'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

~ "ข้างหน้าเป็นความหวัง ข้างหลังเป็นบทเรียน" บทความโดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~



ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน ข้างหน้าเป็นความหวัง ข้างหลังเป็นบทเรียน

โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง






อดีต-อนาคต มักจะร้อยรัดปัจจุบันของผู้คนให้มัวหมอง
อดีต...ไม่ใช่ประวัติอาลัยที่ควรตามระลึกถึงไว้พนอตนหรือเก็บมาเสียดแทงทำลายความสงบในปัจจุบัน
วัยชราของผู้หลงอดีตอันรุ่งโรจน์จะยิ่งกลัวความพลัดพราก ยิ่งเกลียดอดีตก็ยิ่งทำลายปัจจุบัน
อดีตที่ล่วงลับ...ก็ควรล่วงเลย แล้วก็แล้วไป หากจำได้ก็แค่จำได้ที่ไม่ทำลายความสงบเย็นของใจปัจจุบัน
อดีตที่ตกต่ำหรือความทรงจำที่เคยเรืองอำนาจ ควรสัมผัสมันด้วยใจสงัดสงบ
นี่คือการไม่ตามคิดถึงอดีตที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย

อนาคตก็มิใช่สิ่งจะพึ่งพิงได้ แม้มีความใฝ่ฝันถึงวันข้างหน้า
แต่ก็ควรคิดด้วยจิตปัจจุบันที่ผ่องแผ้ว

ผู้ใดคงความปกติของดวงใจไว้ได้ เมื่อภาพแห่งอดีต-อนาคตลอยมาเยือน
เขาย่อมมีชีวิตที่เป็นปัจจุบันเสมอ ย่อมอยู่เหนือกาลเวลา เป็นชีวิตนิรันดร
อดีต-อนาคตหมดความหมาย ไม่ยอมให้เหตุการณ์ใด ๆ กระทบแล้วใจกระเทือน





ทุกวันจะเป็นปัจจุบันที่คิดอ่านอย่างอยู่ดีมีสุข
เรื่องราวในชีวิตจะเป็นเพียงประสบการณ์เกิดดับให้เห็น
มีเพียงลูกโซ่แห่งกาลเวลาที่สัมพันธ์สืบเนื่องกันและกันของสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลง

เพียงการสัมผัสด้วยใจเบิกบานในทุกสถานการณ์
ปัจจุบันขณะจะเป็นขณะที่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพรากตามไปไม่ถึง
อดีตอันแสนทรามหรือเลิศเลอปานใดย่อมไม่ทำให้ผู้รู้เท่าทันจงเกลียดจงชังหรือคลั่งไคล้
แต่กลับเข้าใจ เห็นใจ และอภัยในชีวิตหนึ่งซึ่งฟันฝ่าดั้นด้นทุรนทุราย
ผ่านกองทุกข์มาอย่างน่าสงสาร
เป็นชีวิตที่ก่อกรรมซ้ำซากมาอย่างสาหัส
เพียงเพราะความไม่รู้ในเรื่องราวแห่งการยึดมั่นถือมั่น





อะไรกันแน่คือความกลัวตาย อะไรคือความไม่อยากแก่
อะไรคือความแตกต่างระหว่างความสวยความขี้เหร่

อะไรคือชนชั้นที่สูงส่งและต่ำต้อย อะไรคือเสียงแซ่ซร้องและสาปแช่ง
อันล้วนแล้วแต่เกิดจากความหมายมั่นจนติดใจและผลักไสของใจดวงมืด

ความเข้าใจในเรื่องราวของชีวิตจึงอยู่ที่การดำรงสติ-ปัญญาเพื่อรักษาปัจจุบันกาล
นึกถึงอดีตก็ด้วยจิตปัจจุบัน มองอนาคตก็ด้วยจิตปัจจุบัน
มองหน้ามองหลังแบบไม่หวังเอาหวังเป็น หวังแค่ไม่เอาอะไร หวังแค่ได้ให้ ไม่หวังที่จะเอา

อดีตให้ข้อคิด เตือนใจให้ปัจจุบันและวันพรุ่งนี้ดีขึ้น
ทุกวันเวลาที่ผ่านไปล้วนแล้วแต่เป็นชิ้นส่วนของชีวิต
ไม่ดีหรือที่จะดำรงความเบิกบาน สะอาด สว่าง สงบ ด้วยสติ-ปัญญา...
แม้กำลังจะสิ้นใจ
แต่ก็ไม่เคยสิ้นหวัง (ที่จะแจ่มใส เบิกบาน)

มองไปข้างหน้าก็เพื่อก่อความหวัง มองไปข้างหลังเพื่อเก็บบทเรียน





*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต"โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง



**กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับผู้เขียนมาณ ที่นี้ค่ะ





 

Create Date : 01 ตุลาคม 2555    
Last Update : 1 ตุลาคม 2555 10:50:58 น.
Counter : 2337 Pageviews.  

~ ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต ตอน 'มันก็เท่านั้นเอง' โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~



ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน...มันก็เท่านั้นเอง

โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง






กิจกรรมทั้งมวลบนโลกมนุษย์ เป็นเพียงบทบาทที่ละเล่นกันชั่วคราว
จะจริงจังกับมันมากนักก็ต้องเจ็บปวด
ยิ่งลุ่มหลงกับการมีชีวิตปานใดก็ยิ่งสะเทือนใจต่อความพลัดพราก
บางคราวก็ละเล่นเสียจนอาจหลงลืมว่าเพียงแค่ละคร
เผลอใจคิดว่าเป็นพระเอกตัวจริง แล้วเราก็กลัวการสูญเสีย
เราสะดุ้งต่อการไม่ได้ครอบครองรสชาดของชีวิต
ขยะแขยงริ้วรอยตีนกา ผวากับความอ้วน
สะเทือนกับจำนวนตัวเลขอายุ
เรายึดมั่นกับบทละครนี้มากไปแล้ว ยิ่งกลัวก็ยิ่งดันทุรังหาสิ่งมาเกาะยึด
ไขว่คว้าหาความมั่นคงมาบำบัดความกลัวแบบขอไปที
ดิ้นรนหาสิ่งมาค้ำจุนประทังความหนุ่มสาว
หาสิ่งมาชะลอความชรา แสวงหาอย่างหวาดกลัว





พยายามครอบครองสมบัติอำนาจบริวารเพื่อแสวงหาความมั่นคง
หรือความมั่นใจในการมีชีวิต
ยิ่งพยายามครอบครองยิ่งแสวงหามาเกาะยึด ยิ่งหลงติด ยิ่งไม่อยากพลัดพราก
ยิ่งปรารถนาความนิรันดร์ในสีสันอลังการ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย
จะยิ่งเสียดแทงจิตใจของชนทุกวัย

วัยชราดุจอาทิตย์อัสดงของคนปลงไม่เป็น ย่อมมีแต่ความอาวรณ์ถึงวันคืนเก่าๆ
ที่เคยรุ่งโรจน์หรือระเริงสุดเหวี่ยง
กลายเป็นภาพเกาะกินใจ หวนอาลัยไปตราบเท่าชรา
วัยเกษียณอายุของผู้หลงตนในบารมีแห่งการเรืองอำนาจ
จะมีภาพประวัติศาสตร์อาลัยลึกคอยทิ่มตำดวงใจให้หมองไหม้
ผู้ฝังใจในความแพรวพราวของแสงไฟแห่งยุคย่อมไม่เห็นคุณค่าของชีวิตสามัญ
ผู้ฝังใจในความเป็นหนุ่มเป็นสาวยิ่งโศกสะเทือนต่อวันและวัย
ที่กระชากความหนุ่มสาวให้สูญสิ้นไป





สมบัติ กิจการ อำนาจ ล้วนเป็นบทบาทมงกุฏที่สมมุติชั่วคราว
เราต้องรอกันนานเท่าใดจึงเข้าใจในความจริงนี้
ความจริงที่ว่า แม้แต่ร่างกาย...พระเจ้าให้มายืมใช้เพียงชั่วคราว
ความชรา ความตาย...เป็นธรรมดา
แต่สำหรับคนที่หูไม่ถึง ตาไม่แจ่ม ก็จะไม่ซึ้งถึงคำว่าแก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา

ความชรา ความตาย ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตามปรากฎการณ์ของโลก
เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย
ความน่าสะพรึงกลัวมิได้อยู่ที่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย
แต่อยู่ที่ใจยึดมั่นแน่นเหนียวไม่ยอมรับกับความผันแปร
ในขณะที่สิ่งทั้งหลายต้องแปรต้องเปลี่ยน
ใครเลยจะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายก็เท่านั้นเอง...

และใครเลยจะรู้ว่า “มันก็เท่านั้นเอง” คือความรู้ที่เหนือความรู้ทั้งปวง
คือปรัชญาที่เหนือปรัชญาใดในสากล





*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต"โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง



**กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับผู้เขียนมาณ ที่นี้ค่ะ





 

Create Date : 25 กันยายน 2555    
Last Update : 25 กันยายน 2555 11:56:40 น.
Counter : 2388 Pageviews.  

~ ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต ตอน 'ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง' โดย...ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~




ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง
โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง






การเกิดแก่เจ็บตาย เป็นธรรมดาโลกที่หนีไม่พ้น เป็นคุณสมบัติติดตัวมา
เป็นเส้นทางสั้นยาวอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่เราก็ทราบกันล่วงหน้าแล้ว
เราควรจะให้การต้อนรับด้วยความสงัดสงบ มั่นคง แจ่มใส

ในสมัยก่อนโน้น เรามักจะเห็นการตายแบบภูมิปัญญาไทย
ผมจำภาพทวดจากไปบนแคร่ไม้ไผ่เก่าแก่ ที่บ้านนอกไกลโพ้น
ทวดภาวนาคำว่าพุทโธ ๆ ไปเรื่อย ๆ ผมได้ยิน และจดจำฉากสุดท้ายนั้นได้ดี
เป็นหนึ่งในภาพพิมพ์ใจวัยเด็กที่ไม่เคยจางหายไปจากคลังความจำ
ทวดยังยิ้มได้บนใบหน้าที่ทรุดโทรม ดูเหมือนมิได้มีความหวาดกลัว
หากแต่เหมือนความเต็มใจจาก

ก่อนหน้านั้นทวดเคยบอกเด็ก ๆ ว่าอีกไม่กี่วันจะไม่อยู่แล้ว ลุกเดินก็แทบไม่ไหว
ทวดจะไปอยู่กับพระพุทธเจ้า เหมือนกับจะบอกว่าไปเที่ยวต่างจังหวัดอะไรปานนั้น
เหมือนบอกว่าชีวิตมันก็เท่านั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา
ระยะหลัง ๆ นี้เจ็บป่วยบ่อย ๆ ขึ้น แล้ววันนี้ก็จะตายละนะ
ถึงวันเวลาที่เรี่ยวแรงจะพูดก็ไม่มี ทวดยังฉายแววตาในวันนั้นกะพริบๆ
เหมือนกับจะบอกความหวังหรือเปิดเผยความลึกลับดำมืดในเรื่องราวของชีวิต
แก่ลูกหลานก่อนที่ดวงตาจะดับสนิท






แล้วโลกในเย็นวันนั้นต่างกับโลกในตอนเช้าไปบ้าง

ตรงที่เย็นนี้ทวดขาดบางอย่างไป คือลมหายใจที่ระรวยรินมาช้านานหยุดไปเฉย ๆ
ทวดอาจไม่ได้เสียชีวิตในบรรยากาศของโลกไซเบอร์ ที่เต็มไปด้วยเครื่องช่วยชีวิตหรูหรา

แต่ทวดก็ได้แสดงทักษะของคนตายเป็น ตายแบบมีคุณภาพ ตายแบบเห็นการตายเป็นเหตุการณ์ปกติ
แม้ตายแบบไม่ทันสมัย ตายไม่มีคลาส ไม่มีระดับ
ไม่มีสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจแสดง ไม่มีการบันทึกและแสดงการมีสัญญาณชีพ

ทวดตายอย่างยากจน ไร้บรรดาศักดิ์
ไม่ใช่วีรบุรุษ ไม่ใช่วีรกรรม ในวันสุดท้าย...ในผ้าผืนเก่าแก่ที่ให้ความอบอุ่น
แต่ผมก็สัมผัสถึงจิตวิญญาณเสรีของชายชรา และบอกให้ทราบว่าทวดรู้ดีว่าชีวิตต้องการอะไร

หรือใครต่อใครจะบอกว่าทวดไร้การศึกษา
แต่แววตาและใบหน้าสงบของทวดบ่งบอกถึงชัยชนะของการต่อสู้บนสังเวียนเวทีชีวิต
ราวกับจะบอกว่าเพียงพอแล้วสำหรับโลกอันมากมายา
แต่เป็นการถ่ายทอดปรัชญายิ่งใหญ่ของชีวิตที่กล่าวว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา
เรื่องง่าย ๆ ที่คนทั้งหลายเข้าถึงได้ยาก
ช่วงเวลาสั้นๆ หลังสิ้นใจ ชาวบ้านช่วยกันต่อโลง งานศพดำเนินไปอย่างเรียบง่าย
เมื่อพระสวด ลูกหลานได้เห็นศพ เห็นความแปรเปลี่ยนของสังขาร





งานศพเป็นงานสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิต เตือนคนที่ยังอยู่ให้ประจักษ์แจ้งถึงความจริง
งานศพจึงมักสยบความเย่อหยิ่งผยองของคนเรา
ทำให้ฉุกคิดได้ว่าจะแก่งแย่ง หรือระเริงกันไปไย
ปองพยาบาทกันทำไม ในเมื่อเราต่างก็ยืนอยู่ต่อหน้าหลักประหารด้วยกันทุกคน
กำลังเข้าคิวเรียงลำดับเข้ารับการลงอาญา เราต่างหัวอกเดียวกัน
ต่างเป็นพี่น้องร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย

ทวดผมเป็นคนหนึ่งที่บอกคนทั้งหลายว่า อนิจจัง วต สังขารา สังขารไม่เที่ยงหนอ
อันเป็นเสียงเรียกร้องแห่งเหตุผล เป็นมนต์อันศักดิ์สิทธิ์สัจจะ เป็นสาระโดยแท้ของงานศพ
ระลึกถึงเรื่องทวดลาโลกทีไร ก็ชวนให้คิดถึงปรัชญาล้ำลึกอันเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญา

โลกวันนี้ได้พูดถึงมรดก หรือภูมิปัญญาของย่าทวดกันมาก
แต่ยังกลับเน้นถึงภูมิปัญญาแบบเปลือก ๆ

แพทย์แผนไทย สมุนไพร โยคะ ถึงสาระเหล่านี้จะมีคุณค่า
แต่หามีภูมิปัญญาใดยิ่งใหญ่ไปกว่าภูมิปัญญาแห่งการทำใจได้





ผมไม่เคยลืมภาพสระนาฬิเกร์ ที่สวนโมกข์ และบทเห่กล่อม ที่หลอมชีวิตสู่ธรรมชาติ
นับเป็นอีกปริศนาธรรม ที่ท่านอาจารย์นำมาย้ำถึงภูมิปัญญาไทย ที่ยิ่งกว่าขั้นเทพ คือว่า

“เอ่...เอ๊ น้องเอย มะพร้าวนาฬิเกร์

ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง

ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง

กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย”

เรื่องราวของต้นมะพร้าว ต้นเดี่ยว ไม่มีคู่เปรียบ ฟ้าดินก็ทำอะไรไม่ได้
โลกทั้งโลกไม่มีเอฟเฟคท์ ผู้ที่จะไปถึงได้ต้องปล่อยวางหมดสิ้น
ใช่แค่มีบุญเท่านั้นไม่ แต่ต้องพ้นบุญ เหนือบุญเหนือบาป

นี่คือ เม็กกะเคลฟเวอร์ของ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ชีวิตไม่มีอะไรพิเศษมากมายเหมือนเราเรา
แต่เขานึกถึงแต่สิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งดีที่สุด ซึ่งเลิศที่สุดอยู่เสมอ
ย้ำว่าที่สุดของที่สุด (นิพพาน) ก็อยู่ในวัฏสงสาร (ทะเลขี้ผึ้ง) ที่นี่แหละ
มีทุกข์ที่ไหน ต้องดับทุกข์ที่นั่น ใช่จะต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย

การดับทุกข์ให้ถึงที่สุด ต้องดับ ณ จุดที่เกิดเหตุนั่นเอง






*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต"โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง



**กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับผู้เขียนมาณ ที่นี้ด้วยค่ะ






 

Create Date : 21 กันยายน 2555    
Last Update : 21 กันยายน 2555 10:51:27 น.
Counter : 2220 Pageviews.  

~ ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต ตอน ดูดวงจันทร์ โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~



ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน ดูดวงจันทร์

โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง





เมื่อตอนเราเป็นเด็ก ยังไม่ได้ท่องไปในโลกอินเตอร์เน็ต ไม่ได้แชตติ้งในสังคมไซเบอร์

เราเคยสนิทสนมกับดวงดาวและดวงจันทร์มากกว่าเดี๋ยวนี้
เคยขี่ควายชมจันทร์ที่บ้านทุ่ง
มีเสรีภาพในการชื่นชมโลกโดยไม่ยึดครอง เฝ้ามองและสัมผัสสิ่งรอบตัว

ความชื่นบานง่าย ๆ ดั้งเดิมได้หายไปจากใจคนจำนวนมาก
เวลาของชีวิตถูกทดแทนด้วยความเครียด พะวงหาความมั่นคงจากสิ่งไร้จีรัง
เราบริโภคข้อมูลเน่าเสียที่ผ่านสื่อมามาก
มันโปรแกรมให้เรามีความฝันน้ำเน่า อยากเอาอยากเป็น จนใจเราไม่มีอันสงบ
บ่อยครั้งที่เปิดคอมแล้วย้อมใจด้วยไอเดียปลุกความโลภอย่างลืมตัว
ครุ่นคิดไปกับเรื่องราวของสตาร์หน้าเว็บ ที่เคลือบด้วยบรรยากาศแห่งราคะ






วันนี้ขอเวลาสักนิด ปิดคอมพิวเตอร์สักช่วง
ดูดวงจันทร์และดวงดาวที่บอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติที่ไร้ตัวตน
ดวงจันทร์เฝ้ามองเรามานาน จันทร์ดวงนี้แหละเคยเห็นพระพุทธเจ้า
เคยเห็นนานากษัตริย์ เคยเห็นปรากฏการณ์ดีเลวในสังคมคน

ดวงจันทร์ดวงนี้แหละที่เฝ้าเห็นสงครามและความสุขบนแผ่นดิน
เมื่อเราได้มองตลอดสายธารการเปลี่ยนแปลงยาวนาน
โลกนี้จะมีเราหรือผู้คนใด ๆ หรือไม่ ธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้น
ชั่วกัลป์ชั่วกัป ดวงจันทร์ก็ไม่เคยอาทร ไม่มีปากเสียง
ไม่ใยดีกับว่ามนุษย์ใดจะทะเยอทะยานเย่อหยิ่งสักปานใด
แต่งดงาม สดใสชั่วนิรันดร

เป็นดวงจันทร์ดึกดำบรรพ์และดวงจันทร์แห่งอนาคต
ถ้าเทียบกับชีวิตมนุษย์ ดวงจันทร์ก็ถือเป็นอมตะที่อยู่ท่ามกลางการเกิดดับระยิบระยับของฝูงชน
ชีวิตคนก็เป็นเพียงชั่วการกะพริบของดวงดาว สั้นยาวก็เพียงละอองหมอกยามรุ่งอรุณ
แค่แสงแรกแห่งอาทิตย์โปรยปราย ก็สลายตัวแปลงร่าง





จันทร์ดวงนี้คือจันทร์ดวงเดิมที่เบิกบาน สะท้อนความสงบสุขนิรันดร์
ส่งความสุกใสแด่ดวงใจที่รู้จักพอ รู้จักปลง รู้จักปล่อยเสมอมา

เมื่อได้รู้ซึ้งว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ไม่ฝันน้ำเน่า ไม่กังวลอยู่แต่จะเอา ๆ

หันมาอิ่มเอมกับธรรมชาติ แสงตะวันหรือพระจันทร์ผ่องเพ็ญ
ดวงใจของคนสันโดษก็สุขยิ่งแล้ว
ในโลกตระการตาอันเป็นถิ่นเกิดถิ่นทำลายนี้
ยังมีความสุขสงบแท้ไว้หล่อเลี้ยงชนทั้งหลาย
ที่ถ่อมตนลงมาแล้วจากความเย่อหยิ่งทั้งมวล





*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต"โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง



**อ่านวันละบทสองบท และขออนุญาตคัดบางบทบางตอนมาบันทึกไว้ตรงนี้
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับผู้เขียนมาณ ที่นี้ด้วยค่ะ







 

Create Date : 18 กันยายน 2555    
Last Update : 18 กันยายน 2555 10:33:06 น.
Counter : 1396 Pageviews.  

~ ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต ตอน ละครชีวิต โดย...ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~



ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน ละครชีวิต
โดย...ศ.นพ.ธีระ ทองสง







ชีวิต เป็นปรากฏการณ์เกิดดับ มีคุณสมบัติสามารถรับรู้ นึก คิด จดจำ
วนผ่านมาพานพบแล้วจากกัน
แต่เมื่อไม่ผูกพัน ติดใจในสิ่งพบเห็น ไม่หลงใหลในสิ่งที่ถูกทำให้คิดว่าหรู หรือเลิศลอย
คราวจำจากก็จากไปอย่างไม่สะดุ้งสะเทือน

โลกอันสันนิวาสเป็นแดนเกิดแดนประหาร เป็นสุสานของทุกผู้ที่เกิดมา
ครั้งหนึ่งที่เราได้มาเยือนโลกมนุษย์แล้วจะจากไป
เรามาเยี่ยมเยือนชั่วคราว มาพักอาศัย กิน ถ่าย หลับนอน
ควรสร้างสรรค์อะไรไว้บ้าง แล้วจากไปด้วยความแจ่มใส






หากการมาเยี่ยมเยือนโลกครั้งนี้ มามัวระเริงอยู่กับสีสันแห่งโลกอลังการก็ย่อมไม่อยากจากไป
การติดใจในสิ่งพบเห็น อาจตื่นตาตื่นใจจนฝังใจอยากครอบครอง
คิดเป็นเจ้าของทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอะไรเป็นของเรา แม้แต่ตัวเราที่สมมุติขึ้นมา

ความหลงผิดจะสร้างโปรเจ็คต์เพื่อการครอบครองขึ้นมาอย่างนับไม่ถ้วน
หอบหวงยื้อแย่งแข่งขันมาสะสมเป็นสมบัติของตนที่ไม่อาจคืนเจ้าของอย่างง่ายดาย
ไม่อาจลาโลกไปด้วยใจเบิกบาน สะดุ้งกลัวต่อการเสื่อมลาภยศ
กลายเป็นคุณสมบัติเร่าร้อนที่พกติดตัวไว้ในขณะสัญจรเยี่ยมโลก

ในขณะที่ผู้รู้ทั้งหลาย...ใช้โลกที่ผ่านมาพบเป็นบทเรียนจนรู้ จนเข้าใจในความเป็นธรรมดา...
แม้นว่าวันที่เรามาสู่โลกมาพร้อมกับร่ำไห้หรือหยดน้ำตา
แต่ย่อมจากลาไปด้วยรอยยิ้ม นี่ใช่หรือไม่คือความแตกต่างระหว่างอริยะและปุถุชน






ผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่าพระตถาคตหรือพระอรหันต์แตกต่างอย่างไรกับสามัญชนคนยึดมั่น
เปรียบได้ดั่งว่าเมื่อศรอาบยาพิษ สองดอกยิงเข้ามาปักกายและปักใจ
ปุถุชนคนเขลาจะโดนปักทั้งกายและใจ...ต้องรับทุกขเวทนาทั้งทางกายและทางใจ
เวทนาทางใจนั้นยิ่งเจ็บปวดคร่ำครวญทรมานกว่าทางกายมากนัก

แต่อริยะย่อมโดนลูกศรเพียงปักกายแต่หาโดนปักใจไม่
พระอรหันต์ทั้งหลายก็ย่อมตกอยู่ในสายธารแห่งการเสื่อมของสังขาร
ตามครรลอง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกัน

แต่ความร่ำไรรำพันใด โศกใด โลภใด โกรธใด...ไม่อาจกวนใจ
เพราะลมหายใจมิใช่สิ่งแยกแยะมรณะและชีวิตอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย...
เป็นสายธารที่ไร้อิทธิพลต่อดวงใจของผู้ที่ตายไปแล้วก่อนตาย





*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์การสิ้นชีวิต"
โดยศ.นพ.ธีระ ทองสง









 

Create Date : 04 กันยายน 2555    
Last Update : 4 กันยายน 2555 11:19:14 น.
Counter : 1553 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.