ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่





ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่

การตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นขั้นตอนการตรวจสอบว่า ปัจจุบันสุขภาพของเรายังดีอยู่หรือไม่ มีโรคแอบแฝงที่ต้องรีบรักษาหรือไม่ ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องทำ

แต่ปัจจุบันการตรวจสุขภาพมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาโรคเป็นสำคัญ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ ฯลฯ แล้วนำมาใช้ตัดสินว่าสุขภาพดีหรือไม่ดี โดยดูแต่ค่าตัวเลขหรือผลการตรวจเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดในการแปลผลได้มาก


การตรวจสุขภาพที่ดีนั้น จะต้องเป็นการตรวจที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพที่แท้จริงของผู้รับการตรวจ ไม่ใช่มุ่งแต่หาโรค

การตรวจที่ดีจะต้องมีการชี้แนะให้มีการส่งเสริมสุขภาพ ต้องไม่สร้างความทุกข์ใจ และต้องไม่ทำให้ ผู้รับการตรวจมีความประมาทเมื่อตรวจไม่พบโรค


การตรวจสุขภาพตามหลักสากลจะประกอบด้วยหลัก 4 ประการคือ

1. การคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

การคัดกรอง แต่เดิมนั้นเชื่อว่าทำเพื่อค้นหาโรค แต่ความจริงแล้วการคัดกรองที่ดี คือ การค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นก่อนที่จะทำให้เกิดโรค

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค มีหลายอย่าง เช่น การทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารที่มีไขมันสูง ก็ทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง เกิดปัญหาโรคหัวใจ, การดื่มเหล้า เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคตับ ตับอ่อนอักเสบ โรคพิษสุราเรื้องรัง รวมถึงเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ, การไม่ออกกำลังกาย ทำให้อ้วนเกิดปัญหา โรคเบาหวาน ไขมันสูง ปวดข้อ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่สามารถค้นหาได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพึ่งการซักประวัติมากถึง 80% ส่วนที่เหลือคือการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติเฉพาะที่จำเป็นตามปัจจัยเสี่ยงที่ได้จากประวัติ ซึ่งในบางครั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจไม่มีความจำเป็นเลยก็ได้

การคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเงิน และคุ้มค่า ซึ่งมีขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่การซักประวัติทั่วไป เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ การทำงาน อาชีพ การซักประวัติโรคประจำตัว โรคของคนในครอบครัว การรับประทานอาหาร การใช้สารเสพติด การออกกำลังกาย เมื่อได้ข้อมูลแพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจเน้นพิเศษในบางเรื่องที่มีปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย

หลังจากทำการตรวจเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการประเมินผลการตรวจสุขภาพ โดยประเมินปัจจัยเสี่ยงที่พบ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อกำจัดปัจจัยเสี่ยง เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต

2. การให้คำแนะนำ

โดยส่วนใหญ่พบว่ามักจะเป็นการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น แนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย แนะนำให้งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้เข็มขัดนิรภัยหรือใส่หมวกกันน๊อค เป็นต้น

คำแนะนำอื่นๆ เช่น แนะนำวิธีตรวจคลำหาก้อนที่เต้านมทุกสัปดาห์ การสอนให้สังเกตอาการเจ็บหน้าอก ในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

การให้คำแนะนำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับการตรวจสุขภาพควรได้รับทุกครั้งที่มารับการตรวจสุขภาพ


3. การให้วัคซีนที่จำเป็น

การให้วัคซีนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ การให้วัคซีนที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรค และช่วยให้สุขภาพแข็งแรง

การให้วัคซีนส่วนใหญ่จะให้ในวัยเด็ก

ส่วนในผู้ใหญ่นั้น มีวัคซีนที่แนะนำว่าควรได้รับคือ

1.วัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ ควรได้รับการฉีด เริ่มต้น 3 เข็ม และ รับการกระตุ้น 1 เข็ม ทุก 10 ปี

2.วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ (ให้ก่อนตั้งครรภ์)

3.วัคซีนอื่นๆ ควรได้รับตามความเสี่ยง เช่น

-วัคซีนตับอักเสบ บี ควรได้รับในผู้ที่มีคู่สมรสเป็นพาหะตับอักเสบ บี และได้รับการตรวจแล้วว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน

-วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ควรให้กับผู้ที่จะไปยังแหล่งที่มีโรคระบาด เช่น ไปแสวงบุญเมกกะ

-วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรได้รับในผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในเขตที่มีการระบาดของโรครุนแรง


4. การให้สารเคมีหรือยาเพื่อป้องกัน

อาจให้ในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น การให้ฟลูโอไรด์ในเด็ก การให้โฟลิกในผู้ที่มีโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย การให้ฮอร์โมนในกลุ่มหญิงวัยทอง การให้แคลเซียมในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้สูงอายุ เป็นต้น

สรุปแล้วการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังมีความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะจะช่วยตรวจสอบค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ช่วยให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค การให้วัคซีน ยาหรือสารเคมีบางชนิดเพื่อป้องกันหรือรักษาโรค

การตรวจสุขภาพที่มีประโยชน์คุ้มค่า จะต้องเป็นการตรวจที่มีจุดประสงค์ เพื่อป้องกันโรค มากกว่ามุ่งการรักษา เลือกเฉพาะการตรวจเฉพาะที่มีประโยชน์ เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่การตรวจแบบเหวี่ยงแห เหมือนในอดีตอีกต่อไป


การตรวจคัดกรองที่แนะนำสำหรับคนทั่วไป แยกตามอายุได้ดังนี้

อายุ 18 - 34 ปี :

1. วัดความดันโลหิต

2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก

3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก (หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว)


อายุ 35 – 59 ปี :

1. วัดความดันโลหิต

2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก

3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก

4. ตรวจไขมันในเลือด (ชายอายุ 35 ปี หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป)

5. ตรวจน้ำตาลในเลือด (อายุ 40 ปีขึ้นไป)

6. ตรวจมะเร็งเต้านม โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม


อายุมากกว่า 60 ปี :

1. วัดความดันโลหิต

2. วัดส่วนสูง-น้ำหนัก

3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก

4. ตรวจไขมันในเลือด

5. ตรวจน้ำตาลในเลือด

6. ตรวจมะเร็งเต้านม โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม

7. ตรวจการได้ยินโดยการซักประวัติ

8. ตรวจการมองเห็นโดยใช้ Snellen test

9. ตรวจมะเร็งลำไส้โดย ตรวจเลือดในอุจจาระ

*****************************







แวะไปอ่านต่อ อาจยาวหน่อย แต่ มีประโยชน์มาก .. คุ้มค่า ..

ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-06-2008&group=4&gblog=45

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=52

ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝากไม่ได้เขียนเอง ..

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-06-2010&group=4&gblog=83

ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไร แปลผลอย่างไร ... bydrcarebear (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-12-2011&group=4&gblog=93

ตรวจสุขภาพประจำปี ที่แท้จริงหมายถึงอะไรตรวจไปเพื่ออะไร

https://www.hitap.net/167211

ตรวจคัดกรองต่างจากตรวจวินิจฉัยอย่างไร

https://www.hitap.net/167233

ตอนที่ 1ตรวจร่ายกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้หญิง

https://www.hitap.net/167411

ตอนที่ 2ตรวจร่างกายเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้ชาย

https://www.hitap.net/167420

ตรวจอะไรได้ไม่คุ้มเสีย

https://www.hitap.net/167523

ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการคัดกรองทางสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับประชาชนไทย

https://www.hitap.net/research/17560

การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย

https://www.hitap.net/research/17573

เว็บไซต์ตรวจสุขภาพด้วยตนเองอย่างง่าย

https://www.mycheckup.in.th/

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ

https://www.hitap.net/news/24143

หนังสือเช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย

https://www.hitap.net/documents/18970

https://www.hitap.net/research/17573





Create Date : 09 มิถุนายน 2551
Last Update : 12 กันยายน 2561 13:48:09 น.
Counter : 16899 Pageviews.

6 comments
  
//www.doctor.or.th/node/6724

การตรวจร่างกายประจำปี จำเป็นจริงๆ หรือ?
ข้อมูลสื่อ
File Name :60-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :60
เดือน-ปี :04/2527
คอลัมน์ :โลกกว้างและการแพทย์
นักเขียนหมอชาวบ้าน :พ.ต.นพ.สุพจน์ ขวัญมิตร



การตรวจร่างกายประจำปีโดยละเอียดนั้น ปัจจุบันนี้มีผู้แย้งว่าไม่จำเป็นเสียแล้ว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองหลายอย่าง แต่ก็ยังมีผู้ชอบทำเพราะอ้างว่าจะได้ค้นพบโรคร้ายเสียแต่เนิ่นๆ เช่น มะเร็ง ถ้าพบแรกๆ แล้วมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า แม้แต่ทางราชการไทยของเราทุกกรมกองยังคงมีการ “เช็ค” ร่างกายประจำปีเช่นเดียวกัน แต่เป็นการกระทำกับคนจำนวนมากในเวลาจำกัดและไม่มีการตรวจอะไรมาก นอกจากฟังหัวใจ วัดความดันและชั่งน้ำหนัก ซึ่งดูเป็นการลวกๆ เกินไป ครั้นจะไม่ตรวจเสียเลยก็ผิดระเบียบ ดังนั้นในต่างประเทศจึงมีผู้ดำเนินสายกลางคือตรวจละเอียดเฉพาะรายที่เสี่ยงมากๆ เช่นมีประวัติในครอบครัวว่ามีพี่น้องหลายคนเป็นมะเร็งหรือโรคอื่นๆ เช่น ความดันสูงเบาหวาน

แพทย์อเมริกากันหลายคนมีความเห็นว่าการตรวจอย่างละเอียดตั้งแต่หัวจรดเท่านั้นเป็นการสิ้นเปลืองและแพงมาก จะต้องใช้เงิน 1 หมื่นกว่าบาทต่อหัว

เขาจึงแนะนำว่า เราไม่จำเป็นจะต้องตรวจละเอียดทุกคน เราเลือกเอาแต่การตรวจหรือทดสอบที่มีความสำคัญเฉพาะเราเท่านั้น เช่น

1. การฉีดกระตุ้นป้องกันบาดทะยัก และในคนสูงอายุ (ในอเมริกา) เขามีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ การป้องกันบาดทะยักนั้นโดยปกติเริ่มทำตั้งแต่อายุ 3 เดือน

2. การตรวจวัดความดัน

เป็นการตรวจที่เปลืองน้อยที่สุดแต่ในคุณค่าทางสุขภาพมาก เพราะโรคความดันโลหิตสูงนั้นถ้าพบเสียแต่เนิ่นๆ อาจรักษาและป้องกันมิให้มีโรคแทรก (เส้นเลือดแตก) ได้ และในระยะแรกๆ นั้น ภาวะนี้อาจควบคุมได้โดยการระวังอาหาร ออกกำลังกาย และยา

สำหรับผู้ที่สบายดีเป็นปกติทุกอย่าง แพทย์อเมริกาเขาแนะนำว่าควรวัดความดัน 5 ปีครั้งหนึ่งก็ได้ จนถึงอายุ 40 ต่อจากนั้นควรวัด 1-3 ปีต่อครั้ง แล้วแต่ประวัติครอบครัวหรือตัวเลขความดันครั้งสุดท้าย

3. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ

เป็นการตรวจหาเลือดในอุจจาระที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้การทดสอบทางเคมี เรียกว่า ทดสอบไควแอค (Quaiac Test) เพราะเป็นการตรวจค้นมะเร็งลำไส้ได้เสียแต่เนิ่นๆ มีคำแนะนำว่าควรทำเมื่ออายุ 40 ปีไปแล้ว และต่อจากนั้น ควรทำทุกๆ 2 ปี แต่สมาคมมะเร็งของอเมริกาบอกว่าควรตรวจปีละครั้งเมื่ออายุ ได้ 50 ปี เพราะโรคมะเร็งมักจะไม่ค่อยเป็นก่อนอายุ 50 ปี

4. การทดสอบแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear)

คือการป้ายเอาเซลล์จากปากมดาลูกมาย้อมสีดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการค้นหามะเร็งปากมดลูกเสียแต่เนิ่นๆ ตอนแรกๆ แพทย์แนะนำปีละครั้งในหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ต่อมาสมาคมมะเร็งแห่งอเมริกาแนะนำว่าในหญิงอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป ควรทำทุก 3 ปี ถ้าทำมาแล้ว 2 ครั้งห่างกัน 1 ปี และให้ผลลบ แต่ถ้าหญิงนั้นมีการปฏิบัติการทางเพศจะตรวจก่อน 1 ปีก็ได้

แป๊ปสเมียร์ยังคงเป็นการทดสอบที่ปลอดภัยที่สุด ประหยัดที่สุด และง่ายที่สุด ที่จะป้องกันการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกซึ่งพล่าชีวิตหญิงอเมริกันเสียปีละ 1 หมื่นคนได้

5. การตรวจด้วยการฉายเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมกราฟี (Mammography)

เรื่องนี้ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ การฉายเอกซเรย์มีประโยชน์ในการค้นหามะเร็งเต้านมได้มากกว่าการตรวจคลำโดยมือของแพทย์ แต่ก็มีอันตรายจากรังสีเอกซ์ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำเป็นประจำในหญิงที่อายุต่ำกว่า 50 ปี นอกจากจะมีการเสี่ยงสูง (คือมีประวัติมะเร็งในครอบครัว)

ปัจจุบันนี้ตกกันว่า อายุระหว่าง 35-40 ควรทำอย่างน้อย 1 ครั้งหรือ 2 ปีครั้ง ในระหว่างอายุ 40-50 (ตามที่แพทย์ประจำตัวจะเห็นสมควร) เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปแล้วควรทำปีละครั้ง สำหรับในอเมริกานั้นมีหญิงถึงแก่กรรมด้วยมะเร็งเต้านมปีละ 37,000 คน

การตรวจโดยการคลำเต้านมของตัวเองเดือนละครั้ง ควบกับการตรวจร่างกายทั่วไปและแมมโมกราฟี จะป้องกันได้มาก

6. การตรวจความดันภายในลูกตา (Tonometry)

เป็นวิธีการป้องการโรคต้อหิน (Glaucoma) เสียแต่เนิ่นๆ โรคนี้ทำให้คนอเมริกันตาบอดปีละ 4,500 คน เรามีประวัติโรคต้อหินในครอบครัวควรทำปีละครั้ง และเมื่ออายุครบ 40 ปีไปแล้ว ควรทำทุก 2-3 ปี

7. การตรวจตาและหู

เพื่อดูว่าการมองเห็นและการได้ยินยังดีอยู่หรือเปล่า ควรทำทุก 5 ปี เมื่ออายุ 60 ปีไปแล้ว

8. การตรวจนับเม็ดเลือดและปัสสาวะ

การนับเม็ดเลือดแดงจะได้รู้ว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ การกรวดน้ำปัสสาวะจะบอกสภาพของไต การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ และโรคเบาหวาน ถ้ามีประวัติเบาหวานในครอบครัว ควรตรวจหาน้ำตาลปีละครั้ง นอกจากนั้นควรทำทุก 3 ถึง 5 ปี




พอจะสรุปได้ว่า การตรวจร่างกายอย่างละเอียดทุกอย่างทุกปีนั้นควรเลิกได้แล้ว เอาแต่เพียงเลือกตรวจบางอย่างทุก 2-3 ปี หลังจากอายุ 40 ไปแล้ว จะมีเหตุผลมากกว่า



ในประการสุดท้าย การรักษาสุขภาพให้ดีเป็นหน้าที่ของท่านเองที่จะทำได้ง่ายๆ เช่น

1. ป้องกันอุบัติเหตุ (เช่น นั่งรถยนต์ทางไกลควรรัดเข็มขัดนิรภัย ข้ามถนนบนทางม้าลายหรือสะพานลอย หรือข้ามด้วยความไม่ประมาท ฯลฯ)
2. หลีกเลี่ยงบุหรี่ได้เป็นดี
3. กินเพื่ออยู่ให้เหมาะสมกับอายุและการใช้พลังงาน
4. ออกกำลังกายกลางแจ้งสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่มีผลตอบแทนมากที่สุด



โดย: หมอหมู วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:15:33:00 น.
  


//www.doctor.or.th/node/2391

ตรวจสุขภาพถึงเวลาต้องคิดกันใหม่ ไม่เจ็บตัว ไม่เสียใจ โดยไม่จำเป็น

ข้อมูลสื่อ
File Name :249-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :249
เดือน-ปี :01/2543
คอลัมน์ :เรื่องเด่นจากปก


ตรวจสุขภาพถึงเวลาต้องคิดกันใหม่ ไม่เจ็บตัว ไม่เสียใจ โดยไม่จำเป็น

เมื่อพูดถึงการตรวจสุขภาพเราๆ ท่านๆ มักคิดว่าไปเพื่อตรวจดูว่าเราเป็นโรคอะไรหรือเปล่า หรือไม่ก็ดูตามโฆษณาที่เขาแนะให้ตรวจสุขภาพตามรายการว่า หาโรคอะไรได้บ้าง พอตรวจไปตรวจมาจากที่เคยมีสุขภาพจิตดี ก็เลยกลายเป็นสุขภาพจิตเสีย เพราะพบว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ไม่เป็นอันกินอันนอน

จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ มีนักศึกษาสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ได้ ซึ่งทางทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ มีการตรวจเอกซเรย์ทรวงอกใน การตรวจสุขภาพก่อน จึงจะเข้าศึกษาได้ แต่ผลการตรวจเอกซเรย์ร่างกาย พบว่า มีจุดในปอดต้องได้ใบรับรองแพทย์ มายืนยันกับทบวงมหาวิทยาลัยว่าไม่ได้ป่วยเป็นโรคจึงจะสามารถเข้าศึกษาได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะได้รับการส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม เพื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจยืนยันว่าไม่ไช่โรคมะเร็ง แต่ผลการส่องกล้องก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่ใช่โรคมะเร็ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัด เพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ซึ่งผลการตรวจวินิจฉัยครั้งสุดท้าย พบว่า เป็นก้อนเนื้อหลอดเลือด ซึ่งไม่ใช่เนื้อร้าย แสดงให้เห็นว่าผลการตรวจวินิจฉัยดังกล่าวได้ผลซึ่งเป็น "ผลบวกลวง" (ไม่เป็น แต่เครื่องมือตรวจพบว่าเป็น) ส่งผลให้ผู้รับบริการต้องเจ็บตัว เสียคุณภาพชีวิต และที่สำคัญเสียโอกาสทางการศึกษา

ปัจจุบันมีการกำหนดไว้ว่า จะต้องมีการตรวจสุขภาพก่อนเข้าปฏิบัติงาน แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องตรวจอะไรบ้าง แต่จะเลือกมาตรการอะไรในการตรวจสุขภาพ จะต้องพิจารณาถึงประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของความแม่นยำ การทำให้เกิดการลดการเจ็บป่วย การทำให้มีชีวิตยืนยาว และการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต

ดังนั้นการเลือกมาตรการในการตรวจสุขภาพจึงต้องคำนึงถึงประสิทธิผลตามที่กำหนดไว้ มาตรการใดที่ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าทำให้เกิดประสิทธิผลดังกล่าว จึงไม่แนะนำให้ทำ "การตรวจสุขภาพ" มาจากพื้นฐานอะไร ใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการตรวจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือแพทย์หรือเจาะเลือดส่งห้องปฏิบัติการ รวมถึงการเอกซเรย์ปอด หัวใจ ซึ่งมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายกันโดยทั่วไปๆ หรือไม่

"หมอชาวบ้าน" ฉบับนี้จึงขอพาท่านมาพูดคุยกับ พ.ท.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในการทำวิจัยเพื่อเสนอแนวทางในการตรวจสุขภาพ


คุณไปตรวจสุขภาพหรือตรวจโรค

ปัญหาสำคัญในปัจจุบัน คือ ประชาชนขาดความเข้าใจระหว่างการตรวจสุขภาพกับการตรวจโรค เพราะที่เป็นอยู่ เรามักตรวจหาโรค (disease) ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ (health) แม้แต่หมอเองก็ขาดข้อมูล เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาไว้ในประเทศไทย

ดังนั้นมาตรการที่กำหนดก็จะกำหนดมาจากการปฏิบัติที่ทำสืบๆ ต่อกันมา และมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก และแพทย์ส่วนใหญ่ก็มีความเห็นและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การกำหนดมาตรการตรวจสุขภาพที่ผ่านๆ มา มักอาศัยความรู้ในการวินิจฉัยโรคในสาขาที่แพทย์แต่ละคนถนัดเป็นพื้นฐาน โดยขาดการศึกษาทบทวนถึงคุณค่าและประสิทธิผลอย่างเป็นระบบ เป็นผลให้บางโปรแกรมที่จัดทำขึ้นขาดการตรวจที่มีคุณค่า และในบางโปรแกรมเป็นการตรวจที่มีคุณค่าน้อย หรือมีผลเสียรวมอยู่ด้วย

ดังนั้นในการตรวจสุขภาพจึงมักเป็นการตรวจหาโรค ซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การตรวจหาโรค คือ การตรวจสุขภาพ เพราะฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนทั่วไปและหมอ ให้เข้าใจว่าการตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจหาโรค ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

"สุขภาพ" คือ ภาวะอันเป็นสุข ดังนั้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นการตรวจหาภาวะอันเป็นสุข และตรวจหาอะไรก็แล้วแต่ที่จะมีผลทำให้ภาวะอันเป็นสุขนั้นเสียไป ซึ่งสิ่งสำคัญที่ สุดในการตรวจสุขภาพ คือ การตรวจพฤติกรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีผลกระ-ทบโดยตรงต่อสุขภาวะ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความเสี่ยง ลดความเจ็บ ป่วย และเพิ่มคุณภาพชีวิต ป้องกันไม่ให้เป็นโรค หรือถ้าเป็นแล้วยังไม่มีอาการก็ต้องอย่าปล่อยให้มีอาการ หรือถ้ามีอาการแล้วพยายามหาให้เจอโดยเร็วที่สุด การตรวจหาความเจ็บ ป่วยหรือโรคจึงเป็นเรื่องสุดท้ายในการตรวจสุขภาพ



หัวใจหลักของการตรวจสุขภาพ

เมื่อพูดถึงการตรวจสุขภาพ ประชาชนมักนึกถึงการเจาะเลือด ตรวจไขมัน ตรวจน้ำตาลในเลือด เอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นหัวใจ และอื่นๆ

อันที่จริงหัวใจ หลักของการตรวจสุขภาพ คือ การตรวจปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันก่อนการเกิดโรค ปัจจัยเสี่ยงอาจเป็นพฤติกรรม ซึ่งส่วนใหญ่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้ โดยการพูดคุยระหว่างผู้มารับบริการกับแพทย์ผู้ให้บริการ เพื่อจะได้ทราบถึงประวัติและพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อหาความผิดปกติหรือความเสี่ยง การพูดคุยทำให้ทราบประ-วัติของผู้มารับการตรวจ เพื่อหามาตรการในการปรับปัจจัยเสี่ยง เช่น มีญาติสายตรงที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์เป็นโรคหัวใจ มะเร็งบางชนิด แพทย์ก็สามารถให้คำแนะนำในการประพฤติตัวตั้งแต่ ยังไม่เป็นโรค หรือหากผู้มารับบริการ มีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง กินของสุกๆ ดิบๆ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย แพทย์ก็มีวิธีการ ให้คำแนะนำปรึกษาให้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคต่างๆ เพื่อให้มีสุขภาพดี มีชีวิตยืนยาว ลดการเป็นโรค และสร้างเสริมคุณภาพชีวิต นี่คือหัวใจหลักของการตรวจสุขภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่การตรวจหาโรค


การตรวจหาโรคโดยไม่จำเป็นมีผลเสียมากกว่าผลดี

การตรวจหาโรคมีผลเสียเพราะถ้าการตรวจไม่พบโรคจะส่งผลให้พฤติกรรมประจำวันของผู้ถูกตรวจเหมือนเดิม เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค แทนที่จะลดความเสี่ยง อย่างเช่น คนสูบบุหรี่ ถ้าไปตรวจปอดและพบว่าไม่เป็นอะไรก็สูบบุหรี่ต่อไป ทำให้เกิดความประมาท แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ การหยุดสูบบุหรี่

ถ้าจะตรวจหาโรคก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าควรตรวจหรือไม่ ต้องเข้าใจด้วยว่า เครื่องมือ การตรวจโรคไม่ใช่เครื่องมือที่มีความแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นอาจได้ผลการตรวจลวง ผลตรวจที่ไม่ตรงความเป็นจริง ทำให้เจ็บตัว เสียคุณภาพชีวิต อย่างที่เกิดขึ้นกับผู้รับการตรวจบางกรณี อย่างการเอกซเรย์ทรวงอก เป็นการตรวจที่ไม่มีความไวและความจำเพาะเพียงพอในการตรวจหาโรค ทั้งโรคมะเร็งปอดและวัณโรค ทำให้มีผลบวกลวงได้มาก จำเป็นต้องมีการทดสอบตามหลัก การแพทย์ต่อไปดังเช่นกรณีที่เป็นข่าว


ในปัจจุบันทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ จึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอกเป็นประจำ* ยังมีปัญหาอื่นตามมาอีก การตรวจยืนยันบางอย่างต้องสอดเครื่องมือเข้าไปในร่างกายหรือมีการผ่าตัด เช่น การตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ตับอ่อน ซึ่งก่อให้เกิดผลบวกลวงถึงกว่าร้อยละ ๙๐ แต่ต้องมีการตรวจยืนยันว่าไม่ได้เป็นโรคด้วยการผ่าตัดเข้าไปดู เพราะการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ก้อนมะเร็งต้องมีขนาดใหญ่กว่า ๑ เซนติเมตร จึงจะมองเห็น มิฉะนั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่เป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ดังนั้นการลงทุนอะไรต้องให้คุ้มค่าและคุ้มกับคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการด้วย


ตรวจสุขภาพ ต้องก่อให้เกิดอรรถประโยชน์

การตรวจสุขภาพ ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตตนเองเป็นสำคัญ เช่น ผลการตรวจสุขภาพแล้ว พบว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่รักษาไม่ได้ หรือรักษาได้แต่สมรรถภาพทางเพศเสื่อม คุณภาพชีวิตหลังการตรวจย่อมแย่ลง และไม่มีหลักฐานใดที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่าทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะฉะนั้นต้องมีการศึกษามายืนยันว่า การตรวจสุขภาพแล้วพบโรคร้ายตั้งแต่ต้น ทำให้ชีวิตยืนยาวได้จริงอย่างมีคุณภาพตามที่ต้องการ เพราะบางครั้งผลการตรวจสุขภาพอาจประสบปัญหาตัวเลขหลอก เช่น ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มีชีวิตอยู่ได้อีก ๕ ปี มีเพียงร้อยละ ๑๐ แต่ต้องพิจารณาว่าจากระยะที่ ๑ ไปสู่ระยะที่ ๔ ใช้เวลานานเท่าใด ซึ่งอาจจะใช้เวลานานถึง ๒๐ ปี แต่เมื่อทราบว่าเป็นนมะเร็งอาจจะเสียชีวิตเร็วขึ้น เนื่องจากสุขภาพจิตเสีย

การตรวจสุขภาพต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่จะตามมาภายหลังการตรวจ เพราะชีวิตและสุขภาพไม่สามารถประเมินค่าเป็นเงินได้ แต่ก่อนการเสียเงินเพื่อการตรวจสุขภาพ ต้องพิจารณาถึงอรรถประโยชน์ (Utility) โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตหลังการตรวจ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณกำลังหิวข้าวมาก แล้วมีคนเอาอาหารมาให้คุณกิน คุณคงไม่สนใจว่าอาหารที่ได้มาราคาเท่าใด สมมติว่า ราคาจานละ ๒๕ บาท คุณได้กินอาหารบรรเทาอาการหิวได้ เกิดความพึงพอใจ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สมมติว่าคิดคุณภาพ ชีวิตเป็น ๑๐๐ หน่วย ถ้าให้คุณกินอาหารจานที่ ๒ ราคาก็เท่าเดิม แต่ความพึงพอใจ และคุณภาพชีวิตถ้าคิดเป็นหน่วยคงไม่เท่าเดิม ไม่เป็น ๑๐๐ หน่วย เหมือนครั้งแรกใช่ไหม ถ้าให้คุณกินจานที่ ๓ จานที่ ๔ จานที่ ๕ ถึงแม้อาหารราคาเท่าเดิม คุณอาจรู้สึกโดนบังคับให้กินแล้วก็ได้ คุณภาพชีวิตอาจติดลบก็ได้ หรือสุขภาพอาจจะแย่ลงจากเดิมเกินไปแล้ว ถึงแม้ราคาอาหารเท่าจานแรก ที่ยกตัวอย่างนี้ต้องการให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ตีค่าเพียงแค่เงิน คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่างหากที่สำคัญ แนวทางการตรวจสุขภาพจึงไม่ได้ผูกกับเรื่องเสียเงินมาก เสียเงินน้อย นั่นไม่ใช่เป้าหมาย ต้องคำนึงถึงว่าบรรลุวัตถุประสงค์อย่างน้อย ๓ อย่างหรือไม่

๑. ชีวิตยืนยาวขึ้น

๒. ลดความเจ็บป่วย

๓. คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ถ้าเราตรวจสุขภาพแล้วต้องนั่งทุกข์ทรมาน ไม่มีจิตใจประกอบอาชีพ ไม่เจอจะดีกว่าไหม ถ้าโรคที่เจอแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น ลดความเจ็บป่วยได้ หรือคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น


จุดประสงค์ของการทำแนวทาง (Guide line) การตรวจสุขภาพ
จุดประสงค์ของการทำแนวทางการตรวจสุขภาพนั้น เป็นแนวทางหรือคล้ายแผนที่นำร่องของคนไทยเอง ไม่ได้ตามแบบต่างประเทศ และไม่ใช่กฎระเบียบ ข้อบังคับ เป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือกให้คนไทยทุกคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพ และที่ตรวจแล้วจะได้นำข้อมูลแนวทางเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพไปใช้ให้เหมาะสมในแต่ละคน ทำไมแนวทางการตรวจสุขภาพที่เสนอ จึงมีความแตกต่างกับความเชื่อหรือถือปฏิบัติอยู่ คณะทำงาน พบว่า การตรวจบางอย่างไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นผลดีต่อผู้รับบริการ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เสียทั้งคุณภาพชีวิต เพราะตามปกติ โรคมีอยู่ ๓ ประเภท

๑. โรคที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย

๒. โรคที่รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย

๓. โรคที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็ตาย

โรคประเภทที่ ๑ และ ๒ นั้น มีประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ สำหรับโรคประเภทที่ ๓ มีประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจรักษาโรคด้วยวิธีการต่างๆ ผู้ใช้บริการต้องหาข้อมูล และเข้าใจในเรื่องโรค ไม่ใช่คิดเพียงแต่ค่าบริการ แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของตนเองเป็นสำคัญ อย่างเช่น ผลการตรวจสุขภาพแล้วพบว่าเป็นมะเร็งบางชนิดที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกแล้ว จะทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น ลดการเจ็บป่วยแทรกซ้อน หรือทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก และอีกหลายมะเร็ง มีงานศึกษาหลายชิ้นระบุว่า ตรวจสุขภาพแล้วเจอมะเร็ง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้รับบริการเลวลง เพราะเป็นโรคร้ายแรงที่ยังไม่มีวิธีการรักษา ที่ดีขึ้น การรักษาไม่ทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น

การให้คำแนะนำบริการของแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงโรคร้ายเหล่านี้ เช่น งดสูบบุหรี่ เพื่อเลี่ยงมะเร็งปอด, มะเร็งปัสสาวะ งดดื่มสุราเพื่อเลี่ยงมะเร็งตับ, ไม่กินปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ก็เลี่ยงมะเร็งท่อน้ำดีตับ ซึ่งคำแนะนำปรึกษาที่ได้รับจากแพทย์มีความสำคัญมากที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าการคอยตรวจว่าเป็นโรคร้ายแรงที่แก้ไขไม่ได้

โรคมะเร็งบางอย่าง เมื่อตรวจพบในระยะแรกสามารถรักษาได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก เป็นมาตรการที่ "ควรทำ" กับหญิงทุกวัยที่เคยมีเพศสัมพันธ์ จะเห็นว่าคำแนะนำจะเน้นความแม่นยำและคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ตรวจเพื่อเพียงหาโรคอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต

ปัจจุบันจะพบว่าประชาชนทั่วไปตรวจน้ำตาลในเลือดโดยไม่มีข้อบ่งชี้อะไรเลย ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อย่างใด นอกจากนั้นเมื่อตรวจไม่พบว่าน้ำตาลในเลือดสูง เป็นผลให้ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม หรืออาจส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น อันที่จริงการซักประวัติหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เช่น อ้วน ประวัติครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง เมื่อมีปัจจัยเสี่ยง ก็ให้คำแนะนำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความสำคัญมากกว่า และให้กินอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกาย ถ้ามีหลักฐานเชื่อถือได้โดยเฉพาะอายุเกิน ๔๕ ปี จึงตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แต่ก็ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ทุก ๓ ปีหรือ ๓ ปีครั้ง

ในการตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โรคนี้สามารถตรวจคัดกรองได้โดยการซักประวัติ การเคยได้รับวัคซีน การเคยเป็นโรค และหากมีประวัติ ควรตรวจหาหลักฐานของการติดเชื้อ หากไม่พบก็ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ข้างต้นเป็นการให้คำอธิบายย่อ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องการตรวจสุขภาพ

การที่เราคิดจะทำอะไรสักอย่างเพื่อชีวิตและสุขภาพของเรา เราก็ต้องคำนึงถึงเป้าหมายหลักว่า เราต้องการอะไร พยายามศึกษาค้นคว้าให้ทราบโดยถ่องแท้ว่า การกระทำดังกล่าวจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องนำ มาพิจารณาโดยแยบคาย อย่าเพิ่งด่วนปลงใจเชื่อหรือไม่เชื่อในทันที ทั้งนี้ต้องใช้วิจารณญาณตามหลัก ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางไว้ในกาลามสูตร คือ อย่าปลงใจเชื่อโดยการฟัง(เรียน)ตามกันมา, โดยการถือสืบๆกันมา, โดยการเล่าลือ, โดยการอ้างตำรา, โดยตรรก, โดยการอนุมาน, โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, โดยเพราะเข้าได้กับทฤษฎีของตน, โดยเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ หรือโดยเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา แต่ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ โดยมีแพทย์ชี้แนะแนวทาง คือ เป็นกัลยาณมิตร เมื่อเห็นว่าสิ่งที่จะกระทำลงไปจะมีประโยชน์จริง ก็นำไปปฏิบัติด้วยความวิริยะอุตสาหะ มีจิตใจจดจ่อกระทำอย่างต่อเนื่อง ละสิ่งที่เป็นความสนุกชั่วครู่ชั่วยามในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในระยะยาวสืบไป


โดย: หมอหมู วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:15:38:21 น.
  

//www.doctor.or.th/node/4045

การตรวจสุขภาพประจำปี

ข้อมูลสื่อ
File Name :332-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :332
เดือน-ปี :12/2549
คอลัมน์ :มาเป็นหมอกันเถิด
นักเขียนหมอชาวบ้าน :ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์


การตรวจสุขภาพประจำปี


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 44

คุณ "วันชัย ตัน " เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ประจำวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ในหัวเรื่องว่า "ถึงเวลาไปตรวจสุขภาพประจำปี?" ดังที่ได้คัดย่อมาดังนี้

อันที่จริง การตรวจสุขภาพ ไม่ควรจะเป็นการตรวจประจำปี เพราะเราเจ็บ/ป่วยได้ทุกวัน เราจึงต้องรักและห่วงใยสุขภาพทุกวัน ไม่มีใครตรวจสุขภาพของเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง เพราะไม่มีใครจะรู้ดีกว่าเราว่า เราไปทำอะไร กินอะไร หรือมีพฤติกรรมอะไร บ้างที่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพได้ดีไปกว่าเรา เช่น

เราไปขับรถเร็ว จนเกือบชนท้ายรถสิบล้อที่อืดเป็น เรือเกลืออยู่ข้างหน้า ทำให้เราตกใจจนใจสั่นไปหมดเพราะ ถ้าชนเข้าแล้ว คงไม่แคล้วตายหรือพิการ เสียสุขภาพไปอย่างถาวร ถ้าเราได้ตระหนักทันทีตั้งแต่นาทีนั้นว่า นี่เป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อสุขภาพ นั่นก็คือ การตรวจสุขภาพที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราหยุดหรือเลิกการกระทำที่เสี่ยงต่อสุขภาพ ที่จะทำให้เราตายหรือพิการถาวรได้

เรามีเรื่องกับเพื่อน โกรธเพื่อนจนปากคอสั่น มือสั่น หอบเหนื่อย และหน้ามืดเป็นลม เพราะเถียงสู้เพื่อนไม่ได้ แล้วเราก็วูบล้มลง ศีรษะและลำตัวฟกช้ำเล็กน้อยจากการฟุบล้มลง เมื่อเราตื่นเต็มที่และมีสติกลับมาใหม่ ได้ตระหนักว่าความโกรธรุนแรงเป็นอันตรายต่อสุขภาพและ เราจะไม่โกรธแบบนั้นอีก นั่นคือการตรวจสุขภาพที่ดีที่สุด เพราะถ้าเราไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะตรวจพบแต่รอยฟกช้ำ ที่เกิดจากการฟุบล้มลงเท่านั้น และถ้าเราอาย ไม่กล้าบอกความจริงแก่แพทย์ว่า นั่นเกิดจากอารมณ์โกรธของเรา แพทย์ก็จะรักษาให้แต่รอยฟกช้ำทางกายเท่านั้น แต่ความโกรธที่ยังฝังแน่นอยู่ในใจจะไม่ได้รับการรักษาเลย

การตรวจสุขภาพที่ดีที่สุด จึงเป็นการตรวจสุขภาพ ด้วยตนเองตลอดเวลาโดยการหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อร่างกายและจิตใจของเรา และพยายามหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วกำจัดสาเหตุเสีย เมื่อกำจัดสาเหตุแล้วอาการหายหรือดีขึ้น ก็แสดงว่าเราได้ตรวจและรักษาสุขภาพของเราเองได้ถูกต้องแล้ว ถ้าไม่ดีขึ้น ก็ลองหาและรักษา สาเหตุอื่น ถ้าไม่ดีขึ้นอีกหรือไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จึงไปปรึกษาแพทย์

การตรวจสุขภาพประจำปี หรือการตรวจสุขภาพที่ โฆษณากันอย่างครึกโครมนั้น เกือบทั้งหมดจึงเป็น "การตรวจสุขภาพพาณิชย์" หรือ "การหากิน "ของสถานพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการหา"โรค " ให้แก่ประชาชนทั่วไป ทำให้เกิด "โรคเท็จ" (false disease) จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแล็บ) ที่ให้ "ผลบวกเท็จ" (false positive) หรือทำให้เกิดความหลงผิดว่าตนมีสุขภาพดี เพราะ "ผลลบเท็จ" (false negative) ทำให้ไม่ดูแลสุขภาพ ของตนเองเท่าที่ควร ทำให้โรคที่เป็นอยู่น้อยๆ (จนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยังปกติ) ลุกลามใหญ่โตกลายเป็นโรคที่รักษาไม่ทันจนเสียชีวิต ดังเช่นกรณี ย.โย่ง ที่คุณวันชัย ตัน อ้างถึง เป็นต้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพประจำปี ในตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 23 ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 309 เดือนมกราคม พ.ศ. 2548)



ถึงเวลาไปตรวจสุขภาพประจำปี ?
วันชัย ตัน vanchaitan@yahoo.com

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว หลายคนเริ่มรู้สึกว่า ถึงเวลาต้องไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อความสบายใจ
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมอดข้าวอดน้ำเกือบ 10 ชั่วโมง ก่อนไปตรวจสุขภาพประจำปีในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง หลังจากว่างเว้นมาหลายปี

พอเดินพ้นประตูเข้าไปในโรงพยาบาลแอร์เย็นฉ่ำ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์สาวสวยได้เข้ามาสอบถาม ก่อนจะพาไปทำบัตรและพาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
ผมทำท่างงๆ เมื่อพบว่า ศูนย์ตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ในห้องเดียวกับศูนย์เสริมความงาม จึงเข้าใจเอาเองว่า ทางโรงพยาบาลคงจัดให้การตรวจสุขภาพประจำปีกับการเสริมความงามเป็นแผนกเดียวกัน คือเป็นกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคแต่อย่างใด

พอเข้าไปนั่งรอคิวสักพัก คุณพยาบาลสาวได้อธิบายให้ฟังว่า ค่าบริการการตรวจสุขภาพประจำปีมีหลายแพคเกจ ตั้งแต่ราคาพันกว่าบาทไปจนถึงเจ็ดพันกว่าบาท ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจเบาหวาน ตรวจไขมัน ตรวจไต การทำงานของตับ ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด และการตรวจคลื่นหัวใจ แต่ราคาแตกต่างกันตามความละเอียดของการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

ผมเลือกการตรวจสุขภาพราคาประมาณ 3,000 บาท จะได้รู้ว่าตับไตไส้พุงข้างในรอบหลายปีเป็นอย่างไรมั่ง
พยาบาลพาผมไปวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนักอย่างรวดเร็วเพราะมีคนไข้อีกหลายคนกำลังรออยู่ และบอกเพื่อนอีกคนที่คอยจดว่า
"ส่วนสูง 173 ซม. น้ำหนัก 68 กก."
ผมสงสัยขึ้นมาทันที เพราะวัดส่วนสูงกี่ครั้งก็ได้ 172 ซม. มาโดยตลอด ร่างกายผมคงไม่ยืดไปกว่านี้แล้ว และเมื่อเช้าชั่งน้ำหนักมาจากบ้านได้ 69 กก. แต่เหตุไฉน จึงหายไปถึง 2 กิโล ผมจึงเดินไปหาพยาบาลที่ดูท่าจะอาวุโสที่สุดในห้อง และอธิบายให้เธอฟังว่า คงมีความเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับการวัดร่างกายของผม สุดท้ายเธอได้ให้ผมไปตรวจวัดร่างกายใหม่ ปรากฏว่าได้ส่วนสูง 172 ซม. และน้ำหนัก 69 กก.จริงๆ

นี่แค่การตรวจวัดอันแสนจะธรรมดา ความผิดพลาดยังเกิดขึ้นได้ แต่ผมยังสามารถตรวจสอบได้ทัน

ผมชักหวั่นใจในความแม่นยำของการตรวจสุขภาพ ขึ้นมา ตั้งแต่ขั้นตอนที่พยาบาลพาไปเจาะเลือด เอาปัสสาวะไปตรวจ เอ็กซเรย์ปอด หรือฟังคลื่นหัวใจ เพราะแม้ทางโรงพยาบาลอ้างว่าใช้เครื่องมือทางการแพทย์อันทันสมัย แต่เราไม่มีทางมั่นใจได้เลยว่าจะไม่เกิดความ ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นความแม่นยำของเครื่องมือการตรวจ ความเลินเล่อของพนักงาน (จากลูกค้าที่มากขึ้น และต้องเร่งทำงานให้ทันกำหนด) อาทิ ตัวอย่างเลือด ฟิล์มเอ็กซเรย์จะมีการสลับกับคนอื่นหรือไม่

ก่อนหน้านี้ เพื่อนคนหนึ่งพาแม่ไปรักษาในโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าหลังการเจาะเลือดมีการสลับตัวอย่างเลือดกับคนไข้รายอื่น จนทำให้การวินิจฉัย โรคเกิดความผิดพลาด กว่าจะรู้ข้อเท็จจริง คุณแม่ก็ต้อง กินยาผิดไปแล้ว แต่ได้เพียงคำขอโทษจากโรงพยาบาล

2 ชั่วโมงผ่านไป พยาบาลให้ผมไปพบคุณหมอคนหนึ่ง เพื่อไปฟังผลการตรวจสุขภาพ คุณหมอดูรายงานที่ทางห้องแล็บส่งมาให้ ฟิล์มเอ็กซเรย์ปอด ดูกราฟคลื่นหัวใจ และตรวจร่างกายพื้นฐาน คือฟังชีพจร กดหน้าท้อง ส่องดูตา ฟังการหายใจ และบอกผมว่าสุขภาพดี ผลเลือดปรกติ ตับ ไต ปอด หัวใจไม่มีปัญหา
ทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที เพราะคนไข้รอคิวอีกหลายคน
ผมเดินออกจากโรงพยาบาลด้วยความดีใจว่าสุขภาพยังดีอยู่ เพราะที่ผ่านมาก็ดูแลสุขภาพมาโดยตลอด ไม่ว่าการออกกำลังกาย หรืออาหารการกิน แม้ว่ายังจิบเหล้าอยู่บ้าง

แต่ผมหวนนึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง ตลอดเวลา 20 กว่าปี เพื่อนคนนี้กินเหล้าทุกวัน สูบบุหรี่วันละไม่ต่ำกว่า 2 ซอง และไม่ค่อยออกกำลังกาย แต่ก็ไปตรวจสุขภาพทุกปี และล่าสุดบอกผมว่า เพิ่งไปตรวจสุขภาพมา ปรากฏว่า สุขภาพดี ตับแข็งแรง ปอดไม่เป็นจุด เขาจึงกินเหล้า สูบบุหรี่หนักเหมือนเดิม เพราะเชื่อในผลการตรวจสุขภาพ

เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรได้อีกมากมาย หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัวจะเตือนกี่ครั้งก็ตาม เพราะเขายึดเอาผลการตรวจสุขภาพเป็นข้อแก้ตัวและเครื่องปลอบใจมาโดยตลอด

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า ทุกวันนี้ธุรกิจการตรวจสุขภาพประจำปีมีมูลค่าปีละหมื่นกว่าล้านบาท และกลายเป็นช่องทางการแสวงหารายได้ใหม่ของโรงพยาบาลแทบทุกแห่งในประเทศ

เพื่อนคนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาล เล่าว่า กำไรจากการตรวจสุขภาพแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 300%

ไม่น่าแปลกใจที่ระยะหลังเราจะเห็นการโฆษณาให้หมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือหากวัยสูงอายุก็หมั่นมาตรวจ 2 ครั้งต่อปีด้วยซ้ำ โดยมีจุดขายสำคัญคือเครื่องมือการตรวจในห้องแล็บอันทันสมัย จนดูเหมือนว่า การตรวจสุขภาพประจำปีกำลังเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตแล้ว

แต่ทุกวันนี้วงการแพทย์ยังถกเถียงกันอยู่ว่า การตรวจสุขภาพประจำปีมีประโยชน์หรือโทษกันแน่ และคนไทยจำเป็นต้องเสียเงินเพื่อไปตรวจสุขภาพหรือไม่

คนในวงการสาธารณสุขต่างทราบดีว่า ผลการตรวจ จากตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ อุจจาระในห้องแล็บมีโอกาส ผิดพลาดได้บ่อยๆ ยิ่งตรวจตัวอย่างมากๆ โอกาสผิดพลาดก็สูง

ในทางการแพทย์ ความสำคัญของการตรวจสุขภาพ ไม่ได้อยู่ที่การตรวจทางห้องแล็บ เพราะการตรวจในห้องแล็บไม่มีวิธีใดที่แม่นยำที่สุด บางอย่างให้ผลบวกลวง คือไม่ได้เป็นโรคแต่บอกว่าเป็น บางอย่างให้ผลลบลวง คือเป็นโรคแต่บอกว่าไม่เป็น หรือหาไม่เจอ
บางคนสุขภาพดีแจ่มใสร่าเริงมาตลอด แต่ผลจากห้องแล็บผิดพลาดจนนึกว่าเป็นหลายโรค กลายเป็นคนเครียดไปก็มี

แต่หากผลการตรวจสุขภาพของคนไข้ออกมาดี ก็ทำให้คนไข้เกิดความประมาท ไม่ยอมดูแลสุขภาพตัวเอง อาทิ คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เมื่อผลเอ็กซเรย์ปอดได้ผล ปกติ ก็จะคิดว่าตนสามารถสูบบุหรี่ได้อีก แต่คำว่าปอดปกติไม่ได้หมายความว่า คนคนนั้นจะไม่เสี่ยงต่อโรค ถุงลมโป่งพอง หากยังสูบบุหรี่ต่อไปเรื่อยๆ

เราฝากชีวิตไว้กับเทคโนโลยีทางการแพทย์มากกว่า การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เพราะการตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้น ต้องเน้นการตรวจพฤติกรรมของคนไข้ว่าเป็นอย่างไร เช่น ไม่ชอบออกกำลังกาย กินเหล้า สูบบุหรี่ เป็นคนเคร่งเครียด หรือกินอาหารผิดประเภท เพื่อเน้นให้คนไข้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคร้ายก็ยากจะถามหา

การเสียเงินเพื่อไปตรวจสุขภาพอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก หากคนเหล่านั้นยังใช้ชีวิตเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ต่อไป

หมอคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า
"กรณีของคุณ ย โย่ง (เอกชัย นพจินดา นักพากย์กีฬาชื่อดัง) ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ก่อนตายเขาไปตรวจสุขภาพประจำปี แล้วผลออกมาว่าแข็งแรง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเขามีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ พอไปออกกำลังกายก็เลยเสียชีวิต"

ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนการตรวจสุขภาพประจำปี ให้เหตุผลว่า เป็นการช่วยทำให้เรารู้ว่าสภาวะร่างกายของเราอยู่ในระดับไหน มีโรคร้ายแฝงตัวอยู่หรือไม่ การมาพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจทางห้องทดลอง ก็ทำให้มีโอกาสตรวจพบโรคเหล่านี้ และสามารถรักษาได้ทันท่วงที

วันต่อมาผมโทรศัพท์ไปหาเพื่อนผู้เป็นหมอใหญ่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพื่อบอกผลตรวจสุขภาพให้ฟัง เขาตอบมาว่า
" ก็ดีนี่ มึงมีเงินก็ไปตรวจซะ จะได้สบายใจ แต่พวก หมอด้วยกันเอง ไม่ค่อยมีใครไปตรวจสุขภาพประจำปีหรอก เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าไม่ค่อยได้อะไรมากนัก"

"ช่วงนี้ฟิตร่างกายให้แข็งแรงนะเพื่อน อีกไม่นานคงต้องออกมานอกถนนกันอีกแล้ว" เพื่อนผู้ไป ร่วมชุมนุมบนถนนราชดำเนินเมื่อหลายเดือนก่อนพูดทิ้งท้ายไว้



โดย: หมอหมู วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:15:39:40 น.
  
การแปลผลการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไร แปลผลอย่างไร ... by drcarebear (นำมาฝาก)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=30-12-2011&group=4&gblog=93


ตรวจร่างกายประจำปี.. สิ่งที่ได้คือ ความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย?? .. นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง ..

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-06-2010&group=4&gblog=83


ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-06-2008&group=4&gblog=45


แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-07-2008&group=4&gblog=52
โดย: หมอหมู วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:16:25:02 น.
  

ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่
//www.thaiclinic.com/medbible/healthexam.html





การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ควรตรวจไม่ควรตรวจ

จากการจัดสัมมนาเรื่อง การตรวจสุขภาพประจำปี เรื่องดีหรือเรื่องร้าย เมื่อมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทำให้เกิดความสงสัยกันว่าการตรวจสุขภาพประจำปี ที่มีการส่งเสริมกันมาตลอด โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลมีการออกเป็น package ต่างๆ เพื่อให้ตรวจ ควรตรวจหรือไม่? ถ้าไม่ตรวจถ้าปล่อยไปเรื่อยๆจนโรคที่แอบแฝงลุกลามจนแก้ไม่ได้ จะทำอย่างไร?

ปัญหาการตรวจสุขภาพในปัจจุบัน

ความจริงแล้วการตรวจสุขภาพเป็นประจำ (Periodic Health examination) เป็นเหมือนขั้นตอนการตรวจสอบว่า ปัจจุบันสุขภาพของเรายังดีหรือไม่ มีโรคอะไรที่แอบแฝงที่ต้องรีบกำจัดเพื่อไม่ให้ลุกลามหรือไม่ ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องทำ

แต่ในปัจจุบัน ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ ความเร่งรีบในชีวิต ทำให้การตรวจสุขภาพไปมุ่งเน้นที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาโรคเป็นสำคัญ เช่นการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ ฯลฯ ตัดสินสุขภาพดีหรือไม่ดี โดยดูแต่ค่าตัวเลขหรือผลการตรวจเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วสุภาพที่ดีหรือไม่ ไม่ได้ดูกันแค่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเหล่านี้เท่านั้น ทำให้คนที่ค่าปกติหลงคิดว่าตนนั้นแข็งแรง เกิดความประมาทในการใช้ชีวิต เช่น ยังคงดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทานอาหารที่เป็นโทษต่อสุข ซึ่งนำไปสู่โรคในที่สุด และในมุมกลับกัน ถ้าตรวจพบค่าผิดปกติ ทั้งที่บางครั้งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ก็จะสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ได้รับการตรวจ ผู้ที่ไม่เป็นโรคจึงกลายเป็นผู้เป็นโรค

แล้วการตรวจสุขภาพแบบใดจึงจะดีและถูกต้อง

การตรวจสุขภาพที่ดีนั้น จะต้องเป็นการตรวจที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพที่แท้จริงของผู้รับการตรวจ ไม่ใช่มุ่งแต่หาโรค (ไม่ใช่วัวหายแล้วล้อมคอก) การตรวจที่ดีจะต้องมีการชี้แนะให้มีการส่งเสริมสุขภาพ ต้องไม่สร้างความทุกข์ทางใจ และต้องไม่ทำให้ผู้รับการตรวจมีความประมาทเมื่อตรวจไม่พบโรค

การตรวจสุขภาพตามหลักสากลจะประกอบด้วยหลัก 4 ประการคือ

การคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

การให้คำแนะนำ

การให้วัคซีนป้องกันโรค

การให้สารหรือยาเพื่อป้องกันโรค

การคัดกรองเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

การคัดกรอง (Screening) แต่เดิมนั้นมีความเชื่อว่าทำเพื่อค้นหาโรค แต่ความจริงแล้วการคัดกรองที่ดี คือ การค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นก่อนที่จะทำให้เกิดโรค ถ้าจะเปรียบปัญหาสุขภาพเหมือนก้อนน้ำแข็งกลางทะเล (Iceberg) โรคที่ตรวจพบเปรียบเหมือนน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเปรียบได้เหมือนกับน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำคอยบั่นทอนสุขภาพ และเมื่อวันใดโผล่พ้นน้ำ ก็จะกลายเป็นโรค ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจะแก้ไข หรือกำจัดก็อาจจะสายเกินไป

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค มีหลายอย่าง เช่น การทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารที่มีไขมันสูง ก็ทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง เกิดปัญหาโรคหัวใจ, การดื่มเหล้า เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคตับ ตับอ่อนอักเสบ โรคพิษสุราเรื้องรัง รวมถึงเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ, การไม่ออกกำลังกาย ทำให้อ้วนเกิดปัญหา โรคเบาหวาน ไขมันสูง เกาท์ ปวดข้อ เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่สามารถค้นหาได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจLAB) แต่ค้นหาได้โดยการซักประวัติเป็นหลัก ซึ่งการคัดกรองจะต้องพึ่งการซักประวัติมากถึง 80% ส่วนที่เหลือคือการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติเฉพาะที่จำเป็นตามปัจจัยเสี่ยงที่ได้จากประวัติ ซึ่งในบางครั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจไม่มีความจำเป็นเลยก็ได้

การคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเงิน และคุ้มค่า ควรทำโดยการตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งมีขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่การซักประวัติทั่วไป เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ การทำงาน อาชีพ การซักประวัติโรคประจำตัว โรคของคนในครอบครัว การรับประทานอาหาร การใช้สารเสพติด การออกกำลังกาย เมื่อได้ข้อมูลแพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจเน้นพิเศษในบางเรื่องที่มีปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย

หลังจากทำการตรวจเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการประเมินผลการตรวจสุขภาพ โดยประเมินปัจจัยเสี่ยงที่พบ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อกำจัดปัจจัยเสี่ยง เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต


ขั้นตอนการคัดกรองสุขภาพ

การคัดกรองที่แนะนำสำหรับคนทั่วไปแยกตามอายุได้ดังนี้

อายุ 18 - 34 ปี

อายุ 35 - 59 ปี


อายุมากกว่า 60 ปี
วัดความดันโลหิต

วัดส่วนสูง-น้ำหนักเพื่อ ค้นหาภาวะโภชนาการ (ดรรชนีย์มวลกาย หรือ BMI)

ตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยทำ PAP Smear (หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว)


วัดความดันโลหิต

วัดส่วนสูง-น้ำหนักเพื่อ ค้นหาภาวะโภชนาการ (ดรรชนีย์มวลกาย หรือ BMI)

ตรวจไขมันในเลือด (ชายอายุ 35 ปี หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป)

ตรวจน้ำตาลในเลือด (อายุ 40 ปีขึ้นไป)

ตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยทำ PAP smear (หญิง)

ตรวจมะเร็งเต้านม (หญิง) โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม


วัดความดันโลหิต

วัดส่วนสูง-น้ำหนักเพื่อ ค้นหาภาวะโภชนาการ (ดรรชนีย์มวลกาย หรือ BMI)

ตรวจการได้ยินโดยการซักประวัติ

ตรวจการมองเห็นโดย Snellen test

ตรวจไขมันในเลือด

ตรวจน้ำตาลในเลือด

ตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยทำ PAP smear (หญิงน้อยกว่า 65 ปี)

ตรวจมะเร็งเต้านม (หญิงน้อยกว่า 70 ปี) โดยแพทย์คลำก้อนที่เต้านม

ตรวจมะเร็งลำไส้โดย ตรวจเลือดในอุจจาระ




การให้คำแนะนำ

เมื่อทำการคัดกรองเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการให้คำแนะนำในการป้องกัน โดยส่วนใหญ่พบว่าคำแนะนำมักจะเป็นการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การแนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การแนะนำให้งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และในบางครั้งอาจมีคำแนะนำเรื่องการใช้เข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ หรือใส่หมวกกันน๊อคเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของศีรษะขณะขับขี่รถจักรยานยนตร์ เป็นต้น คำแนะนำอื่นๆ เช่น การแนะนำให้สตรีรู้จักกการตรวจคลำหาก้อนที่เต้านมทุกสัปดาห์เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม การสอนให้สังเกตุอาการเจ็บหน้าอก ในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ฯลฯ การให้คำแนะนำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับการตรวจสุขภาพควรได้รับ

การให้วัคซีนที่จำเป็น

การให้วัคซีนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ การให้วัคซีนที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรค และช่วยให้สุขภาพแข็งแรง การให้วัคซีนส่วนใหญ่จะให้ในวัยเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่นั้น มีวัคซีนที่แนะนำว่าควรได้รับคือ

วัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ (Td = Tetanus-Diptheria ) ควรได้รับการฉีีดเริ่มต้น 3 เข็ม และรับการกระตุ้น 1 เข็ม ทุก 10 ปี

วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน (Rubellar vaccine) สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ (ให้ก่อนตั้งครรภ์)

วัคซีนอื่นๆ ควรได้รับตามความเสี่ยง เช่น

วัคซีนตับอักเสบบี ควรได้รับในผู้ที่มีคู่สมรสเป็นพาหะตับอักเสบบี และได้รับการตรวจแล้วว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน,

วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ควรให้กับผู้ที่จะไปยังแหล่งที่มีโรคระบาด เช่น ไปแสวงบุญเมกกะ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรได้รับในผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ, ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในเมืองหนาว ที่มีการระบาดของโรครุนแรง เป็นต้น

การให้สารเคมีหรือยาเพื่อป้องกัน

อาจให้ในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น การให้ฟลูโอไรด์ในเด็ก, การให้โฟลิก ในผู้ที่มีโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย, การให้ฮอ์โมนในกลุ่มหญิงวัยทอง, การให้แคลเซียมในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้สูงอายุเป็นต้น



การตรวจสุขภาพเป็นประจำ จำเป็นต้องตรวจทุกปีหรือไม่

การตรวจสุขภาพเป็นประจำนั้น ควรได้รับการตรวจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี การใช้คำว่าการตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าต้องมาตรวจทุกปี เราพบว่าในคนที่อายุน้อย สุขภาพแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกปี อาจตรวจเพียงปีเว้นปีก็เพียงพอแล้ว

สรุป

กล่าวโดยสรุปแล้วการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังมีความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะจะช่วยตรวจสอบค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ช่วยให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค การให้วัคซีน ยาหรือสารเคมีบางชนิดเพื่อป้องกันโรค การตรวจสุขภาพที่มีประโยชน์ คุ้มค่า จะต้องเป็นการตรวจที่มีจุดประสงค์มุ่งป้องกัน มากกว่ามุ่งการรักษา เลือกการตรวจเฉพาะที่มีประโยชน์ ไม่ใช่การตรวจแบบเหวี่ยงแหเหมือนในอดีตอีกต่อไป

โดย พญ.รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

Reference

1.The American Academy of Family Physicians, Summary of Policy Recommendations for Periodic Health Examinations, November 1996; Revision 5.0, August 2001. Http:// //www.aafp.org

2. สุรจิต สุนทรธรรม บรรณาธิการ, การตรวจและการสร้างเสริมสุขภาพ สำหรับประชาชนไทย ISBN : 970-7634-03-1
โดย: หมอหมู วันที่: 2 ตุลาคม 2555 เวลา:13:14:38 น.
  
ขอบคุณครับ
รักสุขภาพ
โดย: na_nyu วันที่: 25 กันยายน 2557 เวลา:0:37:55 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด