แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน


ต่อเนื่องจาก ... เรื่อง ... ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=09-06-2008&group=4&gblog=45

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน
บทความพิเศษ …. สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ( สปรส. )
โดย ….. พท.นพ. สุรจิต สุนทรธรรม

ตรวจสุขภาพดีจริงหรือ
ในปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญต่อการตรวจสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นการตอบรับต่อกระแสการป้องกันโรคก่อนการรักษา ตามทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพ แต่การตรวจสุขภาพที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือยัง และการตรวจสุขภาพเป็นแนวทางของการป้องกันก่อนรักษาจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่บุคลากรสาธารณสุขรวมทั้งประชาชนทั่วไปต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้การตรวจสุขภาพแต่ละครั้งเป็นการตรวจที่ก่อให้เกิด "สุขภาพดี" อย่างแท้จริง

ตรวจสุขภาพเพื่ออะไร
ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลและภาคเอกชนได้กำหนดให้พนักงานหรือบุคลากร โดยเฉพาะการรับคนที่จะสมัครเข้าทำงาน เข้ารับการศึกษา หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ต้องได้รับการตรวจร่างกายหรือต้องมีใบรับรองการตรวจร่างกายหรือต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ป่วยด้วยโรคตามที่กำหนด เพื่อคัดกรองไม่ให้บุคคลที่อาจมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ได้เข้าทำงาน เข้ารับการศึกษา หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อันจะลดการก่อให้เกิดภาระแก่หน่วยงาน มากกว่าที่จะมีจุดประสงค์เพื่อการป้องกันโรคและการสร้างเสริมให้บุคคลเหล่านั้นมีสุขภาพดี การตรวจสุขภาพในลักษณะนั้นจึงเป็นการ "ตรวจหาโรค" คือพยายามค้นหาว่า บุคคลนั้นมีโรคอะไรอยู่ในตัวบ้างหรือไม่ จากความเข้าใจนั้นได้กลายเป็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมว่า "การตรวจสุขภาพ คือการตรวจหาว่ามีโรคอะไรอยู่บ้างหรือไม่"

ต้องการอะไรกับการตรวจสุขภาพ
ขอให้เราได้ไตร่ตรองดูว่า หากเราต้องการจะรับการตรวจสุขภาพของตัวเราเองแล้ว เราต้องการอะไร สิ่งที่เราต้องการก็คือ ต้องการให้ตัวของเรามีสุขภาพพีและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บใช่หรือไม่ และหากเราต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวการตรวจสุขภาพนั้นจะต้องนำไปสู่การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ

ความหมายของ "การตรวจสุขภาพ"
ดังนั้น ความหมายที่ถูกต้องของ "การตรวจสุขภาพ" คือ การตรวจสอบภาวะอันเป็นสุข และตรวจหาอะไรก็แล้วแต่ที่จะมีผลทำให้ภาวะอันเป็นสุขนั้นเสียไป และหัวใจของการตรวจสุขภาพ คือการตรวจค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค และหากสามารถขจัดได้ก็จะส่งผลให้ไม่ต้องเป็นโรค

ส่วนการตรวจหาความเจ็บป่วยหรือหาว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่นั้นควรเป็นเรื่องสุดท้ายในการตรวจสุขภาพ ซึ่งโรคที่สมควรตรวจหานั้น ต้องมีหลักฐานจากการศึกษาค้นคว้าอย่างชัดเจนแล้วว่า การตรวจพบโรคนั้นๆ ตั้งแต่ระยะที่ยังปราศจากอาการแล้ว มีประโยชน์ต่อตัวเรามากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการปรากฎแล้ว

ป้องกันย่อมดีกว่าแก้
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุเป็นแดนเกิด เมื่อเหตุดับแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ดับ (ไม่เกิดอีก) นี้เป็นพุทธอมตพจน์ที่เราทุกคนทราบกันดีอยู่โรคทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน คือมีเหตุมีปัจจัยชักนำให้เกิดเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายเหมือนกัน เราเรียกสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคดังกล่าวว่า "ปัจจัยเสี่ยง" ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหรือทุกขภาพมีมากมายหลายอย่าง สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
พฤติกรรมหรือแบบรูปชีวิตที่ส่งเสริมการเป็นโรค (เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การกินอาหารสุกๆ ดิบๆ) ซึ่งในปัจจุบันนับเป็นเหตุปัจจัยที่ทรงอิทธิพลก่อให้เกิดโรคหรือก่อทุกขภาพได้มากที่สุด คือถึงร้อยละ 53
สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ (เช่นการอาศัยอยู่ในบ้านหรือทำงานในบริเวณที่มีคนสูบบุหรี่) เป็นปัจจัยที่สร้างเสริมให้เกิดโรค หรือก่อทุกขภาพที่สำคัญเช่นเดียวกัน คือถึงร้อยละ 31
ปัจจัยชีวภาพ (เช่น พันธุกรรม) เป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคร้อยละ 16 และโรคที่มีพันธุกรรมเป็นปัจจัยเสริมส่วนใหญ่ (เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ) หากบุคคลนั้นได้รับการสร้างเสริมสุขภาพพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ก็จะสามารถลดโอกาสการเป็นโรคดังกล่าวลงได้อย่างมาก แต่อาจต้องทำมากกว่าเข้มงวดกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยพันธุกรรมเท่านั้น

การตรวจสุขภาพที่ถูกต้อง
องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของการตรวจสุขภาพไว้คือ การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงอันจะส่งผลทำให้สุขภาพเสียไป ซึ่งเราไม่ได้ตระหนัก (คือยังไม่ทราบ ยังไม่ยอมรับ และยังไม่ปฏิบัติ) ดังนั้นการตรวจสุขภาพจึงเน้นที่การตรวจก่อนการเป็นโรค ไม่ได้เน้นที่การตรวจหาว่าที่เป็นโรค ไม่ได้เน้นที่การตรวจหาว่าเป็นโรคอะไรบ้างแล้วหรือยัง การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องจะทำให้เราได้รู้ว่า "เรายังมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง" เพื่อจะได้ขจัดเหตุปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะได้ไม่ต้องเป็นโรค ดังนั้น การตรวจสุขภาพก็คือ การตรวจดูว่า สิ่งที่เราควรละนั้น เราได้ละแล้วหรือยัง และสิ่งที่ควรทำเราได้ทำอย่างเพียงพอแล้วหรือยังเป็นสำคัญ แล้วนำคำแนะนำที่ได้ไปปฏิบัติ

ตรวจพบโรคตั้งแต่ต้นดีกว่าจริงหรือ
มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นอยู่หลายประการ และบางครั้งถ้าไม่ทราบที่ไปที่มาของข้อมูลสถิติอาจชักนำให้เข้าใจผิดได้มาก โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เช่น มีข้อมูลว่า โรคมะเร็งอวัยวะหนึ่งหากตรวจพบในระยะที่ 1 (แรก) แล้วได้รับการรักษาพบว่ามีอัตราการรอดชีวิตที่ระยะ 5 ปี ร้อยละ 80 และหากตรวจพบในระยที่ 4 (สุดท้าย) พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตที่ระยะ 5 ปี ร้อยละ 10 ข้อมูลดังกล่าวหมายความว่า การตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวตั้งแต่ระยะที่ 1 แล้วให้ผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการแล้วจริงหรือไม่

