วัยหมดระดู
วัยหมดระดู

วัยหมดระดู หรือ วัยหมดประจำเดือน นั้นเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับผู้หญิงช่วงหนึ่งทีเดียว โดยเป็นการเปลี่ยนจากวัยเจริญพันธุ์หรือวัยที่มีบุตรได้ ไปสู่วัยที่มีบุตรไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งในระยะนี้รังไข่จะไม่มีไข่ตก และ จะสร้างฮอร์โมนเพศ (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) น้อยลงมาก ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดระดู ที่พบได้บ่อยก็คือ

1. เกิดตามธรรมชาติ ( มีอายุเพิ่มมากขึ้น) ช่วงอายุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่หมดระดูคือ 45 - 55 ปี ( เฉลี่ย 51.3 ปี )

2. เกิดจากการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
ซึ่งในบทความนี้จะเน้นที่ วัยหมดระดูตามธรรมชาติ สำหรับผู้ที่หมดระดูจากการผ่าตัดอาจมีอาการและแนวทางการดูแลรักษาซึ่งแตกต่างออกไป จึงควรปรึกษาแพทย์ว่ามีแนวทางรักษาอย่างไรบ้าง


อาการของวัยหมดระดู

1. ระยะเริ่มแรก เป็นช่วงที่รังไข่ทำงานน้อยลง แต่ยังมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่บ้าง

อาการที่ปรากฏคือ ความผิดปกติของรอบเดือน เช่น มาไม่ตรงกำหนดมักห่างออกไป ปริมาณเลือดระดูน้อยลงและอาจหายไปเลย แต่บางรายอาจมีระดูออกมากกว่าปกติได้

2. ระยะหมดระดู ตรงกับช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ลดลงมาก จนไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเยื่อบุโพรง-มดลูกให้เจริญเติบโตได้ ทำให้เยื่อบุมดลูกฝ่อแห้งลงไป และ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

จะเกิดอาการคือ ไม่มีระดู มีอาการร้อนวูบวาบ บริเวณ ผิวหนังบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะแถวศีรษะ คอ และหน้าอก เหงื่อออกตอนกลางคืน รู้สึกร้อนขึ้น อาจเป็นอยู่แค่ไม่กี่วินาทีหรือนานหลายนาที อาจเกิดขึ้น ครั้งเดียว หรือหลายครั้งในหนึ่งวัน มักเกิดบ่อยตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับได้

อาการร้อนวูบวาบนี้จะหายไปเองใน 1-2 ปี หลังหมดระดู แต่บางคนอาจเป็นนานกว่า 5 ปี

3. ระยะเปลี่ยนแปลง ของอวัยวะสืบพันธ์และทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ระยะนี้เป็นผลจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงมาก จนทำให้เกิดการห่อเหี่ยวของอวัยวะต่างๆ มดลูกและผนังช่องคลอดจะหย่อนมากขึ้น เยื่อบุช่องคลอดแห้ง เนื่องจากผนังช่องคลอดบางตัวลง ความชุ่มชื้นน้อยลง

ทำให้เกิดอาการเจ็บขณะร่วมเพศ อาจทำให้ช่องคลอดติดเชื้ออักเสบง่ายขึ้น เยื่อบุท่อปัสสาวะบางลงทำให้รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ อาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ดก็พบได้บ่อย

4. ระยะสูงอายุ เป็นผลต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดู ที่สำคัญคือ มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนและโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด สูงมากขึ้น

อาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า รู้สึกอ่อนเพลีย ใจสั่น ปวดศีรษะ วิงเวียน นอนไม่หลับ หลงลืมง่าย ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น


แนวทางการรักษา

ระดูมาผิดปกติ

โดยทั่วไปในช่วงก่อนหมดระดู ประจำเดือนหรือรอบเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอ เมื่อแพทย์ตรวจจนแน่ใจแล้วว่า ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นก็อาจให้ยาประเภทฮอร์โมน รับประทานติดต่อกัน 3-6 เดือนแล้วหยุดสังเกตอาการ หากรอบเดือนผิดปกติอีกก็ให้การรักษาใหม่ หรือ อาจให้ยาจนถึงระยะหมดระดู จริงๆ

อาการร้อนวูบวาบ

อาการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจตามมาด้วยอาการหนาวเย็น บางคนก็ใจสั่น หงุดหงิด ร่วมด้วย อาการจะเป็นมากในหน้าร้อนช่วงอากาศชื้น อยู่ในสถานที่คับแคบ ดื่มชา กาแฟสุรา หรือรับประทานอาหารที่รสจัด

แพทย์จะให้ยาฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจน ซึ่งอาจใช้ร่วมกับฮอร์โมนประเภทโปรเจสเตอโรน หรืออาจให้ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ก็จะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้ และควรสวมเสื้อผ้าเบาบางที่ไม่เก็บความร้อน การดื่มน้ำเย็นๆ อาจช่วยลดความรู้สึกร้อนลงได้บ้าง

อาการต่าง ๆ ของอวัยวะสืบพันธุ์ และอาการทางระบบปัสสาวะ

การรักษาที่ดีที่สุดคือให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีทั้งชนิดเม็ดรับประทาน แผ่นปิดผิวหนัง และชนิดครีมทาช่องคลอด อาจใช้สารหล่อลื่น ทางช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้

โรคกระดูกพรุน

โรคนี้ทำให้กระดูกหักได้ง่าย ถึงแม้จะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง โดยเฉพาะ กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และ กระดูกข้อมือ ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนคือ ภาวะไม่มีระดูจากขาดเอสโตรเจน รับประทานแคลเซียมน้อย สูบบุหรี่ วิถีชีวิตที่ไม่ค่อยมีการออกแรง รูปร่างผอม มีประวัติในครอบครัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ไม่ได้ออกกำลังกาย

ซึ่งป้องกันได้โดย การออกกำลังกาย รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับการเสริมแคลเซียม และ วิตามินดี

ในกรณีไม่ใช้เอสโตรเจนเพราะมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นก็ควรติดตามภาวะกระดูกพรุน โดยการวัดความหนาแน่นของกระดูก และ อาจต้องใช้ฮอร์โมนแคลซิโตนิน หรือ ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต ซึ่งช่วยสร้างกระดูกเพิ่มขึ้นได้ แต่ยาเหล่านี้จะต้องใช้เป็นเวลานาน และ มีราคาค่อนข้างสูง

โรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุสูงสุดของการตายของผู้หญิงเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี เชื่อว่า การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะช่วยลดความเสี่ยงของผู้หญิงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้


ความเสี่ยง ของการใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน

สำหรับ มะเร็งเต้านม ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาว่า เอสโตรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ การให้เอสโตรเจนอย่างเดียว จะทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากขึ้น แต่ถ้าให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรน ความเสี่ยงนี้จะลดลง

ก่อนที่จะได้รับยากลุ่มนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเต้านม ตรวจภายใน โดยสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจหาก้อนผิดปกติ หรือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ ก่อนรับฮอร์โมนทดแทนทุกครั้ง โดยทั่วไปมักต้องตรวจร่างกายทุก 1-2 ปี



Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2551 15:38:09 น.
Counter : 2129 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด