไป ส่ายตาไปตามหัวเลื่อย กลางเลื่อย ปลายเลื่อย ก็หาไป แต่ทั้งที่ตามองอยู่ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้แห่งเดียว ฟันเลื่อยที่มาหรือไป เขาก็ตระหนักรู้ และโดยวิธีนี้ งานของเขาก็สำเร็จด้วยดี

     ผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน เมื่อตั้งสติไว้ที่จุดลมกระทบ ไม่ส่ายใจไปตามลมที่มาหรือไป ก็รู้ตระหนักถึงลม ทั้งที่มาและไปนั้นได้ และโดยวิธีนี้ การปฏิบัติจึงจะสำเร็จ

     ในระยะนี้ สำหรับผู้ปฏิบัติบางท่าน นิมิตจะเกิด และสำเร็จอัปปนาสมาธิโดยเร็ว แต่บางท่านจะค่อยเป็นค่อยไป คือ ตั้งแต่ใช้วิธีนับมา ลมหายใจจะละเอียดยิ่งขึ้นๆ ร่างกายผ่อนคลายสงบเต็มที่ ทั้งกายและใจรู้สึกเบาเหมือนดังตัวลอยอยู่ในอากาศ

     เมื่อลมหายใจที่หยาบหมดไปแล้ว จิตของผู้ปฏิบัติ จะยังมีนิมิตแห่งลมหายใจที่ละเอียดเป็นอารมณ์อยู่ แม้นิมิตนั้นหมดไป ก็ยังมีนิมิตแห่งลมที่ละเอียดกว่านั้นอยู่ในใจต่อๆไปอีก

     เปรียบเหมือนเมื่อเอาแท่งโลหะเคาะกังสดาล หรือเคาะระฆัง ให้มีเสียงดังขึ้นฉับพลัน จะมีนิมิต คือเสียงแว่วเป็นอารมณ์ที่อยู่ในใจไปได้นาน เป็นนิมิตเสียงที่หยาบ แล้วละเอียดเบาลงไปๆ ตามลำดับ

     แต่ถึงตอนนี้ จะมีปัญหาสำหรับสำหรับกรรมฐานลมหายใจนี้โดยเฉพาะ กล่าวคือ แทนที่ยิ่งกำหนดไป อารมณ์จะยิ่งชัดมากขึ้นเหมือนกัมมัฏฐานอื่น แต่สำหรับกัมมัฏฐานนี้ ยิ่งเจริญไป ลมหายใจยิ่งละเอียดขึ้นๆ จนไม่รู้สึกเลย ทำให้ไม่มีอารมณ์สำหรับจับหรือกำหนด

     เมื่อปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ท่านแนะนำว่า อย่าเสียใจ อย่าลุกเลิกไปเสีย พึงเอาลมกลับมาใหม่

     วิธีเอาลมคืนมา ก็ไม่ยาก ไม่ต้องตามหาที่ไหน  เพียงตั้งจิตไว้ ณ จุดที่ลมกระทบตามปรกตินั่นแหละมนสิการ คือ กำหนดนึกถึงว่า ลมหายใจกระทบที่ตรงนี้ ไม่ช้าก็จะปรากฏ แล้วกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐานนั้นต่อเรื่อยไป ไม่นาน นิมิตก็จะปรากฏ*

     นิมิตนั้น  ปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติไม่เหมือนกัน  บ้างก็รู้สึกเหมือนปุยนุ่น บ้างเหมือนปุยฝ้าย บ้างว่าเหมือนสายลม  บางท่านปรากฏเหมือนดวงดาว หรือเหมือนเม็ดมณีบ้าง ไข่มุกบ้าง เม็ดฝ้าย หรือเสี้ยนไม้ ซึ่งมีสัมผัสหยาบบ้าง เหมือนสายสังวาลบ้าง พวงดอกไม้บ้าง เปลวควันบ้าง ข่ายใยแมงมุมบ้าง แผ่นเมฆบ้าง ดอกบัวบ้าง ล้อรถบ้าง ตลอดจนเหมือนวงพระจันทร์ หรือวงพระอาทิตย์ เป็นต้น ก็มี

