โรคเบาหวาน (Diabetes Millitus) ... ( นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง )
โรคเบาหวาน คือ โรคที่เซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน โดยขบวนการนี้เกี่ยวข้องกับอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อนเพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าระดับปกติ โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุของการเกิดโรค  

1.   โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบในเด็ก

2.   โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T1DM) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนร่วมด้วย  

3.   โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์

4.   โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes) มีได้หลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น

การวินิจฉัยเบาหวาน ทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 4 วิธี ดังต่อไปนี้

1.   มีอาการโรคเบาหวานชัดเจน ได้แก่ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ ร่วมกับตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ถ้ามีค่า ≥200 มก./ดล.

2.   ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) ≥ 126 มก./ดล. 

3.   การตรวจความทนต่อกลูโคส โดยให้รับประทานกลูโคส 75 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่ 2 ชั่วโมง ถ้ามีค่า ≥ 200 มก./ดล.

4.   การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C) ≥ 6.5% โดยวิธีการตรวจและห้องปฏิบัติการต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งยังมีน้อยในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้

ตามแนวทางเวชปฏิบัติของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560 กล่าวว่าการวินิจฉัยโรคเบาหวานตามข้อที่ 2-4 ต้องมีการตรวจยืนยันอีกครั้งโดยใช้ตัวอย่างเลือดอันใหม่ ด้วยวิธีเดียวกันหรือต่างกันในวันถัดไป อย่างไรก็ตามแนวทางเวชปฏิบัติของสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2562 ได้มีการเปลี่ยนแปลงว่า สามารถตรวจยืนยันอีกครั้งโดยใช้ตัวอย่างเลือดอันเดิมหรืออันใหม่ก็ได้ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

         เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวจากเบาหวาน ทำได้โดยการควบคุมระดับน้ำตาล ในปัจจุบันระดับน้ำตาลที่เป็นเป้าหมายจะมีค่าที่เหมาะในผู้ป่วยแต่ละราย โดยขึ้นกับอายุ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน การมีโรคแทรกซ้อน ความเจ็บป่วยและโรคร่วม รวมถึงประวัติการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้าเป็นเบาหวานมาไม่นาน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือโรคร่วม ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงค่าปกติ หรือระดับ A1C < 6.5% (ถ้าเป็นไปได้) หรือ < 7% ในขณะผู้ที่เป็นเบาหวานมานานและมีภาวะแทรกซ้อน หรือโรคร่วมหลายโรคที่รุนแรง เป้าหมายของระดับ A1C ประมาณ 7-8% ส่วนในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี ถ้าไม่มีโรคร่วม ควรควบคุมให้เป้าหมายของ A1C < 7% ถ้ามีโรคร่วมแต่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ เป้าหมายของ A1C ควรอยู่ที่ 7-7.5% ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่มีเปราะบาง อาจให้เป้าหมาย A1C สูงได้ถึง 8.5% ดังนั้นการตั้งเป้าหมาย A1C

 บทความจาก ผศ.พญ. พิมพ์ใจ อันทานนท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย



 

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย


https://www.dmthai.org/index.php/knowledge/for-normal-person/health-information-and-articles/health-information-and-articles-old-3/846-2019-04-20-01-49-18?fbclid=IwAR1JUxMGqz4mX5Z1tn6hRjIwEE4AGhjsDZ8z34lBY5l0qZtqneQYy1WWGAs

****************************************

เป็นเบาหวานตั้งครรภ์ ได้หรือไม่?
คำตอบคือ ได้แน่นอน ถ้ามีการเตรียมตัวที่ดี

การตั้งครรภ์โดยไม่มีการเตรียมตัวจะส่งผลไม่ดีต่อแม่ทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวาน โดยถ้ามีเบาหวานขึ้นตาจะทำให้โรคแย่ลง และผลไม่ดีต่อทารกในครรภ์เพราะทำให้ทารกในครรภ์พิการหรือมีน้ำหนักตัวมากทำให้คลอดยาก

แต่ถ้าผู้เป็นเบาหวานมีการเตรียมตัวที่ดีก่อนการตั้งครรภ์และดูแลให้ระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเกณฑ์ขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ทั้งแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพที่ดีแข็งแรง และคลอดปลอดภัย

โดยการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์สำหรับผู้เป็นเบาหวานได้แก่

1. ผู้เป็นเบาหวานในวัยเจริญพันธ์ควรได้รับการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม และเมื่อต้องการจะตั้งครรภ์ต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเสมอ

2. ควบคุมระดับฮีโมโกลบินเอวันซีให้น้อยกว่า 6.5%

3. ได้รับการประเมินหาาภาวะแทรกซ้อนที่ตาโดยการตรวจจอประสาทตาและที่ไตโดยการตรวจปัสสาวะ ถ้ามีความผิดปกติให้การรักษาอย่างเหมาะสมก่อนจึงจะตั้งครรภ์

4. หยุดยาบางชนิดที่ได้รับอยู่ เช่นยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน และยาลดความดันเลือดในกลุ่ม ACEI หรือ ARB ส่วนยาเบาหวานนั้นให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล

บทความจาก ผศ. พญ. อภิรดี ศรีวิจิตรกมล

https://www.dmthai.org/index.php/knowledge/for-normal-person/health-information-and-articles/health-information-and-articles-old-3/854-2019-05-25-09-47-54



****************************************



โรคเบาหวาน (Diabetes Millitus)

ร่างกายของคนเรามีความสามารถในการรักษาสภาวะต่าง ๆ ภายในร่างกายให้สมดุลย์อยู่เสมอ ระดับน้ำตาลก็เช่นกัน ถ้าน้ำตาลในร่างกายอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถไปใช้ได้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินขีดความสามารถที่ร่างกายจะกักเก็บไว้ได้ น้ำตาลก็จะถูกขับออกมากับปัสสาวะ หรือที่เราเรียกว่า เบาหวาน

ในคนปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 60-120 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ และ ในปัสสาวะไม่ควรมีน้ำตาล


อาการของโรค
ถ่ายปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ทานอาหารเยอะแต่น้ำหนักลดลง อ่อนเพลีย คันตามผิวหนัง เป็นแผล หรือ ฝีแล้วหายยาก ตามัวพร่า ชาตามปลายมือและเท้า

โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ

- หลอดเลือดตีบแข็ง โรคหัวใจ ความรู้สึกทางเพศเสื่อม วัณโรค ความดันโลหิตสูง ประสาทตาพิการ ไตวาย

- การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างดี จะช่วยเลื่อนเวลาของโรคแทรกซ้อนที่น่ากลัวได้


อาการของ น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ

- ถ้าน้ำตาลในเลือดสูง มีอาการหน้ามืด ใจสั่น เป็นลม เวียนศีรษะมีอาการคล้ายเป็นลม ให้รีบหาแพทย์ ทันที

- ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำ อาการจะเกิดอย่างกระทันหันเหมือนน้ำตาลในเลือดสูงหน้ามืด ใจสั่น เป็นลม เวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ให้รับประทานน้ำหวาน ลูกอม หรือขนมหวานทันที จะช่วยให้อาการดีขึ้น


การควบคุมอาหารสำคัญอย่างไร

การควบคุมอาหารมีความสำคัญในการักษาเบาหวานมาก ถ้าควบคุมอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูง และช่วยลดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน การรักษาโรคเบาหวานให้ได้ผลนั้นจำเป็นต้องควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอแม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการกินยาหรือฉีดอินซูลินแล้วก็ตาม ก็จำเป็นต้องควบคุมอาหารร่วมด้วย


จุดมุ่งหมายของการควบคุมอาหาร

1. ให้ผู้ป่วยสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติ

2. ควบคุมน้ำหนักของผู้ป่วยให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควรเป็น

3. ป้องกันอาการหมดสติ เนื่องจากภาวะเป็นกรดในเลือดสูง เป็นผลสืบเนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

4. ป้องกันอาการหมดสติ อันเนื่องจากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

5. ลดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากโรคเบาหวาน

6. ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง สามารถดำรงชีวิตและทำงานต่าง ๆ ได้เป็นคนปกติ


ผู้ป่วยเบาหวานจะรับประทานอาหารอย่างไร

1. ทานอาหารครบ 5 หมู่ ประกอบด้วย เนื้อสัตว์ ข้าวหรือแป้งอื่น ๆ ไขมัน ผักผลไม้

2. ทานข้าวเป็นประจำตามที่กำหนด ตรงเวลา และไม่ควรงดอาหารมื้อหนึ่งมื้อใด โดยเฉพาะผู้ได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน เพราะอาจมีผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำจนหมดสติได้

3. ทานผักให้มาก โดยเฉพาะผักประเภทใบ และถั่วสด เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ฯลฯ

4. ตักข้าวตามจำนวนที่กำหนด ไม่ควรเติมอีกถ้าไม่อิ่มให้ทานผักเพิ่มลดอาหารประเภทแป้ง

5. หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน น้อยหน่า ลำใย ละมุด อ้อย ลูกเกด ลำใยแห้ง ผลไม้กระป๋อง

6. ทานผลไม้ที่หวานน้อย ในจำนวนจำกัด เช่น แตงโม 10 ชิ้น มะละกอ 6 ชิ้น มะม่วงสุก,ดิบ 1/2 ผล มังคุด 2 ผล เงาะ 5 ผล แอปเปิ้ล 1 ผล องุ่นสด 8 เม็ด สับปะรด 6 ชิ้น ชมพู่ 3 ผล ฝรั่ง 1/4 ผลใหญ่ ส้มโอ 2 กลีบ ส้มเขียวหวาน1ผล

7. งดของหวานและขนมที่ใส่น้ำตาล เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง สังขยา ขนมหม้อแกง กะละแม ข้าวเหนียวแดง เม็ดขนุน มะพร้าวแก้ว อาหารเชื่อมทุกชนิด เช่น ลูกตาลเชื่อม กล้วยเชื่อม มันเชื่อม มะตูมเชื่อม พุทราจีนเชื่อม ไอศกรีม

8. หลีกเลี่ยงการทานไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ หนังไก่ ข้าวขาหมู เครื่องในสัตว์

9. ใช้น้ำมันพืชเช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ น้ำมันฝ้าย น้ำมันข้าวโพด แต่ไม่ควรใช้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม

10. หลีกเลี่ยงอาหารทอดที่มีน้ำมันมาก เช่นปาท่องโก๋ แฮ่กิ้น ข้าวเกรียบทอด ข้าวตังทอด มันทอด ฯลฯ

11. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ เช่น เบียร์ เหล้า ไวน์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ควรดื่มเพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง


อาหารที่ผู้ป่วยควรรับประทานและไม่ควรรับประทาน

1. นมสด เป็นอาหารที่มีประโยชน์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรเลือกดื่มชนิดนมจืด ไม่เติมน้ำตาลหรือชนิดไม่ปรุงแต่ง

น้ำนมผสมคืนรูป เป็นนมผงที่นำมาผสมกับน้ำเช่น นมสดตราหมี นมบลูซิลของโฟร์โมสต์ ควรเลือก ชนิดจืด

นมสดระเหย หรือนมข้นจืด มีลักษณะข้นเท่านมสดธรรมดา ในประเทศไทยให้นมผงที่ไม่มีไขมันผสมกับเนยหรือน้ำมันพืช และเติมน้ำครึ่งหนึ่งของนมธรรมดา เช่น นมข้นจืด ตราดอกมะลิ ตราดอกคารเนชั่น ไม่ควรใช้มากนัก

นมเปรี้ยว โยเกิตร์ มีทั้งชนิดปรุงแต่งด้วยน้ำเชื่อม ผลไม้ และ ชนิดไม่ปรุงแต่ง ผู้ป่วยควรเลือกชนิดที่ไม่ปรุงแต่งรส

นมข้นหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ควรใช้นมชนิดนี้ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

น้ำนมถั่วเหลืองสำเร็จรูป เช่น นมถั่วเหลืองเกษตร โบมัน แล็คตาซอย ไวตามิลค์ จะเติมน้ำตาลลงไปด้วยทำให้มีรสหวาน ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยอาจดื่มน้ำนมถั่วเหลืองได้ แต่ต้องเป็นแบบไม่เติมน้ำตาล

2. ผัก ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานผักมาก ๆ เพราะใยอาหารในผักจะช่วยให้น้ำตาลถูกดูดซึมได้น้อยลง จึงช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงทั้งยังไม่ให้ท้องผูกอีกด้วย ผักรับประทานเท่าใดก็ได้เพราะให้แรงงานน้อยมากได้แก่ หน่อไม้ ผักกวางตุ้ง มะเขือเทศ ผักกาดขาว ถั่วงอก ผักคะน้า พริก ตำลึง กะหล่ำดอก ถั่วพลู คึ่นช่าย มะเขือต่าง ๆ กะหล่ำปลี ชะอม น้ำเต้า มะระ บวบ ผักโขม ยอดฟักทอง ใบกุยช่าย แตงกวา ผักบุ้ง ต้นหอม ฯลฯ

