bloggang.com mainmenu search





















ลูกตาล

 ....

ชื่อสามัญ Asian Palmyra palm, Palmyra palm,

 Brab palm, Doub palm, Fan palm, Lontar palm,

Toddy palm, Tala palm, Wine palm

จัดอยู่ในวงศ์ เดียวกับตาว จาก ลาน หวาย และมะพร้าว

 มีชื่อท้องถิ่นว่า ตาลนา ปลีตาล (เชียงใหม่),

 ตาล ตาลใหญ่ ตาลโตนด (ภาคกลาง),

โหนด ลูกโนด(ภาคใต้), ถาล (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน),

ถาน (ชาน-แม่ฮ่องสอน), ทอถู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน),

 ท้าง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ตะนอด (เขมร),

ทะเนาด์ (เขมร-พระตะบอง)

ถิ่นกำเนิดทวีปแอฟริกา ขยายแพร่พันธุ์ จนมีอยู่ทั่วไป

ในเอเชีย เขตร้อน รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ซึ่งพบทั่วไปของทุกภาคของประเทศ

และสามารถได้มากในภาคตะวันตก ในจังหวัดเพชรบุรี

สุพรรณบุรี อยุธยา และนครปฐม

ต้นตาลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์หลักๆ

คือ "ตาลบ้าน" เป็นตาลที่มีจำนวนของเต้าจาว

 ในแต่ละผลประมาณ 1-4 เต้า

 และยังมีสายพันธุ์ย่อยอีก 3 สายพันธุ์ ได้แก่

ตาลหม้อ ผลใหญ่ ผิวดำคล้ำ ตาลไข่ ผลเล็กกว่า ผลมีสีขาวเหลือง

 และตาลจาก มีผลในทะลายแน่น คล้ายกับทะลายจาก

 "ตาลป่า" หรือ ตาลก้านยาว จะมีผลเล็ก มีผลเขียวคล้ำ

มีเต้าอยู่ 1-2 เต้า มีลำต้นเขียวสดและก้านใบยาว

 และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก

เราสามารถแยกแยะ ความแตกต่าง ระหว่างตาลไข่กับตาลหม้อ

ได้อย่างชัดเจนเมื่อเป็นผลโดยตาลไข่จะมีลูกเล็ก

 สีเหลืองตลอดทั้งผล ผิวมีประเป็นจุดๆ สีดำทั่วไป

ส่วนเนื้อเยื่อมีความชื้นมากและให้แป้งน้อย

ส่วนตาลหม้อ นั้นลูกจะใหญ่ บางทีอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร

 และวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 23 เซนติเมตร

 โดยผิวผลจะดำสนิทและมีสีเหลืองเล็กน้อย บริเวณก้นผลเท่านั้น

ส่วนเยื่อจะมีความชื้นน้อยและให้แป้งมาก

ต้นตาล หรือ ต้นตาลโตนด เป็นปาล์มต้นเดี่ยว ที่มีความสูงชะลูด

มีลำต้นใหญ่ และเนื้อแข็งแรงมาก

และเป็นปาล์ม ที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น

มีลำต้นขนาดประมาณ 30-60 เซนติเมตร

 มีความสูงของต้นได้ถึง 25-40 เมตร

ลำต้นเป็นเสี้ยนสีดำ และแข็งมาก แต่ไส้กลางของลำต้น จะอ่อน

 ส่วนบริเวณโคนต้น จะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่

ในขณะที่ต้นยังเตี้ยจะมีทางใบแห้ง

และติดแน่น เจริญเติมโตช้ามาก

 ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 15 ปี จึงจะให้ผลผลิต

 ดอกเพศเมียและเพศผู้ของตาล จะอยู่แยกกันคนละต้น

ช่อดอกเพศผู้ลักษณะเป็นงวงยาว

ช่อดอกเพศเมีย ลักษณะเป็นทะลาย มีผลตามเล็ก ๆ

ติดอยู่ทะลายละ 1-20 ผล

ผลตาลจะเกิดเฉพาะต้นเพศเมียเท่านั้น

ช่อดอกของตาล ให้น้ำหวานได้ทั้ง ช่อดอกเพศผู้ที่เรียกว่า “งวง”

และช่อดอกเพศเมียที่เรียกว่า “จั่น” หรือ “ปลี”

โดยชาวสวนจะนวดงวง หรือจั่นเบา ๆ แล้วใช้มีดปาดปลาย

 เอากระบอกไม้ไผ่รองรับ น้ำหวานหรือ “น้ำตาลสด”

มีกลิ่นหอมหวาน แบบธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะต้มดื่ม

 เพื่อความสดชื่นและให้พลังงาน จากน้ำตาลธรรมชาติแล้ว

 ยังแปรรูปโดยการเคี่ยวให้งวด เป็นน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปิ๊บ

 ใช้ในการปรุงอาหาร ทั้งคาวหวาน ให้รสชาดหวานกลมกล่อม

 และหอมกว่าน้ำตาลทราย อาจนำไปหมักเป็นน้ำตาลเมา

 หรือนำไปกลั่นต่อ เป็นน้ำส้มสายชู

ช่อดอกเพศเมีย จะให้น้ำตาลได้มากกว่า ช่อดอกเพศผู้

แต่เมื่อถูกปาดเอาน้ำตาลแล้ว ช่อดอกเพศเมีย จะไม่เจริญไปเป็นผล

ลูกตาล เป็นผลไม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่ค่อยถือเป็น ผลไม้

 สิ่งที่มาจาก ตาล นำมาทำอาหารไม่ว่าชนิดไหน ก็อร่อยทั้งนั้น

 เช่น น้ำตาลสด น้ำตาลปึก หัวตาลอ่อน ต้มจิ้มน้ำพริก

แกงหัวตาล ลูกตาลอ่อน หรือ เมล็ดอ่อน เฉาะสดๆ หวานหอม

 นำมาทำเป็นตาลลอยแก้วหรือ เชื่อมน้ำตาล

หั่นสด ๆใส่น้ำกะทิน้ำแข็ง นำเนื้อมากวน ทำพายลูกตาล ฯ

เมื่อลูกแก่ นำเนื้อตาลสุกที่เปลือก มาทำขนมตาล ขนมไข่ปลา

และเมล็ดแก่ เมื่องอก ผ่าออกมา ก็จะได้จาวตาล อร่อยมากหวานดี

โดยมากจะนำไปเชื่อม จาวตาลเชื่อม ก่อนจะนำมาเชื่อมได้

ต้องใช้มีดผ่าเปลือกแข็งๆ ออกมาแล้วแช่น้ำปูนใส

 ล้าง ขัดผิวด้วยใบตองแห้ง จึงนำไปเชื่อมไฟอ่อนๆ

 นานมาก ก่อนจะเสร็จ

ผลตาล กินได้ตั้งแต่ยังอ่อน โดยตัด “หัวตาล”

หรือเนื้ออ่อน ด้านที่ติดขั้วผล ปอกเปลือกสีเขียวอ่อนออก

 แล้วฝานบาง ๆ นำไปแช่น้ำเกลือ หรือน้ำมะนาว

 เพื่อคงความขาวนวล น่ากินไว้ ไม่ให้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

ก่อนจะนำไปประกอบอาหาร เมื่อผลตาลแก่ แต่ยังไม่สุก

เปลือกนอกแข็งสีดำ ภายในมีเมล็ดที่เรียกว่า “ลอนตาล”

หรือ “เต้าตาล” 2-4 เมล็ด ลักษณะอ่อนนุ่ม ใสเหมือนวุ้น

มีน้ำอยู่ข้างใน รสหวานหอม เรียกว่า “ลูกตาลอ่อน”

และด้วยความ ที่ต้องใช้วิธีเฉาะ ออกมาจากผล

จึงเรียกอีกชื่อว่า “ตาลเฉาะ”

ลูกตาลอ่อนจะให้ คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอและซี เหล็ก

 แคลเซียม รวมถึงฟอสฟอรัส

 ผลตาลแก่และสุกเต็มที่ จะมีกลิ่นหอมแรง

เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลืองส้ม ที่ใช้ทำขนมตาล

บ่งบอกว่ามีเบตาแคโรทีน

 ซึ่งมีมากถึง 615 ไมโครกรัม ต่อเนื้อตาลสุก 100 กรัม

รวมทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามินซี แคลเซียม

 คาร์โบไฮเดรต ฟอสฟอรัส และเส้นใยอาหาร

 ส่วนเมล็ดข้างใน เมื่อเพาะให้รากงอกจะกลายเป็น “จาวตาล’

 ที่ให้ฟอสฟอรัสและวิตามินซี

ส่วนต่าง ๆ ของตาลมีสรรพคุณทางยา

เช่น ลูกตาลอ่อน กินแล้วช่วยลดความร้อน ในร่างกาย

 ลดเสมหะ และบรรเทาอาการไอ

ช่อดอกเพศเมีย ต้มน้ำดื่มแก้เด็ก เป็นตานขโมย

 แก้พิษตานซาง ขับพยาธิ แก้ร้อนใน แผลในปาก

ช่อดอกเพศผู้ ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง ยาขับปัสสาวะ
































ขอบคุณข้อมูลจาก fb. Siriwanna Jill
ขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพค่ะ

Create Date :22 มิถุนายน 2558 Last Update :22 มิถุนายน 2558 11:49:44 น. Counter : 4222 Pageviews. Comments :0