คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด


คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด

1.การผ่าตัดแบบไหนที่แพทย์แนะนำ
2.ทำไมถึงจะต้องผ่า
3.มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ นอกจากการผ่าตัด
4.ข้อดีของการรักษาด้วยการผ่าตัด
5.การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
6.จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ผ่าตัด
7.สามารถปรึกษาขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นได้ที่ไหน
8.แพทย์เคยผ่าตัดด้วยวิธีนี้มามากน้อยแค่ไหน
9.การผ่าตัดทำที่ไหน
10.จะให้ยาระงับความรู้สึกแบบไหน
11.ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะหาย
12.การผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร




คำถามเหล่านี้ไม่แนะนำสำหรับกรณีที่เป็นการผ่าตัดฉุกเฉิน เป็นข้อแนะนำสำหรับการผ่าตัดที่รอได้ เพราะ ท่านจะมีเวลาพอในการซักถามแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดท่าน ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถตัดสินใจได้อย่างดีที่สุด

คำถามสำคัญที่สุดก็คือ ทำไมถึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และ มีวิธีรักษาด้วยวิธีอื่นหรือไม่ เพราะการผ่าตัด และการรักษาวิธีอื่น ๆ ก็มีทั้งข้อเสีย (ความเสี่ยง) และ ข้อดี (ประโยชน์) ควรเลือกวิธีรักษาที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

แพทย์ของท่านควรยินดีที่จะตอบคำถามของท่าน ถ้าท่านไม่เข้าใจคำตอบ ให้ซักถามแพทย์เพื่ออธิบาย เพิ่มเติมจนเข้าใจดี ผู้ป่วยที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา มีแนวโน้มที่จะพึงพอใจกับผลของการรักษาที่เกิดขึ้น



1.การผ่าตัดแบบไหนที่แพทย์แนะนำ


ถามแพทย์เพื่อให้อธิบายเกี่ยวกับการผ่าตัด เช่น มีสิ่งใดบ้างที่ต้องเย็บซ่อม หรือ ตัดออก และทำไม่ต้องทำเช่นนั้น ขอให้แพทย์วาดรูปหรืออธิบายขั้นตอนเกี่ยวกับการผ่าตัด มีวิธีผ่าตัดวิธีอื่นอีกหรือไม่ และทำไมแพทย์ถึงเลือกผ่าด้วยวิธีนี้


2.ทำไมคุณถึงจำเป็นต้องผ่า

มีหลายเหตุผลที่จะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น เพื่อช่วยลดหรือป้องกันอาการปวด เพื่อลดปัญหาหรือช่วยให้การทำงานของอวัยวะดีขึ้น เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน เพื่อช่วยรักษาชีวิต เป็นต้น คุณต้องแน่ใจว่าเหตุผลของการผ่าตัดคืออะไร เหมาะสมกับโรคที่คุณเป็นอยู่หรือไม่


3.มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ นอกจากการผ่าตัด

บางครั้งการผ่าตัดก็ไม่ได้เป็นคำตอบเดียวสำหรับโรคที่เป็น การรักษาด้วยยา หรือ วิธีที่ไม่ผ่าตัด เช่น การเปลี่ยนอาหาร หรือ การออกกำลังกาย อาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ ถามแพทย์ถึงข้อดี ข้อเสีย ของการรักษาด้วยวิธีอื่น คุณควรจะรู้ให้มากที่สุดเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพื่อการตัดสินใจที่ดีที่สุด

ทางเลือกหนึ่งคือการรอดูอาการ ซึ่งแพทย์และคุณอาจรอดูว่าปัญหาที่เป็นอยู่จะดีขึ้นหรือแย่ลง ถ้าแย่ลง คุณอาจเลือกถูกที่ผ่าตัด แต่ถ้าคุณดีขึ้น คุณก็อาจจะเลื่อนการผ่าตัดไปได้ บางทีอาจตลอดชีวิต


4.ข้อดีของการรักษาด้วยการผ่าตัด

ถามแพทย์ว่าคุณจะได้ประโยชน์อะไรจากการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจจะทำให้คุณกลับมาเดินได้อีกครั้ง

ถามว่าประโยชน์นั้นจะอยู่นานเท่าไร สำหรับการผ่าตัดบางอย่าง อาจได้ประโยชน์อยู่ไม่นานนักและต้องการ การผ่าตัดครั้งที่สองในเวลาต่อมา

เมื่อถามถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ในความเป็นจริงบางครั้งผู้ป่วยก็คาดหวังมากเกินไป ทำให้ไม่พึงพอใจผลที่เกิดขึ้น

ถามแพทย์ของท่านถ้ามีข้อมูลสาธารณเกี่ยวกับผลของการรักษาด้วยวิธีนั้น ว่ามีหรือไม่ หาได้ที่ไหน


5.การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

การผ่าตัดทุกอย่างก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น นี่คือเหตุผลที่คุณจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้กับความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน หรือ ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาของการผ่าตัด ซึ่งไม่สามารถบอกได้แน่นอน เช่น การติดเชื้อ การเสียเลือดมากเกินไป ปฏิกิริยาต่อยาระงับความรู้สึก หรือ อุบัติเหตุ ผู้ป่วยบางรายก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากโรคอื่น ๆ ที่เป็นอยู่

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ซึ่ง เป็นสิ่งที่พอบอกได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น การบวม การปวดบริเวณผ่าตัด เวียนศีรษะคลื่นใส้จากยาแก้ปวด เป็นต้น

ถามแพทย์เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการผ่าตัด อาการปวดหลังการผ่าตัดเกิดขึ้นแน่นอน ถามว่าจะปวดมากน้อยขนาดไหน และ แพทย์และพยาบาลจะทำอย่างไรที่จะลดอาการปวดนั้น


6.จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ผ่าตัด

จากการที่คุณได้ทราบถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัด คุณอาจตัดสินใจที่จะไม่ผ่าตัด ถามแพทย์ว่าอะไรที่คุณจะได้หรือจะเสีย ถ้ายังไม่ผ่าตัดในตอนนี้ เช่น ปวดมากขึ้น มีภาวะแทรกซ้อน หรือ โอกาสที่อาจจะหายเอง


7.สามารถปรึกษาขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นได้ที่ไหน

การที่ได้รับความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นที่คุณจะแน่ใจได้ว่าการผ่าตัดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคุณ คุณควรถามบริษัทประกันของคุณเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการปรึกษาแพทย์ท่านอื่น ถ้าคุณมีแพทย์ท่านอื่นให้ปรึกษา ก็ควรนำเอกสารบันทึกต่าง ๆ จากแพทย์คนแรก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำการตรวจผลต่าง ๆ ซ้ำ


8.แพทย์เคยผ่าตัดด้วยวิธีนี้มามากน้อยแค่ไหน

ทางหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงของการผ่าตัด ก็คือการเลือกแพทย์ที่ได้รับการฝึกเกี่ยวกับการผ่าตัดวิธีนั้นและ มีประสบการณ์ในการทำผ่าตัดวิธีนั้น คุณสามารถถามแพทย์เกี่ยวกับผลของความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อน เกี่ยวกับการผ่าตัด ถ้าทำได้คุณควรซักถามแพทย์ที่รักษาคุณเป็นประจำเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่จะผ่าตัด


9.การผ่าตัดทำที่ไหน

แพทย์ส่วนใหญ่จะทำงานในโรงพยาบาล 1-2 แห่ง ถามแพทย์ว่าการผ่าตัดจะทำที่ไหน เพราะบางทีผลของการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่ต่างกัน ก็อาจไม่เหมือนกัน

ปัจจุบัน การผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งวิธีที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล และ ทำแบบผู้ป่วยนอก (ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล) ซึ่งการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอกจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเพราะคุณไม่ต้องเสียค่าห้องพัก คุณควรถามแพทย์ว่าสามารถผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอกได้หรือไม่ เพราะอะไร


10.จะให้ยาระงับความรู้สึกแบบไหน

การให้ยาระงับความรู้สึกจะทำให้ไม่เกิดอาการปวดที่ไม่จำเป็น แพทย์ของคุณจะบอกคุณได้ว่าแบบไหน ที่เป็นการให้ยาระงับความรู้สึกที่เรียกว่า แบบเฉพาะที่ แบบเฉพาะบริเวณ ? เฉพาะส่วน? หรือ แบบยาสลบทั่วไป ?

แบบเฉพาะที่ จะหมดความรู้สึกเฉพาะจุดที่ฉีดยา ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การถอนฟัน ก็จะชาเฉพาะฟัน และ เหงือกรอบ ๆ

แบบเฉพาะส่วน จะหมดความรู้สึกในบริเวณกว้างออกไป ใน 3-4 ชั่วโมง เช่น ส่วนล่างของร่างกาย ในกรณีบล๊อกหลัง

แบบทั่วไป คุณจะหมดความรู้สึกทั้งร่างกาย ตลอดการผ่าตัด โดยที่คุณจะไม่รู้สึกตัวเลย

การให้ยาระงับความรู้สึก ค่อนข้างจะปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ และจะทำโดยวิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา) หรือ วิสัญญีพยาบาล (พยาบาลดมยา) ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญและได้รับการฝึกสอนที่จะให้ยาระงับความรู้สึก

ถ้าคุณตัดสินใจที่จะผ่าตัด หาวิธีที่จะได้พบผู้ที่จะให้ยาระงับความรู้สึกกับคุณ และหาข้อมูลว่าเขามีความเชี่ยวชาญทางไหน ถามถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยงของการให้ยาระงับความรู้สึกในกรณีของคุณ ต้องแน่ใจว่าคุณได้บอกเขาเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็นอยู่ รวมถึง การแพ้ยาและ ยาที่คุณกินอยู่ เพราะอาจมีผลต่อการให้ยาระงับความรู้สึก


11.ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะหาย

แพทย์สามารถบอกคุณได้ว่า คุณจะรู้สึกอย่างไร และ อะไรที่คุณจะทำได้ หรือ ห้ามทำ ในช่วงวัน สัปดาห์ หรือ เดือน แรก ๆ หลังผ่าตัด และคุณจะต้องอยู่ใน รพ.นานเท่าไร

สอบถามถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ ต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือคุณเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน การที่ได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อต้องกลับบ้าน

ถามว่าเมื่อไรที่คุณสามารถกลับไปเล่นกีฬา หรือ กลับไปทำงานได้เหมือนปกติ คุณคงไม่ต้องการทำอะไรที่จะทำให้คุณหายช้าลง การยกของหนัก 5 กิโลกรัมอาจดูเหมือนว่า "ไม่หนัก" แต่ หลังผ่าตัด มันอาจหนักเกินไปก็ได้ คุณควรทำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อจะได้แน่ใจว่าคุณจะหายดีเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้


12.การผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร

ระบบประกันสุขภาพสำหรับการผ่าตัด อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด บางส่วนคุณอาจต้องจ่ายเอง ก่อนผ่าตัดควรถามบริษัทประกันของคุณว่าอะไรบ้างที่จะจ่ายให้ และคุณต้องจ่ายเองเท่าไร

ถามแพทย์เกี่ยวกับ "ค่าดูแลของแพทย์" ว่ารวมอะไรบ้าง ค่าดูแลของแพทย์โดยทั่วไปจะรวมถึงการเยี่ยมหลังผ่าตัดด้วย คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับ รพ.เกี่ยวกับการดูแลทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก รวมถึงวิสัญญีแพทย์ และ การดูแลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด


ดัดแปลงจาก :

Questions To Ask Your Doctor Before You Have Surgery.

Consumer brochure. AHCPR Publication No. 95-0027. Agency for Health Care Policy and Research, Rockville, MD.

https://www.ahcpr.gov/consumer/surgery.htm

ควรบอก หรือ ถามอะไร แพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด ???

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-01-2008&group=4&gblog=7

คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=12-01-2008&group=4&gblog=6

ผ่าตัด เสี่ยงหรือเปล่าครับหมอ ???.... " หมอรับรองหรือเปล่าว่าจะหาย ???"

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-09-2009&group=7&gblog=35

ข้อดี ข้อเสีย ของ การดมยา และการบล็อกหลัง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=17

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาสลบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=18




Create Date : 12 มกราคม 2551
Last Update : 22 มกราคม 2562 21:52:57 น.
Counter : 18925 Pageviews.

4 comments
  
แวะมาเยี่ยมหมอหมูค่ะ สบายดีนะคะ.....
โดย: Suessapple วันที่: 12 มกราคม 2551 เวลา:21:10:31 น.
  
สวัสดีค่ะคุณหมอ แวะเข้ามาครั้งแรก
ขออนุญาตแอ๊ดชื่อในบล๊อกนะคะเผื่อจะเข้ามา update ข้อมูลบ่อยๆค่ะ
โดย: เพชร (eyewitness ) วันที่: 12 มกราคม 2551 เวลา:22:03:58 น.
  

สบายดีครับ คุณ Suessapple ผมยังอ้วนท้วนสมบูรณ์ เหมือนเดิม ...ไม่มีผอม ...


ยินดีครับ ..คุณเพชร..


ขอบคุณทั้งสองท่านเลยนะครับ
โดย: หมอหมู วันที่: 14 มกราคม 2551 เวลา:17:49:54 น.
  
เข้ามาขอบคุณที่คุณหมอแวะไปตอบกระทู้ค่ะ
โดย: ครูป้อม (pawalai ) วันที่: 24 มิถุนายน 2553 เวลา:18:54:51 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด