Nuke in a Nutshell - รังสีไม่ดีตรงไหน ( FW mail )



Nuke in a Nutshell - รังสีไม่ดีตรงไหน

by Ble Pak-art

16 มีนาคม 2553



"Informed public is the key to acceptance of nuclear energy"



หลังจากนั่งอ่านเรื่องราวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นจากหลายๆที่ก็ไปเจอประโยคข้างบนนี้เข้า รู้สึกว่าเข้ากับสถานการณ์ตอนนี้ได้ดี(แต่ของบ้านเราจะเป็น mis-informed public เสียมากกว่า)

ไหนๆก็นั่งอ่านอะไรๆอยู่หลายวัน ลองรวมๆมาเขียนเก็บไว้อ่านเผื่อมีใครมาถาม อีก จะได้ไม่เสียชื่อหมอรังสี

ขอบคุณจูนที่มากระตุ้น เลยเอามาแปลไทยแบบไม่มาตรฐาน กระชับข้อความ
ตัดฟิสิกส์รุงรังออกไปบ้าง เติมน้ำเล็กน้อย เผื่อเพื่อนๆที่ไม่ใช่หมอจะมาอ่าน คงจะเอาไปอ้างอิงอะไรจริงจังไม่ได้ หรือถ้าสงสัยอยากอ่านเพิ่มเติมแบบจริงจังเชิญที่ reference
ข้างท้ายได้จ้า

คำแนะนำ- เปิดเพลงใน link นี้ประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน ^^

//www.facebook.com/l/530f9/www.youtube.com/watch?v=M-TygNlwPPE



1. เรากำลังหวาดกลัวกับอะไรกันอยู่ "รังสี" มันคืออะไร

รังสี หรือเรียกให้น่ากลัวว่า "กัมมันตภาพรังสี" (radioactivity) ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัวเรา อยู่ในพื้นดิน ในอากาศที่เราหายใจ ในอวกาศ เช่นรังสีคอสมิก และก็มีอยู่ในตัวเราด้วย แต่เป็นปริมาณที่น้อยมาก

มีการวัดค่ารังสีที่พบในสิ่งแวดล้อมตามปกติไว้ เรียกว่า Environmental dose คือพบทั่วๆไป (natural background) 1 mSv, ดูทีวี 0.1 mSv, นั่งเครื่องบินจาก NY-LA 0.04 mSv เป็นต้น

โดยมีค่ามาตรฐานว่าในประชาชนทั่วไปจะได้รับรังสีอยู่ที 1 mSv ต่อปี

ถ้าบังเอิญต้องเข้า รพ. แล้วต้องไปถูกเอกซเรย์ปอด ก็จะแถมไปอีก 0.14 mSv ต่อครั้ง เอกซเรย์สวนแป้ง 6.4 mSv ต่อครั้ง CT scan 8.8 mSv ต่อครั้ง ส่วนคนที่ทำงานเกี่ยวกับรังสีให้ได้ถึง 50 mSv ต่อปี



2. แล้วเจ้าไอโอดีน 131 (I-131) ซีเซียม 137 (Cs-137) ที่เค้าว่ารั่วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันเกี่ยวอะไร

สองตัวนี้เค้าเรียกว่าเป็น"สารกัมมันตรังสี" (radionuclide)ซึ่งเป็นผลผลิตจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ซึ่งกระเด็นหลุดออกมาจากเตาสู่ภายนอก ตอนที่มีการระเบิดของอาคารโรงไฟฟ้า (ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์นะเพราะระเบิดที่เราฟังข่าวกันอยู่นี้ไม่ใช่ atomic bombแบบฮิโรชิมา นางาซากิ)

เจ้าสารกัมมันตรังสีนี่มันมีคุณสมบัติคือ จะมีการสลาย(decay) แบบปล่อยรังสีเบต้า และแกมม่าออกมาเรื่อยๆจนกว่ามันจะหมดอายุขัยลง ซึ่งจะบอกเวลาหมดพลังของมันด้วยค่า"ครึ่งชีวิต" (half-life)แล้วคูณ10 โดย I-131 อยู่ที่ประมาณ 80 วัน, Cs -137 อยู่ที 300ปีนู่น

ปัญหามันก็อยู่ที่รังสีเบต้า และแกมม่าที่เจ้าสารกัมมันตรังสีมันปล่อยออกมานี่แหละ พวกนี้(รวมทั้งรังสีเอกซ์ที่เราใช้เอกซเรย์กันด้วย)มีชื่อเรียกรวมๆว่า Ionizing radiation (ไม่แน่ใจว่าภาษาไทยใช้คำว่าอะไรเรียกว่ารังสีแล้วกัน) ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำร้ายเซลล์ของร่างกายได้หลายแบบ เช่น ทำให้เซลล์ตาย เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง หรือมีพันธุกรรมเพี้ยนไป



3. อ้าว แล้วที่ไปเอกซเรย์ปอด CT scan กระหน่ำกันทุกวัน ไม่เป็นไรรึ (จะตกงานไหมเรา)

อย่างที่บอกแล้วว่ารังสีนี่ไม่ต้องรอโรงไฟฟ้าระเบิดเราก็เจอกันทุกวันอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่สำคัญที่ทำใหรังสีทำอันตรายเราได้มีอยู่สามตัว คือ

ปริมาณที่ได้รับ (Dose)

ระยะทางจากต้นกำเนิดรังสีถึงตัวเรา (distance)

และ เวลาที่ได้รับรังสี (exposure time)

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าจ่อยิงรังสีใกล้ๆ อัดโดสมากๆ แล้วนอนอาบรังสีอยู่นานๆ ก็แย่แน่ แต่ในชีวิตจริงการถ่ายภาพเอกซเรย์ใช้โดสน้อยมาก และใช้เวลาเป็นมิลลิวินาที ปริมาณรังสีที่คนไข้ได้รับจึงน้อยมากจนไม่เกิดอันตราย



4. แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นจะมีอันตรายกับเราแค่ไหน

จากข่าวที่เป็นทางการของ IAEA ปริมาณล่าสุดของรังสีที่เวลา 6.00น.(UTC) วันที 15 มีนาวัดที่ประตูโรงงาน อยู่ที่ 0.6 mSv ต่อชั่วโมง (เห็นไหมต้องบอกตำแหน่งที่วัดและเวลา)

แปลง่ายๆว่าถ้าเราไปยืนที่ประตูโรงงานหนึ่งชั่วโมงจะได้รังสี 0.6 mSv

คราวนี้ก็คำนวณเอาเองว่าประตูบ้านเราห่างจากประตูโรงงานกันแค่ไหน
ถ้าขี้เกียจคำนวณก็ลองดูว่า ประเทศญี่ปุ่น(ซึ่งเค้าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยมาก) เค้าอพยพคนในรัศมี 20 กม.จากโรงงาน ส่วนชาวบ้านในระยะ 30 กม. ให้อยู่ในบ้าน

ปริมาณรังสีที่เคยวัดได้มากที่สุดจากประตูโรงงานคือ 400 mSv/ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ก็ลดลงแล้ว ถ้าอยากติดตามข่าว update จาก IAEA มีทั้งสถานการณ์โรงไฟฟ้า และเรื่องรังสี ขอเชิญที่

//www.facebook.com/l/530f9/www.iaea.org/newscenter/news/tsunamiupdate01.html



5. แล้วฝุ่นควันที่มีสารกัมมันตรังสีจะปลิวมาถึงไทยหรือเปล่า จะป้องกันยังไง

เท่าที่ตามข่าวดูมีการแตกตื่นเรื่องฝุ่นไอโอดีนซีเซียมกันเยอะ ไม่เฉพาะบ้านเราหรอก แต่ละแหล่งข่าวก็ว่ากันไป และมีการวัดสารปนเปื้อนรายงานเป็นระยะๆ แต่จริงๆแล้วไม่มีใครบอกได้หรอกว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ที่พอจะทำนายได้ก็ต้องย้อนกลับไปเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เรื่องอุบัติเหตุนิวเคลียร์ อย่างที่ Chernobyl ปี คศ. 1986 ซึ่งเหตุการณ์และการจัดการเลวร้ายกว่าที่ญี่ปุ่นครั้งนี้มาก มีการระเบิดของโรงไฟฟ้า(ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์นะ)และมีการกระจายของกัมมันตรังสีไปทั่วยุโรปและเอเชีย เมื่อมีการวัดรังสีที่ได้รับ (average exposure) ในคน 135000 คนในระยะ18 mile รอบโรงไฟฟ้า พบปริมาณรังสี 15 mSv เท่านั้น (มากน้อยแค่ไหนลองกลับไปเทียบในข้อหนึ่ง)

ทางราชการของบ้านเราตอนนี้ก็ได้ฟังข่าวว่ามีการตรวจเช็คปริมาณรังสีในอากาศกันอยู่แล้ว แถมยังมี ประเทศอื่นดักหน้าไว้อีกหลายประเทศกว่าฝุ่นควันจะปลิวมาถึง ก็คอยฟังข่าวแล้วลองคำนวณปริมาณกันเองแล้วกัน

ถ้ามันมาถึงจริงๆและมีปริมาณมากพอที่จะทำอันตราย(ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยถ้าปริมาณรังสีหน้าประตูโรงงานเป็นแค่นี้) ค่อยเริ่มแตกตื่นตุนน้ำมันปาล์มกันก็ยังไม่สาย

ส่วนปลาดิบญี่ปุ่นซึ่งอาจกินกัมมันตรังสีเข้าไปแล้วว่ายมา อยู่บนจานเรานั้น ถ้าอยากจะเลี่ยงก็ตามสะดวก เพราะตามทฤษฎีแล้วก็เป็นไปได้จริงๆ แต่ถ้าจะห่วงเรื่องสารกัมมันตรังสี อย่าลืมห่วงเรื่อง สารปรอท สารตะกั่ว พยาธิ เชื้อโรค ซึ่งมีโอกาสเจอเยอะกว่ามากด้วยน้า เปลี่ยนไปทานหมูก็เจอสารเร่งเนื้อแดง ทานผักก็เจอยาฆ่าแมลง ก็ดี
เราจะได้กลับไปเป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ทานเองกันทุกคนเหมือนเดิม



6. ทำไมระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาคนถึงตายเยอะ มีเด็กเป็นลิวคีเมียก็มาก เชอร์โนบิลเองก็มีวัวสามขา

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าระเบิดนิวเคลียร์ (atomic bomb) กับระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นคนละเรื่องกัน

ระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดก็ไม่เท่าระเบิดนิวเคลียร์

คนที่ตายในระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นนั้น 200,000 คนตายทันทีจากความร้อนและแรงระเบิด (heat and blast) มีเพียง 300 คนที่ตายจาก ionizing radiation

ส่วนระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างที่เชอร์โนบิลนั้น แรงระเบิดจำกัดอยู่ทีโรงงาน มีความร้อนต่ำกว่ามาก และมีคนตายจาก ionizing radiation น้อยกว่า 100 คน

แต่ปัญหาระยะยาวของคนที่ได้รับ ionizing radiation ที่พบได้คือรังสีที่ได้รับทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในระดับเซลล์และไปทำให้ DNA เปลี่ยนไป ซึ่งผลต่อร่างกายอาจเกิดได้หลายอย่างที่ดีที่สุดคือเซลล์ซ่อมแซมตัวเองแล้วไม่มีผลอะไร ที่ไม่ดีคือเซลล์ที่มี
DNA ถูกทำลายกลายเป็นมะเร็ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดในทุกคน และเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาหลายปีในการเกิด

ซึ่งที่กังวลกันคือถ้าเราได้รับรังสีน้อยๆ แต่บ่อยๆ เป็นเวลาต่อเนื่องนานๆโอกาสเกิดก็จะเพิ่มขึ้นได้บ้าง เหมือนแท็กซี่ขับรถทุกวันก็มีโอกาสรถชนมากกว่า

ดังนั้นในกลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก ทารกในครรภ์ (รวมทั้งคนท้อง) ซึ่งปริมาณโดสที่ได้รับจะดูมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวซึ่งถูกทำลายได้ง่ายอยู่มาก จึงเป็นกลุ่มที่ต้องระวังในการใช้รังสีทุกประเภท และหลีกเลี่ยงการตรวจทางรังสีไม่จำเป็น



สุดท้ายนี้คงต้องการบอกว่า รังสีไม่ใช่ของปลอดภัยที่จะมาอาบเล่นกันทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมจากนอกโลกอย่างที่ประโคมข่าวกัน

ถ้ามาเดินในหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือ radiation therapy ของโรงพยาบาลก็จะพบคุณหมอที่ใช้รังสีและสารกัมมันตรังสีเหล่านี้กันทุกวันเพื่อวินิจฉัยและรักษาคนไข้ให้หายจากโรคร้ายโดยควบคุมปัจจัยหลักสามตัวที่กล่าวไปแล้วคือ เลือกใช้ปริมาณที่เหมาะสมในเวลาสั้นและ รักษาระยะปลอดภัยระหว่างที่คนไข้ได้รับรังสี


สิ่งที่เกิดที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามทำอยู่ตอนนี้คือพยายามลดปริมาณสารกัมมันตรังสีที่จะปนเปื้อนสู่ภายนอกให้มากที่สุดซึ่งก็ต้องคอยติดตามข่าวกันต่อไป

บ้านเราระยะทาง ไกลขนาดนี้ก็ไม่ต้องแตกตื่นมาก คิดอีกที โอกาสที่เราจะขึ้นรถเมล์แล้วถูกลูกหลงกระสุนปืนจากเด็กช่างกล หรือ ขับรถตกโทลเวย์ อาจมากกว่าที่เราจะโดนรังสีจากญี่ปุ่นเสียอีก ไข้หวัดนก หวัด2009 ที่เราผ่านกันมาได้ ก็มีคนตายกันเลวร้ายกว่านี้มาก

สิ่งที่ทุกคนควรทำคือติดตามสถานการณ์อย่างมีสติ และหาความรู้ที่มีอยู่มากมาย อย่าเลือกที่จะเชื่อเพราะเป็นเรื่องที่เราอยากเชื่อ หรือเพราะคนเล่าดูน่าเชื่อถือ แต่ขอให้ใช้วิจารณญานของตัวเอง และหาข้อมูลหลายๆด้านก่อนจะปักใจเชื่ออะไร

ข้อมูลข้างบนคงเป็นแค่ความรู้พื้นฐานง่ายๆ จะได้ไม่งง เวลาอ่านข่าว

ถ้าสงสัยอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการรักษาและป้องกันอันตรายจากรังสี

ขอเชิญตามเอกสารอ้างอิงด้านล่าง



References

Wolbarst AB, Wiley AL, Nemhouser JB, Christensen DM, Hendee WRI.
Medical Response to a Major Radiologic Emergency: A Primer for Medical
and Public Health Practitioners. Radiology. Mar 2010; (254) 660-677.
//www.facebook.com/l/530f9/radiology.rsna.org/content/254/3/660.long

2. ACR disaster preparedness for radiology professionals

//www.facebook.com/l/530f9/www.acr.org/SecondaryMainMenuCategories/BusinessPracticeIssues/DisasterPreparedness/ACRsDisasterPreparednessPrimer/ACRDisasterPreparednessPrimer2006Doc1.aspx



3. US Nuclear regulartory commission USNRC standard for protection
against radiation.

//www.facebook.com/l/530f9/www.nrc.gov/reading-rm/doc-collections/cfr/part020/full-text.html



4. Wagner RH, Boles MA, Henkin RE. Treatment of radiation exposure and
contamination. Radiographics. Mar 1994 (14)387-396

5. Vogel H. Rays as weapons. Eur radiol 2007 Aug;63(2):167-77."







Create Date : 26 มีนาคม 2554
Last Update : 26 มีนาคม 2554 1:09:00 น.
Counter : 1956 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด