Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 

. . . เอ็นจีวี ( NGV ) หรือ แอลพีจี( LPG ) . . .ที่รัฐควรส่งเสริม . . .

...

... เอ็นจีวี หรือ แอลพีจี : ปมปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจ...
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลที่เป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในภาคการขนส่งที่มีราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และยังคงมีแนวโน้มที่ราคาอาจจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์พยายามที่จะมองหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาทดแทนการใช้น้ำมันที่มีราคาแพง เช่น แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล

นอกจากนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภาครัฐยังได้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles : NGV) หรืออีกชื่อหนึ่งว่าก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas : CNG) โดยอ้างจุดเด่นที่สำคัญหลายประการ แต่ปรากฏว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่กลับหันมาติดตั้งระบบก๊าซหุงต้ม(LPG) มากกว่า จนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซ LPG ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นระหว่างก๊าซ NGV และ LPG ได้กลายมาเป็นปมปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจ และดำเนินการโดยเร็ว


จุดเด่นของก๊าซ NGV

ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซ NGV ภาครัฐได้เน้นย้ำถึงจุดเด่นที่สำคัญของก๊าซ NGV ดังนี้

 คุณสมบัติทางกายภาพที่ปลอดภัย ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์เป็นก๊าซที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศเมื่อเกิดการรั่วไหลจึงลอยขึ้นสู่อากาศ อีกทั้งยังมีอุณหภูมิในการจุดระเบิดในอากาศ และอุณหภูมิในการติดไฟที่สูงกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่นมาก จึงทำให้ก๊าซ NGV มีความปลอดภัยสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น

นอกจากนั้น รถยนต์ที่จะทำการติดตั้งก๊าซ NGV จะต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐอย่างเข้มงวดตามกฎกระทรวง โดยสถานที่รับติดตั้งจะต้องได้รับการอนุญาตจากทางภาครัฐเท่านั้น รวมถึงรถยนต์ที่ติดตั้งเรียบร้อยจะต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบที่ภาครัฐแต่งตั้งขึ้น

นอกจากนั้นอุปกรณ์ก๊าซ NGV จะต้องผ่านการตรวจและทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยสากลในทุกๆ ด้าน อาทิ การทดสอบการรับแรงกดดัน การไหม้ไฟ การยิง และการชน จากกรมการขนส่งทางบก

อีกทั้งอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ NGV ที่มีคุณสมบัติทั่วไปที่แข็งแรงทนทานสูง เช่น ท่อจ่ายก๊าซ และสายต่อถังก๊าซที่ทำจากเหล็กหรือสแตนเลสจึงมีความคงทนมากกว่าสายท่อยางที่มักใช้กันมากในรถยนต์ที่ใช้ก๊าซหุงต้ม(LPG) เป็นเชื้อเพลิง


 ราคาเชื้อเพลิงที่ถูก ในปัจจุบัน ราคาเชื้อเพลิง NGV มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท หรือเท่ากับ 7.59 บาท/ลิตร (ณ ค่าความร้อนเท่ากับน้ำมันเบนซิน 95(E 10)) ซึ่งถือว่ามีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นทั้งเบนซิน และดีเซลที่มีราคาขยับสูงขึ้นไปถึงประมาณ 40 บาทต่อลิตร ถึงประมาณ 4 เท่าตัว และมีราคาถูกกว่าก๊าซ LPG ประมาณ 48.9 %

ซึ่งราคาก๊าซ LPG ในปัจจุบันภาครัฐยังคงช่วยตรึงราคา โดยมีราคาขายปลีกหน้าปั๊มอยู่ที่ประมาณ 11.3 บาทต่อลิตร

สำหรับในอนาคตแม้ว่า NGV จะมีการขยับขึ้นไปไม่เกินกิโลกรัมละ 12 และ 13 บาทในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ และปล่อยลอยตัวตั้งแต่ปี 2554 ก็ตาม แต่อย่างน้อยก๊าซ NGV ในระยะเริ่มต้นที่ปล่อยลอยตัวก็จะยังคงมีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลประมาณหนึ่งเท่าตัว ตามโครงสร้างต้นทุนและมติคณะรัฐมนตรี

ขณะที่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับก๊าซ LPG ซึ่งภาครัฐจะเริ่มทยอยปล่อยลอยตัวสำหรับภาคการขนส่งและอุตสาหกรรม โดยในเดือนกรกฎาคมจะปรับขึ้นตามขั้นบันไดไปอีกกิโลกรัมละ 2 - 4 บาท หรือประมาณ 1 - 2 บาท/ลิตร และจะทยอยปล่อยลอยตัวขึ้นไปตามราคาตลาดโลกที่แท้จริง
ซึ่งในที่สุดอาจมีราคาสูงถึงประมาณ 22-27 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ก๊าซ NGV จะยังคงมีราคาถูกกว่าก๊าซ LPG และน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ในปัจจุบัน

อีกทั้งจากโครงการทดสอบรถยนต์ใช้ NGV, LPG และเบนซิน ของกรมธุรกิจพลังงานร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พบว่าก๊าซ NGV จะมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่ต่ำกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และก๊าซ LPG ตามลำดับ


 ผลิตได้มากภายในประเทศ เนื่องด้วยก๊าซธรรมชาติสามารถค้นพบในบริเวณอ่าวไทย จึงถือเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศ การนำก๊าซธรรมชาติมาใช้จึงถือเป็นการช่วยลดปริมาณการนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันซึ่งมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการคำนวณอายุการใช้งานของก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พบว่าปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พร้อมนำขึ้นมาใช้ทันทีประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

เมื่อคำนวณจากความต้องการบริโภคในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 จะเพิ่มเป็น 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประเทศไทยจะสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติได้อีกประมาณ 25 ปี

แต่มีโอกาสที่จะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นได้อีก เนื่องจากเทคโนโลยีการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมสามารถค้นพบแหล่งก๊าซใหม่ๆ อยู่เสมอ

จากสถิติของบริษัทยูโนแคลฯ พบว่าในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถค้นพบแหล่งก๊าซใหม่ๆ ได้มากกว่าการผลิตขึ้นมาใช้ถึง 1.5 เท่า อีกทั้งการนำพลังงานทางเลือกใหม่ๆ มาใช้เพิ่มมากขึ้น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจได้ว่าก๊าซธรรมชาติจะมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศในระยะเวลาอีก 20 – 50 ปีข้างหน้า


 รัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุน ก๊าซ NGV ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่รัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุนเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ จำนวนมากทั้งมาตรการภาษี เช่น
- การขยายเวลายกเว้นอากรอุปกรณ์/ถัง NGV
- การยกเว้นภาษีนำเข้าแชสซี
- การยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูป (ซีเคดี)
- การขยายเวลาการลดภาษีรถยนต์เอ็นจีวีจากโรงงาน (รีโทรฟิต) เป็นต้น
และการส่งเสริมการลงทุนผลิตอุปกรณ์เอ็นจีวีในไทย
รวมถึงการเร่งรัดให้รถแท็กซี่ทุกคันหันมาใช้ NGV ภายในสิ้นปี 2551 และที่สำคัญคือหน่วยงานรัฐได้จัดทำแผน NGV road map เพื่อเป็นเป้าหมายในการขยายกำลังการผลิต จำนวนสถานีบริการ และจำนวนรถขนส่งก๊าซ
รวมถึงแผนการลงทุนจัดสร้างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯบนบกทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ด้วยงบประมาณถึง 51,650 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2555 โดยตั้งเป้าหมายให้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนการใช้น้ำมันในภาคขนส่งสูงถึง 20 % ณ สิ้นปี 2555


ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ...ประชาชนส่วนใหญ่กลับเลือกใช้ก๊าซแอลพีจี

แม้ว่าในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมาภาครัฐจะประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลถึงผลดีต่างๆ ของก๊าซ NGV แต่ในสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ที่ทนแบกรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหลัก เช่น เบนซินและดีเซลที่มีราคาสูงขึ้นมากไม่ไหว ต่างให้ความสนใจนำรถยนต์ไปติดตั้งระบบก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซ LPG มากกว่าที่จะเลือกติดตั้งก๊าซ NGV เนื่องจากข้อเท็จจริงที่เป็นจุดบกพร่องของการใช้ก๊าซ NGV ได้แก่

1.) ราคาค่าติดตั้งระบบ NGV ที่สูงกว่า และจำนวนสถานที่รับติดตั้งที่ได้มาตรฐานมีน้อย ด้วยราคาอุปกรณ์และค่าติดตั้ง NGV ที่มีราคาที่สูงกว่าการติดตั้งก๊าซ LPG ประมาณ 50 – 100 % อีกทั้งสถานที่รับติดตั้งก๊าซ NGV ที่ได้รับมาตรฐานการติดตั้งมีเพียง 49 แห่ง รวมถึงผู้ตรวจสอบอุปกรณ์มีเพียง 36 แห่ง จึงทำให้ผู้ที่มีรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซลหันไปติดตั้งก๊าซ LPG ที่มีราคาถูกกว่า และสถานที่รับติดตั้งที่มีมากกว่า ขณะที่ทางด้านรถยนต์ใหม่ที่จะออกจำหน่าย ได้มีค่ายรถยนต์เพียง 6 ค่ายที่สนใจและจะเริ่มทยอยผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ที่ติดตั้งก๊าซ NGV ออกมาจากโรงงานในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งยังคงมีปริมาณไม่มากนัก

