'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

~สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ เพื่อนบล็อกด้วยข้อคิด-ธรรมะจากพระอริยสงฆ์... "จิตใสใจสุข" โดย พระไพศาล วิสาโล~





จิตใสใจสุข
พระไพศาล วิสาโล


ใครๆ ก็ต้องการความสุข
และพยายามทำทุกอย่างเพื่อไขว่คว้าหาความสุข
แต่แล้วคนส่วนใหญ่กลับไม่พบสิ่งที่ต้องการ
ยิ่งดิ้นรนแสวงหา ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้คนมักเข้าใจว่าความสุขนั้นอยู่นอกตัว
แต่แท้จริงแล้ว ความสุขมิได้อยู่ไกลตัว และมิใช่สิ่งที่ต้องแสวงหา
ความสุขที่แท้นั้นอยู่กับเราแล้วทุกขณะ
และตามเราไปทุกหนแห่ง
แต่เรามองไม่เห็นเองเพราะมันอยู่ใกล้อย่างยิ่ง
ไม่ต่างจากปลายจมูกที่มักถูกมองข้าม

เพียงแค่รู้จักชื่นชมสิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่ ก็จะสุขได้ไม่ยาก
หากพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ และภูมิใจในสิ่งที่เป็น
ก็จะแย้มยิ้มเบิกบานได้ตลอดเวลา
ยิ่งได้ทำความดี เอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น
รวมทั้งได้สัมผัสกับความสงบเย็นภายใน
ก็จะพบว่าความสุขที่แท้นั้นอยู่กลางใจเรานี้เอง





หากปรารถนาความสุข
ก็ต้องหันมาดูใจของตัวเองบ่อยๆ ด้วย
อย่าให้ความคิดชักนำจิตใจเรา
จนจมอยู่กับกองทุกข์

อย่าปล่อยให้อารมณ์อกุศลประทุษร้ายจิตใจ
หรือผลักดันให้เรามีพฤติกรรมน่าระอา
จนไม่มีใครอยากอยู่ใกล้

ทุกวันนี้เราส่องกระจกดูตัวเองวันละนับสิบครั้ง
หากเราหันมาตั้งสติดูใจตัวเอง
วันละหลายๆ ครั้ง เช่นนั้นบ้าง
จิตใจก็จะผ่องใส ไม่น้อยไปกว่าใบหน้า
และจะกลายเป็นคนน่ารัก
ที่ใครๆ ก็มีความสุขเมือได้อยู่ใกล้




*บทความคัดจากหนังสือ"จิตใสใจสุข" จัดพิมพ์โดย เครือข่ายพุทธิกา
**ภาพประกอบบล็อกจาก internet
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาแด่ผู้สร้างสรรค์มา ณ ที่นี้ค่ะ






 

Create Date : 02 มกราคม 2558    
Last Update : 3 มกราคม 2558 15:54:32 น.
Counter : 3425 Pageviews.  

~อย่าร้องไห้เมื่ออาทิตย์ลับฟ้า : ข้อคิด-ธรรมะโดย พระไพศาล วิสาโล~




อย่าร้องไห้เมื่ออาทิตย์ลับฟ้า
บทความโดย พระไพศาล วิสาโล




แทนที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เสียไป
เพียงแค่หันมาชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว
ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ใช่หรือไม่ว่าผู้คนจำนวนมาก
ทั้ง ๆ ที่มีอะไรต่ออะไรมากมาย แต่ก็ยังเป็นทุกข์
ก่นด่าชะตากรรม เพราะมัวแต่นึกถึงสิ่งที่หลุดลอยไป

ใจที่เอาแต่เศร้าซึมเสียใจทำให้เขามองข้ามสิ่งดี ๆ
ที่มีอยู่ต่อหน้าไปอย่างน่าเสียดาย
กลายเป็นว่าแทนที่จะเสียหนึ่ง ก็เสียสองหรือสามซ้ำเข้าไปอีก

มีคนหนึ่งกล่าวไว้น่าฟังมากว่า
“อย่าร้องไห้เมื่อดวงอาทิตย์ลับฟ้า
เพราะน้ำตาจะทำให้เธอมองไม่เห็นดวงดาว”


อะไรที่เสียไปแล้วป่วยการที่จะอาลัยอาวรณ์
หันมาใส่ใจกับสิ่งดี ๆ มีคุณค่า
ตรงนี้และเดี๋ยวนี้ไม่ดีกว่าหรือ





หากปรารถนาความสุข
ก็ต้องหันมาดูใจของตัวเองบ่อยๆด้วย

...อย่าให้ความคิดชักนำจิตใจเรา
จนจมอยู่กับกองทุกข์

อย่าปล่อยให้อารมณ์อกุศลประทุษร้ายจิตใจ
หรือผลักดันให้เรามีพฤติกรรมน่าระอา
จนไม่มีใครอยากอยู่ใกล้

ทุกวันนี้เราส่องกระจกดูตัวเองวันละนับสิบครั้ง
หากเราหันมาตั้งสติดูใจตัวเอง
วันละหลายๆ ครั้ง เช่นนั้นบ้าง
จิตใจก็จะผ่องใส ไม่น้อยไปกว่าใบหน้า
และจะกลายเป็นคนน่ารัก
ที่ใครๆก็มีความสุขเมือได้อยู่ใกล้





คนเรานั้นจะมีปัญญาต่อเมื่อจิตใจแจ่มใส
สามารถคิดหาเหตุผลดี ๆ ได้
แต่เมื่อใดที่จิตใจนั้นถูกอารมณ์ฝ่ายลบ
เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความหดหู่ครอบงำ
ก็จะตกอยู่ในภาวะ “มืดแปดด้าน” คือคิดอะไรไม่ออก

ใช่แต่เท่านั้น
บ่อยครั้งยังไม่สามารถรับฟังคำแนะนำที่มีเหตุผลจากใคร ๆ ได้เลย
เปรียบเสมือนแก้วที่เต็มไปด้วยน้ำขุ่น
เติมน้ำใสเข้าไปก็ล้นออกมาหมด

ดังนั้นคิดเก่งหรือรู้มากอย่างเดียวย่อมไม่พอ
แต่จะต้องรู้จักเท่าทันอารมณ์ของตัวด้วย
ไม่เช่นนั้นก็จะถูกอารมณ์เหล่านั้นครอบงำจนคิดไม่ออก
หรือเอาความรู้ที่มีอยู่มาใช้แก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้
เข้าทำนอง “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”



*บทความคัดจาก //www.visalo.org

**ภาพประกอบจาก walcoo.net








 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 23 กรกฎาคม 2557 22:53:08 น.
Counter : 1870 Pageviews.  

~ บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง "ความตาย" กับท่าน'เขมานันทะ' ~




บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง "ความตาย" กับท่าน'เขมานันทะ'
จากคอลัมน์ Secret of Life
นิตยสาร Secret ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๘๖ , ๒๖ มกราคม ๒๕๕๕
เรียบเรียงโดย นภ





สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับแวดวงวรรณกรรม "เขมานันทะ"
หรือ อาจารย์โกวิท อเนกชัย คือศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
(กวีนิพนธ์ บทความ นวนิยาย)
ประจำปีพุทธศักราช พ.ศ.๒๕๕๐

ท่านเป็นผู้เขียน “ลิงจอมโจก”, “จากดักแด้สู่ผีเสื้อ”, “ดวงตาแห่งชีวิต” ฯลฯ

ส่วนผู้ที่ชอบงานศิลปะ ท่านคือผู้ปั้นอวโลกิเตศวร ประติมากรรมชิ้นสำคัญที่สวนโมกข์
และในวันนี้ วันที่เวลาของชีวิตท่านล่วงเลยเข้าสู่เลข ๗๓
ท่านเขมานันทะได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมาย และเคยเป็นอะไรมาหลายๆ อย่าง
พอๆ กับการ "เลิกเป็น" ใน "ปัจจุบัน"
ทว่าสิ่งที่มั่นคงอยู่ในตัวท่านไม่เคยเปลี่ยนคือ ความเรื่นเริงในธรรม ความเป็นครู
และการให้เกียรติกับทุกสรรพสิ่ง





ถาม :ด้วยอาการป่วยและอายุที่มากขึ้น อยากทราบว่าอาจารย์มองความตายอย่างไรบ้าง?
(เท่าที่ทราบอาจารย์จะใช้ชีวิตประจำวันเหมือนผู้ป่วย
แต่เป็นผู้ป่วยที่มีกำลังใจดี ถ้าลุกไหวก็อาจจะรับแขก อ่านและตรวจแก้ไขต้นฉบับหนังสือที่จะออกใหม่
ดูโทรทัศน์และเดินจงกรมอยู่เป็นกิจวัตร)


"ผมคิดว่าวาระแห่งความตาย ไม่น่าเป็นวาระที่เคร่งเครียดเกินไปนัก
เพราะถึงอย่างไรความตายก็มาเคาะประตูอยู่แล้ว
และความแก่เฒ่าก็เป็นสัญญาณที่ดี เพราะช่วยเตือนให้เราเร่งจัดการ
เรื่องไหนที่ยังไม่ได้ทำ และยังอยากทำอยู่ ก็จงทำ
ยกเว้นเรื่องที่เหลือกำลัง อย่างผมเองที่จริงชอบวาดรูป แต่ไม่มีโอกาสทำอย่างจริงจังสักที
เวลานี้ก็น่าจะเป็นเวลาที่วินิจฉัย หรือเฝ้าสังเกตในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ถ้าถามว่ากลัวตายไหม ผมตอบได้ว่า รู้สึกกลัวเล็กน้อยครับ คือกลัวเมื่อคิดขึ้นมา
สาเหตุที่กลัวเล็กน้อย เพราะผมอบรมตัวเองมาตั้งแต่ตอนบวช
สิบหกปีนับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่ทำให้ผมเผชิญหน้ากับความตาย
เพราะพระสงฆ์ต้องปฏิบัติ พินิจพิเคราะห์ต่อความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา
ไม่ว่าโลงศพหรือป่าช้าอย่างโดดเดี่ยวอยู่เสมอ

การพิจารณาให้ได้ดีคือต้องทำบ่อยๆ เหมือนกับการสวดมนต์
เมื่อทำบ่อย เรื่องยากก็จะง่ายเข้า ความตายก็อยู่ในเกณฑ์นี้
เมื่อเราคิดถึงเรื่องความตายบ่อยๆ แทนที่จะกลัวก็เกิดความคุ้นเคย"







ถาม : คนที่ศึกษาธรรมะ เมื่ออายุมากขึ้นก็อาจจะค่อยๆ ทำความสนิทสนมกับความตายได้
แต่สำหรับคนที่ไม่เคยสนใจธรรมะเลย แล้วเรารักเขาอยากให้เขาสนใจธรรมะจะต้องทำอย่างไรคะ?



"ที่เรามองด้วยความห่วงใยว่า เขาห่างไกลกับธรรมะนั้น ต้องถามว่า เรามองข้ามอะไรไปรึเปล่า?
เพราะลึกๆ แล้วเขาอาจจะรู้อะไรดีๆ เกินกว่าที่เราคิดก็ได้

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมจัดแสดงภาพวาดหาทุนช่วยมูลนิธิเด็ก
แต่หลังจบงาน ทางผู้จัดไม่คืนภาพที่เหลือให้ผม ในจำนวนนั้นมีภาพที่ผมรักมากรวมอยู่ด้วย
ในช่วงนั้นผมรู้สึกโกรธ แต่ไม่รู้ว่าจะถูกครอบงำด้วยความโกรธ
จึงได้เขียนจดหมายต่อว่าต่อขานตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น
แต่พอจะส่งไปรษณีย์ ผมมาถามตัวเองว่าทำถูกรึเปล่า เขาอาจมีความจำเป็นบางอย่างก็ได้
สุดท้ายจึงไม่ได้ส่งไป ซึ่งโชคดีมาก เพราะหลังจากนั้นหลายวัน
ผู้จัดการแกลเลอลี่ก็นำภาพมาคืนผม ผมมานึกขอบใจตัวเองที่ไม่ได้ส่งจดหมายฉบับนั้น
ถ้าผมยั้บยั้งชั่งใจไม่ทันในตอนนั้น ผมก็คงสูญเสียเพื่อนที่ดี
และข้อสำคัญคือ ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน กรณีนี้คือเขาสอนผมแล้ว

ย้อนกลับไปที่คำถาม หากเราปรารถนาดี
อยากให้คนอื่นที่เรารักเข้าใจธรรมะ ควรทำอย่างไร ?
ผมไม่สามารถให้คำตอบเดียวกับทุกคนได้ แต่อยากให้เราหันกลับมาถามตัวเองว่า
เรามองอะไรพลาดไปรึเปล่า และอย่าเพิ่งสรุปเร็วนัก
นี่คือ "สิ่งพื้นฐานของความเป็นมนุษย์"





ถาม : โดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์คิดว่าอาจารย์ประสบความสำเร็จในชีวิตมากน้อยแค่ไหนคะ?

"ผมไม่รู้ตัวเองว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ผมเพียงแต่ทดลองชีวิต
ลองผิดลองถูกไปตามเรื่องและก็ไม่ได้มีความสุขอะไร
เพราะผมไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความสุข
แต่ผมมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความสุข คือ ค ว า ม พึ ง พ อ ใ จ
ความพึงพอใจกับความสุขเป็นคนละตัวกัน


ผมเคยเห็นชาวสวนชาวนาทำงานหนัก ชีวิตแบบนั้นไม่ใช่ชีวิตที่มีความสุข แต่เขาก็พอใจ
ซึ่งตรงกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “ฉันทะ”
รู้จักฉันทะแล้วก็ต้องรู้จักวิริยะด้วย
วิริยะมีรากศัพท์มาจากคำว่า "วีระ" วิริยะ คือ ความบากบั่น ขยัน
ต่อมา คือ จิตตะ คือมีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายคือมีความหวังนั่นเอง
เพราะเมื่อเป้าหมายเกิด ความหวังก็เกิดด้วย
สุดท้ายคือมี วิมังสา หมายถึง การทบทวน ไตร่ตรอง ตรวจสอบชีวิตให้เกิดปัญญา
สี่ประการนี้เป็นหมวดธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นเลิศ
รวมเรียกว่า อิทธิบาทสี่ ซึ่งเราจะเห็นพลังของธรรมบทนี้
แม้เพียงแค่ใช้ความคิดคิดเอาก็ตาม
เช่น ถ้าอยากอายุยืนก็ต้องรักชีวิตให้มากๆ (หัวเราะ)
ต้องขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อให้ร่างกายได้ออกกำลัง
ต้องมีความหวังอยากทำอะไรสักอย่างในชีวิต ไม่ใช่อยู่ลอยๆ
และสุดท้ายที่ผมทำมาตลอด คือใช้ชีวิตด้วยปัญญา
ทำนองเดียวกันกับนักบุญหรือนักพรตเต๋า ที่ยอมยากจนทางโลกเพื่อให้เจริญปัญญาได้ดีที่สุด"





ถาม : ทราบว่าอาจารย์ให้ความสำคัญในเรื่องที่เราควรมีต้นแบบของชีวิต
อย่างชีวิตช่วงเด็กๆ อาจารย์ก็จะมี “ป้าหมา” เป็นไอดอล
ขอให้อาจารย์เล่าเรื่องป้าหมาสักนิด?


"ป้าเป็นคนธรรมดาๆ ครับ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมจำไม่ลืม
คือป้าเป็น "ค น จ ริ ง" เสมอ เรื่องขี้โกรธ ปากร้ายนี่เป็นธรรมดาของคน
ยิ่งอายุมากขึ้นการควบคุมคำพูดก็ยิ่งน้อยลง
และสิ่งที่ผมไม่ลืมคือ ความเป็นคนใจเด็ดของป้า
ศูนย์กลางชีวิตตอนเด็กๆของผมอยู่ที่ป้า คล้ายกับป้าเป็นคนแนะนำให้ผมรู้จักโลก
ซึ่งไม่ใช่โลกที่สมบูรณ์แบบอะไร แต่เป็นโลกธรรมดาๆ ที่ทุกคนต้องเผชิญ ..

ป้าพาไปดูหนังตะลุงตอนกลางคืน ซึ่งสมัยนั้นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ดูหนังตะลุงมีไม่มาก
เพราะชาวไร่มีชีวิตที่เหน็ดเหนื่อย แต่ป้าก็ยังรู้จักแสวงหาความบันเทิง
ป้าสอนให้ผมรู้จัก "นกทึดทือ" ซึ่งจะร้อง ทึดทือๆ ดังจากยอดไม้ตอนกลางคืน
จะว่าน่ากลัวก็น่ากลัวมาก ทว่าแทนที่บรรยากาศจะทำให้ผมรู้สึกหวาดเสียว
ผมกลับรู้สึกอบอุ่น ป้าสอนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
ซึ่งเมื่อโตขึ้นเรียนชั้นมัธยม ผมจึงรู้ว่าป้าเข้าใจอะไรผิดตั้งเยอะแยะ
แต่เจตนาที่ดีของท่านนั้นลบล้างความอ่อนด้อยในข้อเท็จจริงได้หมดสิ้น
หมดสิ้น หมายความว่าเราให้อภัยได้หมด

ผมเชื่อว่า ความจริงที่เหนือจริง มีบทบาทต่อมนุษย์เราอย่างสำคัญ
เช่น การที่เด็กคนหนึ่งคิดว่าว่าแม่ตัวเองเก่งที่สุดหรือสวยที่สุด
นี่เป็นความจริงที่เหนือจริงใช่ไหมครับ?
สำหรับผม ป้าก็เป็นเช่นนั้น สามีของป้าเป็นพระธุดงค์
แต่หลังจากสึกก็ไม่เคยเข้าวัด ลุงบอกว่า วัดอยู่ที่ใจ จะไปเข้าทำไม
แต่ป้าไม่เป็นอย่างนั้น ป้าไปวัดทุกวันพระไม่เคยขาด วันที่ผมประทับใจที่สุดคือ
วันที่รู้ว่าป้าจะสิ้นบุญ ป้าสั่งลูกชายนิมนต์พระมา 9 รูป
เพื่อสวดชยันโตให้ พอสิ้นกระแสเสียงสวดมนต์ ป้าก็ดับ
ผมมองว่านี่เป็นความงามอย่างหนึ่งซึ่งสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์"






ถาม : จำเป็นไหมคะที่เด็กๆ ควรจะมีต้นแบบในการดำเนินชีวิต?

"จำเป็นครับ เพราะถ้าไม่มีต้นแบบเสียเลย
จิตใจจะไม่สามารถสถาปนาความรู้สึกรักหรือแหนหวงขึ้นมาได้
ถ้าเรารักใครไม่เป็นเลย ...รักเป็นในที่นี้หมายความว่าต้องไม่ทอดทิ้งให้เปล่าเปลี่ยว
ต้องไม่กระทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ฯลฯ
ฟังเผินๆเหมือนจะเข้าใจได้ไม่ยาก
แต่ถ้าเราไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้เลย เราจะทำไม่ได้"



ถาม : ถ้าครอบครัวและคนรอบข้างเป็นต้นแบบให้ไม่ได้ เรายังต้องถามหาต่อไปไหมคะ?

"เราคงเจอสักวันแน่ครับ นี่เป็นความหวัง .. ความหวังที่จะได้เจอคนดี
เป็นความดีอย่างหนึ่ง ซึ่งดีกว่าความหวังจะได้เจอคนร่ำรวยหรือผู้มีอิทธิพล
ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เจอคนดี เว้นแต่ว่าเราสิ้นหวังแล้ว
เพราะถ้าสิ้นหวัง เราอาจมองข้ามอะไรไปหลายๆอย่าง
ที่เป็นสัญญาณของชีวิตที่ดี เช่น มิตรที่คบกันยืนยาว ความดื่มด่ำในความเป็นเพื่อน ฯลฯ
คุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งซ่อนเร้นครับ ต่อมาเมื่อมีปัญญาแก่กล้า เราจึงจะเข้าใจ
อีกอย่างสภาพแวดล้อมปัจจุบันนี้มีการแข่งดีกันทุกทิศทุกทาง
คนรุ่นใหม่ก็อาจเข้าใจสิ่งนี้ยากขึ้น"





ถาม : เป็นเพราะเราไม่รู้รึเปล่าคะว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร ?


"แต่ก่อน คำถามประเภทเกิดมาเพื่ออะไร? นิพพานคืออะไร? ฯลฯ
เหล่านี้เป็นคำถามยอดเท่เลย ผมเองตั้งคำถามไว้มากมาย
แต่ถึงตอนนี้มันหายไปไหนหมดไม่รู้
ถ้าถามว่าอุดมการณ์ที่เคยอยู่กับผมมาเป็นสิบๆปี ทำไมจึงหายไปได้ ?
คือเราเลิกสนใจมันเท่านั้นเองครับ แต่แค่เลิกสนใจ มันก็หายไป
อุดมการณ์เป็นสแตนดาร์ดที่เราสร้างขึ้น แล้วพยายามบรรจุตัวเองลงในนั้น
ซึ่งเป็นการสร้างทุกข์ซ้อนทุกข์ขึ้นไปอีก

ผมว่าเราเพียง อยู่เฉยๆ วันต่อวัน และทำอะไรพอเพียงกับสิ่งที่ธรรมชาติเกื้อหนุน
จะดีกว่าพยายามถามตอบ เรื่องความคิด
ผมเชื่อว่า ชีวิตเองมีอุปการคุณพอเพียง ที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตไปได้อย่างพอสบายๆอยู่แล้ว
ไม่ต้องมัวไปตั้งคำถามอะไร คำตอบต่างๆจะพรั่งพรูออกมาเองเมื่อถึงเวลา

ดูอย่างนก สังเกตว่าเวลามีภัยพิบัติใหญ่หลวงเกิดขึ้น นกจะตื่นตัวก่อน
ซึ่งผมเชื่อมั่นว่ามนุษย์เรามีสัญชาตญาณนั้น
เพียงแต่ว่ามันสลบซบเซาอยู่ มัวแต่เพลิดเพลินอยู่
ความจริงง่ายๆของชีวิต เช่น เราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายกลับถูกบดบังไว้
ดังนั้นจะมัวแข่งกันทำไม? อาการไหวอ่อนว่องไว (sensitivity) จึงไม่ได้แสดงตัว

การที่หลวงพ่อเทียนสอนให้ยกมือ(การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ)
ที่จริงคือการปลุกเร้ากลไกอัตโนมัติ เป็นการสร้างจังหวะให้เราจับสังเกต
(อาจารย์ยกมือวาดไปข้างตัวและหยุด)
ทุกครั้งที่ตรงกับจังหวะหยุดจะมีอะไรบางอย่างพรูพรายขึ้นมาในสมอง
สำหรับผม การหยุดมีความหมาย หยุดเหมือนโลกหยุดไปด้วย..
แม้มีความคิดวนเวียนอยู่ในหัว แต่เมื่อเราสัมผัสได้ถึง "การหยุด" .... "ความรู้สึกตัว" จะกลับมา
ซึ่งการสร้างจังหวะนี่เอง คือจุดที่หลวงพ่อเทียน เน้นมากที่สุด"





ถาม : การสร้างจังหวะอย่างนี้ช่วยให้เราติดตามความคิดของตัวเองได้ทันมากขึ้นใช่ไหมคะ?


"ความคิดเปรียบเหมือนคู่เต้นรำของเรา เต้นไปพร้อมกันก็จริง แต่ไม่ใช่ตัวเรา
เมื่อเรามีสติ ความคิดจะเกิดไม่ได้ แต่การไม่ได้คิดนานๆ จะส่งผลเสียต่อชีวิต
ดังนั้นเราต้องปล่อยวางให้คิดบ้าง เมื่อมีการงานก็ทำงานของเราไป
การจดจ่อในงาน ทำให้ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น แบบนี้คิดได้
เพราะเท่ากับเราควบคุมคลองความคิดไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่ส่วนที่ต้องระวังคือ ค ว า ม คิ ด ที่ เ ร า คิ ด โ ด ย ไ ม่ รู้ สึ ก ตั ว โดยเฉพาะเวลาโกรธหรือเกลียดนี่ เรามักจะคิดๆ โดยที่ไม่รู้สึกตัวเลย

และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ไม่ต้องไปตัดสิน
เพราะพอเราตัดสิน มันก็จะเป็นอีกความคิดหนึ่ง
ความคิดเรื่องการตัดสินที่ปรากฏตัวขึ้นจะบังความตื่นตัว ..
ตลอดเวลาเราถูกความคิดบดบังทุกช่วงทุกระยะไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม

เมื่อมนุษย์ใช้ความคิดเป็นตัวชี้ขาด มนุษย์ก็มักเอามาตรฐานด้านจริยธรรมเข้ามาจับ
ซึ่งอันที่จริงมาตรฐานนี้มีมาตั้งนานแล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าจะประสูติเสียอีก
แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราพ้นทุกข์ และทันทีที่เอามาตรฐานนี้มาครอบ
เราก็จะตกอยู่ในอำนาจของความคิดทันที
ทั้งที่ธรรมชาติของความคิดเกิดขึ้นแล้วก็สลายไปเอง
เหมือนน้ำแข็งขั้วโลกที่สลายตัวด้วยอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น
เราไม่จำเป็นต้องกลับเข้าไปจัดการกับมัน
ปัญหาของคนเราอยู่ที่ความคิดนี้เอง เมื่อความคิดถูกจับตัวได้ เรื่องก็จบ!

แต่ตลอดมาเรามัก "ใ ช้ ค ว า ม คิ ด จั บ ค ว า ม คิ ด"
ขุดพลิกแผ่นดินเพื่อหาแผ่นดิน และพอเราเริ่มต้นคิดเท่านั้นแหละ
เรื่องเดิมก็จะกลับมาซ้ำๆ สิบปีผ่านไป ยี่สิบปีผ่านไป เราก็ยังก้าวไม่หลุดจากวงจรนี้
เพราะฉะนั้น ผู้รู้จึงแนะนำอุบาย ให้ "จับความรู้สึกตัว" ให้ได้ก่อน
เพราะความรู้สึกตัวมีอำนาจในการเข้าไป "แทน" ความคิด
ตราบใดที่เรารู้สึกตัว ความคิดก็เข้ามาไม่ได้
เหมือนเรานอนอยู่หน้าบ้าน
ตราบใดที่เรายังไม่หลับ ขโมยก็เข้าไม่ได้ครับ
แต่ถ้าเราเผลอหลับเพียงแวบเดียว ขโมยตัวร้ายก็จะจู่โจมเข้ามาทันที"





*บทความนี้ได้รับ share มาจากเฟสบุ้ก
ขออนุญาตคัดตัดตอนมาแบ่งปันไว้ตรงนี้ ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ









 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2557    
Last Update : 4 กรกฎาคม 2557 21:55:42 น.
Counter : 3549 Pageviews.  

~ 'มิตรในเรือนใจ' โดย พระไพศาล วิสาโล ~






ชีวิตที่ดีย่อมต้องมีมิตรคอยช่วยเหลือเกื้อกูล
คนส่วนใหญ่นั้นแสวงหาแต่มิตรภายนอก โดยมองข้ามมิตรที่อยู่ในใจของตน
มิตรในเรือนใจนั้นสามารถเป็นมิตรที่ดีที่สุดของเรา
หากว่ามีการอบรมฝึกฝนตน จนเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้
แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเริ่มจากการรู้จักตนเองเป็นเบื้องแรก

การรู้จักตนเอง ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการคิดเท่านั้น
แต่ยังต้องอาศัยการเห็นความจริงที่เกิดกับกายและใจอย่างไม่ตัดสิน
เห็นอย่างที่มันเป็นจริงๆ นั่นคือเห็นด้วยสติ
จริงอยู่ ทีแรกย่อมอดไม่ได้ที่จะเห็นความจริงว่าตัวเองนั้น “แย่” กว่าที่คิด
แต่เพราะเห็นด้วยใจที่เป็นกลาง จึงทำให้ความชั่วร้ายหรืออกุศลธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น
ไม่สามารถครอบงำจิตใจได้ กายวาจาจึงเป็นไปอย่างปกติ ไม่ไปก่อปัญหาให้แก่ใคร
รวมทั้งไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองด้วย
ขณะเดียวกันจิตใจก็จะสงบเย็น ไม่ถูกอกุศลธรรมแผดเผา

ยิ่งรู้จักตนเองมากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นมิตรกับตัวเองได้มากขึ้น
และค้นพบความสุขอันประณีตที่อยู่กลางใจ








คนทุกวันนี้ยากที่จะเป็นมิตรกับตัวเอง
มีแต่ความรู้สึกเหินห่างหมางเมินหรือแปลกแยกกับตัวเอง
จึงคิดแต่จะหนีตัวเองตลอดเวลา ด้วยการวิ่งหาสิ่งเสพ หมกมุ่นกับความบันเทิง
เที่ยวห้าง เล่นเกม คลุกคลีตีโมงกับผู้คน คุยโทรศัพท์(หรือทวิตเตอร์)ทั้งวัน
หาไม่ก็ทำตัวให้วุ่นกับการงาน

แต่ยิ่งพยายามหนีตัวเองมากเท่าไร ก็ยิ่งไกลจากความสุขเท่านั้น
เพราะสุขที่แท้นั้นไม่ได้อยู่นอกตัว หากอยู่ในใจเรานี้เอง


การมีสติระลึกรู้ความเป็นไปของกายและใจในแต่ละขณะ
เป็นกุญแจสำคัญ สู่การรู้จักตนเองอย่างลึกซึ้ง จนเห็นชัดว่า
ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะใจที่ยึดติดกับสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง
โดยเฉพาะการยึดติดในตัวตน หรือยึดติดสิ่งต่างๆ
ทั้งรูปธรรมและนามธรรมว่าเป็นตัวตน

ปัญญาที่เห็นความจริงอย่างลึกซึ้งนี้แหละ ที่จะทำให้เราเป็น
อิสระจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง







หมายเหตุ
บทความข้างต้นคัดจากหน้าคำนำหนังสือ "มิตรในเรือนใจ"
ที่ได้รับเป็นธรรมทานจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้



"มิตรในเรือนใจ"
โดย พระไพศาล วิสาโล
จัดพิมพ์โดย ชมรมกัลยาณธรรม


ขออนุโมทนาแด่ท่านผู้เขียนและผู้จัดพิมพ์ค่ะ






 

Create Date : 06 มีนาคม 2557    
Last Update : 6 มีนาคม 2557 15:41:53 น.
Counter : 1960 Pageviews.  

~ 'มิตรที่ถูกเมิน' บทความธรรมะ โดย พระไพศาล วิสาโล ~



'มิตรที่ถูกเมิน'
บทความโดยพระไพศาล วิสาโล






ไม่ว่าใครก็ตาม...ย่อมปรารถนาความสุข

แต่ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่มีใครที่สามารถยึดสุขไว้ และกีดกันทุกข์ออกไปได้ตลอด
คนที่คิดแต่จะหนีห่างจากความทุกข์ ไม่ยอมให้มันกล้ำกราย
จึงไม่ต่างจากคนวิ่งหนีเงากลางแดด

ดังนั้นแทนที่จะหาทางผลักไสมันออกไป
ศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตจึงอยู่ที่ว่า “ทำอย่างไร จึงจะอยู่ร่วมกับความทุกข์ได้”
ความทุกข์นั้นน่ารังเกียจก็เพราะมันทำให้เราทุกข์ ตอบอย่างกำปั้นทุบดินอย่างนี้ คงไม่มีใครเถียง
แต่เรามักมองข้ามความจริงประการหนึ่ง นั่นก็คือ ความทุกข์มิได้มีแต่โทษอย่างเดียว
หากยังมีคุณอีกด้วย คุณของความทุกข์มีอยู่มากมาย
แต่เรามักมองไม่เห็น เพราะจิตใจมัวสาละวนวุ่นวายไปกับการหาทางผลักไสความทุกข์ให้ถอยไปห่างๆ

ความทุกข์...ทำให้เราอยู่เฉยไม่ได้ นี่แหละคุณประโยชน์เบื้องต้นของความทุกข์

เป็นเพราะความเจ็บปวด เราจึงกระชากมือออกจากเปลวไฟก่อนที่จะไหม้ไปมากกว่านั้น
ความหิวทำให้เราหาอาหารมาใส่ท้อง ก่อนที่ร่างกายจะขาดพลังงาน
จะว่าไปแล้วความเจ็บปวดก็ดี ความหิวก็ดี ล้วนเป็นตัวกระตุ้นเตือนให้เราทำอะไรบางอย่าง
ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปกว่านั้น





ใครที่ปรารถนาให้ชีวิตปลอดพ้นจากความเจ็บปวดอย่างสิ้นเชิง
ขอให้ดู “คนโรคเรื้อน” เป็นแบบอย่างก็แล้วกัน
อันตรายของโรคดังกล่าว ไม่ได้มีอยู่ที่มีโรคร้ายมากัดกินอวัยวะจนหดหาย
หากเป็นเพราะปลายประสาทถูกทำลาย จึงไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด
เวลาถูกไฟหรือของมีคม คนประเภทนี้ใช้อวัยวะอย่างสมบุกสมบันโดยไม่ร้สีกเจ็บปวด
ทั้งยังหลับสบายแม้นิ้วจะถกูหนูกัดแทะ ผลก็คือนิ้วมือนิ้วเท้าเกิดแผลเรื้อรังจนหดหายไป
เรื่อยๆ ที่ร้ายกว่านั้น การไม่รู้สึกระคายเคืองที่ดวงตา ทำให้หนังตาไม่มีการเคลื่อนไหวกะพริบขึ้นลง
ดวงตาจึงไม่ได้รับการหล่อเลี้ยงชะล้างอย่างคนปกติ เป็นเหตุให้ตาบอดไปในที่สุด

ความเจ็บปวดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เพราะมันคือสัญญาณเตือนภัยของร่างกาย
ที่บ่งบอกว่าบางสิ่งบางอย่างกำลังผิดปกติ
ใครที่ปวดนิ้วหรือปวดข้อนั่นอาจหมายความว่าอวัยวะส่วนนั้นทำงานหนักเกินไปแล้วและต้องการการพักผ่อน
แต่คนสมัยนี้ นับวันจะห่างเหินจากร่างกาย จนไม่อาจรับรู้“ภาษา” ของร่างกายของตนได้
มิหนำซ้ำ ยังมีความรู้สึกเกลียดกลัว และต่อต้านความเจ็บปวด
จึงหาทางขับไล่ความเจ็บปวดด้วยการกินยาระงับปวดหรือฉีดยาผสมสเตียรอยด์
โดยหารู้ไม่ว่า อวัยวะที่หายปวดด้วยวิธีการเช่นนี้ จะไม่มีวันได้พัก
มีแต่จะถูกใช้งานหนักเกินกำลัง จนเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

ธรรมชาติย่อมเคลื่อนไปสู่ดุลยภาพเสมอ
ชีวิตที่บรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติคือ “ชีวิตที่มีสมดุล”
เมื่อใดก็ตามที่เคลื่อนออกจากดุลยภาพ ความผิดปกติก็ปรากฏ






ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดการเจ็บปวดหรือป่วยไข้ นั่นแสดงว่า
เรากำลังสูบบุหรี่มากเกินไป หรือเรากำลังกินอาหารมากเกินไป
หรืออาจเป็นได้ว่าเรากำลังทำงานหนักเกินไป

โรคบางโรคเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า เรากำลังใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกต้อง
หากเราไม่แตกตื่นตกใจกลัวจนเกินไป เราอาจพบว่า โรคหัวใจที่กำลังเกิดขึ้นกับเรานั้น
เป็นอาการบ่งชี้ว่าเรากำลังเคร่งเครียดกับงานมากเกินไป โดยไม่มีเวลาพักผ่อน
หรือกินอาหารอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ

ความเจ็บป่วยนั้นเป็นทุกข์แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นคุณด้วย
เพราะกระตุกให้เราได้ฉุกคิด และหันมาดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและสมดุล

มะเร็งเป็นโรคร้าย แต่หลายคนกลับเห็นคุณประโยชน์จากโรคนี้
เพราะทำให้พวกเขาละทิ้งชีวิตที่เคร่งเครียดกดดัน
หันมาสู่ชีวิตที่สมดุล ทั้งกายและใจ ได้เห็นคุณค่าของสมาธิภาวนา
อันทำให้ชีวิตได้เข้าถึงส่วนลึกแห่งจิตวิญญาณ อันเป็นที่มาของความสงบศานติ

มิใช่จำเพาะความทุกข์ทางกายเท่านั้น
แม้ “ความทุกข์ทางใจ” ก็มีคุณแก่เราด้วยเช่นกัน







เพียงแค่มองย้อนกลับไปในอดีต ก็คงเห็นได้ไม่ยากว่า ความลำบากในวัยเยาว์
การต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจครั้งยังเป็นนักเรียน
ได้มีส่วนบ่มเพาะชีวิตของเราให้เจริญงอกงามเพียงใดบ้าง

แต่ความทุกข์เหล่านั้น เรามาเห็นคุณเมื่อมันผ่านไปแล้ว
ทั้งๆ ที่คุณประโยชน์ของความทุกข์นั้นมีอยู่แม้ในยามที่เราเผชิญกับมันซึ่งๆ หน้า
ความทุกข์จะมีอานุภาพกระทบกระแทกก็ต่อเมื่อ “เราเผลอ”
คราใดที่ “ขาดสติ”เราก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน ความร้อนรุ่มถูกโหมกระพือจนแผดเผาจิตใจ
หาไม่ความขึ้งเครียดก็รุมเร้าจิตใจจนอึดอัดขัดเคืองไปหมด
ความท้อแท้ท่วมทับจนไม่เห็นคุณค่าของชีวิต
ในภาวะเช่นนี้จิตใจมีแต่จะถูกชักลากจนถูลู่ถูกังไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ
มีปฏิกิริยาไปกับทุกสิ่ง โดยมิได้ใช้ปัญญาไตร่ตรอง

แต่จิตใจของเรามิได้มีไว้เพื่อให้ทุกข์กระหน่ำซ้ำเติมฝ่ายเดียวเท่านั้น
ธรรมชาติยังให้ “ปัญญา” แก่เราเพื่อนำความทุกข์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย


แต่ “ปัญญาจะใช้การได้ ต่อเมื่อมีสติประคองใจ”
สติเป็นตัวยั้งใจ ไม่ให้มีปฏิกิริยาไปกับอารมณ์ใดๆ อย่างหุนหันพลันแล่น
ทั้งยังเปิดโอกาสให้ปัญญาเข้ามาแก้ไขสถานการณ์อย่างฉับพลัน
เวลาเกิดความโกรธขึ้นมา ความร้อนรุ่มในใจมีแต่จะผลักดัน
ให้เรามีปฏิกิริยากราดเกรี้ยวกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย
โดยไม่คำนึงถึงผลที่ติดตามมา

หากแต่เรามีสติ “รู้ทันความโกรธ” ความโกรธนั้นเอง จะกลายเป็นกระจก
สะท้อนให้เราเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น และหากปัญญาวิ่งเข้ามาทันท่วงที
เราอาจพบว่าสิ่งที่กำลังร้อนรุ่มทุรนทุรายอยู่นั้นไม่ใช่ตัวเรา แต่กลับเป็นเจ้าตัวกิเลสต่างหาก
บางทีเราอาจจะกระหยิ่มยิ้มย่องด้วยซ้ำที่เห็นเจ้าตัวอัตตาถูกทรมาน
ต่อไปจะได้คลายพยศลงเสียบ้าง ในที่สุดเราอาจเกิดปัญญากระจ่างว่า การมีอัตตานั้นให้โทษเพียงใด
ต่อเมื่อสละความยึดมั่นในอัตตาตัวตนเสียได้ ชีวิตก็จะประสบศานติสุข
อย่างแท้จริง






“ความทุกข์” นั้นเป็นตัว “บ่มเพาะปัญญา” เช่นเดียว
กับที่ขยะปฏิกูลเป็นปุ๋ยโอชะสำหรับเหล่าพรรณไม้ที่ให้ดอกงาม

ความพยาบาทมิได้มีแต่โทษแต่ยังมีคุณ เพราะหากร้จูักมองด้วยสติและปัญญา
ก็จะทำให้เราเห็นโทษของมัน และชวนให้นึกสงสารผู้อื่นที่ถูกความอาฆาตพยาบาทเผาลนจิตใจ
พลอยให้เกิดกรุณาต่อผู้อื่น เวลามีกามราคะเกิดขึ้น แทนที่จะปล่อยใจให้กระเสือกกระสนไปกับสิ่งต่างๆ
เพื่อเอามาปรนเปรอตน ลองตั้งสติพินิจดูบ้าง ว่าเวลาคนอื่นมีกามราคะเกิดขึ้นในใจ
อย่างที่เกิดกับเรานั้น จะเร่าร้อนเพียงใด เมื่อนั้นเราจะเห็นโทษของมันกระจ่างขึ้น
และคิดหาหนทางเป็นอิสระจากมัน

ถึงที่สุดแล้ว ความทุกข์ใจนั้นก็คือ ความเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง
ขึ้นชื่อว่า “ความเจ็บป่วย” แล้ว ย่อมเป็นผลจากความเสียสมดุลทั้งสิ้น ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ
จิตที่เสียสมดุลเป็นผลจากการวางใจไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ
ธรรมชาตินั้นแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ แม้จะเป็นการแปรเปลี่ยนตามเหตุปัจจัย
แต่เหตุปัจจัยทั้งหลายก็ไม่เคยอยู่ในความควบคุมของเราได้อย่างแท้จริง

เป็นเพราะเราต้องการให้สิ่งต่างๆ เที่ยงแท้และไม่แปรเปลี่ยน เราจึงเป็นทุกข์และกลัดกลุ้ม
เป็นเพราะเราไม่อาจควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามที่หวัง เราจึงผิดหวังและแค้นเคือง

ต่อเมื่อเราดำรงสติและปัญญา ไม่ปล่อยใจแล่นไปตามความทุกข์ เราจึงจะพบว่า
ความทุกข์ในจิตใจนั้นแหละ คือสิ่งบอกเหตุว่า เรากำลังวางจิตวางใจ
ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติตามความเป็นจริง





ความทุกข์ทั้งหลายกำลังบอกเราให้ละวางความยึดมั่นถือมั่น และรู้จักยอมรับความเป็นจริง
ที่มิพึงปรารถนาเสียบ้าง
ใครที่มืดบอดหนวกใบ้ต่อคำเตือนเตือนของความทุกข์ ชีวิตก็มีแต่จะทุกข์ร่ำไป
จำเพาะคนที่ตระหนักว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ปฏิเสธทุกข์
แต่เรียนจากทุกข์ จนเห็นธรรมดาของชีวิตว่า“ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
บุคคลเช่นนั้นย่อมอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของความทุกข์น้อยลงเรื่อยๆ จนเป็นอิสระในที่สุด

ดังพระบรมศาสดาที่ทรงเริ่มต้นบำเพ็ญเพียร ด้วยความคิดที่ต้องการหนีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
แต่ในที่สุดก็ทรงค้นพบหนทางแห่งการอยู่กับความทุกข์เหล่านั้นอย่างเป็นอิสระเหนือมัน

คุณสมบัติประการหนึ่งของมิตร คือ หมั่นตักเตือนให้เราอยู่บนหนทางที่ถูกต้อง
ในชีวิตของเรามิใช่ความทุกข์หรอกหรือ ที่คอยส่งสัญญาณเตือนให้เราคืนสู่ความถูกต้อง
เพื่อเป็นปกติทั้งกายและใจ เราจึงสมควรถือความทุกข์ ว่าเป็นดั่งมิตรของเรา
ดังนั้นแทนที่จะผลักไส รังเกียจความทุกข์ กลับควรที่จะต้อนรับทุกครั้งที่ความทุกข์มาเยือน
น้อมรับบทเรียนจากความทุกข์ รับฟังคำตักเตือน และหันมาสำรวจตรวจตราชีวิตจิตใจของตน
เพื่อให้ดำเนินตามครรลองที่ถูกต้อง

น่าเสียดาย ที่ทุกวันนี้เราพากันปฏิเสธความทุกข์ โดยหารู้ไม่ว่า
เรากำลัง “เมินเฉยมิตร” ที่สำคัญที่สุดในชีวิต






*บทความคัดจากหนังสือ "๓ ทศวรรษ พระไพศาล วิสาโล"
กราบอนุโมทนาท่านผู้เขียนค่ะ


**ภาพประกอบบล็อกจาก wallcoo.net






 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2557    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2557 15:39:28 น.
Counter : 3213 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.