bloggang.com mainmenu search













คนไทยคิดค้นภูมิปัญญาด้านการกินอาหารให้เป็นยา

ได้หลากหลายเมนู ทั้งการใช้เครื่องเทศมาปรุงอาหาร


ใช้ผักต่าง ๆ มาล้างพิษให้กับเนื้อสัตว์

เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนอย่างปลอดภัย

ตัวอย่างเช่นแกงไก่ใส่มะเขือ

มะเขือนั้นมีคุณสมบัติช่วยดักจับคอเรสเตอรอล

 หรือการนำผักพื้นบ้านมาปรุงอาหาร

เป็นเครื่องจิ้มในน้ำพริก เครื่องเคียงได้รสชาติลงตัว

รองศาสตราจารย์ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหาร

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ร่วมกับนักศึกษาปริญญาโทในหลักสูตร

พิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

ได้ทำการศึกษา ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์

ของดอกไม้กินได้ 8 ชนิดที่คนไทยนิยมบริโภค

 จากการศึกษาสารที่มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์

ของดอกไม้ที่คนไทยนิยมบริโภค

ได้แก่ หัวปลี ดอกขจร ดอกเข็ม ดอกแค ดอกบัว

 ดอกเฟื่องฟ้า ดอกโสน และดอกอัญชัน

ทั้งในดอกไม้กินสดและดอกไม้ที่ผ่านวิธีการปรุง

ไม่ว่าจะด้วยวิธีการต้มหรือชุบแป้งทอด พบว่า

ดอกไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคทั้ง 8 ชนิด

มี สารต้านฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์

สามารถลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี

การศึกษาได้ใช้แมลงหวี่สายพันธุ์พิเศษ

ซึ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงของขนบนปีก

จากปกติที่มีเพียง 1 เส้น เป็น 3-4 เส้นจากรูขุมขนเดียวกัน

เมื่อได้รับสารก่อกลายพันธุ์คือ สารยูรีเทน

(ซึ่งเป็นสารก่อกลายพันธุ์ชนิดหนึ่ง)

ในการทดลองได้ให้แมลงหวี่กินอาหาร

ที่มีส่วนผสมของดอกไม้กินได้ทั้ง 8 ชนิด พร้อมกับยูรีเทน

ผลปรากฏว่าจำนวนการเปลี่ยนแปลงขนบนปีก

เนื่องจากยูรีเทนนั้นได้ลดลง

เมื่อเทียบกับกลุ่มแมลงหวี่ที่ได้แต่ยูรีเทนอย่างเดียว

แสดงให้เห็นว่าสารธรรมชาติที่ได้จากดอกไม้เหล่านี้

ช่วยให้การกลายพันธุ์ของขนบนปีกของแมลงหวี่ลดลง

เป็นหลักฐานว่าดอกไม้กินได้ทั้ง 8 ชนิด

มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์

อย่างไรก็ตามสันนิษฐานว่าสารธรรมชาตินั้นอาจเป็นสาร

 “แอนโทไซยานีน” ซึ่งเป็นสีของดอกไม้

ที่มีประสิทธิภาพในการต้านและช่วยลดอนุมูลอิสระ

 นอกจากนี้ดอกไม้กินได้ทั้ง 8 ชนิด

 ยังอุดมด้วยคุณค่าจากใยอาหารช่วยในการขับถ่าย

สีสันอันหลากหลายของดอกไม้กิน

รวมทั้งพืชผักที่มีสีเข้มต่าง ๆ

จึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อบริโภคเป็นประจำ

สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้

ในด้านคุณสมบัติของสารอาหารนั้น

แม้วิธีการปรุงอาหารโดยผ่านความร้อน

จะมีผลในการทำลายสารอาหารไปบ้าง

แต่สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายดังกล่าว

ยังสามารถทนความร้อนและคงฤทธิ์ต้าน

การก่อกลายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

ผลการวิจัยดังกล่าวจึงสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอด

และใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย

ทั้งในด้านการพัฒนาเป็นสีผสมอาหาร

เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร

รวมทั้งสามารถพัฒนาเป็นยาที่ใช้ป้องกันโรคได้

นอกจากนี้ยังมีพบว่าดอกไม้กินได้ดังกล่าว

ยังมีคุณค่าทางอาหาร ตัวอย่างเช่น

 ดอกขจรในปริมาณ 100 กรัม มีวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ

 ประกอบด้วยวิตามินเอ 3,150 ไอยู

วิตามินซีมีมากถึง 45 มิลลิกรัม

 แคลเซียม 70 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 90 มิลลิกรัม

ทั้งยอดอ่อน ผลอ่อน และดอกขจร

สามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งนั้น

โดยเฉพาะใช้เป็นผักต้มหรือผักลวกจิ้มน้ำพริก

 หรือทำเป็นอาหารอื่น ๆ เช่น แกงส้มดอกขจร

ยำดอกขจร แกงจืดดอกขจร ข้าวต้มดอกขจร เป็นต้น

ส่วนที่มีคุณค่าทางอาหารมากที่สุดคือส่วนยอดอ่อน

ส่วนดอกโสนให้ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส

บำรุงกระดูกบำรุงสมอง มีเหล็กบำรุงเลือด

 ให้วิตามินเอไว้ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บอีก

และมีวิตามินบี 1 บี 2 ไนอะซิน

และวิตามินซี อีกพอสมควร

 นับว่าเป็นดอกไม้พืชพื้นบ้าน

ที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายอย่างมาก

ด้าน “ดอกแค” นั้น มาทำเมนูแกงส้ม พบว่า

ดอกแค 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงานต่อร่างกาย

10 กิโลแคลอรี มีเส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส

 เหล็ก แคโรทีน วิตามินเอ วิตามิน บีหนึ่ง วิตามินบีสอง

และวิตามินซี ดังนั้นการรับประทานดอกแค

จะทำให้ร่างกายได้เส้นใยอาหาร

สารแอนโทไซยานิน มีอยู่มากในดอกอัญชัน

มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น

ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น

เนื่องจากสารตัวนี้จะไปเพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือดเล็ก ๆ

 เช่น หลอดเลือด ส่วนปลาย

ทำให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับการมองเห็นแข็งแรงขึ้น

เพราะมีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงมากขึ้น

“การเลือกกินอาหารไม่ควรพิจารณา

เฉพาะเรื่องรสชาติเพียงอย่างเดียว

แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารด้วย

 ควรทราบว่าอาหารที่เรากินมีสารพิษ

เป็นอันตรายต่อร่างกายแฝงอยู่หรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นสารพิษที่เกิดจากการปรุงอาหาร

รวมถึงสารพิษจากอาหารโดยตรง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารก่อกลายพันธุ์

ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง

 ฉะนั้นเป็นการยากที่จะทราบได้ว่า

อาหารที่เรากินเป็นประจำมีสารพิษแฝงอยู่หรือไม่

 การป้องกันด้วยวิธีการเลือกกินอาหาร

ที่ช่วยป้องกันโรคจึงมีความสำคัญ

ดังนั้นทางสถาบันโภชนาการจึงได้ทำการศึกษา

ดอกไม้ที่คนไทยนิยมบริโภค 8 ชนิด

เพื่อจะได้เป็นอีกช่องทางในการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง”

หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหาร

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลให้คำแนะนำ

ดอกไม้กินได้ 8 อย่าง เป็นอาหารราคาถูก

และมีคุณค่าจัดว่าเป็นวิตามินและยาในตัวเดียวกัน

บางครั้งแทบไม่ต้องซื้อหา อีกทางเลือกทางรอด....

ในยุคของอาหารแพงค่าแรงยังไม่ปรับ 300 บาท

ขอบคุณข้อมูลจาก

รองศาสตราจารย์ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหาร

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

#RamaChannel



Create Date :11 ตุลาคม 2557 Last Update :11 ตุลาคม 2557 20:36:55 น. Counter : 1784 Pageviews. Comments :0