2.) ประชาชนพิจารณาราคาก๊าซ LPG เทียบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหลักไม่ได้เทียบกับ NGV แม้ว่าราคาก๊าซ NGV จะมีราคาถูกกว่าก๊าซ LPG แต่ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ที่กำลังคิดจะปรับเปลี่ยนไปใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการเปรียบเทียบราคาก๊าซ NGV กับก๊าซ LPG แต่ทำการเปรียบเทียบราคาก๊าซ LPG กับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยราคาก๊าซ LPG ในปัจจุบันที่จำหน่ายลิตรละ 11.3 บาท ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซลถึงเกือบ 4 เท่าตัวในปัจจุบัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาติดตั้งระบบ LPG แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะทยอยปล่อยลอยตัวก๊าซ LPG สำหรับภาคขนส่งในอนาคตอันใกล้ ราคาก๊าซ LPG น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 22 – 27 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่ายังคงมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินหรือดีเซลเกือบหนึ่งเท่าตัวอยู่ดี

3.) ความสะดวกในการเติมก๊าซ NGV มีน้อยกว่า LPG เนื่องจากถังก๊าซ NGV ขนาด 70 ลิตรน้ำ หนึ่งถังสามารถจุก๊าซที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ให้วิ่งได้ในระยะทางประมาณ 150 – 200 กิโลเมตร ขณะที่ถังก๊าซ LPG ขนาดมาตรฐาน 58 กิโลกรัม เติมก๊าซเต็มถังสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 400 – 600 กิโลเมตร จึงทำให้รถยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV จะต้องเข้าปั๊มเพื่อเติมก๊าซบ่อยครั้งมากกว่าการใช้ก๊าซ LPG ถึงกว่าเท่าตัว ขณะที่จำนวนสถานีเติมก๊าซ NGV ในปัจจุบันที่มีเพียง 203 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งน้อยกว่าสถานีเติมก๊าซ LPG ที่มีสูงถึง 449 สถานีทั่วประเทศ

อีกทั้งประสบการณ์ที่ต้องเสียเวลารอเติมก๊าซ NGV แล้วก๊าซหมดกลางคันของผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ทำให้ต้องเสียเวลานานมากขึ้นในการรอก๊าซที่ขนส่งมาเพิ่ม ด้วยความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นจากการเติมก๊าซ NGV นี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ผู้ใช้รถยนต์หันไปติดตั้งก๊าซ LPG แทนก๊าซ NGV และผู้ที่เคยใช้ก๊าซ NGV และประสบปัญหาความไม่สะดวกดังกล่าวได้เผยแพร่ประสบการณ์ในแง่ลบสำหรับการใช้ก๊าซ NGV แก่ประชาชนผู้ใช้รถรายอื่นๆ ที่คิดจะติดตั้งก๊าซแทนน้ำมัน จึงทำให้ผู้สนใจติดตั้งก๊าซ NGV มีไม่มากเมื่อเทียบกับ LPG ในปัจจุบัน ดังจะสังเกตได้ตามอู่รับติดตั้งระบบก๊าซในรถยนต์ที่มีจำนวนผู้สนใจติดตั้งก๊าซ LPG มากจนต้องต่อคิวนานนับเดือน จนอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ LPG ขาดตลาด ขณะที่อุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ NGV ยังคงมีเหลือเพียงพอกับความต้องการจนถึงสิ้นปี

ผลกระทบจากการหันมาติดตั้งก๊าซ LPG ในรถยนต์

ด้วยกระแสความนิยมในการนำรถยนต์มาติดตั้งก๊าซ LPG ทำให้จำนวนรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นมาก โดยในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา มีรถยนต์ที่ติดก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นกว่า 600,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมาถึงเกือบ 100% โดยปัจจุบันมีรถยนต์ที่ติดก๊าซ LPG ถึงประมาณ 1,200,000 คัน ขณะที่ปริมาณรถยนต์ที่ติดก๊าซ NGV ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคมที่ผ่านมามีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 คัน เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมาเพียง 20% ซึ่งจำนวนรถยนต์ที่หันมาติดตั้งก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้ ได้ส่งผลกระทบที่สำคัญได้แก่


 การนำเข้าก๊าซและอุปกรณ์ติดตั้ง LPG เพิ่มขึ้น ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศสูงถึง 60,000 ตัน1 จากการขยายตัวของความต้องการใช้ โดยเฉพาะในภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าในปี 2551 จะมีปริมาณการนำเข้าก๊าซ LPG สูงถึง 170,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 5,077 ล้านบาท รวมถึงการนำเข้าอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ LPG ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ LPG ไปแล้วถึง 5,467.26 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2551 นี้ ประเทศไทยจะต้องนำเข้าอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ LPG มากกว่า 10,000 ล้านบาท อันจะทำให้ในปี 2551 ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าก๊าซ LPG และอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ LPG มากกว่า 15,077 ล้านบาท


 ปัญหาการรอคิวเติมก๊าซ นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาปริมาณก๊าซ LPG ขาดแคลนตามสถานีเติมก๊าซทั่วประเทศ ทางหน่วยงานภาครัฐได้ให้เหตุผลว่าเนื่องจากปริมาณการใช้ภายในประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากรถยนต์ที่หันมาใช้ก๊าซ LPG มีจำนวนมากขึ้น ขณะที่ปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ภายในประเทศมีไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งก๊าซที่ขาดแคลนบางช่วงเวลาเกิดจากขั้นตอนการขนส่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยจำนวนรถยนต์ที่คาดว่าจะหันไปติดก๊าซ LPG เพิ่มมากขึ้น ขณะที่สถานีบริการไม่สามารถขยายตัวได้ตามปริมาณรถยนต์ที่หันมาใช้เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐไม่ให้การส่งเสริมการเปิดสถานีบริการ จึงอาจเกิดปัญหาการรอคิวเติมก๊าซทั้งจากปริมาณก๊าซที่มีไม่เพียงพอในบางช่วงเวลา และการหาสถานีเติมที่มีก๊าซในแต่ละช่วงเวลายากลำบากขึ้น


 การลักลอบนำก๊าซ LPG จากภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคขนส่ง เนื่องจากในอนาคตอันใกล้รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะปล่อยลอยตัวราคาก๊าซ LPG สำหรับภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคขนส่งมีราคาสูงกว่าภาคครัวเรือนถึงประมาณหนึ่งเท่าตัว จึงอาจเกิดปัญหาการลักลอบนำก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคขนส่งได้มากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายในระหว่างการใช้ และการเติมก๊าซมากขึ้น


 วิกฤตสถานีบริการน้ำมัน การที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซลหันไปติดตั้งก๊าซ LPG กันมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ปริมาณความต้องการน้ำมันเบนซินและดีเซลของรถยนต์ลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้สถานีบริการน้ำมันทั่วไปที่จำหน่ายน้ำมันเบนซิน และดีเซลมีจำนวนรถเข้าใช้บริการลดลง และจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ขณะที่สถานีบริการน้ำมันเหล่านี้หากต้องการปรับเปลี่ยนมาจำหน่ายก๊าซ LPG ก็อาจกระทำได้ยากเนื่องจากภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนในการเปิดให้บริการจำหน่ายก๊าซ LPG เพิ่มเติมจากสถานีบริการที่มีอยู่เดิม

. . . . .

บทสรุป : ทางเลือกที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ...เร่งส่งเสริมเอ็นจีวี หรือช่วยเหลือแอลพีจี

นับตั้งแต่ช่วงสองปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีท่าทีให้การสนับสนุนการใช้ก๊าซ NGV ในรถยนต์ แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้ยังคงมีไม่เพียงพอ เช่น จำนวนสถานีบริการที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ และการคำนวณถึงปริมาณก๊าซที่เพียงพอกับปริมาณรถที่ต้องการเพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซอยู่บ่อยครั้ง

อีกทั้งขาดมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือทางด้านราคาของอุปกรณ์ติดตั้งซึ่งมีราคาที่สูงมาก

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยภาวะที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่มีหน่วยงานใดคาดคิดมาก่อนนี้ ได้ก่อให้เกิดแรงผลักดันให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้พลังงานจากก๊าซทดแทนน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยประชาชนส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจเลือกใช้ก๊าซ LPG แม้ว่าจะเป็นพลังงานที่ภาครัฐไม่ได้ให้การส่งเสริมสำหรับการนำมาใช้ในภาคขนส่ง แต่ประชาชนให้ความสนใจหันมาใช้

ด้วยเหตุผลที่ราคาก๊าซ LPG ยังคงต่ำกว่าราคาน้ำมันหลายเท่าตัว ขณะที่ต้นทุนการติดตั้งที่ต่ำกว่า NGV และความสะดวกที่ได้รับจากการเติมก๊าซที่มีมากกว่า NGV ในปัจจุบันและในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า จึงทำให้มีจำนวนรถยนต์ที่หันมาติดตั้งก๊าซ LPG เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งการเกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับก๊าซ LPG จึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนกลุ่มน้อยในประเทศอีกต่อไป ดังจะสังเกตได้จากปัญหาการขาดแคลนก๊าซ LPG นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหากปล่อยไว้ปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ใช้รถยนต์ที่หันไปใช้ก๊าซ LPG

จึงถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะให้การส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV ต่อไปโดยเร่งให้แผนการดำเนินงานตาม road map เกิดเร็วยิ่งขึ้น หรือจะยอมให้มีการใช้ก๊าซLPG ในภาคขนส่งต่อไป โดยทั้งสองทางเลือกมีผลดี และข้อพึงระวังที่แตกต่างกันดังนี้

ทางเลือกที่ 1 : เร่งส่งเสริมก๊าซ NGV

หากภาครัฐยังคงยืนยันที่จะให้การส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV ในยานยนต์ต่อไป ด้วยเหตุผลตามการประชาสัมพันธ์ต่างๆ นานาที่ผ่านมา ทั้งทางด้านความปลอดภัย สามารถผลิตได้มากภายในประเทศ อันเป็นการลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ภาครัฐจะต้องเร่งลงทุน และส่งเสริมอย่างจริงจังและรวดเร็ว ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ปริมาณก๊าซที่เพียงพอ ระบบการขนส่งก๊าซโดยท่อขนส่ง และรถขนส่งก๊าซ รวมถึงสถานีบริการที่จะต้องขยายจำนวนให้ครอบคลุมทั่วประเทศให้รวดเร็วขึ้นกว่าแผน NGV road map ที่ได้วางไว้

อีกทั้งรัฐควรให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในอุปกรณ์ติดตั้งให้มีราคาถูกลงกว่าปัจจุบัน อย่างน้อยให้ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าอุปกรณ์ติดตั้ง LPG รวมถึงขยายการอุดหนุนราคาก๊าซ NGV ออกไปอีก เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้ก๊าซ NGV ให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ประชาชนจะหันไปติดตั้งก๊าซ LPG มากขึ้นไปอีกจนยากที่ประชาชนจะหันกลับมาเสียค่าใช้จ่ายติดตั้งก๊าซ NGV ใหม่ ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องพิจารณาลอยตัวก๊าซ LPG ให้เร็วที่สุดเพื่อให้สะท้อนถึงต้นทุนการใช้ก๊าซ LPG ที่แท้จริง เพื่อให้ความแตกต่างระหว่างก๊าซ LPG และน้ำมันเบนซินหรือดีเซลลดน้อยลง ขณะที่ความแตกต่างระหว่างก๊าซ NGV และน้ำมันเบนซินหรือดีเซลมีมาก

แต่สิ่งที่พึงระวัง คือ ภาครัฐจะต้องใช้งบประมาณลงทุนที่สูง โดยเฉพาะระบบขนส่งทางท่อก๊าซ และค่าใช้จ่ายในการก่อตั้งสถานีบริการ นอกจากนั้นภาครัฐจะต้องยอมรับกับกระแสการต่อต้านจากการปล่อยลอยตัวราคาก๊าซ LPG สำหรับใช้ในภาคขนส่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาหนึ่งถึงสองปีนับจากนี้จากบรรดาผู้ใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนไปใช้ก๊าซ LPG ในช่วงก่อนหน้านี้

ขณะที่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งโดยเฉพาะรถบรรทุกหันมาติดตั้งก๊าซ NGV จะทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของผู้ประกอบการรถบรรทุกลดลงได้จริง แต่ด้วยน้ำหนักถังก๊าซที่ติดตั้งในรถบรรทุกที่โดยปกติจะใช้ถังก๊าซขนาด 140 ลิตรน้ำ จำนวน 5 – 7 ถัง โดยคิดเป็นน้ำหนักรถที่จะต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7 – 1 ตัน ซึ่งจะทำให้จำนวนสินค้าที่บรรทุกได้ในรถมีจำนวนที่น้อยลง หากรถบรรทุกยังคงยึดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจึงอาจทำให้ต้องเพิ่มเที่ยววิ่งรถขนส่งเพิ่มขึ้น อันจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแทนก็เป็นได้

ขณะที่หากบรรดารถบรรทุกที่ติดก๊าซ NGV ทำการบรรทุกสินค้าในน้ำหนักเท่าเดิมโดยไม่ลดปริมาณการบรรทุกลง แม้จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้จริง ก็จะส่งผลให้ถนนทางหลวงเกิดการทรุดตัวและพังทลายก่อนถึงเวลาที่สมควร ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายแก่ประเทศชาติจำนวนมากในการซ่อมแซมถนน ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาควบคุมและทำการศึกษาถึงประเด็นนี้อย่างจริงจัง

ซึ่งทางออกของปัญหานี้อาจกระทำได้ด้วยการหันมาใช้ถัง NGV ที่ทำจากวัสดุอื่นซึ่งมีน้ำหนักที่เบากว่าถังเหล็กที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในการผลิตก็จะสูงขึ้นสวนทางกับน้ำหนักถังที่ลดลงด้วย ซึ่งภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดการผลิตถังจากวัสดุอื่นแทนถังเหล็ก ซึ่งหากผลิตในปริมาณที่มากย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงได้มาก

ตารางแสดงราคาและต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงของถัง NGV ชนิดต่างๆ เปรียบเทียบกับถังเหล็ก

ชนิดที่ วัสดุที่ใช้ทำถัง น้ำหนักลดลง (%) ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (%)
1 เหล็ก - -
2 เหล็ก และวัสดุใยแก้ว 35 40
อลูมิเนียม และวัสดุใยแก้ว 45 55
3 อลูมิเนียม และวัสดุใยแก้ว 55 50
อลูมิเนียม และเส้นใยคาร์บอน 75 60
4 พลาสติก และวัสดุใยแก้วผสมเส้นใยคาร์บอน 70 50

ที่มา : Normal L. Newhouse, Ph.D., P.E. Manager, Design Engineering และ Dale B. Tiller P.E. Manager,
NGV Product Development “Development of All-Composite NGV Fuel Containers

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าหากภาครัฐให้การส่งเสริมการใช้ NGV อย่างจริงจังและสร้างความสะดวกในการเติมก๊าซให้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ความนิยมในการใช้ก๊าซ NGV ย่อมจะเกิดขึ้นได้ และน่าจะเกิดการใช้อย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นไป


ทางเลือกที่ 2 : ยอมให้มีการใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งต่อไป

เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้รถหันมาใช้ก๊าซ LPG ในจำนวนที่สูงมากกว่า 1.2 ล้านคัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หากรัฐบาลเลือกแนวทางยอมให้มีการใช้ก๊าซ LPG ได้ต่อไป รัฐบาลคงจะต้องจัดหาก๊าซให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอาจต้องพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมผ่านตามกฎเกณฑ์ของกรมธุรกิจพลังงานสามารถเปิดบริการสถานีเติมก๊าซ LPG ได้เพิ่มขึ้นทั้งสถานีใหม่ และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายน้ำมันเบนซิน หรือดีเซลเดิม

นอกจากนี้ภาครัฐควรจะออกกฎหมายเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการติดตั้งก๊าซ LPG ให้ได้มาตรฐานในระดับสูง และกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีจำหน่ายรวมถึงกระบวนการขนส่งก๊าซ LPG ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซ LPG มากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐจำเป็นต้องหาแนวทางในการป้องกันการลักลอบนำก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนที่มีราคาต่ำมาใช้ในรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้การดำเนินการดังกล่าวอาจช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก่ผู้ใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่ง แต่สิ่งที่พึงระวังสำหรับทางเลือกนี้ก็คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้ก๊าซ LPG ในรถยนต์ในวงกว้างดังกล่าว อาจจะส่งผลให้ก๊าซ NGV ไม่ได้รับความนิยม จนทำให้ระยะเวลาคืนทุนจากการลงทุนจำนวนมหาศาลในระบบก๊าซ NGV ที่ได้ลงทุนไปต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น อีกทั้งอาจเกิดปัญหาปริมาณก๊าซ LPG ที่ไม่เพียงพอสำหรับรถยนต์ที่หันมาใช้มากขึ้น จนเกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งปัญหาการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าก๊าซ LPG รวมถึงปัญหาความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประเทศต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าด้วยหลักการและคุณสมบัติของก๊าซ NGV น่าที่จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับภาคขนส่งของประเทศไทย แต่ด้วยความไม่เพียงพอของสถานีบริการ และราคาค่าติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซ NGV ที่มีราคาสูงมาก ได้ส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์จำนวนมากหันไปเลือกติดตั้งก๊าซ LPG แทน แม้ว่าภาครัฐจะได้พยายามประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของการใช้ก๊าซ NGV มาโดยตลอดก็ตาม ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ และผู้ใช้รถยนต์ยังคงหันไปติดตั้งและใช้ก๊าซ LPG เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในภาคการขนส่ง และในรถยนต์ส่วนบุคคล ปัญหาต่างๆ ย่อมจะเกิดขึ้นตามมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาความไม่เพียงพอของก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ภาครัฐเองคงจะต้องประสบกับความยากลำบากในการตัดสินใจมากขึ้นว่าจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนและลงทุนในระบบก๊าซ NGV หรือจะหันมาช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซ LPG ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้โดยหลักการแล้วก๊าซ NGV น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการใช้พลังงานจากก๊าซในรถยนต์ แต่ในทางปฏิบัติคงจะปฏิเสธไม่ได้ที่ภาครัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือหรือช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก่ผู้ใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรกำหนดกรอบนโยบายที่ชัดเจนสำหรับประเด็นดังกล่าว เพราะยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร จำนวนผู้ใช้ก๊าซ LPG ในรถยนต์ก็จะยิ่งมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซ NGV จะกระทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในท้ายที่สุดแล้ว การเร่งส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด น่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งหากภาครัฐยังคงปล่อยให้ผู้ใช้รถยนต์ชาวไทยเดินหน้าใช้พลังงานในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัด ย่อมจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงต่อปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการบริโภคพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามความเคยชิน ซึ่งภาครัฐควรเร่งรณรงค์การใช้พลังงานอย่างประหยัด รวมถึงลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความสะดวกในการขนส่ง และลดการใช้รถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลลงให้ได้มากที่สุด จึงจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันลงได้เป็นอย่างมาก

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


...




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2551
6 comments
Last Update : 6 กรกฎาคม 2551 18:37:19 น.
Counter : 760 Pageviews.

 

. . .


กรมการขนส่งทางบกห้ามรถแท็กซี่หมดอายุการใช้งาน วิ่งรับผู้โดยสาร


นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีรถแท็กซี่ที่สิ้นอายุการใช้งานตามกฎหมายแล้วบางราย ออกวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากจะทำให้ยากแก่การตรวจสอบในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรืออาชญากรรมแล้ว ประชาชนผู้โดยสารยังอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายด้วย

นายชัยรัตน์ กล่าวว่า สำหรับรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในหมวด ทฉ, ทต และ ทท สิ้นอายุการใช้งานแล้วทั้งหมด
เดิมกฎหมายกำหนดให้รถแท็กซี่สามารถใช้งานได้ 12 ปี ต่อมาได้มีการแก้ไขให้ลดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ลงเหลือ 9 ปี เพื่อให้สภาพรถมีความมั่นคงแข็งแรงพร้อมนำมาให้บริการประชาชน

กฎหมายกำหนดให้รถแท็กซี่ที่ครบอายุการใช้งาน จะต้องนำสมุดคู่มือจดทะเบียนรถมาบันทึกหลักฐานการสิ้นอายุการใช้งานพร้อมส่งคืนแผ่นป้ายทะเบียนรถแก่ทางราชการภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นอายุการใช้งาน

หากต้องการนำรถคันดังกล่าวไปใช้งานเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จะต้องแก้ไขสีของตัวรถให้เป็นสีเดียวตลอดทั้งคัน พร้อมถอดป้ายโคมไฟบนหลังคา และลบเครื่องหมายต่างๆ ที่ใช้กับรถยนต์รับจ้างออกทั้งหมด จึงจะสามารถนำไปจดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลได้

นายชัยรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถแท็กซี่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 96,605 คัน เป็นรถนิติบุคคล จำนวน 63,862 คัน และรถบุคคลธรรมดา จำนวน 32,743 คัน ต่ออายุภาษีถูกต้อง จำนวน 75,711 คัน โดยยังมีบางส่วนที่ครบอายุการใช้งานแล้วแต่ยังไม่ได้มาดำเนินการแจ้งการสิ้นอายุ หรือเปลี่ยนประเภทรถต่อนายทะเบียน

ซึ่งผู้ขับรถแท็กซี่ที่นำรถที่สิ้นอายุการใช้งานมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 มาตรา 5 (10) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และหากนำรถที่แจ้งเปลี่ยนประเภทเป็นรถส่วนบุคคลแล้ว มาลักลอบรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ประชาชนผู้โดยสารที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากการให้บริการของรถแท็กซี่หรือรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ขอให้ร้องเรียนหรือแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะหมายเลข 1584 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

. . .



ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ขึ้น ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 0.25-1%

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และตั๋วสัญญาใช้เงิน เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.25 - 1

เงินฝากประจำ 6 เดือน เพิ่มจากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 3
เงินฝากประจำ 12 เดือน เพิ่มจากร้อยละ 3 เป็น 3.5
เงินฝากประจำ 24 เดือน เพิ่มจากร้อยละ 3.25 เป็นร้อยละ 4
เงินฝากประจำ 36 เดือน เพิ่มจากร้อยละ 3.25 เป็นร้อยละ 4.25
เงินฝากประจำ 60 เดือน เพิ่มจากร้อยละ 3.75 เป็นร้อยละ 4.5
ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธอส. ยังคงอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ ธอส.ยังร่วมออกบูธในงาน NPA Grand Sale ระหว่างวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม ที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว พร้อมเสนอทรัพย์สินมือสองในราคาพิเศษกว่า 300 รายการ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ธอส. 0-2645-9000

. . .



กรุงไทยเปิดสาขาให้บริการ 7 วัน ครบทุกจังหวัดเป็นธนาคารแรก

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแรกที่มีสาขาเปิดให้บริการ 7 วันครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เผยครึ่งปีหลัง เตรียมเปิดสาขาเพิ่มอีก 80 แห่ง และมีแผนติดตั้งATM อีก 1,000 เครื่อง

นายดำรง แก้วประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารกลุ่ม สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์ในเป็น The Convenience Bank หรือ ธนาคารแสนสะดวก ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการได้ตลอด 7 วันโดยไม่มีวันหยุด

“ธนาคารได้เร่งเปิดสาขาที่สามารถให้บริการได้ 7 วันในทุกจังหวัดของประเทศ แม้แต่ในจังหวัดนราธิวาส หรือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเดินทางลำบาก โดยขณะนี้ ธนาคารกรุงไทยนับเป็นธนาคารแห่งแรกที่มีสาขาให้บริการ 7 วันครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยในสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารมีสาขาเปิดให้บริการทั้งสิ้น 787 สาขา และเป็นสาขาที่เปิดให้บริการ 7 วัน จำนวน 138 สาขา”

นายดำรง กล่าวว่า ในครึ่งปีหลังธนาคารมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีก 80 แห่ง โดยเน้นเปิดในห้างสรรพสินค้า และแหล่งชุมชน เพื่อให้สามารถบริการได้ตลอด 7 วัน

สำหรับการติดตั้งเครื่อง ATM ในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ธนาคารจะมี ATM ให้บริการครบ 5,000 เครื่อง และมีแผนติดตั้งอีก 1,000 เครื่องภายในสิ้นปีนี้


. . .

 

โดย: loykratong 6 กรกฎาคม 2551 18:43:07 น.  

 

จาก "ประชาชาติฉบับวันอาทิตย์ 7 ก.ค. 51"
1. ป.ต.ท. เป็นผู้นำ LPG แต่เพียงผู้เดียว เม.ย. นำเข้า 20000 ตัน แต่ไม่มีการนำเข้าในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. โดยไม่บอกสาเหตุไว้
2. ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ให้สัมภาษณ์ว่า รถติด LPG เพิ่มเดือนละ 100000 คัน
2. ป.ต.ท.ประเมินตลาด LPG ไม่ถูก
3. มีส่วนต่างที่รัฐต้องชดเชย LPG ประมาณ 600 ดอลลาร์/ตัน (900-300) ซึ่งรัฐยังค้าง ป.ต.ท. อยู่ 40000 ล้านบาท
คำถามคือ
1. ทำไม ป.ต.ท. จึงงดนำเข้า LPG ไป 2 เดือน ต้องการกระตุกตลาดเพื่อให้รัฐมาแก้ปัญหา 40000 ล้านใช่หรือไม่?
2. ทำไม ป.ต.ท. จึงผูกขาดอุปกรณ์ อู่ติดตั้ง NGV และ ปั้ม NGV ถ้าเปิดให้เอกชนนำเข้าอุปกรณ์ ติดตั้ง และปั้ม โดย ป.ต.ท. ทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐาน จะทำให้สถานการณ์ NGV V.S. LPG ดีกว่านี้หรือไม่
3. ทำไม ป.ต.ท. ไม่รณรงค์ประหยัดการใช้เชื้อเพลิง เหมือน กฟผ. รณรงค์ประหยักการใช้ไฟฟ้า กลัวว่ายอดขายจะตก กำไรหดหายใช่หรือไม่?

 

โดย: chairat IP: 118.173.240.152 7 กรกฎาคม 2551 2:23:18 น.  

 

 

โดย: กรี๊ดดดดดดด (be-oct4 ) 7 กรกฎาคม 2551 8:07:20 น.  

 


...

ลองดูข้อมูล และความคิดเห็นเพิ่มเติมจากเว็บด้านล่างนี้ดูนะ

www.gasthai.com
www.lpgthailand.com

ทำไมถึงต้องขึ้นราคา LPG
//thaiangle.blogspot.com/

ปตท.กับข้อเท็จจริงก๊าซหุงต้ม มรสุมลูกใหญ่จากโครงสร้างพลังงานที่บิดเบือน [7 ก.ค. 51 - 17:13]
//www.thairath.co.th/news.php?section=economic02&content=96062

ปตท. โฆษณาเต็มหน้าไทยรัฐวันที่ 7 ก.ค. 51 เพื่อขึ้นราคาแก๊ส LPG
//lpgnetwork.gasthai.com/html/500010.html

...

 

โดย: som IP: 203.146.31.234 7 กรกฎาคม 2551 14:37:04 น.  

 

ผมว่าน่ะครับ ถ้า ปตท. ใจกว้างที่จะให้ผู้ประกอบการอื่นสามารถร่วมพัฒนาตัว NGV ได้ผมว่าจะทำให้ เรื่องมันเป็นไปได้ด้วยดีกว่านี้น่ะครับ

 

โดย: 350z_fairlady IP: 168.120.109.15 7 กรกฎาคม 2551 14:45:35 น.  

 




ทุกสิ่งทุกอย่างก็เหมือนเหรียญ มีสองด้านเสมอ

 

โดย: ทิวาจรดราตรี 7 กรกฎาคม 2551 21:45:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.