'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

"ในสุข มีทุกข์ ในทุกข์ มีสุข" บทความโดย พระไพศาล วิสาโล



ในสุขมีทุกข์ ในทุกข์มีสุข
โดย พระไพศาล วิสาโล






สมัยหนึ่งเชื่อกันว่า วิชาคณิตศาสตร์สามารถเป็นกุญแจไขปริศนาจักรวาลได้
กระทั่งเวลานี้หลายคนก็ยังมั่นใจว่า อีกไม่นานคณิตศาสตร์ชั้นสูงจะช่วยให้เรา
ทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ล่วงหน้าหรืพยากรณ์อากาศได้แม่นยำขึ้น
กระนั้นก็ตาม ไม่เคยมีคณิตศาสตร์ชั้นยอดคนใดที่กล้าบอกเต็มปากว่าตนเองเข้าใจชีวิตแล้ว
ทั้งนี้ก็เพราะชีวิตเป็นเรื่องของความไม่ลงตัว ไม่มีเส้นแบ่งแน่ชัดชนิดที่จะบอกเป็นดำเป็นขาวได้

ดูอย่างเรื่องสุขทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของทุกผู้คน
บ่อยครั้งความสุขกับความทุกข์ก็แยกจากกันได้ยาก
ลองนึกถึงอาหารจานเด็ดที่อยากกินมากที่สุดในตอนนี้
ประทีปอาจนึกถึงหูฉลามน้ำแดงถ้วยใหญ่ขึ้นมาทันที
ส่วนศรัญญาออกจะสมถะกว่า คิดถึงไก่ย่างส้มตำ
เราคงนึกออกว่าทั้งสองคนจะมีความอิ่มเอมเปรมใจเพียงใด หากได้ลิ้มรสอาหารดังกล่าว
ถ้าทั้งประทีปและศรัญญาได้กินอย่างนี้บ่อย ๆ เราเห็นจะต้องอิจฉา
แต่ลองจินตนาการต่อไปว่า
ทั้งสองคนได้กินแต่หูฉลามน้ำแดงและไก่ย่างส้มตำไปทั้งปี ทั้งชาติ
ไม่ได้ลิ้มรสอาหารอย่างอื่นเลย คราวนี้เรายังอยากเป็นอย่างทั้งสองคนหรือไม่

หูฉลามน้ำแดงและไก่ย่างส้มตำ ให้ความเอร็ดอร่อยแก่เราก็จริงอยู่
แต่หากได้กินวันแล้ววันเล่าอยู่นั่นแหละ
เราจะพบวาความเอร็ดอร่อยค่อยๆ จางคลาย ความเฉยๆ เข้ามาแทนที่
แล้วในที่สุดก็กลายเป็นความเบื่อ อาหารก็อย่างเดิม รสชาติไม่ได้แปรเปลี่ยนเลย
แต่ความรู้สึกของเราต่างหากที่แปรเปลี่ยนจากความสุขกลับกลายเป็นความทุกข์

จะว่าไปแล้ว ความทุกข์นั้นไม่ได้มาจากไหนหรอก
มันแฝงตัวอยู่ในความสุขนั้นเอง พอเวลาผ่านไป มันก็ค่อยๆ แสดงตัว
จนกลบทับความสุข แล้วความเอร็ดอร่อยก็เลยกลายเป็นความเบื่อไป






ความสุขจากเสื้อตัวใหม่ ความพอใจจากคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่
และความรู้สึกโก้เก๋จากรถยนต์คันใหม่ ก็ไม่วายที่จะจืดจางไปในทำนองเดียวกัน
แล้วความอยากได้ของใหม่ก็เข้ามารบกวนจิตใจอีก
ระหว่างที่ยังไม่ได้ก็ทุกข์เพราะไม่สมอยาก กว่าจะได้มาก็ต้องยอมเหนื่อยยาก
ดิ้นรนหาเงินมาซื้อมัน ต่อเมื่อได้มาถึงจะมีความสุข
แล้วก็กลับทุกข์อีกเพราะเบื่อเสียแล้ว ยังไม่นับความทุกข์ที่คอยห่วงกังวลหรือดูแลรักษามัน

แม้กระทั่งความปลื้มอกปลื้มใจจากความสำเร็จก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน
บางครั้งไม่เพียงแต่ความภูมิใจจะกลายเป้นความรู้สึกเฉยๆ เท่านั้น

แม้กระทั่งความสำเร็จที่ทำให้เรา “ยืดอก” ก็อาจหลุดลอกหรือผุกร่อน
จนความล้มเหลวผุดออกมาให้เห็น
นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนกล้าขยายกิจการย่างรวดเร็วโดยไม่มีปัญหาเครดิตแต่อย่างใด
วันดีคืนดีก็พบว่าตนเองเป็นหนี้เป็นสินนับพันล้าน
กิจการล้มละลายต่อหน้าต่อตา จนต้องฆ่าตัวตาย

