Group Blog
All Blog
<<< "ความสำคัญของการภาวนา" >>>










“ความสำคัญของการภาวนา”

คนเราต่างกันที่บุญและบาป

 ถ้าได้ทำบุญเต็มที่แล้ว ใจก็จะเต็มไปด้วยบุญ

 เหมือนน้ำเต็มแก้วแล้ว เติมเข้าไปอีกน้ำก็จะล้น

 ถ้ามีน้ำเพียงครึ่งแก้วแล้วไม่เติม

 ก็ยังจะมีน้ำเพียงครึ่งแก้ว ใจก็เหมือนกัน

 ถ้าบุญยังไม่เต็ม ใจก็ยังมีความหิวอยู่

 ก็ยังต้องไปเกิดใหม่ มีคนถามว่า

ถ้าไม่ทำบาปอย่างเดียวจะพอไหม

 เพราะไม่ชอบทำบุญ ก็ต้องตอบว่าไม่พอ

 เพราะบุญเป็นอาหารของใจ ถ้าไม่ได้ทำบุญ

 ใจก็จะไม่ได้รับอาหารครบตามที่ต้องการ

 จึงต้องให้ทาน ต้องภาวนา ต้องฟังเทศน์ฟังธรรม

ต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง มีสัมมาทิฐิ มีปัญญา

 ถึงจะมีความอิ่มความพอ มีความสุข

คนส่วนมากชอบทำแต่ทาน ไม่ชอบภาวนา

 เพราะการภาวนาเหมือนจับใจขังไว้ในกรง

ใจไม่ชอบอยู่ในกรง ชอบออกไปเพ่นพ่าน ไปรอบโลก

 ถ้าจัดไปทอดผ้าป่าที่อินเดีย คงมีคนไปกันเยอะ

 ใจไม่ชอบเข้าข้างใน

 สู้กำลังของกิเลสของกามตัณหาไม่ได้

 ที่ผลักใจให้ออกไปแสวงหารูปเสียงรสกลิ่น

 ถ้าสติมีกำลังมากพอ ก็จะดึงใจให้เข้าข้างในได้

ที่สู้กับกิเลสไม่ได้ ก็เพราะสติมีกำลังไม่มากพอ

ที่จะดึงใจให้เข้าข้างใน ถูกกิเลสผลักให้ออกไป

หารูปเสียงกลิ่นรสตลอดเวลา ทำให้ไปอยู่วัดไม่ได้

 เพราะไม่มีอะไรให้ดูให้ฟัง

สมัยอยู่กับหลวงตา ท่านไม่เคยปล่อยให้พระเณร

ไปงานศพของครูบาอาจารย์เลย

ท่านเห็นความสำคัญของการภาวนา

 มากกว่าการไปช่วยงานศพ ที่เป็นงานระดับทาน

ถ้าไปงานศพก็จะไม่ได้ภาวนา

ถ้าออกไปข้างนอกวัด จะเสียการภาวนา

ทำให้จิตหยาบลง ถ้ากำลังภาวนาอยู่

ก็ไม่ควรเสียเวลาไปกับงานกฐิน งานผ้าป่า งานศพ

 ตั้งแต่บวชมานี่เราไม่เคยไปงานไหนเลย

 งานผ้าป่า งานกฐิน งานฉลอง ไม่เคยไปเลย

 หลวงตาจะไม่พาพระเณรไปกราบครูบาอาจารย์เลย

 เข้าพรรษาจะมีธรรมเนียมไปกราบครูบาอาจารย์

 ทำวัตร ขอขมา ท่านไปทำองค์เดียว

 จะไม่ให้พระเณรไปไหน ท่านหวงมาก

 ไม่อยากให้ออกไปสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรส

กลับมาจะมีสัญญาอารมณ์ตกค้างอยู่ในใจ

 เวลาเดินจงกรมก็จะคิดถึงภาพที่เห็น

 เป็นอันตรายมากต่อความสงบของจิตใจ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

กำลังใจ ๕๒, กัณฑ์ที่ ๔๒๑

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 ธันวาคม 2561
Last Update : 16 ธันวาคม 2561 3:57:06 น.
Counter : 569 Pageviews.

1 comment
<<< " ใช้ปัญญาพิจารณาในกายให้กระจ่าง" >>>








"ใช้ปัญญาพิจารณาในกายให้กระจ่าง"

จงทำตามหน้าที่แห่งบทภาวนาของตน

 อย่าพะวักพะวนในกรรมฐานบทอื่นๆ

 จะเป็นความลังเลสงสัย

 ตัดสินใจลงไปสู่ความจริงไม่ได้

จะเป็นอุปสรรคแก่ความจริงใจตลอดกาล

จงตั้งใจทำด้วยความมีสติจริง ๆ

 อย่าเรียง ศีล สมาธิ ปัญญา ให้นอกไปจากใจ

เพราะกิเลส คือราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น อยู่ที่ใจ

ใครไม่ได้เรียงรายเขา เมื่อคิดไปทางผิด

 มันก็เกิดกิเลสขึ้นมาที่ใจดวงนั้น

 ไม่ได้กำหนดหรือนัดกันว่า ใครจะมาก่อนมาหลัง

มันเป็นกิเลสมาทีเดียว กิเลสชนิดไหนมา

มันก็ทำให้เราร้อนได้เช่นเดียวกัน

 เรื่องของกิเลสมันจะต้องเป็นกิเลสเรื่อยไปอย่างนี้

กิเลสตัวไหนจะมาก่อนมาหลังเป็นไม่เสียผล

 ทำให้เกิดความร้อนได้ทั้งนั้น

วิธีการแก้กิเลสอย่าคอยให้ศีลไปก่อน

สมาธิมาที่สอง ปัญญามาที่สาม

 นี่เรียกว่าทำสมาธิเรียงแบบ เป็นอดีต อนาคตเสมอไป

 หาความสงบสุขไม่ได้ตลอดกาล

ทางที่ถูก และราบรื่นของผู้ปฏิบัติก็คือ

เมื่อจิตได้รับความสงบ พอเห็นทางแล้ว

ต้องฝึกหัดจิตให้คิดค้นในอาการของกาย

จะเป็นอาการเดียว หรือมากอาการก็ตาม

 ด้วยปัญญาคลี่คลายดูกายของตน

 เริ่มตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก

 เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด

ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า ฯลฯ

ที่เรียกว่า อาการ ๓๒ ของกาย สิ่งเหล่านี้ตามปกติ

เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดตลอดเวลา

 ไม่มีอวัยวะส่วนใดจะสวยงามตามโมหนิยม

 ยังเป็นอยู่ก็ปฏิกูล ตายแล้วยิ่งเป็นมากขึ้น

 ไม่ว่าสัตว์ บุคคล หญิง ชาย มีความเป็นอย่างนี้

 ทั้งนั้นในโลกนี้ เต็มไปด้วยของอย่างนี้

หาสิ่งที่แปลกกว่านี้ไม่มี ใครอยู่ในโลกนี้

ต้องมีอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเห็นอย่างนี้

ความเป็น อนิจฺจํ ไม่เที่ยงก็กายอันนี้

ทุกฺขํ ความลำบากก็กายอันนี้

อนตฺตา ปฏิเสธความประสงค์

ของสัตว์ทั้งหลายก็กายอันนี้

 สิ่งที่ไม่สมหวังทั้งหมดก็อยู่ที่กายอันนี้

ความหลงสัตว์หลงสังขารก็หลงกายอันนี้

 ความถือสัตว์ถือสังขารก็ถือกายอันนี้

ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขาร

ก็พลัดพรากจากกายอันนี้

ความหลงรักหลงชังก็หลงกายอันนี้

ความไม่อยากตายก็ห่วงกายอันนี้

ตายแล้วร้องไห้หากันก็เพราะกายอันนี้

 ความทุกข์ทรมานตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย

ก็เพราะกายอันนี้ ทั้งสัตว์และบุคคลวิ่งว่อนไปมา

หาอยู่หากินไม่มีวันไม่มีคืนก็เพราะ

เรื่องของกายอันเดียวนี้

มหาเหตุมหาเรื่องใหญ่โตในโลก

ที่เป็นกงจักรผันมนุษย์

 และสัตว์ไม่มีวันลืมตาเต็มดวง

 ประหนึ่งไฟเผาอยู่ตลอดเวลา

 ก็คือ เรื่องของกายเป็นเหตุ

กิเลสท่วมหัวจนเอาตัวไม่รอดก็เพราะกายอันนี้

สรุปความเรื่องในโลก คือ

 เรื่องเพื่อกายอันเดียวนี้ทั้งนั้น

 เมื่อพิจารณากายพร้อมทั้งเรื่องของกาย

ให้แจ้งประจักษ์กับใจ ด้วยปัญญาอยู่อย่างนี้

 ไม่มีวันหยุดยั้ง กิเลสจะยกกองพลมาจากไหน?

ใจจึงจะสงบลงไม่ได้ เมื่อปัญญาอ่านประกาศความจริง

ให้ใจฟังอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

ใจจะฝืนความจริงจากปัญญาไปไหน

 เพราะกิเลสก็เกิดจากใจ ปัญญาก็เกิดจากใจ

เราก็คือใจ จะแก้กิเลสด้วยปัญญาของเรา

จะไม่ได้อย่างไร เมื่อปัญญาเป็นไปในกายอยู่อย่างนี้

 จะไม่เห็นแจ้งในกายอย่างไรเล่า ?

เมื่อเห็นกายแจ้งประจักษ์ใจ ด้วยปัญญาอย่างนี้

ใจต้องเบื่อหน่ายในกายตน และกายคนอื่น

สัตว์อื่น ต้องคลายความกำหนัดยินดีในกาย

 แล้วถอนอุปาทานความถือมั่นในกาย

โดยสมุจเฉทปหาน พร้อมทั้งความรู้เท่ากายทุกส่วน

 ไม่หลงรัก หลงชัง ในกายใดๆ อีกต่อไป

 การที่จิต ใช้กล้อง คือ ปัญญา

 ท่องเที่ยวในเมือง “กายนคร”

ย่อมเห็น “กายนคร” ของตน

และ “กายนคร” ของคนและสัตว์ทั่วไปได้ชัด

 ตลอดจนทางสามแพร่ง คือ ไตรลักษณ์

 อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และทางสี่แพร่ง คือ ธาตุสี่

 ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั่วทั้งตรอกของทางสายต่างๆ

คือ อาการของกายทุกส่วน พร้อมทั้งห้องน้ำ

 ครัวไฟ (ส่วนข้างในของร่างกาย)

แห่งเมืองกายนคร จัดเป็น โลกวิทู

ความเห็นแจ้งในกายนครทั่วทั้งไตรโลกธาตุก็ได้ด้วย

 ยถาภูตญาณทัสสนะ ความเห็นตามเป็นจริง

ในกายทุกส่วน หมดความสงสัยในเรื่องของกาย

 ที่เรียกว่า รูปธรรม

หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ






ขอบคุณที่มา fb. ไม้ขีดครับ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 13 ธันวาคม 2561
Last Update : 13 ธันวาคม 2561 11:24:37 น.
Counter : 345 Pageviews.

0 comment
<<< "ทำจิตให้สงบก่อน" >>>









“ทำจิตให้สงบก่อน”

หลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงตา

ตอนที่หลวงตาไปอยู่กับท่านใหม่ๆว่า

 ท่านเป็นถึงมหา มีความรู้ด้านปริยัติมาก

 แต่ความรู้ทางปริยัติในตอนนี้

ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับจิตใจ

ขอให้ยกตั้งไว้บนหิ้งก่อน

อย่าไปสนใจกับความรู้ที่ได้เรียนมา

 เพราะยังไม่สามารถดับกิเลสได้

สิ่งที่ต้องทำในเบื้องต้นนี้ก็คือทำจิตให้สงบก่อน

 พอจิตสงบแล้วความรู้ที่ได้เรียนมาจะปราบกิเลสได้

 แต่ตอนนี้จิตไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิ ที่จะหยุดกิเลส

เพราะสมาธิก็คือการหยุดจิต

เวลาทำจิตให้นิ่งกิเลสก็นิ่งตามไปด้วย

ถ้าไม่มีกำลังที่จะหยุดจิต

 เวลากิเลสแสดงอาการออกมา ก็จะหยุดมันไม่ได้

 ถ้าหยุดจิตได้ก็จะหยุดกิเลสได้

แต่ต้องรู้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส

 ตอนนั้นต้องอาศัยปริยัติธรรม

ที่ได้เรียนมาช่วยแยกแยะให้ ว่าอะไรเป็นกิเลส

อะไรไม่เป็นกิเลส หลวงตาจึงพยายามเจริญสมาธิ

ทำจิตให้สงบก่อน

 ท่านจะใช้พุทโธบริกรรมอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะทำกิจอะไร ก็จะบริกรรมพุทโธๆไป

ไม่ปล่อยให้จิตคิดเรื่อยเปื่อย

ถ้าปล่อยให้คิดแล้วจะมีเรื่องให้คิดไปเรื่อยๆ

 คิดแล้วจิตจะไม่สงบ จะมีอารมณ์ต่างๆตามมา

 แต่ถ้าคิดอยู่กับพุทโธๆอย่างเดียว

 จิตจะค่อยๆสงบลงไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะรวมลงได้

 จิตก็จะนิ่งสงบเย็นสบาย จากนั้นก็จะรู้วิธี

ที่จะหยุดกิเลส อาศัยกำลังของสมาธิเป็นตัวหยุด

 อาศัยปัญญาเป็นตัวตัด

สมาธิหยุดกิเลสได้แต่ฆ่ากิเลสให้ตายไม่ได้

 เพราะกิเลสเกิดจากความหลง ความเข้าใจผิด

 มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ

 จะฆ่ากิเลสให้ตายต้องใช้สัมมาทิฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

 ความหลงคือเห็นความเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง

 เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ เห็นตัวตน

ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน นี่คือความหลง

เช่นปุถุชนอย่างพวกเรานี้

จะเห็นว่าร่างกายนี้เที่ยง จะอยู่กับเราไปตลอด

 อยู่กับเราไปนานๆ ให้ความสุขกับเรา

 เป็นตัวเรา เป็นของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้

ก็จะเกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น

 เกิดตัณหาความอยาก

 อยากให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ

มีใครบ้างที่ปฏิเสธว่าไม่มีความอยากนี้

ทุกคนอยากจะให้ร่างกายอยู่ไปนานๆทั้งนั้น

 ให้สาวให้หนุ่มไปนานๆ ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย

ทั้งๆที่รู้ว่าร่างกายนี้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

 แต่เป็นความรู้ทางด้านปริยัติ

 เป็นความรู้ทางด้านสัญญา เป็นความจำ

 แต่ลึกๆใจยังไม่ยอมรับ

 ยังอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายอยู่

เพราะมีความหลงคอยปลุกความอยากนี้อยู่

เพราะเราใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

 ในการแสวงหาความสุขต่างๆ

 ทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ ใช้ตาไว้ดูรูป

ใช้หูไว้ฟังเสียง ถ้าเกิดหูหนวกตาบอดขึ้นมา

ก็จะรู้สึกทุกข์ทรมานใจมาก

 เพราะจะไม่สามารถมองเห็นรูปต่างๆ

 ได้ยินเสียงต่างๆได้ เราจึงพยายามอย่างยิ่ง

ที่จะรักษาให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ เพราะไม่รู้ว่า

มีความสุขที่ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

 คือความสุขภายในใจ จึงทำให้เรามีความทุกข์

มีปัญหาต่างๆมากมาย เพราะไม่เห็นตามความจริง

 ต้องใช้ปัญญามาแก้มาตัดกิเลสอย่างถาวร

ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า

ร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่สวยงามเลย

 มีอาการ ๓๒ มีผมขนเล็บฟันหนัง

มีเนื้อมีเอ็นมีกระดูกเป็นต้น

พิจารณาอยู่เรื่อยๆจนปรากฏเป็นความรู้อย่างต่อเนื่อง

 เวลาเห็นร่างกายทีไรก็จะเห็นทุกสัดทุกส่วน

 ไม่เห็นแต่เฉพาะผิวหนัง

ไม่เห็นแต่เฉพาะผมขนเล็บฟัน

 แต่จะเห็นทุกอาการที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง

 เห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

 ไม่ได้เป็นหนุ่มเป็นสาวไปตลอด

ต้องแก่ หนังเหี่ยวย่น ผมขาว

ต้องกลายเป็นซากศพไป นี่คือปัญญา

 นี่คือความจริง ปัญญาก็คือความจริงนั่นเอง

 วิปัสสนาคือรู้แจ้งเห็นจริงตามความจริง

 รู้ว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง รู้ว่าร่างกายเป็นทุกข์

 รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวตน

รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

รู้ว่าร่างกายนี้ไม่ได้สวยงาม สวยก็สวยชั่วคราว

 เหมือนกับดอกไม้สดที่ตัดมาบูชาพระ

 เวลาปักไว้ในแจกันใหม่ๆก็ดูสวยงามดี

พอทิ้งไว้สักอาทิตย์หนึ่ง

ก็กลายเป็นของไม่สวยงามไปแล้ว

 เช่นดอกบัวนี่ จากสีเขียวก็กลายเป็นสีน้ำตาลสีดำไป

 ร่างกายของคนเราก็เป็นอย่างนั้น

ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนดอกไม้สด

แต่พอตายไปก็เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวแห้ง

 ลองไปดูคนตายดู ถ้าไม่ได้ฉีดยา

ปล่อยให้เน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติก็จะไม่น่าดู

 นี่คือสิ่งที่เราต้องสอนใจ

 เพื่อจะได้ไปทำลายภาพลวงภาพหลอน

ที่ใจมีอยู่กับร่างกาย

 ที่มักจะมองร่างกายว่าสวยงามน่าดู

แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปตลอด

 เมื่อถึงเวลาก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง

 ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ อุปาทานที่ยึดว่าเป็นตัวเรา

 เป็นของเรา จะอยู่กับเราไปตลอด ก็จะถูกทำลายไป

พอเห็นว่าร่างกายไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง

ก็จะปล่อยวางอุปาทาน จะไม่ยึดติด

ไม่พึ่งร่างกายเป็นเครื่องมือในการหาความสุขต่อไป

 ทั้งร่างกายของเราเอง และร่างกายของผู้อื่น

 เช่นคู่ครองของเรา พอปล่อยวางได้แล้ว

อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็จะไม่เป็นปัญหา

จะเป็นร่างกายของเราก็ดี ของคู่ครองของเราก็ดี

ของคนที่เราเคารพรักก็ดี ก็เป็นเหมือนกันหมด

 เห็นตามสภาพตามความเป็นจริงแล้ว

 จิตก็จะไม่ยึดติดกับร่างกายทั้งหมด

 เห็นว่าเป็นเหมือนกันหมด เกิดแก่เจ็บตาย

 เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เวลาร่างกายเปลี่ยนไป

หรือเป็นอะไรไป ก็จะไม่กระทบกระเทือนกับจิตใจ

 เพราะปัญญาได้กำจัดกิเลสต่างๆหมดไปจากใจแล้ว

 ไม่มีกิเลสมาทิ่มแทงใจ

 ไม่เศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์แต่อย่างใด

 รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนฝนตกแดดออก

 เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก

 เวลาพระอาทิตย์ขึ้นเราก็ไม่ได้ดีใจ

 พระอาทิตย์ตกเราก็ไม่ได้เสียใจ

 คนเกิดเราก็ไม่ดีใจ คนตายเราก็ไม่เสียใจ

ถือเป็นเรื่องธรรมดาของดินน้ำลมไฟ

 นี่คือปัญญาที่เราใช้ในการทำลายกิเลสคือความหลง

 พอไม่มีความหลงแล้ว ก็จะไม่มีความโลภความอยาก

 เพราะรู้ว่าอยากกับสิ่งที่จะทำให้เจ็บช้ำใจ

จะอยากไปทำไม

ได้มาแล้วสักวันหนึ่งก็ต้องจากไป

 ขณะที่ยังไม่จากไปก็สร้างความกังวลให้กับเรา

 ต้องห่วงต้องกังวล เวลาเรารักอะไร

เราก็อยากให้อยู่กับเราไปนานๆ

 ไม่อยากให้มีอะไรเกิดขึ้น

 ถ้าเห็นเป็นความทุกข์ทางด้านจิตใจ

 เราก็จะไม่ไปหาสิ่งเหล่านั้น

เพราะเห็นว่ามีความสุขอีกอย่าง

ที่ดีกว่าอยู่ภายในใจ

 คือความสุขที่เกิดจากความสงบ

 เป็นความสุขที่ดีที่เลิศที่สุด

 ที่เกิดจากการกำจัดกิเลสโลภโกรธหลง

จนหมดไปจากจิตจากใจ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................................

กำลังใจ ๔๐, กัณฑ์ที่ ๓๘๒

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 29 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2561 9:00:08 น.
Counter : 438 Pageviews.

0 comment
<<< "คำว่า ฌาน และ ญาณ" >>>











คำว่า “ฌาน” และ “ญาณ”

 

คำที่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจให้ถูก
สำหรับผู้เรียนรู้พุทธศาสนา
เพราะเกี่ยวเนื่องกับ“ความหลุดพ้น”

“ฌาน” คือ สภาพจิตที่มีสมาธิเป็นแกน

 ประกอบด้วยคุณสมบัติอื่นๆที่ดีงามอีก

 ๒-๓-๔-๕ อย่าง แล้วแต่ฌานขั้นไหน

“ฌาน”เป็นผลที่ประสงค์สำคัญของ “สมถะ”

 หรือ จิตตภาวนา

ฝ่าย“วิปัสสนา” ที่ว่ามีหลักการคือ

รู้ เห็นตามความเป็นจริงนั้น

 ผลที่เกิดขึ้นของมันคือ “ญาณ”

ชื่อใกล้กันมาก ระวังสับสน

ผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา คือ “ญาณ”

ผลที่ประสงค์ของสมถะ คือ “ฌาน”

พอถึงผลสำเร็จของวิปัสสนา เป็น “ญาณ”

“ฌาน” ของสมถะนั้น แปลว่า การเพ่งพินิจ

 แน่วแน่อยู่ จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้

แต่..วิปัสสนา ทำให้เกิด “ญาณ”

คือ ตัวความรู้ หรือ ความหยั่งรู้

 “ญาณ”จึงเป็นผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา

ที่พูดมาแล้วนี้ เป็นผลสำเร็จทั่วไป

 ต่อไปเป็นผลสำเร็จขั้นสุดท้าย

ผลสำเร็จขั้นสุดท้ายของ “สมถะ”

เมื่อทำให้จิตแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว

 เกิด“ฌาน” พอได้ฌานแล้ว

 จะเกิดความสำเร็จขั้นสุดท้ายขึ้น

คือ จิตจะปลอดพ้นหลุดไป

หมายถึง หลุดพ้นไปจากสิ่งที่ไม่ดี

ที่ไม่ต้องการทั้งหมด

จิตใจของคนเรานี้มีความขุ่นมัว มีความเศร้าหมอง

มีกิเลส มีเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆมากมาย

 พอเราทำสมาธิได้“ฌาน”แล้ว

จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ สงบ มันก็พ้นไป

จากสิ่งที่ไม่ต้องการ สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นทุกข์

สิ่งที่เป็นความขุ่นมัวเดือดร้อนวุ่นวาย

 สิ่งที่เป็นกิเลสทั้งหมด ก็เรียกว่าเป็น ความหลุดพ้น

แต่ความหลุดพ้นนั้นเป็นไปได้ชั่วคราว

ตลอดเวลาที่เราอยู่ในสภาพจิตนั้น

เมื่อไรเราออกจากสิ่งที่กำหนด ออกจากสมาธิ

 จิตของเราก็เข้าสภาพเดิม เราก็มีปัญหาได้อีก

เราก็มีความทุกข์ได้อีก

 จิตใจของเราก็มีความขุ่นมัวเศร้าหมองได้อีก

อันนี้ จึงถือว่าเป็นความหลุดพ้นชั่วคราว

ตอนนี้จะมีความยุ่งเรื่องศัพท์นิดหน่อย

ศัพท์ไม่จำเป็นต้องจำ แต่ถือว่าฟังไว้ประดับความรู้

 เรียกว่า “วิกขัมภนวิมุตติ”

วิกขัมภนวิมุตติ บางทีท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า

 สมยวิมุตติ แปลว่า หลุดพ้นชั่วสมัย สมย

 หรือ สมัย แปลว่า เวลา,

วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น

พ้นจากกิเลสและความทุกข์

 สมย ชั่วสมัย คือชั่วเวลา

 ได้แก่ ชั่วเวลาที่เราอยู่ในสมาธิ

แต่สมัยหลังมักเรียกกันว่า วิกขัมภนวิมุตติ

แปลว่า #หลุดพ้นด้วยกดทับไว้

เหมือนอย่างเอาหินไปทับหญ้า

 ทำให้หยุดงอกงามไป พอเอาหินออกแล้ว

หญ้าก็กลับเจริญงอกงามต่อไปอีก

เหมือนกับกิเลสและความทุกข์

 พอได้สมาธิ กิเลสและความทุกข์ก็สงบเงียบ

 เหมือนกับหายไปหมดไป แต่พอออกจากสมาธิ

 กิเลสและความทุกข์นั้นก็เฟื่องฟู

ขยายตัวขึ้นมาได้อีก

 นี่คือ ผลสำเร็จสุดท้ายของสมาธิ

หรือของสมถะ คือ สมยวิมุตติ หลุดพ้นชั่วคราว

 หรือ วิกขัมภนวิมุตติ หลุดพ้นด้วยกดทับหรือข่มไว้

ส่วน“วิปัสสนา” ทำให้เกิด“ญาณ”

มีความรู้แจ่มแจ้ง รู้ตามที่เป็นจริง

 เมื่อรู้เห็นตามที่เป็นจริงแล้ว

 จิตจะเป็นอิสระหลุดพ้นจากสิ่งนั้นๆเด็ดขาดไปเลย

เมื่อเรารู้เข้าใจสิ่งใดตามความเป็นจริงแล้ว

 จิตของเราก็จะหลุดพ้นจากความยึดติดในสิ่งนั้น

 แล้วเราก็ไม่ขุ่นมัวไม่ขัดข้องเพราะสิ่งนั้น

 เมื่อยังไม่รู้ว่าอะไรเราก็ขัดข้องอยู่กับสิ่งนั้น

 เมื่อเรารู้ เราก็หลุด เราก็พ้นได้ รู้เมื่อไรก็หลุดเมื่อนั้น

ทีนี้ ความรู้เห็นตามเป็นจริงก็นำไปสู่ความหลุดพ้น

 เป็นอิสระอย่างชนิดเด็ดขาดสิ้นเชิง

 เรียกว่า อสมยวิมุตติ คือ หลุดพ้นไม่จำกัดสมัย

 เรียกอีกอย่างว่า สมุจเฉทวิมุตติ

คือ หลุดพ้นโดยเด็ดขาด”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
( ป. อ. ปยุตฺโต )

..................................

ที่มา : หนังสือ “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”






ขอบคุณที่มา fb. เจริญสติแนวเคลื่อนไหว
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2561 20:14:57 น.
Counter : 661 Pageviews.

0 comment
<<< "ปฎิบัติเป็นขั้นเป็นตอน" >>>










“ปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน”

การปฎิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจ

เป็นการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน

 เหมือนกับการศึกษาเล่าเรียน

 มีการเรียนจากขั้นที่ง่ายขึ้นไปสู่ขั้นที่ยาก

เราจึงมีชั้นอนุบาล ชั้นประถม

ชั้นมัธยม ชั้นอุดมศึกษา

 เพราะการพัฒนาจิตใจจำเป็นจะต้องมี

การกระทำที่ยากง่ายต่างกันไปตามลำดับ

 เป็นการเดินขึ้นบันได บันไดเขามีเป็นขั้นๆ

 ให้เราเดินขึ้น มีขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม

เพื่อจะได้เดินขึ้นไป สูงขึ้นไปตามลำดับ

 จะข้ามขั้นตอนก็จะยากและอาจจะล้มเหลว

 ทำไม่สำเร็จ ถ้าทำตามขั้นตอนมันจะง่าย

 แล้วมันก็จะสำเร็จได้ คำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่สอนให้พวกเราพัฒนาจิตใจ ท่านก็สอนเป็นขั้นๆ

 เพราะกำลังของใจที่ปฏิบัตินั้นมีน้อยในตอนเริ่มต้น

 เหมือนเด็กที่ไปโรงเรียน เด็กเล็กมีกำลังวังชาน้อย

 มีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้น้อยกว่าเด็กโต

ก็เลยต้องเริ่มที่ชั้นอนุบาลก่อน

แล้วค่อยขยับสู่ชั้นประถม มัธยม ตามลำดับ

 ถ้าไปเริ่มที่ชั้นมัธยมเลย

 เด็กเล็กเด็กน้อยก็จะไม่สามารถเรียนได้

เพราะความสามารถและกำลังที่จะรับรู้มีไม่พอ

 ใจก็เหมือนกัน ใจที่จะปฏิบัตินั้น

ก็มีกำลังมากน้อยไม่เท่ากัน

 แต่ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มต้นก็จะมีกำลังน้อย

แล้วเมื่อได้ปฏิบัติกำลังก็จะมีมากขึ้นไปตามลำดับ

 พระพุทธเจ้าก็เลยสอนเป็นขั้นไป

แต่คำสอนของพระพุทธเจ้านี้มีสอนในหลายระดับ

 หลายขั้นตอนด้วยกัน ถ้าเราไม่รู้ว่า

ท่านสอนนักปฏิบัติในระดับไหน

 แล้วเราเอามาปฏิบัติกับเรา

 อาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้ถ้าจิตเราอยู่ขั้นต่ำ

ไปอ่านคำสอนในธรรมระดับขั้นสูง

 แล้วเราเอามาปฏิบัติเราก็จะปฏิบัติไม่ได้

 คือไม่ได้ผล ปฏิบัติได้แต่ไม่ได้ผล

ถ้าเราอยู่ในธรรมที่ขั้นสูง ถ้าจิตเราอยู่ในระดับสูง

 เราไปเอาธรรมระดับต่ำมาปฏิบัติ

 มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะประโยชน์ที่เราต้องการ

มันมากกว่าประโยชน์ที่เราจะได้รับจากธรรมขั้นต่ำ

 ดังนั้นผู้ปฏิบัติต้องสังเกตดูว่า

เรานั้นเหมาะสำหรับธรรมระดับไหน

 ความจริงธรรมก็แบ่งเป็นสองระดับใหญ่ๆ

 คือ ระดับที่ ๑. เรียกว่าระดับนักบุญ

ระดับที่ ๒. เรียกว่าระดับนักบวช

การปฏิบัติของระดับนักบุญกับระดับนักบวชนี้

ก็จะไม่เหมือนกัน ระดับนักบุญนี้

ก็จะมีการทำบุญทำทาน

 มีการรักษาศีล ๕ เป็นการปฏิบัติ

 ส่วนระดับนักบวชนี้จะเป็นระดับที่มีการปฏิบัติ

ในศีลที่สูงกว่าศีล ๕ คือ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗

 แล้วก็มีการภาวนา สมถะภาวนาทำจิตให้สงบ

วิปัสสนาภาวนาสอนจิตให้ฉลาด ให้เห็นอริยสัจ ๔

 ให้เห็นไตรลักษณ์ นี่คือความแตกต่าง

ระหว่างสองระดับของการปฎิบัติ

แต่ผู้ที่อยู่ระดับนักบุญจะไปภาวนาบ้างก็ได้

 แต่การภาวนาก็ไม่ได้เป็นการภาวนาแบบเป็นกอบเป็นกำ

จะเป็นในลักษณะของมือสมัครเล่นมากกว่ามืออาชีพ

 ผู้ที่เป็นนักบวชนี้เขาภาวนาเป็นมืออาชีพ

 เขาทำทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

ศีลเขารักษาตั้งแต่ศีล ๘ ขึ้นไป ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

ส่วนนักบุญนี้อาจจะเลือกวันใดวันหนึ่ง

 เช่นวันที่ไม่ต้องทำงาน

 แล้วเปลี่ยนจากการถือศีล ๕ มาถือศีล ๘

 แล้วก็ไปอยู่วัด ไปภาวนาสักคืนหนึ่ง หนึ่งวันหนึ่งคืน

 อันนี้เรียกว่ายังไม่เป็นการปฏิบัติอย่างเต็มที่

 อย่างมืออาชีพ เป็นมือสมัครเล่น

 เป็นการซ้อมเป็นการฝึกเป็นการหัด

มากกว่าการจะลงสนามจริง

นี่คือการปฎิบัติที่มีการปฏิบัติเหมือนกัน

 แต่ความเข้มข้นไม่เหมือนกัน

 เมื่อความเข้มข้นไม่เหมือนกัน

ผลที่เกิดจากการปฏิบัติย่อมไม่เหมือนกัน

 ถ้าปฏิบัติเข้มข้น ผลต่างๆ มันก็จะปรากฏขึ้นมา

ถ้าปฏิบัติแบบไม่เข้มข้นนี้

มันก็จะไม่ได้ผลอะไรมากนัก

ได้เหมือนกับน้ำผลไม้ที่เดี๋ยวนี้มีทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

กับ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์

 เราก็จะรู้ว่ารสชาติของน้ำผลไม้นั้นต่างกันอย่างไร

 รสแห่งธรรมก็อย่างนั้น

 ถ้าปฏิบัติแบบมือสมัครเล่นแบบ ๑๐ เปอร์เซ็นต์นี้

 รสแห่งธรรมมันก็จะได้แค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์

 ผสมน้ำอีก ๙๐ เปอร์เซ็นต์

 แต่ถ้าปฏิบัติแบบเข้มข้นไม่เติมน้ำเลย

มันก็จะได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของรสแห่งธรรม

 นี่คือการปฏิบัติอย่างเดียวกัน

แต่ต่างกันที่ความเข้มข้น

 นักบุญนี่จะเข้มข้นในการทำบุญรักษาศีล ๕

 ถ้าเป็นนักบุญจริงๆ นี้ต้องทำบุญเป็นนิสัย

 ทำบุญเป็นปกติ คือไม่เอาเงินไปใช้อย่างอื่น

 มีเงินมีทองเอาไปทำบุญ

 ถ้ายังเอาเงินทองไปเที่ยวไปซื้อกระเป๋ารองเท้า

 ซื้อของฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นนี้

ยังไม่เป็นนักบุญเข้มข้น ถ้ายังไปซื้อกระเป๋ารองเท้า

ไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง ไปกินไปดื่ม

อันนี้ก็จะเป็นแบบผสมน้ำ

 อาจจะทำบุญ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เอาไปเที่ยว

 ไปใช้จ่ายทางกิเลสตัณหาสัก ๙๐ เปอร์เซ็นต์

 อันนี้ก็จะได้รสแห่งธรรมเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์

 ยังไม่ถือว่าเป็นนักบุญจริง

ถ้าเป็นนักบุญนี้จะต้องทำบุญอย่างเดียว

 มีเงินมีทองที่ไม่ต้องใช้กับสิ่งที่จำเป็น

 ก็จะเอาไปทำบุญ ไม่เอาไปเที่ยว

 ไม่เอาไปซื้อของฟุ่มเฟือย ไม่ไปใช้ซื้อของหรูหรา

บางคนมีเงินไปซื้อรถคันละ ๑๐ ล้านอย่างนี้

แล้วก็ทำบุแสนหนึ่ง

ถ้าคนเป็นนักบุญนี้ต้องทำบุญ ๖ ล้าน

ไม่เอาเงินไปทำอย่างอื่น

 ถึงจะเรียกว่าเป็นนักบุญเข้มข้น

นักบุญ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถึงจะได้รับประโยชน์

จากการทำบุญอย่างเต็มที่

 เพราะการทำบุญนี้เป็นการปฏิบัติขั้นแรก

ที่จะพาให้เราก้าวจากการเป็นนักบุญ

ไปสู่การเป็นนักบวชนั่นเอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2561 5:46:15 น.
Counter : 641 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