อัมพาตเป็นแล้วรักษาหายหรือไม่
ทันโลก ทันเหตุการณ์ กับแพทยสภา ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2551
//www.naewna.com/news.asp?ID=110248
อัมพาตเป็นแล้วรักษาหายหรือไม่
อัมพาต หมายถึงอาการอ่อนแรงของแขนหรือขาอย่างมากจนไม่สามารถขยับได้เลย
หากอ่อนแรงแต่ยังขยับได้เรียกว่า อัมพฤกษ์
อาการดังกล่าวบ่งบอกถึงการทำงานของระบบสั่งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเสียหาย ซึ่งระบบสั่งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนี้เริ่มต้นตั้งแต่ เซลล์สมองสั่งการบริเวณเนื้อสมองชั้นนอก (cerebral cortex) ส่งคำสั่งผ่านใยประสาท ผ่านเนื้อสมองส่วนใน (white matter) ผ่านแกนสมอง (brain stem) ในระดับต่างๆ จนถึงเซลล์ประสาทสั่งการในไขสันหลัง จากเซลล์ประสาทสั่งการในไขสันหลังส่งคำสั่งผ่านเส้นประสาทไขสันหลัง และเส้นประสาทส่วนปลายไปยังกล้ามเนื้อต่างๆ
การเกิดความผิดปกติในทางเดินคำสั่งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในแต่ละจุด เป็นเหตุให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้แตกต่างกัน เช่น
หากผิดปกติบริเวณผิวของสมอง หรือสมองชั้นนอก เนื่องจากเป็นส่วนที่เซลล์สมองอยู่เป็นบริเวณกว้าง การสูญเสียบางส่วนมักจะอ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกายเป็นบางส่วน และอ่อนแรงของแขนและขาไม่เท่ากันที่มักเรียกว่า อัมพฤกษ์
หากผิดปกติบริเวณแกนสมองหรือเนื้อสมองส่วนในที่ใยประสาทสั่งการจะมารวมกันใน บริเวณเล็ก อาการอ่อนแรงมักจะรุนแรงทั้งแขนและขาที่เรียกว่า อัมพาต
การจะบอกว่าอาการอัมพาตนั้นจะหายหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพที่เป็นสาเหตุว ่าเป็นเช่นไร ซึ่งพอจะแบ่งได้ดังนี้
1. พยาธิสภาพแบบทำลาย (destructive lesions)
ได้แก่ การเกิดเลือดออก การเกิดก้อนเนื้องอก การเกิดการอักเสบ การขาดเลือดมาเลี้ยงบริเวณสมองหรือเส้นประสาทสั่งการโดยตรง ลักษณะพยาธิสภาพเช่นนี้มักจะคาดการณ์หรือพยากรณ์โรคว่าไม่ดี หากจุดที่เกิดทำให้เป็นอัมพาต เช่น บริเวณแกนสมอง หรือเนื้อสมองส่วนใน
2. พยาธิสภาพแบบกดเบียด (compressive lesions)
ได้แก่ ก้อนเลือด ก้อนเนื้องอก ฝีหนอง บริเวณข้างเคียงกับส่วนสมองหรือเส้นประสาทสั่งการ ทำให้เกิดการกดเบียด ซึ่งพยาธิสภาพเช่นนี้ เมื่อแก้ไขแล้วมักจะมีโอกาสฟื้นตัวหรือหายได้
3. พยาธิสภาพแบบสูญเสียหน้าที่ชั่วคราว (transient loss of function)
ได้แก่ภาวะลมชัก ภาวะสมองหรือเส้นประสาทถูกกระทบกระเทือน ทำให้สูญเสียหน้าที่ชั่วคราว
พยาธิสภาพทั้ง 3 แบบ มีโอกาสทำให้เป็นอัมพาตได้ทั้งสิ้น แต่หากเป็นแบบที่ 1 มักจะฟื้นตัวได้น้อยที่สุด ส่วนแบบที่ 2 และ 3 เมื่อแก้ไขสาเหตุแล้วมักจะฟื้นตัวได้ดี หมายถึง โอกาสกลับมามีกำลังของกล้ามเนื้อขึ้นใหม่ได้
มีคำถามเสมอว่าจะมียาอะไรหรือไม่ ที่จะทำให้อาการอัมพาตดีขึ้น?
คำตอบคือ ยังไม่มีในปัจจุบัน แต่มียาจำนวนมาก ที่มีกลไกทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น ซึ่งก็คือทำให้ปัจจัยสภาวะแวดล้อมของสมองดี ซึ่งปัจจัยเช่นนี้ สามารถสร้างได้ด้วย การกินอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมเบาหวาน ควบคุมความดันโลหิต ออกกำลังกาย และมีอารมณ์ที่แจ่มใส
เมื่อปฏิบัติเช่นนี้แล้วภาวะอัมพาตนั้น หากเป็นพยาธิสภาพที่ฟื้นตัวได้ กำลังของกล้ามเนื้อจะดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะใช้เวลาฟื้นตัวเต็มที่ประมาณ 6 เดือน
เมื่อครบ 6 เดือนแล้วยังไม่เป็นปกติ โดยทั่วไปถือว่าจะเป็นการสูญเสียถาวร กำลังที่ดีขึ้นต่อไปเป็นจากการทำกายภาพบำบัดหรือฝึกการใช้กล้ามเนื้อส่วนที่ ดีอยู่ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น
ถึงจุดนี้คงเป็นคำตอบสำหรับหลายท่านที่ถามว่ายาหม้อที่ไม่มีการแจกแจงว่ามีส่วนประกอบอะไร แต่มีราคาแพงมีประโยชน์หรือไม่
ด้วยความปรารถนาดี
นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา
กำลังหาข้อมูล
...ดีมากเลยครับ