'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

~ บูมเมอแรงแห่งชีวิต : บทความโดย พระไพศาล วิสาโล ~



บูมเมอแรงแห่งชีวิต
บทความโดย พระไพศาล วิสาโล





เมื่อเราเหวี่ยงบูมเมอแรงออกไป สักพักมันก็จะย้อนกลับมาหาเรา ใช่หรือไม่ว่าการกระทำของเราก็เช่นกัน เราทำอะไรกับสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นย่อมส่งผลกลับมาที่เรา แม้จะไม่รวดเร็วหรือชัดเจนเหมือนบูมเมอแรงก็ตาม เมื่อเราจัดดอกไม้ให้งดงาม ดอกไม้นั้นก็กลับมาจัดใจเราให้งดงามตามไปด้วย เวลาเราจัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ ดูแลบ้านให้สะอาด ใจเราก็พลอยเป็นระเบียบและสะอาดไปด้วย แต่ถ้าเราทิ้งของระเกะระกะ ปล่อยให้บ้านรกสกปรก บ้านนั้นก็ปรุงแต่งใจเราให้รกรุงรังไปด้วย

สิ่งของที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น มิได้เป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว หากยังกระทำต่อเราด้วย คนที่ให้คุณค่าสูงส่งแก่เพชรนิลจินดา ย่อมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าหรือสถานะสูงส่งขึ้นยามได้สวมสร้อยเพชร แต่บางครั้งก็ถึงกับนอนไม่หลับหากมีเพชรเม็ดงามอยู่ใต้เตียง ต้นไม้ในสวน ทีแรกเราเป็นฝ่ายดูแลรักษามัน แต่เมื่อเติบใหญ่ มันกลับดูแลรักษาเรา เช่น ให้ร่มเงา ให้อาหาร เป็นสวัสดิการในยามแก่ หรือปกป้องร่างของเราในยามสิ้นลม ดังชาวต้งในประเทศจีนซึ่งมีหน้าที่ดูแลต้นไม้ประจำตัว(ที่ปลูกตั้งแต่แรกเกิด)ไปจนตลอดชีวิต และเมื่อสิ้นลมต้นไม้ต้นนั้นจะถูกโค่นเพื่อทำเป็นโลงบรรจุร่างของเขา

ของชิ้นใดก็ตามหากเรายึดว่าเป็น “ของเรา”เมื่อใด มันก็จะมีอิทธิพลต่อเราทันที จนเรากลายเป็น “ของมัน”ไปเลยก็มี เช่น ยอมตายเพื่อรักษามันเอาไว้ ถ้ามันเกิดมีอันเป็นไป เสียหาย เสื่อมทรุด หรือสูญไป เราก็อาจล้มทรุดไปด้วย หรือถึงกับหมดสติไปเลยก็ได้







มิใช่แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เท่านั้น แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมก็เช่นกัน ทีแรกเราปรุงแต่งมัน ต่อมามันกลับเป็นฝ่ายปรุงแต่งเรา จนถึงขั้นเป็นนายเรา ความคิดทั้งหลายที่เราก่อรูปขึ้นมาในหัว มันสามารถทำให้เรากินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะใจถูกมันสั่งให้คิด ๆ ๆ ต่อไปไม่ยอมหยุดบางครั้งมันก็ชักนำหรือบงการให้เราทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็ได้หากเขาไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น แม้คนนั้นจะเป็นพ่อแม่ ลูกหลานหรือคนรักก็ตาม ถ้ายึดมั่นถือมั่นกับความคิดใดมาก ๆ มันจะทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางไม่ให้เราเห็นหรือยอมรับความจริงที่สวนทางกับความคิดนั้น มันจะสั่งให้เราบอกปัดความจริงนั้นและจมอยู่ในความคิดนั้นต่อไป แต่ถ้าปรุงแต่งและหลงจมอยู่กับความคิดว่าฉันเป็นคนไร้ค่าเมื่อใด ความคิดนั้นก็สามารถบัญชาให้เราทำร้ายตัวเองได้เมื่อนั้น ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้เรากำลังกลายเป็นทาสของความคิดที่ตัวเองสร้างขึ้นมาทั้งนั้น

สิ่งของฉันใด คนก็ฉันนั้น ไม่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับใคร คนนั้นย่อมมีอิทธิพลต่อเราเสมอไม่มากก็น้อย แม้แต่ผู้นำที่มีอำนาจก็หนีความจริงไม่พ้นว่า ลูกน้องไม่ได้อยู่ในอิทธิพลของเขาแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อเขาด้วย อย่างน้อยเขามีอำนาจได้ก็เพราะการยอมรับของลูกน้อง ถ้าลูกน้องไม่ยอมรับหรือไม่ให้ความร่วมมือเขาก็ทำอะไรไม่ได้ หรือถึงกับต้องลงจากอำนาจไป






