เตือนภัยเห็ดพิษ และข้อแนะนำในการบริโภคเห็ด ........โดย พญ. พจมาน ศิริอารยาภรณ์ สำนักระบาดวิทยา




เตือนภัยเห็ดพิษ และข้อแนะนำในการบริโภคเห็ดธรรมชาติและเห็ดป่า


ทุกปีสำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานการป่วยและการเสียชีวิตจากเห็ดพิษ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักจะได้รับรายงานมากในช่วงเริ่มต้นของฤดุฝน คือระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน

โดยทุกเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจะเกิดจากการรับประทานเห็ดธรรมชาติและเห็ดป่า โดยเฉพาะเห็ดที่ขึ้นตามภูเขา โดยที่เห็ดพิษทำให้เกิดการเสียชีวิตแยกได้ยากจากที่ไม่มีพิษ

ในปี พ.ศ. 2553 สำนักระบาดวิทยาเริ่มได้รับรายงานการป่วยเป็นกลุ่มก้อนและการเสียชีวิตจากเห็ดพิษในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (30 พฤษภาคม -12 มิถุนายน 2553) รวมทั้งหมด 11 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้ว 5 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2552 ทั้งปีที่มีรายงานเพียง 3 เหตุการณ์ และในจำนวนนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนปี พ.ศ. 2551 ที่มีรายงานทั้งหมด 10 เหตุการณ์ และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2 ราย

จังหวัดที่มีรายงานการป่วยเป็นกลุ่มก้อนจากเห็ดพิษในปี 2553 มาจากเชียงใหม่ 5 เหตุการณ์ โดยหนึ่งในนี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยจากประเทศพม่า (ป่วย 18 ราย เสียชีวิต 3 ราย มาจากคนละอำเภอ) อุบลราชธานี 2 เหตุการณ์ (ป่วย 3 ราย เสียชีวิต 2 ราย มาจากคนละอำเภอ) อำนาจเจริญ 2 เหตุการณ์ (ป่วย 11 ราย ไม่เสียชีวิต) และน่าน 1 เหตุการณ์ (ป่วย 2 รายไม่เสียชีวิต)

ที่น่าสนใจคือ มีถึง 4 เหตุการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดจากที่มีลักษณะคล้ายเห็ดไข่ห่าน (ซึ่งอยู่ในกลุ่มเห็ดระโงก) โดย 3 เหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตและอีก 1 เหตุการณ์มีไตวาย ซึ่งเห็ดไข่ห่านนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกเห็ดระโงก มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ สำหรับชนิดที่มีพิษเป็น Amanita virosa มีสารพิษในกลุ่ม Amatoxin ซึ่งเป็นพิษต่อตับ จากข้อมูลที่ผ่านมาผู้ที่รับประทานเห็ดไข่ห่านประมาณ 1 ดอกก็ทำให้เสียชีวิตได้

ประชาชนส่วนใหญ่รู้ว่าเห็ดไข่ห่านมีทั้งชนิดมีพิษและไม่มีพิษ แต่มีความเชื่อว่าสามารถแยกชนิดของเห็ดพิษได้โดยวิธีต่างๆที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน แต่เป็นความเชื่อที่ผิด ในครั้งนี้ก็มี 2-3 เหตุการณ์ที่มีการทดสอบด้วยวิธีต่างๆก่อนรับประทาน

อีก 1 เหตุการณ์ในจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นเด็ก 1 ปี 9 เดือน ผู้ปกครองให้กินเห็ดที่ย่างสุกแล้ว เรียกเห็ดขี้กะเดือน เด็กมีอาการถ่ายเป็นน้ำ และภายหลังถ่ายเป็นเลือดแล้วเสียชีวิต ในขณะที่ตาและยายซึ่งกินด้วยกันไม่มีอาการ ซึ่งไปด้วยกันกับคำแนะนำที่ ไม่ควรให้เด็กอ่อนบริโภคเห็ดธรรมชาติและเห็ดป่า

จากข้อมูลในปีที่ผ่านๆมาพบว่าการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมักเกิดในกลุ่มเดิมๆ คือ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากเขา (รวมทั้งชาวเขา) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทหารเกณฑ์ ซึ่งมักมาจากต่างพื้นที่แต่เคยกินเห็ดลักษณะนี้มาก่อน

โดยสรุป ในพื้นที่ที่มีเห็ดที่ทำให้ถึงชีวิตซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยๆ เช่น จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่มักเสียชีวิตจากเห็ดไข่ห่าน ควรให้สุขศึกษาในช่วงก่อนหน้าฝนโดยเน้นให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดไข่ห่านไม่ว่าชนิดใดๆ โดยเน้นในพื้นที่และกลุ่มประชากรที่พบบ่อยๆ




ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการรับประทานเห็ด


เห็ดในธรรมชาติมีหลายชนิด ดังนั้นการจำแนกว่าเห็ดชนิดใดมีพิษหรือไม่มีพิษบางครั้งเป็นเรื่องยาก หลักสำคัญคือการรู้จักเห็ดชนิดนั้น ๆ เป็นอย่างดีก่อนจะเลือกมารับประทาน หากแต่ว่าชาวบ้านบางส่วนยังมีความเชื่อที่ผิดในการทดสอบความเป็นพิษของเห็ดเมา เช่น

1. เห็ดที่มีแมลงกัดกินย่อมรับประทานได้

หากแต่ว่าจากการศึกษาวิจัยในกรณีคนไข้นำเอา เห็ดไข่ห่านขาว (Amanita virosa) ที่รับประทานแล้วเสียชีวิตจากตับวาย มาทำการแยกชนิดและเพาะเชื้อเห็ดในห้องทดลอง ผลปรากฏว่ามีแมลงหวี่เกิดขึ้น บ่งชี้ว่ามีแมลงหวี่ในธรรมชาติมาไข่ไว้ในครีบของเห็ดและแมลงก็สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับเห็ดได้

2. ถ้าเป็นเห็ดเมา หากขณะต้มหรือแกงให้ใส่ข้าวสารลงไปด้วยมันจะสุก ๆ ดิบ ๆ

3. เห็ดที่มีสีสวยมักจะเป็นเห็ดเมา

4. ถ้าน้ำต้มเห็ดถูกกับช้อนเงิน ช้อนเงินจะเปลี่ยนเป็นสีดำแสดงว่าเห็ดพิษ

5. เห็ดเมาถ้าใส่หัวหอมลงไปปรุงอาหารจะเป็นสีดำ

6. ใช้มือถูกลำต้นแล้วเป็นรอยดำแสดงว่าเห็ดนั้นมีพิษ

7. เห็ดที่ขึ้นผิดฤดูกาลมักเป็นเห็ดพิษ

ซึ่งความเชื่อดังกล่าวไม่สามารถแยกเห็ดพิษชนิดที่ทำให้เสียชีวิตออกจากเห็ดที่รับประทานได้







คำแนะนำในการบริโภคเห็ดธรรมชาติและเห็ดป่า
มีดังนี้

1. อย่าบริโภคเห็ดสด

2. หลีกเลียง เห็ดอ่อนสีน้ำตาลดอกเล็ก ๆ เพราะจำแนกยากและมีพิษมาก

3. หลีกเลียง เห็ดอ่อนสีขาว เพราะจำแนกยาก เช่น เห็ดระโงก ที่มีพิษร้ายแรง

4. ระมัดระวังการบริโภค
- เห็ดที่มีวงแหวน
- เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน
- เห็ดที่โคนก้านป่อง ออกเป็นกระเปาะ
- เห็ดที่มีเกล็ดบนหมวกดอก

5. หลีกเลี่ยงเห็ดผึ้ง (มีรูอยู่ใต้หมวกดอก) ชนิดที่ปากรูสีแดง และเมื่อทดลองถูที่ผิวปากรู จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน

6. หลีกเลี่ยงเห็ดที่มีรูปร่างคล้ายสมองและอานม้า

7. อย่าบริโภคเห็ดที่ขึ้นอยู่ใกล้มูลวัวควาย

8. อย่าบริโภคเห็ดธรรมชาติ และเห็ดป่าพร้อมกับการดื่มเหล้า เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้

9. เด็กอ่อน คนแก่ และผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ปอด ไต และตับ ไม่ควรบริโภคเห็ดธรรมชาติและเห็ดป่า

10. อย่าบังคับ หรือชวนคนไม่ชอบเห็ดหรือกลัวเห็ดให้บริโภคเห็ดป่า เพราะความกลัวอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้นั้นป่วยได้

11. ถ้าเป็นเห็ดที่ไม่เคยพบหรือไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดที่รู้จักไม่ควรบริโภคเห็ดเหล่านั้นโดยเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต







เอกสารอ้างอิง

1) ราชบัณฑิตยสถาน. เห็ดกินได้และเห็ดมีพิษในประเทศไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ. 2539.

2) สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย. เห็ดพิษ. กรุงเทพฯ. 2543.

3) ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ระวัง “เห็ดเมา” พิษร้ายในหน้าฝน ค้นวันที่ 12 มิถุนายน2553. จาก //www.vcharkarn.com/varticle/37619



แถม..

สถานการณ์ ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ด จังหวัดน่าน
วารสารคลินิก เล่ม :274
เดือน-ปี :10/2550
คอลัมน์ :นานาสาระ
นัก เขียนรับเชิญ :นพ.อภิชาติ รอดสม

//www.doctor.or.th/node/7452






Create Date : 17 มิถุนายน 2553
Last Update : 17 มิถุนายน 2553 16:30:34 น.
Counter : 4678 Pageviews.

0 comments
นอนให้พอดี ชีวิตจะดีทั้งกายและใจ สุดท้ายที่ปลายฟ้า
(1 ก.ค. 2568 13:56:39 น.)
Day..13 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(24 มิ.ย. 2568 08:47:08 น.)
10 อันดับเตียง 2 ชั้นยอดฮิตปีล่าสุด สวรรค์แห่งการพักผ่อนและการใช้ชีวิต สมาชิกหมายเลข 8540341
(23 มิ.ย. 2568 16:35:14 น.)
Day..11 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(18 มิ.ย. 2568 10:11:49 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]

บทความทั้งหมด