ไม่ควรทาน ผักที่มีคาร์โบไฮเดรทมาก เช่น ฟักทอง แครอท สะเดา สะตอ มะรุม ลูกเนียง ถั่วลันเตา

3. ผลไม้ จะมีน้ำตาลอยู่โดยธรรมชาติจะแตกต่างกันตามชนิดของผลไม้ ควรเลือกชนิดที่ไม่มีรสหวานมาก

4. ธัญญพืช และเผือกมันต่าง ๆ เป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรทมาก ไม่ควรรับประทานมากเกินไป อาหารจำพวกนี้ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน วุ้นเส้น ขนมปัง เผือกมันต่าง ๆ แต่ ข้าวซ้อมมือ รับประทานได้เพราะมีใยอาหารมาก
วุ้นเส้น เป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานคิดว่ารับประทานได้โดยไม่จำกัด เพราะเป็นโปรตีนจากถั่ว แต่ที่จริง วุ้นเส้นเป็นอาหารจำพวกแป้งเช่นเดียวกับข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว ดังนั้นจึงต้องจำกัดการรับประทานวุ้นเส้นเช่นเดียวกัน

5. เนื้อสัตว์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรทานเนื้อให้เพียงพอกับร่างกายประมาณ 3-4 ช้อนกินข้าวหรือประมาณครึ่งขีดต่อมื้อ เนื้อสัตว์เหล่านี้จะเป็น ปลา กุ้งหอ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เต้าหู้หรือเมล็ดถั่วแห้ง หากรับประทานมากเกินไปโปรตีนจะเปลี่ยนแปลงเป็นรูปของไขมัน ทำให้อ้วนได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่ทานเครื่องในบ่อยเกินไป

6. ไข่ เป็นอาหารที่มีประโยชน์มาก ผู้ป่วยไม่ควรงด ควรรับประทานไข่เป็ดหรือไข่ไก่ ประมาณสัปดาห์ละ 3-4 ฟอง สำหรับผู้ป่วยที่โคเลสเตอรอลในเลือดสูงอาจกินสัปดาห์ละ 2 ฟอง แต่ถ้ารับประทาน เพียงไข่ขาว ก็รับประทานได้ทุกวัน

7. น้ำตาลเทียมหรือขันฑสกร ไม่ห้ามในผู้ป่วยโรคเบาหวานแต่ควรรับประทานพอควร

8. อาหารที่มีใยสูง จะช่วยลดไขมันในเลือดและน้ำตาลได้ เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ขี้เหล็ก ยอด-มะกอก ใบแค เม็ดแมงลัก ฝรั่ง ข้าวซ้อมมือ และผักต่าง ๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานอาหารเหล่านี้ให้มากขึ้น

อาหารที่ผู้ป่วยรับประทานได้โดยไม่จำกัด
เช่น น้ำส้มสายชู น้ำปลา เกลือ มัสตาด มะนาว พริกไทย เครื่องเทศ เครื่องดื่มประเภทกาแฟ ชา ที่ไม่ได้ใส่น้ำตาล


ตัวอย่างอาหารโรคเบาหวาน

อาหารเช้า ข้าวต้มไก่ ไข่ลวก มะละกอสุก (หรือน้ำส้มคั้น 1 แก้ว)
อาหารกลางวัน ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าผักคะน้าหมู (ไม่ติดมัน) สับปะรด 1 จาน (9 ชิ้นขนาดคำ)
อาหารว่าง นมสดจืดเดนมาร์ค 1 แก้ว
อาหารเย็น ข้าวสวย แกงส้มผักรวมมิตรกุ้ง ปลาสลิดเค็ม ผักบุ้งไฟแดง แตงโม


ข้อควรปฏิบัติทั่วไป สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

1.รับประทานอาหารให้ถูกต้องตามที่กำหนดให้ และรู้จักวิธีใช้อาหารที่สามารถทดแทนกันได้ ระวังอย่าให้อ้วน

2.ใช้อินซูลิน หรือรับประทานยาเม็ดให้ถูกต้องตามเวลา

3. ระวังรักษาสุขภาพอย่าตรากตรำเกินไป

4. รักษาร่างกายให้สะอาด และระวังอย่าให้เกิดบาดแผล

5. หมั่นตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ

6. ออกกำลังกายแต่พอควรสม่ำเสมอ

7. ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย ตกใจ หวิวใจสั่น เหงื่อออก หรือมีอาการปวดศีรษะตามัว ให้รับประทานน้ำหวาน หรือน้ำตาลเข้าทันที ทั้งนี้เนื่องจากรับประทานอาหารไม่เพียงพอกับยา แต่ ถ้าได้รับประทานอาหารที่น้ำตาล มากเกินไปและได้อินซูลินหรือยาน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการง่วง ผิวหนังร้อนผ่าว คลื่นไส้ อาเจียน หายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ ถ้าทิ้งไว้อาจ ทำให้ไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิตได้ ต้องรีบตามแพทย์ทันที

8. ผู้ป่วยควรมีบัตรบ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน และกำลังรักษาด้วยยาชนิดใดอยู่เสมอ และควรมีขนมติดตัวไว้ด้วย

9. อย่าวิตกกังวลหรือเครียดมากเกินไป


หมายเหตุ .. บทความนี้ ผมไม่ได้เขียนขึ้นเอง แต่จำไม่ได้ว่า นำมาจากไหน ถ้าใครทราบ หรือ เห็นจากที่ไหน กรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วย ขอบคุณครับ



********************************************



ต้นหนานเฉาเหว่ย มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าต้นป่าช้าเหงา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnanthemum extensum จัดเป็นสมุนไพรจีน ใบมีรสขมจัด ซึ่งในขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในประชาชนที่มีความเชื่อว่า ใบหนานเฉาเหว่ยนั้นสามารถรักษา โรคเบาหวาน โรคเกาต์ และโรคมะเร็งได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถสรุปและยืนยันได้ว่า ใบหนานเฉาเหว่ยนั้น สามารถรักษาโรคดังกล่าวได้ และยังไม่มีรายงานความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่แน่ชัดที่อาจเกิดขึ้นได้

อย่าหลงเชื่อคำกล่าวอ้างสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆนะ เพราะแทนที่จะหายจากโรค แต่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้เลย ดังนั้นก่อนจะ แชร์ หรือเชื่ออะไรควรเช็กให้มั่นใจก่อนว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยสามารถมา เช็กให้ชัวร์กับ อย. กันก่อนนะ
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1732?fbclid=IwAR2ap8bcCUcf2cDPUew1np6F00V0oX2G1Xuzs0WkaKawkFvS_3IYJ0rCYnE

สมุนไพร หนานเฉาเหว่ย (ป่าช้าเหงา) .. ดี จริงหรือ ?    
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-12-2018&group=27&gblog=49


 



Create Date : 22 มีนาคม 2551
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2562 20:29:28 น.
Counter : 8717 Pageviews.

2 comments
10 อันดับเตียง 2 ชั้นยอดฮิตปีล่าสุด สวรรค์แห่งการพักผ่อนและการใช้ชีวิต สมาชิกหมายเลข 8540341
(23 มิ.ย. 2568 16:35:14 น.)
โจทย์ถนนสายนี้มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 378 - "ฝันที่ไม่เคยเป็นจริง" ทนายอ้วน
(13 มิ.ย. 2568 07:57:06 น.)
ถนนสายนี้มีตะพาบ ประจำหลักกิโลเมตรที่ 378 : ฝันที่ไม่เคยเป็นจริง The Kop Civil
(10 มิ.ย. 2568 11:07:24 น.)
วิ่งข้างบ้าน 1,2,4,5,7 มิ.ย.2568 สองแผ่นดิน
(8 มิ.ย. 2568 20:41:35 น.)
  
คุณแม่ของนางก็เป็นเบาหวานอยู่ค่ะ... ขออณุญาต print out ไปให้คุณแม่อ่านนะคะ

ขอบคุณค่ะ
โดย: coffee princess (Shuhan^_^ ) วันที่: 22 มีนาคม 2551 เวลา:16:46:06 น.
  

ยินดีครับ ..
โดย: หมอหมู วันที่: 24 มีนาคม 2551 เวลา:17:30:01 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]

บทความทั้งหมด