มองให้ลึกลงไป สิ่งของหรือผู้คนจะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำหรือวิธีการที่เราเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น คนที่กระทำกับผู้อื่นด้วยความรักหรือความเคารพ ย่อมได้รับความรักหรือความเคารพกลับคืนมา อาสาสมัครหลายคนที่ไปช่วยดูแลเด็กเล็กในสถานสงเคราะห์ พบว่าตนเองมีความสุขอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจไปให้ความสุขแก่เด็ก แต่กลับได้รับความสุขจากเด็กคืนมาอย่างไม่คาดฝัน บางคนรู้สึกว่าชีวิตของตนมีคุณค่ามากขึ้น เพราะความรักที่ได้กลับคืนมาจากเด็ก ชายหนุ่มบางคนถึงกับยอมรับว่า “ชีวิตผมสมบูรณ์ขึ้นเพราะเด็ก ๗ ขวบ”

ให้ความรักก็ย่อมได้รับความรัก ให้ความสุขก็ย่อมได้รับความสุข แต่ถ้าคิดจะเอาความรักหรือตักตวงความสุข กลับไม่ได้ หรือได้ความเกลียดชังและความทุกข์มาแทน ทั้งนี้เพราะเมื่อเริ่มจากความเห็นแก่ได้ ก็ย่อมกระทำหรือแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว อีกฝ่ายจึงตอบโต้ด้วยความเห็นแก่ตัวกลับมา ถ้าหวังตักตวงความสุขจากเขา เขาก็คิดตักตวงความสุขจากเราเช่นกัน ยิ่งแสดงออกด้วยความโกรธเกลียดแล้ว ก็แน่นอนเลยว่าย่อมได้รับความโกรธเกลียดกลับมา จะพูดว่าความโกรธเกลียดที่เหวี่ยงใส่เขา ย้อนกลับมาหาเราก็คงไม่ผิดนัก

ทำอย่างไรย่อมได้ผลอย่างนั้น แต่ผลที่ย้อนกลับมาหาเรานั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ หากเกิดจากการกระทำของเราเอง คนที่ชอบใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น ความรุนแรงนั้นเองจะย้อนกลับมาปรุงแต่งจิตใจของเขาให้เป็นคนก้าวร้าว โหดเหี้ยม หรือหยาบกระด้าง หรือทำให้จิตใจมีความดำมืดมากขึ้น จนสามารถทำสิ่งเลวร้ายได้ง่าย ตำรวจที่ชอบใช้วิธีการเหล่านั้นกับโจร ในที่สุดก็จะมีจิตใจใกล้เคียงกับโจรเหล่านั้น แม้แต่คนดีที่พร้อมใช้วิธีการฉ้อฉลสกปรกกับคนชั่ว หากทำเช่นนั้นบ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นคนชั่วไปโดยไม่รู้ตัว มีผู้หนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า
“เมื่อคุณสู้กับอสูร พึงระวัง อย่าให้ตัวเองกลายเป็นอสูรไปด้วย”






คนที่ยึดมั่นในความถูกต้องหรือผู้ที่ถือตัวว่าเป็นฝ่ายธรรมะ มักตกอยู่ในกับดักดังกล่าว เพราะเมื่อเห็นคนชั่ว ย่อมอยู่เฉยไม่ได้ ด้วยถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องจัดการกับคนชั่วเหล่านั้น ยิ่งมั่นใจว่าตัวเองเป็นคนดีก็ยิ่งรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะจัดการกับคนเหล่านั้นด้วยวิธีใดก็ได้ เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องหรือปกป้องธรรมะ เนื่องจากมีความโกรธเกลียดที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงพร้อมจะใช้วิธีที่ดุดัน ก้าวร้าว และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มต้นจาก ประณามด่าว่า โกหก หลอกลวงใส่ร้าย หลอกลวง ไปจนถึงลงมือฆ่า ดังกรณีบินลาเดนกับพวก หรือกลุ่มคริสตียนหัวรุนแรง การณ์จึงกลายเป็นว่ายิ่งพยายามปกป้องธรรมะมากเท่าไร ก็ยิ่งทำผิดศีลธรรมมากเท่านั้น ในเมืองไทยแนวโน้มเช่นนี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ครูที่เจ้าระเบียบหรือเคร่งศีลธรรม หากเอาแต่บ่นว่าหรือดุด่าลูกศิษย์ที่เกเร แม้จะยังไม่ถูกลูกศิษย์แผลงฤทธิ์หรือตอบโต้เอาคืน แต่การดุด่าว่ากล่าวเป็นอาจิณนั้นก็จะย้อนกลับมาหล่อหลอมจิตใจของครูให้เป็นคนหงุดหงิดเจ้าอารมณ์ รวมทั้งทำให้มีบุคลิกเคร่งเครียด หรือถึงกับหน้างอไปโดยไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าชอบจับผิดนักเรียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีนิสัยระแวง มองคนในแง่ลบ ไม่ใช่กับลูกศิษย์เท่านั้น แต่กับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวด้วย

ที่จริงแม้ยังไม่ได้แสดงออกกับใครเลย เพียงแค่นึกคิดหรือรู้สึกต่อใครบางคนอยู่ในใจ ความรู้สึกนึกคิดนั้นก็ย้อนกลับมาส่งผลต่อเรา เช่น ถ้าโกรธเกลียดใคร แล้วปล่อยให้ความโกรธเกลียดนั้นดำรงอยู่ไปเรื่อย ๆ ความโกรธเกลียดนั้นก็กลับมาบีบคั้นบั่นทอนจิตใจ ทำให้เครียดหนักขึ้น นานเข้าก็กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือความพยาบาทเจ้าคิดเจ้าแค้นจะถูกปลุกให้กำเริบจนครอบงำใจ ผลก็คือตนพร้อมจะทำสิ่งที่เลวร้ายได้เสมอ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงผลต่อสุขภาพและวิถีชีวิต
เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายเจ็บป่วยด้วยสารพัดโรคซึ่งบางครั้งหาสาเหตุทางกายไม่พบ





เมื่อเราโกรธเกลียดใครสักคน อยากให้เขามีอันเป็นไป คนแรกที่เดือดร้อนทันทีคือเรา ไม่ใช่ใครที่ไหน ในทางตรงข้ามหากเรามีเมตตาต่อผู้คน อยากให้เขามีความสุข แม้ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย ความสุขก็เกิดขึ้นแล้วกับเราเป็นคนแรก เพราะเมตตานั้นย่อมนำความสงบเย็นมาสู่จิตใจ และทำให้ความทุกข์ของเรากลายเป็นเรื่องเล็กลง ไม่เพียงเท่านั้น หากเราลงมือทำเพื่อช่วยให้เขามีความสุข การกระทำอันกอปรด้วยเมตตานั้นจะช่วยลดความเห็นแก่ตัวในใจเรา ขณะเดียวกันก็ปลุกพลังฝ่ายบวกให้มีกำลังมากขึ้น ได้เห็นศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง ยิ่งเห็นเขามีความสุข ความสุขนั้นก็ย้อนกลับมาทำให้เรามีความสุขมากขึ้น รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็ม

หากทำด้วยใจอันเป็นกุศลหรือทำด้วยความรู้สึกที่เป็นบวก แม้จะกระทำกับสิ่งของที่ไร้จิตวิญญาณ ความรู้สึกและการกระทำอันเป็นกุศลนั้นก็ยังส่งผลย้อนกลับมาที่ผู้กระทำอยู่ดี ชายชราผู้หนึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยแยกขยะ และทำให้ขยะนั้นกลับมามีคุณค่าขึ้นใหม่ (เช่น เอาไปรีไซเคิลหรือขายต่อ) หลังจากทำมาได้ไม่กี่เดือน เขาพบว่าเขาได้กลายเป็น “ขยะคืนชีพ” จากเดิมที่รู้สึกว่าตนไร้ค่า ได้แต่อยู่รอวันตาย กลับกลายเป็นคนที่มีชีวิตชีวาและรู้สึกเป็นบวกกับตนเองอีกครั้งหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่เขาพากเพียรทำให้ขยะในมือกลับมาเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า มันได้ช่วยให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนจาก “ขยะ”ในความรู้สึกของเขากลายมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าภูมิใจ

ไม่ว่าเราจะทำหรือรู้สึกนึกคิดอย่างไร ไม่เคยสูญเปล่า มันไม่เพียงส่งผลต่อผู้อื่นหรือสิ่งภายนอกเท่านั้น หากยังส่งผลย้อนกลับมาที่ตัวเราเองด้วยในลักษณาการที่สอดคล้องกัน ไม่ช้าก็เร็ว นี้คือกฎธรรมชาติที่พุทธศาสนาเรียกว่า“กฎแห่งกรรม” เมื่อเราโกรธเกลียดหรือทำร้ายใครสักคน ไม่ต้องรอปีหน้าหรือชาติหน้า มันได้ส่งผลร้ายต่อตัวเราแล้วอย่างน้อยก็ในจิตใจ ในทางตรงข้ามหากเรามีเมตตากรุณาและช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ผลดีก็เกิดขึ้นแล้วกับเราทันที โดยไม่ต้องรอให้เขามาตอบแทนบุญคุณของเรา

อยากให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอะไรดีกว่าการคิดดี พูดดี และทำดี
ความดีที่ทำนั้นไม่ช้าก็เร็วย่อมย้อนกลับมาหาเราในที่สุด






*บทความคัดจาก//www.visalo.org/ ด้วยความเคารพ






 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2556    
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2556 12:36:58 น.
Counter : 2470 Pageviews.  

~ ธรรมะเพื่อสุขภาวะบนวิถีความพอเพียง บทความโดย พระไพศาล วิสาโล ~



ธรรมะเพื่อสุขภาวะบนวิถีความพอเพียง
:ทัศนคติพื้นฐานเพื่อพัฒนาสุขภาวะ
บทความโดย พระไพศาล วิสาโล






คำว่า “สุขภาวะ” ได้เปิดมิติมุมมองจากเดิมที่เราให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ
ในความหมายที่เป็นเพียง “การดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ” ให้กว้างขวางขึ้น

“สุขภาพ” ในความหมายที่ขยายคลุมไปถึง “สุขภาวะ” นั้น
ไม่ใช่เป็นเรื่องของสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมิติอื่นๆ ของชีวิตอีกด้วย

ดังที่ทุกท่านได้ทราบกันดีว่าปัจจุบัน คำว่า “สุขภาวะ” ได้มีการจำแนกออกไปเป็นหลายด้าน
ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางจิต
และสุขภาวะทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ

สุขภาวะทางกาย หมายถึง การที่มีสุขภาพทางกายดี
มีปัจจัยสี่พอเพียงแก่การดำเนินชีวิต ไม่เป็นโรคขาดอาหาร
ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยใดๆ มีสวัสดิภาพในชีวิต
ตลอดจนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี คือ ปราศจากมลภาวะ เป็นต้น

สุขภาวะทางสังคม หมายถึง การมีสวัสดิภาพที่ราบรื่น
กลมกลืนทั้งในระดับครอบครัว ในระดับชุมชนไปจนถึงสังคม
ได้รับการเคารพ ได้รับการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีการช่วยเหลือเจือจุนกัน
เรียกว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ครอบครัวเข้มแข็ง
ซึ่งเชื่อมโยงกับสุขภาวะทางจิต

สุขภาวะทางจิต หมายถึง การที่มีจิตปลอดพ้นจากความทุกข์ ไม่เครียด
มีอารมณ์ในเชิงบวก เช่น ความเมตตา ความผาสุก ปลอดพ้นจากโรคจิต
หรือว่าโรคประสาท หรือความบีบคั้นทางจิตใจ

สุขภาวะทางปัญญา หมายถึง การที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต
สามารถวางจิต วางใจได้อย่างถูกต้อง คิดดี คิดเป็นและเห็นตรง
จนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหาชีวิต หรือแก้ปัญหาการทำงานได้ด้วยตัวเอง

ทั้งสี่ประการนี้ นอกจากจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ผู้คนได้มีความสุข
ความสบาย มีความสงบร่มเย็นแล้ว
ยังจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญให้สังคมมีความอยู่เย็นเป็นสุข






ทัศนคติพื้นฐานที่นำไปสู่สุขภาวะทั้ง ๔ ประการ ได้แก่

หนึ่ง คิดถึงส่วนรวม คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง
เวลานี้คนไทยคิดถึงตัวเองมากกว่าคนอื่น จะทำอะไรก็จะถามว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร
ไม่เคยถามว่าทำแล้วสังคมจะได้อะไร

การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยากลำบากมาก
เพราะรณรงค์สิ่งแวดล้อมต้องทำให้คนคิดถึงส่วนรวมมากกว่าความสะดวกสบายส่วนตัว
ทำไมไม่ควรใช้โฟม หรือเปิดแอร์เต็มที่ ก็เพราะมันก่อปัญหาแก่ส่วนรวม
คนเราจะไม่ใช้โฟมหรือไม่เปิดแอร์ฟุ่มเฟือยก็ต่อเมื่อคิดถึงส่วนรวมมากกว่าความสะดวกสบายส่วนตัว
แต่คนไทยตอนนี้คิดถึงตัวเองมากกว่าส่วนรวม คิดถึงตนเองมากกว่าคนอื่น
คิดถึงตัวเองมากกว่าลูก คิดถึงตัวเองมากกว่าผัวหรือเมียด้วยซ้ำ





สอง เห็นว่าความสุขไม่ได้เกิดจากวัตถุอย่างเดียว แต่มาจากที่อื่นด้วย
ตอนนี้มีการรณรงค์ “ไม่ซื้อก็สุขได้”
คนมักจะคิดว่ามีความสุขจากการซื้อ แต่อาตมาคิดว่าไม่พอ
ต้องบอกว่า “สุขได้เพราะไม่ซื้อ” ซื้อแล้วทุกข์ไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ที่ไหน
ไม่รู้จะเที่ยวที่ไหนเพราะมีเงินมากเหลือเกิน ทุกข์เพราะซื้อมากเหลือเกิน
บางคนมีเสื้อมากไม่รู้จะใส่ตัวไหน มีรองเท้าเป็นพันคู่เครียดไม่รู้จะใส่คู่ไหน

