ความดันโลหิตสูง


ความดันโลหิตสูง

ค่าความดันโลหิตจะประกอบด้วยตัวเลข 2 ค่า โดย

ค่าความดันโลหิตตัวบน (ตัวเลขค่ามาก) เป็น ความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว

ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (ตัวเลขค่าน้อย) เป็น ความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว

ความดันโลหิตสูง คือ ระดับความดันโลหิต ขณะพักสูงกว่าหรือเท่ากับ 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ค่าความดันโลหิตสูงได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง เช่น ถ้าอายุมากขึ้น ความดันเลือดจะสูงขึ้น หรือ ถ้าเหนื่อย ร้อน หรือ รู้สึกเครียด ค่าความดันโลหิตก็จะสูงขึ้นได้ ก่อนที่จะบอกว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็จะต้องวัดความดันโลหิตซ้ำหลาย ๆ ครั้งในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน แล้วจึงนำมาเฉลี่ยว่า “สูง“จริงหรือไม่



หลักการวัดความดันโลหิต

ควรวัดในท่านั่ง ผ่อนคลายตามสบาย วางแขนลงบนโต๊ะที่จะทำการวัด โดยจัดให้ระดับที่วางแขนนั้นอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ

ควรจะทำการวัดหลังจากที่นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที ถ้าความดันโลหิตสูงกว่า 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท ควรนอนพัก 5-10 นาที แล้ววัดใหม่ ถ้าวัดซ้ำแล้วได้ค่าความดันที่ยังสูงอยู่ตลอดจึงถือว่า เป็นความดันเลือดสูง

ควรจะหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสม อย่างน้อย 30 นาทีก่อนวัดความดันโลหิต


อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีค่าระดับความดันโลหิตสูงเล็กน้อย หรือ ปานกลาง มักจะไม่มีอาการ ยกเว้น ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก โดยเฉพาะในรายที่ยังไม่เคยรับการรักษา หรือ รักษาไม่สม่ำเสมอ อาจมีอาการปวดศรีษะ ซึ่งมักจะปวดบริเวณท้ายทอย เกิดขึ้นในตอนเช้า และมักจะดีขึ้นหรือค่อย ๆ หายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อาจจะมีอาการเวียนศีรษะ มึนงง เลือดกำเดาไหล คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หรือ ตามัว ร่วมด้วย


สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 85-90 ของผู้ป่วยที่เป็นอยู่ จะไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร มีส่วนน้อยที่ทราบสาเหตุ เช่น โรคไต โรคครรภ์เป็นพิษ การใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาคุมกำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด เป็นต้น


การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะตรวจในผู้ป่วย ก่อนที่จะทำการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แพทย์จะสั่งการตรวจให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

การตรวจพื้นฐานมีหลายอย่าง เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ ระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจการทำงานของไต ระดับไขมันในเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ๊กซเรย์ปอดและหัวใจ

การตรวจพิเศษ อื่น ๆ เช่น การเก็บปัสสาวะ 24 ชม. การฉีดสีเพื่อดูการทำงานของไต การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจ เป็นต้น ซึ่งจะทำในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะดังต่อไปนี้

• ผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือ มากกว่า 50 ปี

• มีระดับความดันโลหิตสูงมาก

• ผู้ที่สงสัยว่าความดันโลหิตสูงนั้น อาจเกิดจากโรคอื่น

• ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา



วัตถุประสงค์ของการรักษา

1.ป้องกันความพิการและลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนตามมาจากความดันโลหิตสูงผิดปกติ เช่น หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ทำให้ตามัวหรือตาบอดได้ โรคหัวใจโต หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ อาจทำให้เสียชีวิตได้

2.ควบคุมและลดระดับความดันโลหิตให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด



แนวทางในการรักษา

๑. การปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิต เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมความดันโลหิต

หยุดสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะบุหรี่จะลดประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิต และเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
ลดน้ำหนักส่วนเกิน ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ

ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะเพิ่มระดับความดันโลหิตและทำให้ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว หรือ วิ่งเหยาะ ๆ อย่างน้อยวันละ 30 - 45 นาที 3 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์

ผ่อนคลายทางจิตใจ การระงับ หรือ ลดความเครียด

ผู้ป่วยที่รับประทานยาขับปัสสาวะ ควรกินส้มหรือกล้วยเป็นประจำ เพื่อทดแทนโพแทสเซียมที่เสียไปในปัสสาวะ

ลดอาหารเค็ม โดยควรลดปริมาณเกลือแกงให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น

• อาหารที่มีเกลือมาก เช่น น้ำปลา ซีอิ้ว กะปิ เต้าเจี้ยว ปลาเค็ม ไข่เค็ม ผักดอง ผลไม้ดอง อาหารทะเล

• อาหาร / ขนมที่ใช้ผงฟู สารกันบูด เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ ซาลาเปา ปาท่องโก๋

• บะหมี่สำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวเกรียบ ซุบสำเร็จรูป เนยรสเค็ม น้ำอัดลม

ลดอาหารที่มีไขมันสูง จากสัตว์และพืช เช่นอาหารทอดน้ำมัน น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม กะทิ ครีมเทียม


๒. การรักษาด้วยยา

ยาจะมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

โดยแพทย์จะเริ่มให้ยาในปริมาณที่น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยา แต่ถ้าไม่ได้ผลจึงจะเพิ่มปริมาณยา หรือ ให้ยาหลายชนิดร่วมกัน

ดังนั้นในระยะแรก แพทย์อาจจะต้องนัดตรวจบ่อยเพื่อจะดูว่ายาที่ให้ไปได้ผลดีหรือไม่ ใน-บางครั้งกว่าที่จะควบคุมความดันโลหิตได้อาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักต้องใช้ยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ บางครั้งแพทย์อาจมีการปรับเพิ่มหรือลดยา ถ้าอาการดีขึ้นก็จะลดยาลง หรือ ถ้าช่วงไหนเป็นมากก็จะเพิ่มยาขึ้น จึงควรพบแพทย์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตามขนาดที่แพทย์สั่ง อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดยา ไม่ควรหยุดยา หรือ ปรับขนาดยาเอง ถ้ารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ นอกจากจะควบคุมความดันไม่ได้แล้ว แล้วยังอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ทำให้ความดันยิ่งสูงขึ้นมากกว่าปกติ หรือ เกิดความดันโลหิตสูงเฉียบพลันทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ เป็นต้น


โรคความดันโลหิตสูง รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนได้ โดยที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย แต่ผู้ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวของผู้ป่วยเอง



Create Date : 02 มีนาคม 2551
Last Update : 7 ตุลาคม 2564 15:27:41 น.
Counter : 9214 Pageviews.

4 comments
ถนนสายนี้มีตะพาบ ประจำหลักกิโลเมตรที่ 379 : เรื่องที่มักเข้าใจผิด The Kop Civil
(25 มิ.ย. 2568 15:27:14 น.)
Day..12 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(20 มิ.ย. 2568 09:58:53 น.)
วิ่งข้างบ้าน 8,9,10,11,12,14 มิ.ย.2568 สองแผ่นดิน
(18 มิ.ย. 2568 22:42:00 น.)
ปวดหัวข้างขวา อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง? newyorknurse
(11 มิ.ย. 2568 02:01:20 น.)
  
blog ของพี่หมอมีประโยชน์มากเลยค่ะ แต่ก็ไม่รู้จะ comment อะไร เอาเป็นว่า ถ้าพี่หมอพอมีเวลา ก็เข้ามาแบ่งปันความรู้สุขภาพแบบนี้อีกนะคะ ขอบคุณค่ะ
โดย: Shuhan^_^ วันที่: 2 มีนาคม 2551 เวลา:21:52:00 น.
  

แค่แวะมาทัก ก็ขอบคุณแล้วครับ ..
โดย: หมอหมู วันที่: 2 มีนาคม 2551 เวลา:23:53:27 น.
  
ขอบคุณนะคะ สำหรับข้อมูลดีๆ ตอนนี้ตั้งครรภ์ เริ่มมีปัญหาความดันขึ้นมาเป็น 130/78 จากเดือนก่อน 118/68 คะ
โดย: Hamugo วันที่: 3 มีนาคม 2551 เวลา:9:20:43 น.
  

แบบนี้นิดหน่อยครับ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ขอแสดงความยินดี กับคุณแม่ คนใหม่ ด้วยนะครับ
โดย: หมอหมู วันที่: 3 มีนาคม 2551 เวลา:14:42:07 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]

บทความทั้งหมด