Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
9 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 

. . . ปตท.ลดราคาเบนซินลิตรละ 60 สตางค์ . . .

...

ปตท.ลดราคาเบนซินลิตรละ 60 สตางค์

ในวันนี้ (9 ก.ค.) ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 137.52 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันสำเร็จรูปเบนซิน 95 ที่ตลาดสิงคโปร์อยู่ที่ระดับ 143.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปตท. จึงได้ลดราคาน้ำมันขายปลีกกลุ่มเบนซินลง 60 สตางค์ต่อลิตร มีตั้งแต่ผลวันที่ 10 กรกฎาคม เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

ทำให้ราคาน้ำมันในเขต กทม. และปริมณฑล ของ ปตท. เป็นดังนี้

น้ำมันเบนซิน พีทีที E20 พลัส 37.29บาท/ลิตร (ถูกกว่าเบนซิน 95 ถึง 6 บาท)
น้ำมันเบนซิน พีทีที แก๊สโซฮอล์ พลัส 95 38.59 (ถูกกว่าเบนซิน 95 ถึง 4.70 บาท)
น้ำมันเบนซิน พีทีที แก๊สโซฮอล์ พลัส 91 37.79 (ถูกกว่าเบนซิน 91 ถึง 4.40 บาท)
น้ำมันเบนซิน พีทีที อัลฟา เอ็กซ์ 91 42.19
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พีทีที B5 พลัส 43.54 (ถูกกว่าดีเซล ถึง 0.70 บาท)
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พีทีที เดลต้า เอ็กซ์ 44.24

การอ่อนตัวลงของราคาน้ำมันโลกในระยะนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และธนาคารกลางยุโรปเพิ่มอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งอิรักเปิดประมูลแหล่งน้ำมันดิบ 6 แห่ง

ประกอบกับ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่านตอบรับข้อเสนอที่จะเจรจากับหัวหน้าคณะกรรมการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปในประเด็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน และมีแผนเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ จึงทำให้ราคาอ่อนตัวลงดังกล่าว

...




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2551
2 comments
Last Update : 9 กรกฎาคม 2551 13:35:37 น.
Counter : 567 Pageviews.

 

ผลกระทบการเมืองต่อเศรษฐกิจ

นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ว่าเสถียรภาพของรัฐบาลปัจจุบันเป็นปัญหาหนัก และไม่สามารถตอบได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด จากการที่รัฐมนตรีหลายกระทรวง ต้องทยอยขึ้นศาลทำให้การดำเนินนโยบาย ไม่สามารถขับเคลื่อนได้

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า หากเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีทุนสำรองในประเทศน้อย แต่เสถียรภาพทางการเมืองมั่นคง ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการบริหารทำได้ต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันถึงแม้จะมีทุนสำรองในประเทศสูง แต่เสถียรภาพทางการเมืองถือว่าเป็นศูนย์ ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่เกินผล นโยบายต่างๆ ชะลอตัว

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า จะมีโอกาสที่จะเกิดปฏิวัติรัฐประหารในรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ แต่ประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้


นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า จากปัญหาการเมืองในปัจจุบัน หากรัฐบาลจะหาทางออกด้วยการตัดสินใจยุบสภา ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน เพราะจะทำให้ประเทศขาดผู้บริหาร การดำเนินนโยบายจะชะลอตัว ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลควรจะต้องหารือร่วมกันในแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี ส่วนในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินคดียุบพรรคการเมืองต่างๆของศาล ว่าจะออกมาอย่างไรต่อไป

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า การมีรัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน นักลงทุนต่างชาติจะให้ความมั่นใจมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ


นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ว่า ถือเป็นเรื่องของการเมือง นักการเมืองจะต้องไปจัดการแก้ปัญหา แต่โดยส่วนตัวไม่อยากให้เกิดความรุนแรง เพราะไม่เป็นผลดีต่อใคร จึงอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจากันด้วยเหตุผล และมีการปรับตัวเพื่อให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

นายโฆสิต กล่าวว่า ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ที่เศรษฐกิจติดลบ มาจนถึงขณะนี้เศรษฐกิจมีการเติบโตแต่ละปีดีขึ้นและหลายสำนักคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะมีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5-6 ถือเป็นเรื่องที่รับได้

แต่หากสถานการณ์การเมืองเกิดความรุนแรงและมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงเหลือขยายตัวร้อยละ 4 ซึ่งยังถือว่าดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา และเท่าที่ติดตามและพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติพบว่า ส่วนใหญ่นักลงทุนต่างชาติไม่ได้วิตกปัญหาการเมืองของไทยมากนัก เห็นได้จากต่างชาติยังมีการลงทุนในระยะยาว ซึ่งมองผลกำไรระยะยาวมากกว่าระยะสั้น


นายชาติศิริ โสภณพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันว่า เศรษฐกิจในขณะนี้มีการขยายตัวได้ด้วยปัจจัยพื้นฐาน แม้จะมีปัญหา ในเรื่องของราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ทั้งปัญหาการเติบโตของตลาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชีย แต่เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ก็สามารถขยายตัวได้ดีและมีเสถียรภาพ

. . .



ปัญหาเงินเฟ้อ-แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูง


ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เตือนครึ่งปีหลังระวังปัญหาเงินตึงตัว

นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน เอ็กซิม ฟอรัม ครั้งที่ 2 เรื่อง “ปัญหาเงินเฟ้อและมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม” ว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 ประเทศไทยจะประสบภาวะเงินตึงตัว โดยเงินออมในระบบจะลดลง แต่ภาวะความต้องการสูงขึ้น ทำให้ขาดเงินหมุนเวียนในภาคการผลิต

ภาวะเงินตึงตัวจะกระทบภาคธุรกิจ เพราะการให้เวลาชำระเงินจะสั้นลง เช่น เดิมให้ระยะเวลา 3 เดือน จะลดลงเหลือ 1-2 เดือน และต่อไปอาจต้องจ่ายเงินสดซื้อสินค้า ใช้เงินหมุนเวียนในธุรกิจเร็วขึ้น ผู้ประกอบการจะลดสินค้าในสต็อก เพราะมีต้นทุนแพง ทำให้ธุรกิจรายย่อยที่ต้องใช้เงินสดหมุนเวียนในกิจการอยู่ไม่ได้ จากเดิมที่มีระยะเวลาชำระหนี้ในระยะยาว

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 หรือ 0.5 แต่รัฐบาลควรใช้นโยบายการคลังแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ โดยตั้งงบประมาณแบบขาดดุล เร่งการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งรัดลงทุนก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ สร้างระบบชลประทาน โครงการประหยัดพลังงาน แม้การชะลอปรับขึ้นราคาน้ำมันจะทำได้ด้วยการลดภาษี แต่ไม่แนะนำให้ทำ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งรัดระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า

นอกจากนี้ นายวีรพงษ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มเปราะบางจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนจะอ่อนค่าเกิน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และแตะ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นอีก


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 16 กรกฎาคมนี้ เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.25 นั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องในแวดวงการเงิน ทราบอยู่แล้วถึงความจำเป็นที่ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 8.9 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมั่นใจในการตัดสินใจของ กนง. เพราะ กนง.ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา และเชื่อว่าจะมีการพิจารณาอย่างระมัดระวัง ไว้ใจได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องเป็นห่วง

. . .

ธนาคารกรุงเทพ ระบุเงินเฟ้อส่งผลเงินออมลดลง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพิจารณาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในขณะนี้เป็นเรื่องที่ยากต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้ชัดเจนพอที่จะชี้ทิศทางได้ดีเหมือนกับในอดีต รวมทั้งมีหลายองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึง และยังมีความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ที่แตกต่างกันมาก

นายโฆษิต กล่าวว่า กนง. ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านอัตราเงินเฟ้อ มากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับร้อยละ 6 ซึ่งถือว่าดีอยู่ และไม่น่าเป็นห่วง แต่หาก กนง. ปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน และสุดท้ายแล้วอัตราเงินเฟ้อก็จะเป็นตัวกดดันให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังปัญหาเงินเฟ้อก็จะน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น

สำหรับกิจการของธนาคารพาณิชย์ ขณะนี้แม้ว่าสินเชื่อยังขยายตัวได้ดี แต่ด้านเงินออมปรับตัวลดลง เพราะดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ

ส่วนปัญหาหนี้เสีย (NPL) แม้ว่าเงินเฟ้ออาจทำให้ NPL เพิ่มขึ้น แต่คงจะไม่เพิ่มมากเหมือนในอดีตที่ NPL ของธนาคารเคยขึ้นไปสูงถึง 7% โดยครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 3-4% ซึ่งธนาคารเองก็พยายามทำงานเชิงคุณภาพมากขึ้น

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพ นายชาติศิริ โสภณพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยขอรอดูสภาพตลาดก่อน แต่อย่างไรก็ตามสภาพคล่องในปัจจุบันถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

. . .




นักวิชาการจากจุฬาฯ ชี้ปัญหาเงินเฟ้อน่าห่วงกว่าการเมือง

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา “เศรษฐกิจไทยในวิกฤติเศรษฐกิจโลกและแนวทางปรับตัวอุตสาหกรรมของไทย” ว่า ศัตรูที่ร้ายกาจของเศรษฐกิจไทยคือปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ธปท.จะต้องดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกิน 2 หลัก

นายสมภพ กล่าวว่า หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอยู่ระดับร้อยละ 8-9 ถือว่าสูงเกินไป เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 จากปัจจุบันร้อยละ 3.25 เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อพื้นฐานที่กำหนดไว้ร้อยละ 0 - 3.5 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน เกินเป้าไปแล้ว โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่ง ธปท.ต้องควบคุมให้อยู่
ประกอบกับปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับขึ้น และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) ทำให้ธนาคารขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ หันไประดมเงินจากตลาดอาร์พีมากขึ้น

นายสมภพ กล่าวว่า ประเทศไทยควรจะคุมอัตราเงินเฟ้อให้ใกล้เคียงประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย หากอัตราเงินเฟ้อไทยปรับขึ้น 2 หลักจะหลุดไปอยู่ในกลุ่มเวียดนาม และอินโดนีเซีย เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อไทยสูงกว่าจีนแล้ว โดยเงินเฟ้อไทยอยู่ระดับร้อยละ 8.9 แต่จีนร้อยละ 7 หากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมากจะเกิดปัญหาตามมามากมายทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนรัฐบาลรับมือไม่ไหว เพราะจะมีการประท้วงของกลุ่มแรงงาน ปัญหาอาชญากรรมตามมา ส่วนปัญหาการเมือง ขณะนี้ถือว่ามีความชัดเจน และมองว่าเป็นปัจจัยที่ไม่รุนแรงเท่ากับเงินเฟ้อ

นายสมภพ เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 5 การส่งออกที่ตั้งเป้าจะเติบโตร้อยละ 12.5 คาดว่าจะทำได้ดีกว่าเป้า โดยการส่งออกทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 15-16 เพราะในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 22
ธปท.ควรจะดูแลค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอัตราที่เหมาะสม โดย ธปท.เข้ามาพยุงให้อยู่ระดับนี้ไม่ยากนัก เพราะประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งค่าเงินบาทระดับดังกล่าวจะทำให้ผู้ส่งออกไทยได้เงินเพิ่มขึ้นอีก 300,000-400,000 ล้านบาท

. . .



เอ็กซิมแบงก์หวั่นแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยซ้ำเติมประชาชน

กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ หวั่น แบงก์ชาติ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยซ้ำเติมประชาชนและผู้ประกอบการที่มีสินเชื่ออยู่ในสถาบันการเงิน

นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากราคาน้ำมันในตลาดโลก มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับราคาสินค้าในภาคเกษตร ซึ่งมีการปรับราคาตามน้ำมัน

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้แล้ว จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับภาคครัวเรือน และผู้ประกอบการ ซึ่งมีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน กว่า 7 ล้านล้านบาท


นางดวงพร อาภาศิลป์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) กล่าวในงาน
สัมมนา “กลยุทธ์การเผชิญหน้ากับอัตราดอกเบี้ยผันผวน” ว่า การดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพด้วยอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยในการประชุม กนง. วันที่ 16 ก.ค.นี้ คาดว่าคงปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
แต่ กนง.ก็ต้องดูทั้งภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศและแนวโน้มของตลาดโลก โดยขณะนี้ภาคครัวเรือนทั้งประเทศมีภาระหนี้ประมาณร้อยละ 63.3 ไม่มีภาระหนี้ร้อยละ 36.7 เฉลี่ยภาระหนี้ต่อครัวเรือนประมาณ 116,681 บาท และพบว่าร้อยละ 31.3 ของหนี้ภาคครัวเรือน เป็นหนี้จากการเช่าซื้อบ้าน และที่ดิน หากมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่อภาระการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นในการผ่อนชำระค่าบ้าน

. . .



ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เตือนผู้ซื้อบ้านมีภาระผ่อนบ้านเพิ่ม จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ในส่วนของ ธอส.ช่วงที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สำหรับเงินฝากประเภท 3-6 เดือน ถึง 1 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25-1.00 แต่ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะตรึงได้ประมาณ 1-2 เดือน

ทางด้านสินเชื่อ หากมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 จะทำให้ลูกค้ากู้เงินซื้อบ้าน 1 ล้านบาท จะต้องผ่อนชำระเพิ่มจาก 7,500 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 8,000 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มประมาณ 500-600 บาทต่อเดือน จึงแนะนำให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านใหม่ที่มีโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3-6 เดือนหรือ 1 ปีแรก ต้องพิจารณาแนวโน้มดอกเบี้ยที่อาจขยับเพิ่มขึ้นด้วย เพราะหลังจากหมดระยะเวลาดอกเบี้ยคงที่แล้ว จะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

สำหรับการผ่อนชำระค่างวดซื้อบ้าน ธนาคารจะกำหนดให้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 35 ของรายได้สุทธิ หากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจะดึงเงินใช้จ่ายประจำจากส่วนอื่น ทั้งราคาน้ำมัน ค่าอาหาร การเดินทางมาใช้ชำระค่างวดซื้อบ้าน

สำหรับตัวเลขเอ็นพีแอล ช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ตัวเลขเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12-13 จากปี 50 จะขยับเพิ่มอีกร้อยละ 2-3 ในปี 51 และหากประชาชนมีภาระเพิ่มจากปัญหาเศรษฐกิจ ธอส.ก็พร้อมเจรจากับลูกค้า ทั้งการลดค่าชำระแต่งวด การยืดเวลาการชำระเพื่อไม่ให้มีปัญหาเอ็นพีแอลมากขึ้น

ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้จะลดลง เพราะเป้าหมายการปล่อยสินเชื่ออาจลดลงจาก 94,000 ล้านบาท ลดลงเหลือ 80,000 ล้านบาท เพราะปัญหาความเสี่ยงทางการเมือง และเศรษฐกิจชะลอตัว

. . .



ปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคฉุดราคาสำเร็จรูปที่สิงคโปร์ลดลง

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ว่า ราคาน้ำมันเบนซินที่ตลาดสิงคโปร์ ปรับลดลง 1.86 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ปิดที่ 143.42 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เนื่องจากยังคงไม่มีแรงซื้อจากผู้นำเข้าหลักอย่างอินโดนีเซียและเวียดนามเข้ามาในตลาดในช่วงนี้ แม้ว่าอินโดนีเซียมีแผนที่จะนำเข้าน้ำมันเบนซินสำหรับเดือน ส.ค. 3.9 ล้านบาร์เรล แต่ก็ยังเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินเมื่อเดือน ก.ค.ที่ระดับ 3.6 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังจะปรับเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเกาหลีใต้และอินเดียไม่สามารถขนย้ายน้ำมันเบนซินไปขายยังแถบสหรัฐ และตะวันออกกลางได้

ส่วนราคาน้ำมันดีเซลที่ตลาดสิงคโปร์ ปรับลดลง 1.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ปิดที่ 174.43 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพราะอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ เนื่องจากโรงกลั่นในเอเชียเหนือได้กลับมา ดำเนินการตามปกติหลังจากที่มีการปิดซ่อมบำรุงประจำปี อีกทั้งยังไม่สามารถขนย้ายน้ำมันดีเซลไปขายยังแถบ ตะวันตกได้ ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาให้ปรับตัวลดลง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังปรับลดลง ด้วย เห็นได้จากอินโดนีเซียที่จะลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลสำหรับเดือน ส.ค. เหลือเพียง 6.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซลในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรล

สำหรับราคาน้ำมันดิบดูไบที่ตลาดสิงคโปร์ ปรับลดลง 1.34 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ปิดที่ 137.38 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล


. . .



นักวิชาการเชื่อราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงอีก 1- 2 ปีข้างหน้า

ในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2551 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “สถานการณ์พลังงานโลก และการปรับตัวของไทย”
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่แพงในขณะนี้ถือเป็นวิกฤตราคาน้ำมันรอบที่ 3 ซึ่งเชื่อว่าในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้า ราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากสหรัฐฯ ลดการนำเข้าน้ำมัน และการใช้น้ำมันในจีนน้อยลง รวมถึงจะมีกำลังการผลิตจากประเทศในกลุ่มโอเปก และนอกโอเปกมากขึ้น

แต่การเก็งกำไรจากกองทุน และความอ่อนไหวในกำลังการผลิตจากภัยธรรมชาติยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยง แม้ว่าราคาน้ำมันยังแพงขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองเหลือใช้ประมาณ 40 ปี และก๊าซธรรมชาติ เหลือใช้อีก 60 - 70 ปี ส่วนถ่านหินเหลือมากที่สุด คือ 150 ปี ดังนั้นในช่วง 10 - 20 ปี ข้างหน้าจะยังไม่เกิดภาวะขาดแคลนพลังงาน


. . .



ทีดีอาร์ไอ แนะเปลี่ยนแนวทางผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก

นายอัมมาร์ สยามวาลา รักษาการประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าสถานการณ์ราคาพลังงานที่แพงขึ้น ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้ไทยต้องเปลี่ยนแนวทางการผลิตไฟฟ้า จากที่เคยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หันมาใช้แหล่งพลังงานที่มีราคาถูก หรือผลิตผลทางการเกษตร เช่น แกลบให้มากขึ้น โดยจะต้องมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (ไอพีพี) ให้มากขึ้นเช่นกัน จากที่เคยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแห่งเดียวในการผลิตไฟฟ้า

นายอัมมาร์ กล่าวว่า การที่ทั่วโลกใช้ผลิตผลทางการเกษตร เพื่อเป็นพลังงานทดแทนมีผลกระทบ ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับสูงขึ้นบ้าง โดยเฉพาะราคาข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ได้นำพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่ใช้ข้าวโพดผลิตเอทานอล ประกอบกับมีการใช้ข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์สูงขึ้นมาก ทำให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม การใช้พืชทางการเกษตรผลิตเอทานอลจะคุ้มทุนหรือไม่ ต้องพิจารณาในหลายเรื่อง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพลังงาน ราคาพืชผลในระยาวและประสิทธิภาพในการแปรรูปพืชพลังงาน

เพราะในแง่หลักเศรษฐศาสตร์ จะพบว่า ในการผลิตพลังงานทดแทนจากผลิตผลเกษตร อาจจะไม่คุ้มค่า เนื่องจากจะต้องมีกระบวนการผลิต มันสำปะหลังและอ้อยให้เป็นเอทานอล ซึ่งจะต้องมีการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตเหล่านั้น ซึ่งทุกกระบวนล้วนแต่มีต้นทุน ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตร ทั้งอ้อยและมันสำปะหลังมีความผันผวนตามฤดูกาล ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของการผลิตเอทานอลผันผวนตามไปด้วย

แต่หากจะให้ใช้แหล่งพลังงานราคาถูกจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน หรือน้ำมันเตา ก็ยังเป็นพลังงานที่ยังไม่สะอาดเพียงพอ และจะมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ดังนั้นการใช้ผลิตผลทางการเกษตร จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มาใช้ทดแทนน้ำมันเบนซินที่เป็นพลังงานราคาแพง สำหรับเรื่องราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) นายอัมมาร์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะทยอยปรับขึ้นราคา โดยการปรับขึ้นควรทยอยปรับราคามากกว่า เพื่อให้สะท้อนต่อราคาตลาดที่แท้จริง

. . .



กระทรวงพลังงาน เผยมีแนวโน้มจะขึ้นราคา LPG ทั้งภาคครัวเรือน-ขนส่ง

พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเร่งพิจารณาปรับโครงสร้างราคา LPG เป็น 2 ราคา ซึ่งในส่วนของภาคครัวเรือน มีแนวโน้มที่อาจจำเป็นต้องปรับราคา เนื่องจากขณะนี้ราคา LPG ในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 950 เหรียญต่อตัน จากราคาในประเทศที่ 320 เหรียญต่อตัน ถึงแม้ว่ารัฐบาลอยากดูแลราคา LPG ในภาคครัวเรือนก็ตาม ขณะที่ภาคขนส่งต้องมีการปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน เนื่องจากมีรถยนต์หันมาติดตั้ง LPG ถึง 1 ล้านคัน

อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในเร็วๆ นี้


. . .

 

โดย: loykratong 9 กรกฎาคม 2551 19:11:22 น.  

 


ท่ามกลางข่าวร้ายก็มีข่าวดีนะคะ
" เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาสามารถขยายตัวได้ดีและมีเสถียรภาพ สภาพคล่องก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี NPL ก็น้อย ส่วนใหญ่นักลงทุนต่างชาติไม่ได้วิตกปัญหาการเมืองของไทยมากนัก เห็นได้จากต่างชาติยังมีการลงทุนในระยะยาว "
อิอิอิ คุณโทนี่ยาหอมหรือเปล่าอ่ะคะ แต่อ่านแล้วก็ชื่นใจนะคะ ไม่แพ้เซียงเพียงอิ้วเลยล่ะค่ะ .....55555.....
เอ๊ะๆ การซื้อน้ำมันเค้าซื้อกันวันต่อวันเลยเหรอคะ อิอิอิ ดีจังค่ะๆ พอราคาตลาดลดก็ลดราคาได้ทันทีเลยนะคะ .....55555...... น้ำมันมาจากสิงค์โปร์เร็วจังเลยนะคะ อิอิอิ



rain water>

ราตรีสวัสดิ์ ... วันที่ฝนตก ...

 

โดย: ทิวาจรดราตรี 9 กรกฎาคม 2551 22:06:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.