คำถามข้างต้นดังกล่าวอาจตอบได้ทั้ง "จริง" และ "ไม่จริง" สิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นประการแรก ได้แก่ระยะเวลาการดำเนินโรค หากโรคมะเร็งดังกล่าวมีการดำเนินโรคจากระยะที่ 1 ไป จนถึงระยะที่ 4 ใช้เวลานานมาก เช่น 20 ปี ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นอาจหมายความว่า ผู้ที่ตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวในระยะที่ 1 ไปจนถึงระยะที่ 4 ใช้เวลานานมาก เช่น 20 ปี ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นอาจหมายความว่า ผู้ที่ตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวในระยะที่ 1 จำนวนถึงร้อยละ 20 ที่เสียชีวิตในระยะ 5 ปี แต่ถ้าไม่ได้รับการตรวจพบหรือไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจำนวนร้อยละ 20 ที่เสียชีวิตในระยะ 5 ปี แต่ถ้าไม่ได้รับการตรวจพบหรือไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจำนวนร้อยละ 20 ดังกล่าวอาจไม่เสียชีวิต หรือยังไม่มีอาการเลยก็ได้ ดังมีตัวอย่างจากการศึกษาการตรวจศพผู้ชายอายุที่มากกว่า 70 ปี ที่ไม่เคยมีอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเลย และเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่จากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเลย พบว่าตรวจพบโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในตัวผู้ชายดังกล่าวถึงมากกว่าร้อยละ 60

ดังนั้นที่จะตอบได้ว่า "จริง" อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อมีผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวในระยะที่ 1 แล้ว มีการวิจัยด้วยการสุ่มแบ่งผู้ช่วยดังกล่าวออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับการรักษา และมีการศึกษาติดตามผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวไประยะเวลาหนึ่งแล้วพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการรักษามีอายุยืนยาวกว่า มีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และมีคุณภาพชีวิตดีกว่า กลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างชัดเจน ในปัจจุบันมีโรคมะเร็งเพียง 3 อวัยวะเท่านั้นที่ได้มีผลการวิจัยที่แสดงว่า การตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ระยะต้น โดยเฉพาะการตรวจพบรอยโรคก่อมะเร็ง แล้วให้ผลประโยชน์ดังกล่าวต่อผู้ป่วยเหนือกว่าการตรวจพบระยะที่มีอาการแล้ว ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในทำนองเดียวกัน ยังมีโรค / ภาวะอื่น (ที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง) ที่ได้รับการพิสูจน์ด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วยืนยันได้ว่า การตรวจพบภาวะดังกล่าวตั้งแต่ระยะต้นแล้วส่งผลดีให้แก่ผู้รับการตรวจ คือทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ลดการเจ็บป่วยแทรกซ้อนและความพิการ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน สายตาผิดปกติ เป็นต้น

ส่วนคำตอบที่ว่า "ไม่จริง" อย่างชัดเจนนั้นก็คือ โรคมะเร็ง (หรือโรคอื่นใด) ที่ได้รบการวิจัยตามวิธีดังที่กล่าวมาแล้วพบว่า ผู้ที่ได้รับการรักษามีอายุสั้นกว่า มีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า หรือมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่กว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือผู้ที่ได้รับการรักษาเมื่อมีอาการแล้ว ซึ่งก็มีโรคมะเร็งหลายชนิดที่ผลการศึกษาแสดงออกมาในลักษณะนี้กรณีอย่างนี้ก็ไม่ควรไปตรวจหาโรคชนิดนั้น รอให้มีอาการแล้วค่อยรักษาอาจจะดีกว่า

นอกจากนี้ยังมีโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิดที่ยังไม่ได้รับการดำเนินการศึกษาด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งคำตอบสำหรับกรณีนี้ก็คือ "ไม่ทราบชัดเจน" ดังนั้นในกรณีนี้จะตรวจหรือไม่ตรวจ ก็ต้องเสี่ยงดวงกันเอาเองก็แล้วกัน

ความแม่นยำของวิธีการตรวจโรค
เมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่า โรคนั้นหากได้ตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้นแล้วได้ผลดีแน่ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ วิธีตรวจหาโรคดังกล่าวนั้นมีกี่วิธี และแต่ละวิธีนั้นมีความแม่นยำเพียงใด รวมทั้งวิธีการตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคจริงนั้นมีอันตรายหรือไม่

ความแม่นยำของวิธีการตรวจหาว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งดูได้จากคนที่เป็นโรคแล้ว เมื่อตรวจด้วยวิธีนั้นสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคนั้นอย่างถูกต้อง เรียกว่าได้ผล "บวกจริง" และเมื่อนำวิธีดังกล่าวไปตรวจคนที่ไม่เป็นโรค แล้วก็บอกได้ว่าไม่เป็นโรคนั้นได้อย่างถูกต้อง เรียกว่าได้ผล "ลบจริง"

ในสภาพของความเป็นจริงวิธีการตรวจทั้งหลายไม่สามารถให้ผลบวกจริงและผลลบจริงได้อย่างแม่นยำมากนัก เนื่องจาก
เป็นการใช้ค่าสถิติมาตัดสิน การตรวจบางอย่างกว่าจะให้ผลบวกก็ต่อเมื่อโรคนั้นเป็นมากแล้ว เช่น การตรวจการทำงานของไตโดยดูระดับครีอะตินินในเลือดกว่าระดับสารดังกล่าวจะเริ่มเห็นผิดปกติ ก็ต่อเมื่อไตบกพร่องไปแล้วกว่าร้อยละ 75 ดังนั้นหากไตบกพร่องไปแล้วแต่น้อยกว่าร้อยละ 75 ผลที่ตรวจได้ก็ยังบอกว่าปกติอยู่ เรียกผลที่ออกมานี้ว่า "ผลลบลวง" คือเป็นโรคแล้ว แต่ผลตรวจบอกว่าปกติในทางตรงกันข้าม การตรวจบางอย่างกลับให้ผลบวกทั้งที่ยังไม่ได้เป็นโรค เรียกผลในลักษณะดังกล่าวนี้ว่า "ผลบวกลวง"

ผลการตรวจที่เป็น "ผลลบลวง" อาจทำให้ประมาท คือไม่ก่อให้เกิดการปรับปรุงตัวเพื่อป้องกันโรคตัวอย่างเช่น คนสูบบุหรี่ แล้วไปเอกซเรย์ปอดแล้วผลเป็นปกติ ก็ยังสูบบุหรี่ต่อไป หรืออาจจะสูบหนักขึ้นก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น เท่ากับผลการตรวจไปสร้างเสริมพฤติกรรมให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ดังนั้นการตรวจดังกล่าวแทนที่จะช่วยป้องกันโรคกลับเป็นการสร้างเสริมการเป็นโรค

ผลการตรวจที่เป็น "ผลบวกลวง" อาจก่อความทุกข์อกทุกข์ใจได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจหาโรคร้ายแรง ซึ่งไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้หรือวิธีการรักษามีอันตรายสูงถ้าไปทำในคนที่ไม่ได้เป็นโรค เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งมะเร็งต่างๆ ทั้งมะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ มักมีผลบวกลวงถึงมากกว่าร้อยละ 90 ในบุคคลที่ปราศจากอาการผิดปกติ ถ้าไปตรวจแล้วผลออกมาเป็น "บวก" (ซึ่งมีโอกาสเป็นผลบวกลวงมากกว่าร้อยละ 90) แล้วจะทำอย่างไร

วิธีการตรวจที่ได้รับการยอมรับว่ามีความแม่นยำเพียงพอในบริบทของประเทศไทยสำหรับโรคมะเร็งซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์แล้วว่าการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นมีประโยชน์ได้แก่ การตรวจแพ็บ (Papanicolaou test) สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูก จึงแนะนำให้หญิงตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ได้รับการตรวจแพ็บปีละหนึ่งครั้งหากได้ผลลบติดต่อกัน 3 ปี ก็แนะนะให้ตรวจต่อไปทุก 3 ปี

โรคมะเร็งเต้านม จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า การตรวจเต้านมทางเวชกรรม (การตรวจคลำเต้านมโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึก) มีความไวร้อยละ 87 (คือคนเป็นโรคมะเร็งเต้านม 100 คน ตรวจแล้วพบว่าเป็น 87 คน) และการตรวจภาพรังสีเต้านม (mammogram) ในหญิงอายุ 50 - 69 ปี มีความไวร้อยละ 75 ส่วนในหญิงอายุ 40 - 49 ปี มีความไวเพียงร้อยละ 60 - 65 เท่านั้น รวมทั้งความจำเพาะก็ไม่สูงมากนัก จึงอาจส่งผลให้มีผลบวกลวงเป็นจำนวนมาก การตรวจภาพรังสีเต้านมมีแนวโน้มให้ความไวสูงกว่าโดยเฉพาะในผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ที่คลำได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาถึงความแม่นยำดังกล่าวในประเทศไทย แต่คาดว่าการตรวจเต้านมทางเวชกรรมน่าจะมีความไวมากกว่าในต่างประเทศ เนื่องจากคนไทยมีเต้านมไม่ใหญ่นัก ทำให้คลำได้ง่าย ดังนั้นจึงแนะนำให้มีการฝึกบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการตรวจคลำเต้านมได้อย่างถูกต้อทั่วประเทศและแนะนำให้ตรวจพร้อมกับการตรวจแพ็บ (มะเร็งปากมดลูก) ทุกครั้งรวมทั้งแนะนำให้สอนหญิงทุกคนได้มีทักษะในการตรวจเต้านมด้วยตนเองด้วย โดยเฉพาะในหญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

การตรวจภาพรังสีเต้านม ยังไม่สามารถให้คำแนะนำได้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะกายวิภาคของคนไทย ซึ่งมีเต้านมไม่ใหญ่นัก ผลที่ได้ไม่น่าจะดีกว่าการตรวจเต้านมทางเวชกรรม นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงปริมาณรังสีที่ได้รับจากการตรวจ (0.1 แรดต่อครั้ง) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีดังกล่าวนี้ในคนที่อายุน้อย

การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในต่างประเทศแนะนำให้ใช้การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ แต่ยังไม่สามารถให้คำแนะนำได้ว่าในประเทศไทยควรตรวจหรือไม่ เพราะจากการวิจัยในประเทศไทยพบว่ามีผลบวกลวงสูงมาก เนื่องจากคนไทยมักกินอาหารที่มีเลือดสัตว์ปนอยู่ ดังนั้นหากต้องรับการตรวจก็แนะนำให้งดอาหารที่มีเลือดสัตว์ปน เนื้อสีแดงวิตามินซี ยาแอสไพริน และยาต้านการอักเสบต่างๆ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการเก็บอุจจาระส่งตรวจสำหรบการตรวจด้วยการหาสารบ่งมะเร็ง (CEA) นั้น แม้ในต่างประเทศก็ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากมีผลบวกลวงสูงมาก

สิ่งสำคัญที่สุดในการตรวจสุขภาพ
แพทย์ทั้งหลายทั่วโลกตระหนักยิ่งว่า การที่จะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ การจัดการบำบัดรักษาได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการจัดการตรวจและการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิผลนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลประวัติสุขภาพอย่างละเอียด ได้แก่ ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบันและอดีต ประวัติการเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว ผู้ร่วมงาน และผู้ใกล้ชิด ประวัติสิ่งแวดล้อมและการทำงาน รวมทั้งประวัติอุปนิสัยปและพฤติกรรม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด

ตามปกติ แพทย์สามารถรวบรวมข้อมูลดังกล่าวได้จากการซักประวัติ ซึ่งก็คือการพูดคุยสนทนากันระหว่างแพทย์และผู้รับบริการอย่างไรก็ตาม แพทย์ส่วนใหญ่มักมีเวลาไม่มากเพียงพอในการซักประวัติดังกล่าวได้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นผลให้การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงได้ไม่ครบถ้วน และอาจพลาดในส่วนที่สำคัญบางประการได้

การรวบรวมข้อมูลประวัติสุขภาพ ซึ่งได้จากการตอบแบบสอบถามโดยผู้รับบริการกรอกด้วยตนเองหรือบุคลากรผู้ช่วยแพทย์ช่วยและจัดทำเป็น "สมุดบันทึกสุขภาพ" ก่อนพบแพทย์ จะช่วยให้แพทย์สามารถทราบข้อมูลประวัติของผู้มารับบริการได้อย่างละเอียด เพื่อจะได้วิเคราะห์และซักถามเพิ่มเติมในส่วนที่สำคัญเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงอันอาจทำให้เกิดโรค รวมทั้งสามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องใช้เวลามากนัก เมื่อแพทย์ได้พิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว รวมทั้งเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีความจำเพาะสำหรับเรา เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำเฉพาะสำหรับตัวเราได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การจัดทำห้องสมุดบันทึกสุขภาพด้วยตนเองยังนับเป็นการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะทำให้เราได้ทบทวนและค้นพบปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นด้วยตนเอง ก็ยิ่งสร้างความตระหนักให้แก่เรายิ่งขึ้นและส่งผลให้เราระมัดระวังขจัดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคได้ดียิ่งขึ้นด้วย

การจัดทำสมุดบันทึกสุขภาพนี้จึงนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการตรวจสุขภาพ ซึ่งจะขาดเสียมิได้ นอกจากนี้สมุดบันทึกดังกล่าวยังสามารถใช้ในการติดตามสุขภาพอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราอาจไม่ได้ตระหนักได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และบุคคลทุกคนควรได้รับการทบทวนความตระหนักต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเราเรียกการตรวจทบทวนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวนี้ว่า "การตรวจสุขภาพประจำปี"

ดังนั้นในการตรวจใดๆ ถ้าขาดการจัดทำสมุดบันทึกสุขภาพซึ่งบันทึกปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (ได้แก่ประวัติการเคยตรวจสุขภาพในอดีต ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา ประวัติการแพ้ ประวัติการรับวัคซีน ประวัติการเจ็บป่วยและสาเหตุของการเสียชีวิตในเครือญาติ ประวัติการทำงานและสิ่งแวดล้อม และประวัติการทบทวนอาการตามระบบต่างๆ) อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็ไม่สามารถเรียกการตรวจนั้นได้ว่าเป็นการตรวจสุขภาพ


กระแสตรวจสุขภาพกับคนไทย
ในสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สังคมไทยมีความตื่นตัวต่อการตรวจสุขภาพเป็นอย่างมาก (เช่นกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพก่อนเข้าศึกษา การจัดให้มีการตรวจสุขภาพในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การตรวจสุขภาพของลูกจ้าง) โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นสถานพยาบาลหลายแห่ง แม้แต่ภาพรัฐ ก็ได้จัดโครงการตรวจสุขภาพด้วยการจัดโปรแกรมต่างๆ อย่างหลากหลาย นอกจากนี้สถานบริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยังได้ใช้กลยุทธ์การตลาด คือเสนอบริการตรวจสุขภาพแบบเข้าแถวตรวจเป็นชุด (package) เป็นจุดขาย โดยมีการซักประวัติและการค้นปัจจัยเสี่ยงเพียงเล็กน้อย ซึ่งหากผู้ใช้บริการไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และผลที่ออกมาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็อาจทำให้เจ็บตัว เสียสุขภาพจิต เสียโอกาสในการเข้าทำงานหรือเข้ารับการศึกษา และสร้างเสริมพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้

การตรวจสุขภาพไม่ถูกต้อง "เสียมากกว่าดี"
การตรวจสุขภาพเพื่อนำไปสู่การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ต้องไม่มุ่งเฉพาะการตรวจหาว่าเป็นโรคอะไรบ้างแล้วหรือยัง การตรวจที่มุ่งเน้นที่การตรวจหาโรค อาจทำให้ผู้รับการตรวจกังวล เมื่อตรวจแล้วพบโรคที่วิทยาการในปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าได้ผลดี (รักษาไม่หาย) นอกจากนี้เครื่องมือที่ใช้ตรวจก็ไม่ได้มีความแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลการตรวจที่ได้จึงอาจไม่ตรงความเป็นจริง ส่งผลทำลายสุขภาพทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ

ดังนั้นการตรวจหาโรคโดยไม่จำเป็นจึงมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะถ้าเป็นโรคหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคแล้วตรวจไม่พบโรคก็จะส่งผลให้พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้ถูกตรวจเหมือนเดิมหรือชะล่าใจกระทำมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทนที่จะลดความเสี่ยง และเท่ากับเป็นการสร้างเสริมการเกิดโรคแทนที่จะเป็นการป้องกันโรค นอกจากนี้การตรวจแล้วพบโรคร้ายที่วิธีการรักษาตั้งแต่ระยะต้นยังไม่ได้ผลดี ก็จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตหลังการตรวจย่อมแย่ลงได้

ทิศทางการตรวจสุขภาพในประเทศไทย
ดังนั้นหากต้องการให้ประชาชนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้าแล้ว การตรวจสุขภาพที่กำหนดขึ้นจึงต้องนำไปสู่การป้องกันก่อนการเกิดโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่การค้นหาผู้ที่เป็นโรคแล้วมารักษาดังนั้น ทิศทางการตรวจสุขภาพในประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งด้านแนวคิด วิธีการ และเนื้อหาสาระ ดังต่อไปนี้

ต้องทำให้ทั้งสังคมเข้าใจตรงกัน ว่าหัวใจหลักของการตรวจสุขภาพ เน้นและให้ความสำคัญยิ่งที่การตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่โรคจะเกิดขึ้น ส่วนการตรวจหาความเจ็บป่วยหรือโรคที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนการตรวจหาความเจ็บป่วยหรือโรคที่เกิดขึ้นแล้วนั้นเป็นเรื่องรอง ซึ่งแนะนำให้ตรวจเฉพาะเมื่อโรคนั้นมีข้อพิสูจน์จากการวิจัยแล้วว่า การตรวจพบโรคนั้นตั้งแต่ระยะต้นให้ผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการแล้วและวิธีการตรวจนั้นให้ผลที่มีความแม่นยำในระดับที่ยอมรับได้เท่านั้น

ต้องทบทวนข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพประจำปี ที่ให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญมีและเบิกได้ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยปรับปรุงคัดเลือกให้ทำเฉพาะวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิชาการแล้วว่ามีอรรถประโยชน์ เพื่อสร้างเสริมให้ข้าราชการไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และเป็นมาตรฐานที่สังคมสามารถยึดถือเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องได้

ระบบ / โครงการต่างๆ ที่ดูแลเรื่องการจัดบริการสุขภาพ ควรเร่งดำเนินการให้ทุกคนมี "สมุดบันทึกสุขภาพประจำตัว" รวมทั้งสร้างเสริมทักษะการประเมินสุขภาพตนเองแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง


สรุป
ศาสตราจารย์นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ ฝากแง่คิดเพิ่มเติมว่า การหันมาให้ความสนใจและใส่ใจในเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่ดี แต่ความเชื่อว่าการตรวจสุขภาพเป็นการเสริมสร้างสุขภาพจำเป็นต้องหันกลับมาทำความเข้าใจกันเสียใหม่ คำว่า "สร้างนำซ่อม" ต้องมุ่งให้ทุกคนร่วมสร้างสุขภาพดี โดยเจ้าของสุขภาพต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลตัวเอง จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ การสร้างสุขภาพด้วยการตรวจสุขภาพอาจจะเป็นการไปย่ำรอยเดิมที่เรื่องสุขภาพกลับไปอยู่ในมือหมอในโรงพยาบาล ต้องพึ่งยา พึ่งเครื่องมือทางการแพทย์เกินจำเป็นต่อไปอีก

ดังนั้นต้องมุ่งสร้างศักยภาพประชาชนในการดูแลตนเอง สร้างให้เกิดความตระหนักว่า สุขภาพคือสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ เป็นความสุขที่เกิดจากความสมดุลระหว่างกายกับใจของตน และระหว่างกายใจของตนกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการบริการตรวจสุขภาพชุดใดที่จะเป็นคำตอบของสุขภาพดีอย่างที่ฝันไว้

ในเมื่อการตรวจสุขภาพกำลังกลายเป็นความต้องการที่เกินความจำเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของธุรกิจ หรือเหตุผลทางวิชาการที่ไม่สมบูรณ์ก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขแพทยสภา หรือกลไกอื่นใดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง น่าจะออกมาดูแลเรื่องนี้ให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม สร้างความเข้าใจใหม่แก่ประชาชนในเรื่องการสร้างสุขภาพไม่ให้ประชาชนตกเป้นเหยื่อของธุรกิจสุขภาพที่กำลังฉวยโอกาสแห่งความ "ไม่รู้" ของประชาชนมาสร้างผลประโยชน์กอบโกยเข้ากระเป๋าตัวเองอีกต่อไป



ปล. แถมเรื่องตรวจสุขภาพ ค้นหามะเร็ง ของ สถาบันมะเร็ง มีราคา รายละเอียดพร้อมสรรพ ..

https://www.nci.go.th/service/search_cancer.html

คลินิกตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
การ บริการตรวจสุขภาพเพื่อค้นความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเป็นการตรวจสุขภาพ สำหรับ ผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติ ใด ๆ และเมื่อตรวจพบว่าเป็นผู้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งชนิดใด จะส่งเข้ารับการตรวจในคลินิกเฉพาะ โรค เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป เช่น คลินิกเต้านม คลินิกตับและทางเดินอาหาร คลินิกนรีเวช เป็นต้น

การตรวจประกอบด้วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจเลือด การตรวจอุจจาระ-ปัสสาวะ การตรวจด้วย X-ray ปอด การตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า การตรวจเซลล์มะเร็งปากมดลูก การตรวจร่างกายโดยแพทย์ และการซักประวัติ


ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-06-2008&group=4&gblog=45

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=52

ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝากไม่ได้เขียนเอง ..

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-06-2010&group=4&gblog=83

ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไร แปลผลอย่างไร ... bydrcarebear (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-12-2011&group=4&gblog=93

ตรวจสุขภาพประจำปี ที่แท้จริงหมายถึงอะไรตรวจไปเพื่ออะไร

https://www.hitap.net/167211

ตรวจคัดกรองต่างจากตรวจวินิจฉัยอย่างไร

https://www.hitap.net/167233

ตอนที่ 1ตรวจร่ายกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้หญิง

https://www.hitap.net/167411

ตอนที่ 2ตรวจร่างกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้ชาย

https://www.hitap.net/167420

ตรวจอะไรได้ไม่คุ้มเสีย

https://www.hitap.net/167523

ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการคัดกรองทางสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับประชาชนไทย

https://www.hitap.net/research/17560

การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย

https://www.hitap.net/research/17573

เว็บไซต์ตรวจสุขภาพด้วยตนเองอย่างง่าย

https://www.mycheckup.in.th/

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ

https://www.hitap.net/news/24143

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย

https://www.hitap.net/documents/18970

https://www.hitap.net/research/17573




Create Date : 01 กรกฎาคม 2551
Last Update : 12 กันยายน 2561 13:49:05 น.
Counter : 10807 Pageviews.

6 comments
  
การแปลผลการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไร แปลผลอย่างไร ... by drcarebear (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-12-2011&group=4&gblog=93


ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือ ความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง ..

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-06-2010&group=4&gblog=83


ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-06-2008&group=4&gblog=45


แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=52
โดย: หมอหมู วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:16:25:31 น.
  

//www.si.mahidol.ac.th/th/department/preventive/dept_article_detail.asp?a_id=142

การตรวจสุขภาพประจำปี (ตอนที่ 1)

รศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



ถาม. การตรวจร่างกายจำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นมาก่อน

ตอบ. สำหรับคำถามข้อแรกที่ถามว่าจำเป็นต้องให้เกิดโรคต่าง ๆ ก่อนแล้วค่อยมาพบแพทย์หรือไม่ จะเห็นว่า ถ้ารอให้เกิดโรคต่าง ๆ ก่อน ก็มักจะสายเกินไปที่จะรักษาโรคนั้นให้หายขาดไปได้ เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้เอง การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคก็จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งค่ารักษาพยาบาลนับวันก็จะยิ่งแพงขึ้น ซึ่งการป้องกันโรควิธีหนึ่งก็คือการตรวจสุขภาพประจำปีนั้นเอง



ถาม. การตรวจร่างกายประจำปี มีความสำคัญหรือจำเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ. อย่างที่เรามักจะเจอกับตนเองว่าสมัยเด็ก ๆ สมัยหนุ่มสาวเรามักจะแข็งแรงดี บางทีอดหลับอดนอนหลาย ๆ วันก็ไม่เป็นอะไร แต่พอเริ่มมีอายุมากขึ้น ๆ ร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมไปตามอายุ ความชราที่มากขึ้น ก็จะเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ก็อาจจะมีโรคต่าง ๆ แทรกอยู่ ในช่วงระยะแรกก็จะแทรกอยู่โดยที่ตัวเองไม่รู้ เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งถ้ารอให้เกิดอาการจากโรคแทรกซ้อนแล้วก็อาจจะสายเกินไป เพราะฉะนั้น การตรวจร่างกายประจำปีก็จะเป็นกลไกอันหนึ่งของการแพทย์ที่จะใช้ตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่โรคจะเป็นมากแล้ว ที่จะเห็นว่าการทำอย่างนี้จะเป็นการป้องกันโรคอย่างหนึ่ง
การป้องกันโรคแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. แนะนำให้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ
2. การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตอนที่โรคยังเป็นไม่มากนัก
3. คนที่ป่วยเป็นโรคแล้ว หรือมีความพิการเกิดขึ้นแล้ว เราก็ยังจะต้องป้องกันต่อไปเพื่อไม่ให้เป็นโรคแทรกซ้อน



ถาม. ในแต่ละคนเราควรเริ่มตรวจร่างกายประจำปีตั้งแต่อายุเท่าใด

ตอบ. คำถามนี้อาจจะตอบยากหน่อยนะครับ เพราะทางการแพทย์ยังไม่มีหลักฐานที่ว่าอายุเท่าใด ควรจะตรวจอะไร หรือว่าใครควรจะตรวจอะไร แค่ไหน เพราะแต่ละคนสุขภาพจะไม่เหมือนกัน โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40 ขึ้นไป ก็เริ่มจะแสดงความเสื่อมหลายอย่าง เช่น ไขมันเลือดจะสูงขึ้น มีภาวะอ้วนขึ้น หรือมีความดันโลหิตสูงมากขึ้นได้ เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปก็จะแนะนำประมาณอายุ 40 ปี ขึ้นไป

แต่บางคนก็ไม่จำเป็น เช่น อายุ 30 กว่า แต่เผอิญคนในครอบครัวพ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคเบาหวานหมด และตัวเองมักจะมีอาการอ่อนเพลียง่าย ปัสสาวะบ่อย ลักษณะอาการนี้ก็ไม่ต้องรอให้อายุ 40 ปี ก็ควรจะมาตรวจได้เลย เพราะอาการบางอย่างอาจจะซ่อนอยู่เพียงเล็กน้อย เรานึกว่าไม่ใช่อาการก็ต้องมั่นดูตัวเองว่า เรามีอาการผิดปกติหรือไม่ ที่ไม่เหมือนอาการที่เคยเป็นมา ก็ควรรีบมาตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่ารอให้เป็นมาก



ถาม. การตรวจร่างกายประจำปี หมายถึง การตรวจระบบใดบ้าง

ตอบ. ก็คือ จะต้องตรวจทุก ๆ ระบบที่มันจะมีความเสื่อมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเรามองดูสาเหตุ 10 อันดับ ของการเสียชีวิตของคนไทย จะเห็นว่าคนสูงอายุ ก็จะมีโรคระบบไหลเวียนเป็นอันดับ 1 รองลงมาก็จะเป็นโรคของมะเร็งทุก ๆ ระบบ อันดับ 3 ได้แก่ โรคเบาหวาน อันดับ 4 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อันดับ 5 โรคระบบทางเดินอาหาร อันดับ 6 โรควัณโรค อันดับ 7 อุบัติเหตุ อันดับ 8 โรคระบบอวัยวะสืบพันธุ์ อันดับ 9 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง

ซึ่งจากสาเหตุต่าง ๆ ก็พอจะรู้ว่า ผู้ร้ายของพวกเราคืออะไร ก็คือ เรื่องของระบบไหลเวียนเลือดที่อยู่ในอันดับ 1 เราก็คงจะต้องมาตรวจว่า เรามีปัจจัยเสี่ยงของโรคระบบไหลเวียนเลือดหรือไม่ เช่น คุณหมอก็จะตรวจดูในเรื่องของ ไขมันในเลือด เบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน หรือ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น บุหรี่ สุรา เป็นต้น



ถาม. ในแต่ละช่วงอายุที่แตกต่างกันการตรวจแตกต่างกันหรือไม่

ตอบ. ก็เห็นได้ง่าย ๆ เช่น ข้อกำหนดของกระทรวงการคลังที่จะให้ข้าราชการตรวจร่างกาย จะเห็นว่า อายุ 35 ปี ก็จะเบิกได้ไม่มาก ถ้าเกินกว่านั้นก็จะเบิกได้มากขึ้น เพราะโรคที่ต้องตรวจมันมีมากขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับวัน อายุ แต่ก็ยังจะต้องขึ้นอยู่กับคนไข้เป็นหลักมากกว่าด้วย คือ คนนั้นมีปัจจัยเสี่ยงอะไรหรือไม่ เช่น อาจจะมีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรคไตที่เป็นถุงน้ำในไตเป็นต้น แล้วตัวเองยังปกติอยู่ ก็อาจจะต้องตรวจปัสสาวะ ตรวจดูอัลตราซาวด์ของไต ทั้งที่คนอื่น ๆ อาจจะไม่ต้องตรวจก็ได้



ถาม. การเตรียมตัวในการมาตรวจร่างกายควรทำอย่างไร จำเป็นจะต้องอดน้ำและอาหารมาก่อนหรือไม่

ตอบ. แน่นอนครับ เพราะอย่างที่ได้เรียนข้างต้นแล้ว ว่าเราจะต้องมีการตรวจเลือดดูโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 เพราะฉะนั้นการตรวจดูก็จะต้องงดน้ำและอาหาร เป็นเวลา 6 ชม. ก่อนที่จะมาตรวจเลือด แต่ถ้าจะต้องตรวจไขมันในเลือดด้วย ก็อาจจะอดนานขึ้นเป็น 12 ชม. เพื่อดูระดับไขมันโตรกรีเซอลาย ซึ่งก็แนะนำว่าควรจะอดมาก่อนเพื่อจะได้ไม่ต้องมาตรวจใหม่อีกรอบ สำหรับคนที่รู้ตัวว่าอดน้ำอดอาหารไม่ได้นาน ก็ควรจะมาโรงพยาบาลตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้ามาสายก็อาจจะเป็นลมได้

นอกจากนั้น ควรใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมเพื่อจะได้สะดวกในการตรวจ และสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนก็ไม่ควรตรวจปัสสาวะ เนื่องจากจะไม่สามารถแปรผลได้ เพราะจะมีเลือดแดงปนออกมาในปัสสาวะนั่นเอง

โดย: หมอหมู วันที่: 2 ตุลาคม 2555 เวลา:13:16:46 น.
  

//www.si.mahidol.ac.th/th/department/preventive/dept_article_detail.asp?a_id=143

การตรวจสุขภาพประจำปี (ตอนที่ 2)

รศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


ถาม. ในปัจจุบันยังมีการตรวจพิเศษอื่น เช่น MRI อัลตร้าซาวด์ แมมโมแกรม มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในแต่ละคน การตรวจจำเป็นจะต้องให้แพทย์สั่งก่อนหรือไม่

ตอบ. เราจะเห็นได้ว่าการตรวจพิเศษ หรือ เจาะจงนั้น จะต้องให้แพทย์ตรวจร่างกายดูก่อนว่า ตรวจด้วยวิธีพิเศษแล้วจะมีโอกาสพบหรือไม่ ถ้ามีโอกาสน้อยมาก ไม่คุ้มที่จะทำเพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หรือแม้แต่การส่งตรวจเอ็กซเรย์ปอด ซึ่งจะเห็นว่าราคาไม่แพง 200-300 บาท แต่ถ้าเราสุ่มตรวจพร่ำเพรื่อเกินไปก็อาจสิ้นเปลื้องโดยใช้เหตุ



ถาม. ทราบผลทันทีหรือไม่

ตอบ. โดยทั่วไปปัจจุบันนี้ รพ.ทั่วประเทศได้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็วในยุคที่มีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะได้ผลในวันนั้นเลย อาจจะยกเว้นการตรวจบางอย่างที่จะต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษอาจจะต้องใช้เวลาเล็กน้อย



ถาม. ค่าใช้จ่ายในการตรวจ

ตอบ. โดยทั่วไป ถ้าเป็นการตรวจพื้นฐาน เช่น ตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ตรวจดูระดับน้ำตาล ตรวจภาวะไขมัน ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด ก็จะประมาณ 1,000-2,000 บาท แล้วแต่โรงพยาบาล



ถาม. จากที่ได้พูดคุยข้างต้นจะเห็นว่าโรคบางชนิดจะเป็นเฉพาะผู้หญิง บางโรคก็จะเป็นเฉพาะผู้ชาย จำเป็นในการตรวจร่างกายจะมีความแตกต่างกันอย่างไร

ตอบ. แน่นอนครับ จะเห็นว่าการเสียชีวิตอันดับ 1 และ 2 ของคนไทยจะมีในทุก ๆ ระบบ ซึ่งผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน ในแง่ของโรค เช่น สาเหตุของมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยจะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งก็จะต้องมีการตรวจ แป๊บซีเมีย (หามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกทุก ๆ ปี เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี ถ้าเกิดตรวจแล้วปกติอยู่ ความถี่ก็จะห่างออกไปคืออย่างน้อย 3 ปี เป็นต้น ซึ่งผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องตรวจในจุดนี้

นอกจากนั้นเรื่องของเต้านม ปัจจุบันจะมีการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ซึ่งคนที่มีประวัติในครอบครัว หรือคลำได้ก้อนที่ไม่แน่ใจที่เต้านม ก็ควรที่จะต้องตรวจเพิ่มเติม ส่วนในผู้ชายก็จะแตกต่างไปจากผู้หญิงในเรื่องของต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นโชคดีของคนไทยว่าในคนไทยพบน้อยมาก ยกเว้นในคนที่อายุมาก ๆ ซึ่งจะต้องอาศัยการตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร หรือ เจาะเลือดหาในระยะเริ่มแรกได้ เป็นต้น



ถาม. ระยะเวลาในการมาตรวจที่เหมาะสม

ตอบ. ถ้าร่างกายปกติ สบายดี หรือไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่จำเป็นต้องมาดีกว่าอาจจะเป็นปีละหน หรือน้อยที่สุด ที่เป็นการตรวจที่คุ้มค่าที่สุด และได้ประโยชน์ที่สุดก็คือ การวัดความดันโลหิต เพราะความดันโลหิตของคนเรานั้นจะสูงขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น และเวลาเป็นก็จะเป็นช้า ๆ โดยไม่รู้ตัว ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้จะมีผลทำให้หัวใจโต เป็นอัมพาต เป็นโรคไต ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นมันก็จะสายเกินไป ซึ่งการตรวจวัดความดันนั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายเลย



ถาม. ข้อแนะนำช่วงท้าย

ตอบ. สำหรับแง่ของการดูแลสุขภาพป้องกันโรคดูจะเป็นคำตอบสุดท้าย สำหรับคนไทยในยุคนี้ว่าอย่ารอให้เจ็บป่วยเกิดขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นในแต่ละวัน คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานจัด เค็มจัดหรืออาหารที่ไม่สะอาดเป็นต้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอบายมุขต่าง ๆ เช่น บุหรี่ สุรา สำหรับผู้ชาย ก็ควรระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ นับว่าเป็นคนไทย พรใดก็จะไม่สำคัญเท่ากับอโรคยา ปรมา ลาภา คือ การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐจริง ๆ


โดย: หมอหมู วันที่: 2 ตุลาคม 2555 เวลา:13:18:20 น.
  
ขอบคุณข้อมูลดีๆคับ หมอหมู
โดย: yutcmri วันที่: 7 สิงหาคม 2556 เวลา:6:24:21 น.
  
แจ่มมากครับ
รักสุขภาพ
โดย: na_nyu วันที่: 25 กันยายน 2557 เวลา:0:39:14 น.
  
09 กุมภาพันธ์ 2555
นพ.สันต์ ใหัสัมภาษณ์หนังสือ Diag Today
(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ให้สัมภาษณ์หนังสือ Diag Today ซึ่งเป็นหนังสือที่เผยแพร่เฉพาะในหมู่แพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรค)

//visitdrsant.blogspot.com/2012/02/diag-today.html

ปัจจุบันตามศูนย์ตรวจสุขภาพมักมีโปรแกรมต่างๆ ให้เลือกมากมาย อาจารย์มีแนวคิดในการจัดการโปรแกรมตรวจสุขภาพในแต่ละกลุ่มอย่างไรบ้างคะ

นพ.สันต์

สิ่งที่คุณเรียกว่า “โปรแกรมตรวจสุขภาพ” นั้น มันเป็นเพียงการเอาการตรวจสุขภาพประจำปีมาเสนอขายเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์อะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อสื่อไปหากลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทีละกลุ่ม เช่นโปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน โปรแกรมตรวจคนอายุย่าง 40 เป็นต้น ว่าไปแล้วมันเป็นวิธีสื่อสารที่ไม่เหมาะกับงานตรวจสุขภาพประจำปีเท่าไหร่ เพราะการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นเรื่องของการเฝ้าระวังและคัดกรองโรค หรือ health surveillance ซึ่งเป็นเสี้ยวหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อันมีปลายทางอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้รับการตรวจมีสุขภาพดีและไม่ป่วยตลอดไป การสื่อสารที่ดี หรือจะใช้คำพูดของคุณก็ได้ โปรแกรมที่ดี ควรจะเป็นวิธีประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของคนคนนั้นเป็นรายคน แล้ววางแผนสุขภาพประจำปีให้เขาเป็นรายคน ว่าเฉพาะตัวเขา ปีนี้มีอะไรต้องทำบ้าง ถ้าจะให้ใช้คำว่าโปรแกรม ผมก็ขอตั้งชื่อว่าโปรแกรมตรวจสุขภาพเฉพาะคน หรือ Customized Check Up Program ก็คงได้มั้ง คือวิธีของผมเนี่ยไม่มีการแบ่งเป็นกลุ่มคนแบบเหมาโหล แต่ว่ากันเป็นรายคนของใครของมัน

Diag Today

หมายความว่าคนไข้ต้องมาเจอหมอก่อนที่จะตัดสินใจว่าปีนี้จะตรวจอะไรบ้าง

นพ.สันต์

ใช่ครับ ข้อมูลส่วนใหญ่ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่บ่งบอกถึงปัจจัยเสี่ยงสุขภาพบุคคลคือข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายก็แค่พื้นๆเช่นน้ำหนัก ส่วนสูง ดัชนีมวลกาย ความดันเลือด แค่นี้ก็พอสำหรับการตั้งต้นแล้ว จากข้อมูลนี้เราอนุมานได้แล้วว่าปัญหาสุขภาพของเขามีเรื่องใดบ้าง แล้วจึงค่อยมาตกลงกันว่าควรจะตรวจอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ซึ่งแน่นอน เราจะตรวจเพิ่มเติมเฉพาะเรื่องที่จะให้ข้อมูลที่ให้ประโยชน์ในขั้นตอนวางแผนสุขภาพประจำปีของเขาเท่านั้น

Diag Today

พูดถึงการตรวจ ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก มีการตรวจวิเคราะห์ชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย อาจารย์มีวิธีเลือกอย่างไรในการที่จะนำการตรวจวิเคราะห์นั้นมาอยู่ใน Checkup program ละคะ

นพ.สันต์

ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือผมจะเลือกตรวจเฉพาะการตรวจที่จะให้ข้อมูลซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงแผนการดูแลสุขภาพประจำปีของคนไข้ ถ้าเป็นเทคโนโลยีใหม่ก็จะประเมินเอาจากผลการศึกษาทางคลินิกที่มีคนทำไว้แล้ว เครื่องมือหลายอย่างถ้าเรามองหลักฐานในระดับงานวิจัยจากห้องแล็บแล้วรู้สึกว่าน่าจะดีมีประโยชน์มาก แต่พอมาดูผลการศึกษาในคนไข้แล้วกลับพบว่าจะใช้หรือไม่ใช้การตรวจชนิดนั้นก็ไม่มีผลแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเลย อย่างนี้ผมก็ไม่เลือกมาใช้

Diag Today

เมื่อผู้ป่วยมารับบริการตรวจสุขภาพ สิ่งที่แพทย์ควรทำ และควรคำนึงถึงมีอะไรบ้างคะ

นพ.สันต์

ในขั้นตอนการซักประวัติ นอกจากประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบันอันหมายถึงอาการไม่สบายต่างๆที่เขามีอยู่ตอนนี้ และประวัติการเจ็บป่วยในอดีตอันหมายถึงโรคประจำตัวต่างๆที่เขามีอยู่แล้ว สิ่งที่ผมเน้นมากเป็นพิเศษมีอยู่สามเรื่อง

หนึ่ง คือลักษณะการใช้ชีวิตของเขาว่ามีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแค่ไหน พูดง่ายๆก็คือประวัติการออกกำลังกาย แต่ไม่ได้ถามแค่ว่าคุณออกกำลังกายไหม ผมจะเจาะลึกลงไปถึงว่าที่ว่าออกกำลังกายอยู่ประจำนั้นทำอยู่กี่แบบ เช่น ออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแอโรบิกไหม ถ้าออก ทำถึงระดับความหนักเท่าใด หนักถึงระดับปานกลางหรือ moderate intensity คือจนถึงหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้หรือเปล่า แล้วมีความต่อเนื่องครั้งละกี่นาที ถึง 30 นาทีซึ่งถือเป็นระดับมาตรฐานหรือเปล่า แล้วที่ว่าออกกำลังกายสม่ำเสมอนั้นทำบ่อยแค่ไหน ถึงสัปดาห์ละ 5 วันที่ถือเป็นมาตรฐานหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น

สอง คือลักษณะโครงสร้างทางโภชนาการของเขา หมายถึงอาหารการกิน ว่าเขาทานอะไรบ้าง อะไรเป็นอาหารหลัก มื้อเช้าทานอะไร กลางทานอะไร เย็นทานอะไร โดยเจาะลึกลงไปถึงหน่วยนับทางโภชนาการ ถ้าเขาบอกว่าเขาทานผักผลไม้มาก นับให้ฟังหน่อยสิ นับได้กี่เสริฟวิ่ง ถ้าผลไม้อย่างแอปเปิลหนึ่งลูกคือหนึ่งเสริฟวิ่ง ผักสลัดสดหนึ่งจานคือหนึ่งเสริฟวิ่ง วันหนึ่งเขาทานผักบวกผลไม้ได้ถึง 5 เสริฟวิ่งซึ่งเป็นระดับมาตรฐานหรือเปล่า เป็นต้น

สาม คือ ประวัติการได้วัคซีน ตรงนี้มักต้องอธิบายกันนาน เพราะคนไข้ผู้ใหญ่นึกว่าวัคซีนเป็นเรื่องของเด็กๆเท่านั้น ทั้งๆที่ผู้ใหญ่ก็มีความจำเป็นต้องได้วัคซีนหลายตัว เช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่นี้ต้องได้ทุกปีอยู่แล้ว วัคซีนบาดทะยักต้องกระตุ้นทุกสิบปี ถ้าเป็นผู้หญิงอายุน้อยก็จะได้ประโยชน์จากวัคซีนเอ็ชพีวี.เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ถ้าเป็นคนที่อายุเกิน 30 ปีแล้วตอนเด็กๆมักไม่ได้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี.ก็ต้องตรวจดูภูมิคุ้มกัน ถ้าพบว่ายังไม่มีภูมิก็ควรจะได้วัคซีน ถ้าเป็นคนอายุ 65 ปีขึ้นไปหรือเป็นโรคเรื้อรังอยู่ก็ควรจะได้วัคซีนป้องกันปอดอักเสบหรือ IPV เป็นต้น

ในขั้นตอนการตรวจร่างกายนั้นไม่มีความแตกต่างจากคลินิกรักษาโรคอื่นๆมากนัก ก็คือในคลินิกเช็คอัพเราตรวจร่างกายพื้นฐานทั่วไปก่อน แล้วมาเจาะลึกตรวจในส่วนที่เกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เขามีอยู่ในปัจจุบัน

ในขั้นตอนการวางแผนการตรวจแล็บหรือการตรวจพิเศษ ผมจะใช้วิธีวางแผนร่วมกับคนไข้ บนหลักการที่ว่าเลือกตรวจเฉพาะสิ่งที่จะมีผลเปลี่ยนแปลงแผนการดูแลสุขภาพของเขา หรือสิ่งที่จะช่วยวินิจฉัยอาการผิดปกติของเขาเท่านั้น แต่ก็มีเหมือนกันที่ผมเลือกการตรวจเพื่อเอาผลมาเป็นเครื่องมือช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนไข้ ยกตัวอย่างเช่นคนไข้สูบบุหรี่ มีความดันเลือดสูง เป็นเบาหวานด้วย ข้อมูลแค่นี้ก็พอแล้วที่จะบอกว่าเขาเป็นคนระดับที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูงต้องเริ่มใช้ยาลดไขมันตั้งแต่ระดับไขมันเลว (LDL) ยังไม่สูงมาก เช่นเกิน 100 มก./ดล.ก็เริ่มใช้ยาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลลึกซึ้งอื่นๆมาช่วยตัดสินใจอีก แต่ผมก็ยังอาจจะแนะนำให้เขาตรวจดูแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ (CAC) ด้วย ไม่ใช่เพื่อเอาผลมาประกอบการตัดสินใจอะไร แต่เพื่อจะได้ชวนเขานั่งดูภาพซีที.หลอดเลือดของเขาเองขณะอธิบายบทบาทของแคลเซียมในกลไกการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ ให้เขาเห็นภาพหลอดเลือดหัวใจของเขาเองที่มีแคลเซียมเข้าไปพอกแล้ว เพื่อจะสร้างความหนักแน่นให้เขาเห็นว่าเขาเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้วจริงๆ ก่อนที่จะชี้ทางออกที่ช่วยเขาได้ อันได้แก่การเลิกบุหรี่ การเริ่มต้นออกกำลังกาย และการปรับโภชนาการ คือบางครั้งผมอาศัยผลการตรวจมาเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อ เพราะตามทฤษฏีขั้นตอนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (stage of change model) ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ เราจะต้องฝ่าขั้นแรกให้ได้ก่อน นั่นคือทำให้เขาเชื่อ เพราะถ้าเขาไม่เชื่อ ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

Diag Today

จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่ดูแลศูนย์สุขภาพมา การตรวจสุขภาพประจำปีทำให้ตรวจพบปัญหา อะไรบ้างคะ

นพ.สันต์

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือผมพบว่าคนไทยยุคปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานวัยตั้งแต่สามสิบขึ้นไป เป็นคนที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังสูงมาก สูงกว่าคนไทยรุ่นก่อนราวกับเป็นมนุษย์คนละพันธ์ เมื่อเราดูโครงสร้างสุขภาพของคนไทยยุคนี้ เราคาดเดาได้เลยว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง จะกลายมาเป็นภาระที่หนักหน่วงมากให้สังคมไทยในอนาคต

ตัวอย่างเช่นผมเคยทำวิจัยผู้ป่วยอายุเกินสี่สิบจำนวนสามพันกว่าคนที่มาตรวจสุขภาพที่รพ.พญาไท 2 พบว่าเกินครึ่งมีไขมันในเลือดผิดปกติถึงระดับต้องใช้ยา ประมาณหนึ่งในสามเป็นความดันเลือดสูงถึงระดับที่ต้องใช้ยา และประมาณ 40% มีดัชนีมวลกายสูงผิดปกติ เกือบทุกคนมีโครงสร้างอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง มีแคลอรี่สูงเกินความจำเป็นไปมาก มีผักและผลไม้ต่ำมาก และในจำนวนคนทั้งหมดนี้ มีเพียง 7% เท่านั้นเองที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอถึงระดับมาตรฐานสากล ข้อมูลเพียงแค่นี้ก็เดาได้แล้วว่าถ้าเราตามพวกเขาไปอีกสามสิบสี่สิบปี พวกเขาจะป่วยและจะจบชีวิตอย่างไร ดังนั้นอย่าได้แปลกใจถ้าคุณอ่านพบคำคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ว่า “..ในปีค.ศ. 2020 ประมาณ 90% ของคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดทั้งโลกนี้ จะอยู่ในทวีปเอเชีย”

Diag Today

เมื่อตรวจพบความเสี่ยงที่จะเป็นโรคในผู้มาตรวจสุขภาพมากอย่างนี้ อาจารย์มีเทคนิคในการแนะนำผู้ป่วย อย่างไร ไม่ให้กังวล และแนะนำวิธีในการปฏิบัติตัวต่อไปอย่างไรบ้างคะ

นพ.สันต์

คือผมวางเป้าหมายของการตรวจสุขภาพประจำปีไว้ที่การช่วยให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีได้ด้วยตัวเขาเอง สโลแกนที่ทีมงานเราใช้คือ “ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง” หรือ total lifestyle modification เทคนิคที่เราใช้มีพื้นฐานอยู่บนทฤษฏีขั้นตอนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือ stage of change model ซึ่งมีสาระสำคัญว่าคนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จะต้องผ่านไปตามขั้นตอนต่างๆห้าขั้นตอนคือ 1. ไม่เชื่อ, 2. เชื่อแต่ยังไม่ทำ, 3. ตกลงใจแล้วว่าจะทำ, 4. ลงมือทำ, 5. ทำได้ โดยในแต่ละขั้นตอนก็ต้องอาศัยตัวช่วยที่เหมาะสมให้เขาผ่านขั้นตอนนั้นๆไปให้ได้ก่อน ถ้าใช้เครื่องมือผิดขั้นตอนก็ไม่ได้ผล ยกตัวอย่างเช่นเขายังอยู่ในขั้นตอนแรกคือไม่เชื่อ เครื่องมือหลักก็คือต้องให้ความรู้แสดงหลักฐานให้เขาเชื่อก่อน จะไปเอาเครื่องมืออื่นเช่นการจูงใจหรือระเบียบวินัยมาใช้มันก็ไม่ได้ผล เพราะเขาไม่เชื่อ ยังไงเขาก็ไม่ทำ เป็นต้น ดังนั้นในการช่วยให้เขาปรับพฤติกรรมให้สำเร็จนี้มันจึงต้องประเมินก่อนว่าสำหรับแต่ละพฤติกรรมเขาอยู่ในขั้นตอนไหน แล้วก็มาวางแผนว่าจะใช้เครื่องมืออะไรกับเขา แล้วก็ทำไปตามแผน

Diag Today

สุดท้ายนี้ อาจารย์มีคำแนะนำสำหรับแพทย์ท่านอื่นที่สนใจจัดตั้งศูนย์สุขภาพอย่างไรบ้างคะ

นพ.สันต์

ในส่วนฮาร์ดแวร์คือสถานที่เครื่องไม้เครื่องมือผมคงไม่มีคำแนะนำอะไรหรอกครับ เพราะผมเชื่อว่าแพทย์ทุกคนทำได้อยู่แล้ว ส่วนที่ผมอยากจะพูดถึงคือการเตรียมตัวเราในการทำงานตรวจสุขภาพ คืองานตรวจสุขภาพนี้มันเป็นส่วนประกอบย่อยของงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การจะมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ เราต้องมีความเชื่อและความศรัทธาอย่างลึกซึ้งในหลักวิชาส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก่อน ความเชื่อแสดงออกด้วยการกระทำ อย่างที่วิชาการศึกษาบอกว่า “เราทราบว่ามีการเรียนรู้เกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” ดังนั้นเราต้องใช้หลักวิชาส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับตัวเองให้ได้เสียก่อน ลองชั่งน้ำหนักตัวเองดู น้ำหนักเราเท่าไร ความดันเลือดเท่าไร ไขมันในเลือดเท่าไร ถ้ามันสูง ก็ลงมือใช้หลักวิชาจัดการกับมันเสียก่อน ลองไล่เลียงดูโครงสร้างอาหารที่เราทานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันสักหน่อย มันสอดคล้องกับหลักวิชาดีหรือยัง ถ้ายังก็เปลี่ยนเสียก่อน นึกย้อนดูในสัปดาห์ที่ผ่านมาเราออกกำลังกายอย่างเป็นกิจจะลักษณะกี่ครั้ง คือเอาวิชามาใช้กับตัวเราให้ได้ก่อน เรียนรู้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้วยการกระทำ เมื่อเราทำได้ รู้วิธีแล้ว เราจึงจะไปสอนคนไข้ได้ ถ้าเราเองยังทำไม่ได้แต่ไปพร่ำสอนให้คนไข้ทำ มันก็คงไม่ต่างจากหมอผีที่รับจ้างอ่านเวทย์มนต์ไล่ผีโดยที่ตัวเองไม่เคยเชื่อเลยว่าผีมีจริง ไฮไลท์ของการเป็นหมอที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพอยู่ตรงนี้แหละครับ

โดย: หมอหมู วันที่: 18 สิงหาคม 2560 เวลา:15:31:21 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด