" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
4 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0013. SIX THINKING HATS : 1 ใน 109 หนังสือควรอ่าน จาก นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร






เมื่อวันที 15 กันยายน 2547 ในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "อนาคตกำลังไล่ล่าประเทศไทย" ณ ห้อง แกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี ในงานกาลาดินเนอร์หาทุนสร้างสาธารณประโยชน์ ซึ่งจัดโดยนักศึกษา วปรอ. รุ่น 4616 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึง หนังสือเล่มหนึ่งของ Edward De Bono คือ Six Thinking Hats แต่เพียงกล่าวสั้นๆ เพื่อแนะนำให้ผู้ประกอบการพัฒนาแนวคิดและฝึกการคิดนอกกรอบ เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ....





















Create Date : 04 มีนาคม 2551
Last Update : 4 มีนาคม 2551 9:31:36 น. 2 comments
Counter : 4038 Pageviews.

 
เอกสารประกอบสัมมนา
เรื่อง Knowledge Management
หัวข้อการบรรยาย
Thinking Tool: Six thinking hats



บรรยายโดย
นางสาวชนกพร วงษ์ทิม B4512806
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เวลา 09.00 – 12.00 น.
ณ ห้อง B1132 อาคารเรียนรวม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

บทนำ
เนื่องจากในสังคมปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ทำให้คนเราต้องดิ้นต่อสู้กันทำให้ทุกคนล้วนมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากเราไม่มีการจัดการระบบความคิด การตัดสินใจต่างๆอาจไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจัดการความคิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และมีความจำเป็นต่อคนเราเป็นอย่างมาก
ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน จึงได้ให้เทคนิค “Six thinking hats” เพื่อช่วยจัดระเบียบการคิด ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในปัจจุบันวิธีการดังกล่าวได้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง โดยหมวกแต่ละใบเป็นการนำเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ตามมุมมองต่างๆ ของปัญหา โดยวิธีการสวมหมวกทีละใบในแต่ละครั้ง เพื่อพลังของการคิดจะได้มุ่งเน้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ความเห็นและความคิดสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นได้ และยังเป็นการดึงเอาศักยภาพของแต่ละคนมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว

Six thinking hats คืออะไร
Six thinking hats คือ เทคนิคการคิดอย่างมีระบบ คิดอย่างมีโฟกัส มีการจำแนกความคิดออกเป็นด้านๆ และคิดอย่างมีคุณภาพ เพื่อช่วยจัดระเบียบการคิด ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวคิดหลัก “การคิด” เป็นทักษะช่วยดึงเอาความรู้และประสบการณ์ของผู้คิดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ทักษะความคิดจึงมีความสำคัญที่สุด
ดร. Edward de Bono (เอดเวิร์ด เดอ โบโน) ได้ทำการคิดค้นเทคนิคการคิด six thinking hats ขึ้นมาเพื่อเป็นระบบความคิดที่ทำ ให้ผู้เรียนมีหลักในการจำแนกความคิดออกเป็น 6 ด้าน ทำให้สามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจด้วยการคิดทีละด้านอย่างเป็นระบบ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้ทักษะการคิด ทำให้ไม่คิดกระโดดไปกระโดดมา หรือคิดพร้อมกันทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้สับสนใช้เวลานาน และสรุปไม่ได้

องค์ประกอบของ Six Thinking Hats
Six Thinking Hats จะประกอบด้วยหมวก 6 ใบ 6 สี คือ
1. White Hat หรือ หมวกสีขาว หมายถึง ข้อมูลเบื้องต้นของสิ่งนั้น เป็นความคิดแบบไม่ใช้อารมณ์ และมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน แน่นอน ตรงไปตรงมา ไม่ต้องการความคิดเห็น สีขาวเป็นสีที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นกลาง จึงเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง จำนวนตัวเลข เมื่อสวมหมวกสีนี้ หมายความว่าที่ประชุมต้องการข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยปกติแล้วเรามักจะ ใช้หมวกขาวตอนเริ่มต้นของกระบวนการคิดเพื่อเป็นพื้นฐานของความคิดที่กำลังจะเกิดขึ้นแต่เราก็ใช้หมวกขาวในตอนท้ายของกระบวนการได้เหมือนกัน เพื่อทำการประเมิน อย่างเช่นข้อเสนอโครงการต่างๆของเราเหมาะสมกับข้อมูลที่มีอยู่หรือไม่
2. Red Hat หรือ หมวกสีแดง หมายถึง ความรู้สึก สัญชาตญาณ และลางสังหรณ์ เมื่อสวมหมวกสีนี้ เราสามารถบอกความรู้สึกของตนเองว่าชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี มีการใช้อารมณ์ ความคิดเชิงอารมณ์ซึ่งส่วนใหญ่การแสดงอารมณ์จะไม่มีเหตุผลประกอบ หรือการตระหนักรู้โดยฉับพลันซึ่งก็คือ เรื่องบางเรื่องที่เคยเข้าใจในแบบหนึ่ง อยู่ๆก็เกิดเข้าใจในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งการตระหนักรู้แบบนี้จะทำให้เกิดงานสร้างสรรค์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือวิธีคิดทางคณิตศาสตร์แบบก้าวกระโดด ความคิดความเข้าใจในสถานการณ์โดยทันที ซึ่งเป็นผลจากการใคร่ครวญอันซับซ้อนที่มีพื้นฐานจากประสบการณ์ เป็นการตัดสินที่ไม่อาจให้รายละเอียดหรืออธิบายได้ด้วยคำพูด เช่นเวลาที่คุณจำเพื่อนคนหนึ่งได้ คุณก็จำได้ในทันที
3. Black Hat หรือ หมวกสีดำ หมายถึง ข้อควรคำนึงถึง สิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า เราไม่ควรทำ เป็นการคิดในเชิงระมัดระวัง หมวกสีดำ เป็นหมวกคิดที่เป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับวิธีการคิดของตะวันตกมาก หมวกสีดำช่วยชี้ให้เราเห็นว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดไม่สอดคล้องและสิ่งใดใช้ไม่ได้ มันช่วยปกป้องเราจากการเสียเงินและพลังงาน ช่วยป้องกันไม่ให้เราทำอะไรอย่างโง่เขลาเบาปัญญา และผิดกฎหมาย หมวกสีดำ เป็นหมวกคิดที่มีเหตุมีผลเสมอ เพราะในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือวิเคราะห์สิ่งใดจะต้องมีการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลรองรับ ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ในการประเมินสถานการณ์ในอนาคตของเรานั้น ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเราเองและของผู้อื่นด้วย
4. Yellow Hat หรือ หมวกสีเหลือง หมายถึง การคาดการณ์ในทางบวก ความคิดเชิงบวก เป็นการมองโลกในแง่ดี การมองที่เป็นประโยชน์ เป็นการคิดที่ก่อให้เกิดผล หรือทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้ การคิดเชิงบวกเป็นการเปิดโอกาสให้พัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความคิดเชิงลบอาจป้องกันเราจากความผิดพลาด ความเสี่ยง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการคิดเชิงบวกต้องผสมผสานความสงสัยใคร่รู้ ความสุข ความต้องการ และความกระหายที่จะทำสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นหรือไม่
5. Green Hat หรือ หมวกสีเขียว หมายถึง ความคิดนอกกรอบที่มีความสัมพันธ์กับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและมุมมองซึ่งปกติมักถูกกำหนดจากระบบความคิดของประสบการณ์ดั้งเดิม และความคิดนอกกรอบนั้นจะอาศัยข้อมูลจากระบบของตัวเราเอง โดยเมื่อสวมหมวกสีนี้ จะแสดงความคิดใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การคิดอย่างสร้างสรรค์
6. Blue Hat หรือ หมวกสีน้ำเงิน หมายถึง การควบคุม และการบริหารกระบวน การคิด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของความคิดรวบยอด ข้อสรุป การยุติข้อขัดแย้ง การมองเห็นภาพและการดำเนินการที่มีขั้นตอนเป็นระบบ เมื่อมีการใช้หมวกน้ำเงิน หมายถึง ต้องการให้มีการควบคุมสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในระบบระเบียบที่ดี และถูกต้องหมวกสีน้ำเงินมักเป็นบทบาทของหัวหน้า ทำหน้าที่ควบคุมบทบาทของสมาชิก ควบคุมการดำเนินการประชุม การอภิปราย การทำงาน ควบคุมการใช้กระบวนการคิด การสรุปผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ อย่างไรก็ตามสมาชิก ก็สามารถ สวมหมวกน้ำเงิน ควบคุมบทบาทของหัวหน้าได้เช่นกัน ตัวอย่างคำถามที่ผู้สวมหมวกน้ำเงินสามารถนำไปใช้ได้ ได้แก่ เรื่องนี้ต้องการคิดแบบไหน ขั้นตอนของ เรื่องนี้คืออะไร เรื่องนี้จะสรุปอย่างไร ขอบเขตของปัญหาคืออะไร ขอให้คิดว่าเราต้องการอะไร และให้เกิดผลอย่างไร เรากำลังอยู่ในประเด็นที่กำหนดหรือไม่ เป็นต้น ผู้สวมหมวกน้ำเงินเปรียบเสมือนผู้ควบคุมวงดนตรีที่จะทำให้ผู้เล่นดนตรีแต่ละชิ้นบรรเลงสอดประสานกันได้อย่างไพเราะ ดังนั้น การควบคุมการคิดจึงต้อง เลือกใช้วิธีคิดของหมวกแต่ละใบอย่างเหมาะสม
กระบวนการคิดของ Six Thinking Hats
กระบวนการคิดของ Six Thinking Hats นั้นไม่มีรูปแบบตายตัว แต่จะทำการคิดโดยการสวมหมวกทีละใบ ซึ่งเอดเวิร์ด เดอ โบโน ไม่ได้กำหนดว่าควรจะสวมหมวกสีอะไรก่อนหลังเช่น เริ่มจากหมวกสีน้ำเงิน คือ สิ่งที่เราประสบอยู่ แล้วก็ไปค้นหาวิธีแก้ปัญหานั้นๆ ว่าจะมีทางออกอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงมาตรวจสอบกับหมวกสีเหลืองว่า ถ้าทำอย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไรบ้าง ตรวจสอบกับหมวกสีดำว่าจะมีปัญหา อุปสรรคอะไรไหม แล้วนำเอาหมวกสีเขียวมาแก้หมวกสีดำอีกที ตรวจสอบกับหมวกสีแดงว่าถูกใจทุกคนหรือไม่ ถ้าไม่ก็หาหมวกสีเขียวมาแก้อีกครั้งหนึ่ง แล้วถึงขั้นตอนสรุป คือหมวกสีน้ำเงิน ไม่จำเป็นต้องใช้หมวกทุกสี
ดังนั้น Six Thinking Hatsจึงเหมาะสมกับการประชุมเพื่อทำการแก้ปัญหาตัดสินใจต่างในองค์กรได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของการใช้ Six Thinking Hats
1. เนื่องจากกระบวนการคิดแบบ Six Thinking Hats เป็นการเริ่มคิดในสิ่งเดียวกัน และคิดร่วมกันในประเด็นเดียวกัน ทำให้ลดความขัดแย้งในการประชุมลงไปได้มาก
2. เนื่องจากระบบให้คนคิดทีละด้าน มองทีละด้าน จากด้านหนึ่งไปมองอีกด้านหนึ่ง ทำให้เห็นภาพจริงที่ชัดเจน เป็นผลให้ในเกิดการพิจารณาความคิดใหม่ ๆ ได้รอบคอบ
3. การใช้ Six Thinking Hats ช่วยให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทำให้เป็นการดึงเอาศักยภาพ ของแต่ละคนมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว
4. ช่วยประหยัดเวลาในการประชุม เนื่องจาก ทุกคนในที่ประชุมมีความคิดแบบคู้ขนาน
5. จำกัดโอกาสหรือช่องทางสำหรับการโต้เถียงหรือโต้แย้งกัน

สุรป
เทคนิคการคิดแบบ six thinking hats จะเป็นการรวมความคิดด้านต่างๆ ไว้ครบถ้วนทุกด้าน ระบบให้คนคิดทีละด้าน มองทีละด้าน จากด้านหนึ่งไปมองอีกด้านหนึ่ง จะได้เห็นภาพจริงที่ชัดเจน ทำให้พิจารณาความคิดใหม่ ๆ ได้รอบคอบ เป็นผลให้เกิดความคิดที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การคิดเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาได้ การใช้วิธีคิดแบบสวมหมวกคิด six thinking hats จะช่วยให้ผู้คิดสามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนในการคิดอย่าง สร้างสรรค์และสามารถแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

ตัวอย่างองค์กรที่มีการนำ Six Thinking Hats ไปใช้
บริษัท ไอบีเอ็ม ที่นำวิธีการ มาใช้ ทำให้สามารถลดเวลาในการประชุมแต่ละ ครั้งได้ถึง 75 % เนื่องจากเกิดการโต้เถียงในที่ประชุมน้อยลง เพราะไม่นำความคิดหลายด้านมาปะปนกัน ทำให้ช่วย ประหยัด เวลาได้มาก และมีองค์กร ขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก นำ Six Thinking Hats ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการ พัฒนาองค์กร
นอกจากจะมีการนำไปใช้ในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว หลายประเทศทั่วโลกยังได้นำการคิดแบบ ใบไปใช้ฝึกทักษะการคิดของนักเรียนในโรงเรียน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิสราเอล สวีเดน และสิงคโปร์ เป็นต้น ในบางประเทศ เช่น เวเนซูเอลา กฎหมายการศึกษาได้กำหนดให้ครูทุกคนต้องผ่านการฝึกหลักสูตรการ คิดแบบ Six Thinking Hats ก่อนจึงจะเข้าเป็นครูได้
สำหรับประเทศไทย ได้มีเอกชนจัดตั้งศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Center) ตามแนวทางของ เดอ โบโน ขึ้น โดยเปิดอบรม หลักสูตรการคิดแบบหมวก Six Thinking Hats ผู้ที่มาเข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ เป็นผู้บริหารหรือพนักงานขององค์กร ธุรกิจเอกชนที่สนใจนำทักษะการคิดดังกล่าวไปพัฒนาตนเองและองค์กร สำหรับการนำไปใช้ในโรงเรียน ในประเทศไทย ยังไม่มีโรงเรียนใดนำไปรวมในหลักสูตรการเรียนการสอนโดยตรง แต่ละเป็นในรูปแบบที่ครูซึ่งสนในโดยส่วนตัวนำไป ทดลองใช้กับลูกศิษย์ตนในโรงเรียน
ตัวอย่าง ครูไทยที่ได้นำวิธีคิดแบบ Six Thinking Hats ไปให้นักเรียนฝึกฝนความคิดตามแนวทางคือ ฝึกฝนความคิดตามแนวทาง นี้คือ อาจารย์ชาตรี สำราญ ครูต้นแบบสาขาภาษาไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2541 แห่งโรงเรียน คุรุชนพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยกิจกรรม มอบหมายงานให้นักเรียนอ่านข่าวหรือบทความ จากหนังสือพิมพ์ แล้วมาร่วมกันสรุปความคิดโดยตั้งคำถามแบบหมวก 6 ใบ
สมมุติว่า ตัวอย่างสถานการณ์ข่าวที่นำมาให้ร่วมวิจารณ์คือ "ตำรวจทางหลวงจับพ่อค้ายาบ้า ขณะที่นำยาบ้ามาจากเชียงราย เพื่อส่งขายลูกค้าที่กรุงเทพฯ ได้ยาบ้า 25,800 เม็ด" ให้นักเรียนแต่ละคนอ่านข่าวหรือให้ร่วมอภิปรายโดยใช้การคิดแบบ หมวก 6 ใบ เป็นรูปแบบการแสดงความคิดเห็น
หมวกสีขาว ครูจะช่วยตั้งประเด็น คำถาม มุ่งหาข้อมูลจริงที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้ครูต้องระวังมิให้ข้อคิดเห็นของตน ปะปนเข้าไปในคำถาม ครูอาจถามว่า ข้อมูลหลักๆ ในข่าวมีอะไรบ้าง นักเรียนต้องตอบคำถามตามข้อมูลที่ปรากฏ นักเรียนต้องตอบว่า"ตำรวจทางหลวงจับพ่อค้ายาบ้า ได้ยาบ้า 25,800 เม็ด "หากนักเรียนตอบว่า "ตำรวจทางหลวงจับพ่อค้ายาบ้ารายใหญ่" หรือ"ได้ยาบ้าจำนวนมหาศาลถึง 25,800 เม็ด" จะเป็นคำ ตอบที่เกินเลยข้อมูลความจริง เพราะบางข้อความที่ปรากฏคือ รายใหญ่ หรือมหาศาล เป็นความคิดเห็นเพิ่มเติมส่วนตัว ไม่มีในเนื้อข่าว ผิดจุดประสงค์ของการติดแบบหมวกสีขาว ซึ่งครูต้องชี้แจงให้นักเรียนทราบถึงความ แตกต่างดังกล่าว
หมวกสีแดง นอกจากเหตุผล แล้ว ธรรมชาติของคนยังประกอบด้วยอารมณ์ ความรู้สึก กระทั่งลางสังหรณ์ที่อธิบายด้วยเหตุผลได้ยาก อาจกล่าวได้ว่าหมวกสีแดง ตรงกันข้ามกับหมวกสีขาว ขณะที่หมวกสีขาวเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นและไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไรกับข้อมูลเหล่านั้น แต่หมวกสีแดงไม่สนใจข้อมูลจริง แต่สนใจ อารมณ์ความรู้สึกของคนที่มีต่อข้อมูลนั้นๆ ครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความรู้สึกภายในออกมา เพราะอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของกระบวนการคิด แม้คนเราพยายามคิดโดยปราศจาก อารมณ์ หรืออคติ แต่สุดท้ายทางเลือกการตัดสินในที่ได้มักขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคนอยู่ มาก ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการคิดแบบหมวกสีแดง ก็เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคน ได้เผยอารมณ์ความรู้สึกของคนต่อเรื่อง นั้นๆ ออกมา ประโยชน์ที่ได้คือเราจะไม่นำความรู้สึกและข้อมูลเหตุผลมาปะปนกันจนเกิดความสับสนในการคิด
ถึงตอนนั้นนักเรียนจะแสดงความคิดในบทบาทสวมหมวกสีแดง ครูอาจถามนำว่า นักเรียนรู้สึกอย่างไรต่อข่าวที่อ่าน เมื่อเด็ก สวมหมวกความคิดสีแดง เด็กอาจใช้ อารมณ์พูดออกมาว่า "พ่อค้าพวกนี้ไม่รู้จักกลัวบาป" "พ่อค้าพวกนี้ใจร้ายฆ่าคนตายทั้ง เป็น " หรือ "น่าจะยิงเป้าให้รู้แล้วรู้รอด" เมื่อเด็กแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา แล้ว ครุจะได้สังเกตเห็นและชี้ให้เด็กมอง เห็นว่านี่คืออารมณ์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ที่มักมีผลต่อกระบวนการคิดของคนเรา เมื่อเด็กรู้เท่าทันก็จะไม่นำอารมณ์ความรู้สึก ไปปะปนกับข้อมูลความจริงส่วนอื่น
หมวกสีดำ เป็นการพิจารณาหรือใช้วิจารณญาณ ตั้งข้อสงสัยก่อนจะตัดสินใจเชื่อสิ่งใดลงไป การติดแบบหมวกสีดำเป็นการ ติดที่มีเหตุผลสนับสนุนดำเนินไปอย่าง รอบคอบ และผู้ติดตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยครุอาจตั้งคำถามนำ เช่น มีผล ประโยชน์ใดแอบแฝงเบื้องหลังการค้ายาบ้าครั้งนี้หรือไม่ เมื่อได้รับคำถามเหล่านี้ เด็กๆ จะต้องคิดหาเหตุผลมาตอบปัญหา เช่น เด็กอาจตอบว่า ถึงแม้มีข่าวการจับกุมการค้ายาบ้าอยู่เป็นประจำ แต่ยาบ้ายังคงแพร่ระบาดอยู่ทุกหนแห่งในประเทศ ไทย ทั้งนี้เป็นเพราะผู้มีอิทธิพลได้รับผลประโยชน์จากการค้ายาบ้า เป็นต้น
หมวกสีเหลือง เหมือนหมวกสีดำตรงต้องอาศัยเหตุผลมาสนับสนุนความคิด แต่ขณะที่หมวกสีดำเป็นการตั้งข้อสงสัย (เรื่องราวเป็นเช่นนี้จริงหรือมีสิ่งใดแอบแฝงหรือ ไม ่ ) หมวกสีเหลืองจะคิดถึงแง่บวก เต็มไปด้วยความหวัง แต่ความหวังนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผลด้วย หรืออาจพูดได้ว่าการคิดแบบหมวกสีเหลือง คือการมองไปข้างหน้า ถามตน เองว่าถ้าทำสิ่งนี้แล้ว จะเกิดประโยชน์หรือผลดีอย่างไร ครูอาจตั้งคำถาม เช่น ข่าวนี้สะท้อนปรากฏการณ์ด้านบวกอย่างไรบ้าง หรือควรทำเช่นไร เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การค้ายาบ้าในประเทศไทย เมื่อนักเรียนสวมหมวกความคิดสีเหลือง เด็กจะต้องหาเหตุผลด้านบวกมาแสดง เช่นระยะนี้มีข่าวการจับพ่อค้ายาบ้าได้บ่อย ครั้งมากขึ้น เป็นเพราะมีการรณรงค์ให้ หลายฝ่ายร่วมมือกัน และผู้รักษากฎหมายเอาจริงเอาจังมากขึ้นในการปราบปราม ถ้าทุกฝ่ายเอาจริงเอาจังเพิ่มขึ้นอีก โดยคิดถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ปัญหา ยาบ้าก็จะทุเลาเบาบางลงในที่สุด เป็นต้น
หมวกสีเขียว คือความคิดที่สร้างสรรค์ นำมาซึ่งทางเลือกใหม่ และวิธีแก้ปัญหาใหม่ เด็กจะต้องตั้งข้อเสนอแนะความคิดหรือ มุมมองใหม่ๆ ของตนออกมาหมวกสีเขียว ต่างจากหมวกสีเหลืองและหมวกสีดำตรงข้อเสนอแนะหรือแนวคิดแบบหมวกสีเขียวไม่ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นมา สนับสนุน เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นสำหรับการสำรวจตรวจสอบความเป็นไปได้ของแนวคิดนั้นต่อไป ครูอาจตั้งคำถาม เข่น อ่านข่าวเกี่ยวกับยาบ้าแล้ว นักเรียนคิดว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่จะป้องกัน ไม่ให้ชุมชนของเรามีคนเสพย์และขายยาบ้า เด็กๆ ร่วมกันคิดหาหนทางแก้ไข ที่แปลกแหวกแนวจากความคิดเก่าๆ ที่เคยมีผู้เสนอมา หน้าที่ครูคือต้องกระตุ้นให้เด็กกล้าแสดงความคิด ที่แปลกใหม่ เช่น เด็กๆ อาจเสนอความคิดเรื่องการรณรงค์ให้ชุมชนหรือหมู่บ้านของตนเป็นเขตปลอดยาบ้า โดยทุกบ้านต้องช่วยกัน สอดส่องดูความเคลื่อนไหวของการซื้อขายยาบ้าในชุมชน อย่างจริงจัง ให้กลายเป็นชุมชน "ปลอดยาบ้า" เพื่อเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ จากนั้นครูแบะนักเรียนจึงถกกันถึงความเป็นไปได้และวิธีการที่จะทำให้เกิด ผลในทางปฏิบัติต่อไป เป็นต้น
หมวกสีฟ้า เป็นหมวกคิดของการวางแผน การจัดลำดับขั้นตอน หมวกสีฟ้าจะเป็นเหมือนประธานของที่ประชุมเป็นผู้บอกว่า เมื่อไรควรสวม หมวกสีใด หรือเปลี่ยน ไปสวมหมวกสีใด
หมวกสีอื่นๆ จะมุ่งคิดถึงเนื้อหาสาระของข้อมูล แต่เมื่อคิดแบบหมวกสีฟ้า ผู้คิดจะมุ่งสังเกตกระบวนการคิดของตนโดยทั่วๆ ไป การคิดแบบ หมวกสีฟ้าจะควบคุม ประเด็นต่างๆ อาทิเช่น ถึงตอนนี้เรากำลังคิดแบบใดอยู่ และคืนหน้าไปถึงไหนแล้ว อะไรคือข้อสรุปที่ได้จากการคิดทบ ทวนหลายรูปแบบ(หลายหมวกความคิด) และมีข้อน่าสังเกตหรือข้อท้วงติงใดบ้าง (เช่น กำลังหลงประเด็นอยู่หรือไม่ หรือใช้ความคิดแบบ หมวกสีแดงมากไปหรือไม่) ครูอาจแนะนำให้นักเรียนตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขากำลังใช้เวลามากเกินกับการโต้เถียงในจุดใดจุดหนึ่งหรือไม่ หรือจนขณะนี้นักเรียนอภิปรายกันถึงแต่ทางเลือกเดียว นักเรียนควรพิจารณากันถึงทางเลือกอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

การคิดแบบหมวก 6 ใบ. 2545. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
//www.montfort.ac.th/mcs/dept/develop/News6hat.html
การพัฒนากระบวนการคิด.2006. หน้า 20-22. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
//khom-paya.com/think.pdf
จุดประกาย การคิดอย่างเป็นระบบด้วยเทคนิค หมวก 6 สี. (วารสาร). กรุงเทพฯ : สายใยสังคม (12).2549
นวัตกรรมการเรียนรู้. 2543.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
//www.vanessa.ac.th/2548/my_map/brain.htm
Six Thinking Hats. ณิทฐา แสวงทอง 2006. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
//www.stabundamrong.go.th/journal/journal15/155.doc
Six Thinking Hats. 2006. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
//en.wikipedia.org/wiki/Six_Thinking_Hats
Six Thinking Hats. 2001. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
//www.nationejobs.com/content/learn/quickcourse/template.asp?conno=4

Resource://ccsmail.sut.ac.th/e-ru/student/sendfile/file325.doc


โดย: เรื่อง Knowledge Management หัวข้อการบรรยาย Thinking Tool: Six thinking hats (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:9:54:08 น.  

 
Six Thinking Hats

ความคิดสร้างสรรค์ ดูเผินๆ อาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับคนส่วนใหญ่ เข้าทำนอง มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะทุกคนยินยอมรับกันว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์เฉพาะบุคคล


แต่ในยุคนี้ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะสิ่งที่จะช่วยให้เรา "แตกต่าง" และมีมูลค่า เพิ่มมากกว่าใครอื่นได้ก็คือ "ความคิดสร้างสรรค์" (Creativity) นั่นเอง เพราะเราอาจจะใช้ความคิด ดังกล่าวนี้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มากมาย หรือมีวิธีการคิด แก้ปัญหาอย่างมีกลยุทธ์รอบด้าน ลึกซึ้ง

ไม่ใช่เฉพาะด้านการงานเท่านั้น แต่ความคิดสร้างสรรค์ ยังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งชีวิตครอบครัวได้

ดร.เดอ โบโน ถือว่าเป็นบุคคลแรก ที่ค้นพบวิธีการสร้างความคิดสร้างสรรค์ และได้ศึกษาพัฒนา เป็นแนวคิดที่ลือลั่นว่า "Six Thinking Hats" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวิธีคิดที่มีคุณภาพ ภายใต้มุมมองที่รอบด้าน

"มันเริ่มจากดอกเตอร์เดอ โบโน ได้ค้นพบว่า การทำงานของสมอง มันมีระบบข้อมูลแบบจัดการด้วยตัวเอง หรือ "Self Organizing Information System" คือ การที่สมองของเราจัดข้อมูลที่รับรู้ไว้เป็นกล่องๆ

อย่างเช่นเราไปไหนครั้งแรก อาจจะยังไม่คุ้น แต่พอไปครั้งที่ 2 เราไม่ตื่นเต้นอีก เพราะสมองของ เราได้สร้างแพทเทิร์นข้อมูลไว้แล้ว

เหมือนฝนตก แต่ละเม็ดต่างก็ตกลง แต่ก็มารวมตัวกัน เป็นทางน้ำเล็กๆ ทีนี้พอฝนตกลงมาอีก เมื่อมีทางน้ำอยู่ น้ำก็เลือกที่จะไหลไปทางเดียวกัน กลายเป็นร่องน้ำใหญ่ขึ้น สมองของเราก็ทำงาน แบบนี้เหมือนกันเปี๊ยบ คือ พอเราทำอะไรซ้ำๆ ก็จะจำได้โดยอัตโนมัติ

แต่มันก็มีจุดอ่อน คือ เราจะคิดเฉพาะสิ่งที่เรามีประสบการณ์ ทำให้เราคิดในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมได้ยาก

ดอกเตอร์เดอ โบโน ท่านบอกว่า เราไม่สามารถขุดรูใหม่ด้วยการขุดรูเก่าให้มันลึกขึ้นได้ เหมือนกับคำว่า "ติดรูปแบบ" หรืออะไรอย่างนี้ เพราะพอเราชินกับของเดิม เราก็คิดอะไรใหม่ไม่ออก เราทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เหมือนกระแสน้ำที่มันใหญ่ขึ้นๆ เรื่อยๆ

ดอกเตอร์ก็เลยมาศึกษาจากคนที่ครีเอทีฟ คนที่คิดอะไรใหม่ๆ ว่า เขาสามารถคิดได้อย่างไร

ปรากฏว่า "เขาคิดข้ามกล่อง" คือเอาข้อมูลหนึ่งมาเชื่อมกับอีกข้อมูลหนึ่ง เหมือนกับการคิดนอกกรอบ ซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็คือดึงข้อมูลชุดหนึ่งไปเชื่อมกับข้อมูลอีกชุดหนึ่ง แล้วนำมาทำให้มันเกี่ยวข้องกันให้ได้

ท่านก็เอาสิ่งที่ค้นพบมาทำเป็นเทคนิคให้คนรู้จัก "สร้าง" ความคิดสร้างสรรค์ เพราะบางทีก็เกิดเหตุการณ์ ที่ทำให้เราต้องคิดหาทางออกที่ถูกต้อง หรือถ้าเป็นผู้บริหารก็ต้องตัดสินใจอย่างมีวิชั่น" ดร.รัศมี ธันยธร ผู้อำนวยการศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดกระบวนคิดของ Six Thinking Hats ไว้เช่นนั้น


เหตุผลที่เราจะต้องสร้างความคิดสร้างสรรค์ ก็เพราะความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้เราสามารถมอง เห็นทางเลือกได้หลายทาง หรือเมื่อมองเห็นปัญหา ก็หาทางออก ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

"ตอนนี้เราทำตัวกันเหมือนธารน้ำ คือไหลไปทางเดียวกัน พอใครทำอะไรสำเร็จก็ก๊อบปี้ ตามกัน ไม่มีการคิดต่างไป

แม้เมื่อสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไป เราก็ยังคิดแบบที่เราเคยมีอยู่ เวลาอยากสร้างอะไรใหม่ๆ ที่มันยังไม่เกิดก็วิตกว่า What can be thinking ค้านกันไว้ก่อน เพราะเราติดแต่ในกรอบเดิมๆ



Six Thinking Hats มันจะช่วยให้เราคิดรอบด้านได้ เพราะเป็นการคิดร่วมกันเป็นทีม โดยจัดขั้นตอนความคิด โฟกัสในแต่ละแบบ และมองอย่างรอบคอบ"
Six Thinking Hats สูตรบริหารความคิดของ ดอกเตอร์เดอ โบโน ประกอบด้วย




White Hat คือ ข้อมูลเบื้องต้นของสิ่งนั้นๆ เปรียบเหมือนกระดาษ
Red Hat เป็นตัวแทนของ "อารมณ์" ความชอบ ไม่ชอบ
Yellow Hat คือ ประโยชน์ สิ่งที่เป็นบวกทั้งหลายซึ่งถูกเปรียบเสมือนแสงตะวัน
Black Hat คือ ข้อควรคำนึงถึง สิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า เราไม่ควรทำ
Green Hat คือ ความคิดที่งอกงามที่เราเอามาแก้ Black Hat และเสริม Yellow Hat
Blue Hat จะเป็นเหมือนท้องฟ้า คอยดูอยู่ข้างนอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความคิดนี้ครอบคลุมไหม



"การประชุมแบบ Six Hats เราจะใช้บลูเป็นตัวเปิด บอกวัตถุประสงค์การประชุมว่า ตอนนี้เรากำลังแก้ปัญหาอะไรอยู่ ถ้าเป็นการประชุมตามปกติ คนชื่อ "เอ" ก็จะบอกว่า เราทำอย่างนี้ไม่ดีเพราะอะไรๆ เรียกว่าเป็น Black Hat

ส่วน "บี" ก็จะบอกดี คือ Yellow Hat ซึ่งเอก็จะคิดแบบเอ บีก็คิดแบบบีนั่นแหละ เพราะเขามองจาก กล่องความคิดของเขา นี่คือการประชุมแบบทั่วไป มันจะไม่จบง่ายๆ

แต่ Six Hats คือ การคิดโดยเรียงทีละ Hat เช่น เราเริ่มจากบลู แล้วก็ไปกรีน คือหาวิธีแก้ปัญหานั้นๆ ว่าจะมีทางออกอย่างไรบ้าง คิดร่วมกัน จากนั้น ก็มาเช็คเยลโลว์ ดูว่าทำอย่างนั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง แล้วก็มาเช็คแบล็คว่ามีปัญหาอะไรไหม แล้วเราเอากรีนมาแก้แบล็คอีกที เช็คเรดว่าถูกใจทุกคนไหม แล้วหากรีนมาแก้อีกทีหนึ่ง บลูสรุป ทีนี้มันจะเป็นเอกฉันท์

แต่ละกรณี เราอาจจะเริ่มจาก Hat ที่ต่างกันได้ แต่จะมีกรีนแก้ มันทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่คิด ไม่หวังมาก่อน

ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในบ้าน บริษัท ครม. ถ้ามีเครื่องมือคิดแบบนี้ มันจะทำให้เราหลุดจากปม ที่ค้างอยู่ ตัวนี้จะเป็นเครื่องมือคลายปม หรือถ้าเราสะดุด ก็แก้ได้ เพราะหลังกรีนก็มีเยลโลว์ เพราะแต่ละความคิด แต่ละครั้งก็จะมีประโยชน์แฝงอยู่"

กระบวนการคิดแบบ Six Thinking Hats จึงเริ่มจากการคิด ในสิ่งเดียวกัน และคิดร่วมกัน ในแต่ละประเด็น ทำให้ลดความขัดแย้งลงไปได้มาก ทั้งยังเป็นการ ดึงเอาศักยภาพ ของแต่ละคนมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว

นอกเหนือจาก Six Thinking Hats แล้ว ยังมีความรู้ที่เรียกว่า Lateral Thinking หรือ "เทคนิคการคิดสร้างสรรค์" ซึ่งจะช่วยให้เราคิดออกไปนอกกรอบเดิม สามารถแก้ปัญหา ตลอดจนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

"เมื่อเราสร้าง Six Thinking Hats ขึ้นมา แล้วเอา Lateral Thinking หรือความคิดสร้างสรรค์ มาพิจารณาไตร่ตรอง ให้ครบทุกด้าน ก็จะได้เป็นความคิดที่มีคุณภาพ เพราะตัว Lateral นี้ถือเป็น Green Hat นั่นเอง อย่างครีเอทีฟบางที เขาคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ได้มองอะไรรอบด้าน ขณะที่เทคนิคการคิด อย่างสร้างสรรค์นี้ มันจะช่วยให้เราคิดอะไรอย่างสร้างสรรค์ คำนึงถึงรอบด้าน"

เมื่อแรกเริ่มที่หนังสือเกี่ยวกับ Six Thinking Hats ออกมา ดร.รัศมี กล่าวว่า ผู้คนฮือฮามาก "คือ ดังระเบิดโลก แต่ก็มีคนโทร มาต่อว่าดอกเตอร์เหมือนกัน เพราะทุกคนอ่านหนังสือ แล้วก็เอาไปสอน ไปแนะนำผิดๆ ถูกๆ พอปี 1992 ดอกเตอร์เดอ โบโน เลยกำหนดหลักสูตร อบรมสำหรับผู้ที่จะมีสิทธิ์สอน ซึ่งคนที่ไม่ได้ผ่านการอบรม จะไม่มีสิทธิ์สอน เพราะหนังสือมันจะบอกแค่ Six Thinking Hats คืออะไร เป็นอะไร แต่ How นั้นจะเป็นอะไรที่อยู่ในใจ"

ตั้งแต่ปี 1992 จึงมีการเปิดสอนหลักสูตร Six Thinking Hats ในประเทศต่างๆ จนมีประมาณ 700 กว่าศูนย์ทั่วโลก โดยผู้บริหาร พนักงานในประเทศต่างๆ ได้เข้าเรียน สัมมนากับ ดร.เดอ โบโน ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ผ่านมา และนำไปใช้ จนเกิดประโยชน์หลากหลายรูปแบบ เช่น

เจ.พี. มอร์แกน บริษัทยักษ์ใหญ่ ใช้วิธีการประชุมแบบ Six Thinking Hats สามารถลดเวลาประชุมได้ 80% ไอบีเอ็มใช้วิธีนี้ 2 ปี ลดเวลาประชุม 75% บริษัทเอ บี บี ซึ่งเป็นบริษัท ก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของฟินแลนด์ จากที่เคยประชุมกันเป็นเดือน ในการประชุมนานาชาติ ขณะนี้ใช้เวลาประมาณ 2 วัน

ส่วนในประเทศไทย ทีมวิศวกรของบริษัทแห่งหนึ่งใช้ Six Thinking Hats และ Lateral Thinking ในการแก้ปัญหาสำคัญ ปัญหาหนึ่ง ทำให้บริษัทสามารถ ประหยัดเงินได้ถึง 20 ล้านบาท ในโครงการหนึ่ง และประหยัด 2 ล้านบาทในอีกโครงการหนึ่ง บริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งในไทยสามารถ ทำให้เขาขายรถ เพิ่มขึ้นจาก 10 คัน เป็น 35 คัน ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ

"ประโยชน์ที่ได้ก็เช่น ถ้าเป็นผู้บริหารเมื่อมีปัญหา เขาจะสามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างมีคุณภาพ มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้องค์กรที่มีผู้บริหาร เหล่านี้ได้รับประโยชน์ไปในตัว ถ้าเป็นผู้ร่วมงาน จะสามารถทำงาน และคิดอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น หรือถ้าเป็นครอบครัว มันจะไม่ทำให้เราง่วน อยู่แต่กับปัญหา แต่มันสอนให้คนคิด ในทางสร้างสรรค์ ครอบครัวก็มั่นคงขึ้น และถ้าทุกคนช่วยกันคิดสร้างสรรค์ มีทางออกที่ดี ประเทศชาติก็เจริญได้" ผู้อำนวยการศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ กล่าว

ความคิดสร้างสรรค์มีแฝงอยู่ในตัวของคนทุกคน แต่อาจจะผลิบาน หรือเหี่ยวเฉาก็ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของคนนั้นๆ ลองเรียนรู้ที่จะนำความคิดเหล่านี้ มาเชื่อมโยงกับการทำงาน กับชีวิตจริง แล้วจะรู้ว่าคุณ ก็มีความคิดดีๆ อย่างที่คาดไม่ถึง

ผู้บริหารกับความคิดสร้างสรรค์ โอกาสฝึกจริงกับ 'ต้นตำรับ'



18 ตุลาคม นี้ ผู้สนใจที่จะสร้าง ความคิดสร้างสรรค์ ให้กับตัวเองสามารถ เข้าร่วมฟังคำบรรยายจาก "ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน" ได้ เพราะเจ้าตัวจะ มาเปิดบรรยายในเมืองไทยในหัวข้อ "Creativity : Opportunity for Management" ซึ่งนอกจากจะพูดถึงหลักการใหม่ๆ แล้ว จะมีการฝึกปฏิบัติอีกด้วย ถือเป็นโอกาส ที่จะได้เรียน กับต้นตำรับภายใน 1 วัน

"โดยปกติผู้เข้าอบรม มักจะเป็นพนักงาน ระดับปฏิบัติการ ทั้งที่เรื่องนี้ จำเป็นสำหรับผู้บริหาร เพราะการมีวิชั่น ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นเครื่องมือ ในการบริหาร ที่ผู้บริหาร จะขาดไม่ได้ มันจะช่วยเจาะทะลุอุปสรรคต่างๆ" "รัศมี ธันยธร" กล่าว


เหตุผลที่ผู้บริหารต้องมีความคิดสร้างสรรค์ นั้น ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ผู้คิดค้นเรื่องนี้ได้กล่าวว่า สิ่งที่จะช่วยให้องค์กรของเราแตกต่างจากผู้อื่นได้คือ ราคาและมูลค่า (price and value) ซึ่งในด้านราคานั้น ประเทศที่มีค่าแรงงานถูกกว่าก็ได้เปรียบกว่าเรา ดังนั้นสิ่งสำคัญ ที่สุดสิ่งเดียวที่จะช่วยให้เราแตกต่างและสร้างสรรค์กว่าคนอื่น คือ มูลค่า (Value)

มูลค่าของผลิตภัณฑ์ และบริการจะเกิดขึ้นได้ มีขึ้นได้จาก "ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)" ซึ่งถ้าหากผู้บริหารรายใดสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์คิดสิ่งใหม่ วิธีการใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่า ให้กับผลิตภัณฑ์ และบริการ ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์และสไตล์ของตนเอง ก็จะทำประโยชน์ ให้แก่ธุรกิจ รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ ยังช่วยให้ผู้บริหารมองเห็น โอกาสมากมายแม้ในยามวิกฤติ

"วิธีการสอนของดร.เดอ โบโน นั้นถือว่า เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และช่วยให้คนเรียนเข้าใจง่าย เพราะท่านมีวิธีสื่อความคิด ออกมาเป็นภาพที่เข้าใจได้ง่ายๆ"

ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจเพิ่มพูนประสิทธิภาพการคิดสามารถเข้าร่วมฟัง การบรรยายครั้งนี้ได้ โดยงานจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2544 เวลา 09.00 -17.00 น. ที่โรงแรมโซฟีเทล เซ็นทรัล พลาซ่า โดยอัตราค่าลงทะเบียน 13,000 บาทต่อคน

"การได้เข้าเรียนกับปรมาจารย์ต้นตำรับจริงๆ ถือเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้เรียนแนวคิด Six Hats และ Lateral Thinking ซึ่งจะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ ต่อการบริหาร มองอะไรได้กว้างและลึกขึ้น"
วันที่: 2001-10-18 00:00:00

Resource:
//www.nationejobs.com/content/learn/quickcourse/template.php?conno=4


โดย: moonfleet วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:10:01:53 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.