ความรู้เกี่ยวกับ ใบรับรองแพทย์ ... ใช้ผิด ติดคุกได้
ความรู้เกี่ยวกับ ใบรับรองแพทย์

ใบรับรองแพทย์ เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่มักจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับใบรับรองแพทย์มากนัก โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่า ใบรับรองแพทย์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และ นำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง บางครั้งทำให้ปัญหาระหว่างแพทย์ กับ ผู้ป่วย ขึ้นมา เราลองมาดูกันสิว่า ใบรับรองแพทย์คืออะไร สำคัญอย่างไร ....


ใบรับรองแพทย์ คือ รายงานสภาวะสุขภาพอนามัยของผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งออกโดย แพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ของ แพทย์สภา

ใบรับรองแพทย์ จะบอกถึงภาวะสุขภาพอนามัย การตรวจรักษา ความเห็นในด้านการแพทย์ นอกจากนั้นยังรวมถึงการรับรองการเกิดและการตายด้วย



ใบรับรองแพทย์ อาจแบ่งได้ 3 ประเภท
1. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองสุขภาพ )
2. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ผิดปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองความเจ็บป่วย )
3. การรับรองการเกิดและการตาย
 
***********************************
 
1. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ปกติของ สุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองสุขภาพ )
 



จะรายงานถึงความสมบูรณ์ของร่างกายทั่วไป และ การไม่เป็นโรคบางชนิด ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ตามความต้องการของแต่ละ บริษัท / หน่วยงาน ที่ต้องการใช้

บางกรณีอาจให้แพทย์ออกความเห็นด้วย เช่น ให้ออกความเห็นว่าเหมาะสมกับงานที่ต้องทำหรือไม่ ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาให้เหมาะสม ถูกต้องมากที่สุด


อัปเดต  ๑๒กพ.๒๕๖๑
"ใบรับรองแพทย์ 2 ท่อน..รพ.ใดยังไม่ใช้..เปลี่ยนด่วน"

แพทยสภาได้รับรอง "ใบรับรองแพทย์" ชนิดที่มี 2 ท่อน เพื่อแก้ปัญหาข้อกฎหมาย โดยให้คนไข้รับรองตนเอง ในโรคที่แพทย์ไม่มีทางทราบได้จากการตรวจปกติ ในท่อนแรก คู่ขนานกับ การที่แพทย์รับรองเฉพาะโรคที่ตรวจได้และระบุตามกฎหมาย ในท่อนที่ 2 เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่ตนเองไม่สามารถทราบได้จากการตรวจปกติ มานานแล้ว โดยเพิ่มที่เป็นตัวแดงคือ สัญญานชีพ เลขที่บัตรประชาชน (กันปลอมตัวมา) ประวัติต่างๆที่เราอาจพลาดถ้าไม่บอก และให้คนไข้รับรองประวัติเอง (ไม่ใช่แพทย์รับรอง เพราะไม่มีทางรู้) แพทย์รับรองเฉพาะที่ตรวจที่เห็นเท่านั้นครับ เพื่อเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่า

ทั้งนี้ออกประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2551 (10ปีที่แล้ว) ตามมติการประชุมกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 8/2551 วันที่ 14 สิงหาคม 2551 โดยได้แจ้งให้มีการปรับใหม่ ลงจดหมายข่าวแพทยสภา และประกาศทาง website เพื่อให้ สถานพยาบาลทุกแห่งนำมาใช้ให้เข้าเกณฑ์ตามข้อกฎหมาย และ ให้ดาวน์โหลดได้ที่ website แพทยสภา เพื่อเป็นต้นแบบ ตามลิ้งนี้

https://www.tmc.or.th/file_download/doctor161209.pdf

ซึ่งสถานพยาบาลส่วนใหญ่ได้นำไปใช้แล้ว แต่ยังพบว่าบางสถานพยาบาลยังคงใช้แบบท่อนเดียว (ไม่มีผู้ป่วยรับรองตนเอง) ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในการรับรองสุขภาพ จึงขอแจ้งมาอีกครั้งให้พิจารณาเปลี่ยนเป็นใบรับรองแพทย์ 2 ท่อน ที่แพทยสภารับรองแล้ว ให้สอดคล้องกฎหมายต่อไป

**************************************

ใบรับรองแพทย์ : ไทย-อังกฤษ มาตรฐาน ที่ได้รับการรับรองจากมติคณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 วันที่ 19 เมษายน 2561  สามารถดาวน์โหลดได้ที่แพทยสภา ไปใช้ได้ฟรี ที่ https://tmc.or.th/detail_news.php?news_id=1044&id=4
 

ตัวอย่างภาษาอังกฤษ


คัวอย่างภาษาไทย


ใบรับรองแพทย์ เพื่อทำใบขับขี่ (ใบอนุญาตขับรถ)  เพิ่มข้อมูลส่วนที่ ๑ ข้อ๔ โรคลมชัก




***************************************

2. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ผิดปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย
 




จะรายงานถึงสภาพความเจ็บป่วยที่เป็น ระยะเวลาของการเจ็บป่วย ระยะเวลาในการรักษา วิธีรักษาพยาบาล และการพยากรณ์โรคหลังจากสิ้นสุดการรักษา ซึ่งจะมีผู้ที่นำใบรับรองแพทย์นี้ไปใช้ต่อ เช่น

- ผู้ป่วยอาจนำใบรับรองแพทย์นี้เพื่อประกอบการลาพักงาน การลาออกจากงาน การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล หรือ เรียกร้องการชดใช้เนื่องจากการบาดเจ็บ หรือ สูญเสียอวัยวะต่าง ๆ

- เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน อาจนำไปใช้เพื่อประกอบในการพิจารณาคดี

 
**********************************

3. การรับรองการเกิดและการตาย

ตามกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 แพทย์ผู้ทำคลอดต้องทำใบรับรองการเกิด เพื่อให้บิดามารดาของทารกไปแจ้งให้พนักงานท้องถิ่นทราบ รวมถึงการรับรองการตายด้วย

สำหรับการตายผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และแพทย์ต้องทำรายงานความเห็นแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ด้วย




เมื่อบุคคลมีความจำเป็นจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แพทย์ก็ควรทำให้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นได้มาพบแพทย์ และได้รับการตรวจสุขภาพหรือดูแลรักษา ตามที่เป็นจริง

ส่วนว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จะนำไปใช้อย่างไร นำไปใช้ได้หรือไม่ ... ก็ขึ้นอยู่กับระเบียบ วิธีปฏิบัติของบริษัท หรือ หน่วยงานนั้น ๆ แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงเท่านั้น … เป็นการแสดงความเห็นทางการแพทย์ แต่ไม่มีผลบังคับตามกฏหมาย ที่จะไปบังคับให้ผู้เกี่ยวข้อง (ผู้ป่วย พนักงาน เจ้าของกิจการ บริษัทประกัน ฯลฯ ) ต้องทำตามความเห็นของแพทย์ ...

 
***************************************

แพทย์กับใบรับรองแพทย์

การออกใบรับรองแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง หรือ เป็นเท็จ แพทย์อาจได้รับโทษได้อย่างน้อย 2 สถานคือ

1. ความผิดทางกฎหมายอาญา มาตรา 269

ซึ่งระบุว่า ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือ วิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประกอบการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

2. ความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9

ซึ่งระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นความเท็จโดยตั้งใจหรือให้ความเห็นโดย ไม่สุจริตในเรื่องใดเกี่ยวกับวิชาชีพของตน ซึ่งอาจถูกลงโทษถึงขั้น พักใช้ หรือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ



ประชาชนกับใบรับรองแพทย์

สำหรับประชาชนที่ให้แพทย์ออกใบรับรองให้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง และ นำใบรับรองนั้นไปใช้ ก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 269 ด้วย (ผู้ใดทุจริต ใช้ หรืออ้างคำรับรองอันเกิดจากการกระทำผิด ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

จะเห็นได้ว่าใบรับรองแพทย์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของกฎหมาย และการที่ผู้ป่วยจะขอใบรับรองแพทย์ก็ต้องคำนึงถึงว่าจะนำใบรับรองแพทย์ไปใช้เพื่ออะไร .. แพทย์จะได้ออกใบรับรองให้ถูกต้องกับการนำไปใช้มากที่สุด

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแพทย์และผู้ป่วยก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของความถูกต้องและเป็นจริง เพราะการออกใบรับรองแพทย์ที่เป็นเท็จก็มีความผิดทางกฎหมายทั้งแพทย์ และ ผู้ที่นำใบรับรองแพทย์นั้นไปใช้



กฎหมายที่ควรทราบเพิ่มเติม

1.1 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

1.2 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 279 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูก-กระทำร้าย ได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบสองปี อันตรายสาหัสคือ

1.ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือ เสีย ญาณประสาท

2.เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

3.เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด

4.หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

5.แท้งลูก

6.จิตพิการอย่างติดตัว

7.ทุพพลภาพ หรือป่วยเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

8.ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียะกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน


ปล. ใบรับรองแพทย์ ไม่ใช่แค่เรื่องของ แพทย์ กับ ผู้ป่วย (ญาติ) แต่ ใบรับรองแพทย์ จะถูกตรวจสอบโดย "บุคคลที่ ๓" เสมอ .. ดังนั้น แพทย์ ก็ต้องระมัดระวังตนเอง อย่าทำเพราะเกรงใจ หรือ อามิสสินจ้าง เพราะ ถ้าเกิดปัญหาขึ้น อาจหมดอนาคต 

หวังว่า ผู้ป่วย(ญาติ) จะเข้าใจและเห็นใจแพทย์ มากขึ้นนะครับ


"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
 


ฮั้วคนไข้ โกงใบรับรองแพทย์ หักหลังวิชาชีพ ส่อเพิกถอนใบอนุญาต!
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 18 พ.ค. 2559
https://www.thairath.co.th/content/621766#


เคยไหม? ไม่ได้ป่วย แต่ไปให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้
แล้วรู้ไหมว่า...แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์เท็จ ถือว่ามีความผิด!

การที่ไม่ป่วยและขอให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่นั้น แพทย์มีความผิดอย่างไร จะมีบทลงโทษในขั้นไหน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีผู้ที่จะมาให้คำตอบในประเด็นข้างต้น ซึ่งคงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม...

ทีมข่าวฯ ยิงคำถามแรกกับนายกแพทยสภาว่า การออกใบรับรองแพทย์ให้กับคนไข้ทั้งที่ไม่ได้มีอาการป่วย มีความผิดหรือไม่  ?

