ข้อควรรู้ก่อนการตรวจโรคเอดส์

ข้อควรรู้ก่อนการตรวจโรคเอดส์

ดัดแปลงจากบทความของ นพ.รุ่งโรจน์ ตรีนิติ www.clinicrak.com


การติดเชื้อ เอดส์ หรือ เอชไอวี (HIV) เริ่มด้วย การรับเชื้อปริมาณที่พอเพียงเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ

1. เชื้อเข้ากระแสเลือดโดยตรง เช่น การฉีดยาเข้าเส้นเลือดโดยใช้เข็มร่วมกัน อุบัติเหตุเข็มตำ การรับเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อ

2. เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีรอยฉีกขาดหรือแผลเปิดหรือเยื่อบุช่องปาก ช่องทวาร อวัยวะเพศ โดยเชื้อปนเปื้อนกับของเหลวจากร่างกาย เช่น การมีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ติดเชื้อ บุคลากรสัมผัสกับน้ำคัดหลั่งที่มีเชื้อของผู้ป่วย

3. การถ่ายทอดจากแม่ที่ติดเชื้อไปสู่ทารกระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือ การดื่มนมแม่ ช่วงระยะเวลาจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเชื้อไวรัสออกสู่กระแสเลือด ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์

ช่วงนี้ถ้าจะตรวจหาว่ามีเชื้อเอดส์หรือไม่ก็สามารถตรวจได้โดยตรวจ แอนติเจน ( ตัวเชื้อ ) กว่าร่างกายจะสร้างแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน ) ก็ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน

ดังนั้นถ้าจะตรวจแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน )ได้ อย่างเร็วที่สุดก็ 3 สัปดาห์ (ก็ไม่ได้ หมายความว่าทุกคนจะมีแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน )ขึ้นเร็วอย่างนี้เสมอไป และผู้ป่วยทุกรายที่ติดเชื้อ( 99%) จะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ต้องตรวจพบแอนติบอดีได้แน่นอน


ตรวจเลือดเอดส์มีกี่แบบ

1. การตรวจหาแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน )ต่อ เอดส์ หรือ เอชไอวี (HIV) (Anti-เอดส์ หรือ เอชไอวี (HIV) antibody)

1.1 ELISA : เป็นการ "ตรวจคัดกรอง" (screening test) ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ทำได้ง่าย ไม่แพง มีความไวมาก ความแม่นยำเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าตรวจแล้วให้ผลบวกสองครั้ง จากน้ำยาของต่างบริษัท ก็ค่อนข้างมั่นใจได้

1.2 Western blot assay : เป็นการ "ตรวจยืนยัน" การติดเชื้อ เอดส์ หรือ เอชไอวี (HIV) ที่นิยมมากที่สุด เพราะมีความไว และความแม่นยำสูงกว่าวิธี ELISA แต่ราคาแพงกว่า ใช้เวลามากกว่า ทำยากกว่า

1.3 Indirect immunofluorescent assay (IFA) : คล้าย Western blot มีความไวและความแม่นยำพอๆกัน

1.4 Radioimmunoprecipitation assay (RIPA) :ให้ผลไวกว่า Western blot แต่ทำยากมักใช้ในงานวิจัยเท่านั้น

2. การตรวจหาแอนติเจน(ตัวเชื้อ) ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจหา p24 antigen ในเลือดด้วยวิธี ELISA สามารถตรวจหาตัวเชื้อ ในช่วงที่แอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน )ยังไม่ขึ้น ( window period ) แต่ก็มีข้อเสียคือความไวยังน้อย (คือตรวจไม่ค่อยพบ )

3. การเพาะเชื้อไวรัส ทำยาก ราคาแพง ความไวน้อย แต่ถ้าให้ผลบวก ก็ถือว่าแม่นยำที่สุด

4. การตรวจหา DNA ของไวรัส วิธีนี้คือการหาโดยอาศัยการเพิ่มปริมาณ DNA เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) ตรวจได้แม้จะมีปริมาณ DNA เพียงน้อยนิด (มีความไวสูง) ถือเป็นวิธีการ "ตรวจยืนยัน" ที่แน่นอนที่สุด



การตรวจเลือดมีขั้นตอนอย่างไร

ปกติเมื่อไปตรวจเลือดเอดส์ เขาก็จะตรวจแบบ "ตรวจขั้นต้น" หรือที่เรียก " ตรวจคัดกรอง " ใช้วิธี ELISA โดยตรวจแอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน ) ถ้าให้ ผลบวก ก็จะตรวจยืนยันโดยวิธี western blot assay จึงจะบอกได้ว่า "เลือดเอดส์ให้ผลบวก" การตรวจคัดกรองใช้เวลาประมาณ 30 นาที – 2 ชม.แต่ถ้าตรวจยืนยันด้วยวิธี western blot ก็แล้วแต่สถานที่ บางแห่ง 7 วันก็รู้ผล บางแห่ง ก็นัดเป็นเดือนก็มี



เลือดบวก แปลว่าอะไร

ผลบวก หมายถึงว่า "มี" หรือ "พบเชื้อ" หรือ "พบร่องรอยการติดเชื้อ” ถ้าผลเลือดบวกเอดส์ ก็แปลว่า เคยได้รับเชื้อโรคเอดส์ มาแล้วแต่ไม่ได้หมายความว่ากำลังเป็น โรคเอดส์ (ที่แสดงอาการแล้ว) ในขณะนั้น

ผลบวกปลอม พบได้ แต่น้อยมาก ซึ่งอาจพบจากแอนติเจนบอดี( ภูมิคุ้มกัน )ต่อกล้ามเนื้อเรียบ ต่อไวรัสชนิดอื่น

ผลลบปลอมมีไหม ? (ติดเชื้อ แต่ผลตรวจเป็นลบ) ก็มีครับ แต่น้อยมากเช่นกัน มักพบในผู้เพิ่งรับเชื้อมา แล้วร่างกายยังไม่สร้าง แอนติเจนบอดี ( ภูมิคุ้มกัน ) เมื่อตรวจแล้วภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้น ทำให้ได้ผลเป็น ลบ เรียกระยะนี้ว่า Window period ดังนั้นถ้าตรวจแล้วผลเลือดเป็น ลบ แต่มีเหตุควรสงสัย ควรจะตรวจซ้ำอีก 3-6 เดือนต่อมา ถ้าได้เป็น ผลลบอีก จึงจะแน่ใจว่า ไม่ติดเชื้อ



"ติดเชื้อ" กับ "เป็นเอดส์" เหมือนกันไหม

"ติดเชื้อ" หมายถึงรับเชื้อมาแล้ว มีเชื้อในร่างกาย ตรวจเลือดเอดส์ก็ให้ผลบวก แต่ยังไม่มีอาการ บางคนกินยายับยั้งเชื้อเอดส์และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ก็มีชีวิตเหมือนคนปกติ (ดูหน้าตาก็ไม่รู้) เพียงแต่มีเลือดเอดส์เป็นบวกเท่านั้น

"เป็นเอดส์" หมายถึงเกิดมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ แสดงออกทางร่างกายแล้ว เป็นผลจากที่ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง จนไม่สามารถต่อต้านเชื้อโรคต่างๆได้ อาการที่อาจพบได้เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว เป็นเชื้อราในปาก เป็นงูสวัด ท้องเสียบ่อยๆ น้ำหนักลด จนกระทั่งกลายเป็นเอดส์เต็มขึ้น เช่น เชื้อราขึ้นสมอง ปอดอักเสบรุนแรง เป็นมะเร็ง

หลังรับเชื้อมาแล้ว…. เวลาผ่านไป 1 - 2 ปี มีไม่ถึง 5 % ที่เป็นเอดส์ เวลาผ่านไป 3 ปี ที่กลายเป็นเอดส์ มี 20 %

เวลาผ่านไป 6 ปี ที่กลายเป็นเอดส์ มี 50 % เวลาผ่านไป 16 ปี ที่กลายเป็นเอดส์ มี 65 - 100 %

เฉลี่ย นับจากรับเชื้อจนเป็นเอดส์ ประมาณ 7 - 11 ปี



ต้องเตรียมตัวก่อนตรวจอย่างไร ต้องอดอาหารไหม

ไม่ต้องเตรียมตัวใดๆทั้งสิ้น แต่ต้องเตรียมเงินกับเตรียมใจ เพราะผลการตรวจเลือดเอดส์ไม่เหมือนการตรวจเลือดอย่างอื่น ถ้าผลเป็นบวก คนที่มีภาวะจิตใจไม่เข้มแข็งอาจหวั่นไหว หมดหวังท้อแท้ หรือตัดสินใจผิดๆ อาจเป็นที่รังเกียจ อาจถึงกับถูกไล่ออกจากงาน บริษัทประกันบางแห่งอาจไม่รับประกัน ถ้าไม่บอกผลตรวจเอดส์หรือ ถ้าได้ผลบวก

ดังนั้นก่อนไปตรวจเลือดจึงต้องเตรียมจิตใจให้ดีว่า ถ้าผลเลือดเป็นบวก เราจะรับสภาพได้ไหม จะเกิดอะไรขึ้น จะวางแผนรับมืออย่างไร ถ้ามีแฟน มีภรรยา เราจะทำอย่างไร จะมีบุตรไหม จะบอกกับใครบ้าง จะต้องดูแลตนเองอย่างไร

..................................................



ประโยชน์ 6 ข้อที่ควรตรวจ HIV
https://www.hfocus.org/content/2014/10/8333
กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายด้านเอดส์กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคมทุกปีเป็นวันรณรงค์ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี (Voluntary Counselling and Testing Day : VCT Day) เพื่อให้ประชาชนตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ขณะนี้ ไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 500,000 คน ในจำนวนนี้ มีเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 250,000 รายเท่านั้นที่ทราบผลเลือดและเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ไว้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่ระบบบริการปรึกษา การตรวจวินิจฉัย การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ครอบคลุมในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ จึงเป็นที่น่าเสียดายสำหรับผู้ที่ยังไม่ตรวจเลือดและไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา

ซึ่ง “ประโยชน์ 6 ข้อที่ควรตรวจเอชไอวี” เป็นประเด็นรณรงค์ในปี 2557 นี้ โดยมีความหมายว่า การตรวจเอชไอวีจะทำให้

1.สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ

2.ได้รับการรักษา จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างปกติ

3.สามารถวางแผนป้องกันคู่ของตนเองติดเชื้อ และชวนคู่ไปตรวจเลือดได้

4.สามารถวางแผนป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้

5.สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้

6.มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ และการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง

กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ประชาชนสามารถไปรับการตรวจเลือดเอชไอวี ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ การทราบผลการตรวจเลือดจะช่วยให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อเกิดความตระหนักในการป้องกันตนเอง ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็จะป้องกันไม่ถ่ายทอดเชื้อไปให้ผู้อื่น ขณะเดียวกันจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดการป่วยจากโรคฉวยโอกาส เช่น วัณโรค และลดการเสียชีวิตลง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ (Getting to Zero) คือลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และลดการรังเกียจตีตราเรื่องเอดส์

ขอบคุณภาพจาก สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663



..............................................



ชวนกลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อเอชไอวี รู้ผลในวันเดียว เริ่ม 1 ก.ค. 58
https://hfocus.org/content/2015/07/10294

กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ 1 กรกฎาคม เป็นวันณรงค์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอช ไอวี หรือ VCT Day รู้ผลตรวจได้ภายในวันเดียว ที่โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ทั่วประเทศ โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว สามารถตรวจเลือดฟรีทุกสิทธิการรักษา เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาเร็ว ลดการเกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิต ลดการถ่ายทอดเชื้อให้แก่คู่นอน เพื่อลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่ากับใคร แม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต และผู้ที่เคยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ประชาชนสามารถตรวจฟรี ปีละ 2 ครั้ง และปรึกษาปัญหาเอดส์ทางสายด่วนบริการปรึกษาเรื่องเอดส์ หมายเลข 1663




นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในประเทศไทย ประมาณ 500,000 คน จึงได้กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันรณรงค์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอช ไอวี หรือ VCT Day ซึ่งจะรณรงค์ตลอดทั้งกรกฎาคม เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนทุกคนรู้ถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่ากับใคร แม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ผู้ที่เคยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ซึ่งการตรวจแต่เนิ่นๆ และตรวจเป็นประจำจะทำให้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา กล่าวต่อไปว่า ขอเชิญชวน ประชาชนเข้ารับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่ากับใคร แม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ผู้ที่เคยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น สามารถเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกสิทธิ์การรักษา หากทราบผลว่าตนเองไม่ติดเชื้อ จะได้ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อตลอดไป แต่หากพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี จะได้เข้ารับการรักษาโดยการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต การเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ได้ หากมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาปัญหาเอดส์ทางสายด่วนบริการปรึกษาเรื่องเอดส์ทางหมายเลข 1663
 
“เอดส์: รู้เร็ว ตรวจฟรี รักษาฟรี ต่ำกว่า 18 ปี ตรวจได้ไม่ต้องขอผู้ปกครอง”

************************





Strong ไปกับสคร.4 ตอน รณรงค์ตรวจเอชไอวี
1 กรกฎาคม 2562
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2769645119774762&set=a.111601272245840&type=3&theater

“Know You Status: เอชไอวี ตรวจฟรี ตรวจเร็ว
เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี”

สคร.4 สระบุรี เชิญชวนประชาชนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีและประชาชนทั่วไปเข้ารับการตรวจและทราบสถานะการติดเชื้อของตนเองเร็ว เพื่อให้เข้าสู่การรักษาระยะเริ่มแรกและต่อเนื่อง เนื่องในวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (VCT Day)ทั้งนี้ปี 2562 กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Know Your Status : เอชไอวี
ตรวจฟรี ตรวจเร็ว เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี” โดยรณรงค์ตลอดทั้งเดือน

แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่4 จังหวัดสระบุรี (สคร.4 จ.สระบุรี) กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 ปี พ.ศ. 2561 ผู้ติดเชื้อสะสมที่ยังคงมีชีวิตอยู่ 41,598 ราย ผู้ชาย 23,756 ราย ผู้หญิง 17,842 รายทั้งหมดรับยาต้านไวรัสฯ 35,478 ราย หรือร้อยละ 85.29 ตลอดทั้งปี
มี 63,022 ราย ที่เข้ารับคำปรึกษาก่อนตรวจหาการติดเชื้อฯ ณ หน่วยบริการสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน ยินยอมตรวจเลือดด้วยความสมัครใจ 57,543 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.31 พบการติดเชื้อฯ 2,696 ราย (ร้อยละ 4.69) ในจำนวนที่ตรวจพบการติดเชื้อทั้งหมดเป็นผู้ชาย 1,828 ราย หญิง 868 ราย

แพทย์หญิงวรยา กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อทราบสถานะของตนเอง นำไปสู่บริการป้องกันและดูแลรักษา โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการสุขภาพให้กับประชาชนทั้งตรวจฟรีและรักษาฟรี มีประเด็นสื่อสาร ปี 2562 คือ “Know Your Status : เอชไอวี ตรวจฟรี ตรวจเร็ว เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี” สำหรับคนไทยทุกคน ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก สามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกกลุ่มวัย รวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถรับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยความสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครอง ปัจจุบันการตรวจสามารถรู้ผลภายในวันเดียว ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงประมาณ 1 เดือน เมื่อทราบว่าไม่มีการติดเชื้อไอวี จะได้รับการปรึกษาเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อ
ทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หากพบการติดเชื้อเอชไอวีทางโรงพยาบาลจะนำเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว สามารถรักษาฟรีในโรงพยาบาลที่ระบุตามสิทธิ

เนื่องจากเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคน เป็นสาเหตุให้เกิดอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องและป่วยเป็นเอดส์ (AIDS) ซึ่งพบวมากที่สุดในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด ทั้งชายหญิงล้วนเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีทั้งนั้น หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยรวมทั้งการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นด้วย พฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยแตก รั่ว หลุด คู่นอนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เคยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีคู่เพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คน ดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติด ติดต่อได้ ๓ ทาง ได้แก่
1) ร่วมเพศทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
2) ร่วมเลือด การติดต่อทางเลือด
การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีหรือการได้รับเลือดจากผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
3) ร่วมครรภ์ การติดต่อจากมารดา
สู่ทารก ในระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และการให้นมบุตร
สำหรับการตรวจเลือด
สามารถตรวจได้โดย 1) การตรวจแบบรู้ผลในวันเดียว สามารถเริ่มการรักษาและการป้องกันได้เร็ว 2) การตรวจแบบนิรนาม สามารถตรวจโดยใช้รหัส ไม่ต้องแจ้งชื่อ – ที่อยู่ ข้อมูลความลับ ลดความกังวลใจ 3) ตรวจพร้อมคู่ โดยจะได้รับการปรึกษาที่สร้างความเข้าใจระหว่างคู่ ส่งเสริมการป้องกันได้ง่ายและรู้เทคนิควิธีการป้องกันที่ถูกต้องเหมาะสม

สคร.4 สระบุรี จึงขอเชิญชวนประชาชนให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการรู้สถานะ การติดเชื้อของตนเอง สามารถดูแลสุขภาพและวางแผนการดำเนินชีวิต ภายใต้แนวคิดรณรงค์ “Know Your Status: เอชไอวี ตรวจฟรี รักษาเร็ว เอชไอวี รักษาเร็ว รักษาฟรี” รับคำปรึกษาฟรีได้ที่ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ Facebook : https://www.facebook.com/ dpc4saraburi

..............................................

เอดส์ ( AIDS)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=27

 

ข้อควรรู้ก่อนการตรวจโรคเอดส์

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=26

 

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ ... ของแพทย์ ... แต่ ประชาชน ก็ควรรู้

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=09-09-2012&group=4&gblog=96

 

องค์กรที่ให้บริการปรึกษาและทำงานด้านเอดส์

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=28




Create Date : 26 มีนาคม 2551
Last Update : 1 กรกฎาคม 2562 15:03:29 น.
Counter : 29296 Pageviews.

2 comments
  

รองเลขาธิการแพทยสภาโพสต์เฟซบุ๊ก ชี้เคสผลแล็บ “เอชไอวี” ผิด ต้องพิจารณารอบด้าน ตั้งข้อสังเกตแพทย์แปลผลผิด ห้องแล็บบอกผลผิด หรือภาวะบวกเทียมทางแล็บ ระบุต้องมีผู้รับผิดชอบ แต่หากผลบวกจริงแล้วเป็นลบ ถือเป็นความหวังของผู้ป่วยเอดส์ แพทย์เผยโอกาสตรวจเลือดเป็นบวกแล้วเป็นลบมี แต่น้อยราย แต่ยันร่างกายกำจัดเชื้อเองไม่ได้

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณี นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยเรื่องมีผู้ป่วยฟ้องร้อง รพ.เอกชนชื่อดัง หลังผู้ป่วยรายนั้นไปตรวจการติดเชื้อเอชไอวีแล้วพบผลเป็นบวก คือ ติดเชื้อ และทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสนานกว่า 4 ปี

สุดท้ายกลับไม่ได้ติดเชื้อ ว่า ข้อเท็จจริงที่น่ารู้ก่อนฟ้อง คือ การตรวจเลือดและรายงาน เป็นงานของนักเทคนิคการแพทย์ในห้องแล็บ ซึ่งแพทย์ต้องรักษาตามผลแล็บที่รายงานมา รายนี้จึงต้องตรวจสอบว่าผลบวกครั้งแรกเป็นการรายงานออกจากแล็บ หรือการแปลผลบวกผิดพลาดจากแพทย์ ซึ่งการร้องเรียนเพื่อตรวจสอบแพทย์นั้นสามารถทำได้

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตคือ

1. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นลบ แล้วแพทย์แปลผลผิดพลาดว่าเป็นบวก และรักษา ซึ่งผิดมาตรฐาน แพทย์จะต้องรับผิดชอบ

2. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นบวก แพทย์แปลผลตามเป็นบวก และรักษา ถือว่าแพทย์รักษาตามมาตรฐาน

3. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นบวก แต่จริง ๆ ผลเป็นลบในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็นลบนั้น อาจเกิดได้จากการรายงาน “ผิด” ด้วยเหตุต่าง ๆ ทางเทคนิคที่ต้องสืบค้นข้อมูลว่าความผิดพลาดอยู่ที่ใด และ

4. ถ้าห้องแล็บบอกว่าเป็นบวก และพิสูจน์พบว่าผลก็เป็นบวกจริงตามมาตรฐานในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็นลบนั้น อาจเกิดจากการรายงาน “ถูกต้อง” แต่เป็นภาวะบวกเทียมทางแล็บ หรือเป็นภาวะบวกจริง ๆ จากสภาวะผู้ป่วยเอง เพราะเวลานานอาจมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปี อาจได้รับยาและรักษาอะไรมาบ้างหรือไม่ ซึ่งต้องใช้หลักฐานประกอบอื่นๆ เช่น ผลเลือดตรวจจำนวนไวรัสอื่น ๆ ก่อนตัดสินข้อเท็จจริง

กรณี 3 และ 4 จะอยู่ในความรับผิดชอบของห้องแล็บ และนักเทคนิคการแพทย์ สามารถตรวจสอบมาตรฐานของแล็บได้ โดย สธ. และสภาเทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่แพทยสภา ตามข่าวรายนี้คาดว่าผลแล็บออกมาว่าบวก คือ “เป็นเอชไอวี” ปกติแพทย์ต้องรักษาให้ยาตามมาตรฐาน

ถ้าพบแพทย์รายนี้ข้อมูลไม่ชัดว่าได้รับการรักษาอย่างไรหรือไม่ จน 4 ปี มาตรวจซ้ำผลแล็บว่าลบ คือ “ไม่เจอ” ซึ่งน่าจะถือเป็นโชคดีของคนไข้ ถ้าเป็นจริง

น่าสนใจบทสรุปว่า

1. ผลเลือดบวกนี้เป็นความพลาด (Medical Error) ทางเทคนิค ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ หรือเป็นเรื่องจริงทางการแพทย์ที่คนไข้เคยบวก แล้วกลับลบได้ ซึ่งเป็นความหวังของคนไข้เอดส์ทุกคน

2. สุดท้ายจะเป็นความรับผิดชอบของใคร

3. คดีเรียกร้องค่าเสียหายทุกข์ใจจะจบลงอย่างไร

ด้าน พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การตรวจเชื้อเอชไอวีมีอยู่ 2 วิธี คือ

1. การตรวจหาภูมิต้านทานเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะมีหลายรุ่น แต่จะใช้เวลาหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ และ

2.การตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยตรงด้วยวิธีแนต (Nucleic Acid Amplification Testing : NAT) จะตรวจได้เร็วหลังรับเชื้อประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ซึ่งการตรวจทั้ง 2 ประเภทจะมีแม่นยำอยู่แล้ว ทั้งนี้ โดยปกติแล้วหากตรวจครั้งแรกให้ผลเลือดเป็นบวก

จะต้องมีการตรวจซ้ำอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน จึงจะสามารถยืนยันผลได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการผิดพลาดนั้นเป็นไปได้ เช่น การตรวจเลือด 3 ครั้ง ให้ผลยืนยันเป็นบวกทั้งหมด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปกลับไม่พบว่าผู้ป่วยป่วยจริง ๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นมีน้อย 1 ในหมื่นหรือแสนคน

“กรณีตรวจพบ แล้วภายหลังตรวจไม่พบ ปัญหาไม่ได้มาจากชุดตรวจ แต่เป็นเรื่องของตัวคนเป็นหลัก เช่น เลือดของผู้ป่วยสลับกัน การอ่านค่าผิด หรือตรวจเพียง 1 - 2 ครั้ง พอให้ผลเลือดเป็นบวกแล้วก็แจ้งคนไข้เลย ไม่ได้มีการตรวจซ้ำก่อน” พญ.นิตยา กล่าวและว่า

สำหรับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีจริง ๆ หากไม่ได้รับยาต้านไวรัสเลย บางรายจะเริ่มมีอาการป่วยในระยะ 5 - 6 ปี โดยเฉลี่ย อาการที่พบคือมีผื่น มีตุ่มขึ้นตามตัว เชื้อราในช่องปาก งูสวัด อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยร้อยละ 5 ที่ไม่แสดงอาการใด ๆ เลย แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ป่วยร้อยละ 5 - 10 แสดงอาการแบบเต็มรูปแบบได้อย่างรวดเร็ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้เอง พญ.นิตยา กล่าวว่า สมัยก่อนเราไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยพบว่า กรณีผู้ที่เพิ่งได้รับเชื้อเอชไอวีมาใหม่ ๆ ยังไม่ถึงเดือน แล้วให้รับประทานยาต้านไวรัสติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน

พอมาตรวจเลือดซ้ำหลังจากนี้ก็พบเชื้อลดลงมาก แทบไม่เจอ แต่พอให้หยุดรับประทานยาต้านไวรัส แล้วมาตรวจซ้ำอีกครั้งก็พบว่าเชื้อยังอยู่ในร่างกายเหมือนเดิม ดังนั้น ข้อมูลทุกวันนี้จึงยังไม่พบว่าร่างกายคนเราสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้เอง

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

เครดิต https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=vinitsiri&month=11-09-2015&group=444&gblog=181
โดย: หมอหมู วันที่: 28 กันยายน 2558 เวลา:13:53:43 น.
  
อย. แจง กรณีชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง
29 Apr 2019

https://oryor.com/digi_dev/detail/media_news/1619

อย. เผยกรณีการปลดล็อกชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีว่า มีการกำหนดให้มีเอกสารข้อมูลที่ผู้ใช้งานชุดตรวจควรรู้ ก่อนและหลังการตรวจ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน รวมถึงเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลความรู้ สาธิตวิธีการตรวจ การสรุปผล และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อให้คำปรึกษาโดยตรง อีกทั้งหลายภาคีเครือข่ายเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรและประชาชนเกี่ยวกับชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง เพื่อเป็นประตูด่านแรกที่จะช่วยผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา และให้ผู้ไม่ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการป้องกัน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง พ.ศ. 2562 โดยเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562

ซึ่งหลายหน่วยงานได้แสดงความกังวลว่า ผู้ใช้ชุดตรวจจะมีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องมากน้อยเพียงใดในการจัดการตนเองภายหลังทราบผลตรวจนั้น ขอชี้แจงว่า การปลดล็อกเพื่อให้มีชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองครั้งนี้ อย. ได้กำหนดให้มีเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลที่ผู้ใช้งานชุดตรวจควรรู้ ก่อนการตรวจและภายหลังทราบผลการตรวจ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจน และชี้แจงช่องทางเข้าสู่ระบบบริการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษาและป้องกัน รวมถึงให้มีข้อมูลสนับสนุนการใช้ชุดตรวจดังกล่าวผ่าน QR Code หรือเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลและความรู้ สาธิตวิธีการตรวจ การสรุปผลและหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อให้คำปรึกษาเพิ่มเติมได้โดยตรงและทาง อย. ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทยสภา สภากาชาดไทย กรมควบคุมโรค ในการเตรียมข้อมูลคำแนะนำในผู้ใช้กลุ่มเยาวชนด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ารายใด ยื่นขอรับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง

ที่มาของการปลดล็อกในครั้งนี้มาจากมติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเห็นชอบในหลักการเชิงนโยบายเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชน รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง โดยเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองอันเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญและนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้สำเร็จ

ในส่วนของ อย. จึงได้ดำเนินการพิจารณาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการเข้าถึงชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง

ทั้งนี้ การใช้ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น

เมื่อผลการตรวจ พบว่ามีปฏิกิริยา (reactive) ผู้ใช้ต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีจากหน่วยบริการที่สามารถตรวจยืนยันวินิจฉัย เช่น โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน เป็นต้น

หากผลการตรวจพบว่า ไม่มีปฏิกิริยา (non-reactive) ผู้ใช้ชุดตรวจดังกล่าวต้องพิจารณาความเสี่ยงของการรับเชื้อของตนเอง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย สัมผัสเลือดเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอก เป็นต้น หากมีความเสี่ยงสูง หรือไปเสี่ยงรับเชื้อดังกล่าว ในช่วง 6-12 สัปดาห์ ก่อนใช้ชุดตรวจควรมีการตรวจซ้ำ

ทั้งนี้ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้ว เพราะอาจทำให้เกิดผลลบปลอม (false negative)

ศ.กิตติคุณ นพ. ประพันธ์ ภานุภาค ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและเทคโนโลยีเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ของคณะกรรมการเอดส์ชาติ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เปิดเผยทัศนคติและมุมมองต่อการปลดล็อกครั้งนี้ว่า การตรวจเอชไอวี เป็นประตูด่านแรกที่จะช่วยผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา และช่วยให้ผู้ไม่ติดเชื้อ เข้าสู่ระบบการป้องกัน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี แต่จากการสำรวจผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ พนักงานบริการทางเพศ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด เป็นต้น พบว่ามีเพียงไม่ถึงร้อยละ 30 ที่จะเข้ารับการตรวจเอชไอวีในแต่ละปี และมีส่วนน้อยที่จะตรวจอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากอุปสรรคของการเข้ารับการตรวจเอชไอวีที่เหมือนกันทั่วโลกคือความ “อาย” ที่สังคมมองว่าตัวเองอาจเป็นคนในกลุ่มเสี่ยง และความ “กลัว” ว่าผลตรวจจะออกมาเป็นบวก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำงานด้านเอชไอวีในประเทศไทยจึงพยายามผลักดันการปลดล็อกครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่ยังอายและกลัวได้เข้าถึงการตรวจเอชไอวีได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีใช้กันในหลายประเทศและเริ่มแพร่หลายในหลายประเทศ อาทิ อเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน บราซิล เป็นต้น

ทั้งนี้ เดิมมีความกังวลว่า ผู้ใช้ทั่วไปจะมีความเข้าใจหรือไม่ ทำได้ถูกต้องหรือไม่ หรือตรวจแล้วพบผลบวกจะไปทำร้ายตัวเองก่อนทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจยืนยันผล ความกลัวเหล่านี้ไม่ปรากฏเป็นปัญหาในประเทศที่มีการใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ในทางกลับกันปรากฏว่าคนสามารถเข้าถึงการตรวจเอชไอวีเพิ่มขึ้น และเจอจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วย

สำหรับประเทศไทย ทาง อย. มีเกณฑ์กำหนดอย่างชัดเจนว่า ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองต้องมีมาตรฐานความไวและความจำเพาะที่เชื่อถือได้ มีเนื้อหาทั้งในรูปแบบเอกสาร และรูปภาพที่เข้าใจได้ง่าย ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง และมีช่องทางเชื่อมเข้าสู่ระบบบริการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษา และป้องกัน

ดังนั้น การปลดล็อกให้ประชาชนสามารถใช้ชุดตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ด้วยตนเอง จึงเป็นความหวังในการค้นหาผู้ติดเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษา และทำให้ผู้มีความเสี่ยงได้เข้าสู่ระบบการป้องกันได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยตามที่กำหนดไว้ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทั่วโลกที่สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก

ด้าน กรมควบคุมโรค ได้มีการจัดทำแผนการรองรับชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรและประชาชนเกี่ยวกับชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง และการเข้าถึงชุดตรวจที่ถูกกฎหมายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. การจัดระบบรองรับการใช้ชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเอง รวมถึงการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบบริการ ทั้งการตรวจยืนยันและการตรวจรักษา รวมถึงจัดทำแนวทางการเชื่อมต่อการเข้าสู่ระบบบริการหลังการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เพื่อรองรับการตรวจยืนยันผลของผู้ที่ตรวจเอชไอวีด้วยตนเองมาแล้ว

โดย: หมอหมู วันที่: 29 เมษายน 2562 เวลา:15:38:10 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด