bloggang.com mainmenu search




"มะระขี้นก" เบื้องหลังความขมเธอมีคุณค่ามากมาย










หวานเป็นลม ขมเป็นยา ดูเหมือนจะใช้ได้กับผักพื้นบ้าน

ที่มากสรรพคุณทางยาย่างมะระขี้นก

มะระขี้นกเป็นพืชเขตร้อนที่พบได้โดยทั่วๆไป

 มีผลเล็ก เมื่อดิบจะมีสีเขียวเข้ม ผิวขรุขระ

เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม

ทุกส่วนของลำต้นไม่ว่าจะเป็น ใบ ผล เมล็ด ล้วนมีรสขม

เมล็ดสุกจะมีสีแดง ซึ่งนกจะชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด

จากนั้นก็ถ่ายเมล็ดออก ไปตามที่ต่างๆ

เมื่อพบกับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ก็งอกผลิใบออก

 ทอดลำต้นเลื้อยไปเกาะในที่ต่างๆ

มะระลูกเล็กนี้จึงถูกเรียกว่ามะระขี้นก

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Momordica charantia

เพราะความขมของมะระขี้นก

จึงมักนิยมรับประทานกันในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

อาหารจานพื้นบ้านที่นิยมก็จะเป็นยอด

และผลอ่อนที่ควักไส้ออกแล้วมาลวกจิ้มน้ำพริก

หรือไปทำแกงชนิดต่างๆทั้ง แกงคั่ว แกงเลียง แกงป่า

 หรือบางครั้งก็นำไปผัดกับไข่

แต่ภายใต้อาหารพื้นบ้านธรรมดาๆที่มีรสขมนี้

อุดมไปด้วยสารสำคัญที่มีคุณค่าหลายชนิด

ผลดิบของมะระขี้นกอุดมไปด้วย วิตามินเอ วิตามินซี

ฟอสฟอรัส เหล็ก และ สารต้านอนุมูลอิสระ

นอกจากนี้ยังมีโปรตีนอีกหลายชนิดที่มีสรรพคุณทางยา 

( ลดน้ำตาลในกระแสเลือด ต้านเชื้อไวรัส ต้านมะเร็ง)

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในหลายๆประเทศ

หลายๆงานวิจัยในสัตว์ทดลอง

และบางงานวิจัยในมนุษย์ที่สนับสนุน

การลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด

ทั้งการทดลองระยะสั้นและระยะยาว

สามารถลดระดับน้ำตาลตอนเช้า และหลังอาหาร

รวมทั้งน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง (HbA 1 c) ได้

ทั้งในรูปแบบต่างๆกันเช่น

น้ำผลดิบมะระคั้นสด สารสกัด แบบผงแห้ง

 และน้ำชามะระที่ทำจากลำต้นและใบของมะระขี้นก

นอกจากนี้ยังพบว่ามะระขี้นกยังสามารถลดคอเลสเตอรอล

ในหลายๆงานวิจัยในสัตว์ทดลอง

ทั้งที่ปกติและเป็นเบาหวาน มีรายงานการวิจัยพบว่า

โปรตีนในมะระขี้นกสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวน

ของไวรัสหลายๆชนิด เช่น ไวรัสเอดด์ เริม โปลิโอ 

และนอกจากนี้มะระขี้นกยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง

จากงานวิจัยที่ผู้เขียนได้ทำในหัวข้อ

ผลของการบริโภคมะระขี้นกในรูปแบบต่างๆ

(น้ำมะระขี้นก ผงมะระขี้นกทำแห้งแบบเยือกแข็งจากน้ำ

และจากผลมะระขี้นกตากแห้ง)

ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน

ของระดับน้ำตาลอินสุลิน และไขมันในกระแสเลือด

หลังอาหาร ของผู้ป่วยเบาหวานก็พบว่าชนิดที่สอง

ในระหว่างผลิตภัณฑ์จากมะระขี้นก

น้ำมะระขี้นกคั้นสดมีประสิทธิภาพ

ในการควบคุมระดับน้ำตาล

 และไขมันไตรกลีเซอไรด์   หลังอาหารดีที่สุด

ไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงตลอดทั้งการศึกษาครั้งนี้ค่ะ

การรับประทานมะระขี้นกที่ปลอดภัย คือ

ต้องคว้านเอาแกนกลางที่เป็นเมล็ด

และเนื้อเยื่อเมล็ดที่ติดกับเนื้อมะระ

ตรงกลางออกให้หมด

 การรับประทานผลมะระขี้นกดิบ

ที่เอาเมล็ดและเนื้อเยื่อออกพบว่า

ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ

แต่มีบางรายที่อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหารบ้าง

เช่น ปวดท้อง ถ่ายเหลว

ก็ควรลดปริมาณที่รับประทานลง

ข้อพึงระวังในการรับประทานมะระขี้นกคือ

ไม่ควรรับประทานผลมะระขี้นกที่สุก

เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มแล้ว และเมล็ดมะระ

เนื่องจากจะมีผลข้างเคียง

ทำให้เกิดอาการถ่ายท้องอย่างรุนแรง

และมีรายงานผลการวิจัยในสัตว์ พบว่า 

ทำให้ระดับเอนไซม์ในตับสูงขึ้น

ห้ามรับประทานมะระขี้นกในเด็กและสตรีที่ตั้งครรภ์ 

เพราะมะระขี้นกมีสรรพคุณทำให้เกิดการแท้งได้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือด พร่องเอนไซม์ G6PD

ก็ห้ามรับประทานมะระขี้นก

เนื่องจากจะทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกได้

สำหรับผู้ป่วยต่างๆทั้งผู้ป่วยเบาหวาน

 ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

หากต้องการรับประทานมะระขี้นกโดยหวังผลทางยา

เช่น รับประทานน้ำคั้นจากผลดิบ

แคปซูลมะระขี้นก ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบด้วย

เพื่อป้องกันการเสริมฤทธิ์กับยาที่รักษา

จนเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ค่ะ

...............................

ขอบคุณข้อมูลจาก รุ่งรัตน์ ไชยวัฒนาสราญสุข

วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต

สาขาโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรัตน์ โคมินทร์

และ อาจารย์นายแพทย์ปริย พรรณเชษฐ์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

#RamaChannel







Create Date :26 กุมภาพันธ์ 2557 Last Update :30 พฤษภาคม 2559 11:15:44 น. Counter : 3151 Pageviews. Comments :0