" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
12 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0133. 6 พฤษภาคม 2544 การประชุมสังเคราะห์ความคิดเห็น “ สร้างพลังกองทุนหมู่บ้าน ด้วยฐานองค์กรชุมชน ”

คำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ในการประชุมสังเคราะห์ความคิดเห็น

“ สร้างพลังกองทุนหมู่บ้าน ด้วยฐานองค์กรชุมชน ”

ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2544 เวลา 09.00 น.

--------------------------------------


วันนี้ผมดีใจครับที่หลายท่านที่ประสบผลสำเร็จโดยการช่วยตัวเอง โดยไม่ใช้เงินรัฐแม้แต่สลึงเดียวแล้วทำสำเร็จ ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุขได้มาเล่าให้ฟัง จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่ผมไปพูดเพราะผมไม่ได้ทำด้วยตัวเอง วันนี้ผมดีใจครับที่ได้ฟังจากลุงอัมพร ด้วงปาน หรือว่าใครต่อใครที่มีประสบการณ์ จากการที่ไม่มีเงินรัฐสักบาทหนึ่ง วันนี้รัฐต้องการเอาเงิน 1,000,000 บาทไปเริ่มต้นให้ทุกที่ ให้ทำให้ได้เหมือนกับที่ท่านมหาสุบิน ฯ ได้ทำ ที่ลุงอัมพร ฯ ได้ทำ เพื่อที่จะให้ทุกหมู่บ้านนั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนทั้ง 2 ท่านที่ได้ทำมาแล้ว

ผมขอขอบคุณท่านไพบูลย์ ฯ ท่านอธิบดี ฯ เจด็จ ฯ ท่านผอ.ชาญชัย ฯ และอีกหลาย ๆ ท่าน และที่ขาดไม่ได้คือผู้นำชุมชนทุกท่านที่ได้ไปร่วมกันคิดร่วมกันทำ ผมขอใช้เวลาตรงนี้เล่าปรัชญาที่มาของความคิดก่อน แล้วเราจะเห็นว่าเราไม่ได้คิดผิดแผกไปจากกันหรอก แต่การปฏิบัติการที่มาปรับแต่งวิธีการทำงานให้มันได้ประโยชน์นั้นต่างหากที่เป็นรายละเอียด ลุงอัมพร ฯ แม่ทองดี ฯ คงทราบดี ก่อนจะมาเป็นนโยบายของรัฐบาลเริ่มต้นที่เป็นนโยบายพรรค ฯ กว่าจะมาเป็นนโยบายพรรค ฯ ผมไปพบประชาชนหลายรอบในหลายโอกาส ได้ไปฟังความคิดเห็นของพวกท่านถึงทุกข์ยากของประชาชน ถึงการที่ประชาชนใช้ภูมิปัญญาแก้ไขปัญหาของตัวเองและพึ่งพาตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อีสาน ผมได้ไปพบหลายที่ พบทั้งกลุ่มเกษตรกรกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายสตรีของแม่ทองดี ฯ ก็พบหลายกลุ่ม เพราะเราอยากรู้ปัญหาจริง ๆ อันนี้ครับที่เป็นนโยบาย และตรงกับความต้องการและความรู้สึกของพวกท่านมากที่สุด เพราะว่าคิดด้วยกันทำด้วยกัน ไม่ได้คิดคนเดียว ถ้าผมคิดคนเดียวผมอาจจะคิดไม่ถึงในหลาย ๆ เรื่อง ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามทำอย่างนี้มาโดยตลอด เมื่อทำอย่างนี้มาโดยตลอด ทุกเรื่องที่ออกมาปรัชญามันไม่ผิดกัน แต่พอมันสื่อหรือคนที่เข้ามาร่วมทำงานอาจจะไม่ได้เริ่มต้นคิดปรัชญาด้วยกัน มันก็เลยอาจจะนำสื่อที่มันแปร่งออกไปบ้าง ก็อาจจะทำให้เกิดการสับสนได้บ้าง และการปฏิบัติเมื่อคนหลากหลายเข้ามาปฏิบัติมากขึ้น ก็อาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่จริง ๆ แล้วผมขอย้ำปรัชญาแนวคิดทุกอย่างเหมือนเดิม

เดิมทีเดียวมันเป็นการประสมประสานสองส่วน คือประสมประสานกองทุนหมู่บ้านจากของท่านรอง ฯ สุวิทย์ ฯ ประสมประสานกับกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ตามแนวปรัชญาของท่านมหาสุบิน มณีโต กับลุงอัมพร ด้วงปาน เราประสมประสานกันแล้วออกมาเป็นนโยบายนี้ แต่หลักปรัชญาแล้วเป็นหลักปรัชญาเดียวกัน อย่างที่คุณไพบูลย์ ฯ พูดไปเมื่อสักครู่นี้ คือผมอย่างนี้ครับ ก่อนอื่นผมคิดออกไปข้างนอกก่อน ผมมองว่าในโลกยุคทุนนิยม อย่างไรเราก็ต้องรับทราบว่าหลังจากที่เป็นประเทศประชาธิปไตย เศรษฐกิจของประชาธิปไตยที่ตามมานั้นคือการแข่งขันเสรี การแข่งขันเสรีเป็นหัวใจสำคัญของทุนนิยม คำว่าเสรีนี้ผมเคยไปพูดกับทูตของประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง เขาเป็นนักกอล์ฟ ผมถามเขาว่าคุณไปแข่งกับไทเกอร์ วูดส์ได้ไหม เขาบอกได้แต่ต้องมีแต้มต่อให้นะ ผมบอกเวลาโลกแข่งกันไม่เห็นให้แต้มต่อประเทศกำลังพัฒนาเลย ประเทศพัฒนา กำลังพัฒนาบอกว่าแข่งขันเสรีเท่ากันหมด เพราะฉะนั้นคุณทำไมไม่ให้แต้มต่อพวกเราบ้างล่ะ นั่นคือสิ่งที่เรามองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาที่จะต้องลดแต้มต่อของชาวบ้านหรือชุมชนนั้นคือการเข้าหาแหล่งทุน วันนี้ใครเข้าหาแหล่งทุนได้มากคนนั้นได้ประโยชน์ในระดับหนึ่ง จริงไหมครับ เมื่อเข้าหาแหล่งทุนไม่ได้ชาวบ้านก็ลำบาก วันนี้ชาวบ้านต้องไปกู้เงินนอกระบบ รัฐบาลได้เอาแหล่งทุนไปให้ชาวบ้านก็คือเรื่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ผมกำลังคิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนเข้าหาแหล่งทุน แทนที่จะให้ประชาชนเข้าหาแหล่งทุน โดยให้ประชาชนเดินมาในเมือง แต่งตัวดี ๆ โหงวเฮ้งดี ๆ มิฉะนั้นเขาไม่ให้กู้ ก็เอาเงินไปกองไว้ในหมู่บ้านหนึ่ง แล้วให้เขาบริหารจัดการเอาเอง นั่นคือทุนที่ไปอยู่กับเขา ในเบื้องต้นผมมองว่า 1,000,000 บาทเอาให้เหมือนกันไปก่อน แล้วค่อยไปดูความสามารถในการบริหารการจัดการ เขาเติบโตด้วยตัวเขาเองได้แค่ไหน ตรงนั้นค่อยไปมองอีกขั้นหนึ่ง แต่ขั้นต้นที่ผมกล้าที่จะตัดสินใจเลยด้วยเงิน 70,000 กว่าล้านบาท โดยที่ผมยังไม่ได้เข้ามาดูในกระเป๋าของรัฐบาลเพราะผมอยู่ข้างนอก ผมยังมองไม่เห็น แต่ 70,000 กว่าล้านผมเชื่อว่าเราหาจนได้ ก็เลยกล้าบอกไปว่า 1,000,000 บาทตรงนั้น เพราะฉะนั้นคือที่มาของการกล้าที่จะประกาศนโยบายกองทุนหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นปรัชญาตรงนี้ก็คือว่าให้ชาวบ้านได้เข้าไปถึงแหล่งทุนที่ชาวบ้านบริหารจัดการกันเองให้ได้ เพราะจะเกิดความเป็นธรรมในหมู่บ้าน อันนั้นคือสิ่งที่อยากเห็น

ข้อที่ 2 คือว่าผมอยากเห็นชาวบ้านเอาเงินเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการสร้างงานสร้างรายได้ให้เขา และให้เขาช่วยตัวเองได้สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้ตลอดไป คือยั่งยืน ผมไม่ได้บอกว่าเงิน 1,000,000 บาทนี้มันจะยั่งยืน แต่มันต้องเป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านจะได้รู้จักบริหารจัดการกันเอง เพราะไปเห็นตัวอย่างที่ทำแล้วสำเร็จ ไม่ใช่ว่าทำแล้วไม่สำเร็จ ก็ลุงอัมพร ฯ จบประถม 4 ล้มลุกคลุกคลานกับโครงการออมทรัพย์มาด้วยการแนะนำของพัฒนากรจังหวัด เริ่มทดลองเอาเงินออมชาวบ้านไปฝากธนาคารก่อน ฝากแล้วดอกเบี้ยมันก็ไม่พอ เอาดอกเบี้ยมาใช้ก็ไม่พอ ผลสุดท้ายเลยคิดเองปรับกระบวนการบริหารการจัดการด้วยตัวเอง ด้วยเอากำลังของชาวบ้านมาทั้งนั้นและสำเร็จ อันนี้ครับบางทีบางครั้งคนไม่รู้ พอรัฐบาลพูดตรงไปนี้ไปเริ่มดูถูกว่าชาวบ้านจะจัดการได้อย่างไร เพราะไปมีประสบการณ์มิยาซาว่า ซึ่งมันคนละแบบ มิยาซาว่านั้นใช้เงินเพราะต้องการเอาเงินไปใช้ ใช้เงินก็คือผลาญเงิน แต่อันนี้เป็นการเอาเงินไปให้ชาวบ้านสร้างตัวเอง มันคนละแบบ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องมีกติกามีขั้นตอนหน่อย

วันนี้ถามว่าโดยในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากให้เงินลงถึงมือชาวบ้านโดยทันทีเลยไหม อยากทันทีครับ แต่อยากแล้วมันจะไปทำลายชาวบ้านถ้าความพร้อมไม่มี ซึ่งผมกำลังต้องการความพอดีของตรงนี้ ความพอดีของการเอาเงินไปให้สร้างหรือเอาเงินไปทำลาย ถ้าเราไปทำผิดเอาเงินไปทำลายองค์กรชาวบ้าน ไปทำลายความสามัคคีในหมู่บ้านนึกว่าเงินนี้มันเหมือนกับเขาเอาใบปลิวมาโปรย แย่งกันคว้ากันแทบจะฆ่ากันตาย ใช้ไม่ได้อย่างนั้น ซึ่งมันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องการ เพราะฉะนั้นในวันนี้ที่รัฐบาลได้พยายามทำการระดมความคิด ที่เรียนกันว่า work shop ก็เพราะว่าต้องการให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และส่วนราชการที่แตกต่างของรัฐมาร่วมกันคิดอย่างนี้ เพื่อจะได้ตกผลึกทางความคิด เมื่อตกผลึกทางความคิดทิศทางไปทางเดียวกันแล้วการแก้ปัญหามันจะมีพลัง ไม่ใช่แก้กันไปทำลายกันไป วันนี้ใส่เงินไป 10 ทำลาย 8 เหลือ 2 เหมือนลิงไต่เสาน้ำมัน

ที่ผมพูดว่าบริหารเหมือนลิงไต่เสาน้ำมันก็คือว่าไต่เสาน้ำมันขึ้นไปสักนิดมันก็ลื่นลงมาแล้วก็ขึ้นไปอีก ขึ้นไป 3 ฟุตลงมา 2 ฟุต มันช้ากว่าจะถึงยอดเสา เพราะมันมีแรงเสียดทานของเราอย่างนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมถึงพยายามอย่างยิ่งที่จะพยายามปรับแนวทางให้ทุกคนได้คิดร่วมกันเห็นร่วมกัน แล้วก็ทำร่วมกัน เพราะฉะนั้นการที่ประชาชนมีส่วนร่วมนี่ผมเห็นด้วย 1,000,000 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็อยากเห็นต่อเนื่องด้วย แต่เพียงแต่ว่าบางครั้งบางเรื่องผมก็ต้องยอมรับว่า บางทีแรงกดดันทางการเมืองก็สูง ทางสื่อมวลชนก็สูง ทำให้บางทีบางครั้งถ้าหากว่ารัฐบาลตั้งสติไม่ดีก็จะลนลาน พอลนลานเสร็จเรียบร้อยแล้วมันก็ทำไม่ทัน แล้วทำแล้วมีความเสียหาย วันนี้ถามว่าเงินพร้อมไหม 70,000 กว่าล้าน พร้อม ให้ลงพรุ่งนี้เลยก็ได้แต่ปัญหาคือว่าลงไปแล้วเละ ก็เลยต้องขออย่างนี้ ต้องขอบคุณคุณไพบูลย์ ฯ ที่ได้พยายามชวนพรรคพวกเรามาช่วยกันคิด ฟังแล้วมีเหตุผลทุกเรื่อง อีกสักครู่ผมจะพูดต่อ ปรัชญาต่อจากเรื่องที่ผมมอง ผมมองปัญหาของคนจนอย่างนี้

วันนี้เรามีวิกฤตเศรษฐกิจ เราได้ปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจไปแล้ว กำลังทำกันใหญ่ บางคนก็ชักดาบไปเรียบร้อยแล้ว แต่ขณะเดียวกันภาคประชาชนถ้าขืนเราไม่ทำ ประชาชนคือส่วนล่างที่สุด ภาคธุรกิจมองอยู่ข้างบนภาคประชาชน ภาคประชาชนถ้าไม่ทำแล้วมันจะงัดไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นผมเลยต้องทำตั้งแต่ภาคประชาชน ภาคเอกชน ท่านเชื่อไหมครับวันนี้มีผู้นำประเทศหลายประเทศสนใจมาก เรื่องนโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายพักหนี้เกษตรกร นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ผมไปประเทศไหนมีแต่คนถามทำได้อย่างไร แล้วจะมีบางคนขอมาคุยกับผม อยากจะรู้ว่าทำได้อย่างไร คิดอย่างไรถึงทำได้ เพราะว่าทุกประเทศมีคนจน ประเทศแถบเอเซียมีคนจนแต่ว่าเขากำลังคิดแก้ปัญหาคนจน แต่เขายิ่งพัฒนาคนยิ่งจนมากขึ้น เพราะเขาเรียกว่าการพัฒนาที่ไม่สมดุล การพัฒนาที่ไม่เข้าใจรากหญ้าไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของประชาชน เพราะไม่ได้ฟังประชาชน คิดเองจากส่วนกลางแล้วก็ทำไปเอง อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลนี้เข้ามา คือกลับขั้วความคิดปรับวิธีคิด บางครั้งก็อาจจะมีความไม่เข้าใจและสับสนอยู่บ้าง เพราะว่าคนที่วิจารณ์ไม่ได้คิดตาม คิดด้วยความรู้สึกของตัวเองที่วิจารณ์มาทั้งชีวิต แล้วก็จะวิจารณ์แนวเดิมต่อไปไม่ได้คิดว่าโลกมันเปลี่ยน วิธีคิดมันเปลี่ยน ก็เลยคิดอย่างเดิมก็คิดว่าตัวเองถูกอย่างเดิม ทั้ง ๆ ที่ผิดอยู่อย่างเต็มที่ ต้องเรียนว่าวันนี้ผมถึงต้องใช้ความเร็ว ต้องอดทน ต้องรอบคอบที่สุด เพราะมิฉะนั้นมันจะพลาด เรากลับมาดูเรื่องภาคประชาชน

นโยบายรัฐบาลคือการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนด้วยการพักหนี้เกษตรกร 2,000,000 กว่าครอบครัว เสร็จแล้วก็มีธนาคารประชาชนมารองรับ ซึ่งกำลังจะออกเร็ว ๆ นี้ ได้ทราบว่าไปได้ดีมาก ธนาคารประชาชนก็เพื่อต้องการปรับโครงสร้างหนี้ประชาชนที่ไปกู้เขามาทำมาหากินร้อยละ 20 ต่อเดือน ให้กลับมากู้ร้อยละ 5 – 6 หรือ 8 ต่อปี ลดมา 20 – 30 เท่า ทำให้ภาระของชาวบ้านลดลง วันนี้ผมบอกได้เลย ชาวบ้านหน้าบาง ท่านเชื่อไหมพักหนี้เกษตรกร 2,000,000 กว่าครอบครัว มีชาวบ้านเลือกโครงการที่จะพักหรือไม่พักก็ได้ ถ้าไม่พักก็ได้ประโยชน์อย่างหนึ่งพักก็ได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง เลือกไม่พักมากว่าเลือกพักครับ เห็นไหมครับใครจะไปคิด เขานึกว่า 100 เปอร์เซ็นต์พักหนี้แน่นอน ชาวบ้านหน้าบาง ชาวบ้านมีความรับผิดชอบ ชาวบ้านมีสำนึกว่าเป็นหนี้เขาแล้วจะต้องใช้ ไม่ใช่ว่าไปดูถูกชาวบ้านว่าชาวบ้านจะไปคิดชักดาบเขา เห็นชัดเลยครับตัวเลขออกมา ผมยังตกใจ ผมภูมิใจในชาวบ้าน

ธนาคารประชาชนเช่นกัน วันนี้ชาวบ้านเดือดร้อน แถวไนซ์บาซาร์นี่ครับไปกู้เงินเขามา ชาวบ้านมาขายของกระดาษสา งานฝีมือ กู้มา 5,000 บาท ต้องชำระดอกเบี้ยอีก 1,000 บาทเป็น 6,000 บาท 6,000 บาทเขามาเก็บวันละ 200 บาททุกวันที่ไนซ์บาซาร์ บางวันขายไม่ได้เลย แต่เก็บวันละ 200 บาท เก็บรายวันนะครับ ได้มากกว่าร้อยละ 20 อีกถ้าคิดเป็นรายปี อันนี้คือสิ่งที่เราต้องคิด ผมเลยคิดว่าต้องเอาธนาคารประชาชนมาแก้หนี้นอกระบบตรงนี้เพื่อไปประกอบอาชีพ โดยที่เขาเองสามารถประกอบอาชีพแล้วเลี้ยงชีพเขาได้ วันนี้ขนาดจ่ายร้อยละ 20 เขายังทุกลักทุเลยังพอเลี้ยงชีพเขาได้ ถ้าต่อไปเขาจ่ายน้อยลงเขาจะอยู่ได้ อันนี้คือจุดที่มองอีกภาพหนึ่ง

ผมมองอีกอันหนึ่งที่ทำไปนอกเหนือจากการทำอย่างนี้ เราจะปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร เลือกที่จะส่งเสริมพืชเกษตรที่ชาวบ้านถนัดแล้วก็ขายได้ ชาวบ้านถนัดแล้วขายไม่ได้เราก็จะบอกเขา หรือที่ขายได้แต่ชาวบ้านไม่ถนัด เราก็ต้องไปสอนไปแนะนำเขา เพื่อให้เขาได้ปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะกับการวางยุทธศาสตร์ราคาพืชผล ซึ่งการวางยุทธศาสตร์ราคาพืชผลผมมองข้ามไปถึงนอกประเทศ เวียดนามคุยกันแล้วไม่รู้เรื่อง คราวนี้ผมไปคุยกันรู้เรื่องแล้วเรื่องข้าว เวียดนามกับเราจะทำงานใกล้ชิดกันมาก ปรากฏว่าผู้นำปากีสถานไปเยี่ยมเวียดนาม เวียดนามเล่าให้ฟังครับ เลยแวะประเทศไทยขอคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ขอคุยที่สนามบิน 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะถามว่าขอร่วมด้วยคนได้ไหม เห็นไหมครับ แล้วนี่จีนจะมาครับ ต่อไปนี้บอกแล้วว่าเปลี่ยนวิธีหมดเลย เพื่อให้สินค้าเกษตรราคาดีขึ้น ต้องทำทุกรูปแบบ วันนี้จะมาทำเรื่องเดียวชาวบ้านไม่มีทางรอดพ้น เพราะว่าเขาช้ำมานานหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นต้องทำหลายเรื่อง ปรับโครงสร้างหนี้ เอาเงินให้ไปสร้างงานสร้างอาชีพ แล้วก็ไปช่วยเขาปรับโครงสร้างการผลิต ช่วยเรื่องราคา ตลาด อันนั้นคือสิ่งที่ต้องทำครบวงจร แล้วถ้าชาวบ้านแข็งแรงประเทศไทยทั้งประเทศแข็งแรง มันเหมือนกับว่าเรายืนบนโต๊ะ ถ้ายกพื้นให้สูงขึ้นคนที่ยืนก็สูงขึ้นตามหมด เพราะทุกคนยืนบนพื้นฐานของชาวบ้านทั้งนั้นเลย นักธุรกิจ ข้าราชการ ประเทศไทยทั้งหมดยืนบนพื้นฐานของคำว่าชาวบ้าน เพราะฉะนั้นถ้าเรายกชาวบ้านขึ้นได้ทุกคนขึ้นหมด นี่คือสิ่งที่เป็นปรัชญาที่มาของความคิดครับ

เรามีแม้กระทั่งเรื่องของการส่งเสริมหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งขออธิบายให้ผู้นำที่อยู่ในนี้ได้เข้าใจ สักนิดหนึ่งว่า ไม่ใช่หนึ่งตำบลมีได้ผลิตภัณฑ์เดียว ไม่ใช่ แต่กำลังหาผลิตภัณฑ์เก่งสักอย่างหนึ่งไว้เชิดหน้าชูตา เพื่อผลิตภัณฑ์เก่งนี้จะถูกนำไปพัฒนาคุณภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพการบรรจุหีบห่อ พัฒนาตลาด พัฒนาให้ได้ราคา วันก่อนผมเชิญบิดาแห่งการคิดเรื่องนี้ คือผู้ว่า ฯ เมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น มาบรรยายที่ห้องนี้เขาบอกว่ามะนาวที่จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น เขาเป็นมะนาวพันธุ์พิเศษ ส้มผลิตที่โน่นพันธุ์พิเศษ เขาขายชั่งเป็นกิโลกรัมแล้ว ราคาดีกว่ารถโตโยต้า ถ้าน้ำหนักเท่ากันรถโตโยต้าถูกกว่าส้มถูกกว่ามะนาวเมืองโออิตะ

วันนี้จังหวัดโออิตะมีรายได้ต่อหัวของประชากร 100,000 บาทต่อเดือนครับ รองจากอเมริกาเท่านั้น ผมบอกว่าวันนี้ผมขอชาวบ้านของผมได้ 5 เปอร์เซ็นต์ของโออิตะ มีรายได้ต่อหัวเดือนละ 5,000 บาทผมดีใจแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมกำลังจะพยายาม ผมไม่ได้ฝันสูงนะ ผมฝัน 5 เปอร์เซ็นต์ของโออิตะ สิ่งเหล่านี้เราจะทำ เราจะวางเครือข่าย เงินนี่ครับคือเริ่มต้นของการที่จะไปกระตุ้นให้ไปเริ่มคิดกันได้แล้ว เพราะว่าเรากำลังจะนำความรู้มา อย่างที่ลุงอัมพร ฯ พูด ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้เขา นั่นคือสิ่งที่เราจะแถมเข้าไปเพื่อที่จะให้ประเทืองความคิดต่าง ๆ แล้วเขาก็เลือกตามความถนัดด้วย แต่ว่าเราจะนำ เหล้าสาเกญี่ปุ่นเมืองโออิตะ ขวดหนึ่งตั้งหลายพันบาทขวดทำด้วยเซรามิก ผมยังบอกว่านี่ไปเอาขวดศิลาดลเชียงใหม่ใส่ ผมยังบอกว่า 1 ผลิตภัณฑ์ 2 จังหวัด เชียงใหม่กับโออิตะมาร่วมกัน ก็เลยยังคุยกับเขาว่าเชื่อมโยงกัน นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องทำเพราะว่าเราจะต้องหาเครือข่าย

ผมวางแม้กระทั่งเรื่องของการตลาด เรื่องของอินเตอร์เน็ตตำบล และส่งเสริม 1 ผลิตภัณฑ์ต่อ 1 ตำบล วางเครือข่าย และจะวางเครือข่ายร้านค้าต่อไปเพื่อเอาผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านมาวางเครือข่ายร้านค้า ไปเลียนแบบมาจากร้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชื่อร้าน Golden Place หรือ สุวรรณชาติ วันที่รัฐบาลจะเข้าไปถวายสัตย์ ก่อนที่ผมจะนำรายชื่อรัฐมนตรีไปถวายท่าน ท่านรับสั่งให้ผมแวะไปดูที่หน้าวังไกลกังวลร้านของท่าน นั่นคือตัวอย่างที่ท่านส่งสัญญาณให้เห็นว่าชาวบ้านต้องมีเครือข่ายในการขาย มิฉะนั้นชาวบ้านทำอะไรก็ขายไม่ได้ อันนี้เชื่อมโยงกันหมด แล้วเรื่องที่เราทำร้านค้าเครือข่ายในประเทศแล้วจะส่งต่อไปยังร้านค้าเครือข่ายที่เมืองนอกด้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าของราคา จากเดิมราคาเราถูกบี้ถูกกดลงมาติดพื้นเลย เราจะได้ขยับขึ้น ได้หายใจได้สักที

ผมบอกกับนายก ฯ เวียดนาม ว่า พวกเราชาวบ้านของเราเกษตรกรของเราเป็นนักธุรกิจ เพราะเขาลงทุนปลูกพืชสินค้าเกษตรของเขาแต่เขาเป็นนักธุรกิจที่แย่หน่อย เพราะไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าของเขาได้ เขาถูกคนอื่นกำหนดราคา แล้วพวกเราเป็นผู้นำเขา ไปขายสินค้าให้เขาแล้วยังขายขาดทุนให้เขาอีก เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรเราไปขายสินค้าขาดทุนแล้วทำให้ชาวบ้านเรายากจน ผลสุดท้ายเขาเลยเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนเท่าใด เพื่อให้ชาวบ้านรอดไม่ขาดทุน เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ อันนี้คือสิ่งที่ผมได้คุยกับเขาอย่างละเอียดเลย ขอบอกท่านว่าเรามองทั้งหมดเป็นองค์รวม ที่รัฐบาลนี้ใช้คำพูดว่าองค์รวม ๆ เพราะว่าพอกันทีที่คิดทีละเรื่อง พอคิดทีละเรื่องปุ๊บมันแก้ปัญหาไม่เสร็จ มันสร้างปัญหาใหม่ด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องคิดให้ครบวงจรทั้งหมด เราถึงต้องเอามาทำ กระบวนการทำวันนี้ผมทำงานมาเพิ่งได้ 2 เดือน ฝ่ายค้านหาว่าผมทำ 97 วัน 97 วันนั้นรวมวันที่เขาแอบสั่งราชการทั้ง ๆ ที่มีโปรดเกล้า ฯ แล้วด้วย เราทำงานไม่ถึง 2 เดือนเรากำลังขับเคลื่อนทั้งระบบพร้อม ๆ กัน เราไม่ได้ขับเคลื่อนส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนทั้งระบบมันต้องสตาร์ทช้าหน่อย แต่เวลาเคลื่อนแล้วเคลื่อนเร็ว ตอนนี้กำลังสตาร์ทเครื่องทุกตัว ไล่เครื่องยนต์ทุกตัว

เรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ผมจะส่งเสริมทางกว้าง รายได้จะลงถึงชาวบ้าน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อสุขภาพทั้งหลาย มันจะลงถึงชาวบ้าน เงินจะกระจายถึงชาวบ้าน นั่นคือสิ่งที่จะรองรับกันหมด เพราะฉะนั้นผมถึงมั่นใจว่าเงินก้อนนี้รัฐบาลไม่ได้คิดเอาคืนแต่ไม่ต้องการให้หาย ไม่ต้องการให้ชาวบ้านมองว่าเงินนี้แจกฟรี ชักตามสบายแล้วกรรมการก็ไม่สามารถคุมเกมอยู่ เพราะกลายเป็นว่าชาวบ้านบอกมากักเงินทำไม เงินรัฐบาลพวกเราต้องมีสิทธิใช้ ทุกคนเอามาหารกัน เจ๊งเลยอย่างนั้น อันนั้นคือจุดที่ทั้งหมดของปรัชญาของที่มา ทีนี้ถามว่าผมต้องการกรรมการแบบไหน ผมพูดตลอดเวลาอธิบดีเจด็จ ฯ ก็ทราบ บอกว่าผมต้องการผู้นำธรรมชาติ ผู้นำที่ชาวบ้านเลือกขึ้นมา แต่ผู้นำที่ชาวบ้านเลือกขึ้นมานั้นก็ต้องมีกลไกอย่างที่แม่ทองดี ฯ บอกว่าต้องมีเวทีมีประชาสังคมเพื่อจะให้ทำให้เขาได้รู้ว่าเขาควรจะเลือกใครเป็นกรรมการ เมื่อเขาเลือกแล้วเขาเคารพ แล้วการตัดสินของกรรมการก็ถือว่าเป็นการตัดสินที่ชาวบ้านเคารพผู้นำเหล่านั้น มันก็จะเป็นการตัดสินที่ถูกต้อง เพราะว่าเงิน 1,000,000 ไม่สามารถให้ทุกคนได้ แต่วัตถุประสงค์เพื่อไปประกอบอาชีพ ไม่ใช่ให้เงินนี้ไปใช้หนี้ เงินนี้เป็นเงินที่ไปใช้ประกอบอาชีพ ใช้หนี้ต้องใช้ด้วยรายได้ ไม่ใช่ใช้หนี้ด้วยกู้ที่ใหม่มาใช้ที่เก่า ผมทำมาแล้วครับ ผลสุดท้ายเป็นหนี้มากขึ้น กู้ที่ 1 ไปใช้ที่ 2 กู้ที่ 2 ไปใช้ที่ 3 กู้ที่ 3 ไปใช้ที่ 4 เจ๊งครับ ต้องคิดอย่างเดียวครับว่าจะหารายได้อย่างไร แล้วเอารายได้ใหม่นั่นแหละมาใช้หนี้ แต่ถ้าคนคิดว่ากู้ปุ๊บใช้หนี้ปั๊บ เจ๊งเลยครับ เจ๊งทั้งผู้ให้กู้และผู้กู้ อันนี้เป็นปรัชญาที่ต้องเข้าใจกันให้ถ่องแท้

เพราะฉะนั้นการเลือกผู้นำถ้าผู้นำธรรมชาติก็ต้องเป็นผู้นำที่มีลักษณะเป็นคนเสียสละ ไม่ใช่ผู้นำเห็นแก่ตัว เอาลูกหลานมากู้เองให้หมดเกลี้ยงเลย คนอื่นไม่ได้กู้ ทีนี้ผมเห็นด้วยที่ภาคราชการนั้นต้องเป็นที่ปรึกษามาช่วยดู ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ แต่ว่าขณะเดียวกันนั้นที่แล้วที่ยังออกอำนาจนั้นก็ควรจะอยู่กับกรรมการที่เป็นชาวบ้าน ที่เป็นการเลือกกันมาจากชาวบ้านที่แท้จริง ที่ลุงอัมพร ฯ เสนอ 3 ข้อ โอนเงินโดยสิทธิขาดนั้นอันนี้ขอซักซ้อมความเข้าใจก่อนครับ นี่คือเงินทุนหมุนเวียนประจำหมู่บ้าน แล้วรัฐบาลเองก็ตั้งงบใช้คืนออมสินอยู่แล้ว เบื้องต้นนี้รัฐบาลใช้ออมสินเป็นหลัก เราถือว่าทุกหมู่บ้านมีวงเงินอยู่ 1,000,000 บาท ถ้ายังไม่ได้อนุมัติเงินนั้นให้ไปกู้ เงินนั้นก็ไม่ถูกเอาออกไปดอกเบี้ยไม่เดิน ก็ต้องการให้หัดบริหาร สมมติว่าหมู่บ้านนี้ปล่อยกู้ไปแล้ว 200,000 ก็มาเอา 200,000 จากออมสินไป ดอกเบี้ยก็จะเดิน เราคิดดอกเบี้ยสมมติว่าคิด 3 เปอร์เซ็นต์ถูก ๆ ออมสินเกิดคิดรัฐบาล 5 เปอร์เซ็นต์รัฐบาลก็ต้องหา 2 เปอร์เซ็นต์มาอุดหนุนออมสินเพื่อไม่ให้ออมสินขาดทุน ถูกไหมครับ รัฐบาลก็จะคิดหมู่บ้าน 3 เปอร์เซ็นต์ เพราะหมู่บ้านจะได้ฝึกให้รู้ว่ามีต้นทุนอยู่ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่หมู่บ้านจะไปคิดชาวบ้าน 4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4.5 เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ นั่นเป็นค่าดำเนินการ 1 เปอร์เซ็นต์ อันนั้นเป็นรายละเอียด แต่ตัวเลขผมเป็นคนคิดเอง ไม่ได้เป็นตัวเลขกำหนดนะครับเป็นตัวเลขตุ๊กตาเฉย ๆ ครับ

ชาวบ้านจะต้องกู้แล้วเสียดอกเบี้ย สมมติ 4 เปอร์เซ็นต์ ดอกเบี้ยเท่ากับเดือนหนึ่ง 30 กว่าสตางค์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพียงแต่ว่าให้เขารู้จักว่าไม่ใช่เงินให้ฟรีแล้วเป็นเงินกู้ เพราะฉะนั้นเขาจะต้องไปหารายได้ ให้ชนะดอกเบี้ย กับค่าใช้จ่าย ถ้าเขาหารายได้ให้ชนะดอกเบี้ยค่าใช้จ่ายไม่เป็น เขาก็ไม่ได้ฝึกเขา แล้ววันหน้าวันหลังเขาเติบโตขึ้นมาอีกหน่อย เขาเป็นนักธุรกิจขึ้นมาเขาก็ต้องรู้จักว่าเงินมันมีต้นทุน ไม่ใช่เงินสวัสดิการ แล้วเงินนี้ทางบัญชีรัฐบาลก็ถือว่าเป็นเงินที่ให้หมู่บ้านกู้ไป ก็ยังอยู่กับหมู่บ้าน แต่ว่ารัฐบาลถามว่ารัฐบาลจะเอาเงินนี้คืนมาจากหมู่บ้านไหม ไม่คืนครับ ก็เป็นเงินหมุนเวียนประจำหมู่บ้านนั้นตลอดไป รัฐบาลก็จะหาเงินมาอุดหนุน ตั้งงบมาอุดหนุนออมสินใช้คืนจนครบ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 3 ปี 4 ปีก็แล้วแต่ เพื่อไม่ให้ภาระงบประมาณเป็นการว่าใช้ทีเดียว เดี๋ยวจะไม่มีเงินพัฒนาประเทศในด้านอื่น เพราะฉะนั้นเงินกองทุนตรงนี้ก็จะอยู่กับชาวบ้านตลอดไป เพียงแต่ว่าจะมีการติดตามว่าการบริหารถูกต้อง ไม่ใช่หนี้สูญหมดแล้วทั้ง 1,000,000 อะไรทำนองนี้ นี่คือสิ่งที่จะต้องหมุนเวียน

ถ้าหมู่บ้านไหนทำดี แล้วปรากฏว่าชาวบ้านมีฐานะดีขึ้น ๆ แล้วการต้องการเงินทุนหมุนเวียนมันสูงขึ้น อันนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะพิจารณาเฉพาะที่ คงจะไม่ได้เป็นแบบเดียวกัน สมมติไปพบว่าหมู่บ้านนี้ใหญ่กว่าหมู่บ้านอื่นอีกมาก เงิน 1,000,000 ไม่พอ ค่อยพิจารณากันใหม่ แต่วันนี้เบื้องต้นเราก็ต้องว่าไปตามกติกาเดียวเหมือนกันหมดก่อน แล้วหลังจากนั้นประสิทธิภาพการบริหารจัดการของแต่ละหมู่บ้าน หรือว่าความจำเป็นความต้องการของแต่ละหมู่บ้านที่แตกต่างไปนั้นค่อยพิจารณาทีหลัง และไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลยืนยันว่าจะต้องทำ แต่ว่าจำเป็นต้องทำให้ตรงกัน เรื่องอำนาจการบริหารก็ชัดเจน ก็ให้อำนาจการบริหารไปอยู่ที่กรรมการหมู่บ้าน แต่สำคัญคือย้ำแล้วย้ำอีกว่าเลือกกรรมการหมู่บ้านให้ดี เพราะผมต้องการกรรมการหมู่บ้านที่เป็นผู้นำธรรมชาติของหมู่บ้านนี้ ไม่ใช่แค่กองทุนหมู่บ้าน ยังมีเรื่องอีกมากที่ผมกำลังคิดที่จะใช้พลังหมู่บ้านพลังชุมชนทั้งประเทศในการฟื้นประเทศ ในการทำให้ประเทศเราเข้มแข็ง อาจจะมีรายการอะไรอีกหลายอย่างที่จะต้องร่วมกันแม้กระทั่งการปราบยาเสพติด กรรมการหมู่บ้านชุดนี้ก็จะเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้ช่วย ในเรื่องของการดูแลเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดทั้งหมู่บ้านได้อย่างดี เพราะฉะนั้นถึงได้ให้หมู่บ้านนี้มีกรรมการที่เป็นคนที่เป็นผู้นำธรรมชาติ ที่สามารถให้คุณให้โทษได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะคุณโทษในทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่ทั้งครอบครัวเป็นครอบครัวที่ค้ายาเสพติด มากู้เงินกองทุนหมู่บ้าน แต่กองทุนหมู่บ้านไม่ให้ พวกนี้เอาเงินไปค้ายา ไม่ให้ สมมติว่าทางครอบครัวนั้นมีความรู้สึกว่าค้ายามีแต่จะถูกจับ เลิกดีกว่า เพราะกรรมการเขารังเกียจเรา เมื่อเลิกก็ให้โอกาสก็เป็นอย่างนี้ไป ลักษณะของการที่ต้องการจะใช้กรรมการหมู่บ้านชุดนี้ ิให้เป็นพลังของประเทศในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นกรรมการนี้จึงเป็นกรรมการที่สำคัญสูงสุด

ผมอยากจะเรียนว่าขอให้พวกเราใช้ความรอบคอบตรงนี้ให้ดี เพื่อเมื่อตั้งต้นดีแล้วมันจะจบดี ถ้าต้นเลวแล้วมันจะจบเลว เพราะฉะนั้นตั้งต้นให้ดีอย่าให้ทุกอย่างมันตั้งต้นที่ผิดพลาด อันนี้ก็เลยเรียนว่าเห็นด้วยครับ แต่ว่าก็ขอให้เลือกกันให้ดี ข้อ 3 บอกว่าขอให้ผู้นำชุมชนมีส่วนร่วมในกรรมการนโยบายทุกระดับ ก็ตรงกับของแม่ทองดี ฯ ที่อยากได้ผู้นำจากภาคมาเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านระดับชาติ ผมถามท่านรอง ฯ สุวิทย์ ฯ ก็ไม่ขัดข้อง ตัวแทนภาค ๆ ละคน ซึ่งเรามีสิทธิ ตอนนี้ตั้งไปแล้ว 5 ก็เหลือ 5 ภาคละคน ถ้าสมมติเรามีผู้ทรงคุณวุฒิก็เพิ่ม แต่ว่าขอภาคละคน เรารวม กทม.อีกเป็น 5 เสริมหนุนกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนก็ชัดเจน เรามีตั้งแต่เรื่องของปรับโครงสร้างการผลิต เรื่องของหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เรื่องต่อไปจะมีอินเตอร์เน็ตตำบล

ผมมอบรอง ฯ สุวิทย์ ฯ ทำงานร่วมกัน มีท่านไพบูลย์ ฯ มีท่านอธิบดี ฯ เจด็จ ฯ และทางสภาพัฒน์ ฯ ทางออมสิน ซึ่งเป็นแกนหลักของงานทั้งหมดจะทำงานแทนผม แล้วทำไปสักระยะมีอะไรที่ต้องมาปรับแต่งให้มันลงตัว ก็ชวนผมมาร่วมได้ มีอะไรก็ผ่านเลขา ฯ นายก ฯ ผ่านรอง ฯ สุวิทย์ ฯ ผ่านเลขา ฯ รัฐมนตรี ฯ มหาดไทย ฯ พวกเราช่วยกันทำงานเต็มที่ รัฐมนตรี ฯ วราเทพ ฯ ก็ดูแลออมสินอยู่ เราจะพยายาม ผมทำอะไรคำนึงถึงประสิทธิภาพ เมื่อเราคิดอย่างนี้ปรัชญาเป็นอย่างนี้ เราต้องการเห็นประชาชนให้ได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นอะไรที่จะทำให้ไม่ได้อย่างนี้ต้องมาบอก เราจะทำให้มันได้อย่างนี้ เพราะไหน ๆ ลงทุนแล้ว รัฐบาลถือว่ารัฐบาลลงทุนไป 70,000 กว่าล้านเพื่อให้ประชาชนให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะฉะนั้น 70,000 กว่าล้านนี้ต้องไม่ไปทำลายชุมชน และต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง แล้วเสริมด้วยมาตรการอื่น ๆ ซึ่งจะรวมไปที่การจะทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง เพราะว่าวันนี้ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งแล้ว สิ่งที่ตามมาสิ่งที่ผมหวังผลเป็น 10 – 20 ปีข้างหน้า ก็คือลูกหลาน อยากให้ลูกหลานชาวบ้านได้เรียนหนังสือ เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยเรากำลังแย่ในเรื่องของศักยภาพในการแข่งขัน เพราะเขามองว่าวันนี้ประเทศไทยการศึกษาเรานอกจากแย่แล้ว เรามีวิกฤตเศรษฐกิจแล้วทำให้คนต้องออกจากระบบการศึกษา ก็เป็นห่วงว่าในวันข้างหน้ามาลงทุนประเทศไทยระยะยาว กลัวจะไม่มีบุคลากรที่มีการศึกษาเพียงพอ เพราะฉะนั้นไม่อยากลงทุนระยะยาวกับประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เราต้องระวัง

เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ผมพยายามแก้ ผมมองภาพรวมในหลายขั้นตอนที่จะแก้ ก็เลยเป็นห่วงลูกหลานเรา ผมเป็นลูกหลานคนชนบทเพราะฉะนั้นผมจะรู้ว่าการที่ลูกหลานไม่ได้เรียนหนังสือเป็นอย่างไร ผมก็มีเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ขณะที่ผมได้เรียนหนังสือ แล้วเพื่อนผมอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียนหนังสือผมรู้มันต่างกันมาก เพราะฉะนั้นผมก็ไม่อยากให้ลูกชาวบ้านไม่ได้เรียนหนังสือ ทั้ง ๆ ที่เวลาเกิดมาคลอดแล้วร้องแว้นั้นสมองเท่ากันหมด ส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่พัฒนาการที่จะพัฒนาไป ถ้าพ่อแม่ยังร้อยละ 20 อยู่ มันคงพัฒนาการสมองลูกได้ยาก แล้วเมื่อถึงเวลาขายสินค้าเกษตรก็ขายไม่ออก ขายไม่ได้ราคามันก็ลำบาก เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งตรงจุดนี้พร้อมกัน เพื่อลูกหลานข้างหน้าจะได้เรียนหนังสือ เพราะโลกข้างหน้ามันแข่งกันที่สมองแล้ว โลกข้างหน้าไม่ได้แข่งที่แรงงาน เพราะฉะนั้นใครยังแข่งที่แรงงานคนนั้นลำบากแล้ว เราต้องพยายามสร้างเด็กไทยให้ได้เรียนหนังสือมาก ๆ ตรงจุดนี้คือจุดเริ่มต้น ผมยอมรับว่าการคิดที่จะลงไปที่ชาวบ้านจริง ๆ จัง ๆ นั้น ไม่ค่อยมีใครกล้าทำเพราะ 1.มันใช้เงินมาก 2. มันใช้เวลา มันไม่เห็นผลทันที แต่ผมถือว่าถ้าไม่ทำวันนี้มันก็ไม่รู้จะทำเมื่อไร เพราะวันนี้รัฐบาลนี้ประชาชนให้คะแนนเสียงมามาก ประชาชนให้ความหวังมากเพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้เต็มที่

ผมต้องเรียนว่าผมคงจะตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ อีกหลายเรื่องในช่วงนี้ ถ้าผมไม่ทำก็ไม่รู้ว่าใครจะทำ ขอเรียนว่ายังมีเรื่องใหญ่ ๆ อีกหลายเรื่องที่ต้องตัดสิน เพราะไม่เช่นนั้นจังหวะที่ประชาชนให้รัฐบาลมาขนาดนี้แล้ว ยังนั่งทับเรื่องแบบเก่า ๆ ถึงเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีแค่เซ็นแฟ้มแล้วเปิดงานนี่มันง่ายจะตาย แต่ถ้าเป็นที่ต้องทำงานหนัก ๆ กล้าต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ แล้ว ต้องยอมรับว่าแรงเสียดทานก็ต้องมาก การพัฒนาที่ไม่สมดุลนั้นเป็นปัญหา แต่ถ้าจะพัฒนาที่สมดุลนั้น คนที่เคยได้รับประโยชน์จากการพัฒนาที่ผิดทางมาในอดีตก็จะเสียประโยชน์ในวันนี้ ก็จะไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าวันนี้ผมขอให้คนส่วนใหญ่ฟื้น แล้วคนที่โกรธผมวันนี้จะรู้ว่าวันหน้าวันหลังเขาก็ได้ดีด้วย เพราะว่าในเมื่อเรือประเทศไทยถึงฝั่งทุกคนที่นั่งอยู่ในเรือถึงฝั่งหมด เพราะฉะนั้นผมขอเอาชาวบ้านคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนพายเรือให้มีแรงก่อน ไม่เช่นนั้นเรือมันพายไม่ได้ เพราะคนที่พายเรือมันเป็นลมหมด

ผมเรียนว่า ต้องขอท่านผู้นำทั้งหลายที่อยู่ที่นี่ต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ในการสร้างผู้นำธรรมชาติ ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน แล้ววันนั้นผู้นำธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านนั่นแหละคือกำลังหลักของชาติ ที่จะรองรับนโยบายใหม่ ๆ ได้ทันที คุณไพบูลย์ ฯ เป็นคนเสียสละทำเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่ผมรู้จักท่าน ต้องขอให้ท่านเหนื่อยต่อหน่อย เหนื่อยเพื่อชาวบ้าน ไม่ได้อะไรเลย เพราะเป็นความสุขใจ ความสุขของคนอยู่ที่คำจำกัดความที่แต่ละคนจะเป็นคนให้เอง บางคนก็สุขแบบหนึ่งบางคนก็สุขอีกแบบหนึ่ง ทั้งหมดอยู่ที่คำจำกัดความ คุณไพบูลย์ ฯ มีคำจำกัดความ สุขก็คือให้ชาวบ้านช่วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้นต้องทำงานหนักหน่อย

-----------------------------------------------

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

วิมลมาส / ถอดเทป / พิมพ์

Resource:
//www.thaigov.go.th/webold/news/speech/thaksin/sp06may44.htm


Create Date : 12 มีนาคม 2551
Last Update : 12 มีนาคม 2551 14:52:21 น. 0 comments
Counter : 653 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.