" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
12 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0105 รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย 2546





รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย
พิมพ์ครั้งแรก: 2546
จำนวนพิมพ์:
กำหนดการออกหนังสือ: ไม่ประจำ
ขนาดรูปเล่ม/หน้า: 21*29 ซม. /55
แผนภูม/แผนภาพ: 8/0
ตารางสถิติ:
จัดพิมพ์: ไทย-อังกฤษ
ยอดคงเหลือ

ข้อมูลสถิติที่สำคัญ :
นำเสนอข้อมูลระดับประเทศ
การประเมินความก้าวหน้าการพัฒนาคน
บริบทใหม่ของการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน
การสนับสนุนการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน

...รายงาน หรือ หนังสือเล่มนี้ เป็นหนึ่งในรายงานที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เขียนคำนำให้เอง ท่านให้ความสำคัญ กับ รายงานฉบับนี้ เพราะจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาคน การเสริมสร้างพลังอำนาจ ของชุมชน การสร้างบริบทใหม่เรื่องสิทธิ และ ความรับผิดชอบ ในคำนำ มีข้อความตอนหนึ่งว่า...

....."ใน สหัสวรรษใหม่นี้ ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับการขจัดความยากจนในนัยที่กว้างกว่าเรื่องรายได้ ซึ่งเป็นจุดเน้นที่แตกต่างจากศตวรรษที่ผ่านมา แนวความคิดเรื่องการพัฒนาคนของ UNDP - United Nations Development Programme เป็นกรอบคิดที่สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาคน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ของประเทศไทยที่เน้น "คน" เป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนา ในอดีตการพัฒนาคน มักได้รับความสนใจน้อยกว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ แม้ว่าการสร้างงานจะเป็นเงื่อนไขทีสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะบรรเทาความยากไร้ แม้ว่าโลกาภิวัฒน์จะสร้างโอกาสพัฒนาใหม่ๆ แต่อาจบั่นทอนคุณค่าวัฒนธรรม และ จารีตประเพณีอันดีงาม ฉะนั้น ชุมชนท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสมดุลกับแรงผลักกระแสโลก โดยการเพิ่มสมรรถนะในกาจัดการชีวิตของตนเอง ด้วยการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชนให้พึ่งพาตนเอง อันจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันให้ชุมชนเข้มแข็ง"

รายงานฉบับนี้จัดทำโดย สำนักงาน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)...







Create Date : 12 มีนาคม 2551
Last Update : 12 มีนาคม 2551 10:42:33 น. 1 comments
Counter : 1252 Pageviews.

 
(จาก รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย 2546 UNDP)


วิบูลย์ เข็มเฉลิม : (1) แบบอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง

บทความพิเศษ / ประสาร มฤคพิทักษ์

ความจริงเรื่องของ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม มีการเผยแพร่เป็นที่รับรู้กันพอสมควร แต่ในยุคแห่งบริโภคนิยมรุนแรง ประชาชนได้รับการส่งเสริมให้สร้างหนี้มหาศาล ขณะที่คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" อันเป็นพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พูดกันทุกวันเมื่อปี 2541-2543 เป็นคำพูดที่ถูกลืมไปแล้ว การหยิบยกเอาแบบอย่างของเศรษฐกิจพอเพียงมาเขียนจึงน่าจะเป็นประโยชน์

คุณวิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นผู้ใหญ่บ้านห้วยหิน ต.ลาดกระทิง อ.สนามไชยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

บ้านห้วยหินมี 210 หลังคาเรือน ที่นั่นปลูกมันสำปะหลังกันมาตั้งแต่ปี 2510 ผู้ใหญ่วิบูลย์ก็เช่นเดียวกันกับชาวบ้านคนอื่น คือ ปลูกมันเต็มพื้นที่กว่า 200 ไร่ของตนเอง แต่ก็ขาดทุนย่อยยับเป็นหนี้ธนาคารดุจเดียวกับชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ล้วนแต่ทำงานหนักแต่รายได้ไม่พอจ่าย เกิดภาวะเครียด

ผู้ใหญ่วิบูลย์เป็นหนี้ธนาคารอยู่สามแสนบาท พอเปิดบัญชีดูก็พูดว่าทุกครั้งที่ปลุกมัน รายจ่ายมากกว่ารายได้ตลอดมา จึงหันมาทบทวนตัวเองใหม่ โดยกลับมาคิดว่าการคิดทำกำไร ไม่มีทางสำเร็จมีแต่จะเข้าเนื้อตัวเอง

จึงน่าจะเปลี่ยนทิศทางเป็นการพยายามทำเพื่อลดรายจ่าย


วนเกษตร ทำอย่างไร

ถ้าจะใช้คำว่าเปลี่ยนกลยุทธ์เลยก็ยังได้ ผู้ใหญ่วิบูลย์ทำอย่างไร

1. ตัดสินใจขายที่ไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียง 9 ไร่เศษเท่านั้น

2. ลงมือทำเองทุกอย่างที่สามารถทำได้ มุ่งการทำเพื่อกินเองใช้เอง เป็นการทำเพื่ออยู่เพื่อกิน ไม่ใช่ทำเพื่อขาย

3. ปลูกพืชผักนานาชนิด โดยเฉพาะมีสมุนไพรมากกว่า 400 ชนิด รอบบ้านจึงร่มรื่นเป็นป่าที่มีไม้นานาพันธุ์อยู่ด้วยกัน

4. ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ปุ๋ย

5. มีรายจ่ายน้อย ไม่สร้างหนี้สินเพิ่ม

6. มีอาหารกินจากพืชผักที่ปลูกเอง กินได้อิ่ม และไม่ต้องซื้อกิน

7. มีเวลาให้กับครอบครัวและตัวเองมากขึ้น มีชีวิตสงบ

8. สัตว์นานาชนิดเข้ามาอาศัยป่าผู้ใหญ่วิบูลย์เป็นที่พึ่ง มีกระแตกระรอกนับร้อยตัว พอกระแตถูกหมาไล่ มันก็วิ่งมาหาผู้ใหญ่วิบูลย์เพราะมันรู้ว่าเป็นที่พึ่งได้

9. ดิน น้ำ ต้นไม้ คน สัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้งปวงคืนสู่ธรรมชาติ

ก่อนหน้านั้นหมู่บ้านห้วยหินมีแต่ปัญหา การใช้ยาฆ่าแมลงเยอะมากเพื่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งมันสำปะหลัง แตงกวา และถั่ว ชาวบ้านแต่ละคนแบกหนี้จนหลังอาน มีการปล้นฆ่าชิงทรัพย์กันเป็นประจำ

กลยุทธ์เศรษฐกิจพอเพียงของผู้ใหญ่วิบูลย์ อันหมายถึง "ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ"

(อ้างถึง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในโอกาสต่างๆ)


ทำไมต้องวนเกษตร

ผู้ใหญ่วิบูลย์ ให้เหตุผลว่า

"วนเกษตร เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ทำให้เรามีความมั่นใจในการพึ่งพาตนเอง และอีกส่วนหนึ่งไปฟื้นฟูสภาพแวดลัอม สภาพป่า ทำให้เราเห็นว่าปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในชุมชน มันเกิดจากความจำเป็นที่จะต้องไปเอาปัจจัยมาใช้และปัจจัยจำนวนมากก็ต้องไปหาจากป่า ต้องแย่งชิงกัน กลายเป็นปัญหาขัดแย้งในสังคม

ระบบวนเกษตรจะเป็นตัวหยุดปัญหาตรงนั้นได้ ความจำเป็นที่จะต้องไปหาปัจจัยจากในป่ามันไมเกิด เพราะมันอยู่ในพื้นที่ของเราแล้ว"

ผืนป่า 9 ไร่ ไม่แตกต่างจากป่าธรรมชาติ เพราะพืชทั้งหมดเอามาปลูกคละกันเป็น 3 ประเภท

พวกหนึ่งเป็นไม้ยืนต้น คือไม้ใหญ่ เป็นไม้ผลหรือไม้ที่เอามาทำยา มาทำเสาเรือน ทำเครื่องเรือน เช่น ต้นจัน ต้นแสลงใจ

พวกสองเป็นเถาไม้เลื้อย ที่เลื้อยพ้นต้นไม้ใหญ่ เช่น หวาย ซึ่งเป็นได้ทั้งอาหารและยา และทำเครื่องเรือนด้วย

พวกสามเป็นพืชชั้นล่างเล็กๆ ปลูกคลุมดิน ป้องกันการชะล้างหน้าดินและเป็นที่สะสมอินทรียวัตถุ พืชพวกนี้เป็นทั้งอาหารและยา เช่น ข่า กระชาย ชะพลู หญ้าหนวดแมว ฟ้าทลายโจร

ที่น่าสนใจคือพืชทุกอย่างใช้ประโยชน์ได้หมด ในวนเกษตรจึงไม่มีวัชพืชใดๆ เพราะพืชทุกชนิดที่ปลูกเป็นการปลูกอย่างเลือกสรร มีการจัดการเข้าเกี่ยวข้องด้วย

ธรรมดาถ้าปลูกพืชอายุสั้นประเภทเดียว จะต้องมีการไถพรวนหน้าดินเป็นประจำ การที่ปลูกพืชทั้งสามประเภททำให้ไม่ต้องไถพรวน เพราะการไถพรวนดินทำให้ดินดาน นอกจากนี้พืชที่ปลูกบนดินไม่ไถพรวนยังทนแล้งได้ดีกว่าด้วย

ต่อคำถามที่ว่า สำหรับคนที่ต้องการทำวนเกษตรแล้ว ควรเริ่มต้นที่พืชประเภทใดก่อน

ผู้ใหญ่วิบูลย์ บอกว่า

"ต้องปลูกพืชกินได้ก่อน เพราะอาหารมีความจำเป็น เป็นการประกันว่ามีกิน ถึงไม่มีเงินก็ไม่เดือดร้อน ถ้ามีเกินกว่าที่เรากินก็จะเป็นรายได้ เช่น กล้วย มะม่วง กระท้อน มะไฟ มังคุด พวกนี้มีกินทั้งปี เป็นการลดรายจ่ายได้ทางหนึ่ง"

ผู้ใหญ่วิบูลย์ยังแนะนำคุณประโยชน์ของวนเกษตรต่อสุขภาพว่า

"การดูแลสุขภาพง่ายที่สุด คือการสะสมพันธุ์ไม้ ถ้าทำโดยวิธีอื่นเช่นการบอกเล่า จัดอบรมหรือให้อ่านหนังสือจะไม่ได้ผล แต่ถ้าปลูกต้นไม้นี่ จำได้แม่น สมมุติบอกว่าต้นไม้ชนิดนี้แก้เจ็บคอ คนปลูกก็แค่รู้ แต่พอเจ็บคอจริงๆ ไปเอาไม้นี้มาเคี้ยวสักครู่ พอหายเจ็บคอ ก็จำได้ทันที ประสบการณ์เกิดจากการนำของจริงมาใช้ ผมจึงแน่ใจว่าการปลูกต้นไม้เป็นวิธีที่เรียนรู้ได้ดีที่สุด

เมื่อสะสมพืชไว้มากๆ ก็แปรรูป ตากแห้งหรือทำยารักษาโรคจำหน่ายเป็นรายได้ในครัวเรือน เช่น ฟ้าทลายโจร แก้หวัดเรื้อรังที่เกิดจากอักเสบในลำคอหรือโพรงจมูก พวกไพล ขมิ้น ว่านนางดำ ว่านหัวใหญ่ เป็นพืชคลุมดิน ที่ใช้หัวประคบแก้ปวดเมื่อยได้ดี"


พัฒนาการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง

ผู้ใหญ่วิบูลย์สรุปประสบการณ์ตรงเป็นบทเรียนรวบยอด เพื่อการพึ่งพาตนเองไว้อย่างน่าสนใจ

"เกษตรกรหลายคนในวันนี้หากต้องการจะพึ่งตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงทางตันเหมือนผมในวันนั้น "การพึ่งตนเอง" พูดง่าย แต่ทำยาก แต่ความยากไม่ใช่เหตุผลในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ เรื่องที่ต้องนำมาคิดคือ

คนเราเมื่อเกิดมาก็ต้องอยู่รอดให้ได้ และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีด้วย บทเรียนจากการเรียนรู้เพื่อพึ่งตนเองพอสรุปเป็นกระบวนการง่ายๆ เรียกกระบวนการเรียนรู้เพื่อพึ่งตนเองได้ดังนี้

ขั้นที่ 1 เริ่มต้นที่กระบวนการกำหนดอนาคตตัวเองด้วยแผนแม่บท ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยแผนชีวิต แผนระดับครอบครัว ปัญหาและข้อจำกัดที่ทำไม่ได้ในระดับครอบครัวจะนำไปสู่ความร่วมมือระดับชุมชน สร้างเป็นแผนแม่บทระดับชุมชน

ขั้นที่ 2 หลังจากที่เราเริ่มมีทิศทางของตนเอง จะพบว่าการค้นหาความชัดเจนในสิ่งที่จะทำเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องค้นหาข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การตัดสินใจของเราผิดพลาดน้อยที่สุด และจะพบว่ามีความรู้และข้อมูลบางอย่างเท่านั้นเองที่ไม่มีในชุมชน แต่อาจต้องนำมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงต้องค้นหา ค้นคว้า ทดลอง และทดสอบความรู้ใหม่บางอย่างขึ้นมาให้เหมาะสมกับชีวิตและชุมชนในปัจจุบัน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะหยิบยกขึ้นมาให้เห็นรูปธรรมและเนื้อหาของการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้

1) ข้าว กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการข้าวเพื่อชีวิต ข้าวเป็นอาหารหลักของคนในภูมิภาคนี้ เรามีพันธุ์ข้าวมากมายกว่า 30,000 พันธุ์ มีภูมิปัญญาในการจัดการข้าวมากกว่า 2,000 ตำรับ ตั้งแต่ รากข้าว ต้นข้าว ใบข้าว ดอกข้าว ข้าวเปลือก ข้าวสาร รำข้าว ข้าวเก่า จนกระทั่งข้าวสุกที่เหลือกิน แต่ทุกวันนี้ชาวนาทำได้เพียงข้าวเปลือก

2) อาหาร สร้างสุขภาพให้คน คนต้องมีอาหารที่ดี อาจได้จากการเพาะปลูกหรือจากแหล่งอาหารในชุมชน เช่น ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าของชุมชน หนองน้ำหรือคลองและสามารถจัดการกับผลผลิตที่มีมากเกิน ให้มีกินเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีของตนเอง

3) ยารักษาโรค เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจ็บป่วย คนควรมีความรู้และความสามารถพื้นฐานที่จะรักษาตนเองได้ในเบื้องต้น เมื่ออาการป่วยมีความซับซ้อนขึ้นไป ชุมชนจะมีระบบในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้กับสมาชิกในชุมชน

4) เครื่องใช้ไม้สอย กระบวนการเรียนรู้เพื่อการยังชีพ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ คนเรียนรู้ที่จะพัฒนาดัดแปลงปรับใช้สิ่งที่มีในธรรมชาติได้ไม่ยาก เช่น เครื่องนุ่งห่มจากเส้นใยธรรมชาติ สีจากธรรมชาติ เครื่องไม้และเครื่องมือหากินจากธรรมชาติ แต่หากคนในปัจจุบันมีความต้องการมากกว่าปัจจัย 4 คนควรพัฒนาความสามารถของตนเองด้วยการทำเองมากกว่าการซื้อ

5) ดิน ปุ๋ย และจุลินทรีย์ กระบวนการจัดการทรัพยากรทางชีวภาพเพื่อฟื้นฟูชีวิตให้กับดิน ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแม่ธรณี และอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญของชีวิตในปัจจุบันที่ชุมชนไม่สามารถจัดการได้เหมือนแต่ก่อน

ขั้นที่ 3 เมื่อเป็นที่ชัดเจนพอสมควรแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการพัฒนาในระดับชุมชน สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับสมาชิกในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งเหล่านั้นร่วมกัน

ถ้าชุมชนมีการพัฒนาการเรียนรู้อย่างเป็นระบบอย่างมีทิศทางและอย่างเป็นกระบวนการ คนและชุมชนจะมีความเชื่อมั่นในการฟื้นฟูพลังชุมชนให้เข้มแข็ง ค่อยก่อรูปความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน สังคมและที่ราบลุ่มภาคกลางก้นอ่าวไทย ขยายไปสู่ระดับประเทศตามลำดับอย่างหนักแน่นมั่นคง ความเข้มแข็งของคน และชุมชนในระดับรากหญ้าเช่นนี้ ก็คือความเข้มแข็งของประเทศ"

(จาก รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย 2546 UNDP)

ผู้ใหญ่วิบูลย์ มองไกลจากตนเอง ไปสู่ชุมชนซึ่งเป็นรากหญ้าของสังคมไทย ขยายไปสู่สังคม และน้อมนำไปสู่ความเข้มแข็งของประเทศชาติ



วิบูลย์ เข็มเฉลิม : (จบ) แบบอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง

ผลกระทบรูปธรรมต่อเพื่อนเกษตรกร

สัจธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตที่เป็นจริงคืออะไร ใครคนหนึ่งพูดไว้นานแล้วว่า "มาตรฐานแต่เพียงประการเดียวในการวัดความเป็นจริงก็คือ ผลแห่งการปฏิบัติ" บางคนบอกว่า "เมื่อคุณพูด เขาจะฟัง เมื่อคุณทำ เขาจะเชื่อ" คำคมนี้ วัดได้จากผลงานของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม

นายเลี่ยม บุตรจันทา เกษตรกรแห่ง ต.ท่ากระดาน อ.สนามไชยเขต จังหวัดเดียวกัน เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ได้รับผลทางความคิดของผู้ใหญ่วิบูลย์

นายเลี่ยม เล่าว่า

"จากการสำรวจพบว่า หมู่บ้านนี้มี 168 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 369 คน มีหนี้สินรวม 8.3 ล้านบาท มีรายได้จากการเพาะปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และงา โดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 45,000 บาทต่อปี แต่มีรายจ่ายที่จำเป็นเฉลี่ยถึง 75,000 บาทต่อปี ต่อครัวเรือน ร้อยละ 72 ของรายจ่ายเป็นต้นทุนในการผลิต ซึ่งกว่าครึ่งต้องซื้อจากนอกชุมชน เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมันรถ เครื่องมือและเครื่องยนต์ ชุมชนรู้ดีว่าการเพิ่มรายได้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จึงต้องหาทางออกในการแก้ไขปัญหา

ทางออกของชาวบ้านคือการออมทรัพย์ เริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อใช้เงินเป็นเครื่องมือในการรวมคน ทำให้คนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าใจปัญหาเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีการช่วยเหลือกันตามสภาพ หนึ่งปีผ่านไปชาวบ้านค้นพบว่าปัญหาที่สำคัญของชุมชนก็คือชาวนาไม่มีข้าวกิน จึงต้องเอาเวลาส่วนหนึ่งไปรับจ้างหาเงินมาซื้อข้าวกิน จึงจัดตั้งกองทุนข้าวเพื่อสวัสดิการชุมชนขึ้นจากชาวนาที่มีความเชื่อเดิมว่า หากไม่เห็นข้าวใหม่ จะไม่มีทางขายข้าวเก่าในยุ้ง ชาวนาจำนวนหนึ่งที่ยังเชื่อคำสอนคนโบราณจึงมีข้าวเหลือ และนำมารวมกันในกองทุนข้าวเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน

เรื่องต่อไปคือ การอนุรักษ์ป่า (ป่าชุมชน) ซึ่งเชื่อมโยงกับธนาคารต้นไม้ เป็นการเรียนรู้คุณค่าของป่าในแบบใหม่โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีในชุมชนและภายนอกชุมชน โดยมีสวนอาหารและยาเป็นเครื่องมือเรียนรู้ ชุมชนมีวังปลา (เขตอภัยทาน/ธนาคารปลา) ที่ห้ามจับสัตว์น้ำ ทำให้คนในชุมชนมีปลากินมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากไหปลาร้าที่มีมากขึ้นในแต่ละบ้าน

ชุมชนยังฟื้นฟูวัฒนธรรม และคิดสร้างประเพณีใหม่ๆ บางอย่างควบคู่กันไป เช่น การทำบุญให้ปลาที่ถูกเบื่อตาย มีเด็กเกิดใหม่ 1 คน จะต้องปลูกต้นไม้ 20 ต้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพ และฟื้นฟูการเลี้ยงควาย เพื่อใช้ในการผลิตเป็นการลดต้นทุนและรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม คิดจัดการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า เช่น ผงซักฟอก แชมพู ยาสีฟัน น้ำดื่ม เป็นต้น

ปี พ.ศ.2539 เดือนกรกฎาคม ผมได้มีโอกาสมาพักค้างคืนที่บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์ ได้คุยกันหลายเรื่อง หลังจากนั้นก็ได้แนวคิดหลายอย่าง ผมเริ่มทบทวนอดีต ผู้ใหญ่วิบูลย์แนะนำให้ผมทบทวนเรื่องรายได้ รายจ่าย ผมกลับบ้านก็เลยทำบัญชีรายจ่าย ทำอยู่ปีหนึ่ง พอมารวมตัวเลข ก็ทำให้รู้สาเหตุที่ทำให้ผมเป็นหนี้

ครอบครัวเล็กๆ อย่างผม กินข้าววันหนึ่ง 3 มื้อ ปีหนึ่งมี 365 วัน เป็น 1,095 มื้อ ถ้าหากเราต้องซื้อทั้งหมดคิดถูกๆ 1 มื้อ 20 บาท เป็นเงิน 21,900 บาท หากคิดว่าจะนำเงินขายข้าวโพดไปซื้อกิน กี่ไร่จึงจะพอ เพียงแค่คิดเรื่องกิน ยังไม่คิดค่าเหล้า บุหรี่ ลูกไปโรงเรียน และค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ อีก

ผมจึงเลิกปลูกข้าวโพด หันมาปลูกผักสวนครัวและทำวนเกษตร ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก ตอนเริ่มทำครั้งแรกก็ทะเลาะกับแม่บ้าน เพราะผมหยุดทำข้าวโพดโดยสิ้นเชิง ปลูกข้าวโพด 40-50 ไร่ ยังไม่พอใช้หนี้ แล้วมาทำในที่นิดเดียวจะพอกินได้อย่างไร มีพวกต่อต้านเหมือนกัน ส่วนมากก็เป็นเพื่อนที่กินเหล้าด้วยกัน ยังนึกถึงรายได้ไม่ออก

ตอนนั้นผมปลูกมะละกอ คนละแวกนั้นก็ไปซื้อมะละกอที่ผมปลูก จึงเริ่มเห็นทางออก ช่วยกันหาบน้ำรดมะละกอทุกวัน ปี พ.ศ.2540 ผมก็เลิกอบายมุขทุกอย่าง พร้อมกับชักชวนเพื่อนที่เคยต่อต้านมารวมกลุ่มกันเรียนรู้และพัฒนาหมู่บ้าน สิ่งที่เราคิดออกมาเป็นแผนแม่บทซึ่งเป็นแผนจริงที่เราปฏิบัติ มีผล 2 ทางคือรอดและไม่รอด แต่ถ้าหากเราไม่ทำเลยมีแต่ตายอย่างเดียว เราจึงจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด ซึ่งระบบอะไรก็แล้วแต่ที่รัฐส่งเสริมให้เราทำมีแต่ส่งเสริมให้ทำอย่างเดียว แต่ไม่เคยส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องการจัดการสิ่งที่เราทำ"

(จาก รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย 2546 UNDP)

แบบอย่างที่ดี ทำให้มีคนเดินตาม ชาวบ้านห้วยหินและชาวบ้านจากถิ่นอื่นๆ ได้สัมผัสด้วยตาและรู้ด้วยใจตนเอง หลายครอบครัวพากันเปลี่ยนแบบแผนการผลิต จากผลิตเพื่อขายจำนวนมาก ไปสู่การทำเองใช้เอง มีเหลือค่อยเอาออกขาย ผู้คนมีเวลาว่างมากขึ้น พากันไปทำบุญที่วัดมากขึ้น ชาวบ้านหันมาสนใจผู้เฒ่าผู้แก่มากขึ้น หมู่บ้านก็สงบมากขึ้น เพราะอาชญากรรมลดลงจนเกือบจะไม่มีเลย

นี่คือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นได้ด้วยการกระทำเป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อดีตวุฒิสมาชิกผู้ทำวนเกษตร เจ้าของเศรษฐกิจพอเพียงขนานแท้ที่ควรค่าแก่การคารวะยิ่งคนหนึ่งของสังคมไทย

วิถีวนเกษตร ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ได้รับการเผยแพร่และกลายป็นต้นแบบของผู้สนใจทั่วประเทศที่พากันมาศึกษา และนำไปปฏิบัติในท้องถิ่นต่างๆ อย่างกว้างขวาง


เรื่องดีๆ มีทั่งแผ่นดินไทย

เรื่องดีๆ และคนดีๆ ที่สร้างสรรค์ชุมชน ด้วยการสร้างเสริมและรักษาฐานทรัพยากร สร้างองค์ความรู้ บริหารจัดการกันเองอย่างเอื้อเฟื้อเฟือฟายต่อกันและกันมีอยู่ทุกท้องที่

ชุมชนศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน ร่วมกันฟื้นฟูผืนป่านับหมื่นๆ ไร่ จากป่าถูกทำลายเป็นเขาหัวโล้น น้ำแห้งขอดห้วย จนขณะนี้ น้ำกลับคืนห้วย ไม้กลับคืนป่า ป่าไม้เบญจพรรณกว่า 20,000 ไร่ มีใบหนาดดกทึบด้วยน้ำมือของชาวบ้านโดยแท้

ชุมชนนาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ที่ร่วมกันตั้ง ชมรมรักษ์ธรรมชาติ สร้างโรงสีของชาวนาขึ้นมา เปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวใช้สารเคมีเป็นวิธีเกษตรอินทรีย์ สร้างสวนสมุนไพร จัดตั้งกลุ่ม "เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน" ขึ้นมาดูแลกันเอง รวมทั้งสร้างสรรค์ เบี้ยกุดชุม ซึ่งต่อมาเรียกว่า บุญกุดชุม ขึ้นมาใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนภายในแวดวงของผู้ใช้บุญกุดชุม สามารถเป็นบทเรียนให้ศึกษาวิธีการสร้างสรรค์ วิถีชีวิตพออยู่พอกินได้อย่างน่าสนใจ ชุมชนนาโส่จึงเป็นชุมชนที่มีผลงานเป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็งได้อย่างดีอีกแห่งหนึ่ง

ชุมชนไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เปลี่ยนทิศทางเกษตรกรรมแผนใหม่ที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและฝากชีวิตไว้กับยางพารา มาเป็นการแสวงหาความหลากหลายในการประกอบอาชีพที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองในชุมชนเป็นหลัก ด้วยกิจกรรมกลุ่มผักปลอดสารพิษ กลุ่มเพาะเลี้ยงปลา กลุ่มแปรรูปข้าว กลุ่มสมุนไพร กลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ด ฯลฯ ที่ได้ผล

ชุมชนสิเกา อ.สิเกา จ.ตรัง ที่นั่นชาวบ้านเป็นมุสลิมยากจน หาอยู่หากินกับการจับปู ปลา กุ้ง หอยที่ป่าชายเลน เมื่อทางการอนุญาตให้พ่อค้าทำสัมปทานตัดป่าชายเลน เป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรของชาวบ้าน ทำให้ลำบากยากเข็ญขึ้นไปอีก

ยิ่งมีเรือจับปลาขนาดใหญ่เข้ามาลากอวนชิดชายฝั่ง ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนชาวบ้านหนักขึ้น การลากอวนทำให้ครูดเอาหญ้าทะเลติดไปด้วย หญ้าทะเลเป็นแหล่งหาอยู่หากินของปู ปลา กุ้ง หอย สัตว์เหล่านี้ไม่มีที่อาศัย ก็ลดจำนวนลงไป ทางการก็ไม่ได้ช่วยอะไร

ชาวสิเกาผนึกกำลังกันขัดขวางเรือประมงใหญ่ไม่ให้เข้าประชิดฝั่ง แล้วลงปะการังเทียม ลงหญ้าทะเล ทุกวันนี้สภาพแวดล้อมที่ดีกลับคืนมา ปู ปลา กุ้ง หอยกลับคืนถิ่น เศรษฐกิจชาวบ้านฟื้นคืนดีขึ้น ชาวบ้านรวมตัวกันขยายการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ขยายออกไปทั้งทางเหนือและทางใต้ นี่คือการรักษาฐานทรัพยากรและฟื้นวิถีชีวิตเศรษฐกิจชุมชนที่มีพลังมาก

กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ของ คุณอัมพร ด้วงปาน ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา สร้างชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาเป็นปึกแผ่นมั่นคง เกื้อกูลการผลิตส่งเสริมความสัมพันธ์ เอื้ออาทรต่อกันในหลากหลายเรื่องราว รวมถึงการสร้างชาวบ้านขึ้นมาอีกมากมายให้เป็นนักบริหารจัดการ

มีรายได้นับเป็นร้อยล้านบาท โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบราชการเลย


หัวใจยิ่งใหญ่

อาจารย์ประเวศ วะสี เล่าให้ผมฟังว่า วันหนึ่ง พลตรีจำลอง ศรีเมือง ไปเยี่ยมชุมชนกลุ่มสมุนไพร ที่ จ.สกลนคร แล้วขอซื้อกล้าสมุนไพรที่ต้องการมา 200 ต้น ชาวบ้านขายให้ในราคาต้นละสลึงเดียว

พลตรีจำลอง ถามชาวบ้านว่า

"ทำไมถึงตั้งราคาถูกนักล่ะ ทำไมไม่ขายต้นละสองบาท จะได้มีกำไรมากหน่อย"

ชาวบ้านตอบยิ้มๆ อย่างภูมิใจว่า

"กำไรของเราคือความสุขของคนอื่น"

ความงดงามแบบนี้ หาได้แต่ในชุมชนที่มีจิตใจสูงเท่านั้น

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม กับผู้ใหญ่มั่น สามสี ผู้นำชุมชนแห่ง ต.นาโส่ อ.กุมชุม จ.ยโสธร โดยที่ผู้เฒ่าทั้งสองต่างก็รักและปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ปรุงยาและเผยแพร่

ผู้ใหญ่วิบูลย์ ขอแบ่งปันสมุนไพรบำรุงกำลังชื่อ "โด่ไม่รู้ล้ม" มาจากพ่อมั่น สามสี หลายครั้งหลายหนเข้า ก็ชักเขิน วันหนึ่งมีโอกาสจึงบอกผ่าน คุณธวัชชัย โตสิตระกูล คนกรุงเทพฯ ที่รักการทำงานชุมชน ให้ช่วยบอกกับพ่อมั่น สามสี ด้วยว่า

"ผมต้องการโด่ไม่รู้ล้มอีก แต่จะขอซื้อก็แล้วกัน ให้เปล่าผมมาหลายครั้งแล้ว"

ผู้ใหญ่มั่น สามสี ตอบกลับว่า

"อย่าซื้อเลย เอาสมุนไพรมาแลกกันดีกว่า เพราะถ้าซื้อ สมุนไพรชนิดนี้มันจะมีราคาขึ้นมา ผู้คนก็จะพากันมาหา ในที่สุดมันก็จะหมดไป"

ฟังเรื่องงดงามในการรักษาฐานทรัพยากรอย่างนี้แล้ว ทำให้เห็นค่าความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียกว่ามูลค่ากับคุณค่า เห็นความสำคัญของผลประโยชน์ยาวไกล มากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า เห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ผมแจ้งแก่ใจได้ทันทีว่า ใจของผมถูกยกขึ้นสูงกว่าเดิมไปอีกระดับหนึ่งทีเดียว

มติชนสุดสัปดาห์ มีนาคม พ.ศ. 2547




โดย: (จาก รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย 2546 UNDP) (moonfleet ) วันที่: 12 มีนาคม 2551 เวลา:10:38:50 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.