" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2557
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
13 พฤศจิกายน 2557
 
All Blogs
 

06.05.2557 เกษียร เตชะพีระ : "โปรเฟสเซอร์จระเข้ขวางคลอง"



วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เกษียร เตชะพีระ : "โปรเฟสเซอร์จระเข้ขวางคลอง"


การเมืองวัฒนธรรม

มติชนสุดสัปดาห์ 24-30 ตุลาคม 2557; 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2557



หนังสือ Exploration and Irony in Studies of Siam over Forty Years (หรือ การสำรวจและความย้อนแย้งในสยามศึกษารอบสี่สิบปี, พิมพ์โดย Southeast Asia Program, Cornell University 2014) รวบรวมความเรียง บทความ และบทวิจารณ์ที่ศาสตราจารย์เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เขียนเกี่ยวกับเมืองไทยโดยตรงในช่วงเวลาดังกล่าวไว้เกือบครบถ้วน (รวม 9 ชิ้น ยกเว้นเล่ม The Fate of Rural Hell : Asceticism and Desire in Buddhist Thailand, 2012)

งานเขียนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความขี้สงสัยอันน่าอัศจรรย์ใจ การตั้งคำถามแบบกัดไม่ปล่อย ท่าทีหักแขนเทวรูปแบบไม่เกรงกลัวฟ้าดิน มุมมองสวนทวนกระแส ภูมิปัญญาเชิงวิจารณ์ สายตาที่มองทะลุหยั่งลึก อารมณ์ขันที่แสบร้าย ความรู้รอบและหยั่งรู้เกี่ยวกับเมืองไทย คนไทยรวมทั้งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และโลกกว้างไกลออกไป

รวมทั้งเหนือสิ่งอื่นใดคือความรักและอาทรอันละมุนลึกซึ้งที่"ครูเบ็น"ปรมาจารย์เรื่องชาตินิยมและเอเชียอาคเนย์ศึกษาผู้มีชื่อเสียงระดับโลกได้พกพามาสู่แวดวงสยาม/ไทยศึกษาในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

ฐานะบทบาทขององค์ความรู้ชุดที่ครูเบ็นบรรจงสร้างสั่งสมขึ้นนี้อาจอุปมาอุปไมยได้กับ "จระเข้ขวางคลอง" แห่งครรลองวิชาการไทยศึกษา

กล่าวคือ มันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะสันปันน้ำเชิงกระบวนทัศน์ ที่ผลักดันผันแปรกระแสหลักของไทยศึกษาในอดีตซึ่งมีลักษณะอนุรักษนิยม เน้นชนชั้นนำ ยึดรัฐเป็นศูนย์กลาง และราชาชาตินิยม ให้แตกกระจายแผ่ขยายออกไปเป็นงานทวนกระแสและกระแสรองหลายหลากมากมายต่างๆ นานาท่วมล้นท้นเอ่อขึ้นนับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา



หนังสือเล่มนี้ได้ช่วยจัดเรียงงานเขียนของครูเบ็นเหล่านี้ไว้อย่างเป็นระเบียบทั้งในแง่ลำดับเวลาและเนื้อหากล่าวคือ:

ในแง่ลำดับเวลามันเริ่มจาก บทที่ 1 : ภูมิหลังประวัติศาสตร์ของสยามเกี่ยวกับการสร้างรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์และสร้างราชาชาติสมัยใหม่นับแต่คริสต์ศตวรรษที่19เป็นต้นมา->

บทที่ 2 : ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมอย่างรวดเร็วและความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองและอุดมการณ์แห่งคริสต์ทศวรรษที่1970->

บทที่3 : การรุ่งเรืองขึ้นทางวัฒนธรรมของฝ่ายซ้ายที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขุดรากถอนโคนในช่วงเดียวกัน ->

บทที่ 4 : ฆาตกรรมทางการเมืองภายในชนชั้นเดียวกันของกระฎุมพีไทยและการเสริมสร้างอำนาจของพวกเขาผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้งในคริสต์ทศวรรษที่1980->

บทที่5 : การรุ่งเรืองและล่มสลายของการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของขบวนการคอมมิวนิสต์ในช่วงเดียวกันและการก่อร่างสร้างความคิดเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขุดรากถอนโคนขึ้นมาใหม่หลังจากนั้น->

บทที่6-9: กลุ่มอาการป่วยทางการเมืองและอุดมการณ์ที่เชื่อมโยงกับมิติทางชนชั้น-ชาติพันธุ์-เพศสภาพ-และวัยของกระฎุมพีกรุงเทพฯที่วางก้ามกร่างเป็นนักเลงโตชอบรังแกข่มเหงคนอื่นความจำเสื่อมหมกมุ่นกับตัวเอง ปลื้มตัวเอง ชาตินิยมไฮเปอร์ และตกอยู่ใต้อำนาจนำของชนชั้นปกครอง ดังสะท้อนออกในสิ่งประดิษฐ์ทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ช่วงคริสต์ทศวรรษ 2010 ปัจจุบัน

ส่วนในแง่เนื้อหา มันเริ่มจาก [การสร้างรัฐและสร้างชาติ -> การก่อตัวและความขัดแย้งทางชนชั้นของกระฎุมพี -> ประวัติศาสตร์และการเมืองของปัญญาชนที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขุดรากถอนโคน -> และวัฒนธรรมศึกษาร่วมสมัยปัจจุบัน]



เอาเข้าจริง ผมได้ประสบสัมผัสงานเขียนเรื่องเมืองไทยของครูเบ็นครั้งแรกหลังออกจากป่าอีสานใต้ ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ไม่นาน

ตอนนั้นนอกจากคืนสภาพเป็นนักศึกษาโข่ง (เลขทะเบียน 18... แต่ดันกลับมาเรียนต่อชั้นปีที่สองใน พ.ศ.2524) ที่ธรรมศาสตร์แล้ว ผมก็ถูกเพื่อนรุ่นน้องชักชวนให้เข้าไปคลุกคลีตีโมงร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดกิจกรรมกับกลุ่มลูกศิษย์ลูกหาชาวพุทธของอาจารย์สุลักษณ์ศิวรักษ์ที่ทำนิตยสารปาจารยสาร แถวบ้านอาจารย์ที่ย่านบางรัก

เผอิญบรรณาธิการปาจารยสารตอนนั้นเอาบทความปริทัศน์ชิ้นสำคัญของครูเบ็นที่สำรวจวิเคราะห์วิจารณ์งานวิชาการไทยศึกษาที่ผ่านมาทั้งหมดในโลกอังกฤษ-อเมริกันแบบเบ็ดเสร็จเรื่อง"Studiesofthe Thai State : The State of Thai Studies" (หรือ "ศึกษารัฐไทย : วิพากษ์ไทยศึกษา" ค.ศ.1978) มาให้ผมอ่านและลองแปลดู

ความที่อาจารย์สุลักษณ์เป็นหนึ่งในสองผู้วิจารณ์หลัก เมื่อครูเบ็นนำเสนองานชิ้นนี้ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในที่ประชุมสภาไทยศึกษารอบพิเศษที่จัดร่วมกับการประชุมประจำปีของสมาคมเอเชียศึกษาที่นครชิคาโกสหรัฐเมื่อปีค.ศ.1978

งานชิ้นนี้เป็นที่ร่ำลือฮือฮาในวงการไทยศึกษาต่อมาอีกช้านาน เพราะมันหักแขนเทวรูปบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่และงานชิ้นหลักๆ ของไทยศึกษาในโลกภาษาอังกฤษที่ผ่านมาทั้งหมดแบบกวาดล้างเรียบวุธไม่ไว้หน้าใครเลย โดยผู้เสนอซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ค่อนข้างอ่อนอาวุโส (ตอนนั้นครูเบ็นอายุ 42 ปี) และหน้าใหม่ในแวดวงไทยศึกษาด้วย (แกเพิ่งพิมพ์งานเรื่องเมืองไทยออกมาชิ้นเดียวเกี่ยวกับการฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ชื่อ "Withdrawal Symptoms" หรือ "บ้านเมืองของเราลงแดง" ในปี ค.ศ.1977)

จนว่ากันว่าเมื่อตอนครูเบ็นนำเสนอนั้น มีเสียงกระซิบถามกันเบาๆ ในที่ประชุมว่า... ไอ้ซันออฟอะบิทช์นี่ใครวะ?



ผมเองตอนนั้นก็งงๆ มึนๆ อยู่เหมือนกัน เพราะเพิ่งออกจากป่ามาสดๆ ร้อนๆ เชื้อไข้ป่ายังอยู่ในตัวถึงแก่ไข้ขึ้นล้มหมอนนอนเสื่อเข้าโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนก็เคยมี (พยาบาลทักทายว่า พี่ธีรยุทธ บุญมี ก็มารักษาตัวที่นี่) ความคิดเห็นยังเป็น "ม้าลำปาง" คือเหมือนสวมกรอบลัทธิเหมาเจ๋อตุงครอบบังตามองเห็นแต่ทางเดียวอยู่ จึงยากจะหยั่งถึงก้นบึ้งนัยสำคัญที่สั่นสะเทือนพื้นภูมิวิชาการความรู้เรื่องเมืองไทยของงานของครูเบ็นชิ้นนี้ซึ่งมุ่งรื้อคว่ำบรรดาสัจพจน์(axioms)อันเป็นรากฐานของไทยศึกษาที่ยึดมั่นถือมั่นกันมาในหมู่นักวิชาการตะวันตกและนักวิชาการชาวไทยที่มีแนวคิดชาตินิยมโดยรัฐอย่างราบคาบด้วยเหตุผลข้อมูลข้อถกเถียงที่ท้าทายเป็นระบบหนักแน่นและละเอียดพิสดาร

บทความปริทัศน์ชิ้นนี้นำเสนอวิสัยทัศน์ลัทธิแก้ใจกลางของครูเบ็นที่มีต่อการเมืองและประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ซึ่งได้ถูกพิสูจน์ต่อมาว่าปลุกกระตุ้นความคิดอ่านอย่างยิ่งยืนทนการทดสอบของกาลเวลาและทำให้มันกลายเป็นชิ้นงานที่ขาดเสียมิได้ในบัญชีรายชื่อเอกสารอ่านประกอบวิชาการเมืองไทยสมัยใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งเมืองไทยและต่างประเทศรอบ4ทศวรรษที่ผ่านมา

วิสัยทัศน์ใจกลางที่ว่านี้ได้ถูกเสริมขยายและพัฒนาสืบต่อไปในงานชิ้นหลังๆ ของครูเบ็นซึ่งรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย



ผมใคร่ขอแจกแจงวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้ท่านผู้อ่านเห็นกระจ่างโดยสังเขปเป็นข้อๆดังต่อไปนี้:

1)เพื่อจะสามารถเข้าใจแก่นแท้และวิถีดำเนินของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จำเป็นยิ่งที่จะต้องแยกแยะชาติไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางมโนทัศน์ เพราะมีเอกลักษณ์และผลประโยชน์เฉพาะที่อาจแตกต่างปีนเกลียวกัน (น.21)

2) รัฐที่บูรพกษัตริยาธิราชเจ้าแห่งราชจักรีวงศ์สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ถึง 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ค.ศ.1868-1935) นั้น มิใช่รัฐชาติสมัยใหม่ หากเป็นรัฐราชวงศ์สัมบูรณาญาสิทธิ์อัตตาณานิคมซึ่งสร้างความทันสมัยให้แก่ประเทศในบางด้านบางระดับ ทว่า ระงับไว้ในด้านอื่นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับฐานะความมั่นคงและผลประโยชน์ของรัฐนั้น ฉะนั้น ความรุ่งเรืองขึ้นของรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามจึงไม่ได้หมายถึงความสำเร็จในการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่โดยตัวมันเองอย่างอัตโนมัติหากอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างรัฐแบบหลังรวมทั้งการบรรลุความเป็นชาติเต็มสมบูรณ์ด้วย(น.28,34)

3) หากเปรียบเทียบกับรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ทั้งหลายในยุโรปแต่เก่าก่อน รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามไม่ยืนนานเท่า (แค่ 40 ปีระหว่างการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ค.ศ.1892 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ค.ศ.1932) เงื้อมอำนาจที่ปกแผ่ไปในท้องที่ต่างๆ และผลกระทบของอำนาจรัฐยังไม่ลุ่มลึกนัก ในเมื่อรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามมิได้เปลี่ยนโฉมสังคมและเศรษฐกิจไทยไปอย่างกว้างขวางและลุ่มลึกพอ จึงส่งผลให้ปฏิกิริยาทางการเมืองของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวซึ่งแสดงออกในรูปการยึดอำนาจตามแนวทาง รัฐธรรมนูญนิยมโดยคณะราษฎรซึ่งประกอบไปด้วยนายทหารและข้าราชการชั้นผู้น้อยนั้นมีลักษณะเป็นเพียง "กบฏลี้ลับครึ่งๆ กลางๆ ของเครื่องจักรแห่งระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์เอง อันได้แก่ ระบบราชการที่ถูกจัดระบบระเบียบมาตามหน้าที่ของตน" (น.39) ซึ่งมีพลวัตจำกัดยิ่งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ปฏิวัติ มันยังห่างไกลจากการปฏิวัติของประชาชนที่แท้จริงอักโข มีการรณรงค์เคลื่อนไหวและเข้ามีส่วนร่วมของมวลชนแค่ผิวเผินและเป็นครั้งคราว นับว่าไม่พอเพียงเอาเลยที่จะรื้อเปลี่ยนรัฐและสังคมไทยอย่างขุดรากถอนโคน (น.39-40)

4) ก็แลกลุ่มอาการป่วยทางการเมืองและการบริหารที่รู้จักกันดีของระบบราชการไทย (ตามที่ เฟรด ริกส์ ผู้ล่วงลับวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ในงานของเขาเรื่อง Thailand : The Modernization of Bureaucratic Polity, 1966) อันได้แก่ ความไร้เสถียรภาพเรื้อรังทางการเมือง ความขาดประสิทธิภาพ ขาดการประสานงาน ทุจริตคอร์รัปชั่น เล่นพรรคเล่นพวก แบ่งก๊กแบ่งฝ่าย เน้นแต่รูปแบบทว่าละเลยเนื้อหา ไม่สนองตอบต่อข้อเรียกร้องที่มาจากกลุ่มนอกระบบราชการและประชาชน ฯลฯ ล้วนมีที่มาจากการเปลี่ยนผ่านอันยืดเยื้อ ชะลอช้าเฉื่อยเนือย และไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์จากรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ที่ไม่ดับสิ้นสูญสนิท ไปยังหน่ออ่อนแห่งรัฐชาติของประชาชนที่มักถูกทำแท้งก่อนคลอดเสมอ (น.40)



5) รัฐราชการไทย (the Thai bureaucratic polity ตามการขนานนามของ Fred W. Riggs นักรัฐศาสตร์ อเมริกัน) ละม้ายใกล้เคียงกับรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์แต่เดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในความหมายที่ว่า ในสภาพที่มันปลอดเปล่าการมีตัวแทนจากการเลือกตั้งโดยประชาชนและความพร้อมรับผิดทางการเมือง ในเชิงระบบสถาบันเหมือนกัน

ฉะนั้น มันจึงมีแนวโน้มจะกลายเป็น "รัฐก็คือกู" (moi-state จากคติรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์คลาสสิคที่อ้างกันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่แห่งฝรั่งเศส ค.ศ.1643-1715 ตรัสไว้ว่า : "L′Etat, c′est a moi.")

กล่าวคือ รับใช้ผลประโยชน์แห่งรัฐและบรรดาตัวข้าราชการผู้ปกครองเสียเอง กระนั้นก็ตามด้วยว่ากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์มหิทธานุภาพได้ถูกแทนที่โดยข้าราชการทหารสามัญชนในฐานะผู้กุมอำนาจรัฐอย่างไม่อาจย้อนยุคคืนดังเดิมได้อีกแล้วรัฐราชการจึงขาดพร่องหลักความชอบธรรมแบบเทวสิทธิ์บนพื้นฐานความศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติตามประเพณีความเชื่อแห่งระบอบเก่า

และในเมื่อชนชั้นนำทหาร-ข้าราชการก็มิอาจหาความชอบธรรมตามหลักกฎหมาย-เหตุผลของระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งสมัยใหม่"ซึ่งสอดรับกับความจริงที่ตนควบคุมอำนาจอย่างได้ผล"(ตามถ้อยคำของFred Riggs) มารองรับอำนาจของตนได้เหมือนกัน

พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแสวงหาข้อตกลงชั่วคราวแห่งการดำรงอยู่อย่างพึ่งพาซึ่งกันและกันกับสถาบันหลักตามประเพณีในลักษณะราชเสนาอำมาตยาสมาสัยที่ซึ่งเทพารักษ์แห่งชาติปกแผ่ความชอบธรรมแบบราชาชาตินิยมให้ขณะที่รัฐราชการรับผิดชอบปกป้องดูแลรักษาความมั่นคงฐานะอันล่วงละเมิดมิได้ พระราชอำนาจนำและผลประโยชน์ที่มีด้วยแสนยานุภาพ (น.67-69)



6) ด้วยเหตุนั้นเอง รัฐราชการไทยจึงมักมีอาการหลุดเคลื่อนถดถอยกลายไปเป็นเผด็จการทหารสัมบูรณาญาสิทธิ์ได้ง่ายดายบ่อยครั้ง

ดังที่ได้เกิดขึ้นภายใต้จอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสระหว่างค.ศ.1958-1973และโดยอาศัยความช่วยเหลือทางการทหารและเศรษฐกิจ การสนับสนุนและลงทุนอย่างต่อเนื่องมูลค่ามหาศาลจากสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ของตน, การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ให้พลังตลาดเป็นตัวนำซึ่งวางแผนโดยเทคโนแครต, และเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ, รัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ก็ได้บรรลุถึงสิ่งซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เดิมยังมิทันทำได้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมเศรษฐกิจสังคมไทยอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ลึกซึ้งและเหมารวมในชั่วเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ

ที่สำคัญที่สุดได้แก่กระแสการเคลื่อนย้ายอพยพที่บ่าไหลไม่ขาดสายของชาวนายากจนไร้ที่ดินเป็นล้านๆจากชนบทเข้าสู่กรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ต่างๆเพื่อหางานทำ เรียนต่อและชีวิตที่ดีกว่า กอปรกับการปรากฏขึ้นและ/หรือขยายตัวอย่างมหึมาของชั้นชนกระฎุมพีต่างๆ ในเมืองและชนบท

ผลลัพธ์รวมของการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำดินทางเศรษฐกิจสังคมเหล่านี้ในที่สุดก็นำไปสู่ปฏิกิริยาทางการเมืองในเดือนตุลาคมค.ศ.1973ต่อระบอบทหารที่เน่านิ่งทุจริตคอร์รัปชั่น ดื้อรั้น ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ในรูปการลุกฮือของผู้ชุมนุมร่วมครึ่งล้านภายใต้การนำของนักศึกษากลางกรุงเทพมหานคร

ซึ่งครูเบ็นเรียกไว้อย่างกระชับจับใจไม่รู้ลืมว่า "1789 ของสยาม" (น.107) เหตุการณ์นี้เป็นการเปิดทางให้แก่การปรากฏตัวของขบวนการชาตินิยมประชาชนขบวนแรกของไทย (น.47-76)



7) ถ้าเรามองดูเหตุการณ์บ้านเมืองในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ผ่านเลนส์ "กระฎุมพีไทยขึ้นครองเมือง" แล้ว เราก็จะเล็งเห็นการค่อยๆ สั่งสมและสถาปนาอำนาจทางการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีให้เป็นปึกแผ่นผ่านรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ท่ามกลางความเสื่อมทรุดและล่มสลายในที่สุดของขบวนการประชาชนที่มุ่งเปลี่ยนสังคมอย่างขุดรากถอนโคนภายใต้การนำของการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของคอมมิวนิสต์ในด้านหนึ่งกับการเสื่อมสูญของรัฐราชการควบคู่ไปกับการถอยกลับคืนสู่ป้อมค่ายในที่สุดของทหารในอีกด้านหนึ่ง

เรื่องที่เป็นประเด็นชวนย้อนแย้งก็คือไม่ว่ามันจะทุจริตฉ้อฉลและลอบยิงกันล้มตายเป็นใบไม้ร่วงปานใดความก้าวหน้าของระบอบรัฐสภากระฎุมพีกลายเป็นแนวโน้มที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้และท้ายที่สุด มันก็กำลังพลิกหน้าขึ้นบทใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการลุกฮือของประชาชนโค่นเผด็จการทหารสำเร็จอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1992 (น.101-27)



วิสัยทัศน์ใจกลางของครูเบ็นดังสรุปมาโดยสังเขปข้างต้นจากหนังสือ Exploration and Irony นี่แหละที่ได้บันดาลใจช่วยวางกรอบการมองปัญหาและส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่องานสำคัญในแวดวงไทยศึกษาชิ้นต่างๆในรอบสี่ทศวรรษที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นงานของอาจารย์ดร.เสกสรรค์ประเสริฐกุล ที่ประยุกต์ใช้ลัทธิมาร์กซ์มาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์อย่างแก้ไขดัดแปลงสร้างสรรค์เกี่ยวกับลักษณะพึ่งพาต่างชาติทางเศรษฐกิจของรัฐราชวงศ์สัมบูรณาญาสิทธิ์สยามและจุดยืนต่อต้านตะวันตกของผู้ประกอบการจีนอพยพท้องถิ่นรวมทั้งวิกฤตของรัฐชาติไทยเนื่องจากเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน

งานบุกเบิกของศาสตราจารย์ธงชัยวินิจจะกูล ว่าด้วยการทำแผนที่สยามประเทศและการปรากฏขึ้นและพัฒนาการของลัทธิราชาชาตินิยม

งานของศาสตราจารย์นิธิเอียวศรีวงศ์เกี่ยวกับรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามและชุมชนไทยในจินตนากรรมของทางราชการเป็นต้น

แต่ถึงกระนั้น หากดูปีที่ตีพิมพ์ของงานชิ้นต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ ก็จะสังเกตเห็นระยะขาดช่วงนานถึง 18 ปี (จาก ค.ศ.1993 ถึง 2011) ซึ่งครูเบ็นไม่ได้ตีพิมพ์งานศึกษาวิจัยที่รวมศูนย์อยู่ที่การเมืองและประวัติศาสตร์ไทยโดยตรงชิ้นใดออกมาเลย

มันตรงกับช่วงที่ครูเบ็นเกษียณอายุจากงานสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลทำให้ไม่มีนักศึกษาไทยหน้าใหม่คนใดภายใต้การดูแลให้คำปรึกษา

ประจวบกับครูเบ็นเองก็เข้าไปศึกษาค้นคว้าเรื่องอื่นๆเช่นอินโดนีเซียยุคหลังประธานาธิบดีซูฮาร์โต,การเคลื่อนไหวอนาธิปไตยทั่วโลกในอดีต, ลัทธิชาตินิยมของประเทศต่างๆ ในโลกตะวันออก เป็นต้น

นอกจากนั้น ช่วง 18 ปีดังกล่าวยังได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลสะเทือนกว้างไกลมหาศาลในเมืองไทยด้วย ได้แก่ การปรากฏขึ้นและบทบาทฐานะอันโดดเด่นของพระราชอำนาจนำและเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์, วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ค.ศ.1997

การก่อตัวของชาวนารายได้ปานกลางผู้กลายเป็นฐานคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งระดับชาติและการเกิดขึ้นของสังคมการเมืองท้องถิ่นอย่างแพร่หลายในพื้นที่ชนบท

ความรุ่งเรืองและล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยมเพื่อทุนนิยมของเศรษฐีหลายหมื่นล้านพ.ต.ท.ดร.ทักษิณชินวัตรจากปี ค.ศ.2001-2006

การก่อความไม่สงบเพื่อแยกรัฐที่ฟื้นกลับมากำเริบร้ายแรงใหม่ของขบวนการชาวมลายู มุสลิมในเขตชายแดนภาคใต้นับแต่ ค.ศ.2004 เป็นต้นมา

รัฐประหารโดยทหาร ค.ศ.2006

และการเคลื่อนไหวมวลชนก่อการแข็งขืนต่อรัฐบาลในอำนาจขนานใหญ่ด้วยความรุนแรงสลับกันไปมาเป็นชุดที่เรียกกันว่า"สงครามเสื้อสี"ระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองผู้ปวารณาตัวว่าจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และต่อต้านทักษิณกับฝ่ายเสื้อแดงผู้ยึดหลักประชาธิปไตยและนิยมทักษิณ ซึ่งบ่อยครั้งทำให้แทบบริหารบ้านเมืองไม่ได้ มีผู้เสียชีวิตเรือนร้อยบาดเจ็บ ทุพพลภาพหลายพัน และยังแก้ไขไม่หายแม้จะสงบลงบ้างในปัจจุบัน

พัฒนาการใหม่ๆ เหล่านี้ซึ่งค่อนข้างพ้นกรอบขอบเขตวิสัยทัศน์ใจกลางของครูเบ็นออกไปได้ถูกค้นคว้า วิเคราะห์อย่างกระจ่างแจ้งเห็นผลโดยงานไทยศึกษาชิ้นสำคัญๆ ในระยะหลังๆ นี้ อาทิ Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, Thaksin (2004), Duncan McCargo, "Network monarchy and legitimacy crises in Thailand" (2005), Paul M. Handley, The King Never Smiles : A Biography of Thailand"s Bhumibol Adulyadej (2006), ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2007), Duncan McCargo, Tearing Apart the Land : Islam and Legitimacy in Southern Thailand (2009), Andrew Walker, Thailand"s Political Peasants : Power in the Modern Rural Economy (2012), ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553, ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุมมษายน-พฤษภาคม 2553 (2012), Prajak Kongkirati, "Bosses, Bullets and Ballots : Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011" (วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตที่ยังไม่ตีพิมพ์ 2013) และ อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, นิติ ภวัครพันธุ์, ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย (2013)

ครูเบ็นหวนคืนสู่เมืองไทยในทางปัญญา (บทที่ 6-9 ของหนังสือเล่มนี้) โดยรวมศูนย์ความสนใจไปที่ฉากศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ครูเบ็นได้นำเสนอบทวิเคราะห์วิจารณ์ที่แนบเนียนและอ่อนไหว เปรียบเทียบอย่างรอบรู้และเจาะลึกแหลมคมเปิดหูเปิดตา ไม่เพียงต่องานสร้างสรรค์ที่น่าอัศจรรย์ใจและโด่งดังในระดับโลกของนักกำกับภาพยนตร์ไทยอย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ อโนชา สุวิชากรพงศ์

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเกาะกุมและนำเสนอจิตวิสัยทางการเมืองวัฒนธรรมในปัจจุบันของชนชั้นกระฎุมพีชาวเมืองของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจีนโดยชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านี้ค่อนข้างห่างไกลและโดดเดี่ยวทั้งในทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์จากเพื่อนร่วมชาติในชนบทและปัญญาชนตะวันตกทว่ากำลังเอาอย่างและเจริญรอยตามแนวคิดราชาชาตินิยมของชนชั้นนำทหาร-ราชการ ขอนริมตลิ่งผู้ย้อนยุคกลับไปถึงสมัยก่อนสงครามเย็นด้วยซ้ำ

ด้วยฐานความหยั่งรู้ถึงจิตสำนึกของชนชั้นที่ว่านี้เอง ที่อาจช่วยให้เราเริ่มเข้าใจรัฐประหารครั้งล่าสุดอันเป็นลำดับที่สิบสามของประเทศนี้และอนาคตที่รอประเทศไทยย้อนยุคอยู่ข้างหน้า



Source://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1415215510

--------------------------------------------------------------




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2557
0 comments
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2557 20:32:23 น.
Counter : 2878 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.