" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
12 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0140. 18 พฤษภาคม 2544 คำบรรยายพิเศษ โดย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่อง นโยบายของรัฐบา

คำบรรยายพิเศษ

โดย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เรื่อง

นโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย

วันที่ 18 พฤษภาคม 2544 เวลา 10.00 น.

ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ ถนนรัชดาภิเษก

------------------------------

เรียน ท่านราษฎรอาวุโส ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ ท่านผู้อำนวยการสถาบันพระปกเกล้า ท่านผู้มีเกียรติ ทุกท่าน
บุคคลที่นั่งอยู่ในนี้เป็นบุคคลสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปการเมือง ที่อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมใหม่ เพื่อความเป็นธรรมกับสังคม แต่บังเอิญผมจบทางนี้มาเหมือนกัน ต้องเรียนว่า ที่ผ่านมาองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมได้กระจัดกระจาย และที่สำคัญที่สุดไม่มีองค์กรที่เป็นหน่วยงานกลางในการที่จะเฝ้าติดตามและพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมนั้นเกิด
ความยุติธรรมจริง ๆ

กระบวนการยุติธรรมมีจุดที่ทำให้ความยุติธรรมไม่ยุติธรรมอยู่หลาย ๆ แห่ง ซึ่งถ้าขาดองค์กรหลักในการติดตามประเมินผลและปรับปรุงเสนอแนะที่ได้แก้ไขแล้ว ผมไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นจะรักษาความยุติธรรมกับสังคมได้ เพราะว่าสังคมโลกปัจจุบันเป็นสังคมที่มีพลวัดสูง เมื่อมีพลวัดสูงก็เปรียบเสมือนสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งจะต้องมีการเกิด มีการเติบโต มีการป่วย เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเฝ้าติดตามเพื่อรักษาและสร้างความสมดุลของพลวัดนั้นให้เกิดความเป็นธรรม ฉะนั้น กระทรวงยุติธรรมในยุคใหม่ ผมเห็นว่าจะเป็นองค์กรที่สำคัญที่ต้องทำหน้าที่เหล่านี้

ถ้าเรามองย้อนเรื่องของความยุติธรรมนั้น เราต้องมองวัตถุประสงค์ตั้งแต่เริ่มต้น คือ ตั้งแต่เรื่องของการแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสามอำนาจนั้นจะมีการถ่วงดุลกันเพื่อให้เกิดการใช้อำนาจอย่างเหมาะสม และมองย้อนกลับไปตั้งแต่นักปรัชญารุ่นก่อน เรามองเข้าไปที่ทฤษฎีสัญญาประชาคม ที่ได้พูดถึงการที่รัฐจะใช้อำนาจเพื่อที่จะต้องออกกฏเกณฑ์กติกา เพื่อให้การอยู่ร่วมกันของสังคมนั้นเกิดสันติสุข ไม่ให้ผู้ที่มีอำนาจมากกว่าข่มเหงรังแกผู้มีอำนาจน้อยกว่า จึงได้มีกติกาต่าง ๆ ออกมา กติกาเหล่านั้นก็ตั้งใจกันอย่างยิ่งที่จะเป็นกติกาที่ให้ความเป็นธรรม แต่ความไม่เป็นธรรมก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะเนื่องจากว่าระบบและบุคคลที่ใช้ระบบ ซึ่งจะต้องมีความสมดุลกันตลอดเวลาในการใช้อำนาจตรงนี้ และจะต้องมีระบบของการติดตามประเมินผล ระบบของการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในระบบนี้อย่างมาก ถ้าเรามองเข้าไปในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเป็นระบบที่เรียกว่า “ระบบคู่ปรปักษ์” ไม่ใช่เป็น “ระบบไต่สวน” ในอดีตสมัยก่อนนั้นระบบการยุติธรรมเป็นระบบปรักปรำ แต่มาในปัจจุบันเป็นปรปักษ์ ความต่างกันอยู่ที่หน้าที่การนำสืบ ระบบปรับปรำหน้าที่การนำสืบตกไปอยู่ที่ฝ่ายโจทย์ และผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่จะต้องสืบพยานมาหักล้าง แต่ว่าความเคยชินกับระบบที่จะเปลี่ยนนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ในสังคม ผู้ใช้อำนาจบางทีก็ยังไปเผลอใช้ระบบของการปรับปรำ ตรงนี้คือจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในเริ่มแรกเรามามองดูในกระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นระบบเดียวกัน มีตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ถ้าเรามองคดีอาญา ถ้าเราวิเคราะห์ด้วยหลักของทฤษฎีว่า ด้วยระบบผลลัพธ์ของตำรวจเป็นปัจจัยนำเข้าของอัยการ ผลลัพธ์ของอัยการเป็นปัจจัยนำเข้าของศาล ผลลัพธ์ของศาลส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าของราชทัณฑ์ แต่ในทุกระบบมีการแยกระบบออกไปจากกัน ทั้งที่ระบบทั้งหมดเป็นระบบย่อยที่อยู่ในระบบเดียวกันและรวมกัน แล้วทุกอย่างไม่ได้อยู่ในสูญญากาศ มีสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกัน สิ่งแวดล้อมนั้นคือ ปัญหาสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อยู่ร่วมกันอยู่ เพราะฉะนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงเป็นกระทรวงที่จะต้องติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้ และการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้น ผมอยากเห็นกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่เป็นหลาย ๆ ด้าน ถ้าเรามองเรื่องกฎหมาย กฎหมายที่ออกมาทั้งหลายเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติก็จริงอยู่ แต่การที่จะบอกกับประชาชนให้รู้ว่ามีกฎหมายฉบับนี้อยู่ และกฎหมายฉบับนี้มีผลอย่างไรนั้นไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนี้ เมื่อไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนี้ก็หมายถึงว่าการไม่รู้กฎหมายเกิดขึ้นได้ แต่เราบอกหรืออ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ประชาชนไม่รู้กฎหมายใหม่ๆ มีมาก อย่างนี้ก็คือการไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ในเบื้องต้นนั้นก็คือการประชาสัมพันธ์ของกฎหมายมีไม่เพียงพอ หรือการมีกฎหมายที่มากเกินไป ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น มีกฎหมายมากเกินไปและกฎหมายบางฉบับไม่ถูกบังคับใช้ แต่บางฉบับถูกเลือกใช้ เมื่อต้องการจะใช้เป็นลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติ กรณีอย่างนี้ก็เกิดความไม่เป็นธรรม ถ้าเรามองตั้งแต่กฎหมายที่ออกมา จะให้ประชาชนรู้ได้อย่างไร กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้มีอยู่หรือไม่ และกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้วจะมีใครไปดู ฉะนั้นหน้าที่อะไรทุกอย่างที่จะกำลังจะเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นหน้าที่ที่ต้องมาฝากไว้กับกระทรวงยุติธรรมยุคใหม่

ฉะนั้น กระทรวงยุติธรรมยุคใหม่ จึงต้องเก็บตกกับสิ่งที่น่าจะสร้างความไม่ยุติธรรม กับสิ่งที่น่าจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เริ่มตั้งแต่ทำอย่างไรให้กฎหมายมีความเป็นธรรมคือ กฎหมายที่ถูกนำมาใช้ต้องเป็นที่รับรู้ของประชาชน กฎหมายที่ไม่บังคับใช้ต้องถูกยกเลิกและต้องติดตาม และนอกจากนั้นยังไม่พอกับการติดตามคดีทั้งหลายของศาลที่พิจารณาต่าง ๆ ออกมานั้นก็ไม่มีใครติดตาม เพราะศาลคงไม่สามารถประชาสัมพันธ์ตัวเอง ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศ คำพิพากษาของศาลหรือแนวโน้มในการที่ศาลพยายามรักษาความเป็นธรรมให้กับสังคม จะถูกนำมาปฏิบัติ ท่านมีสิทธิต้องปรึกษาทนายความ ท่านมีสิทธิที่ไม่ต้องให้การก็ได้ก็ถูกนำมาใช้หมด ถ้ามีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในศาล แนวโน้มของศาลต้องการให้เห็นความยุติธรรมแบบนี้ก็ไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนี้ กระทรวงยุติธรรมก็ต้องไปรับมาดำเนินการ และนำมาเพื่อจะซักซ้อมการปฏิบัติของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าหน่วยงานยุติธรรมเป็นพลังงานหนึ่งในองค์กร แล้วก็ไม่ได้มีความเชื่อมโยงในจุดนี้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ที่ผมกำลังมองว่าอยากจะฝากหน้าที่เหล่านี้ให้กับกระทรวงยุติธรรม หรือคดีอย่างกรณีที่ท่านคงจำได้ เรื่องของในประเทศที่เจริญแล้ว กฎหมายจะไม่มีรายละเอียดมากมาย แต่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปโดยเอาบรรทัดฐานของศาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างคดีของเม็บ พูดถึงเรื่องการตัดพยานที่ได้มาโดยไม่ชอบศาลก็จะไม่รับฟัง พูดถึงเรื่องของพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มิชอบย่อมไม่สามารถนำมาใช้ในศาลได้ กรณีอย่างนี้ก็เป็นกติกา ซึ่งจะต้องเอามาบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ทำอย่างนี้ทำไม่ได้ เพราะต่อไปนี้ศาลจะไม่รับฟังแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำแล้ว ที่สำคัญวันนี้สถิติต่างคนต่างเก็บ

ผมจึงขอฝากไว้ว่า กระทรวงยุติธรรมอาจจะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงในกระบวนการยุติธรรม เช่น มีคดีเกิดขึ้นเท่าไหร่ เข้าไปสู่ตำรวจ จากตำรวจสู่อัยการ จากอัยการสู่ศาล จากศาลสู่ราชทัณฑ์ แล้วจะเชื่อมโยงว่าคดีหมดไปเท่าไหร่ในกระบวนการ และตอนนี้อาชญากรรมประเภทนี้อยู่ส่วนใด ของระบบในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่มีใครดูแลฐานข้อมูลกลาง เราก็ไม่สามารถ ที่จะมีข้อมูลเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ เพราะต่างฝ่ายต่างจัดทำไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูล ฉะนั้น เราก็จะไม่รู้ว่าแต่ละคนไปสู่ในแต่ละกระบวนการเท่าใด แล้วอาชญากรรมทุกวันนี้มีอยู่จำนวนเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ อาชญากรรมที่เข้าสู่ตำรวจไม่ได้หมายความว่า เรามีอาชญากรรมเกิดขึ้นเท่านั้น ความจริงอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในชั้นตำรวจนั้น เป็นแค่ส่วนน้อยของจำนวนปัญหาทั้งหมดเท่านั้นเอง เพราะจริง ๆ แล้ว การก่ออาชญากรรมนั้นมีจำนวนมากกว่า แต่ตรงนี้ตำรวจเองหรือปัญหาสังคมทั้งหมด ก็ไม่มีใครติดตามตรงนี้อย่างใกล้ชิด

จากการเก็บสถิติที่มีการศึกษาพบว่า คดีอาชญากรรมที่ถึงมือตำรวจนั้นมีเพียงแค่ 1 ใน 10 ของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมที่เกิดในบ้านที่เกี่ยวกับครอบครัว ทั้งหลายเป็นอาชญากรรมที่ไม่ได้มีการบันทีกไว้ สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นภัยต่อสังคมอยู่ ฉะนั้น จุดนี้จึงเป็นจุดหนึ่งที่อยากจะฝากกระทรวงยุติธรรม ช่วยคิดอีกเหมือนกันว่าเราจะมองปัญหาตรงนี้อย่างไร แล้วคดีที่ไปสู่ตำรวจก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคดีจะต้องถูกนำไปสู่อัยการ เพราะคดีบางส่วนถูกยกฟ้อง บางส่วนตำรวจไม่ฟ้อง และคดีที่ไปสู่อัยการที่ตำรวจฟ้องก็ไม่ได้หมายความว่า อัยการจะฟ้องตามตำรวจทุกคดี และเมื่อคดีไปถึงศาลก็ลดลงไปอีก พอศาลพิพากษาแล้วอาจไม่ต้องจำคุกทั้งหมดอีกเช่นกัน ฉะนั้น คดีจริง ๆ แล้วถ้ามองปีระมิด คดีที่ไปติดคุกจริง ๆ สู่ยอดปีระมิดมีนิดเดียว แต่อาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่อยู่ยอดปีระมิด แต่มันอยู่ที่ฐานของปีระมิด ฐานรากคืออาชญากรรมที่ไปถึงตำรวจ ฐานต่อมาก็คือถึงอัยการ ถึงศาล และราชทัณฑ์ ฉะนั้นตรงจุดนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะฝากว่า กระบวนการยุติธรรมเราคงต้องมองตรงนี้ เพราะว่าปัจจุบัน คนที่ไปอยู่ในส่วนยอดของปีระมิดที่ติดคุกอยู่ในราชทัณฑ์ส่วนใหญ่คือ คนจน แล้วคนจนก็คือเหยื่อของคนจน คนที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรมก็มักจะเป็นคนจนเป็นส่วนใหญ่ คดีที่เกิดขึ้นในหมู่คนจนจึงมีอยู่มาก ฉะนั้นถ้าหากรัฐบาลใช้นโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนส่วนหนึ่ง แก้ปัญหายาเสพติดส่วนหนึ่ง และขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมให้ความยุติธรรมอีกส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าสังคมไทยคงจะดีขึ้นในหลาย ๆ ระดับ ผมอยากจะเรียนว่า หน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมนั้นควรให้รวมถึงเรื่องการวิจัยและพัฒนา ในการวิจัยปัญหาเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และขณะเดียวกันก็เสนอแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไข วันนี้อะไรที่เป็นกิจทั้งหลายที่ไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม และไม่รู้จะฝากใคร กระทรวงยุติธรรมยุคใหม่ก็คงต้องช่วยรับ เพราะว่าปัญหาสังคมของเรานับวันจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสังคมในช่วงที่วิกฤต อย่างกรณียาเสพติดที่เกิดขึ้นมากในช่วงนี้ เป็นเพราะว่าวิกฤตเป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่ง ซึ่งขอฝากกระทรวงยุติธรรม

วันนี้การบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันที่อยากเห็นก็คือ กฎหมายต้องไปกับเมตตาธรรม หรือใกล้เคียงกัน คือ คนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางครั้งต้องทำหน้าที่ สองอย่างในตัวเดียวกัน ถ้าเราต้องใช้กับผู้ที่เป็นอาชญากร ต้องใช้ไม้แข็ง แต่ต้องไม่ใช้กับคนที่เป็นคนดี คนต้องการความช่วยเหลือ หรือเป็นลักษณะของให้ทำงานบริการสังคม หน้าที่ของนักกฎหมายก็คือ เมตตาธรรมในการทำหน้าที่สองอย่าง ถ้ากฎหมายกับเมตตาธรรมไม่ไปคู่กันก็อันตราย หรือมีเมตตาธรรมไม่มีกฎหมายก็อันตราย ความสมดุลของสองสิ่งนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญ ในการที่จะมองปัญหาในวันข้างหน้า แต่ประเทศเราเป็นนิติรัฐ กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ฉะนั้นผู้ที่จะต้องดูว่ากฎหมายนั้นถูกใช้อย่างเหมาะสมก็คือ กระทรวงยุติธรรม ต้องช่วยมองดูตรงนี้ เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายจะเป็นอาวุธสำคัญ ความรู้กฎหมายและความไม่รู้กฎหมาย ก็จะเป็นช่องทางแห่งความได้เปรียบและเสียเปรียบในเศรษฐกิจสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นความไม่รู้ของสังคมไทย ไม่ใช่เพียงไม่รู้ในเรื่องของกฎหมายอย่างเดียว แต่กฎหมายเป็นความไม่ร ู้ที่สำคัญอันหนึ่งของความไม่รู้อย่างอื่น ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทั่วไป ความรู้และไม่รู้ของกฎหมายนั้นจะลดช่องว่างได้ ก็ขอให้กระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมอาจต้องมีงบในด้านประชาสัมพันธ์กฎหมายเช่นกัน ซึ่งไม่อยากให้มีการใช้กฎหมายในทางที่ผิดในหลายเรื่อง ขณะนี้รัฐบาล โดยคณะของท่านมีชัยฯ ช่วยดูและสังคายนา โดยตั้งต้นกันใหม่ว่าวันนี้เมื่อโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน กฎหมายที่มีอยู่มีอะไรที่ล้าสมัยหมดความจำเป็นแล้ว อะไรที่ทันสมัย อะไรที่ต้องปรับปรุงซึ่งเราจะต้องเริ่มต้นกันใหม่ตั้งแต่วันนี้ กระทรวงยุติธรรมเป็นฝ่ายเลขานุการ ที่สำคัญที่ต้องช่วยสังคายนาในส่วนนี้ เพื่อให้เราเริ่มต้นของศักราชใหม่ของเราด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

วันนี้เราคงเห็นว่าคดีล้นศาลคนล้นคุก เราพยายามที่จะพยายามหันเหคดีออกจากระบบเป็นช่วง ๆ เพื่อให้คนที่กระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มระบบ เพื่อก่อให้เกิดความรวดเร็วประหยัด และเราก็มีหลายมาตรการ มาตรการแรกคือมาตรการปรับ ซึ่งอาจจะพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ตามสาเหตุที่มีโทษจำคุกเปลี่ยนเป็นโทษปรับ คืออาจจะให้มีองค์ประกอบที่คอยควบคุมและคอยวินิจฉัย ชี้ขาดที่สามารถรับฟังข้อยุติก่อนขึ้นสู่ศาล

อีกมาตรการหนึ่งก็คือ มาตรการระงับข้อพิพาททั้งในและนอกศาล เช่นใช้วิธีไกล่เกลี่ย ประนอมข้อพิพาทในชุมชน หรือพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ไม่ได้บัญญัติให้ยอมความกันได้บางประเภทที่ไม่กระทบต่อความสงบสุขของสังคม โดยแก้ไขให้เป็นความผิดอันยอมความได้เพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย หรือประนอมข้อพิพาท หรือคดีบางประเภทที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ก็อาจจะมีวิธีไกล่เกลี่ย หรือประนอมข้อพิพาทรองรับ เพื่อให้คดีสามารถยุติได้โดยเร็ว โดยใช้วิธีชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามรูปแบบของคณะกรรมการ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศของสหประชาชาติ เป็นต้น คือ เราพยายามจะหันเหคดีต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ไปสู่เต็มกระบวนการ ไม่เช่นนั้นเราจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการให้ความเป็นธรรม เพราะเนื่องจากการช้าของระบบ การยืดยาวของระบบ ก็คือการปฏิเสธความยุติธรรมอย่างหนึ่งแบบไม่รู้ตัว ถ้าหากเราสามารถช่วยกันทำให้ระบบมันดีขึ้น กระชับขึ้น ก็จะทำให้การยุติธรรมอำนวยความยุติธรรมได้ผล ขณะเดียวกันก็จะเป็นการสร้างขบวนการที่ทำให้ผู้กระทำความผิดหรือจะกระทำความผิดมีความเกรงกลัว

ทฤษฎีเรื่องของการลงโทษก็มีทฤษฎีหนึ่ง เขามองเรื่องของความแน่นอนในการลงโทษมากกว่า การมองเรื่องของความรุนแรง ฉะนั้น ความแน่นอนจึงมีความสำคัญ ก็คือว่า ประสทิธิภาพของกระบวนการยุติธรรม จึงมีความหมายและความรวดเร็วในการพิพากษาในการนำไปสู่การตัดสินความนั้น จึงเป็นหัวใจอันหนึ่ง มีการแก้ไขกฎหมายก็จะสามารถนำกระบวนการไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทมาใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรมต้องคอยตรวจสอบว่า ยุคสมัยนี้ความผิดอะไรควรต้องปรับเปลี่ยน จากการที่เคยยอมความไม่ได้ในอดีต ก็ควรจะยอมความได้ ทฤษฎีของพระพุทธเจ้าคือ ทางสายกลางหรือความสมดุล ไม่ใช่ว่าเราเป็นห่วงกลัวคดีจะล้นศาลมากไป ผลสุดท้ายก็เลยไม่มีผลยับยั้งอาชญากรรม เลยทำให้คนไม่กลัวเพราะว่าเอะอะอะไรก็จบง่าย ความสมดุลตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ที่จะต้องมีการติดตามอยู่ตลอดเวลา

มาตรการอีกอันหนึ่งซึ่งเป็นมาตรการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษใช้ คือมาตรการต่อรองคำรับสารภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทางอาญาที่พนักงานอัยการเจรจาเสนอข้อตกลงกับจำเลยหรือทนายจำเลย เพื่อให้จำเลยรับสารภาพโดยแลกเปลี่ยนกับการได้รับโทษน้อยลง ก็จะช่วยให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นเร็วขึ้น โดยไม่ต้องพิจารณาอย่างเต็มรูป อีกอันหนึ่งคือมาตรการชะลอการฟ้อง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดด้วยความจนเป็นพลเมืองดี วิธีนี้ก็ใช้ได้ผลในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีเกี่ยวกับยาเสพติด สำหรับเรากรณียาเสพติดจะนำมาใช้กับผู้ค้ารายย่อยซึ่งเป็นทั้งผู้เสพและผู้ค้า โดยเราพยายามที่จะให้ผู้ค้าเพราะจำเป็น เนื่องจากไม่มีเงินจะเสพก็เลยไปค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหาทางเสพ ถ้าเรานำสืบได้ว่าเป็นเช่นนั้นเราก็อาจจะพิจารณาว่าเขาเป็นเพียงผู้ป่วยที่เข้าไปรับการบำบัด ลักษณะเดียวกันอาจจะต่อรองเพื่อให้เขาบอกแหล่งที่รับมาขาย เพื่อจะได้นำไปสู่การจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ในอนาคต

มาตรการคุมประพฤติ เพื่อคุมประพฤติผู้กระทำความผิดหลังคำพิพากษาของศาล หรือคุมประพฤติชั้น พักการลงโทษ หรือลดวันลงโทษ รวมทั้งคุมประพฤติเด็กและเยาวชน ซึ่งอยู่ในการดูแลของสถานพินิจ และคุ้มครองเด็กและเยาวชน คือการสงเคราะห์ผู้กระทำผิดภายหลังพ้นจากการคุมประพฤติในทุกระดับขั้นแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการขยายโอกาสการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ เพื่อจะได้ไม่ต้องนำผู้กระทำผิดคดีเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่มีสันดานเป็นอาชญากรไปคุมขังปะปนกับพวกคดีอุกฉกรรจ์ในเรือนจำ

มาตรการพักการลงโทษ ระบบพักการลงโทษหรือการปล่อยนักโทษ คือปล่อยนักโทษไปสู่นอกเรือนจำ ก่อนครบกำหนด ในเมืองนอกเดี๋ยวนี้มีการคุมประพฤติแบบให้ตกใจกลัวชั่วขณะ คือเอาผู้กระทำผิดแทนที่ จะเอาไปคุมประพฤติ ก็เอาเข้าไปอยู่ในคุกชั่วระยะสั้น ๆ เพื่อไปเห็นความโหดเหี้ยมในคุก เห็นความที่ต้องลำบากลำบนในคุก และปล่อยออกมาเป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เกิดความกลัวความเข็ดหลาบ จะได้ไม่กลับไปทำอีก ก็เป็นลักษณะพาโลอีกแบบหนึ่ง ในระบบพักการลงโทษแบบหนึ่งที่เราใช้กัน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับราชทัณฑ์ การฟื้นฟูนักโทษ เพื่อให้กลับไปเป็นพลเมืองดี ซึ่งคงต้องมีการเก็บข้อมูลไว้เพื่อติดตาม

มาตรการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนและครอบครัว เพราะเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน และมีแนวโน้มเป็นอันตรายในสังคมก็ให้มาอยู่ในความดูแลของรัฐ โดยเฉพาะในสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ผมคิดว่ามาตรการต่าง ๆ เหล่านี้หากได้มีการศึกษาและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม ก็จะเป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะช่วยลดคดีที่นำมาสู่ศาลลงได้ รวมไปถึงการลงโทษจำคุกในคดีต่าง ๆ จะช่วยลดปัญหาคนล้นคุกได้อีกอันหนึ่ง ผมอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมของไทยเรา เปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อยากให้ประชาชนคอยเป็นหูเป็นตาให้กับตำรวจ อยากให้มีการทำงานแก้ไขอาชญากรรมในเชิงรุก มิใช่ตั้งรับเช่นเดียวกัน เพราะหลายประเทศเขาใช้ชุมชนเข้ามาช่วย ไม่ว่าเรื่องของการทำบ้านกึ่งวิถี เป็นสิ่งที่รักชุมชน ปัจจุบันชุมชนจะมีส่วนมีบทบาทสูงมากกับเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย เรื่องของความไม่เป็นธรรมในสังคม

ฉะนั้น วันนี้การที่ท่านทั้งหลายได้มาอยู่ในที่ของกระทรวงยุติธรรม ได้มาช่วยทำประชาพิจารณ์แผน ของกระทรวงยุติธรรมนั้น ก็คงจะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการที่จะทำให้ นไทยได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนไทยที่มีกำลังน้อยที่สุดในสังคม มีเสียงเบาที่สุด แต่มีจำนวนมากที่สุดคือ คนจน คนเหล่านั้นเขาไม่รู้กฎหมาย หรือรู้ก็น้อย หรือกฎหมายทั่ว ๆ ไป รู้ด้วยหลักจริยธรรมและคุณธรรม ธรรมดาสิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำ สิ่งเหล่านี้ควรทำ แต่ถ้าเป็นเนื้อหาของกฎหมายแท้ ๆ ก็อาจจะไม่รู้จริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรรับรู้ที่เราจะให้เขานั้นเป็นสิ่งที่ดีอันหนึ่ง

นอกจากนั้นกระบวนการทั้งหลาย ที่จะปฏิเสธระบบความยุติธรรมกับคนจน เป็นสิ่งที่เราจะต้องหาทางแก้ไข และท่านจำไว้เลยว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่ถูกกระทำเป็นเหยื่อของอาชญากรรมส่วนใหญ่คือ คนจน และคนที่ก่ออาชญากรรมส่วนใหญ่ก็กลายเป็นคนจน ฉะนั้น ถ้าระบบกระทรวงยุติธรรมดี ก็เท่ากับว่าเราได้ทั้งเมตตาธรรม ได้ทั้งการแก้ไขสังคมที่รากหญ้า เพราะว่าวันนี้คงจะเป็นจังหวะดี โอกาสดี ซึ่งส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ วันนี้ได้รับการแก้ไขปัญหาในระบบทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและเรื่องความยุติธรรมที่กำลังทำอยู่ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าในประเทศที่อาชญากรรมน้อยคือ ประเทศที่เขาแก้ปัญหาความยากจนได้ วันนี้อาชญากรรมเกิดขึ้นหลายอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าเป็นความชั่วร้ายเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งเกิดขึ้นเพราะเรื่องของเศรษฐกิจก็มีส่วนมาก จนต้องขออธิบายว่า วันนี้ไม่มีทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สามารถอธิบายปัญหาอาชญากรรมได้ทั้งหมด คงเป็นหลายทฤษฎีประกอบกัน ถ้าหากว่ากระทรวงยุติธรรมมีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ เราก็สามารถที่จะลดโอกาสที่จะเกิดอาชญากรรมในสังคมนี้ได้มาก คงไม่ได้บอกว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม อย่างเดียว แต่กระทรวงยุติธรรมที่กระจายและกระตุ้นสิ่งที่เป็นหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เพื่อให้กระบวนการ

ทั้งหมดได้ไปสู่การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ให้เกิดการมองในภาพรวมมากที่สุด และขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มาช่วยกันสร้างแผนที่ดีให้กระทรวงยุติธรรม เป็นกระทรวงใหม่ในมิติใหม่ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับคนทั้งประเทศ

-------------------------

ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ประทุม พลับแดง /เรียบเรียง

Resource:
//www.thaigov.go.th/webold/news/speech/thaksin/sp18may44-2.htm


Create Date : 12 มีนาคม 2551
Last Update : 12 มีนาคม 2551 15:24:43 น. 0 comments
Counter : 623 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.