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า หากคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง และแพทย์ไปออกใบรับรองว่าป่วยนั้น ถือว่าเป็นความผิดที่แพทย์ไม่ซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณ ตาม ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 4 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 25 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เจตนาทุจริตในการออกใบรับรองแพทย์ และ ข้อ 26 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ให้ความเห็นโดยไม่สุจริตอันเกี่ยวกับวิชาชีพเวชกรรม

“เคยเกิดกรณีการที่แพทย์ไม่ได้ตรวจคนไข้ และเขียนใบรับรองแพทย์เซ็นชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อคนไข้มาเอาก็มาใส่ชื่อ อันนี้เป็นความผิด เพราะแพทย์ไม่ได้ตรวจคนไข้ อย่างนี้เรียกว่า เป็นการขายใบรับรองแพทย์ และแพทยสภาได้เคยดำเนินคดีไปแล้ว โดยการพักใช้ใบอนุญาต เพราะไม่ซื่อสัตย์ ผิดจรรยาบรรณ จากการออกใบรับรองแพทย์ให้โดยที่ไม่ได้ตรวจ” นายกแพทยสภา ยกตัวอย่าง

หากคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง และแพทย์ไปออกใบรับรองว่าป่วยนั้น ถือว่าเป็นความผิดที่แพทย์ไม่ซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณ


แล้วถ้าหากว่า คนไข้เกิดเจ็บป่วยจริงๆ แต่แพทย์ให้หยุดพักเกินกว่าความเป็นจริง มีความผิดหรือไม่ ?

นพ.สมศักดิ์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า การที่แพทย์จะลงความเห็นว่า ให้คนไข้สมควรหยุดพักเพื่อรักษาอาการป่วยเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้น จะต้องตรวจสอบดูว่า มีเหตุผลเพียงพอสมควรที่จะให้หยุดพักนานแค่ไหน เช่น ตามความเป็นจริงต้องหยุดพัก 7 วัน แต่กลับให้คนไข้หยุดพัก 30 วัน เป็นต้น หากให้คนไข้หยุดพักเกินความเป็นจริง และมีผู้เสียหายจากการที่คนไข้หยุดพักนาน และมาฟ้องร้องกับแพทย์ผู้เขียนใบรับรองแพทย์ขึ้นมานั้น แพทยสภาจะต้องเรียกมาสอบสวนว่า เหตุผลอะไรที่แพทย์วินิจฉัยให้คนไข้หยุดพัก

ฉะนั้น จึงไม่สามารถตอบได้ว่า แพทย์ให้คนไข้หยุดพักเกินความเป็นจริงผิดหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบสวน โดยจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น ผลแล็บ ผลการตรวจ ประวัติการรักษา อาการของคนไข้ การให้ยา เป็นต้น จึงจะสามารถตอบได้ว่า คนไข้คนนั้น สมควรที่จะหยุดพักเป็นเวลาเท่าใด และแพทย์ลงความเห็นให้พักนานเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่


หากแพทย์ออกผลการรักษาอันเป็นเท็จ เพื่อเอื้อประโยชน์ในทางคดีความ มีความผิดหรือไม่ ?

นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า มีความผิดแน่นอน นอกจากจะมีความผิดทางจริยธรรมของแพทย์ โดยการทุจริตในวิชาชีพแล้วนั้น ยังมีความผิดในทางคดีอาญา เรื่องการออกเอกสารอันเป็นเท็จอีกด้วย

“แพทยสภาสามารถเรียกมาสอบสวนได้ว่าจริงหรือไม่จริง หากพบว่า ไม่จริงก็เป็นความผิด ถูกลงโทษแล้วแต่ความผิดว่าร้ายแรงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการสอบสวนและพิจารณา ซึ่งการที่แพทย์เขียนอะไรที่เป็นเรื่องเท็จ จะมีโทษหนักทั้งนั้น เพราะแพทยสภาไม่ต้องการให้หมอโกหก ไม่ซื่อสัตย์” นายกแพทยสภา ย้ำชัด

ด้าน นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ อธิบายถึงข้อกฎหมายในการออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จ เพื่อเอื้อประโยชน์และหลีกเลี่ยงในการไปศาลว่า ผู้ที่นำใบรับรองแพทย์เท็จไปยื่นต่อศาล จงใจที่จะหลีกเลี่ยงไม่มาศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 จะโดนข้อหาละเมิดอำนาจศาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท

ขณะเดียวกัน แพทย์รู้อยู่แล้วว่าคนไข้ไม่ได้ป่วยจริง แต่ออกเอกสารอันเป็นเท็จให้ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท

แพทยสภา จ่อเข้าตรวจสอบทันที เมื่อมีผู้เสียหายร้องเรียน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีคดีของใบรับรองแพทย์ ซึ่งสงสัยว่าเป็นเท็จ หรือไม่สุจริตนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจะร้องเข้ามายังแพทยสภาให้ไปตรวจสอบ จู่ๆ แพทยสภาจะเข้าไปตรวจสอบคนนั้นคนนี้คงไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องมีผู้ร้องเรียนหรือมีผู้เสียหาย จากนั้น แพทยสภาก็จะไปตรวจร่างกายคนไข้ว่า เป็นโรคอะไร แพทย์ได้มีการรักษาหรือให้ยาอะไรบ้าง มีผลตรวจหรือหลักฐานยืนยันอะไรบ้าง เมื่อตรวจสอบพบว่า ไม่สุจริตจริง จึงดำเนินคดีกับแพทย์ท่านนั้น

เมื่อถามถึงบทลงโทษทางจริยธรรมของแพทย์ที่กระทำความผิด นพ.สมศักดิ์ อธิบายถึงบทลงโทษว่า มีตั้งแต่การตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตแล้วแต่การสอบสวนว่าพักนานเท่าใด ตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 2 ปี และสุดท้ายขั้นร้ายแรง คือ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งวิธีการพิจารณาก็ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของคดีนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีบันทึกเป็นประวัติติดตัวไปตลอดว่าแพทย์ท่านนี้เคยมีประวัติอะไรมาบ้าง จึงค่อนข้างเสี่ยงมากหากแพทย์คิดที่จะกระทำความผิด

ออกใบรับรองแพทย์ เลื่อนไปศาล อุทาหรณ์ของแพทย์ที่ไม่ควรเกิด

ทีมข่าวฯ ถามถึงเหตุการณ์ในอดีตที่แพทย์เคยออกผลการรักษาที่เป็นเท็จให้กับคนไข้ ว่าเคยมีบ้างหรือไม่ ?

นพ.สมศักดิ์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุการณ์ที่แพทย์ออกใบรับรองแพทย์เป็นเท็จให้กับคนรู้จักกัน ซึ่งเคยมีบุญคุณช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก่อน เพื่อที่จะขอเลื่อนการไปศาล แพทย์ท่านนั้น เกรงใจและคิดว่าเลื่อนไปไม่กี่วันคงไม่เป็นอะไร แต่ปรากฏว่า มีการฟ้องร้องขึ้นมาว่า แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ไม่เป็นความจริง ก่อนที่แพทย์ท่านนั้นจะได้รับโทษจากการกระทำความผิดทางจริยธรรม กลับตัดสินใจปลิดชีพตัวเองหนีความผิดทันที

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่ไม่กล้ากระทำความผิดแล้ว เพราะจะมีประวัติติดตัวไปตลอดชีวิตและต้องหยุดพักงานด้วย โดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่ทำ เพราะหากตัดสินใจที่จะทำก็แสดงว่า แพทย์เชื่อว่ามีข้อมูลที่มาสนับสนุนให้สามารถทำได้จริงๆ เพราะการกระทำผิดย่อมมีความเสี่ยงต่อวิชาชีพอย่างแน่นอน

"การที่แพทย์จะออกใบรับรองแพทย์ว่า บุคคลผู้นั้นแข็งแรงดี หรือป่วยหนักมาก จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ หากแม้แต่จะคิดช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องจริง แม้เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ ถือว่ามีความผิด เพราะคนที่ประกอบอาชีพหมอต้องมีความซื่อสัตย์!" นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา.


.................................



กระทู้ ในห้องสวนลุม พันทิบ   หมอ(รพ รัฐ)มาตรวจที่บ้าน สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ไหมครับ?
https://pantip.com/topic/35176405

๒๐พค.๒๕๕๙  ขอร่วมแสดงความเห็นเรื่องใบรับรองแพทย์ อย่างเดียว .. และ ความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ห้ามนำไปอ้างอิงกับศาล ^_^

๑. การออกใบรับรองแพทย์ เป็นสิ่งที่ "แพทย์" สามารถทำได้  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

๒. สถานที่ออกใบรับรองแพทย์ มีไว้เพื่อ "เพิ่ม" ความน่าเชื่อถือว่า มีหลักแหล่ง มีที่ทำการอยู่จริง ( ไม่มีสถานที่ฯ  ก็ได้ แต่ถ้ามีระบุ ก็ต้องเป็นสถานที่จริง ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของใบรับรองแพทย์นั้นลดลง  เพราะ เป็นข้อมูลเท็จ )

๓. การออกใบรับรองแพทย์ เป็น "ความเห็น" ของแพทย์ท่านนั้น ซึ่งต้องอ้างอิงตามหลักวิชาการ ( ซึ่งอาจไม่เหมือนกันกับแพทย์ท่านอื่น เพราะ)

๔. แพทย์ ผู้ออกใบรับรองแพทย์ (ซึ่งเป็นเอกสารทางกฏหมาย) และ ผู้นำใบรับรองแพทย์ไปใช้ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลที่จะตามมา

๕. ใบรับรองแพทย์ ก็เป็น "เอกสาร" อย่างหนึ่ง เหมือนกับ เช็คธนาคาร ธนบัตร ฯลฯ ซึ่ง "ตัวเอกสาร" จะต้องผูกติดกับ ความน่าเชื่อถืออื่นด้วยเสมอ ถ้าไม่มีความน่าเชื่อถือ ใบรับรองแพทย์ ก็เป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึก

๖. นายจ้าง หน่วยงานรัฐ ศาล ฯลฯ มีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อถือ ไม่ทำตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์นั้นก็ได้ ( แต่ นายจ้าง หน่วยงานรัฐ ศาลฯ ก็ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาเช่นกัน )  

............................

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1111345248926280&set=a.115271105200371.14950.100001524474522&type=3&theater
 
ยินดีกับ เลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของ น้องหมอใหม่ ปี 2559 ทุกคนที่น้องทุกคนได้รับในวันนี้

น้องสามารถรักษาคนไข้ ได้ตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรม อ่ายภาคภูมิใจ ที่อุตสาหะ เรียนวิชาแพทย์ จนจบมาตลอด 6 ปี ตามมาตรฐานของแพทยสภา นอกจากรักษาแล้ว น้องใช้เขียนใบรับรองแพทย์ได้..ทั้งการรับรองการป่วย (ที่ต้องให้วันพักที่เหมาะสมตามโรคและตรวจสอบได้ ) ทั้งการรับรองสุขภาพแข็งแรง (ต้องเห็นคนไข้ เคยมีจนท.ขอให้เขียนรับรอง บอกแข็งแรงแต่คนไข้ถูกรถชนขาหักอยู่ อีกรพ. หมอโดนคดีใบรับรองเท็จแทน) ดังนั้นหากไม่เห็นคนไข้ ห้ามออกให้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จำแม่นๆนะครับ

การออกใบรับรองเท็จ น้องจะต้องโทษอะไรบ้าง

1. ผิดคดีอาญา ตามมาตรา 269 ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ..ติดคุกปุ๊ป แพทยสภายึดใบประกอบวิชาชีพฯ ตามทันที

2. ผิดข้อบังคับ จริยธรรม แพทยสภา 2549 หมวด 4
ข้อ 25 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เจตนาทุจริตในการออกใบรับรองแพทย์
ข้อ 26 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ให้ความเห็นโดยไม่สุจริตอันเกี่ยวกับวิชาชีพเวชกรร

โดยโทษตามข้อบังคับกระบวนการพิจารณาคดี 2548 คือ
ข้อ2.2 พฤติกรรมที่ปรากฏว่าผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมนั้น หมวดใดข้อใด พร้อมพิจารณาเหตุอันควรปรานีตามข้อ 52 วรรคสอง โดยอนุโลม และให้ลงโทษทางจริยธรรมอย่างใดอยางหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ว่ากล่าวตักเตือน
2. ภาคทัณฑ์
3. พักใช้ใบอนุญาตมีกําหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน2ปี
4. เพิกถอนใบอนุญาต

3.โทษวินัย ราชการ ตำรวจ หรือ ทหารด้วย มีโอกาสจะถูกลงโทษ ตั้งแต่ตักเตือนจน สูงถึงถูกปลดออกหรือให้ออกได้

4.โทษทางสังคม ประวัติติดตัว มีคดีจริยธรรม จะเรียนต่อ จะทำอะไร ใครๆรู้ไปหมด ..เผลอๆทำให้หมดสิ้นอนาคตได้..

อย่าชะล่าใจ อย่าพลาด เตือนหมอใหม่ด้วยความหวังดีนะครับน้องๆ


**********************************




 
ใบรับรองแพทย์ ถือเป็น เอกสารทางกฎหมาย .. ไม่ใช่แค่กระดาษเปื้อนหมึก ..
 
ถ้าใช้ผิด ก็ติดคุกได้ ทั้งหมอ ทั้งผู้ป่วย ทั้งผู้นำไปใช้ .. เข้าใจตรงกันนะครับ ...^_^

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::


กรมการขนส่งทางบก ระบุ!!! ตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ตามรูปแบบที่แพทยสภากำหนด เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการ ด้านใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ครอบคลุมทั้งการขอใหม่ การเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท

       นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถและการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป นั้น กำหนดให้การขอรับและต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นระเบียบเรียบร้อย กรมการขนส่งทางบกจึงออกระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถและบัตรประจำตัวคนขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2564 และระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการต่ออายุใบอนุญาตผู้ประจำรถ พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่ต้องการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ทุกชนิดทุกประเภท ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการทุกครั้ง ประกอบด้วย การขอใหม่ กรณีไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตผู้ประจำรถมาก่อน การเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท โดยใบรับรองแพทย์นั้นต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐานของแพทยสภา มีสองส่วนคือ ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเองและส่วนของแพทย์ตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด 

       อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า การต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เดิมจะไม่มีการกำหนดให้ใช้เอกสารใบรับรองแพทย์ แต่ด้วยข้อเท็จจริงสมรรถภาพของร่างกายของผู้ขับรถมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้นและอาจมีโรคประจำตัว หรืออาจมีเหตุให้สมรรถภาพของร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถขับรถได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้ขับรถเข้ารับการตรวจรับรองจากแพทย์ก่อนเบื้องต้น และจะมีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายที่จำเป็นต่อการขับรถเมื่อมาติดต่อที่สำนักงานขนส่งทุกแห่ง ประกอบด้วย การทดสอบการมองเห็นสี การทดสอบสายตาทางลึก การทดสอบสายตาทางกว้าง และการทดสอบปฏิกิริยา สำหรับใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรอง โดยผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตผู้ประจำรถ สามารถแจ้งวัตถุประสงค์ในการขอรับใบรับรองแพทย์ เพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้และเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ส่วนในอนาคตจะมีการกำหนดสภาวะโรคที่ต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับรถเพิ่มเติมหรือไม่นั้น กรมการขนส่งทางบกจะประสานความร่วมมือกับแพทยสภาอย่างใกล้ชิดต่อไป

https://www.dlt.go.th/th/public-news/view.php?_did=2816

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ข้อสังเกตคลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

๑.มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาต ๑๑ หลัก ติดไว้หน้าคลินิก

๒.แสดงใบอนุญาต ให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล

๓.แสดงใบอนุญาต ให้ดำเนินการสถานพยาบาล

๔.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปี ของปีปัจจุบัน

๕.แสดงรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพ พร้อม ชื่อและเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ

๖.แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และ สามารถสอบถามอัตราค่ารักษาได้

๗.แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ สิทธิผู้ป่วย ในที่เปิดเผยและเห็นง่าย

 

อ้างอิง:

คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข

โทร02 193 7000 ต่อ 18416 - 7

www.mrd.go.th

FB@สารวัตรสถานพยาบาลOnline

https://www.facebook.com/สารวัตรสถานพยาบาล-Online-1502055683387990/



......................................................................................



"ใบความเห็นแพทย์"
.
1. #ใบความเห็นแพทย์ เป็นเอกสารการออกความเห็นของแพทย์ เกี่ยวกับโรค และการรักษาพยาบาล ตลอดจนผลของโรคและการหยุดงานเป็นต้น
.
2. #ใบความเห็นแพทย์ มักสับสน กับ #ใบรับรองแพทย์ ซึ่งจะใช้รับรองสุขภาพโดยเฉพาะในการสมัครเรียนสมัครงาน และรับรองว่าสุขภาพปกติ ส่วนใบความเห็นใช้ในกรณีที่ป่วย
.
3. การออกความเห็นของแพทย์นั้น สามารถให้ความเห็นในผู้ป่วยที่ดูแล หรือดูแลร่วมได้ โดยความเห็นต้องสอดคล้องกับหลักฐานและเวชระเบียนในการรักษาพยาบาล
.
โรงพยาบาลสามารถมอบหมายให้แพทย์ซึ่ง ไม่ได้ทำการรักษา สามารถออกใบความเห็นแพทย์ได้เช่นเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย เช่นกรณีแพทย์ผู้รักษา ไม่อยู่ ไปต่างประเทศหรือลาออกไปแล้ว หรือกรณีมีแพทย์รักษาหลายคนแต่มอบหมายให้ท่านใดท่านหนึ่งลงความเห็น รวมถึง ความเห็นทางนิติเวช ของผู้เสียชีวิต โดยต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามเวชระเบียน และสามารถตรวจสอบได้ กับหลักฐานของสถานพยาบาล
.
4. ในกรณีแพทย์ออกความเห็น ด้วยตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อความเห็นดังกล่าว และต้องสามารถตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ทางวิชาการได้
.
5. ในการตรวจสอบความเห็นของใบความเห็นแพทย์ ต้องตรวจสอบ ตั้งแต่โรงพยาบาล ถูกต้องหรือไม่ เป็นแพทย์จริงหรือไม่ แพทย์เป็นผู้ลงความเห็น และลงนามเองหรือไม่ ข้อมูลความเห็นตรงกับสำเนาที่เก็บไว้ที่โรงพยาบาลหรือไม่ และตรงกับข้อมูลในเวชระเบียนหรือไม่ มีการถูกแก้ไขหรือไม่ ซึ่งจะตรวจสอบได้กับสถานพยาบาล ที่เป็นผู้ออกใบความเห็นแพทย์
.
6. หน่วยงานที่รับใบความเห็นแพทย์สามารถขอตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและสำเนาได้จากสถานพยาบาล ที่ออกเอกสาร
.
7. ในกรณีที่สงสัยความสุจริตของใบรับรอง หรือ ใบความเห็นแพทย์ ผู้ได้รับผลกระทบ /ผู้เสียหาย สามารถกล่าวหา/กล่าวโทษแพทย์ ให้แพทยสภาตรวจสอบมาตรฐานการออกความเห็นทางจริยธรรมได้ ตามข้อบังคับจริยธรรมแพทยสภา
.
8. การแก้ไขหรือปลอมแปลงใบความเห็นแพทย์ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
.
จะเห็นได้ว่าใบความเห็นแพทย์นั้นมีขั้นตอนการดูแล รับผิดชอบ และแนวทางปฏิบัติชัดเจนครับ
.
หมออิทธพร
22/08/2565

Ittaporn Kanacharoen
https://www.facebook.com/ittaporn/posts/pfbid05JSLkZ7C5ohVx2Vn3d3vV79eLXYp2pY2aX3YXUyX81dMhVNmVbYce36eqFe8PTUCl

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=07-07-2017&group=15&gblog=80
ช่องทางร้องเรียนเกี่ยวกับ ...ยา ....หมอ ....คลินิก .....โรงพยาบาล ...
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2009&group=7&gblog=18
ไปคลินิกแล้ว จะดูอย่างไรว่า ผู้ที่ตรวจรักษา เป็น หมอจริง ?
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=10-07-2020&group=7&gblog=238
แขวนป้ายแขวน ใบว. ถ้ารู้แล้วยืนยันจะเสี่ยงก็ไม่ว่ากัน
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=12-11-2015&group=7&gblog=193
ข้อแนะนำก่อนจะพบแพทย์กระดูกและข้อ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-07-2008&group=7&gblog=3
ข้อแนะนำเมื่อต้องรับการรักษา
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2007&group=4&gblog=2
คำถาม..ที่ควรรู้..คำตอบ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=03-01-2008&group=4&gblog=3
เคล็ดลับ20 ประการ ที่จะช่วยคุณ "ป้องกันความผิดพลาดทางการแพทย์ในการเข้ารับบริการสุขภาพ "...
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=10-2010&date=19&group=27&gblog=52
หมอคนไหนดี“ ??? .... คำถามสั้น ๆ ง่ายๆ แต่ ไม่รู้จะตอบอย่างไร ..
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=14-01-2012&group=15&gblog=42
ผลของการรักษาโรค
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=01-2008&date=05&group=27&gblog=22
 ข้อเท็จจริงในการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยแพทย์
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=06-2013&date=11&group=27&gblog=12
ฉลาดเลือกใช้...การแพทย์ทางเลือกโดยอ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-09-2011&group=7&gblog=149
หน้าที่อันพึ่งปฏิบัติของผู้ป่วย(มิย.๖๓) สิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย(สค.๕๘) สิทธิผู้ป่วย(เมย.๔๑)
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=23-12-2007&group=4&gblog=1
ความรู้เกี่ยวกับใบรับรองแพทย์
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=06-01-2008&group=4&gblog=5
 



Create Date : 06 มกราคม 2551
Last Update : 22 สิงหาคม 2565 15:19:52 น.
Counter : 163605 Pageviews.

8 comments
  
ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ
โดย: ส้มแช่อิ่ม วันที่: 6 มกราคม 2551 เวลา:22:16:55 น.
  

ยินดีครับ ...
โดย: หมอหมู วันที่: 14 มกราคม 2551 เวลา:17:59:21 น.
  

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L10977640/L10977640.html

ขอประวัติการรักษา(ของตัวเอง หรือของลูก) ต้องเสียเงินด้วย???

เพิ่งคลอดลูกค่ะ ที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในกทม. โดยการผ่าคลอด ไม่มีปัญหาใดๆ

เราจะทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้ลูก บริษัทประกันขอให้ยื่นประวัติของลูกด้วย โดยขอให้ถ่ายสำเนาแฟ้มประวัติของลูกยื่นเพื่อทำประกัน

เราก็ไปติดต่อโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็รับเรื่อง บอกได้แล้วจะโทรบอกให้มารับ พร้อมกับแจ้งค่าธรรมเนียม 300บาท

ได้ยินแล้วงงและเซ็งค่ะ เราต้องจ่ายเงินค่าประวัติของตัวเองด้วยหรือ

เราเคยตรวจเลือดที่อีกโรงพยาบาลนึง แล้วไปขอผลเลือดเพื่อไปยื่นให้หมออีกโรงพยาบาลหนึ่งดู ก็ไม่เคยต้องเสียเงินค่าขอประวัติของตัวเอง (รพ.เอกชน)

อยากจะทราบว่าเป็นปกติแล้วใช่มั้ยคะ ที่ขอประวัติของตัวเองต้องเสียเงินเนี่ย รู้สึกไม่เป็นธรรมยังไงไม่รู้ค่ะ

จากคุณ : smileline
เขียนเมื่อ : 24 ส.ค. 54 20:15:43 [แก้ไข]



ความคิดเห็นที่ 1

แนบใบเสร็จค่าขอประวัติไปด้วยนะครับ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเพื่อการสมัครประกันสามารถเบิกจากบริษัทได้ครับ

โดยทั่วไป ค่าธรรมเนียม 300 ไม่แปลกครับเป็นเรื่องปกติ แต่โรงพยาบาลบางที่ ถ้าเค้าใจดีเค้าจะมีเอกสารขอประวัติอีกแบบหนึ่งซึ่งจะเสียเฉพาะค่าถ่ายเอกสารเท่านั้น แต่ก็ต้องแลกด้วยลายเซ็นของตัวแทนและเจ้าของประวัติครับ (อาจไม่สะดวกครับ)

จากคุณ : jomnalists
เขียนเมื่อ : 24 ส.ค. 54 21:24:50 [แก้ไข]
ถูกใจ : หมอหมู, smileline, BBQ





ความคิดเห็นที่ 2

ต้องแยกเป็น ๒ ประเด็นนะครับ ..

๑. ขอประวัติ ส่วนตัว นำไปรักษาต่อ .. แบบนี้ ฟรี ครับ .. ( บางแห่ง อาจมีค่าถ่ายเอกสาร )

๒. ขอประวัติ ส่วนตัว นำไปประกอบหลักฐาน ในการทำประกัน หรือ เบิกเงินจากบริษัทประกันฯ ( ใบเคลม ) ... แบบนี้ เสียเงินครับ ส่วนใหญ่ ก็ สองสามร้อยบาท ..




ขอยกความเห็นจากแพทย์ท่านหนึ่งมาประกอบ จะเข้าใจชัดเจนขึ้น นะครับ


เรื่องค่าธรรมเนียมการเขียนใบรับรองแพทย์ดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ครับในระเบียบของแพทยสภาเลย ว่าแพทย์เรียกเก็บได้ เพราะ ไม่ได้เกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์ ที่จะทำให้ผู้ป่วยหาย แต่จะเขียนเพื่อทำให้สัญญาระหว่าง ผู้เอาประกันและบริษัทประกันสมบูรณ์ และเรียกค่าตอบแทนต่าง ๆ ( ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ) ก็มีเช่น หยุดกี่วัน ต้องรักษานานเท่าใด ทำงานไม่ได้กี่วัน ผู้รับประโยชน์ คือ ผู้เอาประกันนั่นเอง ซึ่งถ้ามีการเคลมกันเฉพาะค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล บริษัทประกัน ก็สามารถเอาเวชระเบียนและบันทึกทางการเงิน ของโรงพยาบาลไปตรวจสอบ แล้วจ่ายได้เลย

ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น เนื่องจากบริษัทประกัน ต้องให้แพทย์ให้ความเห็นหยุมหยิม เยอะแยะมาก เพื่อที่จะจับผิดว่าการรักษาครั้งนั้น มีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ เช่น ไม่เจ็บจริงหรือเปล่า มีการตรวจหรือรักษาใดที่ไม่จำเป็นหรือเปล่า ซึ่งถ้าแพทย์เขียนมีพิรุธ แพทย์คนนั้น ต้องรับผิด แต่คนไข้ คนนั้น ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องรับผิด ถ้าไปบังคับหมอให้เขียนโกงบริษัทให้

ดังนั้น การเขียนนี้ ต้องมีค่าธรรมเนียมเหมือนการบริการ อย่างหนึ่ง โดยไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลใด ๆ และไม่มีการกำหนดในระเบียบโรงพยาบาลหรือระเบียบทางรัฐบาลใดๆ ให้แพทย์ต้องเขียน และแพทย์ไม่เขียนก็ไม่มีความผิดใด ๆ ดังนั้นผู้ป่วยต้องมาขอให้แพทย์เขียน เหมือนมาขอความเห็นผู้เชี่ยวชาญครับ ไม่ใช่บริการพื้นฐาน

โดยคุณ : dr luam





จากคุณ : หมอหมู [FriendFlock] [Bloggang]
เขียนเมื่อ : 24 ส.ค. 54 22:14:47 [แก้ไข]
ถูกใจ : smileline, oncodog





ความคิดเห็นที่ 3

บางแห่ง แพทย์ไม่ได้เงินค่าเขียนใบเคลมและใบรับรองแพทย์ต่างๆนะ โรงพยาบาลเขาบอกว่าเป็นค่าบริหารจัดการของโรงพยาบาล

เอาเป็นว่าเราไม่เคยได้เลย

จากคุณ : OG
เขียนเมื่อ : 25 ส.ค. 54 11:40:27 A:124.122.223.198 X: TicketID:324242






ความคิดเห็นที่ 4

ตามหมอหมูครับ

การขอเคลมประกันเอกสารที่แพทย์ต้องกรอกนั้นมีผลผูกพันทางกฏหมายอย่างมากครับเขียนไปตามจริงเกิดมีพิรุธก็ต้องเสียเวลาพิสูจน์ และถ้าเกิดเคลมไม่ได้เคยเจอคุณหมอท่านหนึ่งโดนญาติๆยกพวกมาด่าถึงรพ.เลยครับ
(ตอนทำประกันบอกว่าไม่เคยกินเหล้า แต่ประวัติในรพ.ตายจากตับแข็งจากการกินเหล้าตั้งแต่หนุ่มๆ ประกันเลยปฏิเสธการเคลม)

แต่ผมเองก็ยังไม่เคยได้เข้ากระเป๋าแม้แต่เคสเดียว ทั้งที่รพ.บอกว่าใครเขียนใครได้ (แล้วมันไปไหนนะ)

จากคุณ : oncodog [Bloggang]
เขียนเมื่อ : 25 ส.ค. 54 16:55:35 [แก้ไข]


โดย: หมอหมู วันที่: 28 สิงหาคม 2554 เวลา:0:38:07 น.
  

//news.hunsa.com/detail.php?id=7906

จากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น โดย เฉพาะกรณีของนายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือ "หมูแฮม" ที่ก่อเหตุขับรถชนคนเสียชีวิต และภายหลังแพทย์ตรวจพบว่า เป็นผู้มีอาการของโรคทางจิตเวชและระบบประสาท และล่าสุด "หมูแฮม" ก็กลับมาก่อคดีซ้ำซาก ขับรถชนกับ รถโดยสารประจำทางปรับอากาศอีกครั้ง ทำให้กรมการขนส่ง ทางบก ตระหนักถึงความจำเป็นในการออกมาตรการป้องกัน เพื่อความปลอดภัยด้านการใช้รถใช้ถนนของประชาชน

โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำแผนจะปรับเปลี่ยนระบบการทดสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับรถ ทั้งรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ เพราะ ที่ผ่านมามีปัญหาในการประเมินผลอย่างมาก ทั้งเรื่องการ ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย การสอบข้อเขียน และการสอบ ปฏิบัติ โดยเฉพาะการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย โดย ปกติผู้มาทดสอบจะต้องนำใบรับรองจากแพทย์มาประกอบการในการยื่นเอกสารขอทดสอบ จากนั้นจึงเข้าทดสอบสมรรถภาพร่างกายเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งฯ ซ้ำอีกครั้ง หากไม่มีปัญหาก็สามารถเข้าสอบข้อเขียน และ สอบปฏิบัติได้

นายชัยรัตน์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตการสอบปฏิบัติจะต้องใช้รถยนต์ที่ทางราชการจัดไว้ให้เท่านั้น ไม่สามารถใช้รถยนต์ส่วนตัวมาสอบได้เอง เพราะกรมการขนส่งฯ จะมีการติดตั้งระบบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ไดรวิ่ง (E-Driving) เป็นระบบคอมพิวเตอร์ แนะนำการขับขี่ ว่าจะต้องขับขี่ในท่าใดบ้าง เช่น ขับรถทางตรง เลี้ยว จอด เทียบชิดขอบถนน หรือถอยหลังเข้าช่องจอดรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งหลังจากขับขี่ในแต่ละท่าเสร็จ ระบบจะให้คะแนนประเมิน ผลทันที ถือเป็นระบบที่ทันสมัยมาก ช่วยลดปัญหาข้อพิพาท ขัดแย้งระหว่างผู้ทดสอบกับผู้ให้คะแนน ขณะนี้อยู่ระหว่าง การตรวจสอบข้อมูล และการประเมินราคาการจัดซื้อและติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอยู่



"ปัญหาความสมบูรณ์ของร่างกายที่พบเป็นประจำคือ เรื่องใบรับรองแพทย์ที่ปัจจุบันจะระบุเพียงว่า ร่างกายปกติไม่เป็นอุปสรรคปัญหาในการขับขี่รถ แต่พอเข้าทดสอบ ร่างกายเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ขนส่งฯ กลับไม่ผ่านการตรวจสอบ โดยเฉพาะโรคทางตา เช่น ตาบอดสี ตามองเห็นแต่มุม กว้าง หรือเบลอ เห็นภาพไม่ชัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นแพทย์ จึงไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ผู้ทดสอบต้องเสียเวลาไปหา แพทย์เพื่อยืนยันโรคอีกครั้ง" นายชัยรัตน์กล่าว

และว่าในจำนวนผู้ขอทดสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับรถเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่มักจะไม่ผ่านการทดสอบด้านสายตา เพราะตาบอดสี มองมุมกว้างไม่เห็น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอาชีพเชื่อมเหล็ก อ๊อกเหล็ก ที่ต้องอยู่กับแสง ประกายไฟ เป็นเวลานาน ก็มีปัญหาเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีกลุ่มโรคบางโรคที่อาจเป็น ปัญหาต่อการขับขี่รถยนต์ด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคลมชัก หรือบ้าหมู มือเท้ากระตุก เพราะโรคเหล่านี้อาจเกิด ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้ช็อก หรือวูบกะทันหันขณะขับรถ หรือควบคุมอารมณ์ไม่อยู่



"กรมฯได้ประสานไปยังแพทยสภา ให้เร่งร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับโรคต้องห้าม และเป็นอุปสรรคในการขับรถใหม่ เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจุบัน ซึ่งกรณีของน้องหมูแฮม-กัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ที่เป็นโรคลมชักขับรถชนรถเมล์ ก็ถือเป็นกรณีศึกษาและ เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขระเบียบในการออกใบอนุญาตใหม่ เพราะการขับขี่รถยนต์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่เพียงจะเป็นอันตรายต่อตัวเองเท่านั้น ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นด้วย" รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว



ด้านนาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธิพร คณะเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะเลขาอนุกรรมการคณะทำงานยกร่างแก้ไขข้อบังคับใบรับรองมาตรฐานสุขภาพ เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้ขอความร่วมมือแพทยสภาให้เป็นผู้ยกร่างแก้ไขข้อบังคับใบรับรองมาตรฐานสุขภาพ (ใบ รับรองแพทย์) ขึ้น เพื่อใช้ประกอบการทดสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับรถ

โดยแพทยสภาได้ยกร่างแก้ไขข้อบังคับใบรับรองมาตรฐานสุขภาพขึ้นใหม่ โดยใช้มาตรฐานประเทศ สหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นต้นแบบและมีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ส่งร่างข้อบังคับดังกล่าวไปยังราชวิทยาลัยแพทย์ทั้งหมดในประเทศไทย 13 แห่ง และโรงเรียนแพทย์ 1 แห่ง พิจารณาข้อมูลความถูกต้อง ความเหมาะสม และมีโรคอื่นๆ ที่จะเพิ่มเติมในข้อบังคับหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อร่างข้อบังคับดังกล่าว เสร็จสมบูรณ์มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธิพรกล่าวว่า เนื้อหาสาระสำคัญของร่างแก้ไขข้อบังคับนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.ส่วนที่ผู้จะขอทดสอบเพื่อขอใบอนุญาตขับรถจะต้องร่วมให้ประวัติทางการแพทย์ว่าเคยเป็นโรคที่สำคัญๆ อะไรบ้าง เช่น เคยผ่าตัดหัวใจ เป็นโรคเกี่ยวกับ สมอง โรคลมชัก มีประวัติเคยใช้ยาเสพติด เป็นโรคเกี่ยวกับตา จอประสาทตา การได้ยิน ในใบรับรองแพทย์ด้วย เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถซักถามได้ทั้งหมด

และส่วนที่ 2 เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ตรวจให้ความเห็นว่ามีโรคต่างๆ หรือไม่ มีสุขภาพที่เหมาะสมในการขับรถหรือไม่ ทั้งนี้ ยังไม่มีการจำกัดจำนวนโรคว่ามีกี่โรคที่ต้องแจ้ง แต่ จะออกแบบให้การกรอกแบบฟอร์มนี้สั้น กระชับ สะดวกและใช้เวลาน้อยที่สุด

"เดิมกฎหมายระบุไว้ว่าใบรับรองแพทย์ให้แสดงเพียง 5 โรค ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขับรถหรือป้องกันภัย ในการขับรถ คือ ไม่เป็นโรคติดต่อเป็นที่รังเกียจ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่ติดสุรา ยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ ต่อจิตประสาท

แต่ในข้อบังคับฉบับใหม่จะเน้นโรคที่เกี่ยวข้องกับการขับรถจริงๆ โดยแบ่งเป็นโรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ทั้งมือ เท้า ความพิการ โรคระบบการมองเห็น โรคตาบอดสี มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว โรคระบบการได้ยิน โรคเรื้อรังและอื่นๆ

โดยมีแบบฟอร์มใบรับรองแพทย์ให้เสร็จ หมอเพียงแต่บอกว่ามีหรือไม่มี จะไม่บอกเพียงว่าร่างกายสมบูรณ์หรือไม่ แต่จะบอกถึงโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ทั้งหมด หรืออาจจะไม่พบโรคใดๆ เลยก็ได้" นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธิพรกล่าว

ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภากล่าวด้วยว่า โรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่รถ แต่สามารถขับขี่ด้วยกรณีพิเศษ เช่น มีแขนข้างเดียว โดยได้รับอนุญาตให้ขับรถที่มีลักษณะพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อผู้พิการโดยเฉพาะ โดยกฎหมายไม่ได้ปิดกั้นผู้พิการ เช่นเดียวกันกับโรคอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ประจำตัวว่ามีการตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ สามารถขับขี่พาหนะได้

แต่หากกรณีผู้ที่เป็นโรคลมชัก และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ผู้ที่เป็นโรคที่ขาดยาไม่ได้ โดยยามีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม อาจมีปัญหาในการขับขี่ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับอนุญาตให้ขับขี่ในระยะสั้นๆ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตขับรถตลอดชีพ จะต้องมีการตรวจรับรองโรคหรือไม่ ยังต้องมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ มีการหารือกรณีผู้ขับขี่ที่อยู่ในวัยทอง ซึ่งเป็นวัยที่มีการขับขี่รถมากเป็นพิเศษ อาจมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง คิดช้า จะมีการพิจารณาว่าจะดูแลอย่างไร โดยยังไม่มีการพิจารณาอายุว่าจะใช้ช่วงเกณฑ์ใด

"ร่างแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ ทำขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และไม่ได้ ออกโดยแพทยสภาผู้เดียว ในการทำงานมีอัยการและนักกฎหมาย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และภาคสังคมหลายฝ่ายช่วยกันร่างข้อบังคับฉบับนี้ขึ้นด้วยความรอบคอบ โดยมีการทำคู่มือเกี่ยวกับโรคที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยในการขับขี่แจกให้กับแพทย์ทั่วประเทศเป็นเกณฑ์มาตรฐาน

สำหรับร่างแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้จะแล้วเสร็จทุกกระ-บวนการภายใน 6 เดือน จากนั้นจะต้องมีปรับแก้ไขระเบียบกรมการขนส่งทางบกให้สอดคล้องกันด้วย เพื่อให้ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ" นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธิพรกล่าวและว่า นอกจากนี้ ในการหารือจะร่วมกันแก้ปัญหาการ ออกใบรับรองแพทย์ปลอมด้วย โดยจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแพทย์กับกรมการขนส่งทางบก ดังนั้น จึงปลอม ใบรับรองแพทย์ยากขึ้น เนื่องจากจะสามารถตรวจสอบได้ว่าแพทย์รายใดที่เป็นผู้ออกใบรับรอง เป็นแพทย์จริงหรือไม่ด้วย


ในวันเดียวกัน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า กรณีที่เด็กวัยรุ่นเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จนทำให้เกิดอาการตาบอดสีว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะการที่นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการเคืองตา และแสบตาจนทำให้น้ำตาไหล เพราะใช้สายตาเป็นเวลานาน จะไม่ส่งผลจนเกิดอาการตาบอดสี ส่วนสาเหตุที่เกิดอาการตาบอดสีน่าจะมาจากกรรมพันธุ์

ที่มา : ไทยรัฐ


โดย: หมอหมู วันที่: 1 กันยายน 2554 เวลา:0:04:05 น.
  

ราชวิทยาลัยจักษุฯยื่นขอให้ขนส่วนปรับเกณฑ์ตรวจตาบอดสี

ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับหนังสือจากสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดินเกี่ยวกับกรณีการร้องเรียนจากประชาชนที่ป่วยตาบอดสี ในเรื่องความไม่เหมาะสมของระเบียบของกรมการขนส่งทางบอกที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตขับขี่รถแก่ผู้ที่ตาบอดสีได้ และทางสำนักงานฯได้ประสานมายังราชวิทยาลัยฯเพื่อขอความคิดเห็นในกรณีดังกล่าว ซึ่งทางราชวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือเลขที่ รจท.169/2553ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2553 โดยให้ความเห็นว่า

ผู้ที่มีตาบอดสีนั้นจะก็สีผิดไปจากคนปกติก็จริง แต่ยังมีความสามารถในการแยกสีไฟจราจรได้โดยไม่มีปัญหา แม้จะไม่ชัดมากแต่ไฟจราจรก็มีช่องว่างและลำดับชัดเจน คือ แดง เหลือง เขียว และมีความสว่างของไฟทีเหมาะสม รวมทั้งใช้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นได้ ดังนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนอย่างแน่นอน

2.ทั่วโลก อาทิ ประเทศต่างๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา บางมลรัฐ แค่มีการตรวจผู้ตาบอดสีและอนุญาตให้สามารถขับขี่รถยนต์ได้แล้ว มีเพียงบางประเทศซึ่งส่วนมากในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เท่านั้นที่ยังไม่อนุญาต

3.เสนอให้กรมขนส่งทางบอกตรวจวินิจฉัยผู้ตาบอดสีได้แต่ให้ใช้หลักการดูไฟ เขียว เหลืองแดง เหมือนไฟจราจร


ซึ่งหนังสือดังกล่าวตนลงนามไปแล้ว ทั้งนี้ผู้ตรวจราชการแผ่นดินได้เสนอข้อคิดเห็นไปยังกรมการขนส่งทางบอกแล้วให้พิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ละวิธีการทดสอบผู้ตาบอดสีแต่ทางกรมก็ยังนิ่งเฉย


“จากประสบการณ์ที่เคยพบนั้น ผู้ตาบอดสีบางคนมีไม่เคยรู้ตัวว่าป่วย และสามารถขับรถได้ปกติ จนมาถึงช่วงที่ต้องตรวจคัดกรองเพื่อขอใบขับขี่จึงทราบ ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ดังนั้นจึงอยากให้กรมการขนส่งเห็นใจประชาชน ซึ่งหากต้องการความร่วมมือจากแพทย์ ราชวิทยาลัยฯก็ยินดีจะอำนวยความสะดวกในการตรวจคัดกรองได้ เพื่อยืนยันว่า ผู้ตาบอดสีนั้นมีอาการในระดับใดมองสีเพี้ยนเพียงใด” ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว


ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ของผู้ตาบอดสีในประเทศไทยนั้นพบเพียงแค่ร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่สามารถขับขี่รถได้โดยอาศัยสัญชาตญาณการพึ่งพาตนเอง ในการแยกลำดับ ซึ่งเรียนรู้จากคนรอบข้าง อย่างไรก็ตามหากจะตรวจวัดก็ควรวัดแค่ศักยภาพในการมองสีสัญญาณไฟจราจรคู่กับการเรียนรู้กฎจราจรด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ควรวัดละเอียดแบบการตรวจสายตาทั่วไป เพื่อความเสมอภาค ซึ่งส่วนนี้ ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ลงนามเห็นชอบกับราชวิทยาลัยฯแล้ว

ด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ในทางการแพทย์นั้น ตาบอดสีไม่สามารถรักษาหายขาดได้ โดยจากการทบทวนงานการศึกษาของสหรัฐอเมริกา นั้นพบว่า ผู้ตาบอดสีส่วนใหญ่เป็นเพศชายพบได้ 1 ใน 12 ขณะที่เพศหญิงพบได้ 1 .ใน 200 ราย หรือชายพบได้ร้อยละ 8 หญิงพบได้ร้อยละ 0.5 เท่านั้น ซึ่งผู้ตาบอดสีได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการอ่านเครื่องมือแบบสากลที่เรียกว่า อิชิฮาราเทศต์ (IshiHaRA’s test) และหากจะคัดกรองเพื่อป้องกันปัญหาในการใช้ชีวิตก็ต้องคัดกรองตั้งแต่เด็ก เพื่อที่ครู ผู้ปกครอง จะได้ให้คำแนะนำในการเลือกเรียนและเลือกอาชีพ เนื่องจากบางอาชีพนั้นต้องใช้ความละเอียดในการแยกสีสูง เช่น อาชีพ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ นักออกแบบกราฟิกดีไซน์

จักษุแพทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสาเหตุของตาบอดสีนั้นมีหลายอย่าง บางรายเกิดจากพันธุกรรม เนื่องจากตาเซลล์ประสาทชนิดหนึ่ง ในม่านตาซึ่งมีความไวต่อสีต่าง ๆ มีความบกพร่องหรือพิการ ทำให้ดวงตาไม่สามารถที่จะมองเห็นสีบางสีได้ ตาบอดสี มีหลายชนิด ชนิดที่ทุกคนรู้จักโดยทั่วไปได้แก่ ตาบอดสีที่มองสีเขียว กับสีแดงไม่เห็น (Red - Green blindness) ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถแยกสีแดงกับสีเขียวจากสีอื่น ๆ ได้ ดังนั้นคนตาบอดสีชนิดนี้จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในโลกเป็นสีน้ำเงิน สีเหลือง สีขาว สีดำ สีเทา และส่วนผสมของสีเหล่านั้นทั้งหมด บางรายแยกสีแดงและสีเขียวค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะเวลาที่แสงไม่สว่างนัก

ขณะที่บางรายไม่สามารถแยกสีน้ำเงินกับสีเหลือง จะมีบ้างเหมือนกันที่เป็นโรคตาบอดสีทุกสีเลยแต่ เป็น ส่วนน้อยมาก คนที่บอดสี แดง-เขียวมักจะบอดสี น้ำเงิน-เหลืองด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นตาบอดสี ชนิดใด ล้วนจะมีสายตาหรือการมองเห็น (vision) ที่เป็นปกติ เพียงแต่ความสามารถในการแยกสี ไม่ปกติเท่านั้นเอง ส่วนอาการร่วมก็เกิดจากภาวะโรคอื่นที่ไปรบกวนเซลล์ประสาทตา หรือจอประสาทตาเส้นประสาทตาถูกทำลาย หรือส่วนรับรู้ในสมอง จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การเกิดโรคพากินสัน การเกิดอัลไซเมอร์ การอักเสบ ภาวะขาดเลือด อุบัติเหตุเนื้อ งอก หรือผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวด้วยว่า กรณีการขับรถนั้น ไม่ใช่ว่าทุกรายจะมีปัญหาเหมือนกัน กรณีที่บางรายถ้าอาการหนักถึงขั้นแยกช่องว่างไม่ออกและมีอาการมองสิ่งของเป็นสีขาว เทา ดำ แบบนี้ก็ไม่ควรให้ขับ ขี่ รถ แต่อาการจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของแพทย์ จึงอยากให้กรณีของกรมการขนส่งทางบอกนั้นมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม อย่าพยายามเหมารวม



//www.komchadluek.net/detail/20110904/108159/ราชวิทยาลัยจักษุฯจี้ขนส่วนปรับเกณฑ์ตรวจตาบอดสี.html
โดย: หมอหมู วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:1:20:52 น.
  
ใบรับรองแพทย์
ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 7-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 7
เดือน/ปี: พฤศจิกายน 2522
คอลัมน์: พูดคนละภาษา
นักเขียนหมอชาวบ้าน: รจน์ วิพากษ์


ใบรับรองแพทย์
โพสโดย Fon เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2522 00:00

เป็นความจำเป็นเสียแล้ว สำหรับชีวิตมนุษย์ในสมัยปัจจุบันที่จะต้องเกี่ยวข้องผูกพันกับใบรับรองแพทย์อย่างไม่มีทางหลบหลีก

นับตั้งแต่เกิด ก็จะต้องแจ้งการเกิดโดยใช้ใบรับรองจากหมอที่โรงพยาบาลไปแจ้งเทศบาลหรืออำเภอว่า ฉันเกิดแล้วนะ อย่าลืมใส่ชื่อฉันไว้ในทะเบียนนะ มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนเถื่อน ไม่มีทะเบียน จะเข้าเรียนหนังสือก็ไม่ได้ โรงเรียนไม่ยอมรับ เพราะไม่มีสูติบัตร เผลอๆ พอโตขึ้น ทำบัตรประชาชนไมได้ เขาจะหาว่าเป็นญวนอพยพละก็ เวรกรรม จนกระทั่งเวลาตาย ก็ต้องมีใบมรณบัตรจากหมอ แสดงว่า ฉันตายไปแล้วนะ ตายจริงๆ ขีดชื่อฉันออกจากทะเบียนเสียด้วย แล้วเวลามีการเลือกตั้ง ไม่ต้องใส่ชื่อฉันลงไปนะ เดี๋ยวคนอื่นจะหาว่ามีผีมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงด้วย

ระหว่างเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ใบรับรองแพทย์ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น จะสมัครเข้าทำงานหรือครับ อย่าลืมใบรับรองแพทย์นะครับ จะมาประกันชีวิตหรือครับ มีใบรับรองแพทย์มาเรียบร้อยหรือยังครับ อ้าว คุณลาป่วยทำไมไม่มีใบรับรองแพทย์ อย่างนี้ถือว่าขาดงานนี่ต้องถูกตัดเงินเดือนละ จะทำอะไรๆ สมัยนี้ ใบรับรองแพทย์ดูจะจำเป็นไปเสียแทบทุกอย่าง แล้วทำอย่างไร จึงจะได้ใบรับรองแพทย์ ก็ต้องไปขอจากหมอน่ะซิ

ใบรับรองแพทย์ ที่ต้องใช้กันอยู่เสมอๆ มีหลายอย่าง ว่ากันทีละอย่างนะครับ

อย่างแรกก็ใบรับรองแพทย์ เพื่อประกอบใบลาป่วย

นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ ลูกจ้าง คนทำงานบริษัท ยกเว้นบริษัทของตัวเอง หรือของคุณพ่อ เวลาไม่สบายจะลาหยุดงาน ต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบใบลาป่วย การขอใบรับรองแพทย์ประกอบในกรณีเช่นนี้ไม่ใคร่มีปัญหาอะไร คุณไปรับการตรวจกับหมอทีไหน คุณก็ขอใบรับรองแพทย์จากหมอที่นั่น ใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ขอฟรี ไม่ต้องเสียเงินด้วยครับ

วันนี้ลืมขอ วันหลังไปขอก็ยังได้ เพราะเวลาหมอตรวจคุณหมอก็จะบันทึกประวัติการเจ็บป่วยของคุณไว้เป็นหลักฐาน เพื่อว่าวันหลังคุณไม่สบายอีก ไปตรวจใหม่หมอจะได้รู้ว่าเคยเป็นโรคอะไรมาก่อน เคยรักษาอย่างไรมาแล้วบ้าง เพราะโรคบางอย่าง ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต วิธีการรักษา ตลอดจนผลการรักษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาประกอบกับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

เพราะฉะนั้น จึงมีหลักฐานการตรวจรักษา จึงสามารถออกไปรับรองแพทย์แสดงถึงความเจ็บป่วยตลอดระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาให้แก่คุณได้ แต่ทั้งนี้ เฉพาะหมอปริญญาเท่านั้นนะครับ หมอชาวบ้านไม่เกี่ยว เพราะยังไม่มีหน่วยงานไหนยอมรับใบรับรองจากหมอชาวบ้าน

ปัญหาในการขอรับใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบใบลาป่วย โดยทั่วไปมีไม่มาก แต่จะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมาทันทีถ้าคุณไปขอใบรับรองแพทย์ ในกรณีที่คุณไม่ได้ป่วยจริง หรือป่วยจริงแต่ไมได้ไปรับการรักษาจากหมอคนนั้น เพราะเป็นการขอใบรับรองแพทย์เท็จ ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะแสดงว่าฉันไม่สบาย และสมควรลาป่วย

บางคนไม่ได้เป็นอะไรหรอกครับ ขี้เกียจทำงานเลยหนีไปเที่ยวเพลินไปหน่อย ลืมส่งใบลากิจไว้เสียด้วย หรือไม่ก็เป็นเพราะต้องรีบไปธุระด่วน รอไมได้ ไม่มีเวลาส่งใบลากิจ ซึ่งกรณีเหล่านี้อาจแก้ไขได้โดยโทรเลขไปลาเอาไว้ก่อน แต่ก็ลืมอีกนั่นแหละ พอกลับมาทำงานเจ้านายเกิดจะเอาเรื่องขึ้นมา คุณขาดงานไปเฉยๆ นี่ ใบลาก็ไม่ส่ง อย่างนี้ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบต่องาน มีความผิด ต้องถูกลงโทษ

เอาละสิ ทำอย่างไรดี เห็นท่าจะต้องไปขอใบรับรองแพทย์จากหมอย้อนทีหลัง จะได้ส่งใบลาป่วยแทนใบลากิจเสียเลย เจ้านายอยากเฮี๊ยบนัก หรือบางทีเจ้านายเองนั่นแหละ แนะนำดีนัก แนะนำให้ไปขอใบรับรองแพทย์เสียเอง

ในกรณีเช่นนี้ หมอออกใบรับรองแพทย์ให้ไม่ได้หรอกครับ เพราะถ้าขืนออกใบรับรองแพทย์ให้ไป ใบรับรองแพทย์ใบนั้นก็เป็นใบรับรองแพทย์เท็จ ไม่มีหลักฐานยืนยันการเจ็บไข้ได้ป่วยของคุณ ถ้าแพทย์สภารู้เข้า เกิดมีการสอบสวนกันขึ้นมา ความผิดพลาดของหมอคนที่ออกใบรับรองแพทย์เท็จนั้น มีโทษยึดใบประกอบโรคศิลปะครับ แปลว่าหมอคนนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะทำงานเป็นหมอรักษาคนไข้อีกไป เรียกว่าหมดอาชีพไปเลย และถ้าหมอคนนั้นเป็นข้าราชการ ก็จะได้รับโทษทางวินัยอีกต่างหาก

ครับ! ในกรณีที่หมอคนนั้นเป็นเพื่อนของคุณ เป็นญาติของคุณ หรือคุณรู้จักใกล้ชิดสนิทสนมกันดี ขอร้องไหว้วานให้ช่วยเหลือกันได้ คุณกำลังจะถูกลงโทษตัดเงินเดือนแล้ว ช่วยเหลือกันหน่อยนะ ช่วยออกใบรับรองแพทย์ให้หน่อยเถอะ หมอคนนั้นก็มีความเกรงใจ ไม่อาจปฏิเสธได้ ออกใบรับรองแพทย์เท็จให้ ถ้าไม่มีเรื่องก็แล้วกันไป ถ้ามีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นมาเมื่อไร ก็มีความผิดไป

มีบ่อยไปครับ ที่เจ้านายต้นสังกัดของคุณ เกิดความสงสัยในใบรับรองแพทย์ที่คุณนำไปยื่น เลยส่งเรื่องมาตรวจสอบกับต้นสังกัดของหมอ หมอก็ต้องรับโทษไปตามระเบียบ

ใบรับรองแพทย์ชนิดที่ 2

ใบรับรองแพทย์สมัครงาน หรือสมัครเรียนต่อ เป็นใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่า คุณมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรง จนอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติงานหรือเล่าเรียนจนสำเร็จได้

ตามกฎหมายกำหนดโรคต่างๆ ซึ่งถือว่าทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือเล่าเรียนไว้ 5 โรค คือ

1. โรคเรื้อน
2. วัณโรคระยะอันตราย
3. ติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง
4. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการ เป็นที่รังเกียจแก่สังคม
5. โรคพิษสุราเรื้อรัง