แต่ที่จริง ความสุขหาได้จากการทำงานและเสียสละ เช่น โครงการจิตอาสา
ชวนคนทำความดี มีความสุขได้โดยทำความดี
มีคนหนึ่งเขาไปนวดเด็กที่บ้านปากเกร็ด (เป็นเด็กกำพร้า กล้ามเนื้อลีบเพราะไม่มีใครอุ้ม) 2-3 ครั้งทุกสัปดาห์
เดิมเขาเป็นไมเกรน แต่การทำเช่นนี้ทำให้เขาหายไมเกรน ลืมกินยาไปเลย
เด็กให้ความสุขแก่เขามาก ไม่ใช่เขาไปให้ความสุขแก่เด็กเท่านั้น
กรณีนี้เป็นตัวอย่างการได้รับความสุขที่ไม่ได้มาจากการบริโภคเพียงอย่างเดียว

ตอนนี้คนไทยวัยรุ่น หนุ่มสาวไม่ค่อยเข้าใจ แต่เมื่อเขาได้ทำเขาจะรู้ได้
และพบว่า ความสุขเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นสิ่งที่เงินทองซื้อไม่ได้





สาม พึ่งพาน้ำพักน้ำแรงและความเพียรพยายามของตนเอง
ไม่หวังลาภลอยคอยโชคและรวยลัด เช่น เล่นการพนัน เล่นหวย
หวังพึ่งแต่จตุคามรามเทพ (ซึ่งแม้ทุกวันนี้จะตกสมัยแล้วสิ่งศักดิ์สิทธิอื่นก็มาแทนที่)
การโกงข้อสอบ การคอรัปชั่น เป็นผลมาจากความคิดว่าทำอย่างไรจะรวยโดยไม่ต้องเหนื่อย
นักศึกษาก็คิดว่าทำอย่างไรจะเรียนดีได้โดยไม่ต้องเหนื่อย
ทำอย่างไรจะได้คะแนนดีโดยไม่ต้องสอบ
ถ้าไม่โกงก็ไปขอคะแนนจากอาจารย์ โดยการให้บริการพิเศษแก่อาจารย์เพื่อที่จะได้คะแนนดี

สี่ คิดดี คิดเป็น เห็นตรง ไม่คิดเอาแต่ใจตนเอง คือรู้จักคิด คิดเกื้อกูลคิดเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เอาความถูกต้องเป็นหลัก ความถูกใจเป็นรอง

นี่คือทัศนคติที่จะนำไปสู่สุขภาวะ ๔ ประการ




** บทความคัดจาก"ธรรมเพื่อสุขภาวะบนวิถีความพอเพียง"/www.visalo.org/
***ภาพประกอบบล็อกจาก //www.wallcoo.com






 

Create Date : 22 สิงหาคม 2556    
Last Update : 3 ตุลาคม 2556 15:46:22 น.
Counter : 3302 Pageviews.  

~ 'มหัศจรรย์แห่งลมหายใจ' ข้อคิด - ธรรมะโดย พระติช นัท ฮันห์ ~



'มหัศจรรย์แห่งลมหายใจ'
บทความธรรมะโดย 'ติช นัท ฮันห์'






เรามักคิดว่าเรายั่งยืนกว่าลมหายใจเข้าของเรา
แต่นั่นไม่ใช่ความจริง...เราเป็นดั่งลมหายใจของเราเอง


ในพระสูตร ๔๒ บทนั้น มีบทหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงถามพระสาวกว่า
ชีวิตมนุษย์นั้นยืนยาวสักเพียงใด?

สาวกรูปหนึ่งทูลตอบว่า ๑๐๐ ปี
สาวกอีกรูปหนึ่งทูลตอบว่า ๕๐ ปี
สาวกอีกรูปทูลตอบว่า ๑ วันกับอีก ๑ คืน

และแล้วสาวกรูปหนึ่งก็ทูลตอบว่า อายุคนเรานั้นยาวเพียงหนึ่งลมหายใจของเราเอง

พระพุทธองค์กล่าวกับสาวกรูปนั้นว่า...
ถูกต้องแล้ว ท่านได้เห็นความจริงแห่งชีวิตมนุษย์แล้วชีวิตคนเรานั้น
ยืนยาวเพียงแค่หนึ่งลมหายใจเท่านั้น แท้จริงแล้วอาจสั้นกว่านั้นเสียอีก

เพราะในขณะที่เธอหายใจเข้า เธอได้กลายเป็นคนอีกคนแล้ว
และเธอที่อยู่ที่นั่นก่อนหายใจเข้าก็มิได้เป็นเธอหลังหายใจเข้าอีกต่อไปแล้ว





เธออาจคิดว่าตนเองนั้นจะคงอยู่อย่างยืนยาว
ดังนั้นเธอจึงพยายามที่จะเข้าพึ่งในสิ่งที่จะดำรงอย่างยืนยาวเช่นกัน
หรือดำรงอยู่ตลอดไป

ถ้าเธอรู้ว่าผู้ที่เข้าพึ่งและสิ่งที่เราเข้าพึ่งนั้นแท้จริงแล้วคือหนึ่งเดียวกัน
เธอย่อมสามารถเข้าใจถึงเหตุผล
เมื่อเรากล่าวว่าให้เข้าพึ่งลมหายใจเข้าหนึ่งลมหายใจของเราเอง
นี่เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมาก

ในขณะที่เราหายใจเข้า เราสามารถอยู่กับลมหายใจเข้าของเรา
เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริง
หากเรารู้วิธีที่จะเข้าพึ่งลมหายใจเข้า
เราย่อมสามารถที่จะเข้าพึ่งลมหายใจออกของเราได้เช่นกัน





บางครั้งเรารู้สึกว่า เราไม่มีความหนักแน่น มั่นคง เราไม่เป็นตัวเอง
เราถูกฉุดดึงไปด้วยสิ่งต่าง ๆ ความคิดต่าง ๆ โครงการต่าง ๆ
ความกลัวและกิเลสต่าง ๆ
เราไม่มีความสงบสุข นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องเข้าพี่งพาลมหายใจเข้าของเรา
เพราะการเข้าพึ่งพาลมหายใจเข้าคือการกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง
และนี่คือสิ่งที่เป็นไปได้

การเข้าพึ่งลมหายใจเข้าช่วยให้เธอกลับมาเป็นตัวเองได้ในทันที
เธอจะรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง เธอจะดำรงในปัจจุบันขณะ
อยู่ในขณะนั้นได้อย่างเต็มเปี่ยม

เธอจะตระหนักรู้ว่าเธอคือความมหัศจรรย์แห่งชีวิต
และเธอสามารถสัมผัสกับความมหัศจรรย์แห่งชีวิต
ที่กำลังรายล้อมรอบเธออยู่

ลมหายใจเข้านั้นแสนมหัศจรรย์ ทำให้ฉันรู้สึกว่ากำลังอยู่ที่บ้านอย่างแท้จริง
ลมหายใจเข้าทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันได้มาถึงแล้ว
และทำให้ฉันรู้ว่าฉันไม่ต้องวิ่งไล่ไขว่คว้าอะไรทั้งสิ้น

นี่คือเหตุผลว่าทำไมการเข้าพึ่งลมหายใจเข้า
จึงเป็นการปฏิบัติที่แสนมหัศจรรย์!






*บทความและภาพประกอบได้รับแบ่งปันผ่านหน้าเฟซบุ้ก
ขอขอบพระคุณและร่วมอนุโมทนาบุญกับผู้สร้างสรรค์มาณ ที่นี้ค่ะ








 

Create Date : 07 สิงหาคม 2556    
Last Update : 3 ตุลาคม 2556 16:04:37 น.
Counter : 2712 Pageviews.  

~ 'พุทธศาสนากับสถาบันสงฆ์ไทย' บทความโดยพระไพศาล วิสาโล ~



'พุทธศาสนากับสถาบันสงฆ์ไทย'
บทความโดย พระไพศาล วิสาโล






พุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น มิได้อยู่ที่วัดวาอารามหรือพระสงฆ์
แต่อยู่ที่จิตใจของผู้คน


พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์เคยมีบทบาทที่สำคัญมากต่อชีวิตและสังคมไทยในอดีต
แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
พลังสร้างสรรค์ของพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ได้ลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งได้แก่ความไม่สามารถปรับตัว
ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทำให้ลดบทบาทจากการนำและกำกับสังคมกลายเป็นการตามสังคมไป
ปล่อยให้สังคมถูกนำหรือขับเคลื่อนด้วยพลังอย่างอื่นแทน
อาทิ ลัทธิบริโภคนิยมซึ่งกระตุ้นความโลภ และอุดมการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ
ซึ่งมักกระตุ้นความโกรธเกลียด ผลก็คือวัฒนธรรมแห่งความละโมบ
และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังแพร่หลายไปทั่วสังคม

ทุกวันนี้นอกจากพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ไม่มีพลังพอ
ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นอิสระจากวัฒนธรรมทั้งสองแล้ว
ยังปล่อยให้วัฒนธรรมดังกล่าวเข้ามาครอบงำพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์
จนทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามกับพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์






พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์จะมีพลังสร้างสรรค์ในสังคมสมัยใหม่ได้
ก็ด้วยการเห็นข้อจำกัดของตนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการรื้อฟื้นแก่นธรรมที่ถูกมองข้ามไป
และการตีความหลักธรรมอื่น ๆ ให้สมสมัย
รวมทั้งปฏิรูปสถาบันสงฆ์โดยเฉพาะการศึกษาคณะสงฆ์ที่ถูกละเลยมานาน
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้
เพื่อทัดทานและเป็นทางออกจากวัฒนธรรมแห่งความละโมบ
และวัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียด

พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์จะมีความหมายต่อโลกสมัยใหม่
ก็ต่อเมื่อออกมาสัมพันธ์กับโลกอย่างเอื้ออาทร
และด้วยการนำศักยภาพที่ดีที่สุดของตนออกมา

การเอื้อเฟื้อต่อโลกในที่สุดแล้วจะกลับมาเป็นประโยชน์
ต่อพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ในระยะยาว
แต่หากละเลยบทบาทดังกล่าวแล้ว
พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ย่อมมีอนาคตที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง






**บทความคัดจากหน้าคำนำหนังสือ"ศาสนาประจำใจ"โดย พระไพศาล วิสาโล










 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 3 ตุลาคม 2556 16:09:11 น.
Counter : 1931 Pageviews.  

~ " The World We Have/เราคือโลก โลกคือเรา" โดย Thich Nhat Hanh (ติช นัท ฮันห์)~





เราคือโลก โลกคือเรา (The World We Have)
ผู้เขียน : Thich Nhat Hanh (ติช นัท ฮันห์)
ผู้แปล : ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส
ผู้พิมพ์ : มูลนิธิหมู่บ้านพลัม
๑๖๐ หน้า ราคา ๑๒๕ บาท






คำนิยม
โดย พระไพศาล วิสาโล



วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติอยู่ในขณะนี้
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วเป็นวิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณ เป็นเพราะใจเรารู้สึกพร่องและว่างเปล่า
เราจึงพยายามตักตวงจากธรรมชาติด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้ชีวิตเติมเต็ม
เป็นเพราะเราเห็นธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุที่จะมีคุณค่าได้
ต่อเมื่อแปรเป็นสินค้าเพื่อปรนเปรอความต้องการอันไม่รู้จักพอของเรา
เราจึงผลาญพร่าธรรมชาติทั้งโลกอย่างมโหฬาร เป็นเพราะเราแยกตัวเองออกจากธรรมชาติ เราจึงคิดแต่จะเอาชนะและควบคุมธรรมชาติให้อยู่ในอำนาจ
โดยหารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้นส่งผลย้อนกลับมาทำลายตัวเราเอง

วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมจึงมิอาจแก้ได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน หรือการออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการคิดค้นมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีสีเขียว ทั้งหมดนี้ทำได้อย่างมากแค่ชะลอความหายนะให้เกิดช้าลง สิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหานี้อย่างถึงรากเหง้าก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของมนุษย์ต่อธรรมชาติในระดับพื้นฐาน นั้นคือการหันมาตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราแต่ละคนดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเคารพและกตัญญูต่อธรรมชาติ เสมือนเป็นเพื่อน เป็นญาติ หรือเป็นแม่ของเรา







สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั้นลึกซึ้งกว่าที่เราคิดมาก น้อยคนที่สามารถอธิบายให้เห็นถึงสัจธรรมดังกล่าวได้อย่างลุ่มลึกและงดงามเท่าท่านติช นัท ฮันห์ ผู้เป็นทั้งกวีและวิปัสสนาจารย์ ดังท่านเปรียบมนุษย์กับธรรมชาติว่าแนบแน่นเสมือนคลื่นกับน้ำ คลื่นแต่ละลูกมีความแตกต่างกันแต่ก็ประกอบไปด้วยน้ำเหมือนกัน และเมื่อคลื่นสลายก็มิได้หายไปไหนหากกลับไปเป็นน้ำดังเดิม ก่อนที่จะก่อตัวเป็นคลื่นใหม่ ท่านยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมิได้มีตัวตนที่แยกขาดหรือต่างหากจากธรรมชาติทั้งหลาย
เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมประกอบด้วยสิ่งที่มิใช่มนุษย์ อาทิ ธาตุหรือสสารต่าง ๆ
ที่ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น แสงแดด ก้อนเมฆ แม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ฯลฯ ต่างมีส่วนประกอบขึ้นเป็นตัวเรา

ท่านติช นัท ฮันห์ แนะให้เรามองสิ่งต่าง ๆ อย่างลุ่มลึก จนกระทั่งเราสามารถเห็นโลกและจักรวาลในดอกไม้เพียงดอกเดียว หรือสามารถเห็นเมฆในชาที่เราดื่ม เพราะสัจธรรมมิใช่อะไรอื่นหากคือสายสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในจักรวาลที่ไม่อาจแยกจากกันได้





โลกคือเรา เราคือโลก เป็นงานเขียนอีกเล่มหนึ่งของท่านที่นำเสนอทัศนะการมองโลกอย่างใหม่ชนิดที่ไปพ้นจากทวินิยม หรือการแยกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นขั้วเป็นคู่ เพราะความจริงนั้นอยู่เหนือการแบ่งขั้ว ดังท่านชี้ว่าดอกไม้กับขยะไม่ได้แยกจากกัน ต่างเป็นดั่งกันและกัน กล่าวคือดอกไม้ย่อมกลายเป็นขยะ แต่ขยะก็ก่อเกิดดอกไม้ด้วยเช่นกัน นี้คือการมองโลกแบบอิทัปปัจจยตา การมีปัญญามองเห็นความจริงดังกล่าวย่อมทำให้เราเห็นแม้กระทั่งว่าเกิดและตายไม่ได้แยกจากกัน ถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีทั้งเกิดและตายด้วย เช่นเดียวกับคลื่นที่ไม่ได้ดับไป เป็นแต่คืนกลับไปเป็นน้ำ

การมองธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง จึงไม่เพียงช่วยให้เราเห็นคุณูปการของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะท้อนกลับมาให้เราเห็นตัวเองอย่างลุ่มลึกด้วย ธรรมชาติจึงมิได้มีคุณค่าในทางหล่อเลี้ยงร่างกายของเราเท่านั้น หากยังบ่มเพาะจิตวิญญาณของเราให้เจริญงอกงาม ด้วยการจุดประกายแห่งปัญญาให้เกิดขึ้นแก่เรา ทำให้เรายิ่งซาบซึ้งในคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ตามพึงระลึกว่าการมองเห็นธรรมชาติอย่างลึกซึ้งนั้น มิอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการคิด แต่ต้องเกิดจากการประจักษ์แจ้งด้วยวิถีแห่งการภาวนาและการมีสติตื่นรู้ในการดำเนินชีวิต





หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงมอบดวงตาแห่งปัญญาเพื่อมองโลกและตัวเราในมุมใหม่ (ซึ่งที่จริงเป็นภูมิปัญญาแต่โบราณ) หากยังนำเสนอแบบแผนการดำเนินชีวิตที่อ่อนโยนต่อธรรมชาติ โดยมีชุมชนของท่านนัทฮันห์ เป็นแบบอย่าง อีกทั้งยังมอบบทภาวนาเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีสติและเคารพธรรมชาติ

การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน ทั้งโดยการเปลี่ยนจิตสำนึกและวิถีชีวิต แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของมนุษย์ทั้งโลก เพราะถึงที่สุดแล้ววิกฤตสิ่งแวดล้อมคือวิกฤตทางจิตวิญญาณ





...บางบทบางตอน...


ในสมัยก่อน เราสามารถจะสละเวลา ๓ ชั่วโมงในการนั่งจิบชาแก้วหนึ่ง
เพลิดเพลินกับการใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนฝูงในบรรยากาศที่สุขสงบทางจิตวิญญาณ
เราสามารถจัดงานรื่นเริงเพื่อเฉลิมฉลองวันที่ดอกกล้วยไม้ดอกหนึ่งผลิบานในสวนของเรา

แต่ในปัจจุบันนี้เราไม่สามารถสละเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้ได้อีกต่อไป
เรากล่าวว่าเวลาคือเงินทอง
เราได้สร้างสังคมที่คนรวยแล้วก็จะรวยยิ่ง ๆ ขึ้น
และคนจนก็มีแต่จะจนลง

และเราทุกคนถูกพันธนาการไว้กับปัญหาเฉพาะของตนเอง
จนไม่สามารถตระหนักรู้ได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง
กับพี่น้องร่วมโลก หรือ กับโลกใบนี้

ในใจของฉัน ฉันเห็นภาพฝูงไก่ทั้งหลายที่ถูกขังอยู่ในกรง
กำลังต่อสู้กันเพื่อยื้อแย่งเมล็ดข้าวเพียงสองสามเม็ด
โดยเจ้าไก่เหล่านั้นไม่สามารถตระหนักรู้ได้ว่า
ในสองสามชั่วโมงข้างหน้าพวกมันทั้งหมดก็จะถูกนำไปฆ่า







*ขอขอบพระคุณกัลยาณมิตรผู้ส่งมอบหนังสือเล่มนี้เป็นธรรมทาน เนื่องในวาระวันเข้าพรรษาค่ะ

**และขอกราบอนุโมทนาบุญแด่ท่านผู้เขียน ผู้แปล ผู้เขียนคำนิยม ด้วยความเคารพอย่างสูง






















 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2556 12:09:47 น.
Counter : 1732 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.