     ที่เป็นเช่นนี้  เพราะนิมิตนั้น  เป็นของเกิดจากสัญญา  และสัญญาของคนแต่ละคน ก็ต่างๆกันไป

     เมื่อได้นิมิตแล้ว  ก็ไปบอกอาจารย์ให้ทราบ (เป็นการตรวจสอบไปในตัว กันเข้าใจผิด) ต่อนั้นก็คอยตั้งจิตไว้ในนิมิตนั้นเรื่อยๆ

     เมื่อนิมิตนั้น   (ปฏิภาคนิมิต)   เกิดขึ้น  นิวรณ์ก็ระงับ สติมั่นคง จิตตั้งแน่ว เป็นอุปจารสมาธิ

     ผู้ปฏิบัติต้องพยายามรักษานิมิตนั้นไว้  (ซึ่งก็คือรักษาสมาธิด้วยนั่นเอง) โดยเว้นอสัปปายะ เสพสัปปายะ ๗  มนสิการบ่อยๆ ให้นิมิตเจริญงอกงาม  โดยปฏิบัติตามวิธีการที่จะช่วยให้เกิดอัปปนา (อัปปนาโกศล ๑๐) เช่น ประกอบความเพียรให้สม่ำเสมอ เป็นต้น จนในที่สุด อัปปนาสมาธิ ก็จะเกิดขึ้น บรรลุปฐมฌาน






*  เรือนว่าง แปลจาก  "สูญญาคาร"  แต่ วิสุทธิ.2/57  ให้แปลว่าที่ว่าง (= ที่ว่างจากเรือน) ได้แก่ เสนาสนะ ๗ อย่าง นอกจากป่าและโคนไม้

อานาปานสติครบกระบวนอย่างนี้  อรรถกถาเรียกว่า โสฬสวัตถุกอานาปานสติกรรมฐาน (อานาปานสติกรรมฐาน มีวัตถุคือหัวข้อ ๑๖)  แยกออกเป็นจตุกกะ  (หมวดสี่) ๔ หมวด ดังได้แสดงแล้ว ดู วิสุทฺธิ.๒/๕๒

   บางท่านชี้ให้สังเกตความแตกต่าง ระหว่างอานาปานสติ กับวิธีฝึกหัดเกี่ยวกับลมหายใจของลัทธิอื่นๆ เช่น การบังคับควบคุมลมหายใจของโยคะ ที่เรียกว่า ปราณยาม เป็นต้น ว่าเป็นคนละเรื่องกันทีเดียว โดยเฉพาะว่า อานาปานสติ เป็นวิธีฝึกสติ ไม่ใช่ฝึกหายใจ คือ อาศัยลมหายใจ เป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับฝึกสติ  ส่วนการฝึกบังคับลมหายใจนั้น บางอย่างรวมอยู่ในวิธีบำเพ็ญ ทุกรกิริยา ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบำเพ็ญ และละเลิกมาแล้ว


สำเหนียก (- เหฺนียก) ก. ฟัง, คอยเอาใจใส่, กำหนดจดจำ 

* มติของอรรถกถาว่า  ผู้เริ่มต้น  พึงปฏิบัติได้เฉพาะจตุกกะแรก  คือ หมวดสี่ที่ ๑ นี้เท่านั้น  ส่วนจตุกกะที่เหลือจากนี้   ปฏิบัติได้ต่อเมื่อบรรลุฌานแล้ว

   อนึ่ง   เฉพาะสามจตุกกะต้นเท่านั้น  ใช้ได้ทั้งสมถะ และวิปัสสนา  จตุกกะสุดท้าย  ใช้ได้แต่สำหรับวิปัสสนาอย่างเดียว (วิสุทธิ.2/66,84)


* พระอรรถกถาจารย์ถือว่า  อานาปานสติ   เป็นกรรมฐานที่หนัก  เจริญยาก ท่านถึงกับสำทับความสำคัญไว้ว่า อานาปานสติเป็นยอดในประเภทกรรมฐาน  เป็นภูมิมนสิการของพระพุทธเจ้า   พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรชนิดมหาบุรุษ เท่านั้น  ไม่ใช่การนิดหน่อย  มิใช่การที่สัตว์เล็กน้อยจะสร้องเสพได้   ถ้าไม่ละที่มีเสียงอื้ออึง   ก็บำเพ็ญได้ยาก   เพราะเสียงเป็นข้าศึกแห่งฌาน และในการมนสิการต่อๆไป   ก็จะต้องใช้สติปัญญาที่กล้าแข็งด้วย  ท่านอ้างพุทธพจน์ที่  ม.อุ.14/289/196  มาสนับสนุนว่า   "ภิกษุทั้งหลาย  เราไม่กล่าวอานาปานสติ   แก่คนที่มีสติเลอะเลือน   ไร้สัมปชัญญะ"   (ดู วิสุทธิ.2/55,75)   อย่างไรก็ตาม    น่าสังเกตว่า    ในเมื่อท่านว่าอานาปานสติยิ่งใหญ่  ทำยากอย่างนี้    เหตุไฉนท่านจึงว่าเป็นกรรมฐานที่เหมาะแก่คนโมหจริตด้วย

*  ความในวิสุทธิมัคค์ตอนนี้   คงจะเขียนรวบรัดเกินไป  ผู้อ่านจับความออกมาต่างๆกัน ดูของไทย ฝรั่ง  ลังกาแล้ว  ไม่ใคร่จะตรงกันนัก  เพื่อสะดวก จึงเอาอย่างที่เรียนกันมาในเมืองไทย  (การเริ่มนับ  จะตั้งต้นที่ลมเข้าหรือลมออกก็ได้  แล้วแต่อย่างไหนใครชัด)  

   อนึ่ง  พึงทราบว่า  ตัวอย่างวิธีปฏิบัติที่แสดงในที่นี้  เขียนตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ให้เห็นแบบแผนเดิม   ผู้ปฏิบัติจะยักเยื้องไปอย่างอื่นอีกก็ได้  เช่น  อย่างที่สำนักต่างๆ ในปัจจุบัน สอนให้ว่าพุทโธบ้าง  อย่างอื่นบ้าง   กำกับลมหายใจเข้าหายใจออก  แทนการนับ  เป็นต้น  (สาระอยู่ที่เป็นอุบายตรึงจิตไว้เท่านั้น)


*  ในการปฏิบัติตามนัยอรรถกถา   ช่วงอนุพันธนา   มาจนถึงนิมิตปรากฏนี้  มีขั้นตอนแทรกอยู่ด้วยอีก ๒ คือ  ผุสนา  (การกำหนดความกระทบแห่งลมหายใจ ของผู้ใช้สติตามลม ซึ่งกำลังตั้งจิตจะให้เป็นอัปปนา และตั้งจิตกำหนดอยู่ปลายจมูก) และฐปนา  (การตั้งจิตไว้ในอารมณ์อย่างแน่วแน่   จนเป็นอัปปนา   โดยเฉพาะตอนต่อจากนี้ไปที่ว่า  ตั้งจิตไว้ในนิมิต รักษานิมิตไว้   ประคับประคองจนบรรลุอัปปนาสมาธิ   เป็นขั้นตอนของฐปนาล้วนๆ)

   หลังจากได้ฌานแล้ว  ถ้าใช้กัมมัฏฐานนี้ทำวิปัสสนาต่อไป ก็เรียกว่า ขั้นสัลลักขณา  (กำหนด คือ กำหนดพิจารณาไตรลักษณ์)  จนในที่สุดก็ถึงมรรค เรียกว่าเป็นวิวัฏฏนา (หมุนออก) และบรรลุผลเรียกว่าเป็นปาริสุทธิ  (หมดจดจากกิเลส) แล้วจบลง ด้วยปฏิปัสสนา (ย้อนดู) คือ พิจารณามรรคผลที่ได้บรรลุ (ได้แก่ปัจจเวกขณะนั่นเอง)   นับตั้งแต่คณนา ถึงจบสิ้น เป็น ๘ ขั้น


 


Create Date : 31 ตุลาคม 2566
Last Update : 1 พฤษภาคม 2567 9:03:43 น. 0 comments
Counter : 117 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space