โรคบาดทะยัก


โรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักเกิดจากเชื้อที่อยู่ในดิน มีชื่อว่า คอสติเดี่ยม เตตะไน ( Clostridium tetani ) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสร้าง สารพิษ ( toxin ) ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะจับกับเส้นประสาททำให้การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ

เชื้อมักจะเข้าทางบาดแผลบางครั้งแผลอาจจะเล็กมากจนไม่เป็นที่สังเกต แผลที่ลึก หรือแผลที่มีเนื้อตายมากจะเกิดติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนั้นเชื้ออาจเกิดจากการทำแท้ง ฉีดยาเสพติด แผลไฟไหม้ แผลจากแมลงกัด ก็ได้


หลังรับเชื้อกี่วันจึงเกิดอาการ

ผู้ป่วยจะเกิดอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2 วันถึง 2 เดือน โดยเฉลี่ยจะเกิดอาการภายใน 14 วัน


อาการของโรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักมักเป็นกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบแผล หลังจากนั้น 1 - 7 วันการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อจะกระจายทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อกรามทำให้อ้าปากไม่ได้ กลืนน้ำลายลำบาก คอ หลังเกร็ง และปวด หลังจากนั้นกล้ามเนื้อทั่วร่างกายก็จะเกร็งทั้งหมดโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ช่วยหายใจทำให้หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตจากหายใจวาย



การรักษา

• ต้องนอนในโรงพยาบาลควรอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก ( ICU ) ห้องที่อยู่ควรเงียบ แสงสว่างไม่มาก

• ให้ยาปฏิชีวนะ นิยมให้ เพนนิซิลิน ( penicillin )

• ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ

• ให้ยา tetanus antitoxin

• ทำความสะอาดแผล



การป้องกัน

• โดยการ ฉีดวัคซีน TOXOID ตามกำหนด และซ้ำทุก 10 ปี

• ทำความสะอาดแผล และให้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม



แผลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก

• บาดแผลที่มีเนื้อตายจำนวนมาก

• มีการติดเชื้อเป็นหนอง

• มีสิ่งแปลกปลอมตกค้าง

ตัวอย่างแผล เช่น แผลไฟไหม้ การติดเชื้อของสายสะดือ กระดูกหักชนิดแทงทะลุผิวหนัง การติดเชื้อจากทำแท้ง



ใครควรได้รับการฉีด ฉีดวัคซีน TOXOID

ผู้ใหญ่ทุกคนควรได้รับวัคซีน เมื่อเด็กอายุ 14 – 16 ปี ถ้าภายใน 5 ปียังไม่เคยได้วัคซีนมาก่อนให้ฉีด 1 เข็ม

ผู้ที่มีแผล ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก



จะฉีดวัคซีนอย่างไรกับผู้ป่วยที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน

• ให้ฉีด 3 เข็ม เข็มแรกฉีดได้เลย เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 - 2 เดือน ส่วนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่สอง 6 - 12 เดือน โดยฉีดยาปริมาณ 0.5 ซีซี เข้ากล้ามเนื้อ แล้วฉีดกระตุ้นทุก10 ปี

• ไม่แนะนำให้ฉีด toxoid ถ้าบุคคลผู้นั้นได้ toxoid ครั้งล่าสุดไม่เกิน 5 ปี


ลักษณะแผล

• ในกรณีแผลสะอาดและเกิดในช่วง 10 ปีหลังได้ toxoid ครั้งสุดท้ายแนะนำว่าไม่ต้องฉีด

• กรณีแผลสกปรกแต่เกิดในช่วง 5 ปีหลังการฉีดวัคซีนแนะนำว่าไม่ต้องฉีด

• กรณีแผลสะอาดแต่ได้วัคซีนเกิน 10 ปีแนะนำให้ฉีดวัคซีน

• กรณีแผลสกปรกและได้วัคซีนเกิน 5 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปีให้ฉีดวัคซีน

• ผู้ป่วยได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ทราบถ้าแผลสะอาดให้ฉีด toxoid ถ้าแผลสกปรกให้ฉีดTetanus immune globulin(TIG) ร่วมกับ toxoid

• ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีบาดแผลควรได้รับ Tetanus immune globulin(TIG)


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

โรคบาดทะยัก
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคTetanus
ลักษณะโรค
เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani ซึ่งผลิต exotoxin ที่มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้โรคนี้จึงมีชื่อเรียกหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) ผู้ป่วยจะมีคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว ทำให้มีอาการชักได้
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งเป็น anaerobic bacteria ย้อมติดสีแกรมบวก มีคุณสมบัติที่จะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ (spore) ที่ทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อหลายอย่างสามารถสามารถสร้าง exotoxin ที่ไปจับและมีพิษต่อระบบประสาท
ระบาดวิทยา
โรคบาดทะยักพบได้ทั่วไปทุกแห่ง เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะในรูปแบบของสปอร์พบติดตามพื้นหญ้าทั่วไปได้นานเป็นเดือนๆ หรืออาจเป็นปี เชื้อจะพบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยมูลสัตว์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยจะแบ่งตัวและขับ exotoxin ออกมา เชื้อจะเจริญแบ่งตัวได้ดีในแผลลึก อากาศเข้าไม่ได้ดี เช่น บาดแผลตะปูตำ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผิวหนังถลอกบริเวณกว้าง บาดแผลในปาก ฟันผุ หรือเข้าทางหูที่อักเสบ โดยการใช้เศษไม้ หรือต้นหญ้าที่มีเชื้อโรคนี้ติดอยู่แคะฟันหรือแยงหู บางครั้งอาจเข้าทางลำไส้ได้
ทางเข้าที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในทารกแรกเกิดคือ เชื้อเข้าทางสายสะดือที่ตัดด้วยกรรไกร หรือของมีคมที่ไม่สะอาด ที่พบบ่อยในชนบทคือ การใช้ไม้ไผ่ หรือมีดทำครัวตัดสายสะดือและการพอกสะดือด้วยยากลางบ้าน หรือโรยด้วยแป้งที่อาจปนเปื้อนเชื้อบาดทะยัก ทำให้เชื้อเข้าสู่แผลรอยตัดที่สะดือ ทำให้เกิดโรคบาดทะยักในทารกเกิด
อาการและอาการแสดง
หลังจากได้รับเชื้อ สปอร์ที่เข้าไปตามบาดแผลจะแตกตัวออกเป็น vegetative form ซึ่งจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิต exotoxin ซึ่งจะกระจายจากแผลไปยังปลายประสาทที่แผ่กระจายอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ระยะจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการเริ่มแรก คือ มีอาการขากรรไกรแข็ง ที่เรียกว่าระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-28 วัน เฉลี่ย 8 วัน
  1. บาดทะยักในทารกแรกเกิดอาการมักจะเริ่มเมื่อทารกอายุประมาณ 3-10 วัน อาการแรกที่จะสังเกตได้คือ เด็กดูดนมลำบาก หรือไม่ค่อยดูดนม ทั้งนี้เพราะมีขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ต่อมาเด็กจะดูดไม่ได้เลย หน้ายิ้มแสยะ (Risus sardonicus หรือ Sardonic grin) เด็กอาจร้องครางต่อมาจะมีมือ แขน และขาเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ถ้าเป็นมากจะมีอาการชักกระดุกและหน้าเขียวอาการเกร็งหลังแข็งและหลังแอ่นนี้จะเป็นมากขึ้น ถ้ามีเสียงดังหรือเมื่อจับต้องตัวเด็ก อาการเกร็งชักกระดุกถ้าเป็นถี่ๆ มากขึ้น จะทำให้เด็กหน้าเขียวมากขึ้น ทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้เพราะขาดออกซิเจน
  2. บาดทะยักในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เมื่อเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคก่อนที่จะมีอาการประมาณ 5-14 วัน บางรายอาจนานถึง 1 เดือน หรือนานกว่านั้นได้ จนบางครั้งบาดแผลที่เป็นทางเข้าของเชื้อบาดทะยักหายไปแล้ว อาการเริ่มแรกที่จะสังเกตพบคือ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ มีคอแข็ง หลังจากนี้ 1-2 วัน ก็จะเริ่มมีอาการเกร็งแข็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายคือ หลัง แขน ขา เด็กจะยืนและเดินหลังแข็ง แขนเหยียดเกร็งให้ก้มหลังจะทำไม่ได้ หน้าจะมีลักษณะเฉพาะคล้ายยิ้มแสยะและระยะต่อไปก็อาจจะมีอาการกระตุกเช่นเดียวกับในทารกแรกคลอด ถ้ามีเสียงดังหรือจับต้องตัวจะเกร็ง และกระดุกมากขึ้น มีหลังแอ่น และหน้าเขียว บางครั้งมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้มีการหายใจลำบากถึงตายได้
การวินิจฉัยโรค
อาจจะเพาะเชื้อ C.tetani ได้จากแผล โดยทั่วไปแล้วมักจะเพาะเชื้อไม่ได้ การวินิจฉัยส่วนใหญ่จึงอาศัยอาการทางคลินิก
โรคบาดทะยักจะวินิจฉัยแยกโรคจากโรคสมองอักเสบได้จากการที่โรคบาดทะยักไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับการรู้สติ นอกจากในรายที่ชักมากจนสมองขาดออกซิเจน
การรักษาพยาบาล
  1. การปฏิบัติก่อนที่จะนำไปพบแพทย์ ถ้าสังเกตว่าเด็กไม่ดูดนมและไม่อ้าปากแสดงว่ามีขากรรไกรแข็ง อย่าพยายามฝืนหรือกรอกนม เพราะอาจจะทำให้สำลักนมเข้าทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจอาจถึงตายได้ทันที หรืออาจทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องตัวโดยไม่จำเป็น และอย่าให้มีเสียงดังรบกวนเพราะจะทำให้ชักเกร็งมากขึ้นได้
  2. การรักษาเฉพาะให้ tetanus antitoxin (TAT) 10,000-20,000 หน่วยเข้าหลอดเลือด หรือให้ tetanus immune globulin (TIG) 3,000-6,000 หน่วยกล้ามเนื้อ เพื่อให้ไปทำลาย tetanus toxin ที่ยังไม่จับที่ระบบประสาทให้ยาปฏิชีวนะ penicillin ขนาดสูง เพื่อทำลายเชื้อ C.tetani ที่บาดแผล
  3. ให้การรักษาตามอาการ ให้ยาระงับชัก ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ งดอาหารและน้ำทางปาก ในขณะที่มีอาการเกร็งหรือชักให้อาหารทางหลอดเลือด
  4. ดูแลเรื่องการหายใจ
หมายเหตุ: ก่อนให้ antitoxin ต้องทำ skin test
การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Criteria)
วิธีเพาะเชื้อ (Culture) โดยเก็บตัวอย่างเข้าไปลึก ๆ ที่แผล เนื่องจากเชื้อเป็น Anaerobe ใส่ใน Stuart transport media หรือภาชนะที่มีฝาปิดแต่ต้องรีบส่ง การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำในกรณีที่มีบาดแผลโดยจะพบเชื้อได้ประมาณ 30 % แต่การแปรผลจากการพบเชื้ออาจจะเป็นเชื้อที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสาเหตุของบาดทะยักในครั้งนี้ก็ได้ ฉะนั้นการวินิจฉัยบาดทะยักจึงไม่จำเป็นต้องใช้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การควบคุมป้องกัน
  1. เมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาดเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อถ้าแผลลึกต้องใส่ drain ด้วย
  2. ใช้เครื่องมือที่สะอาดในการทำคลอด เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องต้มในน้ำเดือดนาน ?-1 ชั่วโมง รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็คด้วย alcohol 70 % เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่างๆ โรยสะดือ ไม่ควรห่อหุ้มพันท้อง หรือปิดสะดือ
  3. ในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อพิจารณาให้ tetanus toxoid (T) ป้องกันโรคบาดทะยักให้ครบและให้ TAT หรือ TIG ในรายที่แผลใหญ่สกปรกมาก ในรายที่เคยได้วัคซีนมาแล้วครบ 4-5 ครั้ง ในระยะ 5-10 ปี ให้วัคซีน T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียว ในรายที่ได้วัคซีนนานเกิน 10 ปี และมีบาดแผลมานานเกิด 24 ชั่วโมงให้ T 0.5 มล. เข้ากล้ามครั้งเดียวพร้อมกับให้ TAT ด้วย
  4. ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยักต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ
การป้องกันที่ดีที่สุด คือให้วัคซีนป้องกัน DTP ตั้งแต่อายุ 2, 4 และ 6 เดือนและเพิ่มอีก 2 ครั้งเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นอาจให้ทุก 10 ปี โดยให้เป็น T หรือ dT

สำหรับการป้องกันบาดทะยักในทารกแรกเกิดที่ดีที่สุด คือการคลอดและตัดสายสะดือโดยถูกต้อง สะอาด ดูแลสะดือดังกล่าวข้างต้น และที่ได้ผลดีคือการให้ T แก่หญิงมีครรภ์ โดยให้ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน ครั้งสุดท้ายควรจะต้องให้ก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับ T 2 ครั้ง ตามกำหนดนี้จะสร้าง antitoxin ซึ่งจะผ่านไปยังทารกแรกเกิดในระดับที่สูง พอที่จะป้องกันโรคบาดยะยักได้ และ antitoxin จะยังคงอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันได้นานถึง 3 ปี แต่เพื่อให้แน่ใจว่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงและอยู่นาน ในปัจจุบันจึงแนะนำให้ฉีด T เข็มที่ 3 ในระยะ 6-12 เดือน หลังเข็มที่ 2 ซึ่งอาจจะให้ในระยะหลังคลอด การได้รับ 3 ครั้ง จะทำให้ระยะภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน 5-10 ปี ในพื้นที่ที่มีอุบัติการโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดสูง จะแนะนำให้ T แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ 3 ครั้ง 2 ครั้งแรกห่างกัน 1 เดือน ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน
ตารางที่ 1 ระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง
ระยะห่างระหว่างโด๊ส
T1-T2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์
T2-T3 อย่างน้อย 6 เดือน
T3-T4 อย่างน้อย 1 ปี
T4-T5 อย่างน้อย 1 ปี
ตารางที่ 2 ระยะเวลาที่วัคซีนสามารถป้องกันโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดได้
เมื่อได้ครบ ระยะเวลาที่ป้องกันได้
1 โด๊ส ป้องกันไม่ได้
2 โด๊ส 3 ปี นับตั้งแต่หลังฉีด dose สุดท้าย 15 วัน
3 โด๊ส 5 ปี นับตั้งแต่หลังฉีด dose สุดท้าย 15 วัน
4 โด๊ส 10 ปีนับตั้งแต่หลังฉีด dose สุดท้าย 15 วัน

//www.boe.moph.go.th/fact/Tetanus.htm
//haamor.com/th/บาดทะยัก/
https://medthai.com/บาดทะยัก/
https://www.pobpad.com/บาดทะยัก
:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::




Create Date : 10 มีนาคม 2551
Last Update : 21 กรกฎาคม 2560 21:23:53 น.
Counter : 4517 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด