มารู้จักโบท็อกซ์ ( BOTOX ) ฟิลเลอร์ ( FILLER ) ... ความรู้เพื่อประกอบการติดตามข่าว






มารู้จักโบท็อกซ์(BOTOX)

รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ *
ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย **

โบท็อกซ์ คืออะไร?

“โบท็อกซ์” (Botox) เป็นชื่อทางการค้า (trade name) ของสาร โบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin A) ซึ่งเป็นโปรตีน ชนิดหนึ่ง ที่สร้างจาก แบคทีเรีย ชื่อ คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม (Clostridium botulinum) ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษแก่มนุษย์ หากได้รับในปริมาณมากๆ เช่น จากอาหารกระป๋องที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อตัวนี้ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จากการที่กล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน ผู้ป่วยจึงหยุดหายใจ

*ในประเทศไทยมีจำหน่าย โดย 2 บริษัท มีชื่อการค้าว่า Botox และ Dysport


โบทูลินั่ม ท็อกซิน ออกฤทธิ์ อย่างไร?

โบทูลินั่ม ท็อกซิน ออกฤทธิ์โดยการไปจับกับส่วนปลายของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาท ไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทได้ กล้ามเนื้อจึงคลายตัว หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ เกิด อัมพาตของกล้ามเนื้อเล็กๆนั้น โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 วัน และเห็นผลสูงสุดในเวลาประมาณ 7– 14 วัน


แล้วแพทย์เอา “สารพิษ” นี้มาใช้ทำไม?

แพทย์ทราบมานานหลายสิบปีแล้วว่าหากฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อในปริมาณน้อยๆ โบทูลินั่ม ท็อกซินจะทำให้กล้ามเนื้อ “คลายตัว” ดังนั้นในยุคแรกๆ จักษุแพทย์จึงนำโบทูลินั่ม ท็อกซิน มาฉีดรักษาโรคตาเหล่ ตาเข และโดยบังเอิญจากการฉีดรักษาในบริเวณรอบดวงตานี้เอง ก็ทำให้แพทย์พบว่าริ้วรอยบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากหว่างคิ้วและรอบดวงตาดีขึ้นด้วย

ในยุคต่อมาจึงมีการฉีด โบทูลินั่ม ท็อกซิน เพื่อประโยชน์ในด้านความสวยงามตามมาอย่างแพร่หลาย และมีเทคนิควิธีการที่ต่างๆ กันออกไป มีการนำมาฉีดเพื่อทำให้หน้าเรียวลง ยกกระชับผิวหนัง ลดเหงื่อบริเวณรักแร้ ฝ่ามือ ตลอดจนรักษาอาการปวดศีรษะ ปวดเกร็งต้นคอ และอีกหลายกรณี ในประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีการฉีดกันเป็น ล้านๆครั้ง ต่อปี


ผลของการฉีด โบทูลินั่ม ท็อกซิน อยู่นานเท่าใด?

โดยทั่วไปผลของการฉีดจะอยู่ได้นานประมาณ 3-8 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับว่าฉีดรักษาอาการอะไร ฉีดบริเวณใด ฉีดเป็นครั้งแรกหรือเป็นการฉีดซ้ำ ผู้รับการรักษาอายุเท่าใด ซึ่งการที่ผลการรักษาอยู่ไม่ถาวรนั้น ที่จริงอาจนับได้ว่าเป็นข้อดี เพราะหากผลที่ได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจ ในที่สุดก็จะค่อยๆ หายไปเองได้ ข้อเสียก็คือสิ้นเปลือง เพราะหากได้ผลดี ถูกใจก็ต้องฉีดซ้ำเรื่อยๆ


โบท็อกซ์ อันตรายหรือไม่

จากการรวบรวมผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด โบทูลินั่ม ท็อกซิน จำนวนมาก ในต่างประเทศ พบว่าไม่มีอันตรายถึงชีวิต เมื่อใช้โดยผู้เชี่ยวชาญและใช้ฉีดเพื่อความสวยงาม

ผลข้างเคียงส่วนมากที่เกิดขึ้นมักเป็นแบบเฉพาะที่ เช่น หนังตาตก กลืนอาหารลำบาก หน้าไม่สมมาตร หรือจุดเลือดออกในบริเวณที่ฉีด ซึ่งเกิดได้แม้ในมือผู้เชี่ยวชาญ

ดังนั้น แพทย์ และ ผู้ทำการรักษา จึงควรคุยกันโดยละเอียดก่อนการฉีดทุกครั้ง


เมื่อเกิดผลข้างเคียงแล้วจะทำอย่างไร?

ดังที่ได้กล่าวแล้วตอนต้นว่าผลจากการฉีด โบทูลินั่มท็อกซิน นั้นจะค่อยๆ หมดไปเองภายในเวลาเป็นเดือน ดังนั้นผู้รับการรักษาจึงใจเย็นๆ และค่อยๆ รอให้ผลของ โบทูลินั่ม ท็อกซิน หมดไปเองก็ได้

ส่วนในกรณีที่เกิดหนังตาตกนั้น ผู้รับการรักษาควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นกรณีไป


---------------------------------------------------------------------------------

แพทยสภาเตือนแพทย์ฉีดโบท็อกซ์ปลอม มีโทษถึงพักใช้ใบอนุญาตฯ

ตามที่ปรากฏข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีมีการจับกุมผู้จำหน่าย Botulinum Toxin ปลอมนั้น  นายแพทย์สัมพันธ์  คมฤทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การเสริมสวย และการโฆษณาของแพทยสภา ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในคณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การเสริมสวย และการโฆษณาของแพทยสภา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวและเห็นควรให้แจ้งเตือนแพทย์และประชาชนทราบดังต่อไปนี้

สาร Botulinum Toxin เป็นสารชีวพิษ แต่นำมาใช้ทางการแพทย์ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ การผลิตและการใช้สารนี้ต้องควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

จากการจับกุมครั้งนี้ทำให้ทราบว่ามีการปลอมสารนี้ และมีการจำหน่ายในราคาถูกมาก(โดยคิดราคาต่ำกว่าของจริง 10 เท่า) และยังมีสารอื่น เช่น Filler จำหน่ายในราคาถูกกว่าของจริง ซึ่งผู้ที่ปลอมแปลงมีความผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว มีการลอบการนำสารที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาและมาใส่ package ใหม่ โดยใช้ package ที่คล้ายกับของจริงที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ในการนี้ทราบว่ามีการกระทำเช่นนี้และใช้กันอย่างกว้างขวางโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน

โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของประชาชนเป็นอย่างยิ่งจึงแจ้งเตือนมายังแพทย์และประชาชน ดังนี้

1.ขอให้แพทย์ ใช้ผลิตภัณฑ์จากผู้จำหน่ายที่ได้รับอนุญาตจาก อย.เท่านั้น และห้ามใช้ของปลอมโดยเด็ดขาด ถ้าแพทย์ท่านใดฉีดสารปลอม ท่านจะถูกลงโทษตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549

2.ประชาชน ควรทราบว่า ของปลอมอาจไม่ได้ผลการรักษาตามต้องการ และอาจเกิดอันตราย หรืออันตรายแก่ชีวิตจากการใช้ของปลอมนี้ ถ้าประชาชนที่พบเห็นแหล่งผลิต แหล่งซื้อขายของปลอม โปรดแจ้ง อย.

ถ้าประชาชนพบว่าแพทย์ใช้ของปลอมโปรดแจ้งแพทยสภาที่เบอร์โทร 02-5901886

3.แพทยสภาจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในการตรวจสอบผู้ประกอบการที่ขาย นำเข้า ของปลอมและจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

4.พบว่าการปลอมแปลงมักจะทำโดยการลักลอบนำสารปลอมนี้เข้ามาเอง (โดยลักลอบ และ หลีกเลี่ยงการรับรองจาก อย.) หรือนำของปลอมมาใส่ใน package ที่เป็นของจริงทำให้ดูเหมือนของจริง

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การเสริมสวย และการโฆษณาของแพทยสภา จะเสนอต่อคณะกรรมการแพทยสภา ให้กำหนดโทษต่อแพทย์ที่ฉีดของปลอมอย่างรุนแรง เช่น พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยประชาชน

หากประชาชนต้องการทราบข้อมูลผลิตภัณฑ์เวชสำอางต่างๆ สามารถโทร.สอบถามได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 ครั้งละ 3 บาท ทั่วประเทศ รับฟังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพทางโทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


..........................................


โบท็อกซ์ คืออะไร

ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
ฝ่ายบริหารจัดการความรู้   ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BioTec)
นักเขียนประจำ วิชาการ.คอม

https://www.vcharkarn.com/varticle/244


โบท็อกซ์ คืออะไร ?

คำว่า “โบท็อกซ์ (Botox?) เป็นชื่อทางการค้า (trade name) ของสารชีวภาพชนิดหนึ่งคือ โบทูลินัม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin A) ซึ่งถ้าใครไปค้นคำว่า “โบทูลินัม” ดู ก็จะพบว่าเป็นชื่อของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งคือ คลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษแก่มนุษย์

คำว่า “ท็อกซิน” นั้นแปลตรงตัวว่า “สารพิษ” แต่ว่าคำนี้เป็นคำกลางๆ นะครับ กล่าวคือ อาจจะเป็นสารพิษต่อมนุษย์หรือไม่ก็ได้ เช่น สารพิษบางอย่างเป็นพิษต่อแมลงบางชนิด แต่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ ในกรณีนี้ก็เรียกสารดังกล่าวว่า “ท็อกซิน” ได้เช่นเดียวกัน ส่วนคำว่า “เอ” นั้นระบุว่า ท็อกซินชนิดนี้เป็นหนึ่งในท็อกซินที่สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ผลิตได้ (มีทั้งหมด 7 ชนิด)

ในบทความนี้ ผมจะขออนุญาตเรียกว่า “ท็อกซิน” ทับศัพท์ไป แทนที่จะใช้ว่า “สารพิษ” หรือ “ชีวพิษ” (ตามการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน) เพราะต้องการหลีกเลี่ยงความหมายที่เหลื่อมล้ำกันเล็กน้อยสำหรับคำในภาษาอังกฤษและไทยนะครับ

ขอสรุปง่ายๆ เสียตรงนี้ก่อนว่า “โบท็อกซ์” นั้นมีที่มาจากท็อกซิน ที่พบในแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษในมนุษย์นั่นเอง

ท็อกซินชนิดนี้พบตามธรรมชาติตั้งแต่ปี 1817 โดยนายแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ จัสทินัส เคอร์เนอร์ (Justinus Kerner) ท็อกซินชนิดนี้มีอันตรายไม่น้อย กล่าวคือ อาจมีความรุนแรง ถึงขนาดทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว เนื่องจากท็อกซินดังกล่าว จะออกฤทธิ์โดยการไปจับกับส่วนปลายของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาท ไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ชนิดหนึ่ง คือ อะซีทิลโคลีน (acetylcholine) ได้ มีผลทำให้กล้ามเนื้อไม่อาจหดตัวได้ ซึ่งในผู้ป่วยรายที่เสียชีวิต สาเหตุส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากว่า กล้ามเนื้อหน้าอกซึ่งเกี่ยวข้องกับการหายใจ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ นั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วสินะครับว่า ถ้าการมีท็อกซินดังกล่าวมีอันตรายเช่นนั้นแล้ว ทำไมยังจะมีคนต้องการฉีด “โบท็อกซ์” อยู่อีก หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะสงสัยว่า ก็แล้ว “โบท็อกซ์” มาเกี่ยวข้องกับการลบรอยเหี่ยวย่นได้อย่างไร คำตอบเรื่องนี้ง่ายนิดเดียวนั่นก็คือ …
การที่กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ (หรือเป็นอัมพาตไป) ก็จะมีผลข้างเคียงสำคัญคือ มันจะไม่สามารถทำให้เกิด “รอยเหี่ยวย่น” ได้นั่นเองครับ

จากการเยียวยาโรคสู่ “ศัลยกรรมความงาม”

ในระยะแรกของการนำ “โบท็อกซ์” มาใช้งานนั้น จุดประสงค์หลักๆ ก็คือ เพื่อใช้สำหรับรักษาอาการกระตุกของกล้ามเนื้อตา อาการตาเหล่หรือตาเข ตลอดไปจนถึงอาการปวดตึง ผิดธรรมดาของกล้ามเนื้อคอ  โดยมีการอนุญาตให้ใช้ได้ในประเทศสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2532

แต่เรื่องของการฉีดโบท็อกซ์มาฮือฮากันจริงๆ ก็ตอนที่องค์การอาหารและยา สหรัฐฯ หรือที่นิยมเรียกกันย่อๆ ว่า เอฟดีเอ (FDA, Food and Drug Administration) อนุมัติให้ใช้ “โบท็อกซ์” เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมความงามในเดือนเมษายน 2545 เพราะฉะนั้น ใครไปฉีดโบท็อกซ์กันมาก่อนหน้านั้น ก็ควรจะรับทราบกันไว้ด้วยว่า เป็นการทำศัลยกรรมแบบผิดกฎหมายนะครับ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานไหนในโลก รับรองความปลอดภัยให้นะครับ ส่วนของประเทศไทยนั้น องค์การอาหารและยา (หรือ อย.) อนุญาตให้ใช้ได้หรือไม่ ผมยังค้นข้อมูลแบบเป็นทางการไม่พบนะครับ ถ้าใครพอทราบช่วยบอกให้ทราบด้วยนะครับ

ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ การฉีดโบท็อกซ์นั้นจะเห็นผลได้เร็วมากคือ อาจจะเพียงไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึง 2-3 วันภายหลังจากการฉีด แต่ผลจากการฉีดจะไม่คงอยู่อย่างถาวรนะครับคือ มีรายงานว่าจะอยู่ได้ราว 3-6 เดือน (อาจนานได้ถึง 8 เดือน) หากต้องการลบรอยย่นอีก ก็ต้องฉีดซ้ำอีก โดยจะต้องเป็นการฉีดโดยตรง ที่กล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยง จากการแพร่กระจายของท็อกซิน ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ความคลั่งไคล้ “ความงามแบบเปลือกๆ” นั้นมีอย่างมากมายมหาศาลจนเหลือเชื่อเลยล่ะครับ สมาคมศัลยกรรมพลาสติก เพื่อความงามแห่งอเมริกา (ASAPS, the American Society for Aesthetic Plastic Surgery) ระบุว่า การฉีดโบท็อกซ์ เป็นกระบวนการที่เติบโตเร็วที่สุด ในอุตสาหกรรมเสริมความงามในปี 2544 โดยพบว่ามีชาวอเมริกันจำนวน มากกว่า 1.6 ล้านคน ที่ฉีดโบท็อกซ์ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนนั้นราว 46 เปอร์เซ็นต์

จำนวนดังกล่าวมากจน แซงหน้าจำนวนผู้ที่ผ่าตัดเสริมหน้าอก (ซึ่งเป็นศัลยกรรมความงาม อีกแบบหนึ่งที่ฮิตมากในสหรัฐฯ) ในปีนั้นเสียอีก และถ้าใครช่างสังเกตสักนิด ก็จะสังเกตเห็นได้ว่า ตัวเลขที่ผมยกมาเป็นของปี 2544 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่ FDA จะอนุมัติ ให้ใช้โบท็อกซ์ เพื่อประโยชน์ด้านความงามเสียอีก!!!

ไม่แน่ว่าสาเหตุหลักๆ ของเรื่องนี้อาจจะมาจากคำโฆษณา ประเภทที่ว่า “คุณสามารถกลับเป็นหนุ่มสาวได้ง่ายๆ เพียงแค่การฉีดโบท็อกซ์เพียงเข็มเดียว” หรือไม่ก็ “ลบรอยเหี่ยวย่น รอยตีนกาได้ผลทันใจ” อะไรประมาณนั้น … ก็เป็นได้นะครับ

ไหนๆ ก็พาดพิงถึงเรื่องการผ่าตัดเสริมอกแล้ว ก็ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า ข้อมูลที่ได้จากนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 18 เมษายน 2548 ระบุว่า FDA ประกาศยกเลิกการใช้ “ซิลิโคน” สำหรับการผ่าตัดเสริมหน้าอกไปก่อนหน้านี้แล้วถึง 13 ปี สาเหตุหลักก็คือความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยมีสถิติที่ชี้ว่า ... มีโอกาสเสี่ยงสูงถึง 74 เปอร์เซ็นต์สำหรับคนไข้ ที่จะเกิดการแตกของถุงซิลิโคน ภายในระยะเวลา 10 ปีภายหลังการผ่าตัด!!!

สูงจนน่าตกใจเลยนะครับ ... เอ ว่าแต่เมืองไทยยังใช้ “ซิลิโคน” สำหรับการผ่าตัดเสริมหน้าอกกันอยู่ (อย่างถูกกฎหมาย) หรือเปล่า ใครพอจะทราบไหมครับ ?


สวยแบบสุ่มเสี่ยง
ข้อมูลที่คนส่วนใหญ่น่าจะไม่ทราบกันก็คือ ในสหรัฐฯ นั้น การฉีดโบท็อกซ์เพื่อลบรอยเหี่ยวย่นหรือรอยตีนกา สามารถทำให้กับคนไข้อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ศัลยกรรมความงามด้วยโบท็อกซ์ที่ทำกันอยู่นั้น จำนวนมากเป็นการทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผมก็ยังสงสัยว่า … ในหมู่คนไทยนั้น ไม่ว่าแพทย์หรือคนไข้จะมีสักกี่คนที่ทราบเรื่องนี้ เพราะเห็นโฆษณากันโครมครามจนดูเหมือนว่า ใครที่ต้องการก็น่าจะทำได้ (ถ้ามีเงินพอจ่าย)!

นอกเหนือจากข้อควรระวังบางประการ จากการฉีดโบท็อกซ์ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์อาจจะมีผลทำให้โบท็อกซ์ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หรืออาจแย่ไปกว่านั้นอีกก็คือ ทำให้เกิดรอยแผล บริเวณตำแหน่งที่ฉีดโบท็อกซ์ได้อีกด้วย แต่คำเตือนที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นที่ FDA เตือนไว้เช่นกันก็คือ ในระหว่างการฉีดโบท็อกซ์ อาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้เสมอ (มักจะเกิดกับคนไข้ราว 3-10 เปอร์เซ็นต์) จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแล อย่างใกล้ชิดของแพทย์ และต้องทำการฉีดในสถานที่ซึ่งมีเครื่องมือ พร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินได้

ผลข้างเคียงจากการฉีดโบท็อกซ์นั้น มีหลายรูปแบบด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นอาการเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ปวดศีรษะ คลื่นไส้ คัน เจ็บคอ มีไข้ มีอาการคล้ายเป็นหวัด ไปจนถึงเกิดอาการเจ็บปวดและเกิดแผลช้ำบริเวณที่ฉีด เกิดอาการกล้ามเนื้อเปลือกตาหย่อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เป็นต้น

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้น การฉีดโบท็อกซ์ที่ผิดขนาดไปมากๆ อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้เช่นกัน
ในเอกสารการวิจัยทางการแพทย์ก็มีระบุว่า ผู้ที่ฉีดโบท็อกซ์บ่อยๆ นั้นมีผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีใบหน้าที่ “ดูคล้ายหน้ากาก” คือ แลดูไม่มีอารมณ์ ความรู้สึกมากขึ้นทุกที ซึ่งก็คล้ายกับอาการ ที่พบในผู้ป่วยที่โดนพิษโบท็อกซ์ ตามธรรมชาติบางราย ที่เป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าบางส่วน เนื่องจากโบท็อกซ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายและได้มาก การควบคุมปริมาณหรือโดส (dose) ของโบท็อกซ์ให้ถูกต้องเหมาะสม จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

วิทยาศาสตร์ฟุ่มเฟือย
= วิทยาศาสตร์เทียม?

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้ว่าเรื่องของโบท็อกซ์นั้น จะมีข้อมูลพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์รองรับอยู่จริง และไม่ได้เป็น “วิทยาศาสตร์เทียม” ด้วยตัวของมันเองก็ตามที แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า การที่เริ่มต้นจากเจตนาดีที่ต้องการนำ โบท็อกซ์มาใช้ในการรักษาโรค

แต่ต่อมาก็เกิดเลยเถิดมาเป็นเรื่องของการทำศัลยกรรมความงามไปเสียได้ (เรียกว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” ไปเสียนี่) ทำให้ช่วยเน้นย้ำว่า ...

ตัวความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้มีความดีหรือความเลว โดยตัวของมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับ “ผู้นำไปใช้” และ “จุดประสงค์ของการนำไปใช้” มากกว่า ว่าเป็นไป “เพื่อประโยชน์” หรือ “เพื่อผลประโยชน์”

นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงนะครับ … เวลาอ่านนิยายกำลังภายในจีนแล้ว เราอาจจะพบว่าในเนื้อเรื่องมีการ “ใช้พิษไปแก้พิษ” (เข้าทำนองสุภาษิตไทยที่ว่า “หนามยอกให้เอาหนามบ่ง”) ซึ่งฟังดูออกจะแปลกประหลาดพิกลมากแล้ว แต่การใช้พิษแก้พิษก็จะกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปเลย ... เมื่อเทียบกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการ “ใช้พิษเสริมความงาม” กันอย่างมากมายบานตะไท (ชนิดไม่กลัวตายกันเลยทีเดียว) !!!

บทความต่อ: ดีท็อกซ์: ล้างพิษร่างกาย ... ทำได้จริงหรือ? ได้ที่ https://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?Aid=329


แหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์

สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับโบท็อกซ์หรือมาตรฐานเกี่ยวกับอาหารและยาชนิดต่างๆ ท่านสามารถหาความรู้ได้จากเว็บไซต์ของ FDA ที่ https://www.fda.gov/ อีกเว็บไซต์หนึ่งที่ให้ข้อมูลอย่างละเอียดละออเกี่ยวกับโบท็อกซ์และเรื่องอื่นๆ ทางการแพทย์ได้แก่ https://www.emedicine.com/

บทความนี้บางส่วนดัดแปลงจาก
นำชัย ชีววิวรรธน์ (2548), โบท็อกซ์ (Botox):สวยด้วยยาพิษ, คอลัมน์ ‘จับผิดวิทย์เก๊’, วารสารอัพเดท (UpDATE), ฉบับที่ 214

....................................

 เลขาธิการฯ อย.กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ ที่โฆษณา การฉีดโบท็อกซ์ โดยเฉพาะการฉีดสารกลูตาไธโอน ที่อวดอ้างสรรพคุณทำให้ผิวขาวใส เพราะเป็นการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เนื่องจากเป็นการนำสารกลูตาไธโอนมาใช้ในทางที่ผิด เพราะสารกลูตาไธโอนไม่ได้มีข้อบ่งชี้ ในการช่วยทำให้ผิวขาวใสขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ ประโยชน์ที่อาจนำมาใช้ในทางการแพทย์ตามที่ระบุในเอกสารวิชาการ คือ การรักษาพิษจากยาพาราเซตามอล โดยใช้เบื้องต้นสำหรับรักษาโรคมะเร็งบางชนิด และขณะนี้ อย.ไม่ได้มีการรับขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ใช้สารนี้แต่อย่างใด

       นอกจากนี้ หากผู้ฉีดยาเป็นหมอเถื่อนที่ไม่ได้จบแพทย์ และไม่มีความรู้ด้านการรักษาหรือการฉีดยา ผู้บริโภคอาจได้รับอันตราย และเสียเงินทองจำนวนมาก พร้อมกันนี้ ขอเตือนมายังเจ้าของเว็บไซต์ทุกราย หรือแหล่งใดๆ ที่โฆษณาฉีดโบท็อกซ์ ฉีดกลูตาไธโอน หรือฉีดสารใดๆ ก็ตามเข้าไปในร่างกาย เพื่อทำให้ผิวขาวใส พร้อมการขายยา หรืออาหารเสริม อวดสรรพคุณทำให้ผิวขาว อย่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ หากเป็นเว็บไซต์จะประสานไปยังกระทรวงไอซีที ดำเนินการตรวจสอบและสั่งปิดเว็บไซต์ พร้อมดำเนินคดีต่อเจ้าของเว็บไซต์อย่างเคร่งครัด มีโทษทั้งจำและปรับ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผิดกฎหมาย หรือโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงผ่านทางสื่อต่างๆ สามารถร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบการกระทำความผิด

..................................



โบท็อกซ์ปลอม: อันตรายที่แท้จริง
https://www.vcharkarn.com/varticle/41560
ปลอมอย่างแนบเนียน
            เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "โบท็อกซ์" ผ่านหูกันมาบ้าง คนส่วนใหญ่รู้จักโบท็อกซ์ในฐานะสารที่ฉีดเพื่อลบริ้วรอยบนใบหน้า โบท็อกซ์ (Botox) เป็นชื่อทางการค้า (trade name) ของโปรตีนสารพิษ "โบทูลินัมท็อกซิน เอ" (Botulinum toxin A)  ซึ่งผลิตจากแบคทีเรีย คลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum)  แรกเริ่มเดิมทีโบท็อกซ์ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้รักษาอาการกระตุกของกล้ามเนื้อตา แต่เมื่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้โบท็อกซ์ในการศัลยกรรมเสริมความงามได้ เรื่องการฉีดโบท็อกซ์จึงได้รับความสนใจจากผู้รักสวยรักงามอย่างมาก ตลาดของโบท็อกซ์จึงเปลี่ยนจากการรักษาไปเป็นศัลยกรรมความงามอย่างรวดเร็ว

กระแสคลั่งไคล้โบท็อกซ์
             แม้ผลกระทบจากการฉีดโบท็อกซ์จะยังหาข้อสรุปไม่ได้และยังถกเถียงกันอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีความหมายต่อผู้ที่ต้องการฉีดโบท็อกซ์เท่าใดนัก ผู้คนยอมเสี่ยงเพื่อแลกกับความงาม สมาคมศัลยแพทย์ศัลยกรรมพลาสติกของสหรัฐอเมริการายงานว่า ปี 2552 มีผู้ฉีดโบท็อกซ์ถึง 4.8 ล้านคน เป็นหญิง 4.5 ล้านคน ชาย 3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นวัยรุ่น (อายุ 18-19 ปี) กว่า 1,1000 คน! แม้ว่ากฎหมายสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศจะห้ามผู้ประกอบการไม่ให้ฉีดโบท็อกซ์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ก็มีรายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ฉีดโบท็อกซ์อยู่บ่อยๆ ตัวอย่างเช่น ข่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2553 รายงานว่า Hannah Burge เด็กสาวชาวอังกฤษ อายุ 16 ปี กล่าวว่าเธอได้ฉีดโบท็อกซ์ตั้งแต่เธออายุ 15 ปี! โดยแม่ของเธอเป็นผู้ฉีดให้ เด็กสาวให้เหตุผลว่าเธอต้องการลบรอยย่นที่หน้าผาก 2 เส้น และรอบๆ ปาก เธอไม่อยากรอให้ใบหน้าเธอน่าเกลียดตอนอายุ 25 เธอยังบอกอีกว่าเพื่อนที่โรงเรียนใครๆ ก็พูดถึงโบท็อกซ์กันทั้งนั้น และเธอคิดว่าใครๆ ก็ฉีดกันทั้งนั้น เพียงแต่เธอฉีดเร็วกว่าคนอื่นนิดหน่อย เท่านั้นเอง

      กระแสนิยมความงามที่เปลือกนอกผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตโบท๊อกซ์เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้จะมีกฎหมายควบคุมแต่ดูเหมือนผู้ที่ต้องการโบท็อกซ์ก็สามารถดิ้นรนหามาใช้จนได้ โดยไม่สนใจว่าจะได้มาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ อย่างกรณีของ Hannah Burge แม่ของเธอผู้ผ่านการทำศัลยกรรมพลาสติกมามากว่า 100 ครั้ง สั่งซื้อโบท็อกซ์จากต่างประเทศผ่านทางอินเตอร์เน็ต ผลกำไรมหาศาลในธุรกิจโบท็อกซ์ดึงดูดผู้ประกอบการจำนวนมากให้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากธุรกิจนี้ การผลิต การขายและการให้บริการอย่างผิดกฎหมายจึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้ว "โบท็อกซ์ปลอม" จำนวนมากจึงมาถึงมือผู้บริโภคในที่สุด มีการประเมินจากผู้ผลิตโบท็อกซ์ว่าบริษัทเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับโบท็อกซ์ปลอมคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียหลายร้อยดอลลาร์ต่อปี

โบท็อกซ์ปลอมมีหลายระดับ
             ในช่วงแรกที่โบท็อกซ์ถูกนำมาใช้เสริมความงาม โบท็อกซ์ของแท้ยังผลิตได้ไม่มากนักและมีราคาสูง จึงมีพ่อค้าหัวใสอาศัยช่องว่างนี้นำสินค้าโบท็อกซ์ปลอมมาขาย จากการสำรวจพบว่า 80% ของโบท็อกซ์ปลอมแปลงที่ขายในช่วงนี้ไม่มีโบทูลินัมท็อกซินอยู่เลย โบท็อกซ์ปลอมอาจทำมาจากน้ำเปล่า น้ำเกลือ หรือวิตามินก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่มีสารออกฤทธิ์อยู่เลย เรียกได้ว่าเป็น "โบท็อกซ์ปลอมล้วนๆ" ใช้การหลอกขายกันอย่างซึ่งๆหน้า บางรายใช้วิธีพื้นๆ อย่างการตั้งชื่อให้พ้องเสียงกับของแท้ เช่น "Butox” หรือ “Beauteous" (ของแท้คือ Botox) ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการเสริมความงามซึ่งนำไปใช้ฉีดน่องเพื่อเพิ่มความกระชับให้กับผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตามผู้ที่ซื้อโบท็อกซ์ปลอมล้วนๆ ไปใช้ยังถือว่าโชคดี เพราะการฉีดน้ำเกลือหรือวิตามินที่ใส่ขวดหลอกขายเป็นโบท็อกซ์อย่างน้อยก็ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

             โบท๊อกซ์ปลอมล้วนๆ ย่อมไม่สามารถหลอกใครได้นานนัก เพราะการใช้เพียงครั้งเดียวก็ทำให้ทราบว่าถูกหลอกขายของปลอม และเมื่อการฉีดโบท็อกซ์เพื่อลบริ้วรอยได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้ให้บริการด้านความงามก็ต้องพยายามสรรหาช่องทางและวีธีการให้ได้มาซึ่งโบท็อกซ์ที่ราคาถูกและลูกค้าพึงพอใจในผลลัพธ์ จึงต้องเข้มงวดขึ้นเลือกซื้อโบท็อกซ์จากตัวแทนจำหน่าย แต่ผู้ผลิตสินค้าปลอมเองก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มีการพัฒนาโบท็อกซ์ปลอมด้วยเช่นกัน

             ที่โบท็อกซ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะปัจจุบันผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตโบทูลินัมท็อกซินความบริสุทธิ์สูง (pharmaceutical grade) สำหรับฉีด ทั่วโลกมีเพียง 7 ราย เท่านั้น ที่จริงยังมีผู้ผลิตโบทูลินัมท็อกซินรายอื่นอยู่อีก เพียงแต่ได้รับอนุญาตและมีความสามารถในการผลิตโบทูลินัมท็อกซินที่มีความบริสุทธิ์ต่ำกว่า สำหรับการทดลองทางวิยาศาสตร์ (reagent grade) เท่านั้น แต่ที่สำคัญคือมีราคาถูกกว่ามาก ทั่วโลกมีผู้ผลิตโบทูลินัมท็อกซินสำหรับการทดลองหลายสิบราย จึงเป็นช่องทางในการผลิตโบท็อกซ์ปลอม โบทูลินัมท็อกซินสำหรับทดลองนี้ถูกนำไปบรรจุในหลอดแก้วติดฉลากเป็นโบท็อกซ์แล้วนำไปขายปะปนกับของแท้ ซึ่งก็สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการเพราะสามารถออกฤทธิ์ได้จริงขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็พอใจเพราะราคาถูก และหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นผู้ให้บริการก็สามารถอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากผลกระทบของการฉีดโบท็อกซ์ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ รวมทั้งผู้ใช้บริการยังเซ็นยินยอมไว้แล้ว

            "โบท็อกซ์ปลอมเกรดสำหรับการทดลอง" ส่วนใหญ่มาจากเอเชียผ่านทางตัวแทนจำหน่ายเถื่อน ไม่มีใครทราบว่าโบทูลินัมท็อกซินสำหรับการทดลองถูกแจกจ่ายให้กับธุรกิจโบท็อกซ์ปลอมได้อย่างไร ทางโรงงานหรือผู้ผลิตมีส่วนรู้เห็นกับการกระบวนการผลิตโบท็อกซ์ปลอมหรือไม่ พ่อค้าคนกลางอาจซื้อโบทูลินัมท็อกซินจากผู้ผลิตเหล่านี้แล้วนำไปบรรจุในหลอดแก้วติดฉลากเป็นโบท็อกซ์แล้วขายให้กับผู้ให้บริการศัลยกรรมความงาม หรือผู้ให้บริการศัลยกรรมความงามเถื่อนอาจสั่งซื้อโบทูลินัมท็อกซินในราคาถูกจากผู้ผลิตสำหรับการทดลองแล้วนำมาฉีดให้กับผู้ใช้บริการ โบท็อกซ์ปลอมแบบนี้คล้ายกับโบท็อกซ์ของแท้มาก ในประเทศจีนมีตัวแทนจำหน่ายเถื่อนอย่างน้อย 20 ราย ทุกรายอ้างตัวเป็นบริษัท มีเวปไซต์ที่ดูน่าเชื่อถือ ประกาศตัวว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายทีได้รับอนุญาตอย่างแนบเนียน เพียงแต่ที่ตั้งของบริษัทที่อยู่บนเวปไซต์ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริงหรือเป็นที่ตั้งของสำนักงานร้าง ตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตเท่านั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าผู้ให้บริการเสริมความงามหลายรายจะถูกหลอก

            การลักลอบนำโบทูลินัมท็อกซินที่มีความบริสุทธิ์ต่ำไปผลิตโบท็อกซ์ปลอมเป็นวิธีการที่แนบเนียนและมีประสิทธิภาพ แต่ใช่ว่าจะผลิตโบท็อกซ์ปลอมได้มากมายนัก เพราะโบทูลินัมท็อกซินความบริสุทธิ์ต่ำที่ลักลอบมาขายเป็นเพียงบางส่วนที่ผลิตได้ การจะลักลอบนำมาขายให้มากขึ้นก็เป็นไปได้ยาก จำนวนโรงงานก็มีอยู่จำกัด ทางออกสำหรับผู้ผลิตโบท็อกซ์ปลอมก็คือ ตั้งโรงงานเพื่อผลิตโบทูลินัมท็อกซินเอง วิธีนี้ทำให้สามารถผลิตโบท็อกซ์ปลอมได้เท่าที่ต้องการและยังได้กำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย มีหลักฐานว่าสหภาพโซเวียตเก่าเป็นแหล่งผลิตโบท็อกซ์ปลอมโดยมีแก๊งอาชญากรเกี่ยวข้องด้วย ที่นี่สามารถตั้งโรงงานเถื่อนเพื่อผลิตโบทูลินัมท็อกซินได้เอง เพราะเดิมมีโรงงานผลิตยาปลอมอยู่จำนวนมาก ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนหนึ่งกล่าวว่าการผลิตโบท็อกซ์ปลอมนี้ดำเนินมานานกว่า 3 ปีแล้ว โดยมีโรงงานผลิตโบทูลินัมท็อกซินอยู่ในสาธารณรัฐเชชเนียและนำมาบรรจุหลอดแก้วที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ทั้งหลอดแก้ว ฉลาก และห่อบรรจุเหมือนกับโบท็อกซ์ของแท้จนแยกไม่ออก เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมโบท็อกซ์ปลอมแบบครบวงจร

อันตรายจากโบท็อกซ์ปลอม
            โบท็อกซ์ปลอมไม่ว่าจะมาจากการผลิตโดยโรงงานเถื่อนหรือจากการนำโบทูลินัมท็อกซินสำหรับการทดลองทางวิยาศาสตร์มาปลอมแปลงล้วนแล้วแต่มีสิ่งเจือปนสูงกว่าของแท้ทั้งสิ้น สิ่งเจือปนทั้งหลายอาจเป็นพิษโดยตรงหรือก่อให้เกิดภูมิแพ้แก่ผู้ฉีด นอกจากนี้สิ่งที่อันตรายยิ่งกว่าคือโบท็อกซ์ปลอมมีความเข้มข้นของโบทูลินัมท็อกซินไม่แน่นอน โดยปกติการฉีดโบท็อกซ์ต้องคำนวณปริมาณที่ใช้ฉีดให้เหมาะสม การฉีดเกินไปเพียงเล็กน้อยเป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อความเข้มข้นแต่ละหลอดที่นำมาใช้ความเข้มข้นไม่เท่ากัน แม้แพทย์จะคำนวณปริมาณการฉีดได้ถูกต้องแต่คนไข้อาจได้รับโบทูลินัมท็อกซินไม่ตรงตามที่คำนวณ ถ้าได้รับน้อยไปก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าได้รับมากไปก็อาจทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต อย่างไรก็ตามอันตรายทั้งหลายที่กล่าวเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลเพียงไม่กี่คนเท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่ก็ยอมรับความเสี่ยงจากโบท็อกซ์อยู่แล้ว  ดังนั้นจึงเทียบไม่ได้เลยกับการที่โบท็อกซ์ปลอมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ!

อันตรายที่แท้จริง
             อันตรายที่แท้จริงจากโบท็อกซ์ปลอมคือการที่โบทูลินัมท็อกซินตกไปอยู่ในมือผู้ก่อการร้าย นี่ไม่ใช่การวิตกกังวัลจนเกินเหตุแต่อย่างใด โบท็อกซ์ปลอมจำนวนมากที่มีขายปะปนอยู่กับของแท้จนแยกแยะแทบไม่ออกเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การผลิตโบท็อกซ์ทั้งกระบวนการอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีใครสามารถควบคุมการตั้งโรงงานผลิตจนมีโรงงานเถื่อนผลิตโบทูลินัมท็อกซินทั่วโลกซึ่งไม่ทราบว่ามีอยู่เท่าใด มีกำลังการผลิตโบทูลินัมท็อกซินเท่าใด มีตัวแทนจำหน่ายเถื่อนอยู่มากมายและพร้อมที่จะขายโบท็อกซ์ปลอมให้ใครก็ตามพี่มีเงินซื้อ แม้แต่ผู้ก่อการร้าย

การแก้ปัญหา?
             ผู้ผลิตโบท็อกซ์ของแท้รายหนึ่งพยามแก้ปัญหาด้วยแนวคิดที่ว่าหากความต้องการโบท็อกซ์ปลอมลดลงจะทำให้โรงงานผลิตโบท็อกซ์เถื่อนขายไม่ออกและต้องปิดไป จึงใส่หมายเลขผลิตภัณฑ์กำกับไว้ทุกขวด เปลี่ยนฉลากและห่อบรรจุที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงยากจะเลียนแบบ รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้ใช้ "โบท็อกซ์ของแท้สังเกตอย่างไร" หรือ "อันตรายจากการใช้โบท็อกซ์ปลอม" เป็นต้น ซึ่งก็อาจคนใช้โบท็อกซ์ปลอมลดลงและใช้ของแท้มากขึ้น แต่คงไม่ทำให้โรงงานผลิตโบท็อกซ์ปลอมต้องปิดตัวลงเพราะขายโบท็อกซ์ปลอมไม่ได้ เพราะโรงงานเถื่อนก็ยังมีตลาดอื่นอย่างผู้ก่อการร้ายหรือประเทศที่กำลังมีสงครามอยู่ แล้วการผลิตโบทูลินัมท็อกซินเพื่อใช้เป็นอาวุธก็ง่ายกว่าผลิตไปใช้เสริมความงามด้วย
            ผู้ผลิตโบท็อกซ์ของแท้อีกรายพยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าโดยการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อสืบสวนหาและปิดโรงงานเถื่อน ซึ่งแม้จะปิดได้สำเร็จ แต่ก็มีโรงงานเถื่อนเปิดขึ้นใหม่ด้วยอัตราที่เร็วกว่า เพราะมีเงินทุนมหาศาลจากการขายโบท็อกซ์ปลอมและยังคงมีผู้ต้องการโบท็อกซ์ปลอมอยู่

โบท็อกซ์ในประเทศไทย
             ในประเทศไทยนั้นไม่พบข้อมูลว่าองค์การอาหารและยามีมาตรการควบคุมดูแลโบท็อกซ์อย่างไร มีเพียงแพทย์หรือผู้เชี่่ยวชาญให้คำแนะนำว่าถ้าต้องการฉีดโบท๊อกซ์ ให้รับการฉีดจากแพทย์ที่เชื่อถือได้ โดยสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครหรือที่ไหนที่เชื่อถือได้? ในเมื่อสถานบริการด้านความงามทุกแห่งอ้างว่าตัวเองใช้ของที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ จริงอยู่สถานบริการด้านความงามอาจจะซื่อสัตย์ต่อลูกค้าไม่ซื้อของปลอมมาใช้ แต่สถานบริการอาจถูกตัวแทนจำหน่ายหลอกขายโบท็อกซ์ปลอม หรือตัวแทนจำหน่ายอาจจะรับโบท็อกซ์ปลอมมาจากโรงงานเถื่อนโดยไม่รู้ ผู้ใช้อาจตรวจสอบจากหมายเลขหรือฉลากที่ยากจะเลียนแบบ แต่อย่าได้ประมาทเทคโนโลยีของผู้ผลิตสินค้าปลอม เพราะผู้ผลิตของปลอมก็พร้อมที่จะลงทุนปลอมแปลงให้เหมือนที่สุดเช่นกันเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่อยากลองฉีดโบท็อกซ์ก็ลองคิดดูให้ดีว่า ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร "ของแท้" หรือ "ของปลอม" อันไหนหาง่ายกว่ากัน?

เอกสารอ้างอิง
"2010 REPORT of the 2009 STATISTICS", American Society of Plastic Surgeons®, 2010
"Fake Botox, Real Threat", Coleman and Zilinskas, Scientific American, June 2010
"Why the 'Human Barbie' is now injecting her own 16-year-old daughter with Botox", Lucy Ballinger, MailOnline, March 2010
https://www.fakebotoxrealthreat.com/

..................................

เตือนระวังสารโบท็อกซ์ปลอม
https://www.banmuang.co.th/news/bangkok/14854

ถ้าพูดถึงเรื่องความงามจาก “สารท็อกซิน” หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “สารโบท็อกซ์” เป็นอีกหนึ่งวิวัฒนาการด้านความงามที่ทั้งหญิงและชายต่างให้การยอมรับในประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยม และเห็นผลชัดเจน ในเรื่องของการลดริ้วรอย เมื่อนำมารักษาด้านความงามได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังมีรายงานจากสมาคมศัลยแพทย์ศัลยกรรมพลาสติกของสหรัฐอเมริกาว่า ในปี 2552 มีผู้ฉีดสารท็อกซินถึง 4.8 ล้านคน เป็นหญิง 4.5 ล้านคน ชาย 3 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นวัยรุ่นกว่า 11,000 คน จำนวนนี้สะท้อนให้เห็นถึงการได้รับความสนใจจากผู้รักความสวยความงามเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแต่สารท็อกซินจากเกาหลี ประเทศที่ได้ชื่อเป็นผู้นำเทรนด์เรื่องความสวยความงาม ก็ได้รับการตอบรับดีไม่แพ้กันเลยทีเดียว เนื่องจากมีราคาที่ไม่สูงมาก จึงทำให้ผู้เสพความงามทั้งหลายยิ้มกลับบ้านไปแบบสบายกระเป๋าอีกด้วย ข้อดีเหล่านี้ จึงทำให้กลไกการตลาดด้านความงามเติบโตสูงขึ้น และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เมื่อมีความต้องการมากทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าหัวใส หิ้วสารท็อกซินปลอม หรือขายตามโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นเดียวกัน


ภญ.หญิง สิเนหา มังกรแก้ว เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญและผู้จัดการ บริษัท เซเลส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สารโบท็อกซ์ของแท้ คือ สารโปรตีนบริสุทธิ์ ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาจะใช้ได้เฉพาะคลินิกที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้นสารท็อกซินที่หิ้วขายกันอยู่เกลื่อนกลาดให้เห็นกันทั่วไปบนโลกอินเตอร์เน็ต ขอชี้ชัดว่า ส่วนมากจะเป็นสารท็อกซินที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นผงแป้งไม่มีฤทธิ์ทางการรักษา หรือไม่ก็เป็นสารโปรตีนที่ไม่มีคุณภาพจากประเทศจีน แปะฉลากปลอม แต่สิ่งที่อันตรายยิ่งกว่า คือ สารท็อกซินปลอมมีความเข้มข้นของโบทูลินัมท็อกซินไม่แน่นอน อาจมีปริมาณเกินมาตรฐาน ซึ่งโดยปกติการฉีดท็อกซินต้องคำนวณปริมาณที่เหมาะสม การฉีดเกินไปเพียงเล็กน้อยก็เป็นอันตรายเกิดใบหน้าผิดธรรมชาติได้ และถ้าได้รับมากไป ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตชั่วคราวและยังไม่มีวิธีแก้ไขผลข้างเคียงจากการฉีดสารท็อกซินที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากรอให้ยาหมดฤทธิ์ไปเองระยะเวลานาน 4-6 เดือน และที่สำคัญการฉีดสารท็อกซินปลอมซ้ำๆ มีโอกาสทำให้ดื้อยาและผลที่ตามมา คือ เมื่อกลับไปฉีดสารโปรตีนบริสุทธิ์ที่มีมาตรฐานในครั้งต่อไป ก็อาจไม่ได้ผลแล้ว”


อย่างไรก็ตาม ภญ.สิเนหา แนะนำอีกว่า สารโปรตีนบริสุทธิ์เป็นสารที่มีความปลอดภัยเพราะจะสลายหมดไปในร่างกาย จึงสามารถฉีดซ้ำได้ทุกๆ 4 เดือน โดยมีการแนะนำในการฉีดแต่ละครั้งคือไม่เกิน 200 ยูนิต และไม่ควรฉีดบ่อยกว่าทุกๆ 4 เดือน ยกเว้นแต่การแก้ไขโดยผ่านมือแพทย์เท่านั้น


กระแสนิยมความงามได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตสารท็อกซินเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคไฟเบอร์เข้าถึงง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ถึงแม้สารท็อกซินจะมีกฎหมายควบคุมอยู่ แต่ดูเหมือนว่ามันไม่ยากเกินความสามารถของผู้ต้องการ โดยไม่คำนึงถึงว่า สิ่งที่เลือกมีความปลอดภัย มั่นใจได้100% จริงหรือ เพียงเพราะราคาถูกกว่า แต่มันไม่คุ้มค่าที่ต้องแลกกับความงามที่ต้องมาพร้อมกับความเสี่ยง อยากจะสวยก็ควรดูให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อจะได้สวยอย่างคุ้มค่าและปลอดภัย!!!


..........................................



๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙
Ittaporn Kanacharoen
https://www.facebook.com/ittaporn/posts/1180923298635141

"น่าเศร้า..บอดอีกราย สาวไทยห่วงสวย.."

วันนี้ผมรับเรื่องร้องเรียนมาอีกราย
..ด้วยความเศร้าใจ
สาวน้อยอนาคตไกล.. ต้องตาบอดเฉียบพลัน
จากอยากสวยด้วย filler...
เพราะเหตุจากแรงเชียร์ของ เจ้าหน้าที่คลินิก..
หลังจากฉีดแล้วตาบอดคาเข็ม...
เด็กสาวกลายเป็นคนตาบอด ..

เมื่อเกิดปัญหา เราจะต้องมีขั้นตอนดังนี้

1.ตรวจสอบคนที่ฉีด

2.ตรวจสอบคลินิกที่ฉีด

3.ตรวจสอบสารที่ฉีด ต้องขอขวดมาด้วยทุกครั้งนะครับ ยาบางอย่างห้ามใช้แล้ว บางที่เอามาใช้ทำให้ตาบอด

4.รีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับมหาวิทยาลัยให้แก้ไข เร็วที่สุด (แต่มักไม่สำเร็จนะครับ)

กรณีต้องการร้องเรียน

1.ตามพรบ.วิชาชีพเวชกรรม โดยตรวจว่าหมอเถื่อนหรือหมอจริงจาก เว็บแพทยสภา https://tmc.or.th/check_md/ แล้วพิมพ์ออกมา
ถ้าหมอจริงฟ้องมาที่ ฝ่ายจริยธรรม 02 589 7700 email tmc@tmc.or.th (เพื่อตรวจมาตรฐานแพทย์ ลงโทษแพทย์ ไม่เกี่ยวกับเรียกร้องเงิน ประมาณคดีอาญา)

2.ถ้าไม่ใช่แพทย์ แจ้งความโรงพักเป็นคดีได้เลยครับ เราเรียกว่า "หมอเถื่อน"

3.แจ้งดำเนินคดีคลินิก ตาม พรบ.สถานพยาบาล ที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลป์ ที่คุมคลินิก เพื่อเรียกค่าเสียหาย ดูที่นี่ https://mrd-hss.moph.go.th/mrd/index.php
โทรร้องเรียนได้ 24 ชม. ที่นี่ 02-193-7999

ถ้าเอาหมอเถื่อนมายิ่งโทษหนัก..

แต่อยากขอเตือนเพื่อนๆด้วยนะครับ ฉีดรอบๆตา อันตราย โดยเฉพาะถ้าใช้สารที่ไม่ได้รับอนุญาตยิ่งอันตราย สลายไม่ได้ (แพทยสภาเคยประกาศเตือนไปแล้วครับ) ถ้าหมอเถื่อนราคาถูกยิ่งไปกันใหญ่..อยากสวยอย่าให้เสี่ยงอันตรายนะครับ

ปรึกษา อาจารย์ Pravit Asawanonda และ Rungsima Wanitphakdeedecha ช่วยผมแนะนำเพิ่มเติมหน่อยนะครับ

ขอปรึกษาท่านอธิบดี สบส.คนต่อไป Wisit Tangnapakorn และ อ.Akom Praditsuwan ด้วยครับ

บทความอ่านประกอบ

ในไทย มีคนฉีดฟีลเลอร์แล้วตาบอดกี่ราย? ในต่างประเทศรายงานตาบอดแล้วกว่า 98 ราย และตาย 1คน ฉีดฟีลเลอร์ปลอดภัยจริงไหม ????
https://pantip.com/topic/35380193






Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 31 สิงหาคม 2561 15:04:59 น.
Counter : 18566 Pageviews.

10 comments
วิ่งข้างบ้าน 15,17,18,19,21 มิ.ย.2568 สองแผ่นดิน
(24 มิ.ย. 2568 22:37:50 น.)
Day..10 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(16 มิ.ย. 2568 12:13:29 น.)
WRB10 Fighting Stroke สนามเจริญสุขมงคลจิต แมวเซาผู้น่าสงสาร
(14 มิ.ย. 2568 14:50:56 น.)
วันนี้ไปหาหมอ ดูแลดี แต่..... เขียนประวัติเราลงคนอื่น.. newyorknurse
(13 มิ.ย. 2568 02:37:18 น.)
  
ได้รับความรู้มากมายเลยครับคุณหมอ

เพิ่งทราบวันนี้นี่เองว่า Botox นี่มาจากเจ้าเชื้อ Clostridium botulinum ที่เป็นสารพิษในอาหารกระป๋องที่หมดอายุ มนุษย์นี่เก่งจริงๆนะครับ เอาสารพิษมาใช้ประโยชน์ได้
โดย: adeagus วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:21:59:36 น.
  

//www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=420&contentID=153539


ชี้ผลข้างเคียงจาก“สารโบทูลินั่ม ท็อกซิน–ฟิลเลอร์”

วันพุธ ที่ 27 กรกฎาคม 2554 เวลา 15:57 น

สมาคมแพทย์ผิวหนัง ชี้แจงการฉีดสาร“สารโบทูลินั่ม ท็อกซิน –ฟิลเลอร์” อย.ยังไม่รับรองประสิทธิผลอาจทำเสียโฉมและพิการได้ผู้บริโภคควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

ที่สถาบันโรคผิวหนัง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย แถลงเรื่องการฉีดสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน และสารเติมเต็ม (ฟิลเลอร์) อย่างไรให้ปลอดภัยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้บุกจับคลินิกผู้ให้บริการฉีดสารโบทูลินั่ม ท็อกซินและฟิลเลอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ และพบว่าคนที่ฉีดไม่ใช่แพทย์ถือว่าอันตรายมาก

นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาตามเว็บไซต์ต่างๆจำนวนมาก ส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน จากประเทศจีน และเกาหลี ซึ่งเป็นสารที่ไม่ผ่านการรับรองจาก อย.ดังนั้นไม่ควรไปฉีด โดยคำนึงว่าราคาถูกอย่างเดียว เพราะของถูกไม่ได้ดีเสมอไป


รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน ที่ได้รับการรับรองจาก อย.มีเพียง 3 ยี่ห้อ ส่วนฟิลเลอร์มีเพียงยี่ห้อเดียว แต่ส่วนหนึ่งแพทย์อาจหิ้วเข้ามาเอง ซึ่งการนำมาใช้กับคนไข้แพทย์จะต้องรับผิดชอบเอง

ขอเรียนว่า การฉีดสารโบทูลินั่ม ท็อกซินมีทั้งผลดีและผลเสียและไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน

ส่วนผลกระทบจาการใช้สารฟิลเลอร์ในต่างประเทศมีรายงานว่าทำให้คนไข้ตาบอด 2 ราย ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้หากผู้ฉีดไม่มีความรู้ ดังนั้นควรจะฉีดกับแพทย์เท่านั้น


ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รอง ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการประเมินและติดตามประสิทธิภาพเครื่องมือทางการแพทย์และหัตถการโรคผิวหนัง กล่าวว่า ปัจจุบันการทำใบหน้าเรียวเพื่อให้ดูดี สไตล์เกาหลีกำลังเป็นที่นิยม จึงมีการลักลอบนำสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน มาฉีดบริเวณกรามให้หน้าเรียว ฉีดคอเพื่อรบรอยเหี่ยวย่น ฉีดน่องให้เล็กเรียว ซึ่งกรณีเหล่านี้ อยู่ในขั้นทดลองนำมาใช้และได้ผลบางส่วนเท่านั้น อย.ยังไม่ได้รับรองประสิทธิผล

นอกจากนี้การฉีดสารดังกล่าว บริเวณกรามอาจส่งผลให้ข้อต่อกระดูกขากรรไกรหลวมและเคี้ยวอาหารไม่ได้ มีอาการปวดตามมา การใช้สารเหล่านี้จึงต้องมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม ผู้ที่ฉีดต้องมีประสบการณ์สูงเข้าใจการทำงานของกล้ามเนื้อ และสารที่ฉีดจะต้องมีคุณภาพ


สำหรับฟิลเลอร์มีทั้งที่ชนิดที่สลายเองโดยธรรมชาติ ชนิดที่ไม่สลายเลย เช่น ซิลิโคน พาราฟิน และชนิดที่สลายช้า ๆ โดยส่วนตัวเห็นว่า ฟิลเลอร์มีการใช้มากในปัจจุบันโดยเฉพาะการฉีดจมูกให้โด่ง ซึ่งเมื่อมีการใช้มาก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน อย่างกรณีคนไข้ชาย 1 รายที่ให้การรักษาปรากฏว่าใช้บริการจากร้านเสริมสวยโดยฉีดสารเติมเต็มประเภทซิลิโคนที่จมูกเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ10,000บาทแต่มีปัญหาไหลย้อยทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้

ตนเห็นว่า ปัจจุบันสารโบทูลินั่ม ท็อกซินมีการใช้มากก็จริงแต่เมื่อเปรียบเทียบกันจะพบว่าผลกระทบจากการใช้ฟิลเลอร์จะน่ากลัวกว่า เพราะมีความหลากหลายและอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาว .




โดย: หมอหมู วันที่: 27 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:53:49 น.
  

//www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000092880

แพทย์เตือนวัยรุ่นฮิตฉีดฟิลเลอร์-โบท็อกซ์ ระวัง! เสียโฉม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 กรกฎาคม 2554 18:27 น.



อึ้ง!! เผยวัยรุ่นฮิตฉีดฟิลเลอร์-โบท็อกซ์ เพิ่ม พบอายุ 19-20 ปี ระบุข้อมูลจากสถาบันโรคผิวหนังเข้ารับบริการสูงถึง 100 คนต่อเดือน แพทย์เตือนมีความเสี่ยงเสียโฉม ติดเชื้อในกระแสเลือด

วันนี้ (27 ก.ค.) นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการประเมินและติดตามประสิทธิภาพเครื่องมือทางการแพทย์ และหัตถการโรคผิวหนัง สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว “การฉีดโบท็อกซ์ และสารเติมเต็มอย่างไรให้ปลอดภัย” ที่จัดขึ้น ณ สมาคมผิวหนังฯ กทม.ว่า ปัจจุบันกระแสความนิยมการใช้โบท็อกซ์เพื่อความงามอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้เข้ามารับบริการที่สถาบันโรคผิวหนัง จากปกติเฉลี่ยเดือนละ 10 คน กลับเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 100 คน ซึ่งจะมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้ง อายุเฉลี่ยของผู้ใช้บริการต่ำลงเรื่อยๆ อยู่ที่อายุ 19-20 ปี

ทั้งนี้ ยังมีการพบด้วยว่า มีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดอย่างไม่ถูกต้องเข้ารับการแก้ไขที่สถาบันฯ ซึ่งปัจจุบันแม้พบไม่มาก แต่ก็ถือเป็นเรื่องพึงระวัง เพราะส่วนใหญ่มาจากการใช้สารเติมเต็มที่เรียกว่า Filler ซึ่งขณะนี้นิยมไม่แพ้โบท็อกซ์ เพราะได้ผลในเรื่องการปรับโครงสร้างใบหน้า เช่น การเสริมจมูก คาง เติมร่องลึก รอยบุ๋มต่างๆ

“อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของผลข้างเคียงนั้น มีความจำเป็นต้องศึกษาอย่างมาก เพราะโบท็อกซ์ จัดเป็นสารสกัดจากแบคทีเรีย ที่เรียกว่า คลอสตริเดียมโบทูลินัม ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวที่พบในหน่อไม้บี๊ป มีพิษต่อร่างกาย ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบปลายประสาท ทำให้กล้ามเนื้อลีบ และหากใช้มาก หรือไม่ถูกต้องมีสิทธิเข้ากระแสเลือด เสียชีวิตได้

ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น เกิดจุดเลือดออกบนผิว ทำให้เกิดรอยจ้ำช้ำ อาการปวดหัว เนื่องจากตัวสารโบท็อกซ์ ไปยืดกระดูก ทำให้ความดันเพิ่ม

ในกรณีที่ฉีดคิ้วไม่ให้ตก หรือบริเวณรอบดวงตา หากฉีดไม่ถูกต้อง หรือใช้ปริมาณมากเกินไป หรือใช้สารไม่มีความบริสุทธิ์พอ อาจส่งผลต่อสายตาให้เห็นภาพซ้อน หรือหนังตาตก จนส่งผลต่อการมองเห็น สุดท้ายทำให้ใบหน้าผิดรูป โดยเฉพาะการฉีดบริเวณกล้ามเนื้อคอ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และลุกนั่งได้ลำบาก และการฉีดที่กล้ามเนื้อน่อง ต้องระวังในเรื่องอาการแทรกซ้อนเรื่องการปวดเมื่อยเกร็งมากขึ้น

นอกจากนี้ การฉีดสารดังกล่าวเข้ากล้ามเนื้อบ่อยๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบางลง โดยพบว่า คนไข้ที่ฉีดบริเวณกรามจะทำให้กล้ามเนื้อที่ยึดรอยต่อของกระดูกบาง จนเมื่อขยับปากก็จะมีอาการปวดทันที ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ฉีดอย่างมาก ดังนั้น การฉีดโบท็อกซ์จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม ต้องมีแพทย์ที่เข้าใจเรื่องระบบกล้ามเนื้อและมีประสบการณ์ คุณภาพของยาต้องดีจริงๆ” นพ.จินดา กล่าว

นพ.จินดา กกล่าวด้วยว่า ในส่วนของผลข้างเคียงของฟิลเลอร์ สิ่งที่น่าห่วงตรงที่แม้จะไม่ถึงแก่ชีวิต แต่มีผลข้างเคียงสูงกว่าโบท็อกซ์ เนื่องจากเป็นสารที่มีความหลากหลายของวัตถุที่นำมาใช้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่สลายได้ตามธรรมชาติ ผลิตจากคลอลาเจนจากหมู วัว อยู่ได้เพียง 4-6 เดือน

2.ซิลิโคน และพาราฟิน เป็นสารที่ไม่สลายเลย จึงทำให้มีผลข้างเคียงระยะยาว เพราะเกรงว่าอาจเกิดสารก่อมะเร็งในอนาคต ที่สำคัญเมื่อใช้เวลานานสารอาจไหลย้อยไปอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง บวมแดง ซึ่งรักษาต้องผ่าตัด เลาะเนื้อเยื่อยบริเวณใต้ผิวหนังเพียงอย่างเดียว ทำให้เจ็บปวดและมีแผลเป็น ที่สำคัญ ยังอาจเกิดอาการแพ้จนมีเม็ดแข็งๆ อยู่ใต้ผิวหนัง จับแล้วขรุขระ อีกทั้งยังเสี่ยงติดเชื้อเข้าอวัยวะอื่นๆ หรือเข้ากระแสเลือดได้เช่นกัน แต่น้อยกว่าโบท็อกซ์ นอกจากนี้ สารนี้ยังมีโอกาสอุดตันเส้นเลือด เมื่อเลือดไม่หล่อเลี้ยงก็จะทำให้เนื้อบริเวณดังกล่าวเน่า ตาย และ

กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มสลายตัวช้าๆ 1-2 ปี ซึ่งผลข้างเคียงคล้ายกลุ่มที่ 2


ด้าน รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนจะตัดสินใจในการดำเนินการนั้น ประชาชนต้องพิจารณาว่าวิธีที่ปลอดภัยคืออะไร เพราะขนาดแพทย์เชี่ยวชาญก็เกิดผิดพลาดได้ ทั้งนี้ ควรเลือกสถานที่ที่ทำ พร้อมทั้งแพทย์ที่มีประสบการณ์ หรือสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ //www.dht.or.th ซึ่งมีรายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ ตรวจสอบได้ทันที


โดย: หมอหมู วันที่: 29 กรกฎาคม 2554 เวลา:14:49:54 น.
  
บุกจับผู้ลักลอบขายยาฉีดเสริมความงามเถื่อนย่านนวมินทร์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 กันยายน 2554 16:40 น.


บุกจับผู้ลักลอบขายยาฉีดเสริมความงามผิดกฎหมายจำนวนมาก ย่านนวมินทร์ มูลค่า 3 แสนบาท ใช้ชื่ออีเมล 108 healthyplus เตือนแพทย์ ประชาชน ระวังอย่าสั่งซื้อ

วันนี้ (6 ก.ย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวการจับผู้ต้องหาขายยาฉีดโบท็อกซ์ กลูตาไธโอน ยาฉีดรกแกะ ผิดกฎหมาย ย่านนวมินทร์ มูลค่าของกลางกว่า 300,000 บาท

โดย นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า หลังมีผู้ร้องเรียนว่า พบผู้ใช้ชื่อว่า 108 healthyplus ส่งรายการยาฉีดเสริมความงามดังกล่าวพร้อมราคามาให้คลินิกสั่งซื้อ เผยผลล่อซื้อผ่านทางอีเมล 108healthyplus@gmail.com ตรวจพบการลักลอบขายยาฉีดเสริมความงามที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา พร้อมยาไซบูทรามีนที่ อย.ยกเลิกทะเบียนตำรับยาแล้ว พร้อมผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวนมาก มูลค่าของกลางกว่า 300,000 บาท โดยผู้ต้องหาชื่อ นายพรประทาน พาทีทิน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ซอฟต์แวร์ ซัปพอร์ต ณ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านนวมินทร์ หัวใสเปิดเว็บไซต์ และแจกใบปลิวซึ่งเป็น List รายการผลิตภัณฑ์ ให้แก่โรงพยาบาลและคลินิกทั่วประเทศ สำหรับการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ได้แก่ Botox Glutathione, L-Carnitine. Mesotherapy, Placenta กว่า 50 รายการ จากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สเปน สวิตเซอร์แลน เยอรมนี เป็นต้น รวมทั้ง Sibutramine ซึ่งเป็นยาที่ อย.ได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนตำรับยา และยาปลูกผม เป็นต้น กว่า 20 รายการ โดยตำรวจได้ล่อซื้อและจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลาง ได้แก่ โบท็อกซ์, กลูตาไธโอน, รก, ยาปลูกผม

นพ.พิพัฒน์ กล่าว สำหรับยาที่มีการเผยแพร่และจำหน่ายนั้น ได้แก่ Botox Neuronox (ประเทศเกาหลี) Botox Syneurox (ประเทศเยอรมนี) Botox Fine (ฮ่องกง) Tationil Bayer Glutathione 600 mg (ประเทศอิตาลี) Vitacicol Forte Whitening P-3000 Gold (ประเทศสหรัฐอเมริกา) Vitacicol Forte Whitening P-9000 Intensity (ประเทศสหรัฐอเมริกา) Placenta Extracts BioCell (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) Finasteride (1 mg) ปลูกผม

เลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อหาที่แจ้งดำเนินการเบื้องต้น ได้แก่ ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ, ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

“จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ขอให้แพทย์ประจำคลินิก หรือโรงพยาบาลต่างๆ สั่งซื้อยาจากบริษัทหรือแหล่งที่น่าเชื่อถือ และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเลขทะเบียนตำรับยาถูกต้องตามกฎหมาย อย่าได้ส่งเสริมผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่ง อย.จะเข้มงวดในการเฝ้าระวังมิให้มีการนำยาฉีด ยาลดความอ้วน หรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยาที่ถอนทะเบียนมาใช้ในการรักษาเป็นอันขาด ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

สำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอยู่ในขณะนี้ ทั้งการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริงผ่านทางเว็บไซต์ เคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือโฆษณาขายตามแผ่นพับ ใบปลิว ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายตามสถานที่ต่างๆ ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะหาก อย.และตำรวจ บก.ปคบ.ตรวจพบจะถูกดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ต้องได้รับโทษสถานหนัก

รวมทั้ง ขอเตือนประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อซื้อยาผ่านอินเทอร์เน็ตหรือจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือมาใช้ เพราะเป็นยาที่ลักลอบจำหน่ายลักษณะนี้ มักเป็นยาที่ผิดกฎหมาย และไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย.ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้” นพ.พิพัฒน์ กล่าว


โดย: หมอหมู วันที่: 25 กันยายน 2554 เวลา:14:09:37 น.
  
จับกุมเว็บไซต์มหาภัย โฆษณาฉีดโบท็อกซ์ และกลูตาไธโอน ผิดกฎหมาย หลอกหญิงสาวใช้บริการ

อย. เดินหน้า ร่วมมือกับตำรวจ บก.ปคบ. บุกจับผู้ลักลอบขาย ฉีดโบท็อกซ์และสารกลูตาไธโอน ย่านสายไหม หลังผู้บริโภคร้องเรียนให้ตรวจสอบเว็บไซต์ชื่อ ww.biopharmacare.com ที่มีการโฆษณาขายยาและบริการฉีดยาชนิดต่างๆ ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจาก อย. พร้อมให้หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อสอบถามและนัดหมายเวลาฉีดยา เผย ตรวจพบลักลอบฉีดโบท็อกซ์ โดยผู้ฉีดไม่ได้เป็นแพทย์ และสถานที่ฉีดเป็นบ้านพักอาศัย พร้อมผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวนมากมูลค่าของกลางกว่า 400,000 บาท ผิดกฎหมายหลายข้อหา เตือนสาวๆ อย่าหลงเชื่อการฉีดโบท็อกซ์หรือกลูตาไธโอน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย


นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ พล.ต.ต.พูลทรัพย์
ประเสริฐศักดิ์ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.
ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบเว็บไซต์ชื่อ //www.biopharmacare.com เนื่องจากมีการโฆษณาฉีดโบท็อกซ์ ฉีดหน้าเรียว ฉีดโบท็อกซ์ลดกราม โดยเจ้าของเว็บไซต์แจ้งว่าเป็นดีเทลยาพร้อมให้หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อนัดหมายฉีดโบท็อกซ์หรือสอบถามข้อมูลจึงให้ อย. ตรวจสอบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ซึ่งหลังจาก อย. ได้รับข้อมูล จึงรุดประสานไปยังตำรวจ บก.ปคบ.เพื่อสืบสวนสอบสวนและทำการล่อซื้อยาจากเว็บไซต์ดังกล่าวทันที

ทั้งนี้ จากการเข้าไปตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าว พบว่า มีการโฆษณาฉีดโบท็อกซ์ และฉีดกลูตาไธโอนจริง ตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนโดยมีข้อความโฆษณาว่า บริการฉีดผิวขาวหรือฉีดกลูตาไธโอนกับหมอที่คลินิกหรือโรงพยาบาลกว่า10 แห่งที่กรุงเทพ และยังมีที่ต่างจังหวัดด้วย ติดต่อสอบถามรายละเอียด โทร 087 6779552 รวมทั้งโฆษณาฉีดโบท็อกซ์ ฉีดจมูกเติมเต็มด้วยสาร fillerที่ปลอดภัยได้ อย. โดยแพทย์ชำนาญการ ปลอดภัย ไม่ใช่ซิลิโคนเหลว ฉีดเสริมหน้าผาก ฉีดเติมร่องแก้ม ฉีดลดตีนกา บริการยกกระชับหน้าด้วยไหม
ทองคำ พร้อมจำหน่ายยาช่วยทำให้ผิวขาว เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์มีการจำหน่ายในราคาสูงเป็นหลักหมื่นขึ้นไป

ดังนั้น ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย.ดำเนินการล่อซื้อยาฉีดโบท็อกซ์ ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ โดยทางตำรวจ บก.ปคบ.ได้ส่งสายสืบปลอมตัวเพื่อเข้ารับบริการฉีดโบท็อกซ์ ซึ่งสถานที่นัดหมายรับบริการ คือ บ้านเลขที่ 228ถ.สายไหม ซ.สายไหม 10 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม น.ส.บุษวรรณ สุวรรณวัฒน์ (ฝ้าย ชื่อที่ปรากฏบนเว็บไซต์) ขณะกำลังฉีดโบท็อกซ์ด้วยตนเองให้กับผู้ล่อซื้อในบ้านพักดังกล่าว โดยน.ส.บุษวรรณ ไม่ได้เป็นแพทย์ และบ้านพักไม่ได้เป็นสถานพยาบาลถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด พร้อมทั้งจับยาและอุปกรณ์ที่ใช้ในขณะฉีดให้ลูกค้า 4 รายการ ได้แก่ Botulinum Toxin Type A Reg.No1C87/40(N) , หลอดฉีดยา , Liprikaine (Lidocaine 25 mg,Prilocaine 25 mg) Reg.No2A2/53 และแอลกอฮอล์ 70%

นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบบ้านพักดังกล่าว และขยายผลต่อตรวจสอบรถยนต์ของ น.ส.บุษวรรณ (ผู้ต้องหา) พบผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดต่างๆ จำนวนมาก ดังนี้

1. Vitamin C (Ascorbic Acid USP 500 mg) Reg.No 1A1557/30
2. L-Carnitine Lipolytic Solution กล่องสีเทาดำ
3. Biome G-Alpha (Bione L-Glutathione 900 mg)
4. Vitacicol Forte P-3000 Anti-Oxidant Whitening injection I.M.I.V. (Glutatione)
5. No 24 Pure Crystalze Skin Whitening
6. Biocell Whitening Collagen Forte C (Collagen 0.5 g/Vit C 1.5 g)
7. Botulinum Toxin Type A Reg.No.1C87/40 (N)
8. SALUTA Reduced Glutathione for injection (Each vial contains Glutathione
600 mg)
9. Locana Reg.No 1A132/28 (Lidocaine Hydrochloride 2 g)
10. Essentialle’(Glutatione 1000 mg, Hesperidin 250 mg) กล่องสีน้ำเงินเทา
11 GC 3000 SR Whitening (Glutathione 3000 mg)
12. Lumistor (Ascorbic Acid vit C) made in japan
13. Swhitening (Glutathione 600 mg, Vitamin C 1000 mg)
14. Collagen Forte + Vit.C (Collagen Forte 0.5gm + Vit C 1.5 gm/5ml)
15. Bio swiss Hyo CC (Hyaluronic acid 20 mg, Vitamin C 500 mg, Collagen
350 mg)
16. Laroscorbine Platinium (Vitamin C 1 gm, Collagen 0.35 gm)
17. Mising white Antioxidants for Glowing skin (L-Glutatione 1500 mg,
L-Ascorbic Acid 500
Mg, Niacin 300 mg, N-acetylcysteine 300 mg, Alpha-Lipoic Acid 200)
18. Placenta Extracts Biocell Laboratoire de GmbH
19. Organic Silica (Drainage&Regenerating Solution)
20. ยา Dicloxa Rx500 (Dicloxacillin 500 mg) Reg.No.1A420/48
21. ยาแคปซูล รูปยาวรี และยาแคปซูลสีเหลือง รูปรี
22. เข็มฉีดยา 18 Gx1” (1.2x25 mm) , 20 Gx1 1/2” (0.9x40 mm) และ22 Gx1”(0.7x25 mm)
23. หลอดฉีดยา

เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมมูลค่าของกลางกว่า 400,000 บาท ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้แจ้งดำเนินคดีหลายข้อหา ได้แก่

1. ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน10,000 บาท

2. ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

4. ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ ที่โฆษณาการฉีดโบท็อกซ์ โดยเฉพาะการฉีดสารกลูตาไธโอน ที่อวดอ้างสรรพคุณทำให้ผิวขาวใส เพราะเป็นการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เนื่องจากเป็นการนำสารกลูตาไธโอนมาใช้ในทางที่ผิด เพราะสารกลูตาไธโอนไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการช่วยทำให้ผิวขาวใสขึ้นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่อาจนำมาใช้ในทางการแพทย์ตามที่ระบุในเอกสารวิชาการคือ การรักษาพิษจากยาพาราเซตามอล
โดยใช้เบื้องต้นสำหรับรักษาโรคมะเร็งบางชนิด และขณะนี้ อย. ไม่ได้มีการรับขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ใช้สารนี้แต่อย่างใด

นอกจากนี้ หากผู้ฉีดยาเป็นหมอเถื่อนที่ไม่ได้จบแพทย์ และไม่มีความรู้ด้านการรักษาหรือการฉีดยา ผู้บริโภคอาจได้รับอันตราย และเสียเงินทองจำนวนมาก พร้อมกันนี้ ขอเตือนมายังเจ้าของเว็บไซต์ทุกราย หรือแหล่งใดๆ ที่โฆษณาฉีดโบท็อกซ์ ฉีดกลูตาไธโอน หรือฉีดสารใดๆ ก็ตามเข้าไปในร่างกายเพื่อทำให้ผิวขาวใส พร้อมการขายยา หรืออาหารเสริม อวดสรรพคุณทำให้ผิวขาว อย่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ หากเป็นเว็บไซต์ จะประสานไปยังกระทรวงไอซีทีดำเนินการตรวจสอบและสั่งปิดเว็บไซต์ พร้อมดำเนินคดีต่อเจ้าของเว็บไซต์อย่างเคร่งครัด มีโทษทั้งจำและปรับ

หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรือโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงผ่านทางสื่อต่างๆ สามารถร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบการกระทำความผิด

กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค วันที่ 13 กรกฎาคม 2554 แถลงข่าว 24 / ปีงบประมาณ 2554


โดย: หมอหมู วันที่: 25 กันยายน 2554 เวลา:14:43:19 น.
  


//www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000117920

เตือนสาวอยากสวย! ฉีดฟิลเลอร์อันตรายถึงชีวิต-เสริมดั้งโด่งเสี่ยงตาบอดจมูกเน่า
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

25 กันยายน 2555 16:23 น.

เตือนสาวอยากสวยนิยมฉีด “ฟิลเลอร์” โดยเฉพาะการเสริมจมูก เสี่ยง “ตาบอด-จมูกเน่า” ย้ำ “โพลีอะคริลาไมด์” เป็นสารไม่สลายตัว อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาฉีดเสริมสะโพก-หน้าอกแล้วอยู่ได้หลายปี ชี้ หากรั่วไหลเข้าเส้นเลือด มีสิทธิ์เป็นเจ้าหญิงนิทรา เหมือนเคสพริตตี้ ด้านนายก ส.แพทย์ผิวหนัง แนะต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนฉีด

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวระหว่างการแถลงข่าว “อันตรายจากการฉีดสารเติมเต็ม หรือ ฟิลเลอร์” ว่า คนนิยมฉีดสารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ที่ผิวหนังทดแทนคอลลาเจนที่สลายไปตามวัย เพื่อช่วยคืนความแข็งแรงและลดริ้วรอย ซึ่งประเภทของสารเติมแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1.แบบชั่วคราว (Temporary Filler) จะมีอายุการใช้งาน 4-6 เดือน จากนั้นจะสลายตัวไปตามธรรมชาติ จึงมีความปลอดภัยสูง อาทิ สารไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic Acid)

2.แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี มีระดับความปลอดภัยปานกลาง


3.แบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคน หรือ พาราฟิน ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปแล้วสารจะอยู่ในผิวหนังตลอดและมักมีผลข้างเคียง

นพ.จินดา กล่าวอีกว่า การฉีดฟิลเลอร์ถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เพื่อใช้รักษาผิวพรรณให้ริ้วร้อยต่างๆ ตื้น และสภาพผิวดีขึ้น โดยจะนิยมฉีดบริเวณใบหน้า จมูก แก้ม โหนกแก้ม ริมฝีปาก สะโพก คาง หรือใบหน้าให้ดูอวบอิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงและอาการแทรกซ้อนจากการฉีด ได้แก่
1.เกิดผื่นแดงบริเวณทีฉีด
2.เกิดรอยนูนมากเกิดผิว
3.เกิดการเคลื่อนย้ายของสารที่ฉีดทำให้เกิดการผิดรูป
4.เกิดการแพ้ซึ่งอาจเกิดได้ตั้งแต่ภายหลังฉีดเสร็จแล้วถึงขั้นเป็นเดือนหรือ เป็นปี
5.เกิดการอุดตัน โดยการฉีดผิดตำแหน่ง เช่น การฉีดเข้าไปในเส้นเลือดแดงทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือด หรือบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอด


นพ.จินดา กล่าวด้วยว่า สารเติมเต็มที่ได้รับการยอมรับ คือ สารไฮยาลูโรนิค แอซิด ซึ่งระหว่างการฉีดต้องมีการสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการเจ็บบริเวณอื่นนอกจากจุดที่ฉีดควรบอกแพทย์ให้หยุดการฉีด ซึ่งแพทย์จะทำการแก้ไขด้วยการฉีดสารละลายแก้ไขที่เรียกว่า ไฮยาลูโรนิเดส เข้าไป เพื่อสลายสารไฮยารูโลนิค แอซิด แต่สารตัวดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากสกัดมาจากหลายชนิด อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ จึงควรต้องมีการทดสอบก่อน



ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยนิยมใช้สารฟิลเลอร์มากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยมักนำมาใช้กับการศัลยกรรมเสริมจมูก ประกอบกับดารานักแสดงส่วนใหญ่นิยมทำ เนื่องจากทำง่ายเหมือนฉีดยา ไม่บอบช้ำเหมือนการผ่าตัด ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็สามารถกลับทำงานได้ ทำให้การฉีดสารฟิลเลอร์ที่จมูกเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว แต่ปัญหาที่พบ คือ หากไม่ได้รับการฉีดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีความระมัดระวัง อาจเกิดความผิดพลาดเข้าไปในเส้นเลือด แม้เพียงปริมาณเล็กน้อย 0.4-0.5 ซีซี ก็สามารถทำให้ตาบอดได้ เนื่องจากบริเวณจมูกมีแขนงหลอดเลือดจำนวนมาก และเชื่อมกับเส้นประสาทตา หากไม่ระวังย่อมส่งผลให้ตาบอดตั้งแต่บอดชั่วคราวกระทั่งถาวร

“ขอให้หลีกเลี่ยงการเสริมจมูกด้วยวิธีนี้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าหากต้องเสี่ยงตาบอดถาวรแลกกับการทำให้จมูกโด่งเพียงชั่ว คราว แม้แต่ฟิลเลอร์ที่ อย.รับรองก็อาจเกิดตาบอดได้เช่นกัน เพราะอาการตาบอดไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสารที่ฉีด แต่เกิดจากกระบวนการฉีดที่มีการรั่วไหลของฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันหลอดเลือดที่ ไปเลี้ยงประสาทตาทำให้ตาบอด ส่วนจำนวนผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด ส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่า ซึ่งคาดว่าในไทยคงมีประมาณ 5-10 ราย” ผศ.นพ.ถนอม กล่าว

ผศ.นพ.ถนอม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผลข้างเคียงของการฉีดฟิลเลอร์ที่พบมาก คือ จมูกเน่า เพราะไปอุดตัน ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบราว 10-20 ราย ซึ่งกรณีการเกิดผิดพลาดจะต้องรีบแก้ไขภายใน 90 นาที ไม่เช่นนั้นจะตาบอดทันที ดังนั้น การฉีดสารเหล่านี้ควรอยู่ในสถานที่ได้รับการรับรอง และมีเครื่องมือช่วยเหลืออย่างพร้อมเพรียง และก่อนที่จะทำต้องพิจารณาและศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน

ผศ.นพ.ถนอม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพบการฉีดฟิลเลอร์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า สารโพลีอะคริลาไมด์ (polyacrylamide) มีชื่อการค้าอื่นหลายชื่อ ซึ่งสารนี้จะไม่สลายตัว แต่มักถูกโฆษณาหลอกลวงว่าสลายตัวช้าอยู่ได้หลายปี ประชาชนส่วนใหญ่จึงหลงเชื่อนิยมไปฉีดสะโพก หรือฉีดเสริมหน้าอก โดยสามารถฉีดเป็นจำนวนมาก เป็นพันซีซี หรือเป็นกิโลกรัม ในราคาที่ไม่แพง ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย เช่น หากสารรั่วไหลเข้าเส้นเลือดไปอุดปอด หรือสมองก็อาจโคม่าหรือเสียชีวิต ยกตัวอย่าง กรณีพริตตี้ที่ไปฉีดเสริมสะโพกจนหมดสติไปนั้น สันนิษฐานว่า สารน่าจะเข้าไปในหลอดเลือดดำ และย้อนกลับไปยังปอด ทำให้คนไข้ขาดออกซิเจน และหยุดหายใจ ซึ่งสารตัวนี้คงไปอุดกั้นระบบหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจนนั่นเอง ซึ่งในกรณีพริตตี้ไปฉีดที่คอนโดมิเนียม ก็เป็นสถานที่ที่ไม่ได้รับการรับรอง ไม่มีเครื่องมือช่วยชีวิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

“อยากเตือนว่า การจะทำอะไรต้องระวัง และควรเลือกสถานที่ที่ได้รับการรับรอง และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ อย่างไรก็ตาม เดิมทีสารตัวนี้ อย.เคยรับรอง แต่หลังจากพบว่า มีเคสเป็นมะเร็งเต้านมจึงถอดทะเบียนออกทันที สำหรับผู้ที่สนใจจะฉีดสารประเภทนี้ ต้องศึกษาให้ดี และหากรู้สึกว่าเจ็บบริเวณใบหน้า นอกเหนือจากจุดที่ฉีดแล้ว ให้ถือว่ามีอาการผิดปกติต้องรีบบอกแพทย์ก่อนจะทำการฉีดต่อ” ผศ.นพ.ถนอม กล่าว

พล.ต.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากสมาชิกแพทย์ผิวหนัง ว่า มีผู้ที่ไปรับบริการฉีดสารเติมเต็มแล้วเกิดอาการแทรกซ้อนมาขอรับการรักษาเพิ ่มขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งอาการแทรกซ้อนไม่ร้ายแรง เช่น เขียวช้ำ เป็นจ้ำเลือด บวม หน้าไม่เท่ากัน แพ้เป็นผื่นแดง เป็นก้อน จนถึงรุนแรงขั้น ผิวหนังตาย ตามองไม่เห็น หรือถึงขั้นเสียชีวิต

จึงอยากจะขอเตือนผู้ที่อยากมาฉีดสารเติมเต็ม โดยเฉพาะการฉีดเสริมดั้งจมูก หรือในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ขอให้พิจารณา 3 อย่าง คือ

1.ผู้ฉีด ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

2.สารที่ใช้ต้องได้รับการรับรองจาก อย.และมีข้อบ่งชี้ว่าสลายได้หรือไม่ และในระยะยาวจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย

3.สถานที่ฉีด ต้องมีเครื่องมือช่วยชีวิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน



“การฉีดฟิลเลอร์ ถือเป็นหัตถการทั่วไปที่ผู้จบแพทย์ทั้งหมดสามารถทำได้ แต่แพทย์ผิวหนังจะมีการเรียนเฉพาะทางเพื่อศึกษาโครงสร้างทุกอย่างอีก 4 ปี สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ปัจจุบันมีการโฆษณา ว่า รักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ผ่านการฝึกไม่กี่วันเท่านั้น การที่ประชาชนจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม จึงต้องทราบถึงความเสี่ยง และเลือกแพทย์ที่เชี่ยวชาญสามารถดูแลหากเกิดกรณีฉุกเฉินได้ด้วย หากต้องการความมั่นใจ สามารถเข้าไปดูรายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันแพทย์ผิวหนั งได้ ส่วนแพทย์สาขาอื่นสามารถฉีดสารเติมเต็มได้เช่นกัน แต่แพทย์ผิวหนังจะช่วยสร้างความมั่นใจได้มากกว่า” นายก ส.แพทย์ผิวหนังฯ กล่าว
โดย: หมอหมู วันที่: 25 ตุลาคม 2555 เวลา:22:42:16 น.
  
//www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=150416:2012-10-25-11-02-56&catid=176:2009-06-25-09-26-02&Itemid=524


ระวังภัย…ฟิลเลอร์ ตรวจสอบก่อนฉีด

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2012 เวลา 19:02 น.
กอง บก.ออนไลน์ ข่าวรายวัน - คอลัมน์ : ข่าวในประเทศ



ระวังภัย…ฟิลเลอร์ ตรวจสอบก่อนฉีด

หลังจากที่ตกเป็นข่าวดังทอร์คออฟเดอะทาวน์ สั่นสะเทือนวงการความงามของไทยกับประเด็นสาวพริตตี้ฉีดฟิลเลอร์ที่สะโพกจนเสียชีวิต ทำให้สังคมเกิดคำถามในสารที่เรียกว่าฟิลเลอร์ว่า เป็นสารชนิดใดและมีความปลอดภัยเพียงไร รวมทั้งมีปัจจัยที่ต้องระวังก่อนที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจฉีดสารชนิดนี้


ฟิลเลอร์คืออะไร…ปลอดภัยจริงหรือ­

นพ.ทรงยศ จันทจิตร์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง แห่งยศยาคลินิก กล่าวว่า ฟิลเลอร์ คือสารที่นำมาฉีดเติมเต็มใต้ผิวหนัง ปัจจุบันมีสารหลายชนิดที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และถูกนำมาใช้มากที่สุดคือ สารไฮยาลูรอนิก แอสิด (Hyaluronic Acid) และการฉีดไขมันตนเอง (Fat Transfer) ซึ่งสารไฮยาลูรอนิก เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลายทั่วโลกมากกว่าสารอื่นๆ เพราะผ่านมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยจากคณะกรรมการอาหารและยาในการใช้ โดยการสังเคราะห์ไฮยาลูรอนิกนี้จะมีลักษณะโมเลกุลคล้ายกับสารไฮยาลูรอนิกในร่างกายมนุษย์ และเนื่องจากไม่ใช่เป็นคอลลาเจนที่ผลิตมาจากสัตว์ โอกาสที่จะเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองมีน้อย โดยคุณสมบัติของสารไฮยาลูรอนิกมีอายุประมาณ 8-12 เดือน แล้วจะค่อยๆสลายไปตามธรรมชาติ โดยไม่มีร่องรอยใดๆทิ้งไว้ ซึ่งนับเป็นข้อดีของฟิลเลอร์เพราะหากมีข้อผิดพลาดหรือผู้ที่ฉีดไม่พอใจเมื่อเวลาผ่านไปฟิลเลอร์ที่ฉีดไว้ก็จะค่อยๆยุบตัวและหมดไปเอง



ฟิลเลอร์ปลอม…ตัวการความเสี่ยง

ปัจจุบันสาร Hyaluronic Acid หรือบางคนเรียกย่อๆว่า HA ถือว่าเป็นมาตรฐานในการฉีดฟิลเลอร์ มีความปลอดภัยสูงกว่าเมื่อเทียบกับสารตัวอื่นๆ จะมีราคาสูงกว่าพอสมควร เพราะเหตุที่มีราคาค่อนข้างแพงนี้เองจึงทำให้คลินิกเถื่อนหรือหมอกระเป๋าซึ่งแข่งขันในด้านราคา จึงพยายามนำสารอย่างอื่นมาใช้แทน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก สำหรับสารที่ต้องระวัง ได้แก่

1.สารไม่ปลอดเชื้อที่ห้ามใช้ทางการแพทย์ เช่น ซิลิโคนเหลว พาราฟิน หรือน้ำมันอื่น

2. สารที่ถูกผลิตมาใช้ฉีดอย่างปลอดเชื้อ มีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับ Hyaluronic Acid เพราะเป็นเนื้อเจลใส หากดูด้วยตาไม่สามารถแยกจากสารHyaluronic Acid ได้เลย จึงต้องระมัดระวังมาก เช่น คอลลาเจนที่สังเคราะห์จากสัตว์ ,polyacrylamide , polyamide หลายประเทศมีการนำมาฉีดอย่างแพร่หลายรวมทั้งตามคลินิกในเมืองไทย เพราะมีราคาถูกกว่าสาร HA หลายเท่าตัว และยังคงทนอยู่นานถาวร มีปัญหาแล้วสลายไม่ได้ สารเหล่านี้ไม่ผ่าน อย. เพราะความปลอดภัยไม่เพียงพอ มีโอกาสเกิดปฏิกิริยากับผิวหนังได้สูง

สารทั้งสองประเภทนี้เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายซึ่งเป็นสารแปลกปลอมที่ร่างกายไม่ยอมรับ จะทำให้เกิดอาการบวมแดง อักเสบ เนื้อตายอย่างถาวร เกิดปัญหาไหลย้อย บิดเบี้ยว เกิดผลข้างเคียงในระยะยาว สารที่ว่านี้ยังไหลไปบริเวณข้างเคียงทำให้ผิดรูปร่าง เกิดเป็นก้อนขรุขระหรืออาจไหลเลื่อนไปส่วนอื่นได้ สารอันตรายนี้จะอยู่ในร่างกายได้นานโดยไม่มีการสลายตัว ไม่สามารถฉีดสลายได้เลยจึงทำให้แก้ไขได้ยากมาก



ตรวจสอบก่อนฉีด

หัวใจสำคัญที่ผู้บริโภคต้องคำนึงก่อนการฉีดฟิลเลอร์ ควรมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบมี 3 ประการคือ

1. สารที่ฉีด ต้องแน่ใจว่าเป็นฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ใช่สารอื่นที่หลอกว่าเป็นฟิลเลอร์ หรือเป็นฟิลเลอร์ราคาถูกที่มีขายตามเวปไซด์หรือนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เพราะเสี่ยงที่จะเป็นฟิลเลอร์ปลอม หมดอายุ ไม่ได้คุณภาพ และดูภายนอกอาจจะไม่แตกต่าง ต้องอาศัยความเขี่ยวขาญและความน่าเชื่อถืออื่นๆมาประกอบกัน

2. คนฉีด เพราะการฉีดฟิลเลอร์จำเป็นอย่างมากที่แพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ทางกายวิภาคอย่างเชี่ยวชาญ มีเทคนิคการฉีดต้องถูกต้องเหมาะสม มีการประเมินรูปร่างว่าบริเวณใดต้องฉีดมากน้อยเพียงใด และฉีดสารในชั้นผิวหนังที่ถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะเมื่อฉีดสารเข้าไปย่อมมีโอกาสเสี่ยงในการที่จะไปโดนเส้นเลือดหรือบริเวณอื่นที่ไม่ต้องการ นำมาซึ่งอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้

3. สถานที่ฉีด ต้องฉีดในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย มีเครื่องมือช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน


ฉีดฟิลเลอร์ส่วนไหนได้บ้าง

ฟิลเลอร์เป็นสารเติมเต็มที่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังมีคุณสมบัติเด่น 2 ประการคือ การเติมร่องริ้วรอยให้ตื้นขึ้น และ การเพิ่มปริมาตรเนื้อเยื่อในส่วนต่างๆของร่างกาย โดยการเติมร่องริ้วรอยทั้งร่องแก้ม ใต้ริมฝีปาก หัวคิ้ว และใต้ตาล่าง ส่วนการฉีดเพื่อเพิ่มปริมาตรของเนื้อเยื่อจะช่วยในการปรับรูปร่างใบหน้าให้สวยเข้ารูปได้สัดส่วนมากยิ่งขึ้นได้แก่ การฉีดเสริมจมูก คาง แก้ม ขมับ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในส่วนที่เป็นบริเวณกว้าง เช่น สะโพกซึ่งมีพื้นที่มากไม่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ ด้วยข้อจำกัดด้านราคาของฟิลเลอร์ทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากหากฉีดในบริเวณกว้าง และโอกาสที่จะควบคุมให้ฟิลเลอร์คงรูปร่างตามที่ต้องการเป็นไปได้ยากเพราะพื้นที่เยอะ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหลอกนำสารที่ไม่ใช่ฟิลเลอร์จริงมาฉีดให้


เสริมสะโพกด้วยวิธีอื่นได้ผลดีกว่า
ผู้ที่อยากจะเสริมสะโพกแบบปลอดภัยมีทางเลือกอื่น

1.เสริมสะโพกโดยใช้แผ่นและถุงซิลิโคน ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน แต่ต้องทำโดยศัลยแพทย์ตกแต่งผู้มีความชำนาญ ใช้ระยะเวลาพักฟื้นนาน และมีแผลจากการผ่าตัด

2.เสริมสะโพกโดยใช้ไขมันตัวเอง (Fat Transfer) โดยดูดไขมันส่วนเกินจากหน้าท้องและต้นขา มาผสมกับเซลล์ต้นกำเนิด(เสต็มเซลล์) โดยผ่านกรรมวิธีด้านเทคนิคในห้องปฏิบัติการ แล้วฉีดกลับเข้าไปเสริมสะโพก อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมากและต้องทำภายใต้การควบคุมในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ปลอดเชื้อ ที่สำคัญต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ข้อดีคือไม่มีแผล และไขมันของตนเองไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้ไม่เป็นอันตราย ความเสี่ยงจึงมีน้อยกว่า อย่างไรก็ตามไขมันที่ฉีดเข้าไปมีโอกาสฝ่อตัวลง 20-30% จึงอาจต้องกลับมาเติมใหม่เมื่อเวลาผ่านไป 3-6 เดือน หรือมีโอกาสเกิดก้อนแข็งของไขมันที่ตายหลังทำได้

การฉีดหรือการนำพาสารแปลกปลอมอื่นเข้าไปในร่างกาย เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรให้ความตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงของการทำ ควบคู่ไปกับความสวยที่ต้องการ เมื่อตัดสินใจทำแล้วต้องคำนึงเสมอว่าต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สารหรือวัตถุที่นำเข้าไปในร่างกายต้องผ่านการรับรองความปลอดภัย โดยทำในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต อย่าลืมพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เป็นความสวยที่อยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงให้น้อยที่สุดนั่นเอง


ที่มา : ยศยาคลินิก
โดย นพ.ทรงยศ จันทจิตต์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง

โดย: หมอหมู วันที่: 25 ตุลาคม 2555 เวลา:22:48:00 น.
  

“หมอพลอย” ฉีดฟิลเลอร์ให้พริตตี้สาวจนคางเบี้ยวมอบตัวแล้ว

//www.dailynews.co.th/crime/178428

วันนี้ ( 15 ม.ค.) จากกรณีที่น.ส.จรูญรัตน์ หรือแป้ง ยากอง อายุ 31 ปี พนักงานบัญชี บริษัทสมาย ออโต้คาร์ ย่านพัฒนาการ และรับงานเป็นพริตตี้ทั่วไป เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.สุทธิสาร และสำนักงานคณะกรรมการและคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่อ้างชื่อว่าเป็น “หมอพลอย” ฉีดฟิลเลอร์ใส่ใบหน้าทำให้คางอักเสบบวมแดงหน้าเกือบเสียโฉม

โดยน.ส.จรูญรัตน์ ต้องการเสริมใบหน้าด้วยการฉีดสารดังกล่าว จึงโพสต์ข้อความถามเข้าไปในเว็บไซต์หนึ่ง กระทั่งมีผู้โพสต์ข้อความตอบพร้อมให้ข้อมูลและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เมื่อโทรศัพท์ไปก็ปรากฏว่าผู้ที่รับสายเป็นประชาสัมพันธ์อ้างว่า ผู้ฉีดสารเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชื่อ “หมอพลอย” จบจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานอยู่ที่รพ.ยันฮี เปิดคลินิกอยู่ที่ย่านราชเทวี ก่อนจะมีการนัดฉีดสารฟิลเลอร์ที่ห้อง 405 ชั้น 4 โรงแรมคาลิปโซ 2 ซอยรัชดาภิเษก 20 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เสียค่าบริการทั้งหมด 5,500 บาท โดยหลังจากที่ฉีดสารแล้ว น.ส.จรูญรัตน์ มีอาการอักเสบ ปวดใบหน้า เป็นไข้ ตัวสั่นเหมือนจะช็อก คางบวมแดง เกิดเนื้อแข็งที่แก้ม แพทย์รพ.สินแพทย์ ระบุว่า เนื้อเยื่ออักเสบจากใช้ยาปลอม แผลเน่าภายใน ส่วนยาที่ฉีดให้น่าจะเป็นซิลิโคนปั่นเหลว ตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น


ความคืบหน้ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผกก.ดส. พ.ต.อ.ล้ำพันธุ์ พรรธนประเทศ ผกก.4 บก.ปคบ. พ.ต.ท.แมน เม่นแย้ม รองผกก.ดส. พ.ต.ท.สาโรจน์ จอกโคกสูง สว.กก.ดส.บช.น. แถลงข่าวการมอบตัวของน.ส.สุพิชญนันทร์ หรือหมอพลอย อู่เพ็ชร อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16/2 ถนนราษฎร์อุทิศ ต.วัดสิงห์ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ผู้ต้องหาที่ฉีดสารฟิลเลอร์บนใบหน้าให้กับสาวพริตตี้จนหน้าอักเสบ พร้อมของกลางผลิตภัณฑ์ยาเสริมความงามต่างๆ อาทิ สารฟิลเลอร์บรรจุขวด วิตามินซี เข็มฉีดยา ถุงมือยาง โดยมี น.ส.จรูญรัตน์ เดินทางมาชี้ตัวผู้ต้องหา ขณะที่บริเวณคางของผู้เสียหายยังมีอาการบวมอยู่ โดยพล.ต.ท.คำรณวิทย์ เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวทางสื่อมวลชน เกี่ยวกับการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม จนทำให้ได้รับอันตราย ซึ่งผู้เสียหายและกระทรวงสาธารณสุขก็ประสานมาที่บช.น. เพื่อให้เร่งรัดสืบสวนจับกุม จนกระทั่งผู้ต้องหาเข้ามอบตัว


ด้านพ.ต.อ.นภันต์วุฒิ กล่าวว่า หลังจากที่ผู้เสียหายไปฉีดสารฟิลเลอร์แล้วได้รับผลกระทบ ก็เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับ น.ส.สุพิชญนันทร์ หรือหมอพลอย เกี่ยวกับการประกอบโรคศิลป์ การตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากมีการโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ ทางสน.สุทธิสาร จึงทำการสืบสวนสอบสวนและประสานไปมาที่กก.ดส. ให้ติดตามตัว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ได้ขออนุมัติหมายจับไว้ แล้วติดตามไปจับกุมที่บ้านพัก ใน จ.ชัยนาท แต่ผู้ต้องหาไม่อยู่บ้าน จากการตรวจค้นรถเก๋งฮอนด้า ซีวิค สีขาว ทะเบียน ฎข 233 กรุงเทพมหานคร พบพร้อมของกลางผลิตภัณฑ์ยาเสริมความงามต่างๆ อยู่ในรถ ต่อมาช่วงกลางดึกก็ได้รับการประสานจาก น.ส.สุพิชญนันทร์ ว่าจะขอเข้ามอบตัว โดยข้อหาเกี่ยวกับการประกอบโรคศิลป์ การตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต น.ส.สุพิชญนันทร์ ยอมรับสารภาพและรู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ข้อหาฉ้อโกง และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายฯยังให้การปฏิเสธ ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะนำตัวน.ส.สุพิชญนันทร์ ส่งสน.สุทธิสาร ดำเนินคดีต่อไป

ขณะที่น.ส.สุพิชญนันทร์ กล่าวว่า ตนเคยเป็นผู้ช่วยแพทย์อยู่ในคลินิกในจ.ชลบุรี ประมาณปีกว่าจึงมีพอมีความรู้ด้านนี้อยู่บ้างเริ่มต้นมาจากเพื่อนๆอยากให้ฉีดสารให้ เคยฉีดมาแล้วประมาณ 10 รายก็ไม่มีปัญหาอะไร ข่าวที่ลงไปไม่ใช่ความจริงจากปากตน อยากแก้ข่าวด้วยว่า ตนไม่เคยแอบอ้างว่าจบมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล หรือทำงานอยู่ที่รพ.ยันฮี ตนเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่บังเอิญได้ไปรู้จักกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสริมความงาม จึงเรียนรู้และนำมาทำให้กับเพื่อนสนิทและบุคคลใกล้ชิด ส่วนตัวเองเคยทำเพียงแค่ฉีดวิตตามินให้หน้าขาว ทั้งนี้ข้อความดังกล่าวอยู่ในหน้าเฟสบุ๊คที่ไม่ใช่ของตน และไม่เคยเปิดเว็บไซต์โฆษณาเกี่ยวกับการเสริมความงาม น่าจะมีคนเอาไปแอบอ้าง แต่ตนยินดีชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น
โดย: หมอหมู วันที่: 16 มกราคม 2556 เวลา:15:00:09 น.
  
ตาบอด เนื้อตาย ภัยร้ายจากฟิลเลอร์
//www.dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=1174#.V8Ur8jW51q1

รศ. พญ. รังสิมา วณิชภักดีเดชา
ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การใช้ สารเติมเต็ม หรือ ฟิลเลอร์ สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการ คือ ผิวหนังซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญคือใยคอลลาเจน มีหน้าที่สำคัญโดยเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีรูปทรงเต่งตึง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชรา พบว่าใยคอลลาเจนจะค่อย ๆ มีจำนวนลดน้อยลง มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผิวหนังจะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยริ้วรอยเหี่ยวย่น เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าวจึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทนใยคอลลาเจนที่สลายไปหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ฟิลเลอร์”

ชนิด
ฟิลเลอร์ แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่
1. แบบชั่วคราว (temporary filler) มีอายุใช้งานประมาณ 4 - 6 เดือน แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ เช่น กรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid, HA)
2. แบบกึ่งถาวร (semi permanent filler) มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี มีความปลอดภัยปานกลาง และ
3. แบบถาวร (permanent filler) เช่น ซิลิโคน หรือ พาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป ไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว

ฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิว เพื่อเพิ่มปริมาตรของใบหน้า ทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ หรือเพื่อลดริ้วรอยบนใบหน้าชนิดที่เป็นร่องลึกนิยมใช้ที่สุดในปัจจุบันคือ กรดไฮยาลูโรนิก เนื่องจากมีคุณสมบัติเฉื่อย ไม่ทำให้เกิดการแพ้ มีความคงตัว และอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน อีกทั้งยังสามารถเสื่อมสลายไปเอง ไม่เกิดปัญหาสะสมในร่างกาย

ในประเทศไทยมีเพียงกรดไฮยาลูโรนิกเท่านั้น ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ได้อย่างปลอดภัย

คุณสมบัติ
กรดไฮยาลูโรนิกที่ใช้เป็นสารเติมเต็มจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ขนาดโมเลกุล โครงสร้าง และความแข็งของสาร สารที่มีขนาดของโมเลกุลเล็กจะเหมาะกับการใช้รักษาริ้วรอยตื้น ๆ และคงอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6 เดือน ในขณะที่สารที่มีขนาดของโมเลกุลใหญ่จะใช้สำหรับการเพิ่มปริมาตรของใบหน้า และการรักษาริ้วรอยหรือร่องขนาดลึก ซึ่งจะคงอยู่ในร่างกายได้นาน 6-12 เดือน ริ้วรอยที่นิยมใช้การฉีดสารเติมเต็มเพื่อรักษา เช่น รอยย่นบริเวณหว่างคิ้ว รอยตีนกา และรอยย่นบนหน้าผาก สารเติมเต็มยังสามารถเพิ่มปริมาตรของใบหน้าบริเวณแก้ม ร่องแก้ม และบริเวณอื่น ๆ ได้ด้วย

ข้อชี้บ่ง
สำหรับการรักษาปัญหาผิวพรรณในปัจจุบัน ฟิลเลอร์จะถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เราสามารถใช้ฟิลเลอร์กับการรักษาปัญหาผิวพรรณได้โดยการแก้ไขปัญหาริ้วรอยของผิวอันเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้มโดยการฉีด ฟิลเลอร์จะสามารถเติมเต็มใยคอลลาเจนที่หายไป ทำให้ริ้วรอยบริเวณดังกล่าวตื้นขึ้น สภาพผิวดูดีขึ้น การแก้ไขปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น การเกิดแผลบุ๋มจากสิวอักเสบ เป็นต้น กรณีดังกล่าวนี้ สามารถใช้ฟิลเลอร์เติมเต็มทำให้แผลบุ๋มดีขึ้น อย่างไรก็ตามต้องเลือกชนิดแผลผิวบุ๋มที่เหมาะสมต่อการรักษา โดยแผลนั้นต้องไม่มีพังผืดในบริเวณใต้แผลบุ๋ม มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร และการใช้ฟิลเลอร์ฉีดเพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนเต็มขึ้นกว่าเดิม (augmentation) เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ริมฝีปาก หรือฉีดเพื่อทำให้รูปทรงของหน้าดูอวบอิ่มกว่าเดิม

ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ได้แก่
1. เกิดผื่นแดงบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ หรือรอยช้ำบริเวณฉีดซึ่งหายได้เอง
2. การเกิดรอยนูน หรือผิวไม่เรียบเนื่องจากเทคนิคการฉีดที่ตื้นเกินไป หรือเลือกใช้ฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลไม่เหมาะสม และอาการแพ้กรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งขึ้นอยู่กับปฎิกิริยาของร่างกายผู้ได้รับการฉีดเอง
3. เกิดปัญหาการเคลื่อนย้าย (migration) เช่น ฉีดดั้งจมูกแล้วฟิลเลอร์เคลื่อนไหลไปที่ปลายจมูก ดังนั้นถ้าต้องการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมคางหรือจมูก ต้องเลือกฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ เพื่อให้ฟิลเลอร์ชนิดนั้นมีความหนืดเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการเคลื่อนย้ายจากบริเวณที่ฉีด และทำให้มีอายุใช้งานได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย
4. อาการแพ้สารฟิลเลอร์ที่ให้ลักษณะเป็นก้อนนูนแดงอักเสบ อาการแพ้ชนิดนี้บางครั้งอาจพบได้ภายหลังการฉีดฟิลเลอร์ผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลาหลาย ๆ เดือนหรือเป็นปี ๆ ทั้งนี้ขึ้นกับอายุใช้งานของฟิลเลอร์ชนิดนั้นๆ
5. การที่ฉีดฟิลเลอร์ผิดตำแหน่งโดยฉีดเข้าไปในหลอดเลือด อาจทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ ทำให้เกิดเนื้อตายบริเวณที่เส้นเลือดนั้นมาเลี้ยง หรือฉีดฟิลเลอร์แล้วเกิดตาบอด เนื่องมาจากฟิลเลอร์ที่ฉีดเกิดไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา มีผลทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งขณะนี้พบในประเทศไทยและต่างประเทศแล้ว

ปัจจุบันมีวารสารทางการแพทย์อย่างน้อย 41 เรื่อง รายงานผู้ป่วยรวมถึง 61 ราย ที่เกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรงหลังการฉีดสารเติมเต็ม โดยตำแหน่งที่ฉีดแล้วทำให้เกิดเนื้อตายได้บ่อยที่สุดคือ จมูก (33.3%) และร่องแก้ม (31.2%) และตำแหน่งที่ฉีดแล้วทำให้เกิดตาบอดได้บ่อยที่สุดคือ หว่างคิ้ว (58.3%)และร่องแก้ม (33.3%)จากวารสารทางการแพทย์พบมีรายงานผู้ป่วยตาบอดจากการฉีดฟิลเลอร์ในประเทศเกาหลี 44 ราย และในสหรัฐอเมริกา 3 ราย ในประเทศไทยไม่เคยมีรายงานในวารสารทางการแพทย์ แต่มีการยืนยันผู้ป่วยแล้ว 8 ราย

ข้อควรระวัง
ข้อควรระวังสำหรับการเลือกใช้สารเติมเต็มเพื่อความสวยงาม คือ
1. ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อนทุกครั้ง
2. เลือกใช้บริการกับคลินิกที่มีมาตรฐานและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล (ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และ กฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการสถานพยาบาล พ.ศ. 2545) อย่างถูกต้อง
3. ไม่ควรใช้สารอื่น ๆ ที่ไม่แน่ใจในมาตรฐานและความปลอดภัยมาฉีดเป็นอันขาด

คำเตือน
ขอเตือนผู้ที่อยากมาฉีดสารเติมเต็มโดยเฉพาะการฉีดเสริมดั้งจมูกหรือในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ขอให้พิจารณาศึกษาหาข้อมูล ทั้งสถานที่ที่จะรับบริการ สารที่แพทย์จะฉีดให้ และตัวแพทย์ที่ฉีดด้วย ถึงแม้ว่าผลข้างเคียงที่ร้ายแรงพบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีอันตรายมาก และแม้ว่าสารที่ฉีดได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้เครื่องมืออุปกรณ์การฉีดที่ได้มาตรฐาน แต่ผู้ที่ฉีดขาดความชำนาญ หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีความชำนาญฉีดถูกต้องตามหลักวิชาทุกประการ แต่ผู้รับบริการที่ลักษณะทางกายวิภาคผิดไปจากที่ควร (เช่น อาจได้รับอุบัติเหตุมีพังพืด หรือเคยเสริมจมูกมาแล้ว) หรือเป็นความแปรผันของเส้นเลือดที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็เป็นสาเหตุของผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

ในประเทศไทยได้จัดประเภทของสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ไว้เป็นยา การนำเข้าต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้รับเพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งฟิลเลอร์ทั้งหมดที่ผ่านการรับรองจาก อย. ในปัจจุบันจะเป็นกรดไฮยาลูโรนิกทั้งสิ้น โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลของสารเติมเต็มที่ได้ อย. หรือที่เว็บไซต์
//fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/DSerch.asp?id=drug
สารเติมเต็มนอกเหนือจากนี้ ถือเป็นสารเติมเต็มที่ผิดกฎหมาย

การฉีดสารเติมเต็ม ต้องฉีดโดยแพทย์เท่านั้น
ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์ได้ที่
//www.tmc.or.th/service_check.php
และสามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์ผิวหนังได้ที่
//www.dst.or.th/html/index.php?op=article-search_md

คำแนะนำ
การฉีดสารเติมเต็ม ควรฉีดในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์พร้อม มีความสะอาด และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยต้องตรวจสอบหลักฐานสำคัญ เช่น
1. ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
2. ต้องมีรูปถ่ายติดไว้ที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เห็นอย่างชัดเจน และ
3. แพทย์ที่ให้การตรวจรักษาจะต้องตรงกับรูปถ่ายที่ติดไว้หน้าห้องตรวจในคลินิก
หากเข้าไปใช้บริการแล้วไม่พบหลักฐานดังกล่าว หรือไม่ครบถ้วน ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นสถานพยาบาลเถื่อน ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนคุ้มครองผู้รับบริการสุขภาพ โทร.0-2193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง

หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โทร. 02-716-6857 เว็บไซต์ //www.dst.or.th หรืออีเมล์ contact@dst.or.th
โดย: หมอหมู วันที่: 30 สิงหาคม 2559 เวลา:13:51:14 น.
  
เตือนซ้ำสาวอยากสวย ฉีดฟิลเลอร์เสี่ยงตาบอด-เสียโฉม หวั่นแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
//www.dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=1317&cid=35#.V8Ur_jW51q1

จักษุแพทย์เตือนซ้ำอีก ฉีดฟิลเลอร์เสี่ยงตาบอด หลังพบตัวเลขผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้น ขณะที่แพทย์ผิวหนังชี้ผลกระทบทำให้ผิวหนังอักเสบ เน่า เกิดแผลเป็น เสียโฉมได้ แนะเลือดแพทย์ที่มีความชำนาญ

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากราชวิทยาลัยฯ ร่วมกับสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประทศไทย ออกมาเตือนภัยการฉีดฟิลเลอร์เพื่อความงามอาจทำให้ตาบอด หรือเกิดผลกระทบต่อผิวหนังได้ ทำให้มีผู้ป่วยจากภาวะดังกล่าวลดน้อยลง แต่ช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา กลับเริ่มพบผู้ป่วยจากการฉีดฟิลเลอร์ประมาณ 2 - 3 ราย ทำให้กังวลว่าตัวเลขผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก จึงอยากเตือนประชาชนว่า หากต้องการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมความงาม ต้องทำใจยอมรับว่า มีโอกาสเสี่ยงผลกระทบทำให้ตาบอดได้ ยิ่งเป็นหมอเถื่อนโอกาสเสี่ยงก็ยิ่งสูง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ตาบอด เพราะเส้นเลือดบนใบหน้ามีการเชื่อมต่อกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตาและสมอง หากสารฟิลเลอร์หลุดเข้าไปในกระแสเลือดก็จะเกิดการอุดตันของเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงดวงตา ทำให้ขั้วประสาทตาขาดเลือด สูญเสียการมองเห็นถึงขั้นตาบอด และมีหลายรายเกิดภาวะตาบอดคาเข็ม

“แม้ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการจะระบุว่า จอประสาทตาจะขาดเลือดได้ไม่เกิน 90 นาที ไม่เช่นนั้นจะตาบอดถาวร แต่ในความเป็นจริงหลายรายพบว่า 2 - 3 ชั่วโมง ก็ทำให้ตาบอดได้เช่นกัน ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยฯ ได้เปิดเพจ “สุขภาพตา โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย” ในเฟซบุ๊ก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับดวงตาด้วย” นพ.ไพศาล กล่าว

นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ฟิลเลอร์ในการเสริมความงาม คือ ไฮยาลูโรนิค แอซิด ซึ่งส่วนใหญ่จะนำมาใช้เติมเต็มแผลที่เป็นหลุมจากสิว หรือแผลจากโรคสุกใส รวมถึงลดริ้วรอย ทำให้ใบหน้าเต่งตึงควบคู่กับการฉีดโบท็อกซ์ ปัญหาคือหากฉีดบริเวณจุดเสี่ยง อย่างใกล้ ๆ ดวงตา หรือรอบ ๆ จมูก มีโอกาสเสี่ยงตาบอดได้ เพราะหากฉีดมากเกินไปหรือฉีดเข้าไปในหลอดเลือด จะทำให้ให้เกิดการอุดตัน ซึ่งจะมีผลต่อดวงตาอาจทำให้ตาบอด ผลต่อผิวหนังอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ เน่า กลายเป็นแผลเป็น และเสียโฉมในที่สุด รวมไปถึงหากใช้สารฟิลเลอร์ไม่ดีอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้

“ก่อนฉีดฟิลเลอร์ต้องศึกษาให้ดีว่ามีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง และมีโอกาสกระทบกับดวงตามากน้อยแค่ไหน รวมทั้งต้องเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง พิจารณาว่ามีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ ได้รับการรับรองจากแพทยสภาหรือไม่ ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายชื่อแพทย์ได้ในเว็บไซต์ของแพทยสภา //www.tmc.or.th/service_check_doctor.php และของสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ //www.dst.or.th ที่อยากฝากไว้คือ การฉีดฟิลเลอร์ในบางรายต้องพิจารณาให้ดี ๆ โดยเฉพาะการฉีดเพื่อเติมเต็มเนื้อบริเวณสันจมูก ให้ดูเหมือนมีดั้งโด่ง จริง ๆ แล้ว การฉีดฟิลเลอร์จะไม่ถาวร เพราะต้องฉีดซ้ำประมาณ 1 ปี ดังนั้น หากพิจารณาแล้วการทำศัลยกรรมจมูกอาจคุ้มกว่าหรือไม่ ก็ต้องเลือกให้เหมาะสม” นพ.นพดล กล่าว

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
14 กรกฎาคม 2558
โดย: หมอหมู วันที่: 30 สิงหาคม 2559 เวลา:13:52:12 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]

บทความทั้งหมด