Group Blog
All Blog
<<< "ขั้นตอนของการดำเนินมรรค" >>>










“ขั้นตอนของการดำเนินมรรค”

ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นที่ร่างกายของเรา

สิ่งแรกที่เราได้คือร่างกายของเรา

 และสิ่งสุดท้ายที่เราจะเสียก็คือร่างกายของเรา

พอเราได้ร่างกาย เราก็มาหารูปเสียงกลิ่นรสกัน

มาหาลาภยศสรรเสริญกัน แล้วเราก็ดิ้นรนต่อสู้

รักษาสิ่งที่เราหามาได้ พร้อมๆ กับการหาสิ่งใหม่ๆ

มาเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ ชีวิตของเราก็เลยมีแต่การดิ้นรน

มีการต่อสู้ เป็นชีวิตที่ค่อนข้างจะเหน็ดเหนื่อย

ความเหน็ดเหนื่อยนี้ก็เรียกว่าความทุกข์นั่นเอง

อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ถ้าอยู่เฉยๆ แล้ว กลัวจะลำบาก

กลัวจะทุกข์ เพราะอยู่เฉยๆ

 เดี๋ยวจะไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะให้เสพ

 จะไม่มีลาภยศสรรเสริญมาให้ความสุข

ก็เลยต้องดิ้นรนคอยหามาอยู่เรื่อยๆ

 พอหามาแล้วมันก็หมดไปตามลำดับของมัน

ชีวิตก็เลยเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา

 ต้องเหน็ดเหนื่อยอยู่กับการหาสิ่งต่างๆ

 เหน็ดเหนื่อยเกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งต่างๆ

 และมาวุ่นวายมาเศร้าโศกเสียใจ

เวลาที่ต้องสูญเสียสิ่งต่างๆ ไปในที่สุด

คือ เวลาที่ร่างกายนี้ตายไป

 สิ่งต่างๆ ที่หามาได้หายไปหมด

 ความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆ ก็หายไปหมด

 เหลือแต่ความทุกข์ที่ต้องเสียสิ่งต่างๆ ไป

นี่คือสาเหตุที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะมีความคิดว่า

จะต้องหาวิธีให้หลุดจากการมาเกิด

มาแก่ มาเจ็บ มาตาย ให้ได้

 จึงทำให้เจ้าชายสิทธัตถะนี้ที่อยู่ท่ามกลางความสุข

ของลาภยศสรรเสริญ ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 จำเป็นจะต้องสละราชสมบัติสละสิ่งเหล่านี้

 เพราะทรงเห็นด้วยปัญญาว่า ในอนาคต

พระองค์ก็จะต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป

 เมื่อสังขารร่างกายเริ่มแก่ลง เริ่มเจ็บไข้ได้ป่วย

 เริ่มเข้าสู่ความตาย ก็จะไม่สามารถมีความสุขกับสิ่งต่างๆ

 ที่มีอยู่ในโลกนี้ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตอนนั้น

ก็จะมีแต่ความทุกข์ พระองค์จึงตัดสินพระทัยว่า

จะต้องไปหาวิธีที่จะทำให้จิตใจ

ไม่ต้องมาทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ

ที่กำลังจะประสบในอนาคต จึงได้ทรงออกบวช

 ไปศึกษากับผู้ที่รู้ว่าจิตใจนี้เป็นสิ่งที่ไม่ตาย

 เป็นสิ่งที่มายึดติดมามีร่างกายเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง

 ที่ยังไม่มีใครค้นพบว่าเป็นอะไร

 มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่ทรงเป็นผู้ทรงค้นพบว่า

 เหตุที่ดึงดูดจิตใจให้มามีร่างกายกันนี้ก็คือ

 ตัณหาทั้ง ๓ นี้ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 ที่เป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ เป็นตัวที่บีบคั้นจิตใจ

 ทุกครั้งที่เกิดความอยากเหล่านี้ขึ้นมา

 จิตใจนี้เหมือนถูกบีบ ทำให้ปวดร้าวในจิตใจ

 ทำให้มีความทุกข์ทรมานใจ

พระองค์จึงทรงค้นหาวิธีที่จะทำให้จิตใจไม่ต้องมาทุกข์

กับเหตุการณ์ต่างๆ กับความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งต่างๆ

ของการดับของสิ่งต่างๆ ก็ทรงค้นพบวิธีทำใจให้สงบนี้เอง

 เมื่อทำใจให้สงบได้ ใจก็จะระงับความอยากได้

ความอยากที่คอยบีบคั้นจิตใจให้ทุกข์ทรมานใจ

 ก็จะยุติลงชั่วคราว การฝึกในเบื้องต้นนี้

ทรงค้นพบวิธีที่จะยุติความอยากได้ชั่วคราว

คือ การฝึกสติ สมาธิ ที่เป็นองค์ประกอบของมรรค ๘ นี้เอง

คือ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และทรงพบว่า

ก่อนที่จะมาฝึกสัมมาสติ สัมมาสมาธิได้

ก็ต้องมีสัมมาอาชีโว สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา

 เพราะถ้าไม่มีการกระทำที่ถูกต้อง

ไม่มีการพูด วาจาที่ถูกต้อง

ไม่มีการกระทำความเพียรที่ถูกต้อง

ไม่มีอาชีพที่ถูกต้อง ก็จะไม่สามารถมาดำรง

 มาเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิได้นั่นเอง

ผู้ที่จะมาเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิได้นี่

จำเป็นจะต้องมีศีลนั่นเอง ศีลก็ต้องเป็นศีลของนักบวช

สัมมากัมมันโตก็คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์

 ไม่ร่วมหลับนอนกับใคร ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ

ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด

 สัมมาอาชีโวก็อาชีพที่มีไว้

เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้นเอง

ไม่ได้ทำอาชีพเพื่อให้ร่ำให้รวย

 เพื่อให้มีสมบัติมากมาย เพื่อที่จะได้ซื้อสิ่งต่างๆมาเสพ

 ซื้อรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะมาเสพ

 สัมมาอาชีพคืออาชีพสุจริต ที่ไม่ผิดกฎหมาย

ไม่ไปสร้างความเสียหายเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

 แล้วก็เป็นอาชีพที่มีไว้เพื่อเลี้ยงชีพจริงๆ

 เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง วิธีที่เลี้ยงชีพที่ถูกต้องที่สุดก็คือ

 การบิณฑบาต นี่เอง อันนี้เป็นการเลี้ยงชีพของมรรค ๘

อย่างแท้จริง คือ สัมมาอาชีโว

พระภิกษุมาบวช พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้รักษาศีล

 ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เพื่อให้เกิดสัมมากัมมันโตขึ้นมา

 สัมมาวาจาขึ้นมา เพราะเมื่อมีสัมมากัมมันโต

 สัมมาวาจา ก็จะไม่มีเรื่องมีราวกับใคร

จะไม่ต้องไปเสียเวลากับการไปแก้ปัญหาต่างๆ

ที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

 เช่นถ้าไปลักทรัพย์ เดี๋ยวก็ต้องไปติดคุกติดตะราง

 ต้องคอยหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 ทำบาปแล้วมันก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา

 ก็จะไม่มีเวลามาเจริญสัมมาสติ เจริญสัมมาสมาธิได้

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการจะมาหยุดความอยาก

ในระดับของสัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ก็ต้องมีสัมมากัมมันโต สัมมาวาจา

 คือ มีศีล ๘ ขึ้นไป ถ้ามีศีล ๕ นี้

มันยังทำให้จิตใจไปเถลไถลทำกิจกรรมอย่างอื่นได้

 จะไม่มาทำสัมมาสติ สัมมาสมาธิ จะไม่มีสัมมาวายาโม

 คือความเพียรที่ถูกต้อง เพราะจะไปเพียร

อยู่กับการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ถ้าถือเพียงศีล ๕ ก็ยังไปร่วมหลับนอนกับแฟนได้

 ยังไปเสพกามตัณหาได้

การร่วมหลับนอนกับคู่ครอง

ก็เป็นการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เสพกามนี่เอง

 แล้วก็การไปรับประทานอาหาร

มากเกินความต้องการของร่างกาย

 ก็เป็นการเสพกามผ่านทางรสชาติ

 ก็รูปเสียงกลิ่นรสเหมือนกัน

 เสพกาม แล้วก็ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

 ไปงานบันเทิงต่างๆ ไปดูมหรสพต่างๆ

 ต้องแต่งเนื้อแต่งตัว แต่งกายไว้ให้งาม

ก็จะเอาเวลามาทำกิจกรรมเหล่านี้หมด

ถ้าสัมมากัมมันโต สัมมาวาจา เป็นเพียงศีล ๕

 ก็จะไม่พอเพียงที่จะทำให้เกิดสัมมาวายาโม

 คือ ความเพียรที่ถูกต้อง

 ความเพียรที่ถูกต้องคือความเพียรที่จะเจริญสติ

สัมมาสมาธินั่นเอง ดังนั้น ผู้ที่ต้องการจะสร้างมรรค ๘

 ต้องเริ่มต้นที่สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา และสัมมาอาชีโว

ก็ต้องถือศีล ๘ อาชีพก็เพียงแต่หาปัจจัย ๔

มาเลี้ยงชีพก็พอ ไม่หามากเกินไป

 เพราะถ้าหามากก็จะไม่มีเวลามาเจริญสติ

เจริญสัมมาสมาธิ เช่น คนที่ทำงานบินไปบินมา

 อันนี้หาเงินมากกว่าเงินทองที่จะเอามาใช้

กับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มาซื้อกระเป๋าซื้อรองเท้า

ซื้อเสื้อผ้า ซื้อคอนโด ซื้อรถ ซื้ออะไรต่างๆ

 อันนี้ไม่ถือว่าเป็นสัมมาอาชีโวในระดับของมรรค ๘

 แต่สำหรับของฆราวาสผู้ครองเรือน

 ผู้ถือศีล ๕ นี่ ยังถือว่าเป็นสัมมาอาชีโวอยู่

 คือเป็นอาชีพที่ไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่ผิดกฎหมาย

“สัมมาอาชีโว” ก็มีหลายระดับด้วยกัน

 วันนี้พูดถึงระดับสูงสุด ระดับที่เป็นระดับของมรรค ๘ จริงๆ

 ต้องมีอาชีพเพียงเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้น

 ตัวอย่างที่ถูกต้องที่สุดก็การบิณฑบาต

ญาติโยมบางคนที่มาอาศัยอยู่กับพระก็ทำแบบเดียวกัน

 ไปช่วยพระเดินบิณฑบาต พระได้อาหารมา

 พระก็แบ่งอาหารจากการที่ได้บิณฑบาต

ให้ญาติโยมที่มาถือศีล ๘ มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด

ก็กินมื้อเดียวเหมือนกับพระ ปฏิบัติเหมือนกับพระ

 กินแล้วก็จบ แล้วก็จะได้ไม่มาวุ่นวาย

 ต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน อันนี้ทำแค่ชั่วโมงเดียวก็ได้แล้ว

 ได้อาหารมาพอเพียง แล้วก็มารับประทานมื้อเดียว

 ฉันเสร็จแล้วทีนี้ก็หมดแล้วกิจกรรมสำหรับทางร่างกาย

 ต่อจากนั้นก็เป็นกิจกรรมของจิตใจของมรรค ๘

ของการเจริญสัมมาสติ เจริญสัมมาสมาธิ

เพื่อให้เข้าสู่การเจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปต่อไป

นี่คือการเจริญมรรค

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงนำเอามาเผยแผ่สั่งสอน

แต่ก็แบ่งไว้เป็น ๒ ระดับ ระดับของนักบุญ

และระดับของนักบวช ระดับของนักบุญก็สัมมากัมมันโต

 สัมมาวาจา ก็อยู่แค่ศีล ๕

 สัมมาอาชีโวก็ทำอาชีพไม่ผิดกฎหมาย

ไม่ผิดศีลธรรม ไม่เบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น

 แต่จะหามามากน้อยเพียงใดก็ไม่ห้าม

 อยากได้ ๑๐๐ ล้าน ๑,๐๐๐ ล้านก็หาได้

 ก็ยังถือว่าเป็นสัมมาอาชีโวอยู่

ได้เงิน ๑๐๐ ล้าน ๑,๐๐๐ ล้าน

 จะไปซื้ออะไรก็ไม่เสียหายตรงไหน

 เสียหายตรงที่ว่าจะทำให้ไม่มีเวลาที่จะมาสร้างสัมมาสติ

 สร้างสัมมาสมาธิ ที่จะเป็นตัวที่จะหยุดตัณหาความอยาก

 ตัวที่จะกำจัดความอยากต่างๆ

ที่เป็นตัวดึงดูดให้ใจต้องติดอยู่ในวัฏสงสาร

อยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดในไตรภพนี้

สำหรับนักบุญก็เป็นผู้ที่ยังถือว่ามีอินทรีย์น้อย

“อินทรีย์ ๕” คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ยังมีน้อย

 เปรียบเทียบก็เหมือนเด็กที่เรียนอยู่ในระดับประถม

ระดับมัธยม ไม่เหมือนกับเด็กที่เข้าสู่ระดับปริญญา

 อุดมศึกษา มีความสามารถเรียนรู้ไม่เท่ากัน

 มีความสามารถที่จะปฏิบัติไม่เท่ากัน

 แต่ก็เป็นขั้นตอนของการดำเนินมรรค

คือ ก็ต้องเริ่มจากระดับต่ำขึ้นไปสู่ระดับสูงก่อน

 เพราะทุกคนเกิดมาก็เกิดมาเป็นฆราวาส

เป็นผู้ครองเรือนกัน ก็จะถนัดกับการเป็นนักบุญก่อน

 เมื่อได้เป็นนักบุญแล้ว ต่อไปก็จะมีกำลังที่จะพัฒนา

 จากการเป็นระดับนักบุญนี้ขึ้นไปสู่การเป็นนักบวช

 เช่นนักบุญบางท่านก็ในวันหยุด

 เช่น ๓ วันนี้ แทนที่จะไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 แทนที่จะไปเพิ่มพลังแรงดึงดูด

ให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด

ก็มาฝึกวิธีลดพลังแรงดึงดูด

ที่จะดูดให้กลับมาเวียนว่ายตายเกิด

ด้วยการไปอยู่วัดกัน ไปอยู่แบบนักบวชกัน

 ไปหัดเป็นนักบวชกัน เป็นนักบวชชั่วคราวก่อน ๓ วัน

 หยุด ๓ วันนี้ก็ไปเป็นนักบวชชั่วคราว

เคยถือศีล ๕ ก็เปลี่ยนเป็นการถือศีล ๘

แล้วก็เคยดูหนังฟังเพลง

 เคยเที่ยวเคยกินเคยดื่มตามความอยาก

 ทีนี้ก็ต้องกำจัด ถ้าจะกินจะดื่ม

ก็ต้องกินดื่มแบบสัมมาอาชีโว

 กินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้น

ไม่กินไม่ดื่มเพื่อตอบสนองตัณหาความอยาก

 แล้วก็จะได้มีเวลาที่จะมาเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ

 มาเจริญสัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

 ความเพียรชอบก็มาเจริญสติกัน

 มาเพียรเจริญสมาธิ มาเพียรเจริญปัญญากัน

 เพราะนี่คือองค์ประกอบของมรรคที่สำคัญ

 ในการที่จะกำจัดแรงดึงดูดที่ดูดให้จิตใจ

ต้องติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดกันมาอย่างโชกโชน

 และจะติดอยู่ต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

 ถ้าไม่สามารถสร้างสัมมาสติ สร้างสัมมาสมาธิ

สร้างสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ขึ้นมาได้

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...................................

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 05 มีนาคม 2562
Last Update : 5 มีนาคม 2562 10:37:09 น.
Counter : 593 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