ถ้าใครเป็นโรคใดโรคหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดนี้ ก็สมควรละครับที่จะไม่ได้ทำงานหรือเรียนต่อ เพราะโรคต่างๆ ทั้ง 5 นี้ค่อนข้างจะร้ายแรง และเป็นอันตรายต่อสังคมทั้งสิ้น

และอย่าว่าแต่หมอเลยครับ ที่จะให้การวินิจฉัยโรคเหล่านี้ได้ แม้แต่ชาวบ้านธรรมดาเพียงเห็นก็พอจะดูออกว่าเป็นโรคพวกนี้หรือไม่

ในการขอใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ คุณสามารถจะขอจากหมอปริญญาคนไหนก็ได้ หมอบางคนอาจจะทำการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น วัดความดันเลือดจับชีพจร ตรวจหัวใจและปอดให้แล้วก็เขียนใบรับรองแพทย์ให้ หมอบางคนอาจให้คุณไปเอกซเรย์ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะแล้วจึงจะยอมออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมทั้งเรียกเก็บค่าตรวจเสียแพงหูฉี่

โดยปกติ การขอใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ คุณต้องเสียเงินให้หมอใบละ 10 บาทครับ จะเรียกว่า เป็นค่าป่วยการ หรือ เป็นค่าวิชาหรืออะไรก็ไม่ทราบละครับ สรุปว่าต้องเสียเงินใบละ 10 บาทก็แล้วกัน

แต่หมอคนที่ให้คุณเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ จะเรียกค่าตรวจแพงกว่านี้มาก ตามจำนวนและชนิดของการตรวจพิเศษเหล่านั้น ทั้งๆ ที่การตรวจพิเศษนี้อาจจะช่วยหรือไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคทั้ง 5 ชนิดนี้เลยก็ได้ แต่ก็จะตรวจ

เคยมีหมอบางคนเขียนบทความแสดงความกังขาว่า มีเหตุผลอย่างไร จึงต้องตรวจกันมากมายให้เสียเงิน เสียทอง โดยที่ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีประโยชน์ เป็นการเอาการค้ามาปนกับการแพทย์หรือไม่ เป็นการค้ากำไรโดยใช้วิชาชีพแพทย์บังหน้าหรือเปล่า ในขณะที่หมอบางคนเพียงแค่มองหน้า ถามชื่อ ถามแซ่ แล้วก็เขียนใบรับรองแพทย์ให้ได้แล้ว ถ้าไปถามหาเหตุผลจากหมอว่า ทำไมไม่ต้องตรวจเลยล่ะ จะได้รับคำตอบในทำนองนี้

ก็โรคพวกนี้น่ะ อย่างว่าแต่หมอปริญญาเลย ชาวบ้านธรรมดาก็ดูออกว่าเป็นโรคพวกนี้หรือเปล่า จะตรวจอะไรอีกเล่า ใบรับรองแพทย์ต้องการรู้แค่ 5 โรคนี้เท่านั้น ใช้สายตาตรวจก็พอ เคยมีตัวอย่างหมอบางคน นอกจากจะไม่ตรวจแล้วยังไม่มองหน้าคนไข้อีกด้วย เซ็นชื่อในใบรับรองแพทย์ไว้เป็นปึกเลย ทิ้งไว้ที่คลีนิคของหมอนั่นแหละ มีใครมาขอใบรับรองแพทย์ไปสมัครงานหรือครับ คนงานหรือใครก็ได้ที่ร้านหมอสักคนหยิบใบรับรองแพทย์ที่หมอเซ็นชื่อไว้แล้วขึ้นมา กรอกชื่อผู้ขอใบรับรองแพทย์ เท่านั้นเป็นเสร็จพิธี

แพทย์สภารู้เรื่องเข้า ยึดใบประกอบโรคศิลป์เรียบร้อยแล้วครับ

ใบรับรองแพทย์ชนิดที่ 3

สำหรับผู้ประกันชีวิตไว้ เมื่อได้รับบาดเจ็บ จะเป็นการเจ็บเล็กน้อย หรือเจ็บมากขนาดไหนก็ตามที บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตอบแทนให้ มากหรือน้อยแล้วแต่เงินประกันและขนาดของการบาดเจ็บเรื่องก็เลยต้องมีใบรับรองแพทย์ตามเคย ก็ขอจากหมอคนที่ตรวจรักษาคุณเหมือนกัน โดยมีแบบฟอร์มต่างหาก เป็นแบบฟอร์มของบริษัทประกันชีวิตของคุณเอง ใช้ของบริษัทอื่นไม่ได้

ค่าป่วยการในการขอใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ บริษัทประกันชีวิตบางบริษัทจะเป็นผู้จ่ายให้หมอคนเขียนใบละ 100 บาท แต่บางบริษัทไม่ยอมจ่ายให้ แต่จะให้ผู้เอาประกันจ่ายเอง หรือไม่เช่นนั้นบริษัทก็จ่ายให้ก่อน แล้วหักเอาคืนจากเงินทดแทนภายหลัง ก็ไม่ทราบละครับ ว่ากฎหมายหรือระเบียบที่แท้จริงเขาว่าอย่างไร ถ้าผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้จะเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างก็จะเป็นการดีทีเดียวครับ

ปัญหาของการเขียนใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ อยู่ที่การลงความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการพักรักษาตัวครับ เพราะผู้เอาประกันมักจะขอร้องให้แพทย์ลงความเห็นให้ใช้เวลาพักรักษาตัวนานๆ เพื่อว่าเงินทดแทนจะได้สูงๆ หมอเขียนว่ามีบาดแผลอย่างนี้ ให้พักรักษาตัว 10 วัน ก็ขอต่อรองเงินเดือนว่า 1 เดือนไม่ได้หรือ บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทแหละครับ จะมีหมอเป็นที่ปรึกษาของบริษัท และหมอพวกนี้ก็ล้วนแล้วแต่ผู้เชี่ยวชาญด้วยซิครับ มีแผลถลอกนิดหน่อย ขืนลงความเห็นว่าพักรักษาตัว 1 เดือน บริษัทก็มีหวังปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนให้เท่านั้นเอง ขืนจ่ายง่ายๆ จ่ายเยอะๆ ก็ไม่เรียกบริษัทประกันน่ะซิครับ

มีตัวอย่างเหมือนกันครับ หมอลงความเห็นไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง ตัดขาคนไข้เพราะเป็นมะเร็ง แต่ลงความเห็นว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุ บริษัทประกันสืบพบความจริงเข้า นอกจากจะไม่ยอมจ่ายเงินให้แล้ว ยังฟ้องหมอเข้าด้วย

แพทย์สภาก็ยึดใบประกอบโรคศิลป์ไปตามระเบียบ

ใบรับรองแพทย์ชนิดสุดท้าย

ที่จะเขียนถึงในวันนี้ คือ ใบรับรองการบาดเจ็บ หรือใบชันสูตรบาดแผล หรือใบชันสูตรศพ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย

ใบรับรองชนิดนี้ ประชาชนทั่วไปจะไม่ได้เห็นหรอกครับ เพราะถือว่าเป็นเอกสารทางราชการจะเที่ยวได้เอาไปเผยแพร่มิได้ กล่าวคือ เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บจะมีสาเหตุจากการถูกทำร้ายร่างกาย หรืออุบัติเหตุก็ตามที ในทางกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องทางอาญาที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนถึงสาเหตุแห่งการบาดเจ็บนั้นๆ และต้องนำตัวผู้กระทำความผิดนั้นมาฟ้องร้อง และดำเนินคดีตามกฎหมาย

สิ่งหนึ่งที่จะเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีนั้น คือ ใบชันสูตรบาดแผลซึ่งหมอจะเขียนบ่งไว้ถึงสาเหตุของการบาดเจ็บ อวัยวะ และลักษณะของการบาดเจ็บตลอดจนให้ความเห็นว่า จะต้องใช้เวลาในการรักษาตัวนานเพียงไร และจะมีผลเสียในระยะยาง อาทิ เช่น ความพิการหรือไม่อย่างไร

ดังนั้น ทางพนักงานสอบสวนก็จะส่งใบชันสูตรบาดแผลนี้ให้แก่หมอ เมื่อหมอเขียนลงความเห็นแล้วก็จะส่งคืนให้แก่พนักงานสอบสวน โยที่ทั้งผู้ต้องหา และผู้ได้รับบาดเจ็บไม่จำเป็นต้องเข้ามาเดือดร้อนกับใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ แต่บางครั้งพนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาหรือไม่ก็ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นผู้ดำเนินการนำใบชันสูตรบาดแผลนี้มาเอง โยให้ไปขอจากหมอโดยตรง

ปัญหาอยู่ตรงนี้เอง เพราผู้ต้องหาก็ย่อมจะอยากให้หมอลงความเห็นว่าบาดเจ็บน้อยๆ ในขณะที่ผู้บาดเจ็บก็จะให้ลงความเห็นว่า บาดเจ็บมากๆ เพื่อจะได้เรียกเงินได้มากๆ หรือถ้าไม่ยอมจ่ายเงินก็จะได้ติดคุกนานๆ หมอลงความเห็นไปตามความเป็นจริง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เลยโดนทั้ง 2 ฝ่ายรุมต่อว่า

เป็นไปได้!

ใบรับรองแพทย์ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนละครับ เป็นเรื่องที่สังคมให้เกียรติหมอ เชื่อถือในความเป็นหมอว่าจะมีความซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม ดังนั้น ถ้าหมอคนไหนเขียนใบรับรองแพทย์เท็จแล้วถูกจับได้ ก็อย่าเป็นหมอต่อไปเลยครับ เกียรติของตัวเอง ยังไม่รู้จักรักษาไว้ แล้วจะไปรักษาคนไข้ที่ไหนล่ะครับ จริงไหมครับ
โดย: หมอหมู วันที่: 19 พฤษภาคม 2559 เวลา:14:06:12 น.
  
ใบรับรองแพทย์ ดาบสองคมของผู้ให้และผู้รับ

แทบจะทุกวันที่แพทย์ทุกคนทำงาน ต้องมีการออกใบรับรองแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามาตรวจจริง ลาหยุดงาน นอนโรงพยาบาล หรือตรวจสุขภาพ หรือนำไปประกอบการเบิก เป็นต้น ซึ่งการออกใบรับรองแพทย์เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าเขียนด้วยความละเอียดรอบคอบ ตามข้อเท็จจริงก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้รับ แต่หากเขียนโดยปราศจากความรอบคอบ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ก็อาจเกิดผลเสียต่อผู้รับ หรือต่อตัวผู้เขียนเองได้

การออกใบรับรองแพทย์เท็จมีความผิดทางกฎหมายอาญา มาตรา 269
“ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือ วิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จโดยประกอบการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”

และ สำหรับประชาชนที่ให้แพทย์ออกใบรับรองให้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง และ นำใบรับรองนั้นไปใช้ ก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 269 ด้วย

ความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9
“ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นความเท็จโดยตั้งใจหรือให้ ความเห็นโดย ไม่สุจริตในเรื่องใดเกี่ยวกับวิชาชีพของตน ซึ่งอาจถูกลงโทษถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ”

ดังนั้น ฝ่ายผู้ขอใบรับรองแพทย์ ควรซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และต่อแพทย์ที่ไปขอให้ออกใบรับรองแพทย์ เพราะไม่มีใครรู้วัตถุประสงค์ของการขอ หรือรายละเอียดของการเจ็บป่วย อาการต่าง ๆ ได้ดีที่สุดเท่าตัวท่านเอง บางครั้งหากท่านไม่บอกความจริง หรือตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริง อาจนำมาซึ่งความผิดดังกล่าวได้

ฝ่ายแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ ผู้ที่ออกได้ ต้องเป็นแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งที่ผ่านมาสังคมเขาให้เกียรติ และเคารพในวิชาชีพแพทย์พอสมควร เขาจึงเชื่อถือในใบรับรองแพทย์ที่เราออกไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ดังนั้นแพทย์เองก็ควรรักษาเกียรติ และความซื่อสัตย์เอาไว้ด้วยเช่นกัน หากเรื่องพื้นฐานแค่นี้ยังรักษาไม่ได้ ก็ยากที่จะไปรักษาผู้ป่วยได้

จึงอยากให้ข้อเตือนใจไว้ดังต่อไปนี้ครับ เกี่ยวกับการออกใบรับรองแพทย์ (โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ที่กำลังจะเริ่มปฏิบัติงานในเดือนหน้า)

1.อันดับแรกเลย ไม่มีใครสามารถมาบังคับให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ได้ นอกจากใบชันสูตรศพ หรือใบชันสูตรบาดแผล ดังนั้นแพทย์มีสิทธิ์จะไม่ออกได้หากไม่แน่ใจ แต่เมื่อออกไปแล้วถือเป็นหลักฐานสำคัญทางกฎหมาย จึงต้องมีการ “ถาม” โดยละเอียดก่อนทุกครั้งถึงวัตถุประสงค์ของผู้ต้องการใบรับรองแพทย์ และควรบันทึกลงในประวัติเสมอว่าผู้ขอต้องการเอาไปทำอะไร เพราะบางครั้งก็อาจเชื่อไม่ได้ แต่เราได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

2.มีการตรวจร่างกาย หรือตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น ก่อนออกใบรับรองแพทย์เสมอ ห้ามออกโดยไม่ได้ตรวจคนไข้เด็ดขาด เพราะหลายครั้งอาจเกรงใจ เช่น มีคนรู้จัก หรือญาติเจ้าหน้าที่มาขอเพื่อไปสมัครงาน เป็นต้น เพราะเราไม่มีทางรู้แน่นอนว่าเขาสุขภาพดีจริงหรือเปล่า ไม่มีโรคต้องห้ามจริงหรือเปล่า หรือในวันนั้นนั้นเขาอาจก่อคดีอะไรอยู่ก็ได้แต่เรากลับลงความเห็นว่าได้ตรวจคนไข้ในวันนั้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เห็นตัวคนไข้ ก็จะเกิดผลเสียต่อเราตามมาได้ หรือหลายครั้งที่ผู้ป่วยเยอะ แพทย์ก็ให้ผู้ช่วยกรอกเอกสารให้หมดและมีหน้าที่เซ็นต์ชื่ออย่างเดียวโดยไม่ได้ตรวจจริง ซึ่งอาจถูกตรวจสอบว่ามีความผิดภายหลังได้

3.การให้หยุดงาน ควรอยู่ในดุลพินิจที่เหมาะสม และมีหลักฐานที่อ้างอิงได้ตามหลักวิชาการทางการแพทย์ ถ้าเห็นว่าไม่ควรหยุดก็ไม่ต้องบอกว่าหยุด ให้ทางหน่วยงานของผู้ขอไปพิจารณาเอาเอง

4.ห้ามออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังโดยเด็ดขาด ถ้าคนไข้ไม่ได้มาตรวจจริงที่โรงพยาบาล เพราะเราไม่มีวันรู้แน่นอนว่าในวันนั้นคนที่มาขอใบรับรองแพทย์ป่วยจริงหรือไม่ หรือไปทำอะไรอยู่ที่ไหน

5.ใบรับรองแพทย์ควรออกด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตรงตามความจริง ตามหลักวิชาการ ไม่ยึดติดกับอามิสสินจ้าง เพราะหลายต่อหลายครั้งแพทย์ต้องเขียนรับรองแพทย์ให้ผู้ป่วยเพื่อไปเคลมประกัน ซึ่งแพทย์ส่วนมากจะได้ค่าเขียนใบเคลม และผู้ป่วยก็เอาไปเบิกเงินกับบริษัทประกัน เช่น มีบาดแผลที่นิ้ว แต่เขียนให้หยุดพักรักษาตัว 1 เดือน ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ซึ่งบริษัทประกันเขาก็มีแพทย์เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาอยู่แล้ว นอกจากบริษัทจะไม่จ่ายเงินให้แล้วยังอาจฟ้องแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ได้ด้วย

6.กรณีที่ไม่แน่ใจ หรือไม่สามารถลงความเห็นในใบรับรองแพทย์ได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้มีประสบการณ์ หรือแพทย์นิติเวช และไม่ควรลงความเห็นแบบคิดเอาเอง เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย มีรอยบวมโนที่ศีรษะ ขนาด 3 เซนติเมตร แค่นี้ก็พอ แต่ไม่ต้องไปลงละเอียดแบบคนที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือออกใบรับรองแพทย์สมัครงาน ลงว่า "ไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะ" ก็พอ แต่ไม่จำเป็นต้องลงว่าผู้นั้นไม่ได้เสพยาบ้า เป็นต้น

7.ควรบันทึกไว้ในเวชระเบียนทุกครั้ง เช่น ผู้ป่วยมาขอใบรับรองแพทย์หยุดงานกี่วัน เพื่อเป็นหลักฐาน สำหรับแพทย์คนต่อไปที่มาตรวจด้วย เช่น ต้นเดือนก็มาตรวจด้วยถ่ายเหลว ให้หยุดงานไป 3 วัน พอกลางเดือนก็มาขออีก ซ้ำ ๆ แบบนี้แสดงว่าอาจไม่ได้ป่วยจริงก็ได้ และที่สำคัญควรทำสำเนาไว้ทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานและป้องกันการขูดขีด หรือแก้ไขในภายหลัง

Admin OR No.9 เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด
https://www.facebook.com/495293923990186/photos/a.496712713848307.1073741829.495293923990186/512343338951911/?type=3&theater
โดย: หมอหมู วันที่: 22 พฤษภาคม 2560 เวลา:10:30:52 น.
  
"#ใบรับรองการป่วย" หรือ "#ใบรับรองแพทย์ลา"

เป็นใบรายงานการตรวจรักษาว่ามาทำอะไรบ้าง หมอให้ความเห็นว่าอย่างไร
ใบนี้เป็นเอกสารที่มีผลกระทบกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง วันนี้เลยอยากมาชี้แจงให้ฟัง

1.ใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องเป็นรูปแบบใด หมายความว่าเป็นกระดาษเปล่าๆแล้วเขียนก็ถือว่าใช่ ส่วนผู้รับจะเชื่อไม่เชื่อก็อีกเรื่องนะ

2.แพทย์เท่านั้นที่มีสิทธิ์ออกใบให้ แน่หละสิก็ชื่อใบรับรองแพทย์หนิ ถ้าผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ที่ขึ้นทะเบียนเขียน ถือว่าเป็นเอกสารปลอม(ออกเอกสารโดยไม่มีสิทธิ์)

3.สำหรับแพทย์ ใบรับรองแพทย์ต้องเป็นความจริง ตามการบันทึกในเวชระเบียน(เอกสารที่บันทึกการรักษา) เท่านั้น ไม่เช่นนั้นถือว่าเป็น "เอกสารเท็จ" (เป็นเอกสารที่มีสิทธิ์เขียน แต่เขียนข้อความที่เป็นเท็จ)

4.สำหรับนายจ้าง ใบรับรองการป่วยคือบันทึกว่าคนที่มาตรวจมีอาการอะไร วินิจฉัยว่าเป็นอะไร อยู่กับหมอตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ และให้ความเห็นว่าควรทำอะไร
" ความเห็นของหมอคือความเห็น ไม่ใช่คำสั่ง การให้หยุดหรือไม่เป็นอำนาจของนายจ้าง ไม่ได้ต้องทำตามหมอเสมอไป " เช่น บาดเจ็บหัวแม่เท้า หมอเขียนว่าควรพัก 1 สัปดาห์ เพราะอีก 1 สัปดาห์ถึงจะหาย แต่คนที่ป่วยทำงานที่นั่งหน้าคอมตลอดไม่ต้องเดินส่งเอกสาร ไม่ได้ใช้เท้า การไม่ได้ใช้หยุดงาน หรือการปรับลักษณะงานให้ไม่กระทบอาการป่วย ก็เป็นสิทธิ์ที่นายจ้างก็ทำได้
ย้ำว่า "ความเห็นคือความเห็น ไม่ใช่คำสั่ง"

5.สำหรับผู้ป่วย การขอร้องแกมบังคบให้หมอออกใบรับรองเท็จก็เป็นความผิดนะครับ และที่สำคัญคือ ไม่สามารถออกย้อนหลังให้ได้ ก็อย่างที่บอกว่า ข้อความในใบรับรองต้องตรงกับเวชระเบียน ในเมื่อไม่ได้มาหาหมอ หมอก็ออกให้ไม่ได้นาจา
ส่วนเรื่องความเห็นว่าควรหยุดกี่วัน อันนี้ขึ้นกับประมาณการตัวโรค ไม่ต้องขอแถมหรอกนะ ถ้ายังไม่หายมาตรวจซ้ำออกให้ใหม่ได้อีกครับ ไม่ได้หมายความว่าครั้งเดียวจบเท่าไหร่เท่านั้นนะ

#ของแถมนิดนึง

"#ใบรับรองแพทย์ปลอม" คือ คนไม่ได้เป็นแพทย์ออกใบ หรือ การแอบเติมข้อความ แก้ข้อความ ในใบรับรองแพทย์
ป.อ. มาตรา ๒๖๔ ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"#ใบรับรองแพทย์เท็จ" คือ หมอออกใบรับรองแพทย์ที่ไม่เป็นความจริง
ป.อ. มาตรา ๒๖๙ ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมอต้องขอโทษด้วยนะครับ หมอออกใบรับรองแพทย์เท็จให้ไม่ได้จริงๆนะ
ปล.ตัวอย่างที่เจอบ่อยๆ
- เมาเหล้า แล้วให้ลงประวัติว่าเป็นไข้ จะขอลางาน
- มาตรวจวันนี้ แต่ขอให้เขียนว่าให้ลาตั้งแต่ 3 วันก่อน
- จะมาฉีดโบท็อก แต่ขอให้เขียนว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไม่งั้นไม่ฉีด 555+ เชิญคลินิกอื่นเลยจร้า
ฯลฯ
บอกเลยออกให้ไม่ได้จริงๆจร้า
#ใบรับรองแพทย์ป่วย #ใบรับรองการป่วย #ใบรับรองแพทย์ปลอม

ที่มา Dr.Jee Medical Clinic - แพทย์จีรยุทธคลินิกเวชกรรม
https://www.facebook.com/DrJeeClinic/posts/567892836932935
โดย: หมอหมู วันที่: 21 กรกฎาคม 2560 เวลา:21:41:15 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด