มะเร็งเต้านม โรคร้ายอันดับ ๑ ของหญิงไทย


กรมการแพทย์เผยเดือนตุลาคม...ทั่วโลกรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยของมะเร็งเต้านม

https://www.facebook.com/643148052494633/photos/a.644390729037032/1918921521583940/

กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้มะเร็งเต้านมภัยร้ายของผู้หญิง พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก และพบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในเดือนตุลาคมของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ออกมารณรงค์ให้ทุกคนตระหนักในเรื่อง “ภัยของมะเร็งเต้านม” ซึ่งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.1 ล้านคน เสียชีวิตราว 630,000 คน

สำหรับประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย แต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 14,800 คน หรือคิดเป็น 41 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตถึง 12 คนต่อวัน ซึ่งแนวโน้มอัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย และดื่มสุรา รวมถึงบางปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น เป็นต้น

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งเต้านมเกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติส่วนใดส่วนหนึ่งภายในเต้านมแล้วเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง อาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงและแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่นของร่างกายได้

มะเร็งเต้านมสามารถพบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศชายในอัตราที่น้อยมาก ผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการและมักมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนเนื้อในเต้านมหรือบริเวณรักแร้ อาการอื่น ๆ อาจสังเกตได้จากขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นแผลและอาจมีน้ำเหลืองหรือของเหลวสีคล้ายเลือดไหลออกมาหรือเป็นผื่นบริเวณหัวนม

ในด้านการรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การรักษาด้วยเคมีบำบัด และฮอร์โมน หรือแพทย์อาจใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษาซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทีมแพทย์และระยะของโรค สุขภาพและความต้องการของ แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ก็เป็นมะเร็งที่มีโอกาสรักษาหายขาดหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เราสามารถตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน เข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือพยาบาลเป็นครั้งคราว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม

#กรมการแพทย์ #สถาบันมะเร็งแห่งชาติ #มะเร็งเต้านม - ขอขอบคุณ - 12 ตุลาคม 2563


*******************************************************

มะเร็งเต้านม โรคร้ายอันดับ ๑ ของผู้หญิงชาวกรุง

ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเท่าเทียมกัน วงการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากสาเหตุใด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเด็ดขาด

วิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้ขณะนี้คือ ต้องค้นหามะเร็งเต้านมให้พบโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่มะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ และทำให้เสียชีวิต

ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงบางคนมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ คือ เรื่องของกรรมพันธุ์ และ วิถีในการดำเนินชีวิต

ผู้หญิงควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนาด และรูปร่างของเต้านม อาการบวมที่รักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังที่เปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ หรือ บางส่วนเป็นสะเก็ด หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม (ร้อยละ ๒๐ ของการมีเลือดออกเป็นมะเร็ง)

จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๙๐) มีก้อนที่เต้านม แต่อย่าตกใจไป เพราะก้อนในเต้านมที่พบ ใน ๑๐๐ รายมีเพียง ๑๕-๒๐ ราย เท่านั้นที่จะเป็นมะเร็งเต้านม



ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม

๑. สาเหตุของการเป็นมะเร็งเต้านม ไม่เกี่ยวกับการถูกกระแทก การถูก จับหรือลูบคลำ และมะเร็งเต้านมไม่ใช่เป็นโรคติดต่อ

๒. ถ้าประวัติครอบครัวมีแม่เป็นมะเร็งเต้านม ลูกสาวก็จะมีความเสี่ยงเพิ่ม ยิ่งถ้าทั้งแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกัน จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น

๓. ผู้หญิงที่ไม่เคยมีลูก จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่เคยมีลูกและผู้หญิงที่มีลูกหลังอายุ ๓๐ ปี จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มมากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก

๔. ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย เช่น อายุ ๑๑ ปี ก็เริ่มมีประจำเดือนแล้วและอีกกลุ่มหนึ่งผู้หญิงที่อยู่ในวัยทอง ระหว่างอายุ ๕๐-๕๕ ปี มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม

๕. ผู้หญิงที่มีประวัติการเป็นซีสต์ (cyst) หรือถุงน้ำ ไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ควรจะตรวจเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์

๖. การกินอาหารที่มีไขมันสูงอาจส่งผลและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ผู้หญิงควรกินอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นอาหารที่มีกากใยมากและอาหารไขมันต่ำ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

๗. ฮอร์โมนไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ถ้ามีการใช้ฮอร์โมนในขณะที่มีมะเร็งเต้านมจะทำให้มะเร็งเต้านมเติบโตเร็วขึ้น

สรุปคือ ผู้หญิงทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมเท่าๆ กัน เพราะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ ๗๕ ไม่ได้มีความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น


ขอขอบคุณ:

ศูนย์ถันยรักษ์ มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โทรศัพท์. ๐-๒๔๑๙-๘๗๔๙-๕๑

บทความจาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๒๘๐ สิงหาคม ๒๕๔๕



บทความนี้มีประโยชน์ โปรดเก็บไว้และส่งต่อให้ผู้อื่น

มูลนิธิหมอชาวบ้าน

“โครงการเพื่อการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง”

36/6 ประดิพัทธ์ ซอย 10 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.10400

ข้อมูลเพิ่มเติม
www.doctor.or.th

หากท่านต้องการแสดงความคิดเห็น หรือถ้าท่านไม่ต้องการรับข่าวของมูลนิธิกรุณาแจ้งได้ที่

โทร 0-2618-4710 ต่อ 16
e-mail : fdf2pr@doctor.or.th

 



Create Date : 18 ธันวาคม 2551
Last Update : 12 ตุลาคม 2563 14:39:10 น.
Counter : 3980 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด