ตาปลา


ตาปลา

ตาปลา ก็คือ ผิวหนังที่ด้านหนาขึ้น เนื่องจากถูกแรงกดหรือแรงเสียดสี เป็นเวลานานๆ

มักเกิดบริเวณที่มีปุ่มกระดูกนูน ตำแหน่งที่พบได้บ่อย ได้แก่ บริเวณฝ่าเท้า และ นิ้วเท้า



สาเหตุ

ที่พบได้บ่อยคือการใส่รองเท้าคับแน่น ไม่เหมาะกับเท้า หรือ ลักษณะการเดินลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้า หรือ นิ้วเท้า

ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็งเป็นก้อน ขึ้นมารองรับแรงกดที่จุดนั้นแทนเนื้อเยื่อธรรมดา และเมื่อเดินบ่อย ๆ เข้าก้อนแข็งนี้จะถูกกดลงลึกลงไปในผิวหนังมากขึ้น เมื่อเดินก็จะทำให้จะเจ็บมาก


อาการ

ผิวหนังส่วนที่เป็นตาปลา จะด้านหนา หรือเป็นไตแข็ง ถ้าตาปลามีขนาดใหญ่ อาจจะเจ็บได้เวลาใส่รองเท้า

ตาปลาอาจมีลักษณะคล้ายหูด ต่างกันที่ถ้าใช้มีดฝาน หูดจะมีเลือดไหลซิบ ๆ แต่ตาปลาจะไม่มีเลือดออก



การรักษา

1) ควรเปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่คับหรือบีบแน่นเกินไป และ ใช้ฟองน้ำรอง ส่วนที่เป็นตาปลาเอาไว้เวลาใส่รองเท้าเพื่อลดแรงเสียดสี ตาปลาที่เป็นไม่มากมักจะค่อยๆหาย ไปได้เองในเวลาหลายสัปดาห์ ถ้ามีรูปเท้าหรือกระดูกผิดรูป อาจต้องใส่รองเท้าที่ตัดขิ้นมาเฉพาะเพื่อลดแรงกดที่บริเวณกระดูก

2) ใช้พลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิกขนาด 40%W/W ปิดส่วนที่เป็นตาปลา ปิดทิ้งไว้ 2 ถึง 3 วัน ดึงพลาสเตอร์ออก แล้วแช่เท้าหรือบริเวณที่เป็นในน้ำอุ่นให้นานพอสมควร ตาปลาจะค่อย ๆ ลอกหลุดไป ถ้ายังลอกหรือหลุดไม่หมดให้ทำซ้ำ

3) ใช้ยากัดตาปลาซึ่งมีกรดซาลิไซลิกผสม มีชื่อทางการค้า เช่น คอลโลแมก(Collomack), ดูโอฟิล์ม (Duofilm), ฟรีโซน (Free zone) ก่อนทายาให้แช่ตาปลาด้วยน้ำอุ่น แล้วใช้ตะไบเล็บ หรือผ้าขนหนูขัดบริเวณตาปลา เพื่อช่วยทำให้ผิวหนังขุย ๆ หลุดออกไป แล้วทาวาสลินรอบผิวหนังข้าง ๆ บริเวณตาปลา เพื่อป้องกันยากัดผิวหนังบริเวณผิวหนังปกติ เสร็จแล้วทายาตรงจุดตาปลา ทายา วันละ 1- 2 ครั้ง ตาปลาจะค่อย ๆ ลอกหลุดไป ทายาจนกว่าตาปลาจะลอกหลุดหมด

4) การผ่าตัด

5) การจี้ด้วยไฟฟ้า




ข้อแนะนำ

1) ควรแก้ไขที่สาเหตุ คือ ลดแรงเสียดสี โดยเลือกใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า

2) ถ้าไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัด หรือจี้ด้วยไฟฟ้า เพราะจะทำให้เกิดแผลเป็น และเจ็บเวลาที่ลงน้ำหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นที่บริเวณส้นเท้า

3) ห้ามใช้มีด หรือของมีคมเฉือน เพราะอาจทำให้แผลอักเสบและบวมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

ตาปลาเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในบุคคลทั่วไป และ เป็นโรคที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกเว้น ในผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งถ้าเป็นตาปลาแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจมีการอักเสบรุนแรงกลายเป็นแผลติดเชื้อ หรือ อาจจะถึงกับต้องตัดขา ก็ได้



Create Date : 09 มิถุนายน 2551
Last Update : 9 มิถุนายน 2551 19:32:25 น.
Counter : 65456 Pageviews.

4 comments
  

//th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20091127141844AAnCx9b

ที่มา: พญ.จิรพร ศรีวสันต์ศักดิ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังและศัลยกรรมเลเซอร์


การรักษาตาปลา โดยการทายา จี้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ เป็นการบรรเทาชั่วคราว โดยกำจัดตุ่มตาปลาออก

ข้อดีของการทายา คือ ราคาถูก หายแล้วไม่มีแผลเป็น ข้อเสีย คือ ถ้าขี้เกียจทายา ก็ไม่หายซักที หรือทายามากไป ผิวถลอก อาจมีการติดเชื้ออักเสบของตาปลาได้

ข้อดีของการใช้ไฟฟ้า และเลเซอร์ คือ รักษาแบบม้วนเดียวจบ ลุยทีเดียว หมดเกลี้ยง ข้อเสียเป็นแผลเป็น และต้องการการดูแลทำแผลที่จี้ไปแล้ว อาจจะเป็นเดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ค่ารักษาแพงกว่าทายาแน่นอน เลเซอร์จะแพงกว่าจี้ไฟฟ้า เพราะเครื่องมือราคาแพงกว่าหลายเท่า

เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ได้ทำให้หลักการรักษาโรคของหมอเปลี่ยนไป แต่จะอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้มากขึ้น

ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไข้ตาปลา คือ อย่าผ่าตัดออกค่ะ เพราะจะได้แผลเป็นหนึ่งขีด พร้อมๆกับตาปลาขึ้นใหม่บริเวณเดิม เนื่องจาก pressure effect อาจยังคงลอยนวลอยู่

อย่าลืมกำจัด pressure effect ไม่ให้มาเสนอหน้ารบกวนฝ่าเท้างามๆของเรา แล้วทุกคนจะประสบความสำเร็จในการรักษาตาปลาในที่สุด

วิธีการรักษาที่สะดวกมากขึ้นและคุณสามารถทำได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้พลาสเตอร์สำหรับรักษาหูด ตาปลา หรือหนังด้าน พลาสเตอร์นี้มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) 40 % ผสมอยู่เพื่อทำให้หูดหรือตาปลาอ่อนตัวลงและหลุดออกได้ง่าย

วิธีใช้ คือ ล้างบริเวณที่เป็นหูด หรือตาปลาให้สะอาดเสียก่อน แล้วปิดพลาสเตอร์ในบริเวณที่ต้องการทิ้งไว้ 2-3 วัน จากนั้นแช่ส่วนที่เป็นตาปลาในน้ำอุ่นประมาณ 15 นาทีหรือจนกว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะนิ่ม ลอกพลาสเตอร์ออก หูดหรือตาปลาจะหลุดตามพลาสเตอร์ออกมาด้วย แต่หากหูดหรือตาปลาหลุดออกมาไม่หมดสามารถทำซ้ำได้อีก

- พลาสเตอร์รักษาหูด ตาปลามีจำหน่ายที่ร้านขายยาชั้นนำทั่วไป

โดย: หมอหมู วันที่: 28 พฤศจิกายน 2552 เวลา:9:47:55 น.
  


เจ็บ ตาปลา ทำไงดี ?!?

รักษาหายแล้ว เป็นใหม่ได้อีก หากไม่แก้ที่ต้นเหตุ


ใครเป็น ตาปลา ที่เท้า คงจะรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างดี เพราะกว่าจะรักษาหายต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์

รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอก ว่า ตาปลาเป็นก้อนของหนังขี้ไคลซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังเรื้อรัง พบบ่อยบริเวณฝ่าเท้าซึ่งรับน้ำหนักตัวจึงเกิดอาการเจ็บเวลาเดิน

ทั้งนี้ผิวหนังของคนเราประกอบด้วยชั้นผิวหนังกำพร้ากับชั้นหนังแท้ โดยมีสารเชื่อมให้เกาะกัน เมื่อผิวหนังมีการเสียดสีรุนแรง ผิวหนังกำพร้าแยกเป็นตุ่มน้ำพองใส แต่การเสียดสีเป็นแบบเรื้อรังจะกระตุ้นให้ผิวหนังกำพร้าสร้างหนังขี้ไคลหนา เพิ่มขึ้นกลายเป็นรอยด้านแข็ง พบบ่อยบริเวณด้านข้างของฝ่าเท้าซึ่งมีการเสียดสีกับรองเท้า และในบางจุดหนังขี้ไคลหนาแข็งเป็นก้อนเล็กฐานของก้อนแหลมคล้ายลิ่มจึงเจ็บ เมื่อกดลง และเมื่อปาดส่วนบนของก้อนออกจะเห็นหนังขี้ไคลกลมใสคล้ายตาปลา

ปัญหา หนังฝ่าเท้าด้านและตาปลาพบบ่อยขึ้น เพราะการสวมใส่รองเท้าแฟชั่นซึ่งไม่สอดคล้องกับโครงสร้างของกระดูกเท้า โดยเท้าประกอบด้วยกระดูกขนาดเล็กจำนวนมากเรียงต่อกันเป็นแนว ข้อกระดูกเชื่อมโยงด้วยพังผืดและมีเส้นเอ็นเกาะกระดูกเพื่อบังคับการทรงตัว ให้มั่นคง กระดูกเท้ามีหนังฝ่าเท้าห่อหุ้ม ผิวหนังบางส่วนมีการเสียดสีกับวัสดุรองเท้าเรื้อรังจึงหนาด้านขึ้น ถ้ารองเท้าบีบรัดให้การเรียงตัวของกระดูกผิดทิศทางมีการรับน้ำหนักของกระดูก บางชิ้นเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้การเสียดสีเพิ่มมากขึ้น ก้อนหนังที่หนาแข็งของหนังกำพร้าหรือตาปลาจะกดหนีบเนื้อหนังแท้และชั้นไขมัน ซึ่งมีใยเส้นประสาทกับกระดูกทำให้เจ็บปวดเวลาเดิน


ลักษณะหนังหนาและตาปลา ยังพบได้บริเวณซอกนิ้วนางและนิ้วก้อย ซึ่งมีการเสียดสีของหนังซึ่งทับกันระหว่างซอกนิ้วกับกระดูกนิ้ว นอกจากนี้ยังพบบริเวณฝ่าเท้าระหว่างโคนหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ และฝ่าเท้าบริเวณโคนนิ้วกลางและนิ้วนาง จากการสวมใส่รองเท้าหัวแหลมบีบนิ้วทั้ง 2 ข้างเข้าหากัน หนังฝ่าเท้าจะห่อเข้าหากันเกิดการเสียดสีเรื้อรังเมื่อเดินเป็นก้อนแข็งยาว ตามร่องฝ่าเท้า และอาจมีตาปลาตรงกลางก้อนแข็ง


ด้าน บนของหลังเท้าบริเวณนิ้วนางก็พบตาปลาบ่อยเนื่องจากการสวมรองเท้าหัวแบน ผิวหนังบริเวณดังกล่าวเสียดสีกับรองเท้าซึ่งหุ้มหลังเท้า ส่วนผิวหนังหนาด้านข้างฝ่าเท้าบริเวณหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย มักเกิดจากการสวมรองเท้าหลวมเกินไป

ผู้ป่วยสามารถวินิจฉัยตาปลาได้เอง โดยตาปลาส่วนใหญ่จะเป็นทั้ง 2 เท้า แต่ก้อนเจ็บบริเวณฝ่าเท้าคล้ายตาปลาอาจเป็นโรคหูดจากไวรัส เอชพีวีได้ โดยไวรัสจะกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเป็นก้อนในชั้นหนังกำพร้า แต่มีข้อแตกต่าง คือ หูดมักเป็นเท้าเดียวและเจ็บมากถ้าบีบก้อนทางด้านข้างเข้าหากัน ส่วนตาปลามักเจ็บมากเมื่อกดลง และเมื่อปาดผิวหูดออก เนื้อหูดเป็นเส้นสีขาวอัดแน่น หรือถ้าตัดลงลึกจะมีเลือดออกเพราะหูดเป็นเนื้องอกของหนังกำพร้ามีเซลล์ผิว หนังในชั้นหนังกำพร้าหนาขึ้น และมีหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น แต่ตาปลามีเฉพาะผิวหนังขี้ไคลหนาเท่านั้น

ตาปลาจะหายขาดต้องรักษาที่ต้นเหตุ ว่าเป็นจากความผิดปกติของกระดูก หรือการสวมรองเท้าไม่เหมาะสม แต่การผ่าตัดแก้ไขกระดูกยุ่งยากมาก จึงนิยมรักษาตามอาการ เช่น ขูดหรือเฉือนส่วนแข็งออก ใช้ยากัดหูดซึ่งประกอบด้วยกรดซาลิซิลิคหรือกรดแลคติก นอกจากนี้การแก้ไขรองเท้าเพื่อลดการเสียดสี และการใช้อุปกรณ์เสริมวางบนเท้าหรือรองเท้าเพื่อกระจายน้ำหนักหรือลดการ เสียดสีจะช่วยทุเลาอาการ เช่น บริเวณพื้นรองเท้าอาจตัดแผ่นรองใต้ฝ่าเท้าให้เป็นหลุมเพื่อลดการกดทับเมื่อเดิน.


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


Update: 29-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย
โดย: หมอหมู วันที่: 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา:19:32:05 น.
  

//www.elib-online.com/doctors/skin_wart1.html

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม 2541 ]

หูด V.S. ตาปลา V.S. หูดข้าวสุก

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ

เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะพอรู้จักกับ "หูด" และ "ตาปลา" กันบ้างพอสมควร บางท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อหูดเฉย ๆ แต่ไม่เคยเป็น ไม่รู้จักว่าหน้าตาของหูดนี่ เป็นอย่างไร บางท่านเคยเป็นหูดกันแล้ว หรือมีญาติพี่น้องคนรู้จักกันเป็นหูด จะรู้ว่าเจ้าหูดนี่ น่าเบื่อน่ารำคาญใจจริง ๆ บางท่านเกิดมาไม่เคยได้ยินคำว่า "หูด" มาก่อนเลย ไม่เข้าใจ ด้วยซ้ำว่า หูดคืออะไรกัน

และในทางตรงกันข้าม ถ้านึกถึงตาปลา ส่วนใหญ่จะรู้จักกันดี เพราะพบได้บ่อยมาก ทำให้เกิดมีการท้ากันว่า "อย่าเหยียบตาปลากันนะ"

หูดกับตาปลาจะไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ยังมีหูดอีกประเภทหนึ่ง เรียกกันว่า "หูดข้าวสุก" ซึ่งแตกต่างจากหูดทั่วไปทั้งลักษณะ รูปร่าง ตำแหน่งและเชื้อโรค วิธีการรักษา ก็ยังแตกต่างกันอีกด้วยทั้ง หูดทั่วไป ตาปลา และหูดข้าวสุก ค่อนข้างจะเป็นเรื้อรัง ก็ยังแตกต่างกันอีกด้วยทั้ง

หูดทั่วไป ตาปลา และหูดข้าวสุก ค่อยข้างจะเป็นเรื้อรัง บางครั้งในบางคนชอบกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ไม่หายขาด ทำให้เบื่อหน่ายได้ ลองมาดูรายละเอียดของหูด ตาปลา และหูดข้าสุก กันดีกว่านะคะ



หูด (Wart)

หูด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัส "ปาโปวา" (papova virus) ลักษณะหูดนี้จะเป็นเม็ดตุ่มนูนแข็ง มีรากอยู่ข้างใต้หูด มีขนาดแตกต่างกันไป แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

1. หูดธรรมดา (common wart)
ลักษณะของหูดชนิดนี้ จะเป็นตุ่มเม็ดนูนแข็ง ผิวค่อนข้างขรุขระ อาจมีเม็ดเดียว หรือ หลายเม็ดก็ได้
ตำแหน่งที่พบ ที่พบบ่อย คือ บริเวณแขน ขา มือ และเท้า

2. หูดชนิดแบน (plane wart) ลักษณะของหูดชนิดนี้จะเป็นเม็ดเล็กแข็ง แต่ผิวเรียบ ซึ่งต่างจากหูดธรรมดา เพราะว่า หูดธรรมดา จะมีผิวขรุขระกว่า
ตำแหน่งที่พบ ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ หลังมือ หน้าแข็ง หน้าผาก

3. หูดฝ่าเท้า (plantar wart)
ลักษณะเป็นไต แผ่นหนาแข็ง เป็นปื้นใหญ่ ขนาดใหญ่กว่าหูดธรรมดา
ตำแหน่งที่พบ พบที่บริเวณฝ่าเท้า ข้างใต้ฝ่าเท้า


ใครกันบ้างที่เป็นหูด ?

หูดพบได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้หูดมักจะพบในผู้ที่มี ความต้านทานต่ำหรือไม่ค่อยสบาย มีการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย


หูดมีอาการอย่างไร ?

หูดทำให้มีอาการเจ็บได้แต่ไม่คัน ส่วนใหญ่ที่เจ็บมากคือ หูดที่ฝ่าเท้า เพราะเมื่อคุณเดินไปเดินมา จะไปกดทับหูดโดยตรง ทำให้เจ็บได้


หูดติดต่อกันอย่างไร

วิธีการติดต่อของหูดทั้ง 3 ชนิด คือ ติดต่อทางการสัมผัสเชื้อโดยตรง (direct contact) เช่น ถ้าคุณผู้อ่านมีรอยถลอก หรือมีแผล ตามมือ เท้า แขน แล้วอยู่ดี ๆ ก็ไปสัมผัสกับคนที่เป็นหูดนี้ โดยที่ตัวคุณไปสัมผัสเข้ากับเจ้าตุ่มเม็ดหูดนี้โดยตรงเลย เชื้อไวรัสหูดนี้ ก็จะสามารถแพร่กระจาย มาที่ตัวคุณผู้อ่านได้ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว คนที่เป็นหูด ระยะแรกจะมีเม็ดเดียว ต่อมาเกิดรำคาญหงุดหงิดใจ ก็เลยลองแกะดูเล่น ๆ หรือพยายามใช้กรรไกรตัดเล็บตัดออก แกะไปแกะมา จะทำให้เกิดการแพร่กระจาย ของเชื้อไวรัสหูดนี้ได้ ดังนั้นช่วงแรก อาจเป็นหูด 1 เม็ด ต่อมาไม่นาน กลายเป็นหูดถึง 10-20 เม็ดเชียวนะคะ อย่าทำเป็นเล่นไป

วิธีการรักษาหูด

1. ทายา ถ้าเป็นหูดเม็ดเล็ก ๆ หรือเป็นไม่มากนัก หรือหูดในเด็ก ๆ ใช้ยาทา เช่น ยาก ลุ่มกรดซาลิซิลิก ความเข้มข้น 20-40 เปอร์เซ็นต์ (20-40% SA ointment) ยาน้ำคอลโลแมค ดูโอฟิล์ม เป็นต้น การทายานี้ ได้ผลพอใช้ อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ขึ้นอยู่กับขนาดของหูด

2. จี้ด้วยไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าจี้ที่ตัวหูด จะได้ผลดี ถ้าจี้ออกหมด

3. จี้ด้วยเลเซอร์ ใช้แสงเลเซอร์จี้ที่ตัวหูด ได้ผลดีเช่นกัน แต่ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจี้ด้วย ไฟฟ้า

4. ผ่าตัดออก คือการผ่าตัดเอาตัวก้อนหูดนี้ออกไปเลย แต่ไม่ค่อยนิยมทำกัน


ปัญหาของการรักษาคือ หูด มักจะกลับมาเป็นซ้ำได้ใหม่อีก ที่บริเวณใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม



หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)

หูดข้าวสุก เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งแตกต่างจากหูดทั่วไป หูดข้าวสุก เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่า "พอกซ์" (pox virus) ลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีขาวขนาดเล็ก ตรงกลางมีรอยบุ๋มเล็กน้อย ถ้าลองสะกิดตุ่มสีขาวนี้ออก แล้วเอามือบีบดู จะพบเนื้อหูดสีขาว คล้ายเม็ดข้าวสุก


ตำแหน่งที่พบ

ในวัยเด็ก จะพบตุ่มนี้ ที่ใบหน้า ลำตัว แขน ขา ติดต่อได้ง่ายมากทางการสัมผัสโดยตรง (direct contact) ในผู้ใหญ่ มักจะพบตุ่มนี้บริเวณอวัยวะเพศ จึงมักจะติดต่อกันได้ทาง เพศสัมพันธ์


อาการของหูดข้าวสุกมักจะไม่ค่อยมีอาการคันหรือเจ็บ

วิธีการรักษา

1. ใช้เข็มสะกิดตุ่มนี้ แล้วบีบออก

2. ใช้กรดไตรคลออะเซติก ความเข้มข้น 30-50 % หรือฟีนอล ความเข้มข้น 1% แต้ม ทาตุ่มนี้


หูดกับตาปลาต่างกันอย่างไรบ้าง ?

หลายคนคงพอจะรู้จักกับตาปลา มีข้อแตกต่างกันดังนี้

หูด (wart)

1. หูดเกิดจากเชื้อไวรัส
2. หูดพบได้หลายตำแหน่ง เช่น มือ เท้า แขน หน้าผาก
3. หูดติดต่อกันได้ แพร่กระจายได้
4. ถ้าลองใช้มีดฝานบาง ๆ ที่ตัวหูดจะพบว่ามีจุดเลือดออก เป็นจุดเล็ก ๆ ใต้ผิวหนัง คล้าย ๆ กับรากหูด


ตาปลา (callus)

1. ตาปลาไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคใด ๆ ทั้งสิ้น
2. ตาปลามักพบที่บริเวณฝ่าเท้า บริเวณที่ลงรับน้ำหนักหรือบริเวณที่เสียดสี กับรองเท้าที่คับจนเกินไป
3. ตาปลาไม่ติดต่อ เหยียบกันอย่างไรก็ไม่ติดต่อกันนะคะ
4. ใช้มีดฝานบาง ๆ ที่ตาปลา จะไม่พบจุดเลือดออกเล็ก ๆ เหมือนหูด

หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้รับความรู้เกี่ยวกับหูดทั่วไป ตาปลาและหูดข้าวสุกกันบ้าง พอสม ควรนะคะ

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ

โดย: หมอหมู วันที่: 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา:19:34:32 น.
  


3 สูตรอายุรเวทรักษาตาปลา

เท้า ตาปลา

คนสมัยก่อนนิยมเปลือยเท้าเดินบนดินหรือบนหญ้า เพื่อได้สัมผัสกับธรรมชาติที่แท้ เพราะถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสดชื่นและกระปรี้กระเปร่าได้ แม้หนุ่มๆ สาวๆ ยุคนี้จะไม่นิยมเดินเท้าเปล่า แต่ใช่ว่าเท้าเราจะไม่ต้องการถนอมรักษา สำหรับคนที่มีปัญหาเป็น "ตาปลา" ที่เท้านั้น เรามีตำรับอายุรเวทรักษาตาปลามาแนะนำกันค่ะ


กระเทียมสด ให้ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนาๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่เป็น และแปะส่วนที่เหลือตรงตาปลา พันผ้าพันแผลทับ แล้วปล่อยไว้ข้ามคืน จึงค่อยแกะทิ้ง ทำซ้ำทุกคืน นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ น้ำกระเทียมสดจะช่วยรักษาอาการที่เป็นอยู่ให้หายเร็วขึ้น หรือลองฝานมะนาวสดหรือสับปะรดหั่นเป็นชิ้นบางๆ มาแปะแทน ก็ช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้เช่นกันค่ะ


น้ำมันสน ให้นำผ้าสำลีเนื้อนุ่มหรือผ้าขาวบางชุบน้ำมันสนแล้วแปะไว้บริเวณที่เป็น ช่วงก่อนนอน ทิ้งไว้ข้ามคืน ทำประมาณ 4-5 คืนติดต่อกัน วิธีนี้สามารถรักษาตาปลาได้อย่างดี


สูตรยารักษาตาปลา ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ น้ำมันมะพร้าว 1 ถ้วยตวง น้ำมันการบูร 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำมันสน 1 ช้อนโต๊ะ หากน้ำมันมะพร้าวเป็นไขให้นำมาอุ่นจนละลายก่อน แล้วจึงนำไปผสมกับน้ำมันอีก 2 ชนิดตามสูตร กวนให้เข้ากัน แล้วเทใส่ขวดแก้วเก็บไว้ ใช้ทาลงบนตาปลาวันละ 2 ครั้ง ทำเป็นประจำทุกวันเมื่อเริ่มเกิดอาการ

เพียงเท่านี้คุณก็มีสุขภาพเท้าที่ดีได้ค่ะ


เรื่องจาก นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 212

นิตยสาร ชีวจิต

//www.cheewajit.com

โดย: หมอหมู วันที่: 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา:19:36:02 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด