การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน


การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน

การฉีดยา ในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ได้ทำกันอย่างแพร่หลาย มีผู้ป่วยหลายคนที่บอกกับแพทย์ว่าต้องการให้ฉีดยา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข หรือประชาชนทั่วไป ก็มักจะมองแต่ข้อดีของการฉีดยา จนบางครั้งละเลยเรื่องผลเสียที่อาจเกิดขึ้น เช่น

1.การแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ซึ่งอาการแพ้ยานี้อาจเป็นได้ตั้งแต่การแพ้ยาเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นผื่น หน้าบวม ปากบวม จนกระทั่งทำให้เสียชีวิตได้ในผู้ที่มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง

2. การติดเชื้อ หรือการอักเสบบริเวณที่ฉีดยา

3. ราคาแพง

4. ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะ ( ยาฆ่าเชื้อ ) อาจทำให้เกิดการดื้อยา

5. การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย (ถ้าอุปกรณ์การฉีดยาและวิธีการฉีดยาที่ไม่สะอาดพอ)

6. การฉีดยาผิดตำแหน่ง ทำให้แทงถูกเส้นเลือดหรือเส้นประสาท



ทำไมผู้ป่วยจึงชอบฉีดยา?

ก็เป็นคำถามที่มีผู้ทำการศึกษาจากหลายแห่ง พบว่ามีคำตอบที่คล้าย ๆ กันว่า อาจจะเนื่องจากเชื่อว่ายาฉีดออกฤทธิ์แรงกว่า เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพดีกว่ายารับประทาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าใดนัก เพราะในปัจจุบันยารับประทาน ก็มีการออกฤทธิ์ที่รวดเร็ว อาจช้ากว่าวิธีฉีดประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนประสิทธิภาพก็แทบจะไม่แตกต่างกัน

ยาฉีดควรจะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ได้ ต้องได้ยาอย่างเร่งด่วนทันที หรือ ยาบางชนิดที่มีเฉพาะแบบฉีดเท่านั้น


บทความเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้เลิกฉีดยา หรือ ต่อต้านการฉีดยา เพียงแต่ต้องการให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปได้ทราบถึง อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดยาเท่านั้น และ ถ้าไม่จำเป็นก็ควรฉีดยา จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลเสียที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แถมต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย …..
 
 
**************************************
 
 
#RDU20190111
#การฉีดยาเข้ากล้ามมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ร้ายแรงประชาชนจึงไม่ควรขอฉีดยาอย่างพร่ำเพรื่อ
📌 Nicolau syndrome เป็นผลข้างเคียงจากการฉีดยาบางชนิดเข้ากล้าม มีรายงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1925
👉 ยาที่มีรายงานมีหลายชนิด เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด ยาปฏิชีวนะบางชนิด รวมทั้งวิตามินชนิดฉีดบางชนิด
👉 กลไกการเกิดเชื่อว่าเป็นผลจากการอักเสบของหลอดเลือดแดง หลอดเลือดแดงหดตัว เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเือด ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดเช่นผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ขาดเลือดไปเลี้ยง จนในที่สุดเกิดเนื้อตายเป็นบริเวณกว้าง หนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการชา และกล้ามเนื้อของแขนหรือขาอ่อนแรงในด้านที่ฉีด กว่าจะรักษาแผลให้หายก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์ หากโชคร้ายติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาแทรกซ้อนก็อาจเสียชีวิตได้
✔️ แม้ผลข้างเคียงนี้จะมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันตรายร้ายแรง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรถือหลักปฏิบัติดังนี้
1. ประชาชนลด ละ เลิก พฤติกรรมการขอให้หมอฉีดยา
2. แพทย์ไม่ฉีดยาให้ผู้ป่วยตามคำขอ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
3. พยาบาลฉีดยาให้ถูกเทคนิค ได้แก่ฉีดยาในตำแหน่งที่มีเส้นเลือดน้อยได้แก่บริเวณ upper outer quadrant ของสะโพก ฉีดยาด้วยเข็มที่ยาวพอสำหรับคนไข้แต่ละคนเพื่อให้แน่ใจว่ายาถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ฉีดยาเกินกว่า 5 มล. ในคราวเดียว หากยามีปริมาณมากควรแบ่งฉีดคนละตำแหน่ง
4. ก่อนดันยาเข้าสู่ร่างกายคนไข้ ต้องดูดยากลับก่อนเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าปลายเข็มไม่ได้ปักอยู่ที่เส้นเลือด
5. หลังฉีดยาทุกครั้งให้ประชาชนสังเกตความผิดปกติ ถ้ามีอาการปวดรุนแรงผิดปกติ มีการนูนแดงในตำแหน่งที่ฉีด ให้รีบกลับไปพบแพทย์ ห้ามใช้น้ำแข็งประคบ
6. สถานพยาบาลควรรายงานผลข้างเคียงจากการฉีดยาไปยังศูนย์ ADR ของกระทรวงสาธารณสุขเสมอ

📖 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
Nicolau syndrome due to diclofenac sodium (Voltaren®) injection: a case report
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4295277/
Nicolau syndrome: A literature review
https://www.wjgnet.com/2218-6190/full/v4/i2/103.htm
Nicolau syndrome as an avoidable complication
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3326772/

CLINICAL PROCEDURES FOR SAFER PATIENT CARE
https://opentextbc.ca/clinicalskills/chapter/6-8-iv-push-medications-and-saline-lock-flush/?fbclid=IwAR1hjHg2x0qpQEzjIyIx3KpIO-cqmESk-9du_768EKmX7iQ50sFPSDNJkI0



 



Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 30 กันยายน 2565 15:54:26 น.
Counter : 8204 Pageviews.

2 comments
เมื่อฉันเกิด “เศษกระดูกโผล่จากเบ้าฟัน” (ภาค 1) skywriter
(3 ก.ค. 2568 17:38:41 น.)
นอนให้พอดี ชีวิตจะดีทั้งกายและใจ สุดท้ายที่ปลายฟ้า
(1 ก.ค. 2568 13:56:39 น.)
หน้าร้อน แตงโมหวาน แช่เย็น ชื่นใจจริงๆ / ประโยชน์ของแตงโม newyorknurse
(15 มิ.ย. 2568 19:29:21 น.)
WRB10 Fighting Stroke สนามเจริญสุขมงคลจิต แมวเซาผู้น่าสงสาร
(14 มิ.ย. 2568 14:50:56 น.)
  
ไปพบบทความของ อ.พินิจ . .ในเวบหมอชาวบ้าน ..

//www.doctor.or.th/node/5743
นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม :353
เดือน-ปี :09/2551
คอลัมน์ :คุยกับ หมอ 3 บาท
นักเขียนหมอชาวบ้าน :นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์


เรามักจะได้ยินคนพูดกันบ่อยๆ ว่า

"ถ้า จะให้หายป่วยเร็วๆ ต้องฉีดยา" หรือ "ยาฉีดแรงกว่ายากิน เลยได้ผลดีกว่า"

แม้แต่บทสนทนากับหมอ...

"หมอ ผมขอยาฉีดได้ไหม จะได้หายเร็วๆ" หรือ
"ถ้า ไม่ฉีดยาแล้วจะหายหรือคะ"

จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยบางคน ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และยังมีความเชื่อว่ายาฉีดนั้นต้องดีกว่าหรือแรงกว่ายากินซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะโลกปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว ขนาดที่ว่ามีการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อรองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น นับประสาอะไรที่มนุษย์เราจะทำยาที่ใช้ง่ายและปลอดภัยต่อร่างกายตนเองไม่ได้

คนไทยเราบางกลุ่มอาจยังมีค่านิยมผิดๆ ในเรื่องยาฉีด โดยเฉพาะกลุ่มคนในชนบทที่ยังฝังใจว่ายาฉีด ดีกว่ายากิน ทำให้หายเร็ว ถ้าเปรียบเทียบกับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะทางตะวันตก หากหมอจะฉีดยาให้ ก็มักจะซักถามละเอียดเลยว่า "เป็นยาอะไร ฉีดเพื่ออะไร ทำไมต้องฉีด ไม่ฉีดได้ไหม" ต่างจากคนไทย ซึ่งขี้เกรงใจหมอ พอบอกว่าจะฉีดยาก็เปิดก้นรอเลย

โดยทั่วไปแล้วตามหลักการใช้ยา แพทย์จะคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ป่วย ไม่ได้มุ่งที่การออกฤทธิ์เร็วเพียงอย่างเดียว การใช้ยากินจึงค่อนข้างปลอดภัย ยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้ยาฉีดในบางกรณีคือ
- โรคบางโรค ต้องใช้ยาที่มีสรรพคุณดีบางอย่างที่ไม่สามารถกินได้
- ป่วยหนักมาก (ฉุกเฉิน หรือวิกฤติ)
- กินยาไม่ได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว อาเจียนมาก กลืนลำบาก สำลัก
- ไม่มียากินที่มีสรรพคุณดีเท่ากันหรือดีกว่า

หรือ หากมีทางเลือกอื่นแทนก็จะพิจารณา เช่น การเหน็บยา สูด พ่น แปะผิวหนัง ซึ่งปลอดภัยกว่า เพราะการฉีดยาต้องอาศัยเทคนิคการฉีดที่ถูกต้อง ถูกตำแหน่ง ถ้าฉีดผิดอาจถูกเส้นประสาทได้

มีตัวอย่างผู้ป่วยที่เคยมาหาหมอ บางคนไปฉีดยาแก้ไข้หวัด แต่ปรากฏว่าเท้าขวากระดกไม่ขึ้น ชาใต้เข่าลงไปถึงหลังเท้า ทั้งๆที่ก่อนไปฉีดยาลดไข้ก็ปกติดี รายนี้เป็นตัวอย่างของการฉีดยาที่สะโพกผิดตำแหน่งทำให้ถูกเส้นประสาท หรือบางคนที่อ้วนมากฉีดแล้วแทงเข็มไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อและยาระคายเคือง มากก็อาจเกิดฝีได้ นอกจากนี้ถ้าเทคนิคการฉีดไม่สะอาดพอก็เกิดการอักเสบติดเชื้อได้

บาง รายเจอเหตุการณ์ที่ร้ายแรงจากการฉีดยาเพราะ "ฉีดยาผิดคน" "ฉีดยาผิดประเภท" หรือ "ฉีดยาผิดขนาด" อย่างนี้เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แค่ป่วยก็นับว่าแย่อยู่แล้ว เจอฉีดยาผิดแบบนี้อันตรายมาก ถือว่าเป็นเรื่องผิดพลาดร้ายแรงในวงการแพทย์ เพราะบางครั้งอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต แต่มักพบนานๆ ครั้ง และจะเป็นข่าวดังโดยเฉพาะเมื่อมีการฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดจากความประมาท ความเร่งรีบ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการทำงาน ดังนั้นส่วนของผู้ป่วยเมื่อจะต้องถูกฉีดยาควรถามว่าเป็นยาอะไร เป็นยาที่จะใช้กับเราจริงหรือไม่ ให้เพื่ออะไร ใครเป็นคนสั่ง และต้องสังเกตอาการผิดปกติอะไรบ้าง

จะเห็นว่าการฉีดยานั้นมี ความเสี่ยงอยู่มาก ตัวยาฉีดเองก็อันตรายกว่ายากิน โดยเฉพาะยาฉีดเข้าเส้นเลือดซึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที หากพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาหรือได้ยาผิด ก็จะมีอาการรวดเร็ว และรุนแรงกว่ายากินมาก

คลินิกบางแห่งยังนิยมฉีดยาให้ผู้ป่วย อาจเพราะผู้ป่วยมักจะตื๊อขอยาฉีดเพราะคิดว่าต้องดีกว่ายากิน อย่างนี้หมอควรอธิบายให้เห็นถึงคุณและโทษของยาฉีดเทียบกับยากินด้วย หรือหมอบางคนอาจเห็นว่าการฉีดยาจะสามารถคิดเงินได้มากกว่า เพราะผู้ป่วยบางกลุ่มชอบฉีดยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ปวด แก้ท้องเสีย หรือแม้แต่ฉีดวิตามิน ซึ่งโดยมากต้นทุนยาแต่ละหลอดไม่ถึง 10 บาท บวกค่าเข็มก็ไม่เกิน 5 บาท แต่สามารถคิดค่าฉีดยาได้เป็นหลักร้อย

ดังนั้นการใช้ยาฉีด ควรพิจารณาจากความจำเป็นในการใช้ และผู้ป่วยควรเตือนสติตัวเองว่า

"คนรุ่นใหม่ ไม่ฉีดยาถ้าไม่จำเป็น"

"ยาฉีดอันตรายกว่ายากิน"

และถ้าหมอ จะฉีดยา ให้ถามว่า "จะฉีดยาอะไร ทำไมต้องฉีด มียากินที่ดีเท่ากันหรือดีกว่าไหม และไม่ฉีดได้ไหม"

โดย: หมอหมู วันที่: 20 พฤษภาคม 2553 เวลา:15:33:55 น.
  
ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB ) https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

ฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=02-02-2008&group=4&gblog=8

โดย: หมอหมู วันที่: 30 กันยายน 2565 เวลา:15:55:14 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]

บทความทั้งหมด