
เคล็ดลับการตักบาตรให้ได้บุญ!!!
.
ความเร่งรีบบวกกับความเคยชินอาจชวนให้คนส่วนใหญ่หลงลืมไปว่าในอาหารชุดสำเร็จรูปซึ่งเรานำมาใส่บาตรให้พระสงฆ์ ที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่มีโปรตีนและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไม่ครบถ้วน ในขณะที่มีปริมาณน้ำตาล น้ำมัน เกลือ กะทิ หรือโซเดียมมากเกินกว่าความต้องการ
.
เมื่อพระสงฆ์ฉันอาหารลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้พระสงฆ์อาพาธ (เจ็บป่วย) ด้วยโรคต่างๆ ซึ่งหากดูจากรายงานสถานการณ์ปัญหาโภชนาการในสงฆ์ ของโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ปี 2559 ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะพบว่า 5 โรคยอดฮิตของพระสงฆ์ไทยคือ
1. โรคไขมันในเลือดสูง
2. ความดันโลหิตสูง
3. เบาหวาน
4. โรคปอด
5. โรคหัวใจและหลอดเลือด
.
ซึ่งสาเหตุของการเจ็บป่วยในพระสงฆ์เกิดจากการฉันอาหารที่มีไขมันสูงและดื่มน้ำปานะที่มีรสหวาน เฉลี่ย 2 แก้ว/วัน รวมถึงออกกำลังกายน้อย เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายของพระสงฆ์อย่างการเดินรอบวัด กวาดลานวัด ยังไม่เพียงพอสำหรับการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวัน
.
ดังนั้นวันนี้เรามาดูเคล็ดลับการตักบาตรให้ได้บุญกันค่ะ ซึ่งนั่นก็คือ การเลือกอาหาาใส่บาตรด้วยความคำนึงและใส่ใจสุขภาพพระสงฆ์ไทย ด้วยการ ‘ใส่ใจสุขภาพ เสริมข้าวกล้อง เสริมผัก เสริมปลา เสริมนม สรร-ปานะ และ สรร-กิจนิมนต์’ ดังนี้
1. เสริมข้าวกล้อง เพิ่มใยอาหารด้วยวิตามิน : ด้วยการผสมข้าวกล้องและข้าวขาวอย่างละครึ่ง ข้าวกล้องมีประโยชน์ต่อหัวใจ ลดความเสี่ยงไขมันอุดตันเส้นเลือด ช่วยระบบขับถ่าย และอุดมไปด้วยวิตามินบี เนื่องจากในข้าวกล้องมีสารเส้นใยสูงกว่าข้าวขาวถึง 3-7 เท่า
.
2. เสริมผัก หลากชนิด : ด้วยการบริโภคผักและผลไม้ 2 ส่วน ต่อข้าว 1 ส่วน และเนื้อสัตว์หรือไข่ 1 ส่วน เพราะผักและผลไม้มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และเบาหวานได้มากในผักและแร่ธาตุ กากใยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
.
ทั้งนี้ผักในท้องตลาดมีหลากหลายชนิดด้วยกัน ยิ่งมีผักหลากหลายชนิดในเมนูอาหารก็ยิ่งมากไปด้วยประโยชน์ แต่น่าเสียดายที่พระสงฆ์ไม่ได้ฉันในปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากในอาหารตักบาตรไม่มีผลไม้ และญาติโยมไม่ได้นำมาถวาย ท่านจึงไม่ได้ฉันผักสดหรือผลไม้รสหวานน้อย อย่าง มะละกอ ฝรั่ง แอปเปิ้ล และสาลี
.
3. เสริมปลา ลาไกลมะเร็ง : ปลาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ถือเป็นอาหารสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง
.
ซึ่งปลายังเป็นวัตถุดิบที่รังสรรค์อาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ ปลาผัดขึ้นฉ่าย ปลานึ่งมะนาว ยำปลาสลิด เมี่ยงปลาทู เป็นต้น อีกทั้งยังมีกรรมวิธีการทำที่หลากหลาย ทั้งนึ่ง ต้มโคล้ง ต้มยำ แกงส้ม ผัด ทอด ย่าง หรืออ่อม
.
4. เสริมนม ผสมกะทิ กระดูกดี : ปรับให้เมนูของคาวและหวานที่มีส่วนผสมจากกะทิเป็นเมนูสุขภาพมากขึ้น ด้วยการใช้สูตรกะทิครึ่ง+นมครึ่ง ได้สุขภาพดีโดยที่ไม่เสียรสชาติอาหาร อาหารยังคงอร่อย มีคุณค่าอาหารและแคลเซียมสูง
.
แต่สำหรับพระสงฆ์ที่ไม่สามารถฉันนมวัว สามารถใช้นมถั่วเหลืองแทนได้ เพราะการกินไขมันมากเกินความจำเป็นอาจทำให้อ้วนง่ายและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
.
ที่นำนมวัวมาผสมสอดแทรกในเมนูอาหารเนื่องจากยังคงมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งมีปัญหาเรื่องกระดูกพรุน กระดูกบาง เพราะพระบางท่านไม่ดื่มนมวัวเลย ประกอบกับไม่ได้รับอาหารที่มีแคลเซียมมากนัก จึงมีความเสี่ยงมีภาวะกระดูกไม่แข็งแรงด้วย
.
5. สรรปานะ ลดน้ำตาล : น้ำปานะ หรือ เครื่องดื่มที่จะช่วยบรรเทาความหิวขณะท้องว่างได้ ควรมีปริมาณน้ำตาลน้อยและมีโปรตีนอยู่ด้วย อย่างเช่น โยเกิร์ต นมวัว-นมถั่วเหลือง ทั้งนี้ควรเลือกชนิดไขมันต่ำ รสชาติจืดหรือหวานน้อยแทน
.
6. ลดเค็ม ลดมัน รสชาติไม่จัดจ้าน : เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพพระสงฆ์ควรลดปริมาณการปรุง ทั้ง น้ำปลา เกลือ น้ำบูดู น้ำไตปลา ปลาร้า ปลาจ่อม รวมถึงควรใช้น้ำมันในปริมาณที่น้อย หรือเปลี่ยนเป็นกรรมวิธีการต้ม อบ ตุ๋น นึ่ง แทน
.
เพื่อเป็นการส่งเสริมและเอื้อให้พระสงฆ์ไทยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันอาหารที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต
.
อ้างอิง: ดนยา สุเวทเวทิน.โยมสะดวก แต่พระอาจไม่สบาย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ https://bit.ly/2H4DXVeที่มา FB@Smart Consumer
https://www.facebook.com/smartconsumer4.0/photos/a.332188787193559/700720087007092/?type=3&theater
*******************************