Group Blog
All Blog
<<< "วิธีเข้าฌาณ - ออกฌาณ" >>>









"วิธีเข้าฌาณ-ออกฌาณ"

๑. บริกรรมนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐาน

ที่นำมาเป็นข้ออบรมจิต ปรากฏอยู่ในห้วงนึกคิด

ของบุคคลเป็นเวลาชั่วขณะจิตหนึ่งแล้วเคลื่อนไป

ต้องตั้งใหม่เป็นพักๆ ไป

 อย่างนี้แลเรียกว่า บริกรรมนิมิต

 จิตในขณะนี้เป็นสมาธิเพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง

จึงเรียกว่า ขณิกสมาธิ.

๒. อุคคหนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐานนั้นเหมือนกัน

 ปรากฏอยู่ในห้วงความนึกคิดของบุคคลอย่างชัดเจนขึ้น

 ด้วยอำนาจกำลังของสติสัมปชัญญะควบคุม

 และดำรงอยู่นานเกินกว่าขณะจิตหนึ่ง

จิตไม่ตกภวังค์ง่าย องค์ของฌานปรากฏขึ้นในจิต

เกือบครบถ้วนแล้ว อย่างนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต

จิตในขณะนั้นเป็นสมาธิใกล้ต่อความเป็นฌานแล้ว

 เรียกว่า อุปจารสมาธิ

ถ้าจะพูดให้ชัดอีกก็ว่า เข้าเขตฌานนั่นเอง.

๓. ปฏิภาคนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐาน

ที่นำมาอบรมจิตนั่นเอง

 เข้าไปปรากฏอยู่ในห้วงนึกคิด

ของบุคคลแจ่มแจ้งชัดเจน

 ถ้าเป็นรูปธรรมก็เป็นภาพชัดเจน

และผ่องใสสวยสดงดงามกว่าสภาพเดิมของมัน

 ถ้าเป็นอรูปธรรมก็จะปรากฏเหตุผลชัดแจ้งแก่ใจ

พร้อมทั้งอุปมาอุปไมยหลายหลาก

 จะเห็นเหตุผลที่ไม่เคยเห็น

 และจะทราบอุปมาที่ไม่เคยทราบ

อย่างแปลกประหลาด

 อย่างนี้แลเรียกว่าปฏิภาคนิมิต

จิตใจในขณะนั้นจะดำรงมั่นคง

 มีองค์ฌานครบถ้วน ๕ ประการเกิดขึ้นในจิต

 บำรุงเลี้ยงจิตให้สงบสุขแช่มชื่นอย่างยิ่ง

 จึงเรียกว่า อัปปนาสมาธิ จัดเป็นฌานชั้นต้นที่แท้จริง

 จิตจะดำรงอยู่ในฌานนานหลายขณะจิต

จึงจะเคลื่อนจากฌานตกลงสู่ภวังค์

 คือจิตปกติธรรมดา.

นิมิตทั้ง ๓ เป็นเครื่องกำหนดหมายของสมาธิทั้ง ๓ ชั้น

 ดังกล่าวมานั้น ท่านจึงเรียกชื่อเช่นนั้น

 ผู้ปฏิบัติพึงสำเหนียกไว้เป็นข้อสังเกต

ขีดขั้นของสมาธิสำหรับตนเองต่อไป.

ทีนี้จะได้เริ่มกล่าวถึงวิธีเจริญฌานที่แท้จริงสืบไป

 เมื่อผู้ปฏิบัติทำการอบรมจิตมาจนถึงได้สมาธิ

คือความเป็นหนึ่งของจิตขั้นที่ ๓

ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิแล้ว ชื่อว่าเข้าขั้นของฌาน

 เป็นฌายีบุคคล แล้วในขั้นต่อไป

มีแต่จะทำการเจริญฌานนั้น

ให้ช่ำชองยิ่งขึ้นโดยลำดับ

ขั้นทั้ง ๕ ดังต่อไปนี้

๑. ขั้นนึกอารมณ์

ฝึกหัดนึกอารมณ์ที่ใช้เป็นเครื่องอบรมจิต

จนได้ฌานนั้นโดยช้าๆ ก่อน เหมือนเมื่อได้ครั้งแรก

 ต้องนึกคิดและอ่านอารมณ์ตั้งนานๆ

ใจจึงจะเห็นเหตุผลและหยั่งลงสู่ความสงบได้

แล้วค่อยหัดนึกอารมณ์นั้นไว้เข้าโดยลำดับๆ

จนสามารถพอนึกอารมณ์นั้นใจก็สงบทันที

 เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการนึกอารมณ์

ที่ท่านเรียกว่า อาวัชชนวสี = ชำนาญในการนึก.

๒. ขั้นเข้าฌาน

ฝึกหัดเข้าฌานโดยวิธีเข้าช้าๆ

คือ ค่อยๆ เคลื่อนความสงบของจิต

 ไปสู่ความสงบยิ่งขึ้นอย่างเชื่องช้า

คอยสังเกตความรู้สึกของจิต

ตามระยะที่เคลื่อนเข้าไปนั้น

พร้อมกับอารมณ์ที่ให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นไปด้วย

 แล้วหัดเข้าให้ไวขึ้นทุกทีๆ จนสามารถเข้าได้ทันใจ

 ผ่านระยะรวดเร็วเข้าถึงจุดสงบที่เราต้องการเข้าทันที

 เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการเข้าฌาน

ที่ท่านเรียกว่า สมาปัชชนวสี = ชำนาญในการเข้า.

๓. ขั้นดำรงฌาน

ฝึกหัดดำรงฌานโดยวิธีกำหนดใจ

ดำรงอยู่ในฌานเพียงระยะสั้นๆ ให้ชำนาญดีเสียก่อน

 แล้วจึงกำหนดให้ยั้งอยู่นานยิ่งขึ้นทีละน้อยๆ

 จนสามารถดำรงฌานไว้ได้ตั้งหลายๆ ชั่วโมง

 ตั้งวัน จนถึง๗ วัน เมื่อการกำหนดฌาน

เป็นไปตามที่กำหนดทุกครั้งไม่เคลื่อนคลาดแล้ว

 ชื่อว่ามีอำนาจในการดำรงฌาน

 ที่ท่านเรียกว่า อธิษฐานวสี = ชำนาญในการอธิษฐาน.

๔. ขั้นออกฌาน

ฝึกหัดออกฌาน โดยวิธีถอนจิต

ออกจากความสงบอย่างช้าๆ ก่อน

คือ พอดำรงอยู่ในฌานได้ตามกำหนดที่ตั้งใจไว้แล้ว

 พึงนึกขึ้นว่า ออก เท่านั้นจิตก็เริ่มไหวตัว

 และเคลื่อนออกจากจุดสงบที่เข้าไปยับยั้งอยู่นั้น

 พึงหัดเคลื่อนออกมาตามระยะ

โดยทำนองเข้าฌานที่กล่าวแล้ว

และพึงสังเกตความรู้สึกตามระยะนั้นๆ ไว้ด้วย

จนมาถึงความรู้สึกอย่างปกติธรรมดา

 ชื่อว่าออกฌาน ในครั้งต่อๆไป

พึงหัดออกให้ว่องไวขึ้นทีละน้อยๆ

 จนถึงสามารถออกทันทีที่นึกว่าออก

 คือ พอนึกก็ออกได้ทันทีโดยไม่มีการกระเทือน

ต่อวิถีประสาทแต่ประการใด

 เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการออกฌาน

ที่ท่านเรียกว่า วุฏฐานวสี = ชำนาญในการออก.

๕. ขั้นพิจารณาฌาน

ฝึกหัดพิจารณาฌาน

โดยวิธีเมื่อถอยจิตออกจากฌาน

มาถึงขั้นความรู้สึกปกติธรรมดา

แล้วแทนที่จะลุกโดยเร็วออกจากที่

หรือหันไปสนใจเรื่องอื่น

 ก็หันมาสนใจอยู่กับฌานอีกที

 นึกทวนดูลักษณะฌาน

พร้อมทั้งองค์ประกอบของฌานนั้น

 แต่ละลักษณะให้แจ่มใสขึ้นอีกครั้ง

โดยความสุขุมไม่รีบร้อน ครั้งต่อไปจึงหัดพิจารณา

ให้รวดเร็วขึ้นทีละน้อยๆ จนสามารถ

พอนึกก็ทราบทั่วไปในฌานทันที

 เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการพิจารณาฌาน

ที่ท่านเรียกว่า

 ปัจจเวกขณวสี = ชำนาญในการพิจารณา.

ในขั้นต่อไปก็มีแต่ขั้นของ

การเลื่อนฌาน คือก้าวหน้าไปสู่ฌานชั้นสูงกว่า

 ถ้าท่านผู้ปฏิบัติไม่ใจร้อนเกินไป

 เมื่อฝึกโดยขั้นทั้ง ๕ ในฌานขั้นหนึ่งๆ

ชำนาญแล้ว การก้าวไปสู่ฌานชั้นสูงกว่า

จะไม่ลำบากเลย และไม่ค่อยผิดพลาดด้วย

 ขอให้ถือหลักของโบราณว่า

“ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ”ไว้เป็นคติเตือนใจเสมอๆ.

วิธีการที่จะเลื่อนฌานได้สะดวกดังใจนั้น

 อยู่ที่กำหนดหัวเลี้ยวหัวต่อของฌานไว้ให้ดี

คือ ขั้นต่อไปจะต้องละองค์ฌานที่เท่าไร

 และองค์ฌานนั้นมีลักษณะอย่างไร

 ดำรงอยู่ได้ด้วยอะไร ดังที่ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้แล้ว

ในตอนว่าด้วยลักษณะฌานทั้ง ๔ นั้น

 เมื่อกำหนดรู้แจ่มชัดแล้ว

 พึงกำหนดใจไว้ด้วยองค์ที่เป็นปฏิปักษ์

กับองค์ที่ต้องละนั้นให้มาก

 เพียงเท่านี้จิตก็เลื่อนขึ้นสู่ฌานชั้นสูงกว่าได้ทันที

 เมื่อเข้าถึงขีดชั้นของฌานชั้นนั้นแล้ว

พึงทำการฝึกหัดตามขั้นทั้ง ๕ ให้ชำนาญ

 แล้วจึงเลื่อนสู่ชั้นที่สูงกว่าขึ้นไป

 โดยนัยนี้ ตลอดทั้ง ๔ ฌาน.

เพื่อสะดวกแก่การกำหนดหัวต่อ

ของฌานดังกล่าวแล้วแก่ผู้ปฏิบัติ

จึงขอชี้ “หนาม” ของฌานให้เห็นชัด

 โดยอาศัยพระพุทธภาษิตเป็นหลัก ดังต่อไปนี้

พระบรมศาสดาตรัสชี้หนามของฌานไว้ว่า

 เสียง เป็นหนามของปฐมฌาน,

วิตก =ความคิด วิจาร = ความอ่าน

 เป็นหนามของทุติยฌาน, ปีติ = ความชุ่มชื่น

เป็นหนามของตติย-ฌาน, ลมหายใจ

 เป็นหนามของจตุตถฌาน ดังนี้.

ในขั้นปฐมฌาน จิตยังสังโยคกับอารมณ์อยู่

 อายตนะภายในยังพร้อมที่จะรับสัมผัส

อายตนะภายนอกได้อยู่ฉะนั้น

เสียง จึงสามารถเสียดแทรกเข้าไปทางโสตประสาท

สู่จุดรวมคือใจ แล้วทำใจให้กระเทือน

เคลื่อนจากอารมณ์ที่กำลังคิดอ่านอยู่

 บรรดาอายตนะภายนอกที่สามารถเสียดแทรก

ทำความกระเทือนใจในเวลาทำฌานนั้น

 เสียงนับว่าเป็นเยี่ยมกว่าเพื่อน

 ยิ่งเป็นเสียงที่กระแทกแรงๆ โดยกะทันหัน

ยิ่งเป็นหนามที่แหลมที่สุด

สามารถกระชากจิตจากฌานทันทีทันใด

 แต่ถ้าดื่มด่ำในอารมณ์ของฌาน

ให้มากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณแล้ว

 เสียงก็จะทำอะไรใจเราไม่ได้

 ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน

ไม่กระเทือนถึงใจนั่นเลย.

ในขั้นทุติยฌาน ความคิดความอ่าน

 จะกลายเป็นหนามตำจิตขึ้นมาในทันที

คือ เมื่อไรดิ่งลงสู่ความสงบเงียบ

โดยไม่คิดอ่านอะไรเลยนั้น

ใจก็จะผ่องแผ้วอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย

 ภาพนิมิตในขณะนั้นคือ

 จิตจะใสแจ๋วเหมือนน้ำใสนิ่งๆ

 ฉะนั้น แต่ครั้นแล้วเพราะความเคยชิน

 คือ จิตเคยท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์มานาน

 หรืออารมณ์เคยคลอเคลียอยู่กับจิตมานาน

 เมื่อมาพรากกันเช่นนี้ก็จะพรากกันนานไม่ได้

 ต้องมาเยือนบ่อยๆ จะค่อยๆ ปุดขึ้นในจิต

เหมือนปุดฟองน้ำที่ปรากฏขึ้นมาจาก

ส่วนใต้สุดของพื้นน้ำในเมื่อน้ำเริ่มใสใหม่ๆ

ฉะนั้น เมื่อความคิดอ่านปุดโผล่ขึ้นในจิต

 จิตก็ไหวฉะนั้นท่านจึงว่าเป็นหนามของฌานชั้นนี้

 วิธีแก้ก็คือ ไม่เอาใจใส่เสียเลย

 เอาสติกุมใจให้นิ่งๆ ไว้เหมือนแขกมาเยือน

 เหมือนเราไม่เอาใจใส่ต้อนรับ

 แขกก็จะเก้อกลับไป และไม่มาอีกบ่อยนัก

หรือไม่มาอีกเลยฉะนั้น.

ในขั้นตติยฌาน ปีติ = ความชุ่มชื่น

ซึ่งเป็นทิพยาหารในฌานที่ ๑-๒ นั้น

 จะเกิดเป็นหนามของฌานชั้นนี้ทันที

จะคอยทำให้จิตใจฟองฟูอยู่บ่อยๆ

 เหตุผลก็เหมือนในขั้นทุติยฌานนั่นเอง

 คือปีติเคยเป็นทิพยาหารของใจมานานแล้ว

 เมื่อมาพรากไปเสียเช่นนี้ ก็อดจะคิดถึง

และมาเยือนไม่ได้

วิธีแก้ก็ต้องใช้สติกุมใจให้วางเฉย

 ไม่เอาใจใส่ถึงอีกเลย มันก็จะหายหน้าไป

ถ้าไม่เรียก มันก็จะไม่มาอีก.

ในขั้นจตุตถฌาน ลมหายใจ

 ซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งกายสืบต่อชีวิตนั้น

เป็นที่ตั้งของสุขทุกข์และโสมนัสโทมนัส

 เมื่อมาปรากฏในความรับรู้ของจิตอยู่ตราบใด

สุขโสมนัส และทุกขโทมนัส ซึ่งอาศัยอยู่กับมัน

 ก็จะปรากฏทำการรบกวนจิตอยู่ตราบนั้น

เพราะลมหายใจเป็นพาหนะของมัน

ลมหายใจมีอยู่ได้โดยธรรมดาเอง

แม้จิตไม่เข้าไปเป็นเจ้าการ

ก็คงมีอยู่เหมือนเวลานอนหลับ

 แต่ในความรู้สึกของคนตื่นอยู่

คล้ายกะว่ามันเป็นอันเดียวกันกับจิต

จนไม่อยากวางธุระในมัน

 เข้าไปเป็นเจ้าการกับมันอยู่เรื่อยไป

 ผู้เข้าฌานไม่เหมือนคนหลับ

 ตรงกันข้ามเป็นคนตื่น

 เมื่อเป็นเช่นนี้ลมหายใจ

จึงคอยแหลมเข้าไปหาจิตบ่อยๆ

เมื่อแหลมเข้าไปเมื่อไร

จิตใจก็มักจะสัมปยุตต์กับมัน

 หรือมิฉะนั้นก็สะเทือน

จึงชื่อว่าเป็นหนามของจตุตถฌาน

วิธีการแก้ก็คือ เอาสติกุมจิตให้วางเฉยที่สุด

ไม่ใส่ใจถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของกายอีกเลย

ลมหายใจก็ไม่ปรากฏในความรับรู้ของจิต

ทั้งจะกลายเป็นลมละเอียดนิ่งเต็มตัว

ไม่มีอาการเคลื่อนไหวไปมา

 และเวลานั้นจะรู้สึกประหนึ่งว่า

 ตนนั่งอยู่ในกลุ่มอากาศใสๆ สงบนิ่งแน่อยู่

 เหมือนนั่งเอาผ้าขาวสะอาดโปร่งบาง

คลุมตัวตลอดศีรษะฉะนั้น.

ผู้ปฏิบัติพึงสำเหนียกต่อไปอีกว่า

การเจริญฌานนั้น เปรียบเหมือน

การสำรวจภูมิประเทศ

ซึ่งจำต้องเดินสำรวจกลับไปกลับมา

 เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าจนช่ำชอง

 มองเห็นภูมิประเทศ

ในห้วงนึกอย่างทะลุปรุโปร่งฉะนั้น

 เพราะฉะนั้น ต้องเดินฌานที่ตนได้แล้ว

 ตั้งแต่ปลายจนต้น เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า

 เป็นเหตุให้เกิดความช่ำชองในฌานทะลุปรุโปร่ง.

พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)





ขอบคุณที่มา fb. ไม้ขีดครับ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 21 พฤษภาคม 2561
Last Update : 21 พฤษภาคม 2561 9:35:53 น.
Counter : 915 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