“ความสำเร็จคือความล้มเหลวที่ยังไม่ปรากฏ” ใครบางคนเคยพูดไว้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในความสำเร็จนั้น มีเมล็ดพันธุ์แห่งความล้มเหลวฝังตัวแฝงอยู่ด้วยเสมอ

ฟังอย่างนี้แล้ว บางคนอาจรู้สึกหดหู่ท้อแท้ขึ้นมา
สู้อุตส่าห์ทรมาทรกรรมในกรุงเทพฯ ทำศึกสงครามบนท้องถนน
และในที่ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำทั้งอาทิตย์
เพียงเพื่อหวังว่าความสุขจากการช็อปปิ้งและได้ชิมอาหารอร่อยๆ สักมื้อในวันหยุด
จะช่วยชโลมจิตใจให้สดชื่นเพื่อจะได้มีแรงสู้ต่อไปอีกห้าวัน
แต่แล้วก็มีคนมาบอกว่า ความสุขพวกนี้
มันเป็นน้ำตาลเคลือบบอระเพ็ด(หรือฟ้าทะลายโจร)ทั้งนั้น
ถ้าอย่างนั้นจะหวังอะไรจากชีวิตนี้อีก

ชีวิตนี้ไม่ถึงกับขมขื่นขนาดนั้นหรอก
อย่างน้อยบอระเพ็ดหรือฟ้าทะลายโจรก็ไม่ขมถึงกับกินไม่ลง

และที่สำคัญ ชีวิตก็ไม่ได้เปรียบกับบอระเพ็ดหรือฟ้าทะลายโจรเสมอไป





ในมหานครที่เบียดเสียดด้วยผู้คน แปดเปื้อนด้วยมลภาวะและอาชญากรรม
จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ไม่น่ารักติดอันดับโลกอย่างกรุงเทพฯของเรานี้
ก็ยังมีตรอกซอกซอยที่สงบและเปี่ยมด้วยน้ำใจ
ตะไคร่น้ำเขียวสดบนกำแพงข้างทางก็ยังน่าชื่นชม
หากสังเกตจะพบว่ามีหลายมุมในกรุงเทพฯ
ที่อาทิตย์ยามอัสดงให้ความรู้สึกงดงามประทับแน่นในจิตใจ

ในสิ่งที่เราอยากเบือนหน้าหนีนั้น มักมีความงามฝังตัวอยู่
อย่างที่บางคนกล่าวว่า ในขยะมีเพชรพลอย
แต่ความงามหรือเพชรพลอยที่ว่านั้นมีหลายรูปลักษณ์
สุดแท้แต่ว่าใครจะมองหรือมองจากมุมใด

มะระนั้นทั้งๆ ที่ขม แต่ก็มีความเอร็ดอร่อยสำหรับหลายคน
ยิ่งคนที่เห็นคุณประโยชน์ของความขมว่าบำรุงสุขภาพเพียงใด ก็ยิ่งชอบแกงมะระมากเพียงนั้น

ในความขมนั้นมีความอร่อยฉันใด ในความทุกข์นั้นก็มีความสุขฝังตัวอยู่ฉันนั้น

คนจำนวนไม่น้อยมีความสุขจากความยากลำบาก
ไม่ใช่แค่ความลำบากที่เป็นเกมกีฬา อย่างการปีนเขา เดินป่าเท่านั้น
หากรวมถึงความลำบากจากอุปสรรคในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้เพราะเขาเห็นว่าเป็นการฝึกตนให้แข็งแกร่ง ทั้งในทางร่างกายและจิตใจ

ทำนองเดียวกับพระธุดงค์ที่นิยมจาริกไปในที่กันดารยากลำบากและเสี่ยงภัย
ด้วยท่านเห็นอานิสงส์ของการขัดเกลาจิตไม่ให้ลงร่อง
ครูบาอาจารย์หลายท่านประจักษ์แก่ใจว่า
ในยามที่เสือมาป้วนเปี้ยนหน้ากลดอย่างน่ากลัวนั้นแหละ
ที่จิตได้รวมเป็นหนึ่งอย่างสงบนิ่งน่าอัศจรรย์

ความลำบากหลายอย่าง เป็นเพียงทัศนะหรือความรู้สึกของคนภายนอกเท่านั้น
แต่เจ้าตัวกลับรู้สึกสบาย
การไม่มีตู้เย็น โทรศัพท์ โทรทัศน์ รถยนต์ หรือแม้แต่ไฟฟ้า
กลายเป็นเรื่องลำบากของคนยุคโลกาภิวัตน์ไปแล้ว





แต่ยังมีคนอีกมากที่มีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่ายเช่นนั้น
การเดินไปทำงานเป็นความสุขเพราะได้พบปะผู้คน
และสังเกตชีวิตความเป็นอยู่สองข้างทางไปพร้อมกัน
การไม่มีโทรศัพท์แทนที่จะเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ชีวิต
กลับทำให้ชีวิต “ง่าย” ขึ้น เพราะมีเวลาเป็นของตัวเองมากกว่าเดิม

ความทุกข์ข้างต้นจะเรียกว่าเป็นความทุกข์ที่พึงปรารถนาก็ได้
อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้ที่เลือกเข้าไปประสบสัมผัสกับมัน
แต่ถ้าเป็นความทุกข์ทีไม่พึงปรารถนาชนิดที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด
หรือทุกขเวทนาแรงกล้าล่ะ จะยังมีความสุขได้อีกหรือ ?

ไม่มีใครอยากอกหักหรือถูกแฟนทิ้ง แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่พ้นจริงๆ
สิ่งที่ควรทำนอกเหนือจากการปลอบตัวเองว่า “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น”
ก็คือลองมองดูว่า ความทุกข์และความผิดหวังนั้นสอนอะไรเราบ้าง
เป็นการง่ายที่จะโทษคนอื่นหรือไม่ก็ประชดตัวเอง
แต่ถ้ามองอย่างใจเป็นกลางเราอาจรู้จักตนเองและธรรมชาติของจิตใจเราดีขึ้นก็ได้

ความพลัดพรากแม้จะเป็นความทุกข์ แต่การติดยึดของเราต่างหากที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ยิ่งกว่า
ถ่านแดงๆ นั้นร้อนแน่ แต่ที่เราเจ็บปวดก็เพราะไปกำมันไว้ไม่ใช่หรือ

ใช่แต่เท่านั้น มองในอีกแง่หนึ่ง เราอาจพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าว
เปิด “โอกาส” ใหม่ ๆ ให้แก่เราอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน
เช่น โอกาสที่จะเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
หรือโอกาสที่จะได้ซาบซึ้งในความเอื้อเฟื้อของเพื่อนที่เห็นใจเรา
โอกาสอันทรงคุณค่าเหล่านี้แหละที่ให้ความสุขใจแก่เราอยู่ลึกๆ

ความทุกข์นั้นให้ความสุขแก่เราได้ หากรู้จักค้นหา
นักปฏิบัติธรรมสามารถเข้าถึงความสุขจากสมาธิภาวนาได้
ส่วนใหญ่ก็เพราะอาศัยความเครียดจากการปฏิบัติผิดวิธีเป็นครู






เช่นเดียวกัน ความเจ็บป่วยบ่อยครั้งก็เป็นสัญญาณพาไปสู่
การดำเนินชีวิตที่เกื้อกูลและผ่อนคลาย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะรู้จักแง่มุมในการมอง

ท่ามกลางอากาศที่หนาวยะเยือกนั้น ใช่ว่าทุกอณูจะถูกความหนาวเกาะกุมไปเสียหมด
ยังมีบางซอกมุมที่อบอุ่น
ดังนั้นแทนที่จะส่งใจรับรู้ลมหนาวที่กระทบใบหน้า จะไม่ดีกว่าหรือ
หากเราน้อมใจมาจดจ่อร่างกาย ตรงส่วนที่อบอุ่นที่สุดภายใต้เสื้อผ้าที่ปกปิดแน่นหนา

บางครั้งความทุกข์ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะสุกงอมเป็นความสุข

เมื่อหวนนึกถึงความหลัง คงมีหลายครั้งที่เรายิ้มอยู่คนเดียวในยามนั้น
เราอาจไม่ได้นึกถึงช่วงสนุกสุขสันต์กับเพื่อนฝูง
หรือวันที่เราได้เดินเที่ยวเก็บหอยตามชายหาดกับคนที่เรารัก
แต่เรายิ้มเพราะนึกถึงวันคืนอันทุกข์ทรมานขณะเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ยิ้มเพราะนึกถึงความยากลำบากครั้งเป็นน้องใหม่ในค่ายอาสาพัฒนา
มีเหตุการณ์อันชวนว้าเหว่ ท้อแท้ เจ็บปวด
อีกมากมายในอดีตที่บัดนี้ได้กลายเป็นประสบการณ์น่าจดจำ ที่ให้ความรู้สึกแก่เรา

เวลาอาจผันผ่านไปแรมปีหรือสิบปี แต่ไม่ว่าจะนานแค่ไหนในที่สุดเราก็ตระหนักว่า
มีเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขฝังตัวอยู่ในความทุกข์นั้น
บัดนี้ความสุขได้ผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมแล้ว






มีความทุกข์บางอย่างเรามองเท่าไรก็หาความสุขหรือข้อดีไม่พบ
ไม่ต่างจากเฉาก๊วยที่คั้นเท่าไร ก็ไม่มีน้ำกะทิออกมาแม้แต่หยดเดียว
แต่ถ้าจะว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว วิธีหลุดรอดจากความทุกข์ดังกล่าวก็มิได้อยู่ที่ไหน
หากอยู่ในความทุกข์นั้นเองแหละ ลองใคร่ครวญความเจ็บปวดเพราะอกหักให้ดีเถิด
จะพบว่าต้นตออยู่ในความเจ็บปวดนั้นเอง
เราทุกข์เพราะความคาดหวังของเราเอง และความทุกข์นั้นไม่ยอมจากไปสักที
เพราะเราปล่อยจิตให้จมปลักอยู่กับความผิดหวังในอดีต
แต่ถ้าเห็นต้นตอของปัญหาว่าอยู่ตรงนี้ ทางออกก็อยู่ตรงนี้เช่นกัน

ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดอยู่เสมอว่า หานิพพานได้ในกองทุกข์
เรา ๆ ท่าน ๆ อาจสนใจความสุขมากกว่านิพพาน
กระนั้นความสุขก็หาได้ในความทุกข์นั่นเอง

ความสุขมักเล็ดรอดหลุดมือเราไป กลายเป็นความทุกข์มาแทนที่
ก็เพราะเราไม่รู้จักทั้งสองอย่างนี้ดีพอ เรามักขีดเส้นแบ่งชัดเจนเกินไปว่านี้สุข นี้ทุกข์
แต่สุขทุกข์นั้นแปรผันกลับไปกลับมาอยู่เสมอ การรู้เท่าทันมันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เวลาสุขก็อย่าเพลิดเพลินจนลืมตัว ทำใจให้พร้อมเสมอว่า มันจะกลายเป็นทุกข์เมื่อไรก็ไม่รู้
ถึงคราวทุกข์ ก็อย่าเอาแต่คร่ำครวญ
พยายามตั้งตัวและขบคิดให้ได้ว่า “ขุนทรัพย์” นั้นอยู่ตรงไหน

จะว่าไปเคล็ดลับของชีวิตก็มีเพียงแค่สองคือ
“เห็นทุกข์ในสุข และเห็นสุขในทุกข์”





*คัดจากหนังสือ"พรแห่งชีวิต":สุขใจในนาคร#๒
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ มูลนิธิสุขภาพไทย (ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑)




**ขอบคุณภาพประกอบบล็อกจาก wallcoo.net





 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2555 11:21:17 น.
Counter : 7264 Pageviews.  

~ ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต ตอน 'คนตายเตือนคนเป็น' โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~



ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน 'คนตายเตือนคนเป็น'
โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง






สาระของงานศพได้เตือนใจใคร ๆ ให้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น
เข้มแข็งขึ้นในการยิ้มรับกับการเกิดแก่เจ็บตาย

ความไม่เป็นไปตามใจปรารถนาย่อมรอเราอยู่ตลอดเส้นทางชีวิต
ควรได้รับการต้อนรับมันด้วยดวงใจสงบ อบอุ่น มั่นคง
ย้ำให้เรารู้ว่าหามีสิ่งใดไม่ที่ควรค่าแก่การเกาะยึดไว้อย่างยั่งยืน
ไม่มีใคร สิ่งใดอยู่กับเราตลอดไป

แท้จริงเราต่างก็เคยมัวเมากับแสวงหามาครอบครอง
แล้วหวาดหวั่นกลัววันสูญเสีย แล้วก็สูญเสียมานับไม่ถ้วน

อีกครั้งที่งานศพช่วยเตือนให้เราฉลาดกว่าเดิม เตือนใจให้เห็นความจริงของชีวิตตน
มองเห็นองก์รวมของกระแสการเปลี่ยนแปลง
เห็นชัดว่าสินสมบัติรัศมีอำนาจไม่อาจทำให้ชีวิตหายวังเวง





การพยายามครอบครองหรือพยายามยึดที่พึ่ง
หาความมั่นคงในการมีชีวิตด้วยการมีอำนาจให้มากที่สุด
เป็นเจ้าของให้มากที่สุด ล้วนเป็นการแสวงหาความมั่นคงจากสิ่งที่ไม่มั่นคง
เมื่อเราได้เห็นกระแสการเกิดแก่เจ็บตายโดยรวมอยู่เป็นนิตย์
จะไม่ปักใจแค่วัยเมามันในสีสันของชีวิต แต่มองให้เห็นความจริงตลอดแนว

ความตายจะทำให้ตาสว่าง จางคลายความหน้ามืดลง
หายหวาดกลัวต่อข้อเท็จจริง ความตายจึงมักให้สติแก่คนลุ่มหลงกลับมาได้สติ
ความหยิ่งทะนงหลงตนจืดจางไป สยบความสำคัญตน
ความตายละลายตัวตน ที่เคยสำคัญตนจนแยกตัวเองออกมาจากธรรมชาติ
จะเจียมตัวหลอมละลาย จะคิดว่าเคยสูงศักดิ์เพียงใดก็คืนสู่สามัญ
ก้มหัวให้กับแผ่นดินแผ่นฟ้าที่ก่อกำเนิดเรามาและกลบหน้าเราไป
ความเคียดแค้นชิงชังหมดไป ให้อภัย ไม่ถือสา
เอือมระอาต่อการไขว่คว้าแก่งแย่งกันครอบครองของสมมุติ





การได้เห็นข้อเท็จจริงของชีวิตจึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่ารู้จักพอ
รู้จักพออันเป็นบ่อเกิดแห่งความกรุณาปราณีและความดีทั้งปวง
นี่คือมนต์เพลงแห่งอนิจจัง
ที่คนตายขับขานก้องกังวานกล่อมคนเป็นอยู่ชั่วนาตาปี

ท่านผู้ผ่านร่างข้า..........จงฟัง

ครั้งหนึ่งข้าเป็นดั่ง..........ท่านนี้

ไม่นานร่างท่านพัง..........ดั่งร่าง เรานา

เตรียมเถิดเตรียมตัวลี้.......ติดต้อยตามเรา






*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต"โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง



**กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับผู้เขียนมาณ ที่นี้ค่ะ





 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2555 23:20:47 น.
Counter : 1554 Pageviews.  

~ ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต ตอน 'สายธารการเกิดดับ' โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~





ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน สายธารการเกิดดับ
โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง


เราเป็นเพียงเศษฝุ่นธุลี เกิดดับระยิบระยับอยู่ทุกวันคืน
ผมเห็นผู้คนล้มตายมามากมาย เห็นมาแล้วทุกวัย ถึงแก่กรรมในครรภ์ตั้งแต่เป็นตัวอ่อน
เห็นมดลูกแดนให้กำเนิดกลับเป็นแดนประหาร เห็นสุสานในห้องทารกแรกเกิด ไปจนถึงไอซียู
ทั้งผู้คนต่ำต้อย ถึงซุปเปอร์สตาร์ บางชีวิตสิ้นลมคามือการช่วยเหลือ
บางหนเราช่วยต่อชีวิตให้ชีวิตยืดออกไป

จากหลักฐานที่เล่าขานกันมา และเชิงประจักษ์ต่อสายตา ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า
ทะเยอทะยานแค่ไหนก็ไร้ตัวตน
ต่างถูกตัดสินประหารชีวิตแล้วตั้งแต่วันปฏิสนธิ รอเวลาแห่งการลงอาญาอย่าง
ไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์หรือฎีกา ช้าเร็วแตกต่างกันปานใด





เมื่อหลายปีก่อนนี้การ์ดแต่งงานเพื่อนฝูงทะยอยส่งมาให้สะสมไว้ในตู้หนังสือ
วันนี้มีอีเมล์บอกเล่าข่าวคราวการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมรุ่นหรือคนใกล้ชิด
เช้าวันนี้ ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ ในรายงานผู้ป่วยยามเช้า (morning conference)
น้องๆ นำเสนอข่าวรับอรุณถึงสตรีเสียเลือดหลังคลอดที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลรอบนอก
ผ่านความพากเพียรกู้ชีพสุดขีดกันมาทั้งคืน ให้เลือด เย็บผูกเส้นเลือด
เย็บรัดมดลูก ตัดมดลูก แพ็คห้ามเลือด...
เช้านี้แม่ผู้เป็นที่สุดของชีวิตลูกน้อยวัย ๑ วัน ยังคงช็อคอยู่ที่ไอซียู

ดูเหมือนว่าใครหลายคนกำลังสูญเสียคนที่รัก...
สามีที่เพิ่งได้เป็นพ่อคนเมื่อคืนที่ผ่านมา
ญาติพี่น้องเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ลูกน้องและหัวหน้า
สายวันนี้ผมผ่านมาพบเห็นผู้คนจำนวนมากโศกสะอื้นหลั่งน้ำตาอยู่หน้าห้องคลอด
ใช่แล้วครับสังหรณ์ร้ายที่กลายเป็นจริง ผู้หญิงหนึ่งคนจากไป
หมื่นแสนความอาลัยสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็น





อีกสักเท่าใดที่เราจะทำใจได้ แม้หลายหนที่เราแสร้งไม่สนใจต่อข้อเท็จจริงของชีวิตเช่นนี้
ทำทีราวกับว่าจะอยู่อีกแสนนาน แต่วันนี้เราอยู่อย่างสันนิษฐานว่าพรุ่งนี้คงมีสำหรับเรา

ความตายมิใช่สิ่งอัปมงคลที่ควรจะถูกตัดออกจากบทสนทนาในวงสังคม
หน้าหนังสือพิมพ์ หรือรายการทีวี
แต่ควรทำให้ตระหนักว่าชีวิตนี้สั้นนัก ล่อแหลมต่อความตาย

วันนี้เราต่างหลับตาเดินอยู่บนหน้าผา
ก้าวย่างครั้งต่อไปยังคงเป็นปริศนา





*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต"โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง



**กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับผู้เขียนมาณ ที่นี้ค่ะ





 

Create Date : 25 ตุลาคม 2555    
Last Update : 25 ตุลาคม 2555 11:58:18 น.
Counter : 1316 Pageviews.  

~ ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต ตอน 'วิชายืดชีวิตทรมาน' โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~



ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน 'วิชายืดชีวิตทรมาน'
โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง





พระอาจารย์*เคยปรารภว่า...
“สังขารของผู้นั้นแตกดับหรือตาย
แต่คุณธรรมของผู้นั้นมิได้ตาย หรือสูญสิ้นไป
ดังนั้นจะเกิดประโยชน์อะไร กับการขอร้องให้อยู่ต่อไปนาน ๆ จนเกินอายุของสังขาร”


ดูเหมือนว่าวิทยาการแม้จะล้ำเลิศล้ำยุค แต่ก็ยังประยุกต์ใช้
ภายใต้ความกดดันของการกลัวความตายจนเกินเหตุ

ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่าง ๆ มายืดอายุอีกนิด เลื่อนวันตายออกไปอีกหน่อย
ได้เวลาของชีวิตมากขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง ฉีกปฏิทินเพิ่มอีกใบ
เพื่อเสวยวิบากกรรมเพิ่มขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้สุดแต่ว่าการกระทำนั้นทำให้คืนกลับสู่ชีวิตที่มีคุณภาพ
หรือว่าเป็นการทำให้ทุกข์ทรมานนานขึ้น

...ช่วยๆ กันให้เขาทรมานอีกหน่อยเถิดอย่างนี้หรือไม่

อีกทั้งค่าดูแลรักษาพยาบาลในการยืดเยื้อนี้แพงมากมายมหาศาล
ซึ่งสามารถจัดสรรไปส่งเสริมการป้องกันการตายด้วยวิธีอื่นได้อีกมาก

ความจริงแล้ววิถีไทยเรา ถือว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา
คุ้นเคยกันดี ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปไม่ได้

ส่งเสริมให้ไม่ให้ตื่นตระหนกกับความตาย
แม้เมื่อยังไม่ตาย ก็ให้นึกถึงความตายหรือหัดตาย
เมื่อความตายมาก็มีจิตใจสงบ นึกถึงแต่สิ่งที่ดีงาม จบชีวิตไปอย่างงดงาม

ซ้ำยังเป็นโอกาสของการปล่อยวางได้ง่ายขึ้น
ไหน ๆ ก็ต้องตาย ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ควรตายอย่างมีสติ

เฝ้าดูการตาย ใช้การตายให้มีประโยชน์ ให้ปล่อยวางจากตัวกู-ของกู เพื่อความหลุด





หลายคนพยายามฝึกใจทำใจมาหลายสำนัก แต่ไม่ค่อยเป็นผล เนื่องจากสิ่งยวนใจมากนัก
นับว่าโชคดีสำหรับท่านเหล่านั้น เพราะบรรยากาศใกล้ตาย
เอื้ออำนวยต่อการฝึกสติปัญญายิ่งนัก
เพียงแค่ตั้งใจคิดอย่างแยบยลก็เห็นผลแล้ว

ภาษาวัดเราเรียกว่าโยนิโสมนสิการ ฝึกน้อมสัจธรรมนำมาคิดไตร่ตรองโดยแยบคาย
จะทำให้สิ่งที่รับรู้มาเป็นปัญญาที่สูงขึ้น คือการวิเคราะห์สิ่งสิ่งรับรู้ให้เป็นปัญญา

แม้จอมศาสดาที่เกื้อกูลต่อโลกได้อีกยาวนาน แต่สเปคของสรีระ มีอายุการใช้งาน
สังขารมีวันเสื่อมจนใช้การไม่ได้
ความพยายามในการยืดอายุของท่านเมื่อสังขารหมดสภาพการใช้งานแล้ว น่าจะต้องมีลิมิต

เนื่องจากหลายครั้งมีข้อขัดแย้งระหว่างผู้ใกล้สิ้นใจกับความปรารถนาดีของแพทย์
การต่ออายุสมอง หัวใจ ไต ตา หรืออวัยวะใด ๆ ออกไป
จำเป็นต้องทำให้ถึงที่สุดเสมอไปหรือไม่
บ่อยครั้งที่แพทย์เราเชื่อว่าอัตรารอดชีวิต (survival rate) คือตัวชี้วัดความสำเร็จในช่วยเหลือ
แต่หลายครั้งก็พบว่าการยืดอายุนั้นมิได้เป็นความปรารถนาของผู้กำลังจะตาย
อาจเป็นการยืดเวลาทรมาน เราจะชื่นชมกับการยืดเวลาความทุรนทุรายได้อีก 1-2 ชั่วโมง หรือหลายวัน กระนั้นหรือ
บ่อยครั้งที่การยืดชีวิตได้สัก 1-2 ชั่วโมงเขาก็จะเอา
แม้บุคคลนั้นจะสำคัญสักแค่ไหน แต่อาจได้เห็นสภาพร่างกายที่ถูกปะชุนไปทั่วร่าง
เครื่องค้ำจุนทุกอวัยวะ จนดูน่าสังเวชยิ่งนัก







...ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้บรรยายไว้ในหนังสือปัจฉิมอาพาธว่า ...

ลองวาดภาพว่าถ้าพระพุทธเจ้าถูกหามเข้าไอซียู ใส่หลอดใส่สาย ใช้เครื่องช่วยหายใจ
มีคนมาแหกพระเนตร เจาะพระเศียร ฯลฯ ว่าภาพลักษณ์ของพระศาสดาจะเป็นอย่างไร...

โชคดีเพียงใด ที่วิทยาการต่อลมหายใจเพิ่งมารุ่งเรืองเอาอีกสองพันห้าร้อยกว่าปี
มิใช่นั้นแล้วเราอาจไม่มีภาพดับขันธ์อย่างสุขสงบเย็น
ท่ามกลางเหล่าสาวก ดั่ง ณ กุสินาราแห่งความหลัง

การแพทย์ควรทบทวนเรื่องความตายและวิธีตายด้วย
หลายครั้งภาระแพทย์ถูกฝึกอบรมมาเพื่อยืดชีพจร
และจบลงที่เลิกปั๊มหัวใจ เมื่อ adrenalin ก็เอาไม่อยู่
ถูลู่ถูกังด้วยเจตนาดีของหมอผู้มีใจกลัวตาย

บทเรียนตะวันออกควรบอกให้แพทย์ทบทวนอย่างหนัก
ทำอย่างไร เมื่อขณะนี้วิชาการตะวันตกช่วยเราได้มากในการบอกพยากรณ์
อยู่ได้อีกนานเท่าใด ทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมการมีชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างดีที่สุด

วิทยาการที่ถือเป็นอัจฉริยะฉีกแนวต้องมุ่งให้ผู้ใกล้สิ้นลมรู้สึกสบาย
ร่างกายหมดคราบน้ำตา จิตอำลาด้วยรอยยิ้ม
อย่ายอมให้ใครตายอย่างไร้ศักดิ์ศรี สิ้นใจอย่างทุรนทุราย


อย่าใช้ survival rate เป็นตัวชี้วัด
ช่วยส่งเสริมให้มีความสุขสงบที่สุด
เปลี่ยนบรรยากาศโกลาหลเป็นบรรยากาศสุขเย็น
ส่งเสริมศาสตร์แห่งความสงบทั้งทางกายและจิต
สร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การ ทำโยนิโสมนสิการ

ไม่ควรคิดแค่ว่ายืดเวลาใส่ท่อ ก่อนตายคือเวลาของการเจ็บกายและใจ
วิชาที่ทำให้อยู่อย่างไม่เจ็บสำคัญกว่าวิชายืดลมหายใจจากท่อ

ควรตระหนักว่าไม่ควรใส่ใจ survival rate ที่จะได้มาอีกชั่วโมงหรือกี่วันก็ตาม
มากไปกว่าราคาของชีวิตที่มีอยู่








คนเราควรมีชีวิตอย่างมีคุณภาพตามสเปคการใช้งาน
ดีกว่ามีชีวิตเน่าๆ ที่มีลมหายใจ ใจร้ายให้หัวใจเต้นอย่างวังเวงไปอีกแค่ไหน
เพื่อสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงแดนไกล เพื่อพยุงร่างกายที่แปรเปลี่ยนหรือหมดสภาพไปแล้ว
นี่คือการดื้อรั้นทำงานกับเครื่องจักรที่หมดอายุการใช้งาน

หมอคนใดบ้างกล้ายืนยันว่าคนที่นอนหายใจทางท่อ แวดล้อมด้วยจอคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
อุปกรณ์คล้ายอยู่ในยานอวกาศนอกโลก ไม่ใช่ภาวะแสนทรมานยิ่งกว่าครั้งใดในชีวิต
แน่ใจหรือว่าคนที่ควรอยู่บนสวรรค์ไม่ได้ถูกวิทยาการรั้งไว้ในนรกภูมิ

การแพทย์สาขาวิชาสิ้นชีวิต ควรรู้จริงถึงพยากรณ์ หยั่งรู้ชะตาร่างกาย
สภาพการใช้งานของสรีระ นำไปสู่การไปดี ไม่ใช่ไปร้าย
เป้าหมายคือการตายสบาย ไม่ใช่การตายยืดเยื้อ
ไม่ใช่ถูลู่ถูกังไปยังวันฤกษ์ดีตามปฏิทิน
การตายด้วยอุปกรณ์ดิจิตอลราคาแพงมิได้บ่งชี้ถึงการตายชั้นยอด
ยืดเวลาได้มิใช่การตายชั้นเยี่ยม ไอซียูมิใช่ที่ตายชั้นหนึ่ง
คติธรรมแห่งภูมิปัญญาไทยคือไปดี...
ดีก็คือดี ไม่มีคำอธิบาย

*พระอาจารย์ หมายถึงพระาจารย์พุทธทาสภิกขุ








*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต"โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง




**กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับผู้เขียนมาณ ที่นี้ค่ะ






 

Create Date : 13 ตุลาคม 2555    
Last Update : 13 ตุลาคม 2555 21:55:47 น.
Counter : 1860 Pageviews.  

~ ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต ตอน 'นักโทษประหาร' โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง ~



ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต
ตอน นักโทษประหาร
โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง






การหลงติดในรสชาติชีวิต
อาจทำให้หลายคนหลงลืมและสำคัญตนผิด คิดเป็นเจ้าของกิจการทั้งโลกราวกับอยู่ค้ำฟ้า
กรีดกรายอยู่ในสังคมนี้อย่างหยิ่งทะนง
และลืมถ้อยคำธรรมดาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ เกิดแก่เจ็บตาย
ซึ่งเสมอเหมือนกันทุกชีวิต

คนทั้งหลายมักรอให้ถึงชราหรือวันตายจึงจะซึ้งถึงความจริงข้อนี้ได้

ทุกชีวิต ต่างคือนักโทษประหารที่รอเวลาแห่งการลงอาญา
ช้าหรือเร็วจะแตกต่างกันปานใดเล่า!





ทุกชีวิตถูกตัดสินประหารชีวิตแล้วตั้งแต่ถือกำเนิด
แต่หลายชีวิตก็เฝ้าฝันถึงความระรื่นอยู่อย่างลืมตัว
ราวกับว่าอวลไอแห่งลมหายใจจะให้ความอบอุ่นแก่เรือนร่างไปชั่วกัลปาวสาน

หลายชีวิตประมาท ใจเหงาที่ขาดความยั้งคิดกวัดแกว่งไปเกาะเกี่ยวผูกรัดกับสิ่งอันไม่มั่นคง
มั่นหมายให้ทุกอย่างเป็นไปดั่งใจวาดหวัง
เผลอฝันเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ฟ้าดินส่งมาเสพความสำราญ

เมื่อมนุษย์หลงติดใจในรสชาติชีวิตที่ตนลิ้มลองเข้าไปแล้ว
บังเกิดเป็นความผวาที่ต้องจำจากพรากกัน ใช้ชีวิตเสาะหารสชาติที่เคยเสพติด
แต่ใครเลยจะรู้ว่าพรุ่งนี้คือวันประหาร





อย่าเข้าใจผิดว่าไม้ใกล้ฝั่งคือคนชรา
รู้ได้อย่างไร ว่าไกลฝั่งแค่ไหน ?

จอมศาสดายังกระซิบบอกเราว่า ใครเลยจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้

การตระหนักรู้ว่าเวลามีขีดจำกัดอาจทำให้ใครหลายคนรีบค้นหาสาระจากการมีชีวิตให้สูงสุด
หยุดและเย็นก่อนวันประหารมาเยือน
เพราะนี่คือการหยั่งรู้ว่าการแสวงหาครอบครองในวันนี้
คือการไขว่คว้าแสวงหามาหวงแหนไว้ เพื่อรอวันพลัดพรากและจากไปอย่างเจ็บ ๆ

หากเราหยั่งรู้ว่าสิ้นสุดวันนี้จะไม่มีลมหายใจอีกแล้ว...
ถ้าจะโทรศัพท์สักครั้ง หรืออีเมล์สักฉบับเดียว
เราจะส่งไปถึงใครเพื่อบอกสิ่งใด หรือพูดว่าอะไร

แต่ทำไมถึงเพิ่งคิดจะพูดเอาป่านนี้
ทั้งที่สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำไม่ใช่สิ่งที่ควรรอ








*คัดจากหนังสือ"ศาสตร์และศิลป์ของการสิ้นชีวิต"โดย ศ.นพ.ธีระ ทองสง



**กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับผู้เขียนมาณ ที่นี้ค่ะ








 

Create Date : 07 ตุลาคม 2555    
Last Update : 7 ตุลาคม 2555 15:15:09 น.
Counter : 1609 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.