" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
12 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0118. 3 เมษายน 2544 คำกล่าวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวข้อเรื่อง "ความจริงประเทศไทยและ

คำกล่าวของ
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
หัวข้อเรื่อง "ความจริงประเทศไทยและแนวทางการแก้ปัญหา"
ในโอกาสเผยแพร่ออกอากาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันอังคารที่ 3 เมษายน 2544 เวลา 20.30 น.

-----------------

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่าน

วันนี้เป็นครั้งแรกที่ผมในนามของหัวหน้ารัฐบาล ได้มีโอกาสมารายงานกับพี่น้องประชาชนทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่ออยากจะกราบเรียนกับพี่น้องประชาชนให้ได้รับทราบสภาพความเป็นจริงของปัญหาสังคม เศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อที่จะได้เข้าใจปัญหาร่วมกัน การรายงานวันนี้ คงไม่มีเจตนาอะไรนอกจากจะให้พี่น้องคนไทยทุกคนได้รู้ภาพรวมของปัญหาของประเทศ และทิศทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพราะผมมีความเชื่อว่า เพียงลำพังรัฐบาลด้วยคณะรัฐมนตรี 36 คน คงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาของชาติได้ แต่ด้วยความร่วมมือจาก พี่น้องประชาชนทั้ง 62 ล้านคน จะเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหา ผมได้พูดเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร และในรัฐสภา เพื่อขอให้นักการเมืองทั้ง 2 สภา รวม 700 คน ได้ร่วมกันคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้มีทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทย ได้พูดกับข้าราชการไปแล้วทั้งในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและในการพูดในวันนี้ และในวันข้าราชการพลเรือน เพื่อให้ข้าราชการทั้ง 2 ล้านกว่าคน ได้เข้าใจถึงทิศทางและแนวทางในการแก้ปัญหาของรัฐบาล

วันนี้ผมอยากจะพูดกับพี่น้องทั้ง 62 ล้านคน เพื่อให้ได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง เพราะว่าวันนี้ผมมาดูแล้ว ประเทศเรายังไม่ค่อยพ้นจากวิกฤติการณ์เท่าที่ควร ยังอยู่ในภาวะที่ต้องอาศัยการบริหารที่เรียกว่าเป็น การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติอยู่ เพราะฉะนั้นทุกคนยังต้องทำงานอย่างหนัก ทุกคนยังประมาทไม่ได้ ยังต้องปรับยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา บังเอิญผม ได้ไปอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง ซึ่งแปลว่า ให้จัดการวิกฤติการณ์ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น แต่วันนี้บังเอิญว่าเราต้องจัดการวิกฤติการณ์ในช่วงที่มันเกิดขึ้น เขาบอกว่าหัวใจสำคัญอันหนึ่งก็คือต้องบอกความจริงกับประชาชน หรือกับผู้เกี่ยวข้อง ในการนำเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน การปกปิดความจริง น่าจะทำให้เกิดปัญหาใหม่มากกว่าการแก้ปัญหาได้

เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบอกกล่าว แต่การที่จะบอกกับพี่น้องวันนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า พี่น้องคนไทยทุกคนไม่รู้ ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่อาจจะขาดการบอกเล่าที่เป็นระบบ ครบวงจร และให้เห็นภาพทั้งภาพรวม นักการเงินอาจจะเข้าใจในส่วนหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์อาจจะเข้าใจมากกว่าคนอื่น ส่วนนักการเกษตรก็อาจจะเข้าใจในส่วนของตนเอง แต่จะไม่เข้าใจใน ภาพรวม ทีนี้การมองประเทศไทยวันนี้ ต้องมองในภาพรวมทั้งหมด เพื่อที่เราจะได้ดูกันว่า เราจะแก้กันอย่างไร ปัญหาแท้ๆ อยู่ที่ไหน หรือมีแนวโน้มที่ดีหรือแย่ลง ถ้าเราเห็นตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเราคงจะเริ่มหาทางออกด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพูดกัน ฟังกัน แล้วให้มีส่วนร่วมด้วยกัน รัฐบาลไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาโดยคิดเอาเองได้เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ผมและคณะรัฐบาลหลายคน ก็ได้ออกไปพบกับพี่น้องประชาชน มีการพูดคุยสนทนากันหลายอย่าง เพื่อให้รู้ปัญหาที่แท้จริง แต่วันนี้เราจะบอกปัญหาที่แท้จริง และบอกว่าจะทำอย่างไรด้วย

วันนี้ผมอยากจะขอเอาข้อมูลหลายๆ ส่วน ที่เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วในประเทศ แต่ยังกระจัดกระจายกันอยู่มาก เพื่อจะเอามารวมกันและมาเล่าให้ฟัง คือ วันนี้จริง ๆ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นได้พ้นจุดต่ำสุดหลังตอนมีวิกฤติการณ์ในช่วงปี 2540 แล้ว ซึ่งในช่วงปี 2541 ในไตรมาสที่ 2 นั้นถือว่าลงไปต่ำสุด การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบถึง 14% และดีขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเริ่มมาชะลอตัว จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นบวกขึ้นมา ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2543 ที่บวกถึง 6.3 % วันนี้เริ่มชะลอตัว เริ่มมาอยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งในปีนี้ทุกคนเริ่มทำนายว่าจะเติบโตประมาณ 3% กว่า ๆ ถึง 4% ซึ่งเป็นจุดที่ถือว่ายังบวกอยู่ แต่เป็นบวกในอัตราที่ชะลอตัว และส่งสัญญาณว่าเราจะต้องรีบระมัดระวังในการที่จะต้องแก้ไข

สิ่งที่สำคัญคือ ประเทศเราเป็นประเทศที่ต้องอาศัยการส่งออกเป็นสำคัญ แต่วันนี้สิ่งที่น่าห่วงก็คือ การส่งออกเริ่มถดถอย เพราะว่าอาจจะเกิดจากหลายๆ อย่าง อย่างแรกก็อาจจะเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดหลักของเราก็คือ อเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศคู่ค้าหลัก 5 ประเทศในอาเซียน ซึ่ง 3 ส่วนนี้รวมกันเข้าไปแล้ว เกิน 50% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ เริ่มชะลอตัวบ้าง มีปัญหาบ้าง ยังไม่พ้นวิกฤติบ้าง นี่คือจุดที่เราเห็นชัดเลยว่า การ ส่งออกของเราวันนี้ ตลาดของเราก็มีปัญหา ยังไม่นับเรื่องของการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของ ตัวเราเอง ซึ่งเรายังมีปัญหาซึ่งก็คงเป็นรายละเอียดที่จะต้องทำกันอีกมากในเรื่องของการปรับปรุง ศักยภาพของการแข่งขันของเรา

สำหรับดุลการค้าเริ่มส่งสัญญาณติดลบเมื่อเดือนมกราคม แต่เดือนกุมภาพันธ์เริ่มบวกขึ้นมาบ้าง บอกให้รู้ว่า การนำเข้าและส่งออกของเรานั้น เริ่มชะลอตัว แต่วันที่การส่งออกเติบโตนั้น เติบโตในอัตราที่น้อยกว่านำเข้า ผลสุดท้ายเริ่มไปชนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังว่า ถ้าขาดดุลเมื่อไร เราจะมีปัญหาเป็นเรื่องของเสถียรภาพของค่าเงิน ในเรื่องภาระหนี้สินของประเทศด้วย ซึ่งก็คงต้องดูกันเป็นจุดๆ ไป

เรื่องของมูลค่าสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะข้าวมีแนวโน้มลดลงถึงร้อยละ 25 จากปี 2541 ถึงปี 2543 มูลค่าในการส่งออกข้าวเราลดลง เพราะว่าราคาข้าวเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา กับปีนี้เป็นดอลล่าร์ ลดลงครึ่งหนึ่ง ในความเป็นเงินบาทเราอาจจะไม่รู้ว่าลดลงครึ่งหนึ่ง เพราะว่าเราได้ลดค่าเงินบาทลงไปจาก 25 บาท วันนี้มาที่ 45 บาท ดุลบัญชีเดินสะพัด แม้ยังเป็นบวกอยู่ แต่แนวโน้มเริ่มลดลงคือดุลบัญชีเดินสะพัดก็คือได้บวกเอาดุลการค้าและดุลบริการไปด้วย

ส่วนภาคเกษตรนั้น สินค้าที่ส่งออกหลักๆ ของเรา มูลค่าลดลงทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าวข้าวโพด กาแฟ มีกุ้งกุลาดำที่ยังยืนอยู่ได้ดี น้ำตาลราคาก็ลดลงแต่ไม่มากเกินไป สิ่งที่เป็นปัญหาอันหนึ่งของภาคเกษตรของเราก็คือว่า ผลผลิตต่อไร่ของเราเริ่มตกต่ำลง เพราะว่าเราขาดการวิจัยด้านพัฒนาที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพของการผลิตหรือที่เรียกว่าผลิตภาพ หรือผลผลิตต่อไร่ของเรามันเริ่มลดลงในหลายพันธุ์พืช ซึ่งเราจะต้องกลับมาดูกัน

ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้น อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคนี้ ก็ยังต่ำอยู่มาก ถ้าเราเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า เรามีทรัพย์สินอยู่หนึ่งตัว แต่ได้ใช้งานเพียง 55% ถ้าเราใช้ได้ยิ่งสูงเท่าไร ทรัพย์สินตัวนั้นก็ยิ่งทำเงินได้มากขึ้น ความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยทั่วไป อัตราความเชื่อมั่นก็เริ่มถดถอยลงมาเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่เราเป็นห่วงหรือวิตกกัน เพราะว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น

ส่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ วันนี้เรามีที่อยู่อาศัยว่างถึง 347,000 หน่วย ที่สร้างเสร็จแล้วว่างอยู่ อาคารที่สร้างเสร็จแล้ว ยังไม่ขายมีมากกว่า 70,000 หน่วย มูลค่ารวมกันประมาณ 55,000 ล้านบาท ส่วนอาคารพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ มีว่างถึง 2,000,000 ตารางเมตร จากที่สร้างเสร็จแล้ว 7,000,000 ตารางเมตร อาคารพื้นที่สำนักงานขนาดเกินกว่า 2,000 ตารางเมตร ที่ยังสร้างไม่เสร็จ 600 กว่าอาคาร รวมมูลค่า 200,000 ล้านบาท อาคารเหล่านี้เป็นหนี้เสีย หรือเรียกว่า NPL เกือบทุกโครงการ สรุปแล้วหนี้เสียของภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถาบันการเงินมีอยู่สูงถึง 560,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 25 % ของหนี้เสียทั้งระบบ ถ้าหันกลับมาดูภาคอสังหาริมทรัพย์นี้ จะเห็นชัดว่า มีหนี้สินรวมกับส่วนของผู้ถือหุ้นแตกต่างกันมาก หนี้สินรวมของภาคอสังหาริมทรัพย์ ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดฯ มีหนี้สินรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท แต่มีส่วนทุนที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นมีเพียงประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งน่ากลัว ต้องแก้ไขกันอีกมาก



ส่วนสภาพคล่องของธนาคารยังล้นระบบอยู่มาก คือ มีเงินฝาก กับเงินที่ปล่อยสินเชื่อนั้น สรุปแล้วยังมีเงินเหลืออยู่เป็นสภาพคล่องเหลืออยู่ในระบบธนาคารประมาณร่วม 600,000 ล้านบาท คือคนไปฝากเงินก็ได้ดอกเบี้ย คนที่ไปกู้เงินธนาคารไม่ได้ปล่อยกู้ ระบบเศรษฐกิจเกิดภาวะชะงักงัน ความไม่มั่นใจในภาคธุรกิจของธนาคารยังมีสูง ผลสุดท้ายก็เลยทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากห่าง ที่ห่างก็เพราะว่าส่วนหนึ่งแน่นอนว่าคนที่ฝากเงินต้องรับภาระแทนคนที่คนที่เป็นหนี้เสียในระบบธนาคาร จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังต่ำและเงินกู้ถึงแม้ลงมาแล้ว แต่ช่องว่างยังมากอยู่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่มีแนวโน้มลดลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจยังมีอยู่มาก ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านมานั้น ไม่ก้าวหน้ามากนัก มีผู้ประกอบการเพียง 29% เท่านั้น ที่แข็งแรง ส่วนที่เหลือ ที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ มีอยู่ถึง 37% ที่พอจะชำระดอกเบี้ยได้บ้างไม่ได้บ้างประมาณ 34 % ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

หนี้เสียที่ปรับโครงสร้างไปแล้ว และกลับมาเป็นหนี้เสียใหม่ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อเดือน ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่วนธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย คงยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกมาก เพราะว่าในปี 2543 ธนาคารพาณิชย์ยังขาดทุนสุทธิอยู่ถึง 86,000 ล้านบาททั้งระบบ ส่วนธนาคารของรัฐที่รัฐบาลไปเอามาแล้ว และเพิ่มทุนแล้ว ก็ยังขาดทุนอยู่รวมถึง 17,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาตลอดทั้งปี

ความเสียหายของกองทุนฟื้นฟู เป็นจุดที่ค่อนข้างใหญ่มาก ตอนแรกที่รัฐบาลได้ชดเชยความเสียหายให้กองทุนไปแล้ว 500,000 ล้านบาท วันนี้คำนวณดูแล้วว่า ที่ยังค้างอยู่กองทุนฟื้นฟู ที่รัฐบาลจะต้องรับภาระในอนาคตนั้น รวมกันแล้วอีกประมาณ 800,000 ล้านบาทเศษ สรุปแล้วว่าเราเสียเงินกับการแก้ปัญหาสถาบันการเงินไปประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จ่ายชำระไปแล้ว 500,000 ล้านบาท และจากที่ยังไม่ได้ชำระ แต่ว่าเป็นภาระแน่นอน รวมแล้วอีก 800,000 กว่าล้านบาท ซึ่งได้คำนวณรวมถึงการขายธนาคารให้ต่างประเทศไปแล้วต้องรับการแบ่งรับผิดชอบ การขาดทุนของหนี้เสียที่ธนาคารเหล่านั้นที่ต่างประเทศซื้อไปแล้วได้ด้วยอีกต่างหาก

ส่วนภาคการคลังนั้น ก็ต้องเรียนว่า สิ่งที่หนักใจที่สุดคือ หนี้สาธารณะ วันนี้หนี้ภาครัฐของเรายังอยู่ที่ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท ถามว่าสูงไหม ถ้าคำนวณเป็น GDP ก็ 57.6% ของ GDP สูงแต่ยังอยู่ในฐานะที่จัดการได้ แต่ว่าต้องมีการจัดการหนี้สาธารณะอย่างดี ซึ่งอาจจะต้องนำมา นอกจากการบริหารทั่วไปแล้วจะต้องมีกฎหมาย เรื่องของการบริหารหนี้สาธารณะ ขึ้นมาอีก 1 ฉบับ เพื่อที่จะให้เกิดความคล่องตัว ในการบริหารหนี้เหล่านี้ ถ้าแยกหนี้สาธารณะ 2.8 ล้านล้านบาทออก จะเห็นว่าเป็นหนี้โดยที่กู้ตรงของรัฐบาล 1.1 ล้านล้านบาท และหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ถึง 900,000 ล้านบาท ถ้าดูหนี้ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นภาระที่รัฐบาลจะต้องไปชดเชยหนี้ ด้วยการตั้งงบประมาณชดเชยหนี้ ที่ล่าสุดปีงบประมาณ 2545 รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้และดอกเบี้ยเป็นเงินถึง 115,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ย 90,000 กว่าล้านบาท ชำระเงินต้นได้เพียง 20,000 กว่าล้านบาท ถ้ามองภาพนี้จะเห็นว่า ยิ่งนับวันไปเงินหนึ่งก้อนที่ไปชำระเขาจะเป็นดอกเบี้ยมากขึ้น จะเป็นเงินต้นบางลงๆ เพราะเนื่องจากว่า หนี้ที่ต้องเข้ามาสูง การชดใช้โดยการตั้งงบประมาณนั้นจะมีมากขึ้น ความสามารถในการตั้งเงินชดใช้หนี้ก็จะน้อยลง กลายเป็นว่าเราจะชำระดอกเบี้ยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าวิตกตรงนี้ว่า เราจะเหลือเงินในการที่จะบริหารประเทศด้วยงบลงทุนใหม่ๆ ได้น้อยลง แต่ว่าไม่ต้องตกใจ ตรงนี้เรามีวิธีการ สักครู่ผมจะเล่าให้ฟัง คือ เพียงแต่เล่า ไม่ต้องการให้พี่น้องประชาชนตกใจ แต่อยากเล่าให้ฟัง และหลังจากนี้จะเล่าว่าผมทำอะไรได้บ้าง

ส่วนเงินคงคลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีอยู่ประมาณเกือบ 400,000 ล้านบาท วันนี้เราเหลืออยู่ประมาณ 43,000 ล้านบาท การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งจัดโดยสถาบันจัดอันดับของต่างประเทศ วันนี้เราถูกจัดอยู่ในอันดับประเทศที่อัตราต่ำสุดของประเทศน่าลงทุน ถ้าหล่นลงไปกว่านี้ก็คือ เป็นอันดับที่ไม่น่าลงทุน ซึ่งคงต้องพยายามทำกันต่อไปให้ดีขึ้น

ถ้าเราหันไปดูประเทศในกลุ่มที่ถูกกระทบโดยวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียด้วยกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย เราเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศอยู่ในกลุ่มประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเซีย ซึ่งอินโดนิเซีย แย่ที่สุด รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ถ้าเปรียบเกาหลีกับมาเลเซียแล้ว เรายังถือว่าฟื้นตัวได้น้อยกว่าเกาหลีและมาเลเซียซึ่งเกิดวิกฤติพร้อม ๆ กัน

ถ้าหันมาดูตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลค่าทางการตลาดของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ลดลงจากเมื่อปี 2539 ซึ่งวันนั้นมีมูลค่าทางตลาดอยู่ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท วันนี้เหลืออยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทเศษๆ คือ ลดลง 50% จำนวนบริษัทที่จดทะเบียนก็ลดลง จำนวนบริษัทที่จดใหม่เพิ่มขึ้นก็น้อยลง มูลค่าการซื้อขายต่อวันก็เบาบาง อันนี้ต้องทำกันมากมาย ซึ่งสักครู่ผมจะเล่าให้ฟัง



ส่วนปัญหาภาคสังคมนั้นที่เป็นห่วงก็คือ เรื่องของการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูง ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรก็คงต้องช่วยกันอีกมาก เรื่องยาเสพติดก็กลายเป็นปัญหาที่สำคัญของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ปีที่ผ่านมาเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ การแพร่กระจายของยาเสพติดนั้นรวดเร็วมาก อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจด้วย จึงทำให้คนหันไปทำมาหากินในสิ่งที่ผิดกฎหมายคือการค้ายาเสพติดมากขึ้น มีนักต้องขังประเภทเด็ดขาดในกรณียาเสพติด ถึง 70,000 คน เพิ่มจาก 20,000 กว่าคนในปี 2539 ส่วนอัตราการศึกษาต่อในระดับมัธยมต้น อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ลดลงทุกระดับในช่วงวิกฤติ อย่างน่ากลัว เพราะเรากำลังเข้าสู่ในยุคเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยความรู้ ขณะเดียวกันคนที่เข้าสู่ระบบการศึกษากลับลดลง ซึ่งอันนี้ต้องแก้ไขกัน คนยากจนเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 12 ก่อนวันวิกฤติ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 หรือเพิ่มขึ้นจากอัตราที่มีอยู่เดิมประมาณ 6,000,000 คนเศษ มาจนถึงเกือบ 10,000,000 คน โดยที่เขาวัดเส้นความยากจนที่การมีรายได้ต่อเดือน 888 บาท/เดือน หรือวันละไม่ถึง 30 บาท คือใครมีรายได้ไม่ถึง 30 บาท ถือว่าจัดอยู่ในเส้นต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็คือเป็นผู้ยากจน ซึ่งเขาคำนวณมาว่ามีอยู่ประมาณ 9.8 ล้านคน ซึ่งก็ต้องมีมาตรการในการแก้ไขมากมาย

ผมจะขอพูดถึงเรื่องของหนี้ที่รัฐบาลต้องรับภาระอีกส่วนหนึ่ง ก็คือพันธบัตรที่รัฐบาลต้องออกพันธบัตรในหลายๆ ส่วน เช่น ออกไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูใน 500,000 ล้านบาท และออกไปเพื่อใช้หนี้งบประมาณขาดดุลซึ่งถ้าดูแล้ว มีภาระที่รัฐบาลต้องใช้หนี้พันธบัตรเหล่านี้ ถ้าดูวงรอบปี 2544 ก็จะพบประมาณ 69,000 ล้านบาทปี 2545 ก็ประมาณ 90,000 ล้านบาท ปี 2546 อีก 100,000 ล้านบาท ปี 2547 อีกประมาณ 110,000 กว่าล้านบาทปี 2548 อีกประมาณ 5-60,000 ล้านบาท อันนี้ยังไม่นับที่จะต้องออกใหม่อีก อันนี้เป็นที่ออกไปแล้ว อันนี้ผมพยายามพูดเฉพาะปีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้ 4 ปีที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งที่ผมเล่าให้ฟังนี้ก็เพราะว่าอยากจะบอกว่าเรามีภาระร่วมกัน รัฐบาลก็มีภาระ พี่น้องประชาชนก็มีภาระ แต่เราจะหันกลับมาพูดคุยกัน เพื่อหาทางที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน เราต่างคนต่างแก้ปัญหาของเรา แล้วผลสุดท้ายเราก็จะรวมพลังกัน กลายเป็นการแก้ปัญหาของชาติโดยรวมนั่นเอง



ผมขอวกกลับมาที่เรื่องราวของรัฐวิสาหกิจบ้าง วันนี้รัฐวิสาหกิจมีจำนวนพนักงานประมาณเกือบ 300,000 คน ซึ่งลดไปประมาณ 11,000 คน จากปี 2542 มีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านบาท โดยประมาณ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ขาดทุนประมาณ 4,300 กว่าล้านบาท รัฐวิสาหกิจที่มีการนำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินสูงที่สุดมาจากเงินคนจนคือสลากกินแบ่งของรัฐบาล เป็นเงินที่มาจากเงินคนจนวันนี้ส่งให้กับรัฐบาลได้มากที่สุด คือ 9,373 ล้านบาท รองลงมาคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยส่งประมาณเกือบ 8,000 ล้านบาท อันดับสามคือ โรงงานยาสูบ ทั้ง 3 แห่งผูกขาด เพราะฉะนั้นอันนี้คงต้องมาปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพการบริหารรัฐวิสาหกิจอีกมาก เพราะเราลงทุนไปมากแล้ว ถ้าเราจะสรุปปัญหาทั้งหมดคร่าวๆ คือว่า ประตูภาพในการสร้างรายได้ของประชาชน และของประเทศในภาพรวมลดลง ภาระหนี้สินไม่ว่าในครัวเรือนหรือของประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นแนวแก้ก็คงต้องย้อนกลับไปข้อสรุปของปัญหานั้น ทำอย่างไรให้ทรัพย์สินที่เรามีอยู่และได้ลงทุนไปแล้วให้เกิดเป็นการสร้างรายได้ให้มากที่สุด แล้วพัฒนาสิ่งที่เป็นศักยภาพของเราให้เป็นทที่สร้างรายได้ของเราต่อไป นั้นคือหลักของวิธีคิด ฉนั้นวิธีคิดของผมหรือของรัฐบาลนี้จึงไปมุ่งเน้นเพราะเราเชื่อมั่นว่าศักยภาพของเรามี มุ่งเน้นข้อที่หนึ่ง คือมุ่งเน้นเรื่องวิธีการบริหารการจัดการใช้วิธีการบริหารการจัดการสมัยใหม่เข้ามา เพื่อให้ศักยภาพของคนที่มีอยู่ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ของประเทศ และของบุคคลได้มาเป็นตัวที่สร้าง รายได้ให้กับครอบครัวคนไทยและของประเทศไทยให้มากที่สุด นั้นคือวิธีคิดของผมและของคณะรัฐบาล ที่ตามมาจากวิธีการบริหารการจัดการสมัยใหม่ ก็คือ การใช้เทคโนโลยีมาช่วย ยกตัวอย่างง่ายๆ คือปัญหาทางเรื่องของน้ำ เราสามารถที่จะใช้คอมพิวเตอร์ และภาพถ่ายทางดาวเทียมมาช่วยแก้ปัญหา อย่างเรื่องของภาพถ่ายทางดาวเทียมสามารถถ่ายลงไปในประเทศไทยเห็นหมด เห็นว่าเรามีแหล่งน้ำอยู่ตรงไหนบ้าง มีอ่างเก็บน้ำอยู่ตรงไหนบ้าง และสามารถที่จะดูระดับความสูงความชันของพื้นดินเพื่อจะจัดสวน ถนน และน้ำใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง แม้กระทั่งเราสามารถที่จะทำแผนที่ภาพออกมาว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตก ณ จุดแถบไหนของแผ่นดินไทยมากน้อยเป็นกี่เซ็นติเมตร กี่นิ้วต่อจุดนั้น ๆ ก็จะเห็นความแตกต่างว่าตรงไหนจะแล้ง ตรงไหนจะไม่แล้ง หรือเป็นตัวอย่างเรื่องการดูการใช้สอยของพื้นที่ดินในประเทศไทย ก็จะเห็นว่าพื้นที่ส่วนไหนเป็นพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่ไหนยังรักษาความเป็นป่าอยู่ พื้นที่ไหนเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เราเห็นภาพและเห็นยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น แม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาเรื่องของการปักปันชายแดน ก็สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้ เรื่องของการติดตามการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีสมัยใหม่มีอยู่มากมาย แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ การบริหารการจัดการที่เราไปจมกับวิธีการเดิม ๆ ทีใช้ทฤษฎีเก่า ๆ อยู่ ก็ทำให้ศักยภาพของข้าราชการที่มีอยู่กับไม่ทำประโยชน์เท่าที่ควรเพราะเนื่องจากว่าวิธีบริหารการจัดการเราไม่ได้เปรียบ เพราะตรงจุดนี้จะเป็นที่มาของการแก้ไขปัญหา ถ้าเห็นได้จากการที่รัฐบาลนี้เข้ามา 1 เดือน เราได้มีการทำ Work shop หรือมีการระดมสมองของคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแต่ละเรื่อง และมุ่งสู่การแก้ปัญหาเป็นหลัก ทำให้การแก้ปัญหาที่อาจต้องใช้เวลาเป็นปีเสร็จสิ้น คือ เริ่มต้นปฏิบัติการแก้ปัญหาจากการที่มองหาปัญหาเป็นปี เหลือสองวันเสร็จ ก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้แก้ปัญหาได้เร็ว จุดที่เราทำอันแรกก็คือ การหาทางที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชน สร้างรายได้ให้ประเทศชาติ ขณะเดียวกันปัญหาหนี้สินไม่ได้แก้ด้วยการใช้หนี้เพียงอย่างเดียว แก้ด้วยการทำให้สินทรัพย์ของประเทศเป็นที่เข้าใจว่ามีราคา ยกตัวอย่างเรื่องการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถที่จะทำให้เกิดมูลค่าทางการตลาดของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ขึ้นมาเป็นถึง 2-3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ดูแล้วทรัพย์สินที่เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศมีมูลค่าพอๆ กับหนี้ของประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อถือมากขึ้น แต่จุดนั้นก็เป็นจุดหนึ่งที่การแก้ปัญหาหนี้สินไม่ใช่หาเงินมาชำระหนี้อย่างเดียว และผลสุดท้ายเราก็จะไม่มีเงินมาลงทุน เราก็อาจจะแก้ด้วยการหาสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่เอาไปขาย แต่อย่างน้อยๆ ก็คือว่า เมื่อมีการตีราคา มีการจดทะเบียน มีการซื้อขายหุ้นกันในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะมีการปรากฏมูลค่าทรัพย์สินทางการตลาดได้ ทำให้ตรงนั้นเกิดความน่าเชื่อถือของประเทศ เกิดการดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา โดยการสร้างรายได้ให้ประเทศและของประชาชนนั้น รัฐบาลมองเห็นศักยภาพหลายๆ อย่าง จึงได้ไปจัดการแก้ปัญหาโดยการทำ Work shop ที่ผ่านมา ยกตัวอย่างอันแรกเรื่องของกองทุนหมู่บ้าน รัฐบาลก็ได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าต้องการที่จะให้กองทุนหมู่บ้านนั้นเป็นเครื่องมือให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทนั้นได้เข้าหาแหล่งทุน ซึ่งแหล่งทุนนี้จะทำให้สามารถที่จะมีงานทำในนอกฤดูเก็บเกี่ยว และมีความสามารถในการที่จะมีเงินหมุนเวียนในการแปรรูปสินค้าเกษตร ในการใช้ความสามารถในเชิงของฝีมือแรงงานของตนเองมาผลิตของขายได้ นั้นเป็นการสร้างศักยภาพในระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับการพักหนี้ของเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลก็ได้ทำไปแล้ว เพื่อที่จะให้ประชาชนซึ่งยากจนและลำบากเป็นเกษตรกรรายย่อยได้มีโอกาสหายใจในการที่จะหาเงินได้เท่าไรก็ไปใช้หนี้หมด ก็เป็นการหาเงินแล้วเอาเงินนั้นไปต่อเงิน ก็คือเป็นการเอาเงินนั้นไปสร้างอาชีพใหม่ เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น และเมื่อครบ 3 ปี ก็นำไปใช้หนี้ได้ และขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีโครงการอันหนึ่งก็คือ เป็นการส่งเสริมให้ทุกตำบลมีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เรื่องว่าหนึ่งผลิตภัณฑ์ต่อหนึ่งตำบล ซึ่งหมายความว่าทุกหนึ่งตำบลจะต้องมีผลิตภัณฑ์หลักประจำตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปส่งเสริมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีในการผลิต ส่งเสริมในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน ส่งเสริมในเรื่องของการหาตลาด การบริหารการจัดการ เพราะฉะนั้น ทุกตำบลในอนาคตจะมีสินค้าประจำตำบล แล้วก็จะไปเชื่อมโยงกับโครงการอินเตอร์เน็ตตำบล ก็คือเป็นการวางระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเครือข่ายการสื่อสารเชื่อมโยงกันทั้งประเทศและทั่วโลก ซึ่งดูเหมือนยากแต่ทำง่าย ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการทดลองแล้วเกือบ 400 ตำบล ได้ติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ต ตำบลนี้ เพื่อที่จะให้เป็นแหล่งของการให้ข้อมูลกับส่วนกลาง แล้วก็เป็นแหล่งที่จะใช้หาข้อมูลส่วน ท้องถิ่น แล้วยังไม่พอสามารถพัฒนาให้เป็นการทำการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอินเตอร์เน็ตให้ได้ในอนาคต เพราะว่าทุกตำบลสามารถที่จะบอกกับคนทั่วโลกว่าที่ตำบลของตัวเองมีของดีอะไร มีสินค้าอะไรจะขาย มีแหล่งท่องเที่ยวอะไร ตรงจุดนี้จะเชื่อมโยงกันทั้งหมด นั่นคือการใช้เทคโนโลยี ใช้วิธีการบริหารการจัดการสมัยใหม่ และนำโอกาสเข้าไปสู่คนทั้งประเทศในระดับชนบทเป็นต้นมา และเพื่อจะมาเชื่อมโยงกับการส่งเสริมการพัฒนาเรื่องของ SME และก็มาถึงเรื่องการแก้ปัญหาสถาบันการเงินโดยการเอาหนี้เสียออกจากระบบ เพื่อให้กลไกของธนาคารเริ่มดำเนินการได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อดำเนินการได้กลไกของธนาคารก็สามารถช่วยตัวเองได้ และก็จะเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการส่งเสริมเศรษฐกิจให้ประเทศอีกครั้งหนึ่ง จากที่เราเคยใช้ธนาคารมานาน แต่ปรากฏว่าช่วงนี้ธนาคารมีปัญหา โครงการที่รัฐบาลได้ทำไปหลายเรื่อง จะได้ส่งผลต่อการแก้ปัญหาที่พูดไว้ทั้งหมด เพราะว่ายิ่งมองแล้วยิ่งมั่นใจว่านโยบายที่ได้กราบเรียนพี่น้องประชาชนไปนั้น เป็นนโยบายที่เราจะแก้ปัญหาที่วิตกกันทั้งหลายได้หลายเรื่อง สรุปแล้วคือว่าผมต้องการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วทำเป็นเงินให้กับประชาชนและประเทศชาติให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเรื่องของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้ได้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะเพิ่มการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยการที่จะมีการทำ Work shop และการระดมสมองเรื่องการท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะทลายกำแพงของปัญหา ข้ามหน่วยราชการ ข้ามหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนทั้งหลาย เพื่อให้การแก้ปัญหานั้นทะลุปุโปร่งให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งก็คงจะทำกันในเร็ว ๆ นี้ แล้วก็การสร้างโอกาสให้กับประชาชนในทุก ๆ ระดับ แก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคที่เราบ่นกันมานับๆ 10 ปี ที่แก้ไม่ได้ คราวนี้เราจะพยายามให้ทุกฝ่ายที่เป็นคนแก้ปัญหาและเจอปัญหามาเจอกันทั้งหมด เพื่อที่การแก้ปัญหาที่ผมจะนั่งเป็นประธานในการแก้ปัญหาในเรื่องหลักๆ ฉะนั้นงานก็จะเดินไปได้ด้วยดี ผมกราบเรียนอีกครั้งว่า ปัญหาของชาติในวันนี้หนัก แต่ไม่หนักใจ ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้วิตกมากไปว่า ต้องขอรับรู้ปัญหา และต้องอยู่กับความเป็นจริงของปัญหา แล้วเราจะนำข้อมูลมาเล่าให้พี่น้องประชาชนฟังเป็นระยะ ๆ เพราะว่าการที่จะเผชิญกับปัญหานั้น ถ้าไม่รู้ข้อมูล ไม่มีข้อมูล เราไม่มีทางชนะปัญหา และผมก็นำข้อมูลนำปัญหามาเล่าเป็นระยะๆ ว่าเกิดปัญหาอะไร ผมทำอะไร เพื่อให้พี่น้องประชาชนจะได้ติดตามการแก้ปัญหาของรัฐบาล แล้วเพื่อจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาของท่านเอง จะเป็นการรวมพลังกันทั้งแผ่นดินเพื่อขจัดสิ่งที่เป็นปัญหา เป็นวิกฤตของชาติวันนี้ออกให้เร็วที่สุด และคนไทยทุกคนจะได้มีความสุขที่ยั่งยืน ต้องขอกราบขอบพระคุณพี่น้องที่ได้เสียสละเวลาฟังเรื่องราวของประเทศผ่านรัฐบาลในวันนี้ และขอขอบคุณล่วงหน้าในการที่เราจะร่วมกันแก้ปัญหาของตัวท่านเอง และเป็นปัญหาโดยรวมของประเทศ ขอกราบขอบคุณครับ


--------------------------------------------------------------------------------

สำนักโฆษก

Resource:
//www.thaigov.go.th/webold/news/speech/thaksin/sp04apr44.htm


Create Date : 12 มีนาคม 2551
Last Update : 12 มีนาคม 2551 14:21:33 น. 0 comments
Counter : 617 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.