" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
11 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 

0101. FUTURE ASIA (อนาคตของเอเชีย) : 1 ใน 109 หนังสือควรอ่าน จาก นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร







ตามสุภาษิตสอนคนให้หาปลา ACD เป็นกระบวนการที่ทำให้ภูมิภาคเอเชีย สามารถยืนได้บนขาตนเอง ด้วยการเรียนรู้ที่จะ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในยุค โลกาภิวัตน์ กระบวนการของ ACD นั้น เปิดให้ทุกประเทศไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจน ใหญ่ หรือเล็ก สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้กับ ภูมิภาคเอเชียในอนาคต"



สุนทรพจน์ของ ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
การประชุมนานาชาติครั้งที่ 9 ของ นิฮอน เคไซ ชิมบุน ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546

ฯพณฯ ประธานาธิบดี อาร์โรโย
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มหาเธร์
คุณ เรียวกิ สุงิตะ
ฯพณฯ
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมขอขอบคุณ คุณสุงิตะเป็นอย่างมากในคำกล่าวแนะนำของท่าน ผมใคร่ขอขอบคุณอย่างจริงใจ ต่อนิฮอน เคไซ ชิมบุน ที่ได้เชิญผมมาร่วมในการประชุมนานาชาติครั้งที่ 9 ในวันนี้ที่กรุงโตเกียว ในหัวข้อ “อนาคตของเอเชีย” ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยแขกผู้มีเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก ซึ่งจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกัน จะเป็นเวทีที่ก่อประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการสร้างเสริมความเข้มแข็ง และบทบาทในอนาคตของทวีปเอเชีย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งมวลของทวีปนี้

ฯพณฯ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของอารยธรรมต่างๆ อันยิ่งใหญ่ของเอเชีย เป็นเวลานานนับพันปี ทวีปแห่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดของทรัพยากรอันมั่งคั่ง วัฒนธรรม ความรู้ สติปัญญา ปรัชญา ทักษะความช่ำชอง และคุณค่า ทั้งทางด้านการศึกษาและศิลปะอย่างเปี่ยมล้น ที่ได้มีการเรียนรู้ถ่ายทอดสืบต่อจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง และยังมีอิทธิพลต่ออารยธรรมตะวันตกบางส่วนอีกด้วย จากตะวันออกกลางถึงตะวันออกไกลซึ่งเป็นชื่อที่เรียกขานโดยประเทศตะวันตก อาณาจักรหลายแห่งได้เจริญรุ่งเรือง บางแห่งยิ่งใหญ่ และครองอำนาจยาวนาน แต่บางแห่งก็ต้องลดทอนอำนาจหรือแตกแยกออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย โดยผู้ปกครองอาณาจักรที่ทำการต่อสู้เป็นอริระหว่างกันและกันเอง แต่คงจะไม่มีใครเลยที่อาจปฏิเสธคุณค่าแห่งมรดกที่อารยธรรมเอเชียได้มอบไว้ให้กับโลกของเรา ทวีปเอเชียได้หว่านเมล็ดแห่งศาสนา ปรัชญา วัฒนธรรม และโครงสร้างทางสังคมที่เป็นส่วนสำคัญยิ่งต่ออารยธรรมของโลกในปัจจุบัน

แม้จะเป็นสัจธรรมทีว่ารากเหง้าของมนุษย์เป็นสิ่งกำหนดความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติและเผ่าพันธุ์ แต่เราก็ไม่ควรต้องถูกพันธนาการติดอยู่กับอดีต แต่ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของทวีปเอเชีย ทั้งในส่วนที่มีมหาอำนาจอื่นๆ นอกทวีปของเรา เข้ามาเกี่ยวข้อง และในส่วนที่ไม่มีประเทศภายนอกมาเกี่ยวข้อง ได้ชี้ให้เห็นประจักษ์ถึงการต่อสู้ขัดแย้งกันเองภายในประเทศหลายประเทศ เป็นผลให้ประชาชนจำนวนมาก ต้องตกอยู่ในภาวะความแตกแยกแห่งสงครามความขัดแย้ง จนไม่อาจได้รับประโยชน์จากความมั่งคั่งของวัฒนธรรมของเราเองได้ ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ที่เป็นที่รู้จักกันดี ผ่านการสอนเป็นบทเรียนในโรงเรียนทั่วไปนั้น บ่อยครั้งมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรไมตรี และความรู้สึกเป็นศัตรูคู่อริกัน ระหว่างคนต่างเชื้อชาติต่างเผ่าพันธุ์ บ่อยครั้งพวกเราในเอเชียเองก็แข่งขันระหว่างกันและกันเอง จนทำให้เสียประโยชน์ แต่กลับทำให้เกิดประโยชน์แก่คนอื่นแทน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และกำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในหลายๆ ส่วนของทวีปของเรา และเป็นอุปสรรคของการพัฒนาทวีปเอเชีย และไม่เป็นธรรมต่อการที่ทวีปของเราเป็นทวีปที่มีประวัติศาสตร์ และอารยธรรมอันยิ่งใหญ่มายาวนาน

ในบางครั้ง กลับยิ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมาก ที่สิ่งที่โลกให้การยอมรับว่าเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของอารยธรรมแห่งมนุษยชาติ นั่นคือสิ่งมหัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลก ส่วนใหญ่แล้วตั้งอยู่ในทวีปเอเชียทั้งสิ้น แต่แล้วประเทศต่างๆ อันเป็นที่ตั้งของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเหล่านั้น กลับยังมีความยากจนเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของการพัฒนาประเทศอยู่

ในขณะที่อารยธรรมเอเซียควรจะก่อให้กิดพลังและศักยภาพจากภายในทวีปของเราเอง เพื่อสร้างความมั่งคั่ง ความอยู่ดีกินดี และความผาสุก ของประชาชนในทวีปเอเชีย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าอนาคตของเอเชียและจุดกำเนิดแห่งการสร้างเอเชียใหม่จะก่อประโยชน์สูงสุด และความมั่งคั่งให้กับประชาชนชาวเอเชียแล้วล่ะก็ ถึงเวลาแล้วที่เอเชียจะต้องเริ่มทบทวนกระบวนความคิดในการมองตัวของเราเองเสียที


ท่านผู้มีเกียรติ

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ปัจจุบันไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการทางประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน และอนาคตก็เป็นมากกว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เราต่างก็ทราบดีว่า ถ้าเรายอมปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาบังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เท่ากับเรายอมให้ความทุกข์ยากที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาบังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกนั่นเอง ประเทศต่างๆ จึงต้องเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อกันให้แตกต่างไปจากอดีต จะต้องรู้จักสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เอื้อต่อความร่วมมือใหม่ๆ ความเป็นหุ้นส่วนใหม่ และสันติภาพสำหรับอนาคต การที่เราจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอดีตเพื่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับทวีปเอเซียนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงในทวีปเอเชียของเรา ถึงเวลาแล้วที่เอเชียจะต้องไขว่คว้า หาแนวทางความเป็นหุ้นส่วนใหม่บนพื้นฐานของความเข้มแข็ง และความหลากหลายแตกต่างที่เรามีร่วมกัน โดยหลีกเลี่ยงบรรดาต้นเหตุที่จะนำมาซึ่งความอ่อนแอให้กับเรา ทวีปของเราแห่งนี้มีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงเชี่อว่า ทวีปเอเชียต้องการแนวคิดรูปแบบใหม่ที่เป็นแนวคิดเปิดกว้าง และนำไปสู่ความร่วมมือที่จะสร้างเสริมความเชื่อมั่น การยอมรับนับถือในความแตกต่างหลากหลาย ขณะเดียวกันยังคงยึดมั่นในคุณค่าของความเป็นเอเชีย แนวความคิดเพื่อการปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงนี้ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงของแต่ละประเทศ ความมั่งคั่งผาสุกของประชาชน และความรับผิดชอบของคนในรุ่นปัจจุบัน ที่จะต้องมีต่ออนุชน คนรุ่นหลังทุกรุ่นในอนาคต ผมเป็นคนที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นความจำเป็นที่เราขาดไม่ได้ และผมก็เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และเสรีภาพ ในสังคมเท่านั้น จึงจะมีผลยืนยาวได้

เมื่อมองย้อนกลับไปยังอดีต เป็นที่ชัดเจนว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี ค.ศ. 1997 เป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง คนทำงานนับล้านๆ คน ต้องตกงาน ครอบครัวของเขาต้องตกอยู่ในสภาพยากจน การที่วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้นแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เสมือนเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ แสดงให้เห็นถึงสภาวะการต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันในทวีปเอเชีย ฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าประเทศในเอเชียมีความจำเป็นต้องรวมตัวกัน และร่วมมือกันบนพื้นฐานในระดับความเป็นเอเชียด้วยกันเอง ระยะเวลา 6 ปี ได้ผ่านไป พวกเราบางประเทศก็สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่าบางประเทศ แต่ไม่ว่าเราจะฟื้นตัวได้เร็วหรือช้าอย่างไร เราทุกคนก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ ต้องมองไปข้างหน้าสู่อนาคต และสิ่งที่อนาคตมีรอคอยอยู่ สำหรับทวีปเอเชีย

ท่านผู้มีเกียรติ

ท่านสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีทั้งหลาย

เราได้เรียนรู้มามาก จากหลักการ และคำสอนต่างๆ ของผู้นำและนักปราชญ์อันยิ่งใหญ่มากมายของเอเชียในอดีต “ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยเรียนรู้การอยู่ร่วมกันด้วยสามัคคีธรรมในสังคม ที่ต้องอยู่อย่างร่วมมือร่วมใจกัน” ก็เป็นหลักการคำสอนอันหนึ่ง “การสอนให้คนรู้จักหาปลา แทนที่จะให้ปลาแก่เขา” ก็เป็นอีกคำสอนหนึ่ง บ่อยครั้งผมเองก็อาศัยปรัชญา ความหลักแหลมของคำสอน และหลักการต่างๆ ของปรัชญาเอเชียของเราเองช่วยชี้นำความคิดให้เกิดวิสัยทัศน์ และนโยบายต่างๆ ของผม ทั้งนโยบายภายในประเทศ และต่างประเทศ ผมรู้สึกมั่นใจอย่างมากว่า เราในเอเซียสามารถนำเอาวัฒนธรรมและอารยธรรมของเราเองมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมาก และนำเอาความหลากหลายที่เรามีอยู่นานับประการมาร่วมกันคิดค้น และสร้างระบบเศรษฐกิจของเอเซียร่วมกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

หากเรามองไปยังอนาคต ทวีปเอเชียของเรามีอะไรรอคอยเราอยู่บ้าง ทวีปเอเชียนั้นจะเป็นแหล่งผลิตสินค้า และสินค้าโภคภัณฑ์ อันเป็นปัจจัยหลักของการดำรงชีวิตที่สำคัญที่สุด อาหาร เกษตรอุตสาหกรรม สิ่งทอ เสื้อผ้า กิจการสาธารณสุข ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ล้วนเป็นกิจการที่เหมาะสำหรับทั้งการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก แต่ในขณะที่พวกเราส่วนใหญ่กระตือรือร้น ที่จะขยายฐานรายได้จากการส่งออก ไปยังประเทศคู่ค้านอกภูมิภาคของเราให้ได้มากที่สุด เราก็จะต้องไม่มองข้ามความจริงที่ว่า ตลาดที่ดีที่สุดสำหรับเรานั้นแท้จริงแล้วก็คือตลาดของพวกเราเอง ภายในเอเชียด้วยกันเอง เราต้องไม่ลืมว่า ทวีปเอเชียมีสมรรถนะในการผลิตสูง และมีศักยภาพทางการตลาดที่ยิ่งใหญ่สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ เอเชียเป็นแหล่งผลิตอาหาร และธุรกิจการเกษตรที่สำคัญยิ่งของโลก และมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางอาหารที่สำคัญของโลก ทวีปเอเชียเป็นแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทวีปเอเชียมีจำนวนประชากรถึงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของโลก ปริมาณการส่งออกสินค้าของทวีปเอเชียสูงกว่า เศษหนึ่งส่วนสามของปริมาณสินค้าโลกทั้งหมด ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของทวีปเอเชียรวมกันแล้วมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดทั่วโลกรวมกัน ฉะนั้น ท่านจะเห็นได้ว่าเอเซียเป็นทวีปที่มีความเป็นหนึ่งของโลกในเชิงปริมาณอย่างแน่นอนที่สุด

สำหรับผมแล้ว เห็นชัดว่าการพัฒนาและการเติบโตอย่างเต็มที่ทางการค้าของเอเชีย จะเป็นทางเลือกที่สำคัญยิ่งอีกทางหนึ่งสำหรับส่วนอื่นๆ ของโลก ในการสร้างให้เกิดการบริโภคใช้จ่ายและความมั่งคั่ง ความเติบโตและพัฒนาแล้วของเอเชียในการผลิตสินค้าและบริการดั้งเดิม ให้มีความซับซ้อนและเพิ่มมูลค่าขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการค้าระหว่างเอเชียกับส่วนอื่นๆ ของโลก และจะเป็นโอกาสการทำการค้า แบบคู่ขนานที่โลกของเรายังไม่เคยมีมาก่อนเลยในอดีตการค้าผลิตภัณฑ์และบริการ มักจะเริ่มต้นมาจากตะวันตก และนำมาทำการผลิตใหม่ในเอเชีย แต่จากนี้ไปการค้าผลิตภัณฑ์และบริการจะต้องเริ่มต้นขึ้นที่เอเชีย ผลิตในเอเชีย แล้วจึงนำไปขายในส่วนต่างๆ ของโลก ทวีปเอเชียจะต้องไม่ผลิตแต่สินค้าที่มีต้นแบบมาจากตะวันตก แต่จะต้องริเริ่มผลิตสินค้าเอง ด้วยวัสดุ และนวัตกรรมใหม่ๆ ถึงเวลาอย่างยิ่งแล้ว ที่ทวีปเอเชียจะต้องผลิตสินค้า ที่มีความโดดเด่น เป็นของเอเชียเอง โดยใช้ความรู้สติปัญญา ทักษะ ความชำนิชำนาญทางด้านศิลปะและความงดงามของเราเอง ซึ่งยิ่งทำให้มีทางเลือกหลากหลายมากยิ่งขึ้น กว่าที่มีอยู่แล้วในระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจของโลก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เอเชียมีความแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของทวีปเอเชียของเราเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ แก่ส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย เมื่อรวมจีน อินเดีย อินโดนิเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และทุกประเทศในเอเชียเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ตลาดของเราในเอเชียใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรของโลก สำหรับผมแล้วขนาดของตลาด ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่เราต้องวิตกกังวล แต่พลังความสามารถในการซื้อในตลาดภายในของเราเองต่างหาก ที่จะต้องมีการส่งเสริม และผลักดันขนานใหญ่ เรามีศักยภาพมหาศาลอยู่กับตัวเราอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะสร้างพลังขับเคลื่อนให้กับศักยภาพเหล่านั้นได้อย่างไร

ฉะนั้นด้วยความตระหนักในอดีตอันยิ่งใหญ่ของเรา สำนึกในความแตกต่างหลากหลายที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน กระตือรือร้นที่จะเห็นความมั่งคั่งในเอเชีย และดำเนินตามหลักปรัชญาและความรู้ที่เรามีอยู่ในเอเชีย ผมจึงมีความเชื่อมั่นว่า ความคิดริเริ่มของผู้นำเอเชียหลายคน ที่ร่วมกันก่อตั้งความร่วมมือเอเชียหรือ ACD เมื่อเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่อำเภอชะอำ ประเทศไทยนั้น เป็นทั้งโอกาสที่เหมาะสม และยุทธศาสตร์ที่สมควรแก่เวลาเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของทวีปเอเซีย

นับแต่แรกเริ่ม ACD จะเป็นเวทีอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ต้องมีรูปแบบ ความเป็นองค์กรรองรับ เป็นเวทีสำหรับผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจของทวีปเอเชีย สามารถใช้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อพยายามบรรลุ ก่อความร่วมมือในระดับทวีปของเอเชียให้สัมฤทธิ์ผล จุดประสงค์คู่ของ ACD คือการเสริมสร้างสันติภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศในเอเชียให้เป็นผล และการนำเอาความหลากหลายที่มีอยู่ในทวีปนี้มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะนั่นคือพื้นฐานของความเข้มแข็งในทวีปของเรา เมื่อเราไม่นับประเด็นที่ไม่ก่อให้เกิดผลอันใด หรือประเด็นที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน โดยไม่เกิดประโยชน์มาหยิบยกขึ้นหารือกันแล้ว ประเทศในเอเชียก็จะสามารถสร้างความเป็นหุ้นส่วนแบบยุทธศาสตร์ และเอาพลังความเข้มแข็งมาใช้ร่วมกัน เพื่อเกิดประโยชน์ร่วมกันในการสร้างพลังการต่อรองมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ และจะนำไปสู่ผลประโยชน์และความมั่งคั่งร่วมกัน ถ้ามองจากแง่ของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว ACD ถือเป็นแนวคิดทางด้านความร่วมมือรูปแบบใหม่ ที่เคยมีมาก่อน เป็นขบวนการที่จะมีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งบนพื้นฐานของความสมัครใจ และความสบายใจของประเทศสมาชิก ACD เป็นทั้งกระบวนการหารือ และกระบวนการความร่วมมือที่นำเอาค่านิยมและคุณค่า ความเป็นวิถีชีวิตแห่งเอเชียมาเป็นหลักในการพิจารณา แทนที่จะดำเนินการตามกรอบองค์กรความร่วมมือหลากหลายที่เคยมีอยู่แล้ว

กระบวนการ ACD ได้นำประเทศในทวีปเอเชีย 18 ประเทศ จากตะวันตกสุดถึงตะวันออกสุดของทวีป มาร่วมมือกัน การประชุมครั้งแรกของ ACD เมื่อปี 2002 ถือเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศหลักๆ ในทวีปเอเซียได้ตกลงกันถึงความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างระดับความร่วมมือของทวีปเอเซีย และก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เกิดประโยชน์ทุกๆ ด้าน กับทุกๆ ฝ่าย ทั้งในภูมิภาคเอเชีย และนอกภูมิภาค สำหรับทวีปเอเชียแล้ว ACD จะเป็นกระบวนการ “สอนคนให้หาปลา” เพื่อสร้างพลังอำนาจให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเหมาะกลมกลืนกับโลกที่ต้องพึ่งพากันและกันมากขึ้น

ACD เป็นกระบวนการบนพื้นฐานความคิดที่เป็นบวก เป็นเวทีที่มีความร่วมมือในหลากหลายสาขา มีวิวัฒนาการ และเพิ่มขยายได้ตลอดเวลา โดยไม่มีการจำกัด ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมในการประชุม ACD เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2002 เห็นพ้องกันว่า ACD จะต้องเป็นกระบวนการที่ถือเอาการนำไปปฏิบัติได้เป็นหลักสำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ คาวากุจิ ของญี่ปุ่น ก็ได้แนะนำอย่างชาญฉลาดว่า ACD จะต้องทำให้เกิดสมดุลระหว่างความเป็นเวทีการหารือ กับการกำหนดโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ผมคิดว่าข้อเสนอของทางรัฐมนตรี คาวากุจิ มีค่ามาก และเห็นด้วยกับท่านเป็นอย่างมากว่า ACD จะต้องหลีกเลี่ยง การทำงานที่ซ้ำซ้อนอย่างที่กรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคอื่นๆ เคยประสบมาแล้ว และด้วยวิธีการเช่นนี้เท่านั้น ACD จึงจะสามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมช่องว่างที่เกิดขึ้น และเพิ่มคุณค่าให้แก่กลุ่มประเทศในระดับระหว่างภูมิภาคต่างๆ เช่น APEC และ ASEM เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในระดับอนุภูมิภาคด้วยได้

ACD ไม่ใช่เวทีสำหรับการเจรจาต่อรอง แต่เป็นเวทีสำหรับสร้างเสริมความเชื่อมั่น ฉะนั้นเพื่อให้บังเกิดผล ACD จึงใช้เป็นพื้นฐานของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน การจะดำเนินการตามความร่วมมือในระดับทวีปของเอเชียได้นั้น จะต้องมีความมุ่งมั่นด้วยกันอย่างแท้จริง จากประเทศสมาชิกทุกประเทศ ความมุ่งมั่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการหมั่นพูดจาหารือกันตลอดเวลา และสร้างเสริมระดับความสบายใจในหมู่ประเทศสมาชิก ในกลุ่มประเทศสมาชิก 18 ประเทศในเวลานี้ มี 14 ประเทศแล้ว ที่ได้แสดงความจำนงค์ด้วยความสมัครใจที่จะทำหน้าที่เป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือต่างๆ 18 โครงการ ที่มีอยู่เวลานี้ ซึ่งจะดำเนินการบนพื้นฐานของความสมัครใจ และในรูปแบบที่ให้ทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมได้ ขอบข่ายของโครงการความร่วมมือ มีตั้งแต่เรื่องของความมั่นคงด้านพลังงาน ไปถึงการขจัดความยากจน เรื่องของการท่องเที่ยว ไปถึงเกษตรกรรม เรื่องของ SME ไปถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผมยินดีที่ได้ทราบว่า ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะมีบทบาทนำในความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และจะเข้าร่วมในทุกๆ โครงการความร่วมมือ ญี่ปุ่นจะสามารถมีบทบาทนำผ่านกระบวนการ ACD ในการช่วยสร้างเสริมความมั่นใจ และความมั่งคั่งในทวีปเอเชีย และการมีส่วนร่วมใน ACD ของญี่ปุ่นก็เท่ากับได้นำเอาความเป็นพลวัตรที่สูงของญี่ปุ่นมาร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วยวิธีการที่เกิดผลในทางบวกเป็นอย่างยิ่ง


ท่านผู้มีเกียรติ

ท่านสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษทั้งหลาย

เราอยู่ในโลกที่ความเป็นทุนนิยมครอบงำระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผมมีความเชื่อเป็นการส่วนตัว ความสำเร็จที่แท้จริงของธุรกิจใดๆ ไม่อาจประสบผลได้ หากไม่มีการจัดการทางด้านการเงินที่เหมาะสม ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น ความสำเร็จที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจใด ๆ ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับภูมิภาค ก็ไม่อาจบรรลุได้หากไม่มีพิธีการและการดำเนินการเพื่อจัดการกับนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมและเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจ เมื่อผมมองกลับมาที่ทวีปเอเชียของเรา ผมรู้สึกเศร้าใจที่ทวีปเอเชียของเรา ยังคงมีปัญหาความคล่องตัวทางการเงินและมูลค่าสินทรัพย์ที่รุมเร้าอยู่อย่างหนัก โดยเฉพาะหลังวิกฤตปี 1997 เป็นต้นมา ทวีปของเรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันแล้วถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับเกินครึ่งหนึ่งของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของทั้งโลกรวมกัน แต่กระนั้น ทวีปของเราก็ยังต้องประสบปัญหาจากสภาพคล่องทางการเงิน เงินทุนสำรองของเราไม่ได้นำมาใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประชากรของเรา ปัญหาของเอเชียจึงไม่ใช่ว่า เราไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะนำมาสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเราเอง แต่ทว่าเราไม่มีวิธีการที่จะนำเอาเงินทุนที่เรามีอยู่แล้ว มาสร้างให้เกิดความมั่งคั่งให้เพียงพอสำหรับตัวของเราเอง เงินทุนสำรองของเราเมื่อนำไปฝากไว้เป็นพันธบัตรในประเทศตะวันตกก็จะไปสร้างความมั่งคั่งยิ่งขึ้นให้กับโลกตะวันตก โดยไม่มีส่วนทำให้เกิดความเติบโตของความมั่งคั่งในโลกตะวันออกแต่อย่างใด

สิ่งนี้ทำให้เราต้องครุ่นคิดถึงปัญหาทำนองเดียวกับ “ไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่” นั่นคือสิ่งใดควรจะต้องมาก่อนระหว่างวิธีการจัดการกับหนี้สินและความมั่งคั่ง ถ้าประเทศไม่มีความมั่งคั่งก็จะไม่อยู่ในสถานะที่จะสร้างวิธีการขึ้นมาจัดการกับหนี้สินได้ แต่ขณะเดียวกัน หากประเทศไม่มีวิธีการจัดการกับหนี้สิน ก็จะประสบกับความยากลำบากในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง ฉะนั้น ทางสายกลางของปัญหานี้ คือ เราในเอเชียจะต้องพยายามกับสินทรัพย์ของเรา ตลอดจนทรัพยากรและความแข็งแกร่งเพื่อทำให้การกำหนดเครื่องมือทางการเงินของเราจะก่อประโยชน์ให้กับเรามากที่สุด ถ้าเราไม่สามารถจัดการกับทรัพยากรของเราอย่างสัมฤทธิ์ผลและแลกเปลี่ยนความแตกต่างของเราให้กลายเป็นความเข้มแข็ง เราก็จะถูกบังคับให้ลดค่าเงินและมูลค่าทรัพย์สินของเราต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จากการต้องลดค่าสกุลเงินของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะฉะนั้น ชัดเจนว่า ประเทศที่รู้ดีว่าควรจะตีค่าทรัพย์สินของตนอย่างไรก็จะอยู่ในสถานะที่จะสร้างเครื่องมือทางการเงินได้นานาชนิด เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเขาเอง ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ประสบความล้มเหลวไม่อาจดำเนินการลักษณะดังกล่าวได้ ก็จะไม่มีหนทางหรือเครื่องมือที่จำเป็นใด ๆ ที่จะช่วยตนเอง ในกระบวนการที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติ ฉะนั้น ความเป็นหุ้นส่วนใหม่ในเอเชีย จะไม่สัมฤทธิผลตามเป้าหมาย ถ้าปัญหาเรื่องเงินทุนและสภาพคล่องในเอเชีย ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาที่ผมต้องถามตัวเอง ก็คือ อะไรที่จะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม ที่จะตัดวงจรอุบาทว์ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาด้านมูลค่าของสินทรัพย์นี้ได้

คำตอบที่ผมได้รับก็คือ พันธบัตรเอเชีย หรือ Asian Bond การก่อตั้งตลาดพันธบัตรเอเชียขึ้นมานั้น เป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายแต่ยังไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง ตลาดพันธบัตรเอเชียจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ไม่เพียงแต่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของเราทั้งหลายสามารถฟื้นตัวได้โดยสมบูรณ์และยั่งยืน แต่ยังจะส่งเสริมให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนาตลาดเงินทุนของเอเชีย การก่อตั้งพันธบัตรเอเชียยังจะนำประโยชน์มาสู่ประเทศในเอเชียทุกประเทศ ในญี่ปุ่นก็จะสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินนี้ค้นหาความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ ๆ กับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียได้อีก ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการของ ACD ว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินและพันธบัตรเอเชียที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ ปฏิกิริยาจากประเทศที่เข้าร่วมประชุมทุกประเทศล้วนเป็นบวกทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศคู่ค้านอกภูมิภาคของเราก็มีความกระตือรือร้นกับแนวความคิดเรื่องพันธบัตรเอเชียไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในการประชุม ASEM ครั้งที่ 4 ที่กรุโคเปนเฮเกน เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผู้นำของสหภาพยุโรปและเอเชียเห็นชอบร่วมกันที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของ ASEM อย่างใกล้ชิดขึ้น โดยจัดตั้งคณะทำงานและปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาศักยภาพระหว่างตลาดพันธบัตรเอเชีย และตลาดพันธบัตรยูโรพันธบัตรเอเชียควรจะถึงเวลาเกิดขึ้นมานานแล้ว สำหรับทวีปเอเชียแล้ว พันธบัตรเอเชียถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมทางการเงิน (Financial Architecture) ที่สำคัญยิ่งสำหรับโลกแห่งความแตกต่างของเราใบนี้ ผมรู้สึกยินดีที่จะประกาศให้ทราบว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา ธนาคารกลาง 11 แห่งของประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ประกาศเจตนารมณ์ ที่จะมีส่วนร่วมทางการเงินในกองทุนพันธบัตรเอเชีย ออสเตรเลีย บังคลาเทศ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย เห็นชอบที่จะร่วมในกองทุน โดยมีเงินทุนแรกเริ่ม 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลไทยได้เห็นชอบที่จะให้ร่วมลงทุนในกองทุนพันธบัตรเอเชียเป็นมูลค่าถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนสำรองต่างประเทศ โดยในเบื้องต้นจะมีการลงทุนเป็นเงิน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อน นี่คือวิธีการที่จะใช้เงินจากทวีปเอเชียเอง เพื่อมาสร้างความมั่งคั่งให้กับทวีปเอเชีย และต่อไป พันธบัตรเอเชียนี้จะไม่เป็นประโยชน์เพียงกับทวีปเอเชียเท่านั้น แต่เมื่อร่วมกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และตลาดพันธบัตรยูโรแล้ว ทั้งสามตลาดจะช่วยกันสนับสนุนให้ตลาดการเงินของโลกมีเสถียรภาพและสมดุลมากขึ้น ผมหวังว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ACD ครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ และจะมีการตัดสินใจร่วมกันเพื่อให้การสนับสนุนทางการเมืองกับการก่อตั้งพันธบัตรเอเชียในการประชุมที่จะมีขึ้นนี้

อยากให้ทุกท่านที่ผมเชื่อว่ามีความสนใจในการทำงานเพื่อประชาชนมาช่วยกันทำงานสำคัญนี้ แม้ว่างานบริการสาธารณะ (Public Service) เป็นงานที่ไม่มีวันจบ (endless job) และไม่มีคำขอบคุณก็ตาม (thankless job) เพราะสังคมมีความเป็นพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อสังคม เปลี่ยนแปลงงานก็ไม่จบ ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบกลไกและนโยบายตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลก ท่านทั้งหลายที่ทำงานทางด้านนี้ ต้องถือว่า อย่างน้อย ๆ ก็เป็นความสุขที่คิดว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้ทำอะไรให้สังคมและประเทศชาติ




ผมหวังว่าการวิเคราะห์ใน 3-4 จุด คงจะเป็นประโยชน์ในการที่ท่านทั้งหลายจะสัมมนา เพื่อเอาไปใช้สำหรับการที่จะศึกษาต่อไป เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ คนจนทั้งหลายได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก วงจรอุบาทว์ของความยากจนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำลาย ผมเคยยกตัวอย่างเสมอว่า คนจนเมื่อมีลูกเกิดมาเขาเรียกลูกคนจนเพราะพ่อแม่จน แล้วลูกก็ไปเรียนหนังสือในโรงเรียนคุณภาพต่ำ เรียนแล้วก็รู้น้อยไม่สามารถเรียนต่อให้สูงได้ ขาดทั้งเงินขาดทั้ง ศักยภาพทางสมอง คนเหล่านี้โตขึ้นก็ต้องไปเป็นแรงงานราคาถูก หนีไม่พ้นความยากจน เรามาช่วยทำลายงจรอุบาทว์นี้กัน เถอะครับ ทำให้พ่อแม่เขามีโอกาสมากขึ้น เพื่อให้เขาได้พ้นจากความยากจนหรืออย่างน้อยบรรเทาความยากจน แล้วปรับปรุงเรื่องโอกาสในการศึกษาให้ลูกเขา เมื่อลูกเขาได้เรียนหนังสือมากขึ้น ลูกเขาจะมีโอกาสเข้าสู่งานที่มีทักษะมากขึ้น แล้วลูกเขาก็จะมีโอกาสพ้นจากความ ยากจน ไม่มีลูกออกมาที่เรียกว่าลูกคนจนอีก นั่นคือสิ่งที่เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องทำ และในเรื่องสลัมจะทำให้หมดใน 5 - 6 ปีนี้
โดยใช้โครงการบ้านมั่นคงในการเข้าไปร่วมกันกับประชาคมในสลัม พร้อมกับให้สถาปนิกไปจัดสาธารณูปโภคใหม่ หรือออกแบบระบบใหม่ เพื่อให้เขาอยู่ในสภาพบ้านที่มีอากาศถ่ายเท มีความเป็นอยู่ที่เป็นสัดส่วน สามารถมีทะเบียนบ้าน มีสิทธิเข้าโรงเรียน สามารถมีมิเตอร์น้ำไฟได้ บางครั้งเราต้องหลุดออกจากกรอบเดิมแล้วมองใหม่ ถ้าเรามองมิติเดียว พวกนี้บุกรุกต้องอย่าให้เขา บุกรุกอีก แต่วันนี้มันเกินขีดที่เราจะเริ่มทำในสิ่งที่เสียไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่เคยมีเลยสามารถออกกติกาใหม่ได้ แต่เมื่อมีแล้วกติกานี้ล้าสมัยแล้ว การไปปิดกั้นโอกาส ไม่ให้มีน้ำมีไฟ มันไม่ได้แล้ว กฎหมายหรือกติกานั้นแม้เมื่อตอนเริ่มต้นอาจจะถูกแต่ต่อมาอาจจะถูกน้อยลง แล้วกลายเป็นผิดในที่สุด ด้วยเหตุนี้ ผมจึงพยายามบอกเสมอว่า กฎหมายต่อไปนี้ต้องมีอายุสิ้นสุด ถ้าสังคมยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายนี้อยู่ก็ต้องมีกระบวนการที่สามารถทบทวนว่ามาตราบางมาตราล้าสมัยหรือไม่ ซึ่งจะทำให้กฎหมายทันสมัยตลอดเวลา แต่แน่นอนผู้ทำกฎหมายต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision) กฎหมายนั้นไม่ใช่เอาแต่นักกฎหมายมาเขียนเท่านั้น ต้องเริ่มต้นเขียนโดยผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ มาคุยแนวคิด (Concept) กัน โดย นักกฎหมายเป็นที่ปรึกษาในเบื้องต้น แต่ไม่ใช่เป็นผู้กำหนด โครงร่างของกฎหมายแต่ต้น ต้องให้ ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม เช่น การออกกฎหมายเศรษฐกิจ ก็ต้องให้นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์มาพิจารณาร่วมกัน โดยนักกฎหมายเป็นที่ปรึกษา เมื่อเข้าใจร่วมกันแล้วนักกฎหมายจึงไปเขียนกฎหมาย


ผมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาสังคายนาทั้งระบบ กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ยุติธรรมพูดถึงเรื่องของกระบวนการทางเลือกในการระงับข้อพิพาท (Alternative Dispute Resolutions) หรือ มาตรการลงโทษอื่นแทนโทษจำคุก (Alternative to Imprisonment) ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายคนจนเป็นสิ่งที่จำเป็น ผมเห็นว่าหลายอย่างที่เป็นการแก้ปัญหา เรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราสามารถสร้างกลไก ใหม่ ๆ โดยเป็นระบบของเราเองที่เราคิดว่าจะให้ความเป็นธรรมต่อคนจนได้ เปิดโอกาสให้คนจนได้ ลืมตาอ้าปากได้ ผมขอเสนอเป็นแนวคิดที่จะไปใช้สำหรับการสัมมนาต่อไป
ผมหวังว่าถ้าเรามีระบบกฎหมายที่ดีแล้ว ทุกคนก็จะมีความเคารพ ศรัทธาในระบบกฎหมายและหลักนิติธรรม (observance of the Rule of Law) ซึ่งจะทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า Equal Protection Under the Law ที่แท้จริง แต่ต้องมั่นใจว่าเรามีกฎหมายที่ถูกต้อง ผมขอขอบคุณทุก ๆ ท่านอีกครั้งหนึ่งที่ได้กรุณาให้เกียรติผมมาบรรยาย แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแต่ในฐานะที่เป็นผู้ที่อาสาทำงานให้ประเทศและมองปัญหาความยากจนว่าเป็นปัญหาที่แก้ได้ และต้องแก้และคิดว่ากฎหมายเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ขจัดปัญหาความยากจนของประเทศ ผมขอฝากท่านทั้งหลายไว้และขอให้มีส่วนในการช่วยให้ผู้ที่ออกกฎหมายในสภาฯ ได้เข้าใจปรัชญาของกฎหมายด้วย ขอขอบคุณอีกครั้งและผม ขอเปิดการสัมมนา ขอบคุณครับ

Resource:
สุนทรพจน์ของ ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี การประชุมนานาชาติครั้งที่ 9 ของ นิฮอน เคไซ ชิมบุน ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546




 

Create Date : 11 มีนาคม 2551
2 comments
Last Update : 12 มีนาคม 2551 8:22:50 น.
Counter : 1023 Pageviews.

 

ผู้จัดการรายวัน6 มิถุนายน 2546

ACD ดันเอเชียใหม่ยกThaksinomic

ทักษิณชูความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) เป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างทวีปที่มีผู้บริโภคมากที่สุดแห่งนี้ให้เข้มแข็ง เป็น "เอเชีย ใหม่" ทศวรรษหน้า โดยมีพันธบัตรเอเชียเป็น เครื่องมือแก้ปัญหา "วงจรอุบาทว์ด้านเงินทุน" และสภาพคล่อง ย้ำไทยพร้อมผลักดันอินโดจีนเข้มแข็ง หวังการประชุมเอซีดีที่เชียงใหม่อีก 2 สัปดาห์ จะมีการตัดสินใจนำไปสู่การ ตั้งเอเชียบอนด์ ขณะที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยาหอมผู้นำไทยแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยดีเยี่ยม สมควรเรียกเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบ Thaksinomic

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสัมมนาอนาคตของเอเชีย (The Future of Asia) ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิเคอิ ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น วานนี้ (5 มิ.ย.) ว่าถึงเวลาแล้วที่เอเชียจะต้องไขว่คว้า หาแนวทางเป็นหุ้นส่วนใหม่บนพื้นฐาน ความเข้มแข็ง และความหลากหลาย ที่ชาติต่างๆ ในทวีปนี้มีร่วมกัน

เขากล่าวว่าเอเชียต้องการแนวคิดรูปแบบ ใหม่ ที่เป็นแนวคิดเปิดกว้าง และนำไปสู่ความ ร่วมมือที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่น การยอมรับ นับถือความแตกต่างหลากหลาย ขณะเดียวกัน ยังคงยึดมั่นคุณค่าของเอเชีย แนวคิดเพื่อการปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงนี้ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงแต่ละประเทศ ความมั่งคั่งผาสุกของประชาชน และความรับผิดชอบ ของคนรุ่นปัจจุบัน

"นโยบายภายในประเทศและต่างประเทศ ของผมมาจากคำสอน และหลักปรัชญาเอเชีย ที่ช่วยชี้ให้เกิดวิสัยทัศน์ ดังนั้น ผมจึงมีความมั่นใจมากว่า เอเชียสามารถนำเอาวัฒนธรรม อารยธรรม และความหลากหลายที่มีอยู่ มาคิดค้น และสร้างระบบเศรษฐกิจของเอเชียร่วมกันใหม่ได้อีกครั้ง และเชื่อว่า การพัฒนาและการเติบโตอย่างเต็มที่ด้าน การค้าของเอเชีย จะเป็นทางเลือกที่สำคัญยิ่งอีกทางหนึ่งสำหรับส่วนอื่นๆ ของโลก"

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ความกระตือรือร้น ที่จะเห็นความมั่งคั่งในเอเชีย และดำเนินการตามหลักปรัชญา และความรู้ที่มีอยู่ในเอเชีย ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า ความคิดริเริ่มของผู้นำเอเชียหลายคน ที่จะร่วมกันก่อตั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี-Asia Cooperative Dialogue) เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่อำเภอชะอำ เพชรบุรี เป็นโอกาสที่เหมาะสม และเป็นยุทธ-ศาสตร์ที่สมควรแก่เวลาอย่างยิ่ง เพื่ออนาคตของเอเชีย

เพราะเอซีดีเป็นเวทีสำหรับผู้มีหน้าที่ตัดสินใจของทวีปเอเชีย ที่จะใช้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ความร่วมมือระดับทวีปเอเชีย สัมฤทธิผล ซึ่งจุดประสงค์คือ การเสริมสร้างสันติภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียว กันของประเทศในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่าความเป็นหุ้นส่วนใหม่ในเอเชีย จะไม่สัมฤทธิผล หากไม่มีพิธีการ และการดำเนินการเพื่อจัดการกับนโยบาย การเงินที่เหมาะสม และเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องเงินทุน และสภาพคล่องในเอเชีย ยังไม่ได้รับการแก้ไข

เอเชียบอนด์ช่วยตัดวงจรอุบาทว์

สิ่งที่จะเป็นเครื่องมือการเงินที่เหมาะสม ที่จะตัดวงจรอุบาทว์ ที่เป็นต้นเหตุปัญหาด้านเงินทุนได้ คือพันธบัตรเอเชีย (Asia Bond) ซึ่งระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการของเอซีดี ว่าด้วยความร่วมมือ ทางการเมือง และพันธบัตรเอเชีย ที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิกิริยาจากผู้ร่วมประชุม ล้วนเป็นบวก ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้านอกภูมิภาค ก็กระตือรือร้น กับแนวความคิดเรื่องพันธบัตรเอเชีย ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

"ผมหวังว่าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ เอซีดี ครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ และมีการตัดสินใจร่วมกัน เพื่อให้การสนับสนุนทาง การเมืองกับการกองตั้งพันธบัตรเอเชีย" พ.ต.ท. ทักษิณกล่าว

แนะเปิดเสรีการค้าเอเชีย

ผู้นำไทยกล่าวว่า ขณะที่เอซีดีเป็นกระบวนการ สร้างเสริมสมรรถนะ และเปิดกว้างระดับทวีปเอเชีย ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ก็ต้องหามาตรการอื่นๆ เสริม สมรรถนะระบบเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งความ ตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area) ไม่ว่าจะเป็นระดับทวิภาคี หรืออนุภูมิภาค จะเป็นมาตรการหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง และศักยภาพที่สูงขึ้น ในตลาดแต่ละประเทศ เมื่อตลาดในเอเชียมั่งคั่งขึ้น ต่อเนื่อง ทีละตลาดจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่จะทำการค้าและมีความมั่งคั่ง ตาม ไปด้วย

ไทยพร้อมผลักดันอินโดจีนแข็งแกร่ง

"ผมเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย หากพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น ประเทศไทย ซึ่งฟื้นตัวจากวิฤตปี 1997 (พ.ศ. 2540) ได้อย่างรวดเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

"การทำให้เพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคเดียวกัน มีสมรรถนะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จะเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของไทย การที่อนุภูมิภาคอินโดจีน มีเศรษฐกิจที่แข็งแรง และมีเสถียรภาพทางการเมือง มีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของเอเชีย" พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าว

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า อนาคตของเอเชีย ต้องการการสร้างความมั่นใจด้านสันติภาพ และความมั่นคง เพราะการลงทุน การค้า และท่องเที่ยว ต่างขึ้นกับจัดการปัญหาความขัดแย้ง และความ สามารถจัดการปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเวทีว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก ควรจะได้รับการสนับสนุนให้เป็นเวทีด้านความมั่นคง ที่มีบทบาทมากขึ้น

เอซีดีสร้างเอเชียใหม่-ทศวรรษหน้า

"เอซีดีแม้จะมีอายุเพียง 11 เดือน แต่ก็ได้ทำให้ผู้นำประเทศในอาเซียนจำนวนมาก เชื่อมั่นในความสำคัญอย่างยิ่ง ที่มีต่อประเทศในอาเซียน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อปูพื้นฐานสำหรับความ เจริญเติบโตที่ยืนยาว และเสถียรภาพทางสังคม ที่จะเป็นประโยชน์ให้กับทวีปเอเชีย และประชาคมระหว่างประเทศ เอซีดีเป็นสมาคมฯ ที่เปิดกว้าง และกระทบวนการเอซีดี จะช่วยทำให้เกิดเอเชียใหม่ที่เข้มแข็ง และมีพลัง โดยจะเป็นทวีปแห่งวันติภาพ และความมั่นคง สำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต" พ.ต.ท.ทักษิณประกาศก้องที่เมืองหลวงของ ญี่ปุ่น

พ.ต.ท.ทักษิณย้ำความเชื่อมั่นในพลัง และความ แข็งแกร่งที่มีอยู่ในทวีปเอเชีย รวมทั้งความเชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นเอเชีย ประโยชน์ที่จะเกิดจากกระบวนการเอซีดี และศักยภาพที่มีอยู่ของประเทศในเอเชีย จะทำให้เอเชียสร้างเสริมพลังเพื่อพัฒนาทวีปของเราให้เหมาะสมได้สำเร็จ "ทศวรรษหน้าจะเป็นทศวรรษแห่งทวีปเอเชีย"

ด้านนางกลอเรีย อาโรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งกล่าวสุนทรพจน์ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ ในงานเดียวกัน ระบุตอนหนึ่งว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ติดตาม การปฏิบัติงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอด 2 ปี

Thaksinomic

พบว่านายกรัฐมนตรีไทย กระตือรือร้นตลอดเวลา และยังติดตามนโยบายเศรษฐกิจของไทย ที่ให้ความสำคัญระดับพื้นฐาน ซึ่งก้าวหน้ามาก ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในอัตราที่สูง จึงต้องการจะเรียกแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย เป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิณ หรือ Thaksinomic พร้อมกับแสดงความชื่นชมแนวทางแก้ไขปัญหาของไทย

Resource:
//www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=6761

 

โดย: ACD ดันเอเชียใหม่ยกThaksinomic (moonfleet ) 11 มีนาคม 2551 23:20:00 น.  

 

คำแปล

The Future of Asia

สุนทรพจน์ของ ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

การประชุมนานาชาติครั้งที่ 9 ของ นิฮอน เคไซ ชิมบุน

กรุงโตเกียว 5 มิถุนายน 2546

Resource://www.mfa.go.th/internet/ACD/nikkei/speechTh.doc

 

โดย: สุนทรพจน์ของ ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (moonfleet ) 11 มีนาคม 2551 23:23:09 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.